Skip to main content
sharethis

COFACT โครงการตรวจสอบข้อเท็จจริงด้านข่าวสาร เผยแพร่รายงานการตรวจสอบกรณีของ ปดิพัทธ์ สันติภาดา ว่าที่รองประธานสภาฯ คนที่ 1 จากพรรคก้าวไกล ถูกขุดภาพและข้อความในอดีตจากเฟซบุ๊กของเขาก่อนถูกกล่าวหาว่าเคยร่วมม็อบ กปปส. ซึ่งมีจุดยืนต่างจากพรรคก้าวไกล พบเป็นการนำเสนอข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน และสร้างความเข้าใจผิด 

 

5 ก.ค. 2566 เว็บไซต์ COFACT (โคแฟกต์) รายงานวานนี้ (4 ก.ค.) เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบของโครงการโคแฟกต์ เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2566 พบว่าเนื้อหาจากเฟซบุ๊กของปดิพัทธ์ ที่ถูกนำมาบิดเบือนให้เกิดความเข้าใจว่า ปดิพัทธ์ เคยเป็นอดีตม็อบ กปปส. เก่า มีอยู่อย่างน้อย 3 โพสต์บนเฟซบุ๊ก ประกอบด้วย 

  • 7 เม.ย. 2557 โพสต์ภาพยืนเล่นอูคูเลเลกับเพื่อนนักกิจกรรมในที่ชุมนุมของกลุ่ม กปปส. ที่สีลม
  • 12 ม.ค. 2557 แชร์บทความวิจารณ์กลุ่มคนเสื้อแดงที่เผยแพร่ในเว็บไซต์หนังสือพิมพ์แนวหน้า โดยหยิบยกข้อความบางส่วนจากบทความมา และเขียนข้อความตั้งคำถามกับการทำหน้าที่สื่อมวลชนของแนวหน้าว่า "นี่มันหนังสือพิมพ์หรือคู่มือเสี้ยมครับ"
  • 12 ธ.ค. 2556 แชร์เนื้อหาจากเพจเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า "กปปส" ว่าด้วยแนวทางการจัดตั้ง "สภาประชาชน" โดยปดิพัทธ์ เขียนข้อความว่า "มาละครับ แนวทางสภาประชาชน"

โคแฟคตรวจสอบเนื้อหาในโซเชียลมีเดียที่เกี่ยวข้องกับอดีตและประวัติของนายปดิพัทธ์ใน 4 ประเด็น ที่ถูก "ขุด" ขึ้นมาหลังจากพรรคก้าวไกลเสนอชื่อเขาเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร

1. ภาพยืนเล่นอูคูเลเลกับเพื่อนนักกิจกรรมในที่ชุมนุมของกลุ่ม กปปส. ปดิพัทธ์ ยืนยันว่า 'ไม่ได้ไปร่วมม็อบ'

ภาพนี้มีผู้ใช้โซเชียลมีเดียนำไปบิดเบือนว่า ปดิพัทธ์ เข้าร่วมการชุมนุมกับ กปปส. ซึ่งปดิพัทธ์ ได้ชี้แจงทางเฟซบุ๊กเมื่อ 7 เม.ย. 2564 ว่าเป็นภาพที่เขายืนเล่นดนตรีกลางที่ชุมนุม กปปส. ที่สีลมเพื่อรณรงค์ให้ยุติการสร้างเงื่อนไขที่อาจนำไปสู่ความรุนแรง โดยยืนยันว่า "ไม่ได้ไปร่วมม็อบ"

โพสต์จากเมื่อปี 2557 ของ 'ปดิพัทธ์'

ปดิพัทธ์ ชี้แจงภาพนี้อีกครั้งเมื่อ 13 ก.ย. 2564 ว่าเขาเข้าร่วมกิจกรรมร้องเพลงรณรงค์เพื่อสันติภาพจากการเชิญชวนของเพื่อนรุ่นน้อง เรียกร้องให้ผู้ชุมนุม กปปส. ไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรง

"ในเนื้อตัวเราไม่นกหวีด ไม่มีสัญลักษณ์ธงชาติ ไม่มีอะไรทั้งสิ้น ร้องเพลงกันบอกให้ใจเย็นๆ ไม่ฆ่ากัน ไม่เรียกร้องความรุนแรง" ว่าที่รองประธานสภาฯ คนที่ 1 ระบุในโพสต์ พร้อมกับย้ำว่า เขาไม่ได้เป็นสมาชิก กปปส.

