Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


 

ปัญหาของมดลูก, คุณค่าความเป็นหญิง และการสร้างตัวตนของกะเทยในสังคม

เมื่อสังคมมองผู้หญิงหรือคุณค่าความเป็นหญิง (feminine values) โดยการตัดสินจากกายสรีระว่ามีมดลูกหรือรังไข่หรือไม่ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นผลิตผลจากวาทกรรมว่าด้ายวิทยาศาสตร์ที่ถูกใช้มาเป็นเครื่องมือในการสร้างชุดคำอธิบายความเป็นหญิงชายผ่านชุดความคิดทางวิทยาศาสตร์ว่าจะมีเพียงแค่ 2 เพศตามปกติ คือ xx กับ xy แทนชาย แทนหญิง อันเป็นปัญหาว่าแท้จริงแล้วชุดความรู้ทางวิทยาศาสตร์สามารถอธิบายปรากฎการณ์ความแตกต่างทางสังคมศาสตร์ได้หมดจริงหรือ ? หรือเรากำลังสถาปนาความจริงสูงสุดผ่านความเชื่อมั่นว่าวิทยาศาสตร์สามารถอธิบายทุกปรากฎการณ์และสภาวะความเป็นมนุษย์ได้ทั้งหมด

ฉะนั้นแล้วมายาคติที่ว่าชายหญิงตัดสินกันผ่านความแตกต่างที่แน่ชัดทางกายสรีระจึงเป็นเพียงชุดความคิดที่ถูกผลิตสร้างขึ้นมาให้มันดูเหมือนๆ กัน และเชื่อตามกันมาตลอด ทั้งที่แท้จริงแล้วนั้นมนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะชายหรือหญิงล้วนมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกันไป ดีเอ็นเอก็ต่างกันไป สิ่งเหล่านี้ไม่อาจจะนำมาตัดสินได้ว่ามนุษย์ควรไม่เท่าเทียมกัน และด้วยสภาวะความลื่นไหลทางเพศในปัจจุบันที่อาจเกิดขึ้นได้กับทุกคนวันนี้การเลือกประกอบสร้างอัตลักษณ์ตัวตนของเราอาจจะเป็นหญิงรักหญิง พรุ่งนี้อาจจะตกหลุมรักกะเทยได้ วันต่อมาอาจกลายเป็นหญิงรักชายก็เป็นไปได้ เพียงแต่สภาวะอย่าง Queer ที่เรานิยามเพศที่ไม่ชัดเจนสามารถลื่นไหลไปได้ตามบริบทของชีวิตกำลังถูกทำให้กลายเป็นเรื่องแปลกจากการที่เรากำลังสถาปนาคุณค่าชายจริง หญิงแท้ ให้เป็นความจริงสูงสุดเหมือนเราเป็นสัตว์ที่มีแต่ร่างกาย หาได้มีจิตใจและความคิด

นอกจากนั้นแล้วการอิงชุดความรู้ที่สถาปนาคุณค่าของความเป็นชายหญิงผ่านการตัดสินคุณค่าด้วยเปลือกสรีระเช่นนี้อย่างกระสันสุดแนวทางนั้นยังเป็นการลดทอนคุณค่าของสตรีให้เหลือเพียงแค่ตัวมดลูกอันตอกย้ำการสร้างสภาวะการเป็นแม่และเมีย อันเป็นการคิดและกำหนดแนวทางของชีวิตแทนผู้หญิงไปแล้วว่าเป็นผู้หญิงต้องมีมดลูกเพื่อที่จะสร้างการผลิตคลอดลูกออกมา โดยไม่เคยถามผู้หญิงว่าต้องการจะมีลูกหรือไม่ และถ้าไม่อยากจะมีมิได้หรือ ? จะเป็นผู้หญิงมดลูกฝ่อไม่สมบูรณ์ตามคุณค่าที่กำหนดไว้หรือ ? มนุษย์เพศหญิงเราก็คือมนุษย์ เราไม่ใช่สัตว์ที่จะต้องเกิดมาเป็นวัวในฟาร์มที่รอผลิตลูกไปวันๆ

