Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ในโอกาสวันฉัตรมงคล พ.ศ. 2557 ผู้เขียนขอถือโอกาสเสนอข้อคิดเห็นเกี่ยวกับระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขในมุมมองที่อาจแตกต่างจากที่มีผู้เคยยกขึ้นถกเถียงกันไว้บางประการ และหวังว่าจะเป็นแง่มุมให้เกิดถกเถียงกันกว้างขวางยิ่งขึ้นต่อไป

1.ความขัดแย้งว่าด้วยอำนาจก่อตั้งแผ่นดิน และรูปแบบของรัฐ

เมื่อครั้งยังเป็นนักศึกษาในยุคหลัง 14 ตุลา ผู้เขียนยังจำคำอาจารย์สอนได้ว่า รูปแบบของรัฐ แบ่งออกเป็น 2 แบบใหญ่ ๆ ตามประมุขของรัฐ คือรัฐของปวงชนที่เป็นสาธารณสมบัติ หรือสาธารณรัฐ (res publica หรือ republic) ซึ่งมีประมุขเป็นคนธรรมดา กับรัฐของกษัตริย์หรือรัฐที่ถือกันว่าเป็นราชสมบัติ หรือที่เป็นราชอาณาจักร (kingdom) และประมุขก็คือผู้สืบสิทธิของกษัตริย์สืบต่อ ๆ กันมา เรียกว่าสืบสันตติวงศ์

อาจารย์ในสมัยนั้น ท่านย้ำว่า ที่รัฐธรรมนูญไทยวางหลักไว้แต่ต้นว่า ประเทศสยามเป็นราชอาณาจักร ไม่เป็นสาธารณรัฐนั้น ก็เพราะยอมรับความจริงตามสามัญสำนึกของคนไทยในเวลานั้น ที่ยอมรับกันทั่วไปว่าการก่อตั้งบ้านเมือง หรือการก่อตั้งอำนาจปกครองแผ่นดินของเรานั้น ไม่ว่าจะเป็นสุโขทัย อยุธยา หรือรัตนโกสินทร์ ก็ล้วนก่อตั้งขึ้นแบบราชสมบัติ คือด้วยการต่อสู้กับอำนาจที่มีมาก่อน หรือขับไล่อำนาจที่เข้ายึดเป็นเมืองขึ้น และก่อตั้งอำนาจปกครองแผ่นดินขึ้นโดยกษัตริย์ซึ่งเป็นต้นหัวหน้าเหล่านักรบและนักปกครองเป็นผู้นำ

การที่ประเทศสยามก่อตั้งขึ้นเป็นบ้านเมืองปึกแผ่นแน่นหนาด้วยอำนาจของเหล่าชนชั้นนำที่รวมตัวกันเป็นราชวงศ์และขุนนาง แม่ทัพนายกองที่คุมกันปกครองบ้านเมืองแบบราชสมบัติสืบเนื่องกันมานั้น เป็นเหตุให้เราเป็นราชอาณาจักร

และที่สยามไม่เป็นสาธารณรัฐ ก็เพราะความเชื่อที่ว่า ชุมชนทางการเมืองหรือรัฐที่ตั้งขึ้นและสืบอำนาจมาจนทุกวันนี้ ไม่ได้เกิดจากการที่ประชาชนรวบรวมสมัครพรรคพวกกันก่อตั้งรัฐขึ้นใหม่ โดยล้มล้างอำนาจรัฐราชสมบัติที่ตกทอดมา ดังเช่นกรณีของสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่เหล่าประชาชนร่วมกันลุกฮือขึ้นทำการปฏิวัติล้มล้างราชวงศ์บูร์บอง หรือกรณีการประกาศอิสรภาพของอเมริกา ซึ่งสถาปนาอำนาจสาธารณรัฐขึ้นด้วยการต่อต้านอำนาจเจ้าอาณานิคม ยืนยันว่าบ้านเมืองเป็นของประชาชน ไม่ยอมรับฐานะอาณานิคมที่เป็นราชสมบัติของกษัตริย์อังกฤษอีกต่อไป ทั้งหมดนี้อาศัยอำนาจของกองทัพของประชาชนที่นำโดยนายพล วอชิงตัน

