Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


กล่าวอย่างกระชับ คำว่า “ความชอบธรรมทางการเมือง” (political legitimacy) หมายถึง เหตุผลที่รองรับปฏิบัติการทางการเมืองซึ่งเป็นที่ยอมรับได้โดยทั่วไป เนื่องจากสอดคล้องกับจริยธรรมและบรรทัดฐานทางการเมืองที่สังคมกำหนดไว้

ในโลกแห่งความเป็นจริง คำว่าจริยธรรมและบรรทัดฐานข้างต้น ย่อมมีความเห็นดี เห็นชอบแตกต่างกันไปตามบริบทและจิตสำนึกของปัจเจกชนและกลุ่มสังคมต่างๆ ยิ่งในสังคมที่มีลักษณะพหุนิยม (pluralism) ด้วยแล้ว จริยธรรมและบรรทัดฐานที่ว่านี้ ยิ่งหาข้อสรุปร่วมกันได้ยากขึ้นไปอีก ด้วยเหตุดังนั้น ในประเทศที่สมาทานระบอบประชาธิปไตย จึงถือเอารัฐธรรมนูญเป็นบรรทัดฐานร่วมกันในฐานะกฎหมายสูงสุดของประเทศ และยึดเสียงข้างมากโดยเคารพเสียงข้างน้อยเป็นหลักการพื้นฐานประการหนึ่ง ในการกำหนดชะตากรรมของบ้านเมือง

ดังนั้นการที่คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือที่เรียกโดยย่อว่า กปปส. อ้างเหตุว่ารัฐบาลเป็นโมฆะเพราะไม่เคารพอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ทุจริตคอร์รัปชั่นและฝ่าฝืนหลักนิติธรรม ด้วยเหตุดังนั้น จึงจำเป็นต้องโอนอำนาจอธิปไตยกลับคืนสู่มวลมหาประชาชนโดยอ้างบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา3 และขอให้มีนายกรัฐมนตรีพระราชทานตามมาตรา 7นั้น ขาดความชอบธรรมทางการเมืองเพราะขัดกับเจตนารมณ์และเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันดังที่คณะนิติราษฎร์ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงไปแล้ว

เมื่อถึงบรรทัดนี้ ผมขอสารภาพว่า โดยส่วนตัวแล้ว ผมชื่นชมความกล้าหาญของคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ ด้วยเหตุที่ว่า คุณสุเทพ (และแกนนำท่านอื่น) ทำให้การเมืองมวลชน (mass politic) มีความหมายถึงขั้นเป็นขบวนการเคลื่อนไหวในระดับชาติ อาจกล่าวได้ว่าคุณสุเทพมีส่วนอย่างสำคัญในการสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้กับการเมืองไทยในแง่ที่ว่า ลำพังแค่การ “เกียเซี๊ย”กันในหมู่ชนชั้นนำทางการเมืองแล้วจะสามารถทำอะไรได้ตามข้อตกลงแบบลับๆนั้น มิอาจกระทำได้ง่ายดายอีกต่อไปหากปราศจากความชอบธรรมทางการเมือง ตลอดรวมไปถึงประเด็นที่ว่า การได้รับการเลือกตั้งด้วยเสียงข้างมากอันเป็นช่องทางเข้าสู่อำนาจทางการบริหารและนิติบัญญัตินั้น เป็นคนละประเด็นกับการใช้อำนาจ โดยเฉพาะการใช้อำนาจที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบต่อผลประโยชน์หรือผลกระทบต่อมโนธรรมจิตสำนึกของประชาชนก็ตาม ดุจดังการได้รับอนุญาตให้ครอบครองใบขับขี่ ก็มิได้หมายความว่า บุคคลผู้นั้น จะขับรถตามอำเภอใจอย่างใดก็ได้

