Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ในภาวะที่สถานการณ์ทางการเมืองไม่ปกติ ทั้งฝ่ายม็อบที่ต่อต้านและเรียกร้องให้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีรักษาการ ลาออกจากตำแหน่งเพื่อเปิดทางให้เกิดการปฏิรูปในแนวทางของ ม็อบ กปปส โดยการนำของ คนดี นาม สุเทพ เทือกสุบรรณ

ทั้งสองฝ่ายชิงไหวชิงพริบกันมาหลายเดือนเพื่อสร้างความชอบธรรมต่อการกระทำของตนและรอจังหวะเผด็จศึกในนามของการต่อต้าน และ รักษาไว้ ซึ่งระบบ “ ทักษิณ ”

ทุกภาคส่วนในสังคมล้วนได้รับผลกระทบจากเกมช่วงชิงและรักษาไว้ซึ่งอำนาจของ “ชนชั้นปกครอง”  ภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (ตามคำกล่าวอ้างของทั้งสองฝ่าย)

สิ่งที่น่าสนใจต่อ มหากาพย์ การเมืองไทยภาคต่อเรื่องยาวเรื่องนี้  คือ องค์ประกอบของความขัดแย้ง ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนและเป็นเหมือน น้ำมันเชื้อเพลิงที่ทำให้เครื่องยนต์แห่งการต่อสู้และความเกลียดชังครั้งนี้แล่นไปอย่างไม่มีกำหนดจอด ณ สถานีใด

องค์ประกอบแห่งความขัดแย้งและ ตัวละครเอกของ มหากาพย์ เรื่องนี้อาจมีหลายๆองค์ประกอบแต่องค์หนึ่งที่สำคัญและน่าสนใจ  คือ “แฟนคลับ” ของทั้งสองฝ่าย ที่สนับสนุนและเชื่อในมั่นในวิถีทางของ ฝ่ายที่ตนสนับสนุน
และคุณสมบัติสำคัญที่แฟนคลับแต่ล่ะฝ่ายใช้เป็นเกณฑ์ในการเลือกข้างคือ   “ความดี”  สิ่งนี้คือจุดเริ่มต้นของมหากาพย์หนังเรื่องยาวนี้   เพราะลำพังความดี   ก็นิยามยาก ในตัวมันเองอยู่แล้ว แต่ความดีในห้วงของความขัดแย้งในขณะนี้ กลับเพิ่มความซับซ้อนทวีมากขึ้นไปอีก นั่นคือ ความดีที่ไปผูกโยงอยู่กับผลประโยชน์และชนชั้น  ดังสัพนามที่ แฟนคลับแต่ล่ะฝ่ายใช้เรียกตัวเอง ดังเช่น  ไพร่  รากหญ้า อำมาตย์หรือ ม็อบในนามของความดีในขณะนี้  ที่เรียกตนเองว่า ม๊อบนกหวีด (ทองคำ) นอนโรงแรม บริจาคเงินกู้ชาติ ไม่ต้องจ้างผัวมีตังค์  เป็นต้น

การยึดถือความดีภายใต้ร่มเงาของผลประโยชน์ ได้สร้างพฤติกรรมแปลกแยกขึ้น พฤติกรรมสำคัญที่มีผลต่ออารมณ์ของแฟนคลับของแต่ละฝ่ายคือ พฤติกรรมการบริโภคสื่อ  เพื่อสนองความเชื่อและตอบย้ำความถูกต้องของตน  ซึ่งแกนนำของแต่ละฝ่ายใช้เป็น เชื้อเพลิงหล่อเลี้ยงอุดมการณ์ของแฟนคลับของฝ่ายตนเอาไว้  จากพฤติกรรมนี้เองทำให้ คนในสังคมส่วนหนึ่งรวมทั้งผู้เขียน รู้สึกตระหนกกลัวต่อ  ความดีและความถูกต้องในสังคมขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นความดีในแบบของฝ่ายใดก็ตาม

ผู้อ่านท่านใดที่มีลูก ผู้เขียนแนะนำให้งดสอนให้ลูกเป็นคนดีชั่วคราว เนื่องจากในภาวะวิกฤติ ความดี ดูเหมือนจะวิปริตไปด้วย  การสอนให้ลูกเป็นคนดีในช่วงนี้อาจเป็นการแนะ ให้ลูกเลือกข้างพ่วงท้ายไปด้วยอย่างไม่ตั้งใจ