แต่อาจารย์รุ่นหนุ่ม ผู้นำนักศึกษารุ่นพี่ และเพื่อนฝูงที่เป็นนักศึกษาตำราทฤษฎีการเมืองและประวัติศาสตร์ ตลอดจนระบบการปกครองเปรียบเทียบในยุคนั้น ก็เสนอแนวคิดว่า สภาพการปกครองแบบ “ราชสมบัติ” นั้นพ้นสมัยไปนานแล้ว โดยได้แปรสภาพจาก “ราชสมบัติ” มาเป็น “ราชการ” มานานแล้ว อย่างน้อยตั้งแต่รัชกาลที่ห้าเป็นต้นมา และบ้านเมืองก็เปลี่ยนแปลงไปจนคนทั่วไปเห็นว่า เป็นสาธารณสมบัติไปแล้ว อย่างน้อยก็ตั้งแต่ประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งเมื่อ พ.ศ. 2468 ซึ่งอธิบายเรื่องทรัพย์สินที่มีไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันย่อมเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเอาไว้ และต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 คณะราษฎรก็ได้ทำการล้มล้างรัฐแบบราชสมบัติ และเปลี่ยนแปลงรัฐของกษัตริย์มาเป็นรัฐที่มีไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันของราษฎร หรือรัฐที่เป็นของสาธารณะไปเรียบร้อยแล้ว ส่วนการที่ยังคงรูปแบบของรัฐไว้ในฐานะเป็นราชอาณาจักรนั้น ก็เป็นแต่เพียงการยอมรับความสืบเนื่องในทางประวัติศาสตร์ เพื่อประโยชน์ในทางพิธีการเท่านั้น

คำถามว่ารัฐของเราเป็นราชสมบัติ หรือเป็นสาธารณสมบัตินี้ เป็นคำถามที่นำมาซึ่งคำถามอื่น ๆ อีกหลายคำถาม แต่ก็ดูเหมือนว่าผู้ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475 ได้เล็งเห็นการณ์ล่วงหน้าไว้แล้ว จึงได้ตราไว้ในมาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญว่า “สยามประเทศเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้” และรัฐธรรมนูญทุกฉบับเรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบันก็คงหลักข้อนี้ไว้เรื่อยมา เมื่ออ่านประกอบกับหลักในมาตรา 2 ที่ว่าอำนาจปกครองสูงสุดมาจากปวงชนแล้ว ก็ทำให้น่าคิดว่า ความคิดที่ซ่อนอยู่ข้างหลังก็คือ "ราชสมบัติ" ที่แปรสภาพเป็น "ราชการ" ได้กลายเป็น "สาธารณสมบัติ" โดยการสังเคราะห์ครั้งนี้แล้ว

 

2. ความขัดแย้งว่าด้วยระบอบการปกครองแบบราชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญกับการปกครองแบบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ

ในตำรายุคหลัง 14 ตุลาใหม่ ๆ มักอธิบายเรื่องระบอบการปกครองเอาไว้อย่างง่าย ๆ ว่า เราอาจแบ่งระบอบการปกครองออกเป็นสองแบบ คือระบอบที่รัฐบาลมีอำนาจไม่จำกัด กับระบอบที่รัฐบาลมีอำนาจจำกัด

ตัวอย่างของรัฐบาลที่มีอำนาจไม่จำกัด มีกรณีเช่น ระบอบราชาธิปไตยแบบสมบูรณาญาสิทธิราช (Absolute Monarchy) หรือระบอบเผด็จการ (Totalitarian Regime) ไม่ว่าจะเป็นเผด็จการทหาร หรือเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ (Dictatorship of Proletariat) หรือแม้แต่เผด็จการของรัฐสภา 

ส่วนรัฐบาลที่มีอำนาจจำกัด ได้แก่ระบอบที่รัฐบาลมีอำนาจจำกัดตามรัฐธรรมนูญ มีกรณีเช่นระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) หรือระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญแบบผู้แทน หรือแบบรัฐสภา (Representative Democracy or Parliamentary Democracy)

ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ กับระบอบประชาธิปไตยแบบผู้แทนนั้น แม้จะคล้ายกันที่เป็นระบอบที่รัฐบาลมีอำนาจจำกัดตามกฎหมายเหมือนกัน แต่ก็ควรสังเกตไว้ว่า มีจุดแตกต่างกันตรงที่การพิจารณาว่าอำนาจการปกครองตามรัฐธรรมนูญนั้น อยู่ที่กษัตริย์หรืออยู่ที่ปวงชนเป็นสำคัญ ถ้าอำนาจการปกครองอยู่ที่กษัตริย์ในฐานะบ่อเกิดแห่งอำนาจโดยยอมให้ประชาชนมีส่วนร่วมด้วยการเลือกผู้แทนมาออกกฎหมายและอนุมัติงบประมาณก็เป็นระบอบราชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าอำนาจการปกครองนั้นเป็นอำนาจของประชาชน โดยมีสภาผู้แทนและรัฐบาลของประขาชนที่กษัตริย์เป็นเพียงสัญญลักษณ์หรือองค์ประกอบทางพิธีการ ก็เป็นประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้ยังมีเกณฑ์พิจารณาความแตกต่างระหว่างระบอบทั้งสองนี้ โดยพิเคราะห์ว่าอำนาจรัฐบาลนั้นค่อนมาในทางที่เป็นของกษัตริย์ หรือค่อนมาในทางที่เป็นของผู้แทนราษฎร ถ้าค่อนมาในทางที่ถือว่าอำนาจปกครองเป็นของกษัตริย์ ก็ถือว่าเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งในระบอบการปกครองแบบราชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญนั้น ถือว่ากษัตริย์เป็นรัฎฐาธิปัตย์ เป็นผู้ทรงอำนาจรัฐหรืออำนาจปกครองแผ่นดิน เพียงแต่มีอำนาจจำกัด โดยรับรองและคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ และถือเอาประโยชน์สุขของประชาชนเป็นที่ตั้งและเป็นความมุ่งหมายแห่งอำนาจการปกครอง

ปัญหาว่าระบอบการปกครองของไทยเป็นระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ดังที่กล่าวถึงไว้ในธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2475 และในคราวร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475 หรือว่าเป็นระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่ถืออำนาจปกครองของปวงชนเป็นใหญ่ เป็นปัญหาที่วนเวียนอยู่ในความคิดของผู้คนจำนวนมากมาตั้งแต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และยังคงเปิดทางให้มีผู้เสนอแนวคิดเพื่อตอบปัญหานี้เรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบัน

ปัญหานี้ยังไปเกี่ยวข้องกับการที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2492 เป็นต้นมา ที่ได้ตราไว้ในมาตรา 2 ว่า “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีพระมหา­กษัตริย์เป็นประมุข” ทำให้น่าขบคิดต่อไปว่า ระบอบการปกครองประชาธิปไตยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนี้คืออะไร ในเมื่อมาตรา 1 ระบุลงไปแล้วว่า ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักร ซึ่งมีความหมายอยู่ในตัวในแง่รูปแบบของรัฐแบบราชอาณาจักรอยู่แล้วว่า ราชอาณาจักรย่อมมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ถ้าเป็นเช่นนั้น เหตุใดจึงต้องมาบัญญัติซ้ำไว้ในรัฐธรรมนูญในมาตราถัดมาซ้ำอีกครั้งว่า มีการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

หรือว่ารัฐธรรมนูญจะมุ่งย้ำถึงฐานะของพระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขของระบอบการปกครอง ไม่ใช่เพียงในฐานะประมุขของรัฐแบบราชอาณาจักรเท่านั้น  แต่ถ้าเป็นความมุ่งหมายอย่างหลังก็ย่อมจะเกิดความขัดแย้งขึ้น เพราะถ้าเป็นระบอบการปกครองที่มีกษัตริย์เป็นประมุข เราก็ควรจะเรียกระบอบการปกครองนั้นว่าระบอบราชาธิปไตย ไม่ใช่ประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์เป็นประมุข

