Skip to main content
sharethis

“...ล้อเลียนแนวคิดชาตินิยมที่ระบาดอยู่ในปัจจุบัน โดยการแสดงให้เห็นว่าไม่มีวัฒนธรรมที่เป็น "ไทยแท้" แม้แต่ภาษาที่ดูโบราณและดูเป็นไทยจ๋าๆ ก็ยังยืมมาจากภาษาอื่น...”
                                                                                                    แอดมินเพจตะละแม่ฯ


“ถิ่นนี้มีอันตรายร้ายแรงยิ่งนัก หากมิใช่คนตัวกลั่นแท้แล้วไซร้ เห็นทีจักเอาชีวิตรอดมิได้เป็นแม่นมั่น” (แปล - แถวนี้แม่งเถื่อน บอกตรงๆนะถ้าไม่แน่จริงอยู่ไม่ได้) “พลันมีเสียงกัมปนาทแปลบเปรี้ยง บัดเดี๋ยวกลายเป็นข้าวพองกรอบ” (แปล - บู้ม!!! กลายเป็นโกโก้ครั้นช์) หรือ “อยู่บุรีมีจริต ชีพจักต้องวิลิศมาหรา” (แปล - อยู่เมืองดัดจริต ชีวิตต้องป๊อป) และอีกหลายประโยคที่หลายคนในโซเชียลเน็ตเวิร์คอย่างเฟซบุ๊กได้ทายหรือแปลกันในช่วงเวลาเกือบ 20 วัน ที่ผ่านมา กับปรากฏการณ์ล้อเลียนทางวัฒนธรรมจากเพจ "ตะละแม่ป๊อปคัลเจอร์" ที่ล่าสุดมีคนกดไลค์เพจเกือบ 3 หมื่น "อิสรมานพ" หรือ ประชาไท ในภาษาตะละแม่ฯ ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ 3 สาวแอดมินเพจนี้ ถึงที่มาและแนวคิดในการตั้งเพจนี้ขึ้นมา

แอดมินทั้งสาม คนกลางคือ ฑิตฐิตา ซิ้มเจริญ, ขวามือของฑิตฐิตา คืออรวรรณ ราตรี และด้านซ้ายคือปวรรัตน์ ผลาสินธุ์


ประชาไท: ที่มาของแอดมินเพจตะละแม่ฯ แต่ละคนเป็นใคร
ตะละแม่ฯ ทีม: แอดมินเป็นนักศึกษาและอดีตนักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์ มีทั้งหมดสามคนค่ะ ได้แก่หนึ่ง (อรวรรณ ราตรี) เอกภาษาไทย ปีสาม ที่แปลวลีต่างๆ เป็นภาษาโบราณ ปวร (ปวรรัตน์ ผลาสินธุ์) เอกภาษาและวรรณคดีอังกฤษ ปีบัณฑิต คอยโพสต์และดูแลเพจ รวมทั้งทำภาพป๊อปอาร์ตตรง cover photos และเมจัง (ฑิตฐิตา ซิ้มเจริญ) เอกภาษาอังกฤษ ปีสอง คอยช่วยหาวลี และโพสต์เวลาปวรไม่ว่างโพสต์ค่ะ

นอกจากนี้เรายังต้องขอบคุณการสนับสนุนจากมิตรสหายหลายๆ ท่านที่ทำหน้าที่เป็นนักแปลกิตติมศักดิ์ ที่คอยให้ไอเดีย ให้กำลังใจ รวมไปถึงแฟนเพจทั้งสองหมื่นกว่าท่านด้วยนะคะ

 
ทำไมต้อง “ตะละแม่ป๊อปคัลเจอร์” หมายความว่าอย่างไร ภาพประกอบเพจนั้นคืออะไร
ตะละแม่ เป็นคำเรียกเจ้าหญิงของมอญโบราณ ส่วน ป๊อปคัลเจอร์ คือวัฒนธรรมมวลชน ดังนั้นชื่อเพจ "ตะละแม่ป๊อปคัลเจอร์" จึงมีนัยถึงการผสมผสานระหว่างขนบแบบดั้งเดิมของชนชั้นสูง กับโลกสมัยใหม่ที่เป็นของประชาชน

ส่วนรูปที่นำมาปรับใช้คือ "ไก่แก้ว" (2526) ของ อ.จักรพันธุ์ โปษยกฤต จากเรื่องลิลิตพระลอค่ะ
 


ภาพ "ไก่แก้ว" ที่เพจตะละแม่ฯ นำมาใช้
สำหรับคำประกอบรูป “ชลนัยนาพานจักไหล จักให้บ่าวกระจายเรื่องราวไปโดยพลัน”
(แปลว่า “น้ำตาจะไหล ขอแชร์นะคะ”)