นอกจากนี้ ปดิพัทธ์ ให้สัมภาษณ์โคแฟค ทางโทรศัพท์เมื่อ 3 ก.ค. 2566 โดยปดิพัทธ์ ยืนยันข้อมูลที่ชี้แจงตามโพสต์ข้างต้น และให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าในช่วงที่มีการชุมนุมทางการเมืองทั้งของ กปปส. และของกลุ่มคนเสื้อแดง เขามักเดินทางไปสังเกตการณ์การในที่ชุมนุม แต่ไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมในฐานะผู้สนับสนุนของกลุ่มใด

โคแฟค ได้รับข้อมูลจากอดีตนักกิจกรรม ที่เป็นผู้ริเริ่มแคมเปญร้องเพลงเพื่อสันติภาพว่า ในช่วงปี 2557 สังคมไทยเผชิญความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรง กลุ่มของเธอจึงคิดกิจกรรมที่จะทำให้คนที่เห็นต่างกันอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ เกิดเป็นกิจกรรมที่ชื่อว่า "Fill Love in the Blank: เติมรักลงในช่องว่าง" ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากเรื่องราวในพระคัมภีร์ไบเบิลที่พูดถึงความสำคัญของความรักในการเชื่อมผู้คนที่มีความคิดความเชื่อต่างกัน โดยปดิพัทธ์ ซึ่งขณะนั้นเป็นเลขาธิการสมาคมนักศึกษาคริสเตียนไทยได้มาร่วมกิจกรรมด้วย

"เราคือกลุ่มคนที่ไม่อยากเห็นความรุนแรงที่ประชาชนทำต่อกัน…จริงๆ วางแผนว่าหลังจาก กปปส. เราจะไปร้องเพลงในที่ชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง แต่สถานการณ์มันเริ่มแรงขึ้น ก็เลยไม่ได้ไป" เพื่อนนักกิจกรรมของปดิพัทธ์ ระบุ 

2. ปมแชร์บทความวิจารณ์กลุ่มคนเสื้อแดงที่เผยแพร่ในเว็บไซต์หนังสือพิมพ์แนวหน้า ปดิพัทธ์ เผยเป็นการแชร์เพื่อวิจารณ์การทำหน้าที่ของสื่อ

กรณีนี้สื่อเนื่องจากเมื่อ 12 ม.ค. 2557  ปดิพัทธ์ เคยแชร์บทความจากเว็บไซต์หนังสือพิมพ์แนวหน้า ซึ่งมีเนื้อหาวิจารณ์กลุ่มคนเสื้อแดง โดยเขาได้คัดลอกข้อความบางส่วนจากบทความนั้นมา และเขียนข้อความว่า "นี่มันหนังสือพิมพ์หรือคู่มือเสี้ยมครับ" ซึ่งเป็นการวิจารณ์การทำหน้าที่สื่อมวลชนของหนังสือพิมพ์แนวหน้าที่นำเสนอบทความชิ้นนี้

 

 

ข้อความจากบทความที่ปดิพัทธ์ หยิบยกมาระบุว่า "การ 'ตอแหล' เปลี่ยนเสื้อแดงเป็นเสื้อขาว เปลี่ยนจากจุดไฟเผา เป็นจุดเทียนสันติภาพ มันก็แค่ปฏิบัติการกอบกู้ระบอบทักษิณก่อนลมหายใจเฮือกสุดท้ายจะมาถึง แล้วเห็บหมัดจะไม่มีหมาให้สูบเลือดกินเท่านั้นกระมัง"  