การจะทำความเข้าใจปัญหาข้อขัดแย้งเชิงข้อความคิดระหว่างราชาธิปไตยภายใต้หรือตามรัฐธรรมนูญ กับประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์เป็นประมุขนี้ จำเป็นต้องพิจารณาในแง่ประวัติศาสตร์ของระบอบการปกครองเปรียบเทียบประกอบกันดังที่จะกล่าวต่อไป


3.ราชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญแบบฝรั่งเศสในยุคหลังสงครามนโปเลียน

แนวคิดเรื่องราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญปรากฏให้เห็นเป็นตัวเป็นตนเป็นครั้งแรก ในรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรของฝรั่งเศส ค.ศ. 1814 (The French Constitutional Charter of 1814) ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังสิ้นสุดสงครามนโปเลียนครั้งแรก (สมัยรัชกาลที่สองแห่งกรุงรัตนโกสินทร์) แล้วต่อมาก็แพร่ไปทั่วยุโรป กล่าวได้ว่าระบอบการปกครองนี้เป็นผลสรุปของความพยายามฟื้นฟูระบอบการปกครองแบบกษัตริย์ของยุโรป ให้เชื่อมเข้าด้วยกันกับแนวคิดเสรีประชาธิปไตยที่เป็นผลจากการปฏิวัติฝรั่งเศส แต่ก็เน้นความสำคัญอยู่ที่กษัตริย์เป็นศูนย์กลางของอำนาจการปกครอง

กล่าวกันว่ารัฐธรรมนูญฝรั่งเศสฉบับนี้เป็นผลจากการประนีประนอมทางความคิดที่ประสานเอาหลักสองหลักที่ดูเหมือนจะขัดแย้งกันเข้ามาไว้ด้วยกัน คือหลอมรวมเอาหลักประชาธิปไตยแบบมีผู้แทนซึ่งถือว่าอำนาจสูงสุดเป็นของราษฎร กับหลักราชาธิปไตยซึ่งถือว่าอำนาจสูงสุดเป็นของกษัตริย์มาไว้ในระบอบเดียวกัน ดังที่ปรากฏในอารัมภบทของรัฐธรรมนูญฉบับนั้นว่า “อำนาจปกครองสูงสุดควรมอบไว้กับสถาบันที่ตั้งมั่นอยู่แล้ว ในลักษณะที่สติปัญญาของกษัตริย์จะดำรงอยู่เคียงคู่กับความประสงค์ของประชาชน”

อำนาจปกครองแผ่นดินของกษัตริย์ตามระบอบราชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญนี้ แสดงออกให้เห็นตรงที่เป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจรัฐ กิจการของรัฐและอำนาจบังคับสูงสุดของรัฐต้องทำในนามกษัตริย์ รัฐบาลเป็นรัฐบาลของกษัตริย์ และแม้สภาจะเป็นสภาของราษฎร การประกาศใช้กฎหมายก็ต้องทำในนามกษัตริย์ โดยกษัตริย์มีอำนาจกำกับและถ่วงดุลรัฐบาลและรัฐสภาได้ รวมทั้งกษัตริย์ยังมีอำนาจถ่วงดุลศาลด้วยโดยการมีอำนาจให้อภัยโทษ ทั้งนี้โดยถือเอาประโยชน์สุขของประชาชนเป็นความมุ่งหมายสูงสุด แต่ที่สำคัญก็คือ ไม่มีการรับรองว่าอำนาจปกครองสูงสุดเป็นของปวงชน

อย่างไรก็ดี แม้ในระบอบราชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญจะถือว่ากษัตริย์เป็นศูนย์กลางอำนาจการปกครอง การกระทำในทางการปกครองของกษัตริย์ก็ต้องมีผู้สนองพระบรมราชโองการ และผู้สนองพระบรมราชโองการนั้น ๆ ย่อมเป็นผู้ต้องรับผิดชอบในการนั้น ๆ โดยกษัตริย์ไม่ต้องรับผิดชอบเอง เพราะกษัตริย์ทรงอยู่ในฐานะเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ การที่กษัตริย์ยังคงอำนาจปกครองทางอ้อมผ่านทางคณะรัฐมนตรีที่รับสนองพระบรมราชโองการของกษัตริย์นี้เอง จึงถือว่าการปกครองนั้นก็เป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญที่รับรองการมีส่วนร่วมปกครองของประชาชนผ่านทางผู้แทนราษฎร การปกครองแบบนี้เรียกว่า กษัตริย์ทรงปกเกล้าฯ แต่มิได้ปกครอง


