Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

สิ่งที่อั้มพึงสังเกตได้จากกิจกรรมประท้วงเชิงสัญลักษณ์ต่อพฤติกรรมการสั่งปิดมหาวิทยาลัยทุกศูนย์โดยไม่มีเหตุผลที่จำเป็น และประท้วงต่อพฤติกรรมของนายสมคิด อธิการบดีธรรมศาสตร์ เมื่อวานนี้ โดยสิ่งแรกนั้นคือ พวกเรานั้นกระทำการในนามของกลุ่มนักศึกษาอิสระกลุ่มหนึ่ง ซึ่งหาได้กระทำการ "เหมาเข่ง" ชื่อนามธรรมศาสตร์แบบที่นายสมคิด อธิการบดีได้กระทำโดยการเอาธรรมศาสตร์ไปผูกโยงกับม็อปราชดำเนินมีการทำป้ายสนับสนุนในนามของธรรมศาสตร์อย่างเป็นทางการโดยไม่ได้คำนึงถึงคนในประชาคมว่าเห็นด้วยหรือไม่ สิ่งเหล่านี้นี้รับได้แล้วหรือ ? ทุกคนไม่ได้ต้องการจะร่วมวงกับม็อบต้านระบอบประชาธิปไตยเหมือนที่คุณสมคิดต้องการเสมอไป

ประเด็นต่อมาที่เราจะพึงเห็นได้ชัดจากเหตุการณ์นี้นั้นก็คือ กระแสของลัทธิชาตินิยม (Nationalism) ธงชาตินิยม ไม่ผิดหรอกนะคะที่ท่านจะรักชาติ รักชอบ บูชาธงชาติแต่เช้าเย็น แต่ความรักที่มันกลายมาเป็นความคลั่งไม่ว่าจะไล่ตีคนอื่นที่คิดต่างด้วยธงชาติแบบที่ม็อปนายสุเทพได้เคยกระทำ หรือการอ้างว่าฆ่าผู้อื่นที่คิดต่างด้วยการอ้างชาติ อย่างนี้คำว่า "ชาติ" ของเรามันจะมีความหมายอีกเช่นใดคะ

ในเมื่อทุกวันนี้ธงชาติไทยนั้นได้สะท้อนจินตนาการของคนไทยได้ดีว่า ธงชาตินั้นเต็มไปด้วยความศักดิ์สิทธิ์ จับต้องไม่ได้ ทั้งที่มันก็เป็นแค่ผ้าผืนหนึ่งที่เราใส่คุณค่าและความหมายให้แก่มันภายหลัง แต่เรากลับอ้างมันในการสร้างความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงต่อผู้ที่คิดต่างเสมอ ทุกวันนี้อั้มเห็นคนเพรียกหาความเป็น "ชาตินิยม" กันเสียมาก แต่ทุกคนก็ยังไม่เคยก้าวข้ามสิ่งๆ นี้ไปสู่คำว่า "มนุษยชาติ" หรือคนที่ไม่ได้รักในผืนผ้า เคารพกราบไหว้ผ้าแบบเดียวกับเราไม่ใช่ "มนุษย์" เช่นเดียวกับเราอย่างนั้นหรือ ??

แต่สิ่งที่อั้มและสหายกำลังจะสื่อและเน้นย้ำก็คือ ธงชาติไทยที่โบกสะบัดอยู่เหนือยอดโดมจะไม่มีความหมายใด ๆ เลย ในเมื่ออธิการบดีธรรมศาสตร์นั้นหักหลังนิยามคำว่า “ชาติของประชาชน”  เมื่อนายสมคิดกลับไปร่าง ม.309 ล้างมลทินให้คณะรัฐประหาร นายสมคิดใช้ธรรมศาสตร์อย่างเป็นทางการเปิดเผยในการแสดงจุดยืนร่วมกับม็อปอนาธิปไตยไม่เอาเผด็จการที่ราชดำเนิน แถมยังหวังจะปิดมหาวิทยาลัยทุกวิทยาเขตโดยไม่มีเหตุผลที่จำเป็นอย่างเช่นที่ รังสิต และลำปาง

การกระทำเหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นทั้งๆ ที่ธรรมศาสตร์ที่นายสมคิดยืนอยู่ทุกวันนี้นั้นคือที่ๆ ถูกก่อสร้างร่างไว้ให้เป็นบ่อบำบัดความกระหายของราษฎรประชาชน แต่ทุกวันนี้อธิการกลับใช้สถานที่แห่งนี้มาดัดแปลงเป็นบ่อบำบัดความกระหายทางอำนาจของตน ดังนั้นธงดำนี้แหละค่ะที่เราจะเชิญขึ้นสู่ยอดโดมเพื่อไว้อาลัยแก่ความเป็นธรรมศาสตร์ที่สูญสิ้นไปแล้วด้วยน้ำมือของอธืการฯสมคิด ซึ่งการเชิญธงดำขึ้นสู่ยอดโดมนั้นเคยเกิดขึ้นในเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 เพื่อต่อต้านอำนาจไม่ชอบธรรมแม้ว่า อ.สัญญา ธรรมศักดิ์จะเสียใจต่อการกระทำในครั้งนั้น แต่นี้ก็ถือว่าเป็นการกระทำประท้วงเชิงสัญลักษณ์ทางการเมืองว่า กลุ่มนักศึกษาอิสระของพวกเราไม่เคยยอมจำนนต่ออำนาจเผด็จการ เหมือนที่อธิการบดีของเขากระทำ

