Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

กาลเวลาผันไป ใจคนก็เปลี่ยนแปลง เป็นไปได้หรือที่เราจะห้ามกระแสลมของสังคมที่ปลิวไสวไปด้วยตัวธรรมชาติของตัวมันเอง แต่ผู้ที่ฝืนธรรมชาติ ฝืนความคิดผู้คนที่เปลี่ยนแปลงไปแล้วนั้น จะยังคงแช่แข็งตนเองอยู่แบบเดิมได้เช่นไร ? หากโลกกำลังจะหมุนไปแต่ไฉนต้องหยุดมัน การทำความเข้าใจต่อการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะความคิดและทัศนคติของผู้คนที่แตกต่างกันไปต่างหากที่จะทำให้โลกนี้หมุนและเดินต่อไปร่วมกันอย่างสันติได้ แต่ในความจริงไซร้นั้นหาเป็นเช่นนั้นไม่ ความสังเวชใจอย่างสุดซึ้งที่ทำให้ผู้เขียนอดที่จะสื่อสารแสดงความขอบคุณกลุ่มนักศึกษากลุ่มหนึ่งที่มาในนามว่า “TU Spirit” ผู้ปลูกเสกจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ที่น่าจะตายไปนานแล้วกลับมาหลอกหลอนสังคมไทยและที่สำคัญคือการกลับมาของ ผีธรรมศาสตร์ตัวใหม่นี้กำลังคุกคาม “เสรีภาพทางวิชาการ” ของคนในประชาคมธรรมศาสตร์เอง

การแสดงออกซึ่งความกระอักกระอ่วนใจของนักศึกษากลุ่มนี้ที่อ้างนามธรรมศาสตร์เป็นสิทธิที่พึงมีพึงชอบที่เราควรสนับสนุนให้มีความหลากหลายทางความคิดเกิดขึ้นในสังคมประชาธิปไตยและในสังคมแห่งความหลอกลวงอย่างสังคมไทยนี้เองที่เราต้องการพื้นที่อย่างมากในการแลกเปลี่ยนความคิดกันด้วยเหตุผล แต่ทว่าเมื่อได้พิจารณาข้อเขียนของนักศึกษากลุ่มนี้ที่ได้รับความนิยมในสังคมผู้เสพอุดมการณ์ราชาชาตินิยมอย่างไม่ลืมหูลืมตาแล้วนั้น เราจะพบว่าการใช้เสรีภาพของพวกท่านทั้งหลายนั้นไม่ต่างจากการใช้เสรีภาพของประเทศเผด็จการอาทิเช่น เกาหลีเหนือที่ออกกฎห้ามวิจารณ์ ห้ามพูด ห้ามเขียน ห้ามแสดงออกในทางที่ไม่ดีต่อท่านผู้นำ หรือประเทศอย่างซูดานที่ใช้เสรีภาพในการออกกฎหมายปราบปรามคนรักเพศเดียวกัน เพียงแค่เปลี่ยนผู้ถูกกระทำอย่างอยุติธรรมกลุ่มนี้มาเป็นนักศึกษาและอาจารย์ในมหาวิทยาลัยแห่งเสรีภาพตอแหลแห่งนี้

ต้องขอขอบคุณนักศึกษากลุ่มนี้จริงๆ ที่นอกจากจะทำให้อุดมการณ์ “เสมอภาค” ของธรรมศาสตร์กลายเป็นภาพมายาไปฉับพลันด้วยการสถาปนาระบบอาวุโส (seniority) ด้วยการเรียกหารุ่นพี่ธรรมศาสตร์ทุกคน และแทนตนเองเป็นเสียงจาก “รุ่นน้อง” ธรรมศาสตร์ ที่นอกจากจะทำให้อุดมการณ์ คำขวัญนี้พังทลายไป ยังสะท้อนการดูหมิ่นศักยภาพของตนเองที่ไม่สามารถพึ่งการใช้เหตุผลในการโต้เถียงได้จึงต้องไปตามล่าหารุ่นพี่ให้คอยมาปกป้องนักศึกษาที่เปรียบเหมือนผ้าขาวอย่างที่พวกเขาได้จินตนาการกันในบทความ อันเป็นการผลิตซ้ำมายาคติความเป็นเด็ก (childhood) ที่สะท้อนว่าเด็กจะคิดเองไม่เป็นต้องรอผู้ใหญ่ผู้มีความรู้และประสบการณ์มาคอยปกปกป้องแต่งเติมสีสันให้ อันเป็นวิธีคิดที่ดูถูกสติปัญญาของเพื่อนนักศึกษาในมหาวิทยาลัยที่คิดเอง ตัดสินใจเองเป็น

