Skip to main content
sharethis

ปมรองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง แปลภาพถ่ายเอื้อประโยชน์เอกชน ออกโฉนดที่ดินหาดฟรีดอมบีช จ.ภูเก็ต - หาดเจ้าไหม จ.ตรังยังไม่จบ กลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึงยื่นข้อมูลเพิ่ม ร้องแปลภาพถ่ายเอื้อโรงเหล็กรุกที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองแม่รำพึง จี้เอาผิดวินัยร้ายแรง

 
 
จากข่าวร้อน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเตรียมลงดาบเชือด ‘วิฑูรย์ ชลายนนาวิน’ รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) อดีตรองอธิบดีกรมป่าไม้ เหตุทำให้ราชการเสียหายจากการแปลภาพถ่ายเอื้อประโยชน์เอกชน ออกโฉนดที่ดินหาดฟรีดอมบีช จ.ภูเก็ต และหาดเจ้าไหม จ.ตรัง โทษหนักถึงไล่ออก ซึ่งขณะนี้อยู่ในกระบวนการของคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรง แต่ดูเหมือนปัญหาของข้าราชการคนดังรายนี้จะยังไม่จบ
 
เมื่อวันที่ 26 เม.ย.56 ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) นายวิฑูรย์ บัวโรย ประธานกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง และนายสุพจน์ ส่งเสียงพร้อมชาวบ้านกว่า 100 คน เข้ายื่นหลักฐานเพิ่มเติมและเข้าชี้แจงข้อมูล ต่อนายศักดา นพสิทธิ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
 
ในกรณีการกระทำผิดทางวินัยร้ายแรงจากการแปลภาพถ่ายทางอากาศเอื้อประโยชน์ต่อเอกชนของ ‘วิฑูรย์ ชลายนนาวิน’ จากปมปัญหาการบุกรุกเขตที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองแม่รำพึง ต.แม่รำพึง อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ จำนวน 52 แปลง รวมพื้นที่ 798 ไร่
 
กลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง ระบุว่า ‘นายวิฑูรย์ ชลายนนาวิน’ ซึ่งขณะนั้นสวมหมวกสองใบ คือ 1.อยู่ในตำแหน่งผู้ตรวจราชการกรมป่าไม้ และ 2.เป็นผู้เชี่ยวชาญของศาลในการวิเคราะห์ภาพถ่ายทางอากาศและแผนที่ ได้ให้ข้อมูลการอ่านและตีความแผนที่ทางอากาศเพื่อใช้อ้างอิงในกระบวนการไต่สวน โดยเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทเอกชนกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กบางสะพาน
 
“นายวิฑูรย์เป็นเจ้าหน้าที่รัฐทำเพื่อประโยชน์ของประชาชน หรือเป็นลูกจ้างของกลุ่มทุน การที่มติของทางกรมป่าไม้ ไม่ให้เผยแพร่มติผลการแปรภาพถ่าย แต่ผลไปอยู่ในศาลปกครอง ตรงนี้ถือเป็นเรื่องเสื่อมเสียเกียรติของกรมป่าไม้หรือไม่”  ประธานกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึงตั้งคำถามต่อที่ประชุม
 
เอกสารที่กลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึงนำมายื่นในวันนี้ ประกอบด้วย 1.ผลการอ่าน แปล ตีความภาพถ่ายทางอากาศของกรมป่าไม้ เพื่อจัดทำคำให้การแก้คำฟ้อง (คดีหมายเลขดำที่ 734/2554) 2.บันทึกการลงตรวจสอบพื้นที่จริงในการอ่าน แปล ตีความภาพถ่ายทางอากาศของนายวิฑูรย์ 3.เอกสารการขอผลการอ่าน แปล ตีความภาพถ่ายทางอากาศจากเอกชน (เครือสหวิริยา) 4.เอกสารมติคณะกรรมการกรมป่าไม้ ไม่ให้เปิดเผยผลการอ่าน แปล ตีความภาพถ่ายทางอากาศแก่กลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึงที่ร้องขอ
 
