Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชิญชวนชาวจุฬาฯ (เสียงส่วนน้อย) ให้มาแสดงพลังสนับสนุนการเลือกตั้งและหยุดการชุมนุมที่สร้างเงื่อนไขความรุนแรงผ่านทางเฟซบุ๊ก ได้อธิบายให้เห็นภาพพัฒนาการทางการเมืองไว้ใน “เจาะข่าวเด่น” ว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา อังกฤษ เขาออกแบบระบบการเมืองให้มีสองพรรคใหญ่และเน้นการแข่งขันเชิงนโยบาย เมื่อชนะกันในสนามเลือกตั้งแม้ด้วยคะแนนเหนือกว่าเพียงเฉียดฉิว เขาก็ยอมรับ ฝ่ายที่แพ้เลือกตั้งจะไม่มาคอยจ้องจะล้มรัฐบาล แต่เอาจริงเอาจังกับการตรวจสอบและพยายามหาวิธีสร้างคะแนนนิยมให้กับพรรคตัวเองเพื่อเอาชนะฝ่ายตรงข้ามในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

ส่วนประเทศกำลังพัฒนา ก็มักจะมีประชาชนที่ไม่พอใจรัฐบาลออกมาเดินขบวนบนท้องถนนให้รัฐบาลยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ซึ่งมีอยู่หลายประเทศในเอเชีย (และแม้แต่ในกัมพูชาในขณะนี้) แต่ประเทศที่ด้อยพัฒนาคือประเทศที่นิยมใช้วิธีนอกระบบทำรัฐประหารยึดอำนาจรัฐเพื่อแก้ปัญหาความไม่ชอบธรรมของรัฐบาล ทำให้บานปลายเป็นความขัดแย้ง และความรุนแรงนองเลือด

คำอธิบายของอาจารย์เจษฎาช่วยให้เราเห็นภาพชัดว่า ในประเทศไทยนั้น รัฐธรรมนูญ 2540 ออกแบบให้เรามีพรรคการเมืองสองพรรคใหญ่ และเป็นจุดเริ่มต้นในการแข่งขันเชิงนโยบาย ส่งผลให้มีรัฐบาลพลเรือนพรรคเดียวเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย แม้การบริหารของรัฐบาลพรรคเดียวได้ก่อปัญหา “ความไม่ชอบธรรม” ในหลายประการ แต่เมื่อรัฐบาลนั้นยุติปัญหาตามวิถีทางประชาธิปไตยด้วยการยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชนเลือกตั้งใหม่ แทนที่ฝ่ายตรงข้ามจะรณรงค์ให้ประชาชนไม่เลือกพรรคการเมืองเดิมเข้ามาอีก และรวบรวมพยานหลักฐานฟ้องเอาผิดตามกฎหมายในข้อกล่าวหาต่างๆเกี่ยวกับเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน พวกเขากลับใช้วิธีบอยคอตการเลือกตั้ง ปฏิเสธการเลือกตั้ง ออกมาชุมนุมบนท้องถนนเพื่อขับไล่ตัวบุคคลเจ้าปัญหานั้นให้ออกไปจากการเมือง จนเป็นชนวนเกิดรัฐประหารในปี 49

ความไม่ชอบธรรมของรัฐบาลทักษิณถูกอธิบายอย่าง “สูตรสำเร็จ” ว่า เป็นรัฐบาลที่มาจากการซื้อเสียง เข้ามาโกงกอบโกยผลประโยชน์ ผู้นำไม่มีคุณธรรมจริยธรรม เป็นเผด็จการเสียงข้างมาก แต่คำอธิบายนี้ได้ละเลยข้อเท็จจริงจากงานวิจัยหลายชิ้นที่ชี้ว่า มีการซื้อเสียงจากทุกพรรคการเมือง แต่ปัจจัยชี้ขาดแพ้-ชนะเลือกตั้งอยู่ที่คะแนนนิยมในตัวหัวหน้าพรรคและนโยบายพรรค มีนโยบายของรัฐบาลหลายนโยบายที่คนส่วนใหญ่ชอบและได้รับประโยชน์

นอกจากจะละเลยข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้ว เมื่อมีการยกตัวอย่างชัยชนะการเลือกตั้งที่มาจากนโยบายที่ประชาชนส่วนใหญ่ชอบและได้รับปนระโยชน์ จึงเป็นเหตุให้ประชาชนส่วนใหญ่ยังสนับสนุนพรรคการเมืองที่ถูกทำรัฐประหาร จนเกิดปรากฏการณ์คนเสื้อแดงในระยะต่อมา แต่กลับมีการพยายามลบคุณค่าของข้อเท็จจริงนั้นทิ้งไปอย่างง่ายๆ ด้วยการดูถูกว่าคนส่วนใหญ่ที่ยังสนับสนุนพรรคการเมืองนั้นอยู่ว่า เพราะพวกเขาถูกจูงจมูก ถูกหลอก ไร้การศึกษา ไม่รู้ประชาธิปไตย เห็นประโยชน์เฉพาะหน้ามากกว่าประโยชน์ของชาติในระยะยาว

วาทกรรม “ระบอบทักษิณ” โกงชาติบ้านเมือง และคนจำนวนมากที่สนับสนุนพรรคการเมืองในระบอบทักษิณเป็น “เสียงที่ด้อยคุณภาพ” เป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อว่าจะถูกนำมาใช้ประโยชน์ทางการเมืองมาเกือบทศวรรษ จนเกิดวิวาทะว่าเราควรจะยึดถือระบบ “1 เท่ากับ 1 เสียง” หรือไม่

