Skip to main content
sharethis

‘รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์การรายงานข่าวการประท้วง: บทบาทของสื่อมวลชนไทยในการชุมนุมและความรุนแรงทางการเมือง’ พรรษาสิริ กุหลาบ จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เดินทางมาถึงบทสรุป ซึ่งแสดงให้เห็นอาการเหวี่ยงไหวด้านจุดยืนทางการเมืองของสื่อไทย

รวมถึงปัจจัยที่ทำให้สื่อสามารถช่วยลดหรือเพิ่มเงื่อนไขความรุนแรง ซึ่งข้อค้นพบหนึ่งที่น่าสนใจก็คือฉันทามติของชนชั้นนำต่อข้อเรียกร้องของการชุมนุม เพราะหากชนชั้นนำเห็นพ้องในแนวทางเดียวกัน สื่อก็จะมีเสรีภาพเปิดกว้างในการนำเสนอข่าวต่อให้ข้อเรียกร้องนั้นจะขัดกับระบอบประชาธิปไตย

ในทางกลับกัน หากชนชั้นนำไม่เห็นพ้องกับข้อเรียกร้อง สื่อก็มักนำเสนอข่าวสอดคล้องกับชนชั้นนำ ละเลยความต้องการของผู้ชุมนุม เลือกนำเสนอประเด็นที่ปลอดภัยจากแรงกดดันจากชนชั้นนำ รัฐ และกลุ่มทุน ซึ่งเป็นการเพิ่มเงื่อนไขให้แก่การใช้ความรุนแรง

พฤษภา 35, พันธมิตรฯ, กปปส. สื่อกระแสหลักต้านความรุนแรง เพิ่มอำนาจผู้ชุมนุม

หากจะสรุปแนวทางการรายงานของการชุมนุมทางการเมืองของสื่อนับตั้งแต่เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ถึงการชุมนุมของเยาวชนนักศึกษาในปี 2562-2563 ย่อมเห็นได้ว่ามีทั้งแนวทางการรายงานข่าวที่สร้างความชอบธรรมให้กับการใช้ความรุนแรงและแนวทางการรายงานข่าวที่ลดเงื่อนไขในการใช้ความรุนแรง

สิ่งที่เห็นชัดเจนคือในช่วงการชุมนุมพฤษภาประชาธรรมปี 2535 การชุมนุมที่นำโดยกลุ่มพันธมิตรฯ ระหว่างปี 2549-2551 และกลุ่ม กปปส. ในช่วงปี 2556-2557 ที่สื่อมวลชนมักนำเสนอภาพตัวแทนเชิงบวกเกี่ยวกับกิจกรรมการประท้วงและการปราศรัย องค์กรวิชาชีพยังประกาศจุดยืน ‘ต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการ-อยู่ข้างประชาชน’ อีกทั้งการชุมนุม 2 ครั้งหลังยังมีองค์กรสื่อที่มีสายสัมพันธ์กับผู้จัดการชุมนุมและช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ของผู้ชุมนุมที่ทำหน้าที่สื่อสารประเด็นต่างๆ จากพื้นที่การชุมนุมโดยไม่เผชิญการปิดกั้นจากรัฐบาลมากนัก และเมื่อเจ้าหน้าที่รัฐใช้กำลังเข้าปราบปรามผู้ชุมนุมและคุกคามสื่อมวลชน กองบรรณาธิการและองค์กรวิชาชีพก็แสดงจุดยืนว่าความรุนแรงโดยรัฐเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ผ่านแถลงการณ์และกรอบการรายงาน

กล่าวได้ว่าสื่อมวลชนกระแสหลักสร้างอำนาจต่อรองให้ผู้ชุมนุมและลดความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐผลการศึกษายังพบว่าในระหว่างการชุมนุมที่นำโดยกลุ่มพันธมิตรฯ และกลุ่ม กปปส. เจ้าหน้าที่รัฐส่วนใหญ่ไม่มีท่าทีที่เป็นปฏิปักษ์ต่อผู้ชุมนุมและสื่อมวลชน

ภาพ สุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำกลุ่ม กปปส.

นปช. และการชุมนุมของเยาวชน สื่อเลือกความเป็นกลาง ลดทอนอำนาจผู้ชุมนุม

ขณะที่การชุมนุมของกลุ่ม นปช. และการเรียกร้องประชาธิปไตยที่นำโดยเยาวชนในช่วงปี 2563-2564 สื่อกลับแสดงจุดยืนว่าต้อง ‘เป็นกลาง’ ในการรายงานข่าว เพราะเป็นประเด็นที่สังคมยังถกเถียงและประชาชนจำนวนมากไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม และให้เหตุผลว่าสื่อมวลชนต้องเป็นพื้นที่ให้สังคมได้ฟังเสียงจากทุกฝ่าย