และสิ่งที่น่ารังเกียจอีกประการคือการที่สังคมไทยมองผู้ที่เป็นทอมหรือหนุ่มข้ามเพศ (transmale) ด้วยการผูกมัดคุณค่าความเป็นหญิงของคนกลุ่มนี้ไว้ที่มดลูก โดยไม่ได้มองเรื่องของเพศสภาพของเขาซึ่งพยายามจะนิยามตนเองเป็นผู้ชาย แต่กลับถูกสังคมชายเป็นใหญ่เข้ามากดทับด้วยการพยายามแสดงอำนาจที่เหนือกว่าผ่านการลดทอนคุณค่าของทอมด้วยการยัดเยียดความเป็นผู้หญิงให้แก่ทอม หรือง่ายๆ พยายามจะอวดโอ้ความศักดิ์สิทธิ์ของลึงคู้ชายว่ามีอำนาจที่จะเปลี่ยนความไม่ปกติให้กลับมาสู่สภาวะคุณค่าความเป็นหญิงปกติได้ ผู้ชายจำนวนนี้จึงมักจะดูถูกทอมและพยายามยัดเยียดบทบาทความเป็นเมียให้แก่ทอมเพื่อที่จะแสดงศักดาความเป็นชายของตน

ซึ่งก็กลับมาพูดเรื่องคุณค่าความเป็นหญิงและมดลูก สิ่งนี้ก็ทำให้เราไปตัดสินแล้วว่ากะเทยคือของปลอมเพราะท้องไม่ได้ จึงต้องกลับไปสู่คำถามเดิมว่าหากการท้องได้หมายความว่าเรานั้นเป็นผู้หญิงโดยสมบูรณ์ แล้วทำไมผู้หญิงจึงต้องท้อง ? ผู้หญิงที่มีมดลูกแต่ไม่อยากท้องไม่อยากเป็นแม่เป็นเมียที่ดีตามที่สังคมชายเป็นใหญ่อยากให้เป็นไว้ก็มีถมไป คติความเชื่อที่ว่าการผลิตลูกเพื่อมนุษยชาติมันจึงกลายมาเป็นมายาคติของชีวิตมนุษย์ที่ถูกตัดสินให้มีความสุขผ่านการมีครอบครัวในอุดมคติพ่อ แม่ ลูก เพื่อสนองต่ออุดมการณ์สอนมนุษย์ให้เป็นวัว แต่ทุกวันนี้นั้นมนุษย์เราควรจะมีเสรีภาพที่จะตัดสินใจและประเมินความสุของมนุษย์เองได้และชีวิตเราก็เต็มไปด้วยรูปแบบที่หลากหลาย และการที่ไม่ต้องมีภาระลูกเต้าก็อาจเป็นคำตอบของผู้หญิงคนอื่นๆ ก็ได้

ดังนั้นการจะมีมดลูกหรือไม่ล้วนเป็นมายาคติของคุณค่าความเป็นหญิงที่ขลุมคนที่เป็นผู้หญิงให้ต้องประพฤติตามคุณค่าเช่นนี้

Beauvoir ยังได้อธิบายว่าการที่ผู้หญิงพยายามทำตนให้เป็นมนุษย์แบบปกตินั้นกลับกลายว่าเราพยายามทำตนให้เหมือนผู้ชายซึ่งนั้นไม่ใช่มันคือความปกติที่เราพึงมี แต่เพียงแค่ว่าความเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์มันถูกนิยามให้กับผู้ชายเท่านั้น และสำหรับผู้หญิงเราแล้วนั้นเราก็จะต้องทนอยู่กับบทบาทบางอย่างเช่นความเป็นแม่ (motherhood) ให้ผู้หญิงต้องตกเป็นทาสของบทบาทนี้ เป็นงานที่ไม่ได้รับค่าแรงและผู้ชายก็ผูกขาดเอาไว้ให้แก่ผู้หญิงเพียงเพศเดียว ซึ่งเป็นข้อวิพากษ์ที่นักสตรีนิยมหันมาโจมตีการกดขี่ผู้หญิงในระดับที่ว่าความเป็นแม่และเมียนั้นเป็นการกดทับทางเศรษฐกิจ นั้นคือการตกอยู่ในบทบาทนี้ล้วนเอื้อประโยชน์ให้แก่เพศชายให้ไม่ต้องรับผิดชอบหน้าที่งานภายในบ้านร่วมกันโดยการผลักภาระไปให้ไว้กับเมียโดยไม่มีค่าแรงจ้าง มีเพียงคำปลอบประโลมให้ระลึกถึงบทบาทความเป็นแม่ที่ตามหลอนผู้หญิงตลอดเวลา