เมื่อ 2 ก.ค. 2566 ลักขณา ปันวิชัย นักวิจารณ์การเมืองและพิธีกรสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี ได้นำโพสต์ของปดิพัทธ์ มาเผยแพร่บนบัญชีทวิตเตอร์ "@kamphaka" โดยตัดส่วนที่แสดงให้เห็นว่าเป็นการแชร์บทความของแนวหน้าออกไป พร้อมกับเขียนข้อความว่า "นี่คืออดีตที่จะปฏิเสธว่าไม่จริงคงไม่ได้ ส่วนปัจจุบัน ถ้าเสียงส่วนใหญ่มีฉันทามติว่า 'รับได้' เพราะเขา 'กลับใจ' แล้ว เราก็ฝืนฉันทามตินั้นไม่ได้ That’s it" ทำให้หลายคนเข้าใจว่า ข้อความวิจารณ์คนเสื้อแดงเป็นความเห็นของปดิพัทธ์ ทั้งที่จริงๆ แล้วเป็นข้อความที่เขาคัดลอกมาจากบทความในหนังสือพิมพ์แนวหน้า

ด้านซ้ายโพสต์ทวิตเตอร์ของ ลักขณา และด้านขวา เป็นโพสต์ของ ปดิพัทธ์ ที่มีการแชร์ข่าวจากเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ 'แนวหน้า' (ที่มา: COFACT)

อย่างไรก็ตาม ภายหลังมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทักท้วงว่า โพสต์ของพิธีกรวอยซ์อาจทำให้เข้าใจผิดต่อปดิพัทธ์ ลักขณา จึงคอมเมนต์ขยายความว่า ข้อความที่เธอทวิตนั้นหมายถึง "เป็นหรือไม่เป็น กปปส. คืออดีต ต่อให้เคยเป็น แต่ถ้าปัจจุบันเสียงฉันทามติของประชาชนยอมรับคุณ เราก็ต้องเคารพ"

3. แชร์เนื้อหาว่าด้วยข้อเสนอการจัดตั้ง "สภาประชาชน" ของ กปปส. ปดิพัทธ์ เคยแจงไม่เห็นด้วย

โพสต์นี้ถูกนำไปเผยแพร่ต่อในลักษณะที่ว่า ปดิพัทธ์สนับสนุนข้อเสนอเรื่องการจัดตั้ง "สภาประชาชน" ซึ่งในครั้งนั้น กปปส. เสนอว่าให้จัดตั้งสภาที่มีสมาชิก 400 คน ที่ไม่เป็นสมาชิกหรือกรรมการบริหารพรรคการเมือง มาจากการเลือกตั้งของกลุ่มวิชาชีพต่างๆ 300 คน และมาจากการสรรหา 100 คน

ปดิพัทธ์ ชี้แจงกับโคแฟคว่า เขาไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของ กปปส. รวมถึงข้อเสนอเรื่องการจัดตั้ง "สภาประชาชน" แต่ในตอนนั้นไม่ได้เขียนอธิบายความคิดเห็นประกอบ โพสต์ดังกล่าวจึงถูกนำมาบิดเบือนว่าเป็นการแชร์โพสต์ เพราะเห็นด้วยกับ กปปส.

ต่อมา ปดิพัทธ์ ได้โพสต์ข้อความวิจารณ์ข้อเสนอสภาประชาชนของ กปปส. เมื่อ 5 ม.ค. 2557 โดยระบุว่าเขาเคารพการชุมนุมอย่างสันติของ กปปส. แต่ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอเรื่องการจัดตั้งสภาประชาชน

4. ไม่ได้เป็นสัตวแพทย์? งดออกเสียง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม?