และเมื่อเกิดการปะทะระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่หรือมวลชนฝ่ายตรงข้ามและการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่รัฐด้วยอาวุธจนทำให้สื่อมวลชนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตในการชุมนุม 2 ครั้งนี้ สื่อและองค์กรวิชาชีพก็แสดงท่าทีต่างออกไปว่าการชุมนุมต้องไม่เกิดความรุนแรงไม่ว่าจากฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้ชุมนุม เหตุนี้สื่อกระแสหลักจึงมุ่งรายงานเหตุปะทะ แต่มักขาดการตรวจสอบว่าปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐตั้งอยู่บนฐานคิดเรื่องการปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนและหลักการสากลในการจัดการกับการชุมนุมหรือไม่แนวทางการรายงานเช่นนี้จึงมีแนวโน้มลดทอนอำนาจต่อรองของผู้ชุมนุมในฐานะผู้แสดงทางการเมืองและชี้ให้เห็นความจำเป็นในการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐ

ทว่า อีกด้านหนึ่งก็มีองค์กรสื่อและผู้ผลิตสื่อเกิดใหม่ที่พยายามเสนอเนื้อหาเชิงวิพากษ์กระแสสังคม โดยเฉพาะสื่อออนไลน์และสื่อพลเมืองทั้งทางช่องทางดั้งเดิมและสื่อสังคมออนไลน์ โดยสื่อสารประเด็นที่เกี่ยวกับข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมและตั้งคำถามต่อการใช้ความรุนแรงโดยรัฐซึ่งช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองของผู้ชุมนุม แต่ก็มักเผชิญการปิดกั้นจากรัฐบาล

ข้อสังเกตอีกประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับการรายงานในช่วงการชุมนุมของกลุ่ม นปช. และการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยในช่วงปี 2563-2564 คือจำนวนสื่อมวลชนที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการใช้ความรุนแรงโดยรัฐหรือในเหตุปะทะที่มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาเกี่ยวข้องมีมากกว่าช่วงการชุมนุมที่นำโดยกลุ่มพันธมิตรฯ และ กปปส. แต่ผู้ให้ข้อมูลที่มีประสบการณ์ทำงานข่าวมานานระบุว่าเป็นเพราะเจ้าหน้าที่ทหารและเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้เนื่องจากถูกตอบโต้โดยผู้ชุมนุม ขณะที่คนทำงานรุ่นใหม่ โดยเฉพาะช่างภาพข่าว ไม่มีประสบการณ์ในการรายงานการชุมนุมและไม่มีอุปกรณ์ที่เหมาะสมในการสังเกตการณ์จากระยะไกลเพื่อเลี่ยงการเข้าพื้นที่ปะทะการดำเนินงานที่แตกต่างกันของสื่อมวลชนในการรายงานการชุมนุมที่เป็นกรณีศึกษา นำไปสู่การสังเคราะห์เป็นแนวทางการรายงานที่สร้างความชอบธรรมให้กับการใช้ความรุนแรง และลดเงื่อนไขการใช้ความรุนแรง

ภาพการชุมนุมที่ด้านหน้าอาคารรัฐสภา 17 พ.ย.2563

สื่อกับจุดยืนประชาธิปไตยที่เหวี่ยงไหวไปมา

จะเห็นได้ว่าการศึกษาการชุมนุมทั้ง 5 ครั้ง จุดยืนของสื่อต่อข้อเรียกร้องของการชุมนุมแปรเปลี่ยนไปตลอดเวลา ซึ่งมีผลต่อแนวทางการรายงานข่าว โดยการชุมนุมเดือนพฤษภาคม 2535, การชุมนุมของพันธมิตรฯ ปี 2549-2551 และการชุมนุมของ กปปส. ในช่วงปี 2556-2557 สื่อกระแสหลักมุ่งเน้นการรายงานที่เพิ่มอำนาจต่อรองให้แก่ผู้ชุมนุมและพยายามลดเงื่อนไขความรุนแรง แม้ว่าจุดมุ่งหมายทางอุดมการณ์ประชาธิปไตยของการชุมนุมครั้งแรกกับสองครั้งหลังจะแตกต่างกัน

ส่วนการชุมนุมของ นปช. และการเรียกร้องประชาธิปไตยที่นำโดยเยาวชนในช่วงปี 2563-2564 สื่อกลับใช้ข้ออ้าง ‘ความเป็นกลาง’ ในการรายงานข่าวโดยมุ่งไปที่ปรากฏการณ์เบื้องหน้าที่เห็นได้ชัด เช่น การปะทะคารม การใช้กำลังโต้ตอบ หรือความวุ่นวายต่างๆ แต่ละเลยที่มาที่ไปของการชุมนุม ข้อเรียกร้อง ปมความขัดแย้ง หรือการนำเสนอข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน ทำให้การรายงานข่าวการชุมนุมทั้งสองครั้งนี้ส่งผลให้เกิดการสร้างความชอบธรรมให้กับการใช้ความรุนแรงและลดอำนาจต่อรองของผู้ชุมนุม