เพราะความดี ความถูกต้อง ในนิยามของ เอเชียอัดเดต นำเสนอก็ไม่เหมือนกับ ความดี ความถูกต้องในนิยามของ บลูสกายและเอเอสทีวี  ซึ่งไม่เป็นเรื่องแปลกประหลาดยากเกินกว่าจะทำความเข้าใจได้

การปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ยึดเสียงส่วนใหญ่เป็นมติที่จะกระทำหรืองดเว้นการะทำนั้น ย่อมจะไม่สามารถนิยาม “ความดีที่เป็นสากล” ในทางการเมืองได้  เนื่องการเมืองเป็นเรื่องของผลประโยชน์  และ ประชาธิปไตย ก็เป็น กระบวนการจัดสรรผลประโยชน์โดยยึด มหาชน เป็นหลัก  นั่นหมายความว่า  เมื่อใดก็ตามที่ มหาชน ได้ประโยชน์  อนุชน ก็เสียผลประโยชน์ทันที  จึงไม่แปลกเลยที่ประวัติศาสตร์การเมืองไม่ว่าจะประเทศใดจึงเป็นการขับเคี้ยวกันระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ ระหว่างชนชั้นปกครอง โดยใช้ มวลชนเป็นฐานอำนาจและความชอบธรรม ผ่าน กระบวนการความสัมพันธ์ ระหว่างนักการเมืองกับประชาชนภายใต้เครื่องมือประชาธิปไตย ที่เรียกกันว่า  “นโยบาย”

ไม่เช่นนั้น มหาตม คานธี บิดาแห่งสันติวิธี ซึ่งเป็น คนดี ในสายตาของชาวโลก คงไม่ถูกสังหารโดยกลุ่มบุคคลที่นิยามความดี ต่างจากคนทั่วไป อันเนื่องมาจากผลประโยชน์ดังกล่าวมาแล้วเหรอหรือ

ดังนั้นธรรมชาติของความดีกับการเมืองจึงเป็นเส้นขนานที่ไม่มีวันบรรจบกันได้ อันเนื่องมาจากระบบการจัดสรรคุณค่าของความดี และการยึดชุดความดีที่ผูกโยงอยู่กับผลประโยชน์ที่ตนจะได้ ความดีทางการเมืองจึงเป็นเรื่องของ บริบท ที่สัมพันธ์กับส่วนแบ่งทางการเมืองที่ชนชั้นปกครองแบ่งให้กับชนชั้นในระดับล่างๆลงมา  ซึ่งเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ในประเทศ 

การต่อสู้ทางการเมืองในรอบนี้จึงเป็นการต่อสู้ของ กลุ่มผลประโยชน์ที่นิยามความดีในแบบของตนเอง แล้วยึดความดีที่ตนนิยามขี้นมาเป็นเกณฑ์ในการตัดสินคนอื้น หากฝ่ายใด บุคคลใด กระทำหรือแสดงท่าที ที่ต่างไปจากชุดความดีที่ ตนนิยามขึ้นมาภายใต้ผลประโยชน์ของตนเอง ก็จะเป็นคนเลวในสายตา ของเขาทันที จึงไม่แปลกที่ คนไปเลือกตั้งจะกลายเป็นคนไม่รักชาติ คนที่เห็นต่างจะกลายเป็นคนรับเงินทักษิณ  แต่ไม่ได้หมายความว่าคนที่นิยามชุดความดีแบบนี้จะเป็นคนเลวไปเสียหมด ธรรมชาติการเมืองก็ถูกสร้างให้เป็นแบบนี้ล่ะครับ  ดังนิยามของการเมืองที่ว่า  การเมืองเป็นเรื่องของความขัดแย้ง หากไม่ขัดแย้งนั่นไม่ใช่การเมือง

หากรัก ชาติ ศาสนา มหากษัตริย์ รัฐธรรมนูญ และประชาชน จริง ช่วยเปิดพื้นที่ให้คนเลวๆ ในนิยามของคุณ  มีที่ยืนในสังคมบ้าง เพราะโลกใบนี้ไม่ได้ถูกสร้างมาให้คนดีอยู่เพียงฝ่ายเดียวนะขอร้อง


14 / 2 / 57
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net