4.ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาของอังกฤษ

ระบอบการปกครองแบบราชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญนี้ นอกจากระบอบแบบฝรั่งเศสตามรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1814 แล้ว ยังมีระบอบราชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญแบบอังกฤษ หรือแบบสหราชอาณาจักรเป็นอีกระบอบหนึ่งซึ่งดูเผิน ๆ ดูเหมือนจะคล้ายกัน และโดยทั่วไปก็ถือว่าเป็นต้นแบบของ Constitutional Monarchy หรือราชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญเหมือนกัน แต่อันที่จริงระบอบการปกครองของอังกฤษมีข้อแตกต่างจากแบบราชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญแบบฝรั่งเศสและยุโรปอย่างสำคัญ

กล่าวคือ ในระบอบราชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญแบบอังกฤษนั้น แม้จะมีกษัตริย์ แต่ก็ยากที่จะถือว่าเป็นราชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญได้ เพราะกษัตริย์อังกฤษนั้นแม้จะเป็นประมุขของรัฐและมีพระราชอำนาจพิเศษในบางกรณี แต่ตามหลักรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรของอังกฤษนั้น ถือว่าอำนาจปกครองสูงสุดในการปกครองมิได้เป็นของกษัตริย์ แต่เป็นของรัฐสภา (Supremacy of Parliament or Sovereignty of Parliament) หรืออันที่จริงแล้ว ระบอบการปกครองของอังกฤษนั้นในทางวิชาการต้องถือว่า เป็นระบอบประชาธิปไตยแบบสภาผู้แทน (Parliamentary Democracy) ซึ่งเป็นผลมาจากการปฏิวัติในศตวรรษที่ 17 ที่มีการทำสงครามกันระหว่างกองทัพของรัฐสภา กับกองทัพของกษัตริย์ จนฝ่ายรัฐสภาได้รับชัยชนะ และใช้อำนาจสำเร็จโทษกษัตริย์ และตั้งพระมหากษัตริย์เป็นประมุขโดยอำนาจของรัฐสภาในฐานะที่รัฐสภาเป็นผู้ถืออำนาจปกครองสูงสุด และมีอำนาจเปลี่ยนแปลงแก้ไขหลักเกณฑ์ทางรัฐธรรมนูญได้เสมอ

อำนาจสูงสุดของรัฐสภาอังกฤษปรากฏให้เห็นได้ในการตรากฎหมายที่มีค่าบังคับระดับรัฐธรรมนูญโดยไม่ถือว่าการตรากฎหมายเช่นนั้นอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ เช่น The Act of Settlement 1701 ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงกฎหมายว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ของอังกฤษครั้งใหญ่ โดยตัดบุคคลบางจำพวกออกจากการสืบสายสันตติวงศ์ หรือเช่น The Septennial Act 1716 ซึ่งเปลี่ยนแปลงวาระของสภาโดยฝ่ายที่ชนะการเลือกตั้งและได้เสียงข้างมากในสภา ได้แก้กฎหมายขยายวาระของรัฐสภาจากสามปีเป็นเจ็ดปี ทำให้ฝ่ายตนมีวาระดำรงตำแหน่งยาวขึ้นและมีผลบังคับเรื่อยมาจนถึง ค.ศ. 1911 จึงมีการแก้ไขให้มีวาระลดลงเหลือห้าปี อย่างไรก็ดี ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ก็มีการตรากฎหมายยืดอายุรัฐสภาออกไป โดยไม่มีการเลือกตั้งจนกระทั่งสิ้นสุดสงคราม