พรรษาสิริอ้างอิงงานศึกษาจากต่างประเทศเรื่อง ‘กระบวนทัศน์การประท้วง (Protest Paradigm)’ ที่ McLeod (2007) เสนอไว้ รวมถึงข้อค้นพบของ Gitlin (1980) Murdock (1981) Cottle (2006) และ Lewis และคณะ (2011) ว่า

“วิธีคิดในการทำงานข่าวที่เน้นภาพความหวือหวา ตื่นตาตื่นใจ และความขัดแย้งระดับปัจเจก เพื่อให้สามารถผลิตเนื้อหาที่แข่งขันกับองค์กรอื่นๆ ได้และไม่ตกกระแส รวมถึงการอ้างหลักความเป็นภววิสัย (objectivity) ที่ต้องให้พื้นที่ต่อ ‘ทั้งสองฝ่ายเท่าๆ กัน’ โดยไม่พิจารณาความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่สมดุลระหว่างรัฐกับประชาชน แนวทางเช่นนี้ทำให้การรายงานข่าวไม่สามารถอธิบายความซับซ้อนของความขัดแย้งได้ อีกทั้งยังหนุนเสริมให้มีการใช้ความรุนแรงทั้งจากฝั่งผู้ชุมนุมเนื่องจากเห็นว่าการรวมกลุ่มกันยังไม่สามารถทำให้บรรลุข้อเรียกร้องได้และสร้างความชอบธรรมให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้กำลังเข้าจัดการกับผู้ชุมนุม”

ปัจเจกและองค์กรวิธีคิดต่อการชุมนุม-รายได้ส่งผลต่อการรายงานข่าว

ทั้งนี้พรรษาสิริสรุปอีกครั้งถึงปัจจัยที่มีผลต่อการรายงานข่าวการชุมนุมทางการเมืองของสื่อโดยแบ่งออกเป็น 4 ระดับ ระดับคือระดับปัจเจก การรับรู้และความเข้าใจเรื่องความขัดแย้งและความรุนแรง เธอพบว่าสื่อที่มีประสบการณ์รายงานข่าวการเมืองและมีคลังแหล่งข่าวที่มีอิทธิพลทางการเมืองมักให้น้ำหนักกับการแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ในการเคลื่อนไหวและปฏิกิริยาของผู้แสดงทางการเมืองเหล่านี้ เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของกิจวัตรในการรายงานข่าวการเมือง นอกจากนี้ยังสามารถเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกของฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะภาครัฐ ผ่านเครือข่ายแหล่งข่าวของตนเองและกองบรรณาธิการเพื่อนำมาใช้วิเคราะห์สถานการณ์และวางแผนงานข่าว

ขณะที่ผู้เคยเป็นนักกิจกรรมที่มีความสนใจหรือเคยทำงานด้านสิทธิมนุษยชนจะมีเครือข่ายแหล่งข่าวภาคประชาสังคมหรือเน้นการผลิตรายงานเชิงลึก มักให้ความสำคัญต่อเรื่องราวของผู้ชุมนุมเพื่อถ่ายทอดปัญหาและความต้องการของประชาชน ทั้งยังนำหลักการประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพมาพิจารณาควบคู่กับวิธีการเคลื่อนไหวและข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม รวมถึงแนวทางการรับมือกับการชุมนุมของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐ

ประการที่ 2 คือระดับองค์กร ความเป็นเจ้าของ โครงสร้าง นโยบาย ลักษณะการดำเนินงาน และวัฒนธรรมองค์กร องค์กรสื่อที่เน้นนำเสนอเนื้อหาประเภทข่าวสารสาระและมีจำนวนบุคลากรมากพอที่จะแบ่งกองบรรณาธิการออกเป็นโต๊ะข่าวต่างๆ ได้มักเป็นองค์กรขนาดใหญ่และใช้ช่องทางสื่อดั้งเดิมมาก่อน มีการวางแผนงานข่าวเพื่อให้สามารถรายงานสถานการณ์การชุมนุมและปฏิกิริยาจากผู้แสดงทางการเมืองฝ่ายต่างๆ ได้อย่างต่อเนื่อง โดยมอบหมายให้มีผู้สื่อข่าวสายการเมืองไปประจำตามจุดสำคัญๆ จัดสรรให้ผู้ปฏิบัติงานจากฝ่ายอื่นๆ ไปหมุนเวียนกันรายงานจากพื้นที่การชุมนุม จึงทำให้สื่อกระแสหลักสามารถรายงานเหตุการณ์ได้รวดเร็ว โดยเฉพาะก่อนที่สื่อออนไลน์จะเป็นที่นิยม และสามารถรายงานเหตุการณ์จากหลายจุด พร้อมกับเสนอทรรศนะจากหลายฝ่ายได้โดยตรงโดยเฉพาะแหล่งข่าวระดับสูง