และในประเด็นสุดท้ายที่พึงสังเกตได้นั้นก็คือ เรื่องการแต่งกาย ขอบอกนะคะการกระทำของอั้มนี้แหละค่ะที่เป็นตัวสแกนหรือคัดกรองระดับของผู้รับสารว่าจะอ่านในเนื้อหา การกระทำ เหตุผล มากกว่าสิ่งที่เป็นอาภรณ์นอกกายได้หรือไม่ ? ชี้ให้เห็นได้ว่าคนไทยนั้นรับสารได้เพียงแต่เปลือกนอกเสียมาก

แต่ประเด็นจริงๆ ที่ต้องการจะสื่อคือ การแต่งกายเช่นนี้เป็นการแสดงออกทางการเมืองว่า สิ่งที่มองดูแล้วผิดปรกติมันไม่ใช่เพราะมันไม่ปกติ แต่ "มันถูกทำให้มองว่ามันผิดปรกติ" ด้วยความที่สังคมเรายังมีความคิดที่คับแคบและไม่เปิดรับต่อความแตกต่างหลากหลาย ทุกวันนี้สังคมไทยเราเลยยังเป็นสังคมที่บูชาคนกราบไว้ผ้าที่เรียกว่า "ธงชาติ" เรากราบไหว้อย่างไม่ลืมหูลืมตา และหากใครไม่กราบไหว้ตามก็จะถูกมองว่าบ้า

รวมทั้งสิ่งที่อั้มพยายามจะชี้ให้เห็นตลอดถึงการแหวกนิยามของการรับรู้แบบเดิมๆ ว่าทำไมคนแต่งตัวเหมือนกะหรี่จึงเป็นสิ่งที่ผิด ? เขาเลยไม่ใช่คน ? และทำไมหากเขาไม่ใช่กะหรี่แต่แต่งกายไม่ถูกใจ ถูกจริตคนไทยเขาจะกลายเป็นคนเลวเลยหรือ ? และนักศึกษาจำเป็นด้วยหรือที่ต้องแต่งกายให้ถูกใจ ถูกจริตสังคมไทย เพราะดิฉันใช้สมองมาเรียน ดิฉันจะแต่งกายอะไรมันไม่ได้ไปสร้างความเดือดร้อนให้ใครเหมือนที่นายสมคิด อธิการฯ ไปใช้ชื่อธรรมศาสตร์สนับสนุนอำนาจนอกระบบ

ดังนั้นค่ะการกระทำที่ผ่านมาของอั้มและเพื่อนจึงเป็นทั้งการแสดงออกซึ่งมุมมองของนักศึกษากลุ่มหนึ่งที่ไม่พอใจต่อการปิดเรียนมหาวิทยาลัยอย่างไม่มีเหตุผล และไม่พอใจต่อพฤติกรรมของนายสมคิดที่ไม่เคยมีความละอายอายต่อสิ่งที่ตนเองกระทำ ทั้งนี้หากจะมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนดิฉัน อั้มคิดว่าสมคิดควรจะต้องสอบสวนตัวเองให้ได้เสียก่อน และละอายใจต่อสิ่งที่ตนเองกระทำทุกสามวินาทีได้ก็ยังดี

จึงขอกล่าวท้ายเพียงแต่ว่า ธรรมศาสตร์ได้ถือกำเนิดมาในวันที่ 27 มิถุนา 2477 ให้ตรงกับวันที่สยามมีรัฐธรรมนูญฉบับแรก หน้าที่ของนักศึกษา มธก. จึงต้องปกปักรัฐธรรมนูญของประชาชน(ที่ไม่ใช่แบบศาลรัฐธรรมนูญกับการรัฐประหารในปัจจุบัน) แต่สมคิดละคะเขาได้ตระหนักถึงสิ่งเหล่านี้บ้างหรือเปล่า ? อั้มจึงอยากจะขอแสดงความอาลัยแก่อธิการบดีผู้ที่ไม่เคยสำนึกต่อการกระทำที่ขัดขวางต่ออุดมการณ์ประชาธิปไตยในธรรมศาสตร์ของนักศึกษาและประชาชนทุกคนเลย

ขอบคุณค่ะ

Aum Neko

 

 

หมายเหตุประชาไท: ขอบคุณภาพวิดีโอจากคุณ ศุภพิชญ์ เกศวภักดิ์

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net