แต่เมื่อได้ทบทวนอ่านรัฐธรรมนูญทุกมาตราที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องของ กปปส. แล้วจึงพิจารณาเนื้อหาของแถลงการณ์และคำชี้แจงของคณะนิติราษฎร์ที่เกี่ยวข้องด้วยความพยายามทำใจให้เป็นกลางอย่างถึงที่สุด บอกตามตรงว่า ผมยอมศิโรราบให้กับทัศนะและข้อคิดเห็นของคณะนิติราษฎร์ จึงทำให้อดเป็นห่วงไม่ได้ว่าการให้ความชอบธรรมทางการเมืองที่ใช้รัฐธรรมนูญเป็นกรอบอ้างอิงของ กปปส.นั้น “เสียเปล่า”

ทว่าปัญหาเรื่องความชอบธรรมทางการเมืองของ กปปส.ยังมีอีกประเด็นหนึ่งซึ่งผมคิดว่า มีความสำคัญขั้นชี้ขาดว่า จะกำหนดการขับเคลื่อนมวลมหาประชาชนไปในทิศทางใดและการใช้มวลมหาประชาชนเป็นกรอบอ้างอิงความชอบธรรมทางการเมืองของ กปปส.นั้นเหมาะสมหรือไม่ ก็คือคำว่า “มวลมหาประชาชน” นี่แหละครับ

ตกลง “มวลมหาประชาชน”ภายใต้การนำของ กปปส. represent เสียงส่วนมากของประชาชนไทยอีก 60 กว่าล้านคนหรือเปล่า?

ประเด็นนี้สำคัญมากนะครับ เหตุที่สำคัญก็เพราะท่าทีของ กปปส.หรือคุณสุเทพเองแสดงออกให้ตีความได้ว่าเป็นศูนย์รวมอำนาจอธิปไตยของปวงชนไปเสียแล้ว  ดังเห็นได้จากการเรียกร้องให้โอนอำนาจอธิปไตยของประชาชนมายังมวลมหาประชาชน ออกแถลงการณ์ถึงภาคส่วนต่างๆให้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยอาศัยกรอบอ้างอิง (ทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ เช่น ออกแถลงการณ์โดยมีฉากมวลมหาประชาชนอยู่ด้านหลังกระทั่งประกาศแถลงการณ์บนเวที) คือ มวลมหาประชาชน

เอแบคโพลล์ ได้สำรวจความคิดของประชาชน พบว่า ประชาชนร้อยละ 89.0 อยากให้ประเทศสงบสุขและอยากเห็นทุกภาคส่วนร่วมกันแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศไปพร้อมๆกัน มีเพียงร้อยละ 11.0 เท่านั้นที่อยากให้รวมตัวกันต่อสู้ต่อไป
หากผลการสำรวจนี้แม่นยำ ถูกต้องตามหลักวิชาการอย่างแท้จริง ก็ย่อมเป็นเครื่องเตือนใจประการหนึ่งว่า “มวลมหาประชาชน” ที่กล่าวอ้างนั้น เป็นเพียงเสียงส่วนหนึ่งของประเทศ ขอย้ำนะครับว่า ผมกำลังพูดถึงปริมาณ ส่วนเรื่องความมุ่งมั่นบริสุทธิ์ใจของผู้เข้าร่วมเป็นมวลมหาประชาชนในการร่วมผลักดันข้อเรียกร้องของ กปปส. นั้น ผมเคารพศรัทธาและยังเห็นต่อไปด้วยว่าการชุมนุมทั้งก่อนและหลังยกระดับการชุมนุมนั้น มีพี่น้องประชาชนเดินทางเข้าร่วมอย่างมากมายเป็นประวัติศาสตร์ (ขนาดเพื่อนและญาติโกโหติกาของผม ซึ่งไม่เคยเข้าร่วมชุมนุมครั้งใดมาก่อนเลย ยังระดมพลกันออกไปร่วมกับคุณสุเทพ)

เมื่อถึงบรรทัดนี้ ก็เกิดคำถามต่อไปว่า แล้วจะมีกลไกใดรับประกันว่า เสียงใดคือเสียงข้างมาก คือเสียงส่วนใหญ่ของประเทศ ที่เราสามารถกล่าวได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่าเป็น “มวลมหาประชาชน” ได้อย่างแท้จริง? และสอดคล้องกับหลักการยึดเสียงข้างมากซึ่งเป็นฐานความชอบธรรมทางการเมืองตามครรลองประชาธิปไตยดังที่กล่าวไว้ในตอนต้น?
รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ชี้ว่า อยู่ที่การทำประชามติและการเลือกตั้ง