ขณะที่องค์กรสื่อขนาดกลางและเล็กที่มีทรัพยากรไม่มากมักติดตามสถานการณ์จากสื่อขนาดใหญ่และทางสื่อสังคมออนไลน์ แล้วไปเลือกเน้นประเด็นที่แตกต่างหรือไม่ได้รับความสนใจจากสื่อกระแสหลัก เช่น การชุมนุมขนาดย่อม เรื่องราวของผู้ชุมนุมที่ไม่ใช่แกนนำ ประเด็นต่อยอดจากการปราศรัยหรือพูดคุยในพื้นที่ชุมนุม เป็นต้น ปัจจัยนี้ทำให้องค์กรขนาดเล็กมีความคล่องตัวและยืดหยุ่นในการรายงาน สามารถนำเสนอแง่มุมที่ช่วยขยายความเกี่ยวกับการชุมนุมและผู้ชุมนุม รวมถึงบางครั้งก็เป็นผู้เปิดประเด็นจนทำให้สื่อกระแสหลักต้องมารายงานตาม พรรษาสิริ กล่าวว่า

“องค์กรสื่อที่ดำเนินงานเชิงพาณิชย์ต้องคำนึงถึงการหารายได้ควบคู่กับการหลีกเลี่ยงการแทรกแซงจากภาครัฐหรือกลุ่มทุนมุ่งเพื่อรักษาความมั่นคงของธุรกิจ ดังนั้นจึงมักเลือกไม่นำเสนอเนื้อหาหรือลงทุนกับการรายงานที่ตั้งคำถามหรือตรวจสอบภาครัฐหรือกลุ่มทุนที่อาจทำให้เกิดการลดหรือยกเลิกการซื้อพื้นที่สื่อ ฟ้องร้อง หรือสร้างแรงกดดันในรูปแบบอื่นๆ ได้ แล้วถ้ารายงานประเด็นที่ท้าทายหรือถูกมองว่าเบี่ยงเบนไปจากค่านิยมหลักในสังคม เช่นข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย ก็ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์หรือการโต้กลับจากสาธารณะ และส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ขององค์กรซึ่งจะมีผลต่อการหารายได้จากโฆษณาต่อไป

“ส่วนองค์กรสื่อบริการสาธารณะและองค์กรที่ไม่แสวงกำไรก็เผชิญกับการแทรกแซงจากรัฐบาลและแรงกดดันทางสังคมที่สั่นคลอนความมั่นคงขององค์กรและความเป็นอิสระของกองบรรณาธิการด้วยเหตุผลเดียวกัน แต่ด้วยหลักการทำงานที่เน้นตอบสนองประโยชน์สาธารณะและไม่ต้องมุ่งสร้างกำไรก็ทำให้องค์กรสื่อประเภทนี้จำเป็นต้องแสดงบทบาทในการตรวจสอบ ตั้งคำถาม และส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากกว่าองค์กรสื่อเชิงพาณิชย์”

ภาพการทำงานของสื่อ ในภาพเมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2563 ที่ชั้น 5 อาคารไทยซัมมิททาวเวอร์ ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า แถลงข่าวความเห็นต่อการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และการดำเนินคดีกรณีขบวนเสด็จ ในเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎร 2563 เมื่อวันที่ 14 ต.ค.2563  ทีมสื่อคณะก้าวหน้า 

เมื่ออุตสาหกรรมสื่อทถูกขับเคลื่อนด้วยความไว ปริมาณ และกลุ่มเป้าหมาย

ระดับต่อมาคือระดับอุตสาหกรรมสื่อ เมื่อการแข่งขันในอุตสาหกรรมสื่อถูกขับเคลื่อนด้วยความรวดเร็วในการนำเสนอเนื้อหามาตั้งแต่ยุคช่องทางสื่อดั้งเดิม พอถึงยุคดิจิทัล นอกจากไวแล้ว ยังต้องเน้นปริมาณมาก และสามารถดึงดูดความสนใจของผู้รับสารเพื่อเพิ่มยอดการเข้าถึงและการปฏิสัมพันธ์กับเนื้อหาเพื่อสร้างรายได้ จุดนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลให้สื่อให้ความสำคัญของการรายงานที่เน้นความเคลื่อนไหวของเหตุการณ์ การปะทะคารม การใช้กำลังตอบโต้ระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่รัฐหรือฝ่ายที่เห็นต่าง เพราะมีองค์ประกอบข่าวด้านความรวดเร็ว ความขัดแย้ง และความเร้าอารมณ์ แล้วลดการรายงานเชิงลึกที่ต้องลงทุนมาก มีความเสี่ยงสูง และไม่รับประกันว่าจะสร้างยอดการเข้าถึงและรายได้ โดยเฉพาะกับข้อเรียกร้องที่สวนกระแสความสนใจและค่านิยมของสังคม สื่อก็อาจเลือกไม่รายงานหรือนำเสนออย่างผิวเผิน

