Skip to main content
sharethis

กป.อพช.หวั่นการชุมนุมเกิดความรุนแรง ออกแถลงการณ์วอนทุกฝ่ายถอยคนละก้าว ขอให้ชุมนุมสันติยึดแนวทางประชาธิปไตย

26 พ.ย.2556 คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ออกแถลงการณ์เรียกร้องทุกฝ่ายถอยคนละก้าวเพื่อคลี่คลายความขัดแย้งและใช้รัฐธรรมนูญ 2550 ไปก่อน เรียกร้องรัฐบาลยกเลิกประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคง วอนทุกฝ่ายถอยคนละก้าว ขอให้ผู้ชุมนุมชุมนุมอย่างสันติตามแนวทางประชาธิปไตย และให้ประชาชนมีส่วนร่วมจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่

......................................

แถลงการณ์คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)
รักษาระบอบประชาธิปไตยของประเทศ นำพาสังคมไทยออกจากความรุนแรง ไปสู่การปฏิรูปการเมืองอย่างแท้จริง

จากการที่สภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. .... ในวันที่ 31 ตุลาคม 2556 อันนำมาซึ่งความไม่พอใจของประชาชนจำนวนมาก ก่อให้เกิดการชุมนุมประท้วงเพื่อคัดค้านร่างพระราชบัญญัติ ฯ ดังกล่าว รวมทั้งการที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทยและสมาชิกวุฒิสภาบางส่วน แถลงปฏิเสธอำนาจตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อันก่อให้เกิดความขัดแย้งและความสับสน เกี่ยวข้องกับหลักการและวิถีทางประชาธิปไตย

คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) เห็นว่า ขณะนี้ปัญหาความขัดแย้งและการเผชิญหน้ากำลังลุกลาม บานปลาย ขยายตัว และเสี่ยงต่อความรุนแรงที่อาจยุติลงด้วยการนองเลือด จนอาจกลายเป็นวิกฤติการณ์อีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองของไทย เพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตยของประเทศ นำพาสังคมไทยออกจากความรุนแรง กป.อพช. ขอเสนอจุดยืนและข้อเรียกร้องไปยังทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้พิจารณา ดังนี้

1. ในสถานการณ์เฉพาะหน้านี้ สถาบันและองค์กรที่เป็นหลักของระบอบประชาธิปไตย อันได้แก่ รัฐบาล สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จะต้องปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างตรงไปตรงมา โดยยึดถือรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ที่ทุกฝ่ายจำต้องยอมรับเป็นกติการ่วมกันไปก่อน

2. ในสถานการณ์เฉพาะหน้านี้ ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และกลุ่มประชาชนที่กำลังเคลื่อนไหวทุกกลุ่ม ต้องถอยกันคนละก้าว และยอมรับการเจรจาเป็นกระบวนการคลี่คลายวิกฤติการณ์ความขัดแย้ง โดยรัฐบาลต้องยกเลิกการประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 และในฐานะผู้รับผิดชอบการบริหารประเทศรัฐบาลต้องเป็นเจ้าภาพในการจัดให้มีการเจรจา โดยในการเจรจาต้องให้ความสำคัญกับความเห็นและความต้องการที่ประชาชนได้แสดงออกผ่านการชุมนุม

3. ในสถานการณ์เฉพาะหน้านี้ ผู้ชุมนุมทุกกลุ่มซึ่งกำลังใช้สิทธิเสรีภาพในแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ต้องใช้แนวทางสันติวิธี ไม่ใช้ความรุนแรง ยึดหลักการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ไม่ยั่วยุให้เกิดความเกลียดชัง ไม่กระทำการที่ผิดกฎหมาย ไม่บุกรุกสถานที่ราชการ และไม่ทำลายสาธารณสมบัติ

4. ในสถานการณ์เฉพาะหน้านี้ สถาบัน องค์กร และทุกกลุ่มพลังทางการเมือง ต้องเชื่อมั่นและยืนยันที่จะใช้วิถีทางประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหา ไม่เรียกร้องหรือสนับสนุนการรัฐประหาร

5. หลังจากที่วิกฤติการณ์ความขัดแย้งเฉพาะหน้าคลี่คลาย ทุกฝ่ายต้องร่วมมือผลักดันขับเคลื่อนสังคมไทยให้ก้าวสู่การปฏิรูปการเมืองอย่างแท้จริง โดยสร้างกลไกและกระบวนการ เพื่อเปิดพื้นที่และโอกาสที่ทุกสถาบัน ทุกกลุ่มพลังทางการเมือง ตลอดจนกลุ่ม องค์กรและเครือข่ายของภาคประชาสังคม ได้ร่วมกันสรุปประสบการณ์และทบทวนบทเรียน เพื่อจัดทำรายละเอียดของระบอบประชาธิปไตยไทย อันหมายรวมถึงการแก้รัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับสภาพสังคมไทย

6. ในการจัดทำรายละเอียดของระบอบประชาธิปไตยไทย และการแก้รัฐธรรมนูญนั้น จะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศ ให้ความสำคัญต่อการกระจายอำนาจ ให้ประชาชนมีสิทธิที่จะเสนอกฎหมาย มีส่วนร่วมในการตัดสินนโยบายที่อาจมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตของตน และให้องค์กรอิสระที่มีหน้าที่ตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจหน้าที่ของฝ่ายบริหาร มีความเชื่อมโยงกับประชาชนและมีความเป็นองค์กรอิสระอย่างแท้จริง

กป.อพช. เชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า หลักการและแนวทางที่ระบุข้างต้นจะสามารถ รักษาระบอบประชาธิปไตยของประเทศ นำพาสังคมไทยออกจากความรุนแรง คลี่คลายวิกฤติการณ์การเผชิญหน้า และนำสังคมไทยไปสู่การปฏิรูปการเมืองอย่างแท้จริง

ด้วยความสมานฉันท์
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)
26 พฤศจิกายน 2556

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net