 
ที่มาของเพจ “ตะละแม่ป๊อปคัลเจอร์” คืออะไร และถ้าเป็นการล้อเลียนต้องการล้อเลียนอะไร และทำไมต้องล้อเลียนสิ่งนั้น
ที่มาของเพจ มาจากมีมของต่างประเทศ คือมีม Joseph Ducreux Archaic Rap ที่นำเนื้อเพลงสมัยใหม่มาเปลี่ยนเป็นภาษาโบราณ ปวรเห็นแล้วก็ชอบ และเห็นว่าหนึ่งเรียนภาษาไทยโบราณเยอะ เลยแนะให้ลองเล่นดู ทำเพจขึ้นมาเพื่อจะได้ช่วยโพสต์ได้ แล้วเรียกเมจังมาช่วย รู้ตัวอีกที เพจก็กลายเป็นที่นิยมไปแล้วค่ะ
 
จริงๆ เพจนี้ก็ไม่ใช่เพจล้อเลียนอย่างเดียว เส้นกั้นระหว่าง parody กับ homage มันบางมาก เพจนี้แม้จะดูเป็นเพจล้อเลียน แต่ก็ทำขึ้นมาด้วยความชื่นชอบ เราชอบภาษาแบบโบราณ เห็นว่ามันเก๋ดี แต่ในขณะเดียวกันเราก็โตมากับวัฒนธรรมป๊อป ดูหนังฮอลลีวู้ด ใส่กางเกงยีนส์ เราเลยอยากนำสองค่ายมาผสมผสานกัน เป็นเหมือนโรบินฮูดที่ขโมยภาษาศักดิ์สิทธิ์ของชนชั้นสูงมาให้ความสนุกสนาน แก่ชนชั้นกลางธรรมดาสามัญทั่วไปค่ะ
 
ส่วนเป้าหมายรองของเพจเรา ก็คือต้องการล้อเลียนแนวคิดชาตินิยมที่ระบาดอยู่ในปัจจุบัน โดยการแสดงให้เห็นว่าไม่มีวัฒนธรรมที่เป็น "ไทยแท้" แม้แต่ภาษาที่ดูโบราณและดูเป็นไทยจ๋าๆ ก็ยังยืมมาจากภาษาอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ชื่อว่า ตะละแม่ ซึ่งไม่ใช่คำเรียกเจ้าหญิงของไทย แต่ก็เป็นคำที่ปรากฏในวรรณกรรมขึ้นหิ้งของไทย ทั้งนี้ก็เพื่อแสดงให้เห็นความไม่เป็นเหตุเป็นผลของวาทกรรมชาตินิยมค่ะ
 


มีม Joseph Ducreux Archaic Rap ที่นำเนื้อเพลงสมัยใหม่มาเปลี่ยนเป็นภาษาโบราณ 
ที่มาภาพ knowyourmeme.com

 

คิดว่าจะเปลี่ยนภาพประกอบหรือไม่
ตอนนี้ยังไม่คิดเปลี่ยน ในอนาคตอาจจะเปลี่ยน หรืออาจจะไม่เปลี่ยนเลยก็ได้ค่ะ ต้องดูกันต่อไป

 
มองปรากฏการณ์เพจล้อเลียนของตนเองที่ไม่กี่วัน (26 ส.ค. – 11 ก.ย.) มีคนไลค์จำนวนมากและเร็ว (26,000)  รวมถึงการมีคนคอยจ้องเปิดพจนานุกรมเพื่อถอดคำพูดว่าอย่างไร
ตอนแรกๆ พวกเราก็ประหลาดใจปนตกใจ เพราะแรกๆ เรากะทำเล่นในหมู่เพื่อนฝูงคนรู้จัก และเพื่อนของเพื่อน ไม่คิดว่าสังคมไซเบอร์จะให้ความสนใจมากขนาดนี้ แอบกังวลนิดๆ ด้วยว่าที่แปลไปจะดีพอหรือเปล่า แต่ทุกคนก็ให้กำลังใจมาตลอด ช่วงหลังๆ ก็เลยไม่ค่อยเครียดแล้ว รู้สึกสนุกที่ได้เห็นแฟนเพจมีส่วนร่วมกับเพจมากขึ้น ดีใจที่เพจของเราสามารถทำให้คนเรือนหมื่นมาสนุกสนานกันได้ อินเทอร์เน็ตนี่มันสุดยอดจริงๆ ค่ะ
 

คิดว่าคนมาไลค์เพจตัวเองเพราะอะไร
คิดว่าเสน่ห์ของเพจอยู่ที่การยำรวมสองสิ่งที่ดูไม่น่าเข้ากันได้ ได้แก่ ป๊อปคัลเจอร์ที่เป็นวัฒนธรรมของคนทั่วไป กับภาษาไทยโบราณที่คนไม่กล้าแตะเพราะดูเป็นของสูงต้องปีนบันไดใช้ พอนำมาผสมผสานกัน ก็ทำให้เกิดอาการกลับหัวกลับหางที่ทำให้เกิดความขบขัน นอกจากนี้คนที่เข้ามาในเพจยังสามารถร่วมสนุก แข่งกันทายคำให้ได้ที่หนึ่ง เหมือนเล่นเกมกลายๆ ทำให้คนเข้ามาไลค์เยอะค่ะ
 