ทั้งนี้ ที่ดินดังกล่าว กรมที่ดินมีคำสั่งเพิกถอนการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ทั้ง 52 แปลง ตั้งแต่วันที่ 5 ม.ค.53 เนื่องจากมีการพิสูจน์แล้ว ว่าผู้บุกรุกออกเอกสารสิทธิโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และทางกรมป่าไม้ก็เห็นชอบใช้คำสั่งนี้เช่นกัน
 
อีกทั้งเมื่อวันที่ 20 ธ.ค.53 นายอำเภอในขณะนั้นได้มีคำสั่งให้ผู้บุกรุกคือบริษัทเอกชนออกจากพื้นที่ อาศัยอำนาจตามมาตรา 25 พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507
 
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันบริษัทเอกชนได้ร้องต่อศาลปกครองกรณีการออกคำสั่งของเจ้าหน้าที่รัฐทั้งในส่วนของกรมที่ดิน และอีกคดีเป็นการฟ้องนายอำเภอ รมว.กระทรวงทรัพย์ฯ และกรมป่าไม้
 
ประเด็นสำคัญที่ชาวบ้านจับตา คือ มีการเอาข้อมูลการอ่านและตีความแผนที่ทางอากาศของนายวิฑูรย์ มาใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงในกระบวนการไต่สวน เพื่อเอื้อประโยชน์กับบริษัทเอกชนดังกล่าว โดยระบุว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ ถูกประชาชนเข้าจับจองทำกิน
 
เรื่องนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการของศาลปกครอง ทำให้เจ้าหน้าที่อ้างกระบวนการศาลและไม่มีการดำเนินการอย่างจริงจังกับกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กบางสะพาน
 
นายวิฑูรย์ กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นทำให้ชาวบ้านเป็นห่วงว่าจะมีการถ่วงเรื่องไว้และไม่สามารถดำเนินการอะไรได้
 
อีกทั้ง หลังนายอำเภอประกาศบังคับใช้มาตรา 25 แต่พบว่าบริษัทเอกชนยังมีการนำรถบรรทุกเข้าไปในพื้นที่ และระยะเวลาการต่อสู้ในเรื่องนี้กว่า 3 ปี มีนายอำเภอบางสะพานถูกย้ายไปแล้วถึง 4 คน ซึ่งคนที่ทำดีก็ถูกย้าย แต่บางคนก็ไม่กล้าดำเนินการ ทำให้ไม่มั่นใจในการบังคับใช้กฎหมาย แม้จะเชื่อมั่นว่ากฎหมายมีความศักดิ์สิทธิ์ก็ตาม
 
 
ด้านนายสุพจน์ ส่งเสียง แกนนำกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึงอีกคนหนึ่งกล่าวถึงข้อเสนอแนะจากชาวบ้านว่า 1.ขอให้ รมว.กระทรวงทรัพย์ฯ ลงพื้นที่เพื่อรับทราบข้อเท็จจริง
 
2.กรณีการบังคับใช้มาตรา 25 ชาวบ้านเห็นว่าควรถ่ายโอนอำนาจจากนายอำเภอให้อธิบดีกรมป่าไม้เป็นผู้ดำเนินการแทน
 
3.ให้กระทรวงทรัพย์ฯ สั่งการไปยังกรมป่าไม้ให้ตีความว่า ควรหรือไม่ในการเปิดเผยผลการอ่าน แปล ตีความภาพถ่ายทางอากาศให้กับผู้บุกรุก
 
และ 4.มอบอำนาจคืนให้กรมป่าไม้ออกระเบียบปฏิบัติตาม มาตรา 25 พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ซึ่งที่ผ่านมามีการอ้างว่าอยู่ในกระบวนการฟ้องร้องของศาลปกครองทำให้การดำเนินการไม่เดินหน้า
 
นายประยุทธ หล่อสุวรรณศิริ รองอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยร้ายแรง ‘นายวิฑูรย์ ชลายนนาวิน’ กรณีการแปลภาพถ่ายทางอากาศเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อเอกชน ออกโฉนดที่ดินหาดฟรีดอมบีช จ.ภูเก็ต และหาดเจ้าไหม จ.ตรัง ซึ่งทางคณะกรรมการได้มีการรวบรวมหลักฐานเพื่อใช้ในการตรวจสอบดังกล่าว และมีหลักฐานกรณีป่าสงวนแม่รำพึงรวมอยู่ด้วย
 
