Skip to main content
sharethis

ชาวบ้านสมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ร่วมเครือข่ายพีมูฟเดินขบวนจากทำเนียบถึง ‘ศาลฎีกา’ ร้องยกเลิกการคุ้มครองผลประโยชน์ของบริษัทเอกชน ชี้เป็นบ่อเกิดความรุนแรง จนสมาชิกร่วมสู้ถูกยิงเสียชีวิต 2 คน จี้นำพื้นที่ให้ ส.ป.ก.จัดสรร

<--break->

 

 
ภาพโดย: เอก ตรัง
 
วันนี้ (25 ธ.ค.55) เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น.ชาวบ้านสมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) ร่วมกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือ พีมูฟ (P Move) และเครือข่ายจากทั่วประเทศ อาทิ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด เครือข่ายสลัม 4 ภาค เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน และสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ จำนวนกว่า 500 คน เคลื่อนขบวนจากทำเนียบรัฐบาลผ่านถนนราชดำเนินไปยังศาลฎีกา บริเวณท้องสนามหลวง เพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกการขอทุเลาบังคับคดีชั่วคราวคุ้มครองผลประโยชน์ของบริษัท จิวกังจุ้ยพัฒนา จำกัด ในพื้นที่ชุมชนคลองไทร หลังเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จนทำให้สมาชิกชุมชนเสียชีวิต 2 คน
 
นายสุรพล สงฆ์รักษ์ ผู้ประสานงานสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) กล่าวว่า สมาชิกชุมชนมีความเห็นร่วมกันว่ากระบวนการยุติธรรมที่ล่าช้าเป็นสาเหตุสำคัญของความสูญเสียที่เกิดขึ้น เพราะที่ผ่านมาชาวบ้านต่อสู้ว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินของ ส.ป.ก.และต้องการให้นำมาจัดสรรให้ชาวบ้านซึ่งเป็นเกษตรกรไร้ที่ดินได้อาศัยทำอยู่ทำกิน จนกระทั่งเข้าสู่กระบวนการของศาล ซึ่งทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้ตัดสินแล้วว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินของ ส.ป.ก. แต่ถึงปัจจุบันก็ยังไม่อาจนำมาจัดสรรได้ เนื่องจากบริษัทใช้ช่องทางขอทุเลาบังคับคดีชั่วคราว
 
สืบเนื่องจากเหตุการณ์ที่นางปราณี บุญรักษ์ อายุ 52 ปี และนางมณฑา ชูแก้ว อายุ 50 ปี ชาวบ้านชุมชนคลองไทรพัฒนา สมาชิก สกต.ถูกลอบยิงด้วยอาวุธสงครามจนเสียชีวิต ในพื้นที่ชุมชนซึ่งมีกรณีพิพาทกับสวนปาล์มของ บริษัท จิวกังจุ้ยพัฒนา จำกัด หมู่ 2 ต.ไทรทอง อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อ 19 พ.ย.55 คดียังไม่มีความคืบหน้า โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจชี้แจงว่าเนื่องจากคนร้ายอยู่นอกพื้นที่ ประกอบกับไม่มีพยานบุคคล จึงยากแก่การสืบสวนคดีอีกทั้งก่อนหน้านี้ก็มีกรณียิงนายสมพร พัฒนภูมิ สมาชิกชุมชนบ้านคลองไทรพัฒนาเสียชีวิตในปี พ.ศ.2553 ซึ่งคดีก็ไม่มีความคืบหน้า
 
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขบวนพีมูฟจากทั่วประเทศเดินทางมาชุมนุมบริเวณทำเนียบรัฐบาล ตั้งแต่เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อขอเปิดเจรจาแก้ไขปัญหาดังกล่าว และกรณีปัญหาอื่นๆ ของเครือข่าย รวมทั้งเร่งรัดให้มีการส่งมอบพื้นที่จัดทำเป็นโฉนดชุมชนโดยเร็ว โดยได้เข้าร่วมประชุมกับนายสุพร อัตถาวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ซึ่งรับปากจะทำหนังสือเสนอต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้เร่งรัดส่งกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจากส่วนกลางเข้าไปรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ตามข้อเรียกร้องของชาวบ้าน พร้อมติดตามค่าชดเชยเยียวยาผู้เสียชีวิตที่ผ่านมาจากกรมคุ้มครองสิทธิฯ ให้เร็วที่สุด
 