5.ระบอบราชาธิปไตยของปวงชนแบบเบลเยี่ยม

ยังมีระบอบราชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญอีกระบอบหนึ่ง ซึ่งอยู่ระหว่างระบอบการปกครองแบบอังกฤษที่ถือว่าอำนาจสูงสุดอยู่ที่รัฐสภา กับระบอบการปกครองราชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญแบบฝรั่งเศส ตามระบอบการปกครองนี่มีการรับรองหลักประชาธิปไตย โดยยืนยันว่าอำนาจอธิปไตยมาจากปวงชน แต่ขณะเดียวกันก็รับรองให้กษัตริย์มีฐานะเป็นทั้งประมุขของรัฐและประมุขของระบอบการปกครองพร้อมกันไป โดยถือว่ากษัตริย์เป็นศูนย์รวมแห่งการใช้อำนาจอธิปไตย ทั้งในทางบริหาร ทางนิติบัญญัติ และทางตุลาการ โดยราษฎรมีส่วนในการปกครองร่วมกับกษัตริย์และในขณะเดียวกันก็ถ่วงดุลกัน ซึ่งแสดงออกในรูปการตรากฎหมาย และการอนุมัติการใช้ภาษีอากร ในรูปงบประมาณแผ่นดินผ่านทางสภาผู้แทนราษฎร และการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งแม้จะถือว่าเป็นรัฐบาลของพระมหากษัตริย์ ก็เป็นรัฐบาลที่ได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร

การปกครองในระบอบนี้มีลักษณะพิเศษตรงที่ กษัตริย์เป็นรัฎฐาธิปัตย์ไม่ใช่เพียงในนามของกษัตริย์เอง แต่เป็นรัฏฐาธิปัตย์ในนามของปวงชน และเป็นผู้แทนปวงชนพร้อมกันไป โดยใช้อำนาจของปวงชนในกรอบของกฎหมายรัฐธรรมนูญ

ระบอบการปกครองแบบนี้ได้ปรากฏให้เห็นเป็นครั้งแรกในโลกตะวันตก ในรัฐธรรมนูญเบลเยี่ยม ค.ศ. 1831 (สมัยรัชกาลที่ 3) อันนับเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ประสานหลักการปกครองโดยกฎหมายเป็นใหญ่ หลักราชาธิปไตย และหลักประชาธิปไตยเข้าด้วยกัน โดยวางหลักไว้เป็นครั้งแรกของโลกว่า อำนาจปกครองสูงสุดมาจากปวงชน การใช้อำนาจนั้นย่อมเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ (มาตรา 25) กษัตริย์ซึ่งเป็นประมุขแห่งรัฐ ใช้อำนาจนิติบัญญัติร่วมกับสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา (มาตรา 26) พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งอำนาจบริหารราชการแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญ (มาตรา 29) และทรงใช้อำนาจตุลาการผ่านศาล (มาตรา 30) โดยทรงแต่งตั้งและปลดรัฐมนตรี (มาตรา 65) พระบรมราชโองการย่อมไม่มีผลบังคับ เว้นแต่จะมีรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ และรัฐมนตรีผู้นั้นย่อมเป็นผู้รับผิดชอบในการนั้น (มาตรา 64) และทรงเป็นจอมทัพ (มาตรา 68) ทรงเป็นผู้ให้ความเห็นชอบและประกาศใช้กฎหมาย (มาตรา 69) ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษ เว้นแต่โทษของรัฐมนตรี (มาตรา 73) ฯลฯ

การที่รัฐธรรมนูญรับรองว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของหรือมาจากปวงชน เท่ากับปฏิเสธระบอบราชาธิปไตยหรือสมบูรณาญาสิทธิราช  แต่ขณะเดียวกันก็รับรองให้กษัตริย์เป็นศูนย์รวม หรือเป็นองค์บูรณาการแห่งอำนาจ หรือเป็นผู้แสดงอำนาจอธิปไตยของปวงชนออกมาในฐานะที่เป็นบุคคล (personified state authority) ทำให้กษัตริย์มิได้เป็นแต่เพียงประมุขแห่งรัฐในทางสัญญลักษณ์ แต่เป็นผู้ทรงอำนาจอธิปไตยที่หลอมรวมเอาหลักราชาธิปไตยและหลักประชาธิปไตยเข้าด้วยกัน และแสดงอำนาจอธิปไตยออกมาในนามของกษัตริย์ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับปวงชนอย่างแท้จริง

(ยังมีต่อ)

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net