เว้นเสียแต่ว่าประเด็นที่ผู้ชุมนุมสื่อสารเป็นเรื่องที่สังคมหรือกลุ่มผู้รับสารเป้าหมายขององค์กรสื่อให้ความสนใจ แม้จะเป็นเรื่องที่ยังเป็นที่ถกเถียงและอาจเกิดกระแสโต้กลับ แต่กองบรรณาธิการก็สามารถยืนยันเหตุผลในการนำเสนอประเด็นและผลิตรายงานเชิงลึกได้ เพราะหากเพิกเฉยก็ตกกระแสและไม่สามารถแข่งขันกับสื่อเจ้าอื่นหรือไม่ตอบสนองความต้องการของกลุ่มผู้รับสารเป้าหมายที่ต้องพึ่งพาเพื่อให้มียอดการเข้าถึงเนื้อหา

“อาจกล่าวได้ว่า กระแสสังคมและความต้องการของผู้บริโภคเป็นปัจจัยหนึ่งที่กำหนดให้สื่อมวลชนรายงานหรือไม่รายงานประเด็นใด ซึ่งกรณีนี้เชื่อมโยงกับระดับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพสื่อ

“แต่การตอบสนองความสนใจของกลุ่มผู้รับสารเป้าหมายในยุคดิจิทัลที่กระจัดกระจายและแยกส่วนมากขึ้นก็อาจเปิดโอกาสให้องค์กรสื่อหรือผู้ผลิตเนื้อหารายย่อยเลือกนำเสนอเฉพาะบางแง่มุมและใช้วิธีการเล่าเรื่องที่สอดคล้องกับความเชื่อและความนิยมของผู้รับสารเป้าหมายซึ่งเป็นกลุ่มหลักที่จะเข้าถึงและมีปฏิสัมพันธ์กับเนื้อหา ซึ่งจะทำให้ผู้รับสารไม่ได้รับข้อมูลและมุมมองที่หลากหลายรอบด้าน หรือแม้กระทั่งบิดเบือนจากข้อเท็จจริง การนำเสนอเช่นนี้นอกจากไม่เอื้อต่อการทำความเข้าใจฐานคิดของการชุมนุมและความขัดแย้ง แต่ยังสามารถสร้างความชอบธรรมให้กับการใช้ความรุนแรงทั้งในระดับปัจเจกและความรุนแรงโดยรัฐได้”

พรรษาสิริยังย้ำประเด็นการให้น้ำหนักกับการรายงานข่าวการชุมนุมในกรุงเทพฯ และละเลยการชุมนุมในต่างจังหวัดบนพื้นที่สื่อ ทำให้เกิดข้อจำกัดหลายประการ เช่น องค์กรและผู้ปฏิบัติงานสื่อในส่วนภูมิภาคต้อเผชิญข้อจำกัดในพื้นที่ทำให้ไม่สามารถรายงานการชุมนุมหรือตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐได้เต็มที่จึงไม่ได้รับพื้นที่สื่อ ทั้งยังขาดกลไกช่วยเฝ้าระวังการใช้ความรุนแรงและทำให้ความหมายของการชุมนุมประท้วงจำกัดอยู่เพียงประเด็นการเมืองระดับประเทศเท่านั้น

ขณะที่องค์กรวิชาชีพสื่อแม้จะมีบทบาทสำคัญในการแสดงจุดยืนต่อต้านการปิดกั้นคุกคามเสรีภาพสื่อและการรับประกันความปลอดภัยให้กับผู้ปฏิบัติงาน แต่บทบาทเหล่านี้ไม่ครอบคลุมสื่อทางเลือกและสื่อพลเมืองที่ไม่ได้เป็นสมาชิกขององค์กรวิชาชีพ และเมื่อเกิดเหตุคุกคามทำร้ายสื่อ องค์กรวิชาชีพมักเลือกเจรจากับผู้กระทำหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากกว่าใช้กระบวนการฟ้องร้องหรือตรวจสอบอย่างเป็นทางการเพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าหรือแรงกดดันที่จะตามมา ซึ่งไม่ช่วยสร้างบรรทัดฐานในการตรวจสอบและเรียกร้องการรับผิดรับชอบจากผู้กระทำความรุนแรงอย่างเป็นระบบ

ฉันทามติของชนชั้นนำ ยิ่งเห็นพ้อง เสรีภาพยิ่งถูกจำกัด

ระดับสุดท้ายคือระดับสังคมซึ่งประกอบด้วยปัจจัย 4 ประการ ได้แก่ ระดับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพสื่อว่ามีมากเพียงใด หากรัฐต้องการปิดกั้นหรือผู้ชุมนุมไม่ไว้ใจสื่อก็ล้วนเป็นอุปสรรคสำคัญในการรายงานการชุมนุมที่รอบด้านทั้งสิ้น