นอกจากความน่าเวทนาที่พวกเขาได้ดูถูกศักยภาพความเป็นมนุษย์ในตัวเขาและเพื่อนนักศึกษาคนอื่นแล้วนั้น นักศึกษากลุ่มนี้ยังคงปิดหูปิดตาไม่รับฟังข้อมูลที่นอกเหนือการประชาสัมพันธ์ด้านเดียวเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ โดยการใส่ร้ายโดยที่ไม่สามารถพิสูจน์ข้อครหาที่ตนเองกล่าวหาว่ามีอาจารย์หลายคนใช้ข้อมูลอันเป็นเท็จ ใส่ร้ายสถาบันกษัตริย์ โดยที่ตนเองไม่มีข้อมูลหลักฐาน และการใช้วิธีการทางประวัติศาสตร์ (historical methods) ในการอธิบายข้อกล่าวหาเหล่านี้ได้ มีเพียงแต่อคติที่สะท้อนออกมาผ่านตัวอักษร และคำถามที่เขาควรจะตอบและอธิบายให้ได้คือ คุณจะรู้ คุณจะทราบได้เช่นไรว่าสิ่งนั้นดี สิ่งนั้นประเสริฐจริง หากคุณรับฟังแต่ข้อมูลประชาสัมพันธ์ด้านเดียวและปิดรับข้อมูลจากฝั่งอื่น และเลือกที่จะไม่ใช้เหตุผลในการวิพากษ์หลักฐานเหล่านี้ หากแค่เห็นแล้วก็บอกว่าปลอมขอบอกเลยว่านี้ไม่ต่างจากอาการสมาทานไปเองของบรรดาผู้คลั่งเจ้าทั้งหลาย

และข้อเรียกร้องของนักศึกษากลุ่มนี้เองนั้นก็ยังทำให้นึกถึงธรรมศาสตร์หลังปี 2519 ที่เผด็จการเข้ามาควบคุมมหาวิทยาลัย การสถาปนาระบบอำนาจนิยมที่เข้ามาในมหาวิทยาลัยที่นอกจากจะมีการสังหารหมู่นักศึกษาในวันที่ 6 ตุลา 2519 และจับนักศึกษากว่า 3094 คนไปฝากขังด้วยการใส่ร้ายต่างๆ นาๆ ของกลุ่มขวาอนุรักษ์นิยมไทย ณ ตอนนั้นก่อนที่จะได้รับการปล่อยตัวออกมา และหลังจากนั้นการคุกคามงานวิชาการในยุคนั้นๆ ก็เกิดขึ้นมีการเผาตำรา กำจัดหนังสือที่เกี่ยวกับแนวคิดสังคมนิยม ใครที่คิดแตกต่างจากรัฐจะถูกข้อหาเป็นภัยสังคม[1] อันเป็นข้อกล่าวหาเดียวกับที่กลุ่ม TU Spirit กล่าวหาผู้มีความคิดวิพากษ์วิจารณ์สถาบันในธรรมศาสตร์ นอกจากนี้ด้วยความคิดเผด็จการเช่นนี้ทำให้คนอย่างอาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์ที่เคารพต้องหนีลี้ภัยไปต่างประเทศและถูกนายสล้าง บุนนาค ตบหน้าที่สนามบินดอนเมือง อยากถามด้วยจิตสำนึกแล้วว่าพวกคุณอยากจะเป็นเผด็จการทางความคิดเช่นนั้นหรือ ? ไม่ละอายใจที่ยกอ้างจิตวิญาณธรรมศาสตร์เลยหรือ ?

