Skip to main content
sharethis

แอมเนสตี้ฯ ยื่นรายงานสถานการณ์โทษประหารชีวิตและการประหารชีวิตปี 2555 ก.ยุติธรรม ชี้ไทยเป็นประเทศส่วนน้อยในโลกที่ยังมีการใช้โทษประหาร พร้อมหารือข้อเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิก 'สุชน' แจงฝ่ายบริหารเสนอได้ แต่ต้องผ่านนิติบัญญัติ-ศาล เพื่อถ่วงดุลอำนาจ

<--break->
 
วันนี้ (11 เม.ย.56) น.ส.ปริญญา บุญฤทธิ์ฤทัยกุล ผู้อำนวยการองค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม โดยระบุว่า แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยเรียกร้องให้รัฐบาลไทยรักษาพันธสัญญาและเห็นคุณค่าของทุกชีวิตอย่างเท่าเทียมกัน เพราะไม่มีหลักฐานใดที่แสดงว่าโทษประหารมีส่วนช่วยป้องกันอาชญากรรม 
 
“รัฐบาลไทยควรพิจารณาสนับสนุนแนวโน้มที่เกิดขึ้นระหว่างประเทศในทางที่ยกเลิกโทษประหาร เนื่องจากประเทศไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในโลกที่ยังคงใช้โทษประหารชีวิต และโทษดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในการมีชีวิตตามหลักปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติรวมทั้งงานวิจัยมากมายจากนานาประเทศได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าโทษประหารชีวิตไม่มีความเชื่อมโยงใดๆ กับการเพิ่มขึ้น หรือลดลงของอาชญากรรม” น.ส.ปริญญา กล่าว
 
ทั้งนี้ ผู้แทนแอมเนสตี้ฯ เสนอรายงานสถานการณ์โทษประหารชีวิตในปี 2555 ต่อนายสุชน ชาลีเครือ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งรับมอบแทนนายประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม โดยมีข้อเรียกร้องต่อกระทรวงยุติธรรมว่า รัฐบาลไทยควรพิจารณาสนับสนุนแนวโน้มที่เกิดขึ้นระหว่างประเทศในทางที่ยกเลิกโทษประหาร ดังนี้
 
1.ประกาศพักการประหารชีวิตในทางปฏิบัติอย่างเป็นทางการโดยทันที เพื่อให้สอดคล้องกับแผนแม่บทว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ฉบับที่ 2 โดยมีเจตจำนงที่จะออกกฎหมายให้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในท้ายที่สุด
 
2.เสนอแก้ไขกฎหมายเพื่อลดจำนวนความผิดทางอาญาที่มีบทโทษประหารชีวิต ปัจจุบัน กฎหมายไทยบัญญัติความผิดทางอาญาไว้มากถึง 55 ประเภทที่มีบทลงโทษประหารชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งความผิดที่ไม่ถือเป็น “อาชญากรรมร้ายแรงที่สุด” เช่น ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และการลอบวางเพลิง เป็นต้น
 
3.บรรจุวาระการเปลี่ยนแปลงโทษประหารชีวิตเป็นโทษจำคุกไว้ในแผนแม่บทว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ฉบับที่ 3
 
4.ลงนามและให้สัตยาบันรับรองพิธีสารเลือกรับฉบับที่สองของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (Second Optional Protocol to the International Covenant on Civil and Political Rights) ที่มุ่งยกเลิกโทษประหารชีวิต
 
นายสุชน ชาลีเครือ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า รัฐบาลชุดนี้มีนโยบายสำคัญด้านกระบวนการยุติธรรมหลายเรื่อง เช่น การปฏิรูปกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมและแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ และเห็นว่ากฎหมายใดของไทยที่ขัดกับหลักการทางสากลก็ควรนำมาพิจารณาแก้ไข
 
สำหรับประเด็นการประกาศพักใช้การประหารชีวิตนั้น ชี้แจ้งว่าแม้ฝ่ายบริหารจะเสนอในประเด็นนี้ได้ แต่ต้องผ่านการพิจารณาของฝ่ายนิติบัญญัติและศาลเพื่อเป็นการถ่วงดุลอำนาจกันอยู่ดี
 
ด้าน พ.ต.อ.ดร.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ชี้แจงเรื่องตัวชี้วัดกลยุทธ์ที่ 3.1 ที่ระบุว่าให้ยกเลิกโทษประหารชีวิตโดยให้เปลี่ยนเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิต ของแผนแม่บทสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2552-2556) ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศอย่างเป็นทางการ และมีผลในทางปฏิบัติตั้งแต่ปี 2553 นั้น ระบุเพียงแค่ให้ศึกษาความเป็นไปได้ของแนวทางการยกเลิกโทษประหารชีวิตในประเทศไทย และขณะนี้ทางกรมคุ้มครองสิทธิฯ กำลังดำเนินการอยู่
 
พ.ต.อ.ดร.ณรัชต์ ยังแสดงความเห็นด้วยว่าโทษประหารชีวิตนั้นไม่ได้ป้องปรามอาชญากรรม และประเทศส่วนใหญ่กว่า 2 ใน 3 ทั่วโลก ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตแล้ว แต่เห็นว่า การยกเลิกโทษประหารชีวิตในประเทศไทยคงไม่ได้รับการสนับสนุนจากเสียงประชาชน เพราะคนในสังคมบางส่วนยังเห็นการใช้ความรุนแรงเป็นทางออกในการแก้ไขปัญหา เห็นได้จากกรณีที่มีการสังหารนอกกฎหมายในช่วงการสงครามยาเสพติด จนทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 2,500 ราย แต่ก็ยังมีผู้สนับสนุนนโยบายนี้จำนวนมาก

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net