ปัจจัยต่อมาคืออุดมการณ์ บรรทัดฐาน และความเข้าใจของสังคมต่อความขัดแย้งและความรุนแรง หมายความว่าถ้าสังคมมองการชุมนุมว่าเป็นการช่วงชิงอำนาจทางการเมืองระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติ หรือท้าทายค่านิยมหลัก ก็มีแนวโน้มที่สังคมจะต่อต้านและให้ความชอบธรรมต่อการใช้ความรุนแรงในการจัดการไม่ว่าจะโดยรัฐหรือมวลชนที่คัดค้าน

ในทางกลับกัน ถ้าการชุมนุมแสดงออกตามขนบของชนชั้นนำหรือชนชั้นกลาง ประเด็นการเรียกร้องสอดคล้องกับค่านิยมของสังคมก็มีแนวโน้มที่จะป้องกันหรือประณามการใช้ความรุนแรง การรายงานของสื่อจึงผันแปรไปตามบรรยากาศในสังคมเพราะต้องผลิตเนื้อหาที่สามารถดึงดูดผู้รับสารอันจะนำไปสู่การสร้างการเข้าถึงและปฏิสัมพันธ์กับเนื้อหาได้

พรรษาสิริยกตัวอย่างกรณีสถาบันกษัตริย์กับการเมืองว่า ถ้าข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมส่งเสริมการใช้อำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ในการจัดการความขัดแย้งทางการเมือง ข้อเสนอนั้นมักได้รับการเห็นพ้องจากชนชั้นนำและสังคม สื่อมวลชนก็สามารถนำไปรายงานต่อได้อย่างอิสระ แต่ถ้าข้อเรียกร้องเป็นการตั้งคำถาม ตรวจสอบ หรือเสนอให้สถาบันพระมหากษัตริย์ถอยห่างจากการใช้อำนาจทางการเมืองข้อเสนอนั้นมักถูกกระแสโจมตีจากชนชั้นนำ สาธารณะ และถูกปิดกั้นจากรัฐอย่างเข้มงวด

“ประเด็นนี้สอดคล้องกับข้อค้นพบที่ว่าฉันทามติของชนชั้นนำและกระบวนการทางการเมืองมีอิทธิพลต่อการทำงานของสื่อมวลชน เมื่อชนชั้นนำเห็นพ้องต้องกันอย่างเหนียวแน่นต่อประเด็นใดประเด็นหนึ่งและการชุมนุมเกิดขึ้นในช่วงที่สิทธิเสรีภาพถูกจำกัด สื่อมวลชนก็จะนำทรรศนะเหล่านั้นมารายงานเสมือนเป็นบรรทัดฐานของสังคม จนกลายเป็นเครื่องขยายเสียงให้กับชนชั้นนำในการลดทอนความชอบธรรมของผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์ และสร้างความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงโดยรัฐ แต่หากชนชั้นนำมีความเห็นแตกต่างหลากหลาย สื่อมวลชนก็จะมีโอกาสในการแสดงให้เห็นเสียงที่แตกต่างและนำไปสู่การอภิปรายถกเถียงต่อไปได้

“แม้นิเวศสื่อเช่นนี้จะดูโกลาหล แต่การปะทะกันทางความคิดและข้อมูลข่าวสารอาจสั่นคลอนวิธีคิดและแนวปฏิบัติเดิมๆ ช่วยสร้างความเข้าใจใหม่ๆ และช่วยลดโอกาสการใช้ความรุนแรงกับการชุมนุมและความขัดแย้งได้บ้าง ที่สำคัญ ด้วยเทคโนโลยีทางการสื่อสารในยุคดิจิทัลรัฐจึงปิดกั้นไม่ง่ายเหมือนกับช่องทางสื่อดั้งเดิม ก็เอื้อให้ผู้ผลิตสื่อใหม่ๆ รวมทั้งสื่อมวลชนลักษณะต่างๆ หาหนทางในการรายงานประเด็นที่ยังเป็นที่ถกเถียง รวมถึงตรวจสอบการใช้ความรุนแรงได้มากขึ้น”

สร้าง ‘พื้นที่กลาง’ ที่ปลอดภัยให้เกิดการสนทนา

นอกจากนี้ สภาพความขัดแย้งแบ่งขั้วที่ต่างฝ่ายเลือกใช้ช่องทางการสื่อสารและรับเนื้อหาจากองค์กรสื่อที่สอดคล้องกับความคิดความเชื่อของตน แต่ขาด ‘พื้นที่กลาง’ ที่ปลอดภัยให้ทุกฝ่ายร่วมกันอภิปรายถกเถียงและสร้างข้อตกลงที่จะนำไปสู่การแปรเปลี่ยนความขัดแย้ง ทำให้สื่อมวลชนทำงานภายใต้แรงกดดันและการแทรกแซงจากรัฐ กลุ่มทุนที่สนับสนุนรัฐ และถูกคุกคามจากผู้ชุมนุมที่ไม่พอใจ ทำให้สื่อมีแนวโน้มจะมองการชุมนุมว่าเป็นการแข่งขันแย่งชิงอำนาจของชนชั้นนำโดยมวลชนของแต่ละขั้วเป็นเพียงผู้แสดงฝ่ายสนับสนุนที่ไม่มีอำนาจต่อรอง สื่อภายใต้แรงกดดันเช่นนี้จึงขาดความเป็นอิสระและเสรีภาพหรือในบางครั้งก็แสดงบทบาทที่ค้ำชูระบอบอำนาจนิยมเพื่อความอยู่รอด หลีกเลี่ยงหรือไม่สามารถตรวจสอบรัฐและรายงานเกี่ยวกับการชุมนุมได้อย่างรอบด้าน