ที่เหลือเชื่อมากกว่านั้นคือ บรรดาคนที่ชูและเชื่ออย่างหัวชนฝาในวาทกรรมดังกล่าวคือกลุ่มคนมีการศึกษาดี ที่อ้างคุณธรรมจริยธรรมในการต่อสู้ทางการเมือง แต่นิยมการใช้วิถีทางนอกระบบในการขจัดพรรคการเมืองและมวลชนฝ่ายตรงกันข้าม ดังรัฐประหารปี 49 ดังการสลายการชุมนุมปี 53

รัฐประหารในปี 49 คือการทำให้การเมืองไทยเป็นการเมืองแบบประเทศด้อยพัฒนา ขณะที่ในปี 53 มวลชนเสื้อแดงพยายามที่จะทำให้การเมืองไทยก้าวขึ้นมาสู่การเมืองแบบประเทศกำลังพัฒนาด้วยการออกมาเดินขบวนเรียกร้องให้รัฐบาลอำมาตย์อุ้มยุบสภาเลือกตั้งใหม่ แต่รัฐบาลนั้นกลับทำให้การเมืองไทยกลายเป็นการเมืองแบบประเทศด้อยพัฒนาลงไปอีกด้วยการสลายการชุมนุมอย่างโหดเหี้ยม

ในปลายปี 56 รัฐบาลเพื่อไทยสูญเสียความชอบธรรมเรื่องผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จึงหาทางลงแบบการเมืองของประเทศกำลังพัฒนาคือยุบสภาคืนอำนาจให้ประชนชนเลือกตั้งใหม่ แต่ประชาธิปัตย์แทนที่จะรณรงค์ให้ประชาชนเห็นความไม่ชอบธรรมของพรรคเพื่อไทยแล้วไม่เลือกมาเป็นรัฐบาลอีก กลับร่วมกับ กปปส.(คณะกรรมการประชาชนเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ขับไล่รัฐบาลรักษาการเพื่อยึดอำนาจรัฐตั้งรัฐบาลคนกลางและสภาประชาชนปฏิรูปประเทศ ซึ่งเป็นแนวทางรัฐประหารซ้ำรอยปี 49 เป็นการนำการเมืองของประเทศสู่การเมืองแบบประเทศด้อยพัฒนาอีกครั้ง

ถามว่า แล้วการปฏิรูปประเทศไม่ใช่เป็นการยกระดับให้การเมืองไทยเป็นแบบประเทศพัฒนาแล้วหรอกหรือ? คำตอบคือโดยเจตนาอาจจะเป็นเช่นนั้น แต่วิธีการที่ผิดตั้งแต่แรกจะนำไปสู่เป้าหมายที่ถูกได้อย่างไร เพราะในความเป็นจริงการปฏิรูปประเทศจำเป็นต้องเปิดให้ประชาชนทุกฝ่าย ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม จึงจำเป็นต้องกระทำไปพร้อมๆ กับการรักษาการเลือกตั้งอันเป็นวิถีทางประชาธิปไตยเอาไว้ การล้มการเลือกตั้งเท่ากับการล้มระบอบประชาธิปไตย ยึดอำนาจการปฏิรูปไปอยู่ในมือของคนกลุ่มหนึ่ง ทำให้เกิดปัญหา “ความไม่ชอบธรรม” และเป็นข้ออ้างให้ฝ่ายตรงข้ามออกมาประท้วงไม่สิ้นสุด

เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่า ฝ่าย กปปส.ย่อมคาดการณ์ได้ว่าแม้ฝ่ายตนจะชนะหรือยึดอำนาจรัฐได้สำเร็จไม่ว่าโดยมวลชนหรือโดยกองทัพ ก็ย่อมมีฝ่ายตรงข้ามออกมาประท้วงขับไล่อีก แต่ก็ยังไม่ยอมหยุดเดินหน้ายึดอำนาจรัฐ เพราะเชื่อว่านี่เป็นทางเดียวที่พวกเขาจะชนะได้ นี่นับเป็นโศกนาฏกรรมของวิธีคิดของบรรดาคนมีการศึกษาและอ้างคุณธรรมจริยธรรม เป็นวิธีคิดที่เชื่อว่าความรู้และคุณธรรมจริยธรรมที่พวกตนเองอ้างนั้นย่อมอยู่เหนือหลักการและกติกาประชาธิปไตย เป็นวิธีคิดที่เชื่อว่าเสียงส่วนน้อยของพวกตนมีคุณภาพกว่าเสียงข้างมากในสังคม

จึงกลายเป็นว่าขณะที่บรรดาคนที่ถูกประณามว่าโง่ ด้อยการศึกษา ถูกหลอก ฯลฯ พยายามที่จะยืนยันทางออกของความขัดแย้งตามวิถีทางประชาธิปไตยอันเป็นการยกระดับการเมืองของประเทศขึ้นไปอยู่ในวิถีของประเทศกำลังพัฒนาเพื่อส่งผ่านไปสู่การเมืองแบบประเทศพัฒนาแล้วในอนาคต

แต่บรรดาคนมีการศึกษาดีที่อ้างคุณธรรมจริยธรรมกลับฉุดดึงการเมืองของประเทศให้ตกลงไปในหุบเหวความขัดแย้งและความรุนแรงแบบประเทศด้อยพัฒนาที่นิยมแก้ปัญหาด้วยวิถีทางนอกระบบ อันเป็นการเมืองที่สุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งต่อการเกิดสงครามกลางเมือง

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net