โดยเฉพาะการเลือกตั้ง (ซึ่งมีการประกาศยุบสภา กำหนดวันเลือกตั้งแล้ว) เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญทั้งฉบับปี 40และปัจจุบัน แสดงให้เห็นว่า ปรารถนาให้มวลมหาประชาชนเสียงส่วนใหญ่หรือทั้งหมดที่มีสิทธิ์เลือกตั้งตามคุณสมบัติที่กำหนดไว้ ต้องมาใช้สิทธิ์หย่อนบัตรเลือกตั้ง หาไม่แล้ว ก็ต้องมีบทลงโทษตัดสิทธิ์ทางการเมืองบางประการ ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่า การเลือกตั้งเป็นกลไกที่รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นบรรทัดฐานร่วมของระบอบประชาธิปไตย (และเป็นฐานของความชอบธรรมทางการเมืองด้วย) ได้กำหนดหลักประกันเท่าที่ทำได้ไว้แล้วว่า การเลือกตั้งเป็นกลไกในการแสดงออกถึงเจตนารมณ์ของเสียงข้างมาก

เหตุที่ผมยังไม่ได้พูดถึงการทำประชามติ ก็ด้วยเหตุที่ว่า การยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งทั่วไปนั้น คือรูปธรรมของการโอนอำนาจอธิปไตยกลับสู่ประชาชนอย่างมีความชอบธรรมทางการเมืองโดยอิงกับรัฐธรรมนูญและสอดคล้องกับข้อเรียกร้องของ กปปส.

อย่างไรก็ตาม ถึงมีประกาศยุบสภามีพระราชกฤษฎีกาฯแล้ว ผมก็ยังสงสัยอยู่ว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นจริงหรือเปล่า (ทั้งในช่วงรณรงค์หาเสียงและหย่อนบัตรเลือกตั้งจนได้ผลการเลือกตั้ง)?

ก็คุณสุเทพประกาศชัดนี่ครับว่า ไม่เอาเลือกตั้ง ขอปฎิรูปการเมืองก่อน โดยมีสภาประชาชน 400 คนทำหน้าที่กำหนดแนวทางการปฏิรูปการเมืองทั้ง 6 ข้อตามที่คุณสุเทพเสนอตลอดจนการวางกฎ กติกาการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ ยุติธรรมจริงแล้วค่อยเลือกตั้ง

ตามความเข้าใจของผม เหตุผลสำคัญที่คุณสุเทพประกาศเช่นนั้นเพราะ ประการแรก เลือกตั้งทีไร พวกระบอบทักษิณ ก็ชนะทุกที ประการที่สอง การรณรงค์เลือกตั้งยังไม่ปลอดจากการซื้อสิทธิ์ ขายเสียง (ซึ่งมีนัยยะว่าก็เป็นเพราะพรรคการเมืองตัวแทนคุณทักษิณนั่นแหละ เป็นตัวการ)

สำหรับเหตุผลประการแรก ผมตั้งสมมติฐานว่า ฐานเสียงของพรรคเพื่อไทย ไม่น่าจะอุ่นหนาฝาคั่งเหมือนก่อน ก็เล่นผลักดันพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งนี่แหละครับที่ทำให้มวลชนเสื้อแดงไม่น้อย เห็นว่า เป็นการหักหลังพรรคพวกเดียวกัน ข้อสนับสนุนสมมติฐานนี้ ก็คือ มวลชนเสื้อแดงเองนั่นแหละครับ ได้แสดงความไม่เห็นด้วยอย่างขึงขังต่อร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งเป็นกลุ่มแรกๆ (เช่นการรวมพลังคนเสื้อแดงในการแสดงจุดยืนดังกล่าวนำโดย บก.ลายจุด) นอกจากนี้ขีดความสามารถในการระดมพลเสื้อแดงของแกนนำ นปช.ลดลง ดังจะเห็นได้จากจำนวนคนเสื้อแดงที่มาร่วมชุมนุมกันที่สนามกีฬาราชมังคลาสถาน ไม่มากพอเมื่อเทียบกับมวลมหาประชาชนของคุณสุเทพ จึงมีความเป็นไปได้สูงที่มวลชนเสื้อแดงจำนวนหนึ่ง หากไม่มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งก็จะกาบัตรเลือกตั้งแบบ say no เท่าที่ผมค้นคว้าข้อคิดเห็นของนักวิชาการปัญญาชน พบว่ามีหลายท่านนะครับที่เสนอให้มวลชนเสื้อแดง ใช้โอกาสนี้สั่งสอนและปฏิรูปพรรคเพื่อไทย บางท่านประเมินว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ หากพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง ก็จะชนะแบบไม่ทิ้งห่าง