แล้วการแสดงออกในข้อเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยออกกฎว่าด้วยประเทศไทยมีการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์เป็นประมุข สะท้อนความตกต่ำในเรื่ององค์ความรู้ทางรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์เบื้องต้นอย่างยิ่ง และที่สำคัญความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่หารู้ไม่ว่าระบอบที่ชื่อยาวๆ นี้ถือกำเนิดมาจากรัฐธรรมนูญเผด็จการ 2492[2] ทั้งที่จริงๆ แล้วคำๆ นี้มาจากคำว่า Constitutional Monarchy หรือระบอบประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญที่กฎคุ้มครองระบอบนี้ถูกระบุไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญเรียบร้อยแล้วไม่จำเป็นต้องมาพูดเรื่อยเปื่อย นอกจากนี้แล้วนั้นหากจะเรียกร้องต่อไปให้เลิกมีการพูด การเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องกับระบบการปกครองหรือวิพากษ์ข้อดีข้อเสียของระบอบการปกครองทุกรูปแบบอันรวมถึงระบอบ Constitutional Monarchy ก็ขอให้เสนอยุบคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ทิ้งสะ เพราะคุณไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ถึงการศึกษาและพูดถึงข้อดีข้อเสียของแต่ละระบอบการปกครอง เว้นแต่อยู่ในประเทศเผด็จการที่คนเราจะมีสิทธิพูด เห็น ได้รับความรู้ด้านเดียวมาตั้งแต่เกิดถึงจะไม่มีความจำเป็นต้องเรียนรู้อะไรอย่างอื่น

และความคิดเผด็จการสูงสุดของข้อเสนอของพวกเขาคือหากพบว่าอาจารย์ท่านใดเข้าข่ายสร้างอันตรายต่อสถาบันขอให้ทางมหาวิทยาลัยไล่ออกทันที ทำให้ดิฉันคิดว่า ณ ตอนนี้หากเราไม่มีสมคิด เลิศไพฑูร เป็นอธิการ เราก็คงมีท่านผู้นำคิมจองอึนเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมให้มหาวิทยาลัยจัดตั้งชุมนุมกองทุนเพื่อปลูกจิตสำนึก ปลูกจิตวิญาณธรรมศาสตร์ให้มีความจงรักภักดีต่อสถาบัน ไม่ใช่จงรับใช้ประชาชนตามที่ตอแหลกันมานานพอควร ด้วยเหตุนี้แล้วเราจึงควรลืมรากเหง้าปรัชญาของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองที่ตั้งขึ้นเพื่อสนองต่ออุดมการณ์ประชาธิปไตย และหันมาจัดตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการจงรักภักดีต่อสถาบันฯ ที่อาจจะถูกจัดตั้งขึ้นในเร็ววัน เพื่อสนองต่อผู้เสพอุดมการณ์ราชาชาตินิยมให้ได้ชื่นใจกันโดยเร็ว  

ด้วยประการฉะนี้แล้วดิฉันและเพื่อนนักศึกษาบางกลุ่มบางท่านในมหาวิทยาลัยแห่งนี้จึงขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อการจากไปของธรรมศาสตร์แบบเดิมๆ ที่ดันเกิดมาเพื่อรับใช้ประชาธิปไตยของประชาชน และขอแสดงความยินดีกับเพื่อนนักศึกษากลุ่ม TU Spirit ที่ปลูกเสกซอมบี้ธรรมศาสตร์ตัวใหม่ให้ขึ้นมาหลอกหลอนผู้คนที่ศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยโดยเฉพาะแก่อาจารย์ที่เคารพหลายท่านที่ต้องถูกวิญญาณร้ายเหล่านี้คอยจองล้างจองผลาญเพียงเพราะพวกท่านต้องการนำเสนอข้อมูล และความรู้ให้แก่นักศึกษาได้ไปคิด วิเคราะห์ หาใช่การปลูกเสกความจำแบบที่เป็นๆ กันมาในระบบการศึกษาไทย

ขอไว้อาลัยไว้ ณ ที่นี้




[1การกวาดล้างฝ่ายซ้ายและหัวก้าวหน้าภายหลังเหตุการณ์เดือนตุลาคม_พ.ศ.2519
[2] อ่านเพิ่มเติมใน สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. (2551). สายธารประวัติศาสตร์ประชาธิปไตย. กรุงเทพ:พี.เพรส. น.69-70

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net