นอกจากนั้นคุณค่าของผู้หญิงก็ถูกผูกโยงไว้กับพรหมจรรย์การเสียตัวของผู้หญิงคือเรื่องน่าละอายโดยเฉพาะความสัมพันธ์นอกสถาบันสมรสทำให้เธอถูกนิยามเป็น “อีสำส่อน” “ร่าน” “กะหรี่” มดลูกของผู้หญิงจึงมีความหมายในการวัดประเมินคุณค่าความดีงามของผู้หญิง อันเป็นปัญหาว่าทำไมผู้ชายถึงสำส่อนได้ และกรอบความคิดแบบผัวเดียวเมียเดียวกลับเลือกทำงานเฉพาะกับผู้หญิง และหากเธออยากจะใช้เสรีภาพเหนือร่างกายและมดลูกของเธอไปร่วมเพศเซ็กซ์หมู่กับใครมันผิดตรงไหน ? มันมีเพียงแค่อำนาจปลายลึงค์ของผู้ชายที่คอยจะวาดภาพสตรีอันดีงามให้รอมาเป็นของเล่นทางเพศแก่ผู้ชายเพียงฝ่ายเดียวผู้หญิงจึงต้องปฏิบัติตามอำนาจของผู้ชาย ต้องเก็บซิงไว้ชิงโชค

และเป็นที่แน่ชัดว่าเมื่อมีการผูกโยงคุณค่าความเป็นหญิงเอาไว้เพียงแค่ผู้หญิงที่มีมดลูก แน่นอนว่าคุณค่าความเป็นแม่จึงถูกผูกโยงกับแม่มากกว่าพ่อ หากผู้หญิงเลี้ยงลูกได้ไม่ดีก็จะถูกประณามเช่น เป็นแม่ใจยักษ์ ทำแท้งทีก็จะโดนด่าทั้งๆ ที่ผู้ชายก็มีส่วนร่วมในการผลิตลูก แต่ภาระความเป็นแม่กลับผูกขาดไว้เพียงแค่กับผู้หญิง และผู้ชายก็จะเป็นผู้หาเลี้ยง ทั้งๆ ที่ผู้ชายเอง เกย์เอง กะเทยเองก็สามารถมีความเป็นแม่ได้ เราเลยจะใช้คำว่า Parenthood ความเป็นผู้ปกครองแทน  โดยที่เราไม่จำเป็นต้องมีมดลูกเราก็สามารถชุบเลี้ยงเด็กได้ เด็กที่เติบโตจากพ่อแม่ที่มีความหลากหลายทางเพศไม่ใช่เด็กที่มีปัญหา แต่สังคมกำลังใช้สายตาของตนไปจ้องจับิดและยัดเยียดปัญหาให้แก่พวกเขา นอกจากนี้แล้วกฎหมายอย่างในเยอรมนีการลางานในกรณีคลอดและเลี้ยงทารกสามารถลาได้ทั้งพ่อและแม่ไม่ได้จำกัดไว้เพียงแค่ที่ตัวผู้หญิง