แต่ถ้าหากคุณสุเทพ ยังยืนกรานจุดยืนเดิมและใช้ยุทธวิธีทั้งทางตรงทางอ้อมสกัดไม่ให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ไม่ว่าจะในนามของสันติวิธีหรืออารยะขัดขืน ผลที่อาจเกิดขึ้นตามมา คือ การสร้างเงื่อนไขให้แกนนำ นปช. (ซึ่งประกาศไปแล้วว่าจะไม่ร่วมสังฆกรรมทางการเมืองกับคุณสุเทพ) มีความชอบธรรมทางการเมืองโดยอิงกับรัฐธรรมนูญควบคู่กับการโจมตีว่ากลุ่มของคุณสุเทพไม่ใช่เสียงข้างมาก กล่าวอีกนัยหนึ่ง ก็คือ กปปส.และมวลมหาประชาชนนั้น ไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่และทำลายครรลองของระบอบประชาธิปไตย หากประเด็นนี้จุดติด ก็จะทำให้มวลชนเสื้อแดงเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันมากขึ้นกว่าเดิมได้

หากเกิดฉากทัศน์ (scenario) เช่นว่านี้จริง ก็ย่อมเปิดทางให้แก่ “ความเป็นไปได้” ของการระดมพลและการเผชิญหน้ากัน ถึงขั้นสงครามกลางเมืองดังที่บางท่านวิเคราะห์ไว้หรือไม่ ผมยังไม่มีปัญญาหยั่งถึง หยั่งถึงแต่เพียงว่า หากเกิดการเผชิญหน้ากัน คงไม่มีมวลชนฝั่งใดให้ดอกกุหลาบกับมวลชนฝั่งตรงข้ามตัวเองแน่

สำหรับเหตุผลประการที่สอง  เรื่องการซื้อสิทธิ์ขายเสียงนั้น ผมตั้งสมมติฐานว่า ชาวบ้านฉลาดขึ้น ด้วยผลพวงของการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น กว่าสองทศวรรษที่ผ่านมา ชาวบ้านออกเสียงเลือกตั้งผู้บริหารและสมาชิกสภาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำให้พวกเขาได้รับประสบการณ์จริง กล่าวคือ เห็นถึงความสัมพันธ์โดยตรงระหว่างผลการเลือกตั้งกับผลประโยชน์ที่พวกเขาได้ ดูเหมือนว่าเงิน ไม่ใช่ตัวแปรชี้ขาดที่เข้มข้นอีกต่อไป ในเมื่อชาวบ้านเรียนรู้ที่จะรับเงินจากทุกค่าย แล้วไปกาบัตรเลือกตั้งตามเจตจำนงของพวกเขาเอง ดังนั้น ตัวแปรสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจของชาวบ้านว่าจะเลือกใครเป็นผู้แทนนั้น จึงอยู่ที่การคาดคะเนถึงประโยชน์ที่พวกเขาจะพึงได้รับจากนโยบายและประเด็นที่ใช้หาเสียงต่างหาก

ผมจึงอยากเสนอให้ กปปส.ยอมรับการเลือกตั้งอย่างมีเงื่อนไข กล่าวคือ

1) ใช้ระยะเวลาที่เหลืออยู่ก่อนวันเลือกตั้ง ทำให้สังคมไทยเข้าใจข้อเรียกร้องของคุณสุเทพ โดยเฉพาะการตั้งสภาประชาชนและการปฏิรูปการเมือง