“แม้ภูมิทัศน์สื่อออนไลน์ที่แผ่กว้างจากปริมาณผู้เล่นที่เพิ่มขึ้นจะเปิดให้มีการปะทะและตอบโต้กันระหว่างข้อมูลชุดต่างๆ รวมถึงผู้ชุมนุมมีโอกาสในการสื่อสารสู่สาธารณะได้มากกว่ายุคสื่อดั้งเดิม และในบางกรณีอาจโต้แย้งคำอธิบายของรัฐหรือชนชั้นนำได้ แต่หากภาครัฐปิดกั้นพื้นที่สำหรับการสนทนาที่ปลอดภัยและเป็นอิสระ ไม่ยึดมั่นในการปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและสิทธิทางการสื่อสารของประชาชน และใช้การปราบปรามด้วยความรุนแรงเช่นเดียวกับการขจัดภัยคุกคามอื่นๆ

“ขณะที่ผู้ชุมนุม ผู้เห็นต่าง หรือสาธารณะก็ใช้ความรุนแรงตอบโต้ พื้นที่การสื่อสารที่เสรีและปลอดภัยก็จะถูกปิดกั้นและหดแคบลง โอกาสที่จะเกิดความรุนแรงเชิงกายภาพระหว่างมวลชนที่เห็นต่าง หรือการที่รัฐใช้กำลังปราบปรามผู้ชุมนุม การสื่อสารที่สร้างความเกลียดชังทั้งในพื้นที่ออนไลน์และออฟไลน์ซึ่งเป็นความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม รวมถึงความรุนแรงเชิงโครงสร้างอย่างการดำเนินคดีกับผู้วิจารณ์รัฐหรือการรัฐประหารก็เพิ่มขึ้น กล่าวคือ ถึงจะมีจำนวนคนส่งเสียงจนเสียงดังมากกว่าเดิม แต่ก็เป็นเพียงเสียงตะโกนอย่างระเบ็งเซ็งแซ่ที่ปราศจากความหมาย เพราะไม่ได้นำไปสู่บทสนทนาที่จะคลี่คลายความขัดแย้งได้ ในทางตรงกันข้าม พื้นที่สื่อสารเช่นนี้กลับกระตุ้นให้มีการใช้ความรุนแรงมากขึ้น”

สิ่งที่ต้องทำเพื่อลดเงื่อนไขความรุนแรง

จากที่กล่าวมาทั้งหมด พรรษาสิริมีข้อเสนอต่อรัฐบาลและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการการชุมนุมว่า จะยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยและการปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเสรีภาพสื่อ รักษาและพัฒนาพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการอภิปรายถกเถียงเพื่อแปรเปลี่ยนความขัดแย้ง ทั้งทางช่องทางการเมืองปกติ สื่อมวลชน และพื้นที่อื่น ๆ ที่สาธารณะสามารถเข้าถึงได้ ในระดับประเทศ ภูมิภาค และชุมชน

รัฐต้องอำนวยความสะดวกให้เกิดการสื่อสาร สนทนา และอภิปรายถกเถียงที่ปลอดภัยในสังคม ไม่ปิดกั้น และแทรกแซงช่องทางและพื้นที่การสื่อสาร ป้องกันการข่มขู่คุกคามและการใช้ความรุนแรงต่อประชาชน ผู้ใช้สิทธิการสื่อสาร ผู้ปฏิบัติงานภาครัฐ และสื่อมวลชน

นอกจากนี้ รัฐ องค์กรสื่อ และองค์กรวิชาชีพด้านสื่อสารมวลชนต้องให้ความสำคัญต่อการทำความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเสรีภาพสื่อ ความรุนแรงและปฏิบัติการไม่ใช้ความรุนแรง รวมถึงหลักการสากลในการปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพเหล่านี้

พัฒนาและจัดการฝึกอบรมเกี่ยวกับกระบวนการและกลไกในการปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบโดยไม่ใช้ความรุนแรง จัดสรรทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพและเพียงพอต่อการลดการใช้ความรุนแรงและการรักษาความปลอดภัยให้กับผู้ชุมนุม ผู้สังเกตการณ์ชุมนุม สื่อมวลชนทุกประเภทและประชาชนทั่วไป และต้องมีระบบและกลไกการเฝ้าระวัง ป้องปราม หาข้อเท็จจริง และตรวจสอบการใช้ความรุนแรงต่อผู้ใช้สิทธิการสื่อสารและสื่อมวลชนที่เป็นธรรม มีประสิทธิภาพ ลดเงื่อนไขและภาระของผู้ได้รับผลกระทบ และดำเนินการเพื่อให้ผู้กระทำความรุนแรงต้องแสดงความรับผิดรับชอบ ทั้งระดับผู้ปฏิบัติงานและองค์กร