และด้วยเหตุนี้ที่กะเทยไม่มีคุณสมบัติที่ผู้หญิงถูกกดทับด้วยบทบาททางเพศเหล่านี้ จึงทำให้ความปลอมถูกนิยามให้แก่กะเทยไร้มดลูก การเป็นดอกไม้ปลอมๆ ดอกไม้พลาสติค หญิงเทียม จนถึงการกดขี่ทางเพศด้วยการนิยามไปเลยว่าร่างเป็นผู้ชาย จนทำให้สังคมไทยเราบางครั้งดันจัดรวมกะเทยให้อยู่ในกลุ่มเดียวกับบุคคลรักเพศเดียวกัน (homosexuals) ทั้งๆ ที่อัตลักษณ์และเพศวิถีของเธอนั้นคือชายและหญิง (heterosexual) อันเป็นวิธีคิดที่คนไทยไม่ได้รับการเรียนรู้มาเพราะตั้งแต่เราเข้าโรงเรียนมารัฐก็ได้ป้อนแต่องค์ความรู้และบทบาททางสังคมของชายหญิงให้เด็กต้องปฏิบัติ กฎระเบียบวินัยต่างๆ ล้วนมีไว้เพื่อที่จะกีดกันผู้มีความหลากหลายทางเพศไม่ว่าจะทางทรงผม หรือเครื่องแต่งกาย ด้วยเหตุนี้แล้วเราจึงต้องเรียนรู้และตระหนักถึงโครงสร้างทางเพศที่ไม่ควรถูกจำกัดให้กับเพศใดเพศหนึ่ง และไม่ควรมีใครต้องตกอยู่ภายใต้สภาวะที่ตนเองถูกอำนาจที่สถาปนาจากสังคมกดทับตัวตนของเราเอง

ด้วยการจัดวางบทบาททางเพศไว้ให้กะเทยเช่นนี้ความรู้สึกแปลกแยก (alienation) ก็จะเริ่มเกิดขึ้นระหว่างผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ กะเทยที่ต้องจำใจตัดผมสั้น ใช้คำนำหน้าเป็นนาย สิ่งเหล่านี้คือกระบวนการทำให้สิ่งแปลกปลอมกลายเป็นตัวตลกผ่านอำนาจการควบคุมร่างกาย เช่น เครื่องแบบนักเรียน และทรงผม อันหลีกเลี่ยงไม่ได้ และหากกะเทยจะหลุดจากกรอบโครงสร้างนี้ก็จะถูกผลักไสให้ไปอยู่ในสถานะของกะเทยนอกระบบ ไม่เข้าระบบการศึกษา ลาออกจากโรงเรียนไปทำงานอื่นๆ โอกาสทางสังคมก็จะต้องแลกกับความทุกข์ทรมานของการเกิดมาอยู่ในสังคมที่ไม่เคยจะแลเห็นหัวผู้มีความหลากหลายทางเพศ

และในฐานะของผู้ศึกษาเพศวิถีนั้นเราควรให้ความสำคัญแบ่งแยกความแตกต่างออกระหว่างกายสรีระ (sex) และเพศสภาวะ (gender) ออกมา บางคนเกิดมามีเพศสภาวะหรือเพศสภาพไม่ตรงกับเพศสรีระเราก็สามารถทำการเปลี่ยนแปลงกายสรีระของเราให้เข้ากับเพศสภาพที่เราต้องการได้ และที่สำคัญคือคนกลุ่มนี้ก็ควรจะได้รับการยอมรับให้เป็นบุคคลเพศนั้นๆ ตามที่เขานิยามตัวตนอันเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่จะตระหนักถึงตัวตนของเรา ไม่ใช่การรอคอยการตัดสินว่าตกลงฉันเป็นอะไร และบทบาททางเพศในสังคมที่เขาต้องถูกจองจำมาเป็นเวลานานทำให้การแสดงออกของกะเทยบางคนอาจมีอาการที่มากไปหรือไม่ก็ไม่กล้าเลยอันเป็นผลจากการกดทับทางสังคมที่พวกเขาควรจะได้รับการคุ้มครองในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง

 

(ยังมีต่อ)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net