2) กดดันให้ทุกพรรคการเมือง ลงสัตยาบันร่วมกันว่า หลังเลือกตั้ง ทุกพรรค จะเดินหน้าเต็มที่ในการปฏิรูปการเมือง อันที่จริงผมอยากให้ไปไกลถึงคำว่า การปฏิรูปประเทศไทยด้วยซ้ำ

3) เร่งสร้างเครือข่าย กปปส.ทั่วประเทศ แล้วแปลงพลังมวลชนที่มีอยู่ ให้เป็นพลังแสดงเจตจำนงตามข้อเรียกร้องของ กปปส.ผ่านการเลือกพรรคประชาธิปัตย์ ให้ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

อันที่จริง พลังจากการทำประชามติเกี่ยวกับประเด็นการปฏิรูปการเมืองกระทั่งการจัดให้มีสภาประชาชนนั้น มีผลผูกมัดพรรคการเมืองได้อย่างแน่นแฟ้นกว่าการทำสัตยาบันระหว่างพรรคการเมืองด้วยกันเอง ด้วยเหตุที่ผลการทำประชามติมีความชอบธรรมทางการเมืองตามหลักการพื้นฐานว่าด้วยการยึดเสียงข้างมากและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ในการกำหนดให้ผลของการทำประชามตินั้นผูกพันต่อการตัดสินใจของพรรคการเมืองทุกพรรค ติดอยู่ตรงที่ว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ มาตรา 6 (1) กำหนดให้ต้องมีระยะเวลาไม่น้อยกว่า 90 วันนับจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา จึงไม่ทันการณ์

อันที่จริงฝ่ายที่น่าจะคิดถึงเรื่องการเลือกตั้งอย่างเอาจริงเอาจังพอๆกับคุณสุเทพ ก็คือ พรรคประชาธิปัตย์นี่แหละครับ หากลงเลือกตั้งก็เท่ากับว่า มีจุดยืนที่แตกต่างจาก กปปส. ซึ่งพรรคฯให้การสนับสนุนอย่างชัดเจนด้วยการลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งพรรค การตัดสินใจลงเลือกตั้ง จึงอาจทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงความจริงใจของพรรคฯในการยืนหยัดตามจุดยืนของมวลชน กปปส. แต่หากไม่ลงเลือกตั้ง ก็เท่ากับว่าพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งสามารถเป็นกระบอกเสียงของ กปปส.ได้ จะขาดพื้นที่ทางการเมืองในระบบรัฐสภา ซึ่งเป็นอีกช่องทางหนึ่งของการต่อสู้ทางการเมืองในระดับมหภาค

สิ่งที่ กปปส.และพรรคประชาธิปัตย์พึงวิเคราะห์ให้ถี่ถ้วน ก็คือ การแสดงจุดยืนผ่านข้อเรียกร้องที่ปราศจากพื้นที่การเจรจา (bargaining arena) หรือเรียกง่ายๆว่า เป็นข้อเรียกร้องแบบยื่นคำขาดนั้น ที่สุดแล้ว “มวลมหาประชาชน” ที่แท้จริงจะได้ประโยชน์อะไร? และตราบใดที่ฉากหลังการต่อสู้ทางการเมืองครั้งนี้ ยังคงวนรอบอยู่แต่ประเด็นการจัดสรรอำนาจให้ลงตัวระหว่างชนชั้นนำทางการเมืองโดยใช้มวลมหาประชาชนเป็นกำลังสนับสนุน ประเด็นการต่อสู้ทางการเมืองเช่นนี้ ก็คงเป็นเพียงแค่เหล้าเก่าในขวดใหม่ ที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2475 และทวีความแหลมคมขึ้นทุกทีในช่วงปลายรัชกาลปัจจุบัน

ใครอยากตาสว่าง เข้าใจรหัสนัยของเรื่องนี้ รีบหาหนังสือ “ขอฝันใฝ่ ในฝัน อันเหลือเชื่อ: ความเคลื่อนไหวของขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม (พ.ศ.2475-2500)” ของคุณณัฐพล ใจจริง มาอ่านโดยพลัน

 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net