 

จากนั้นในช่วงบ่ายวันดังกล่าว (24 ธ.ค.55) ที่ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน (ปจช.) เพื่อพิจารณากรอบวาระต่างๆ รวมถึงการหาทางแก้ไขเร่งด่วนกรณีชาวบ้านชุมชนคลองไทรพัฒนาถูกลอบยิงเสียชีวิต 2 ราย โดยขอให้มีการคุ้มครองชุมชนและชาวบ้านให้เกิดความปลอดภัย และขอให้มีบันทึกข้อตกลง MOU ในการส่งมอบพื้นที่ในชุมชนคลองไทร จำนวน 1,051 ไร่ ให้ ส.ป.ก.ดำเนินการจัดสรร
 
ร.ต.อ.เฉลิม มอบหมายให้ พล.ต.ต.จรัญ ชิตะปัญญา ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี รับเรื่องหาทางออกกับชาวบ้าน พร้อมรับปากจะประสานงานกับกองบังคับการปราบปรามเพื่อจัดส่งเจ้าหน้าที่คุ้มครองชีวิตและทรัพย์สินชาวบ้านภายใน 1 อาทิตย์ แต่กรณีให้เร่งรัดศาลฎีกายุติการคุ้มครองบังคับคดีชั่วคราวนั้น รัฐบาลในฐานะฝ่ายบริหารไม่อยู่ในสถานะที่จะกระทำได้ ส่วนการเดินหน้านโยบายโฉนดชุมชนต่อเนื่องจากรัฐบาลนายอภิสิทธิ์นั้นจะมีการดำเนินการแน่นอน แต่ขณะนี้ร่างระเบียบปรับเปลี่ยนชื่อนโยบายยังไม่ชัดเจน
 
อีกทั้ง ปจช.ยังมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 3 ชุด ประกอบด้วยภาคเหนือ อีสาน กลางและใต้ ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนภาคประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมแก้ไขปัญหา
 
นอกจากนั้น ในการประชุมยังมีการพูดคุยถึงกรณีเร่งด่วนเรื่องการขับไล่ชาวบ้านในชุมชนหลังศาลเจ้าพ่อทัพ ต.สำโรงกลาง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ โดยชุมชนดังกล่าวมีสมาชิกประมาณ 170 ครัวเรือน ซึ่งไม่ทราบว่าเจ้าของที่ดินเป็นใคร แต่ต่อมาได้มีการขายที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งชุมชนให้กับบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งและได้มีการไล่ที่ให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ในเวลา 1 เดือน อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านยินยอมที่จะออกจากพื้นที่ แต่ขอเวลาในการหาที่อาศัยใหม่ และต้องการให้รัฐบาลเป็นตัวกลางในการเจราจากับบริษัทเจ้าของที่ดินเพราะก่อนหน้านี้ยังไม่เคยมีการเจรจากัน และขณะนี้ได้มีการจับกุมชาวบ้านที่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าวในข้อหาบุกรุกพื้นที่แล้ว      
 
 
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า พีมูฟยังได้มีการประสานขอพบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อทวงถามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหา หลังจากที่ตัวแทนพีมูฟได้เข้าหารือกับนายกรัฐมนตรีฯ ที่ตึกสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 2 ต.ค.55 ตามข้อเรียกร้อง 9 กรณี ประกอบด้วย 1.การปรับปรุงกลไกแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม 2.การดำเนินการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเรื่องที่ดิน ในรูปแบบโฉนดชุมชน
 
3.การจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์กรมหาชน) 4.กรณีโครงการนำร่องธนาคารที่ดินภาคเหนือ 5 หมู่บ้าน 5.กรณีสินเชื่อบ้านที่อยู่อาศัย (โครงการบ้านมั่นคง) 6.กรณีคนไร้บ้าน 7.กรณีการจัดทำเขตวัฒนธรรมพิเศษ (ชาวเลราไวย์) 8.กรณีปัญหาเขื่อนปากมูล และ 9.กรณีเครือข่ายสิทธิสถานะบุคคล และกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.55 โดยเรียกร้องให้นายกฯ เป็นประธานคณะกรรมการแก้ปัญหาด้วยตัวเอง
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net