นอกจากประเด็นที่เกี่ยวกับ กปปส. แล้ว ยังมีผู้ใช้โซเชียลมีเดียโพสต์เนื้อหาทำนองว่า ปดิพัทธ์ไม่ได้เป็นสัตวแพทย์จริง เนื่องจากเมื่อนำชื่อไปค้นหาในระบบตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ ของสำนักงานสัตวแพทยสภาแล้ว ไม่พบว่ามีชื่ออยู่ในระบบ

กรณีนี้นายปดิพัทธ์ให้ข้อมูลกับโคแฟคว่า หลังจากจบปริญญาตรีจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขาไม่ประสงค์จะทำอาชีพสัตวแพทย์หรือเปิดคลินิกรักษาสัตว์ จึงไม่ได้ขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ จึงไม่มีชื่อของเขาอยู่ในระบบของสัตวแพทยสภา

โคแฟคสอบถามไปที่สัตวแพทยสภา ได้รับคำอธิบายว่า ผู้ที่จะมีชื่ออยู่ในฐานข้อมูลผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ต้องเป็นผู้ที่ขอขึ้นทะเบียนกับสัตวแพทยสภาเท่านั้น

อดีตอีกเรื่องหนึ่งของนายปดิพัทธ์ที่ถูก "ขุด" มาคือ การที่เขางดออกเสียง ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือ "ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม" ซึ่งพรรคก้าวไกล เป็นผู้นำเสนอ

ในการลงมติร่างกฎหมายฉบับนี้ในวาระที่ 1 เมื่อ 17 มิ.ย. 2565 ปดิพัทธ์ งดออกเสียงจริงต่อร่างกฎหมายดังกล่าว ซึ่งต่อมา เขาได้ชี้แจงทางเฟซบุ๊กไลฟ์ว่า เหตุผลที่งดออกเสียง เพราะเห็นว่ามีเนื้อหาที่กระทบความเชื่อทางศาสนา เนื่องจากเขานับถือศาสนาคริสต์ และเห็นว่าชุมชนชาวคริสเตียนมีความกังวลเรื่องการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน เขาจึงเลือกที่จะสงวนความเห็นต่อร่างกฎหมายฉบับนี้ในฐานะคริสเตียนคนหนึ่ง

"จุดยืนของคริสเตียนในเรื่องนี้ยังไม่ลงตัว ผมจึงยังอยากสงวนความเห็นไว้ว่ากฎหมายนี้กระทบความเชื่อทางศาสนา แต่เมื่อพิจารณาโดยละเอียดแล้วว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่ริดรอนสิทธิของผู้นับถือศาสนาใดๆ ผมก็จะโหวตสนับสนุนแน่นอน" ปดิพัทธ์ ให้สัมภาษณ์โคแฟค   

โคแฟกต์ สรุปว่า กรณีของนายปดิพัทธ์ มีการนำโพสต์ในเฟซบุ๊กที่ตั้งค่าเป็นสาธารณะ มาสร้างความเข้าใจผิด (misinformation) หรือมีการตัดทอนเนื้อหาบางส่วน และกล่าวหาว่าปดิพัทธ์ เป็นผู้สนับสนุนของกลุ่ม กปปส. เมื่อปี 2557

ขณะที่ประเด็นเรื่องการไม่พบชื่อในฐานข้อมูลผู้ประกอบวิชาชีพสัตวแพทย์และการงดออกเสียงร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมนั้น แม้จะเป็นข้อเท็จจริง แต่ขาดบริบทและข้อมูลที่จำเป็น ทำให้เกิดการตีความที่อาจสร้างความเสียหายต่อบุคคลได้

สำหรับโครงการโคแฟค หรือ COFACT (Collaborative Fact Checking) เกิดขึ้นมาด้วยแรงบันดาลใจจากการรวมตัวของภาคประชาสังคมในไต้หวัน ที่เชื่อในเรื่องพลังของภาคพลเมืองใน การรับมือกับด้านมืดของข้อมูลข่าวสาร ด้วยการมีพื้นที่กลางในการให้ทุกฝ่ายมาช่วยกันค้นหาข้อเท็จจริง เพื่อไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นเพียงผู้รู้จริง เพราะบางครั้งข้อเท็จจริงอาจเปลี่ยนแปลงไปได้ตามกาลเวลาและเหตุปัจจัย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net