รองอธิบดีกรมป่าไม้ ยังกล่าวถึงกระบวนการสอบสวนที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปลายปี 2555 ด้วยว่า ตอนนี้กระบวนการใกล้แล้วเสร็จ แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าจะเสร็จเมื่อไหร่ อย่างไรก็ตามอยากให้ชาวบ้านไม่ต้องกังวล ทางคณะกรรมการจะดำเนินการอย่างโปร่งใสและตรงไปตรงมาที่สุด
 
ข้อสังเกตของ นายประยุทธ คือ การแปลภาพถ่ายทางอากาศนั้นไม่เกี่ยวข้องกับการกำหนดแนวเขต เพียงให้รู้ถึงการทำประโยชน์ในพื้นที่นั้น โดยผู้ที่ทำหน้าที่กำหนดแนวเขตคือช่างรังวัด
 
 
ด้านนายศักดา นพสิทธิ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชี้แจงประเด็นของชาวบ้านว่า 1.กรณีที่บริษัทเอกชนออกโฉนดหรือเอกสารสิทธิ์โดยขัดต่อความรู้สึกของชาวบ้านว่าเป็นไปโดยชอบหรือไม่ เรื่องนี้อยู่ในกระบวนการของศาล ควรไปติดตามที่ศาลซึ่งเป็นผู้พิจารณาคดี
 
2.การออกโฉนดหรือเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบ โดยมีการให้ความเห็นของ ‘นายวิฑูรย์ ชลายนนาวิน’ เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยนั้นอยู่ในการประมวลผลของศาล แต่หากชาวบ้านต้องการตรวจสอบนายวิฑูรย์ว่ากระทำผิดหรือไม่ ก็มีช่องทางในกระบวนการสอบวินัยของข้าราชการอยู่ หรือหากพบว่ามีกรณีเจ้าหน้าที่ป่าไม้กระทำผิดก็สามารถนำหลักฐานมายื่นเรื่องเพื่อทำการสอบสวนได้
 
3.การให้กรมป่าไม้ออกระเบียบปฏิบัติตาม มาตรา 25 พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507นั้น กรมป่าไม้เป็นข้าราชการส่วนกลาง โดยหลักการได้มอบอำนาจให้กับหน่วยงานส่วนท้องถิ่นดำเนินการแล้ว การร้องดังกล่าวจะส่งผลกระทบหากเปลี่ยนแปลงทั้งประเทศ อย่างไรก็ตามสามารถร้องเป็นรายกรณีได้ หากการดำเนินการดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหาย
 
นายศักดากล่าวด้วยว่า แม้ ‘นายวิฑูรย์ ชลายนนาวิน’ ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ แต่มีความสามารถเฉพาะตัวในการการอ่าน แปล ตีความภาพถ่ายทางอากาศ จึงได้รับเชิญเป็นผู้เชี่ยวชาญศาลยุติธรรม ซึ่งไม่ได้เป็นผู้ชี้ขาด เพียงแต่ให้ข้อมูลและไม่จำเป็นที่ศาลจะต้องเห็นตามนั้น
 
อย่างไรก็ตาม ประธานกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง โต้แย้งว่า ความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญนั้นมีความเป็นไปได้ที่ศาลจะให้ความเชื่อถือมากกว่าคนทั่วๆ ไป และหากการแปลภาพถ่ายทางอากาศมีความผิดพลาดแต่ศาลกลับเชื่อถือ นั่นย่อมส่งผลกระทบต่อหลายหน่วยงาน
 
นายวิฑูรย์ กล่าวด้วยว่า กรณีกระบวนการของศาลปกครอง คณะกรรมการชาวบ้านของกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึงซึ่งเข้าไปเป็นผู้ร้องสอดในคดีจะมีการติดตามความคืบหน้าต่อไป และจะพยายามขับเคลื่อนให้เกิดการบังคับใช้มาตรา 25
 
เหมือนดังที่ชาวบ้านได้ต่อสู้ เพื่อรักษาพื้นที่จากอุตสาหกรรมถลุงเหล็กมาโดยตลอด
 
 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net