ในส่วนขององค์กรสื่อและองค์กรวิชาชีพด้านสื่อสารมวลชนยังต้องคัดค้าน ต่อต้าน และตรวจสอบการจัดการความขัดแย้งและความรุนแรงทางการเมืองที่เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยและละเมิดสิทธิมนุษยชน  ส่งเสริมและพัฒนาระบบและกลไกในการปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและสิทธิแรงงานของผู้ปฏิบัติงานสื่อทุกระดับ รวมถึงผู้ปฏิบัติงานอิสระ

พัฒนาระบบและจัดการฝึกอบรมเกี่ยวกับแนวทางในการรักษาสวัสดิภาพของผู้ปฏิบัติงานสื่อและกองบรรณาธิการในการรายงานความขัดแย้งและความรุนแรงทางการเมืองอย่างสม่ำเสมอ จัดสรรทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพและเพียงพอต่อการลดความเสี่ยงต่อผู้ปฏิบัติงานทั้งทางกายภาพและช่องทางออนไลน์ รวมถึงการรักษาเยียวยาจิตใจในระยะยาว พร้อมกับสร้างเครือข่ายและประสานงานกับหน่วยงานราชการ ภาควิชาการ และองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ในการพัฒนาระบบและแนวทางการติดตามและเฝ้าระวังการใช้ความรุนแรง

อิสระ ความปลอดภัยจากการคุกคามและแทรกแซง หัวใจหลักของแนวทางวารสารศาสตร์สันติภาพ

ในแง่ระบบตลาดของสื่อ เช่น ตัวกลางการซื้อขายพื้นที่สื่อภาคเอกชน (ผู้ซื้อโฆษณา) ผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม องค์กรผู้ให้ทุนสนับสนุนการดำเนินงานของสื่อมวลชนก็ส่งเสริมและพัฒนาการหารายได้จากการรายงานเชิงวารสารศาสตร์และการสร้างสรรค์เนื้อหารูปแบบอื่นๆ ที่ช่วยทำความเข้าใจสิทธิมนุษยชน ความขัดแย้ง ความรุนแรงทางการเมือง ประเด็นทางสังคม การเมือง วัฒนธรรม และเศรษฐกิจที่เป็นประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะการเปิดพื้นที่สื่อให้กับกลุ่มผู้ถูกละเมิดสิทธิและกลุ่มเปราะบาง

ในส่วนผู้ให้บริการแพลตฟอร์มควรพัฒนาแนวทางการจัดการเนื้อหา (content moderation) อย่างมีส่วนร่วมที่เอื้อต่อการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ควบคู่กับการรักษาพื้นที่การสื่อสารที่ปลอดภัยคุ้มครองกลุ่มเปราะบาง และปกป้องความเป็นส่วนตัว เพื่อให้สังคมยังคงเฝ้าระวังการใช้ความรุนแรงได้

ขณะที่ภาคประชาสังคมและสาธารณะก็ต้องคอยติดตาม เฝ้าระวัง และป้องกันไม่ให้เกิดการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของประชาชน การละเมิดสิทธิมนุษยชน การใช้ความรุนแรงต่อผู้ใช้สิทธิการสื่อสารและสื่อมวลชน ทั้งต้องเรียกร้องให้รัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องแสดงความรับผิดรับชอบต่อผลกระทบจากการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ การละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือการใช้ความรุนแรงรูปแบบต่างๆ

ที่สำคัญ จะต้องกระตุ้น ส่งเสริม และสนับสนุนการผลิตงานวารสารศาสตร์หรือการสร้างสรรค์เนื้อหารูปแบบต่างๆ ที่ช่วยในการทำความเข้าใจสิทธิมนุษยชน ความขัดแย้ง ความรุนแรงทางการเมือง ประเด็นทางสังคม การเมือง วัฒนธรรม และเศรษฐกิจที่เป็นประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะการเปิดพื้นที่สื่อให้กับกลุ่มผู้ถูกละเมิดสิทธิและกลุ่มเปราะบาง เพื่อให้สังคมได้รับรู้ปัญหาและร่วมกันหาทางแก้ไข

พรรษาสิริสรุปรวบยอดในตอนท้ายว่า

“เงื่อนไขสำคัญที่จะช่วยให้สื่อมวลชนดำเนินงานตามแนวทางวารสารศาสตร์สันติภาพได้ คือสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เป็นอิสระและปลอดภัยจากการคุกคามและการแทรกแซงจากฝ่ายต่างๆ”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net