ปรากฏการณ์ต่างๆ ในสังคมออนไลน์ มักจะมีทั้งคนที่ชื่นชอบและคนที่ต่อต้าน มีคนมาโวยมาด่าเพจเราบ้างไหม ถ้ามีเขามาด่ามาโวยว่าอย่างไร
ไม่เชิงว่าโวยวายอย่างเป็นทางการ แต่ก็มีเสียงตำหนิอยู่บ้างว่านำรูปของ อ.จักรพันธุ์มาใช้โดยไม่ได้ขออนุญาต ประเด็นนี้ก็ยอมรับว่าเป็นเพราะไม่ได้คาดคิดมาก่อนว่าเพจจะได้รับความนิยมมากขนาดนี้จึงไม่ได้เตรียมการล่วงหน้า แต่ก็กำลังอยู่ในขั้นตอนดำเนินการขออนุญาตใช้ภาพอยู่ แต่ถ้าตำหนิเพราะเห็นว่าเอาของสูงมาเล่น อันนี้คงต้องปล่อยไปค่ะ เพราะถ้าเถียงคงต้องเถียงไปถึงแก่นอุดมการณ์ ยาวเปล่าๆ
 

ก่อนหน้านี้มีการล้อเลียนภาษาอย่างเช่น ภาษาสก๊อยหรือการใช้ภาษาที่หลากหลาย จนฝ่ายอนุรักษ์หรือราชบัณฑิตยสถานออกมาประณามว่าทำ ”ภาษาวิบัติ” มองคำๆ นี้ว่าอย่างไร และถ้าจะเรียกอย่าง “ตะละแม่ฯ” จะเรียกว่าอย่างไร
ไม่คิดว่าภาษาจะวิบัติได้จริง เพราะภาษาที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอจะมีอายุยืนยาวกว่า นักภาษาศาสตร์สมัยใหม่มองว่าภาษาวิบัติคือการวิวัฒนาการของภาษา จริงๆ น่าจะเรียกว่าภาษาวิวัฒน์มากกว่าด้วยซ้ำ คือมีวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงให้อยู่รอดได้ ไม่ใช่เปลี่ยนแปลงไปสู่ความเสื่อมหรือความวิบัติ

ส่วนคำว่า "ภาษาวิบัติ" นี่ ถ้าจะแปลแบบคงความหมายเดิมไว้ น่าจะเป็นคำว่า "อุตริภาษา" มาจากคำว่า อุตริ ที่แปลว่านอกลู่นอกทาง ผิดแปลก แต่เป็นคำที่มีนัยประหวัดถึงการริเริ่มทำสิ่งแปลกใหม่ (แผลงๆ) ได้ด้วย คำนี้ตรงกับภาษาบาลีสันสกฤตว่า อุตฺตริ แปลว่า ยิ่ง เป็นความหมายกลาง ที่เลือกใช้คำนี้เพราะมองว่าภาษาในลักษณะนี้มีความ "ผาดแผลง" อยู่ในตัว ซึ่งทำให้หลายคนมองในเชิงลบ แต่ที่จริงแล้วก็เป็นแค่การเปลี่ยนแปลงในรูปแบบหนึ่งเท่านั้นค่ะ
 

มีคนกล่าวว่า “เราต้องภูมิใจในความเป็นไทย เพราะเรามีภาษาไทยเป็นของตัวเอง หลายประเทศในโลกไม่มีภาษาเป็นของตัวเอง” สำหรับตะละแม่ฯ มองคำกล่าวนี้ว่าอย่างไร
เป็นตรรกะวิบัติแบบเหมารวมอย่างหนึ่ง เพราะภาษาไม่ใช่ทั้งหมดของ "ความเป็นชาติ" การไม่มีภาษาของตัวเองไม่ได้แสดงว่าชาติๆ นั้นไม่มีวัฒนธรรมหรือเอกลักษณ์ของตัวเอง  นอกจากนี้ความคิดชาตินิยมก็ยังเป็นแนวคิดที่ค่อนข้างล้าหลัง มันมีประโยชน์ในยุคที่ประเทศอาณานิคมพยายามปลดแอกจากผู้ยึดครอง แต่ในสมัยนี้ชาตินิยมมีแต่จะทำให้เกิดความขัดแย้งกับประเทศอื่นๆ กันเปล่าๆ ทั้งๆ ที่ความเป็นชาติก็เป็นแค่เส้นสมมติเท่านั้นเอง อีกอย่างหนึ่งคือ การป่าวประกาศค่านิยมนี้ในอินเทอร์เน็ตที่เชื่อมต่อกันทั่วโลก ก็ไม่ได้ทำให้ชาติอื่นชื่นชม รังแต่จะก่อให้เกิดทัศนคติด้านลบต่อประเทศเราเสียด้วยซ้ำ
 

คิดยังไงกับเพจที่ออกมาล้อเลียนเพจตัวเอง อย่าง "ผัวตะละแม่ป๊อปคัลเจอร์" โดยเขาอธิบายว่า "กระดานชนวนออนไลน์แห่งนี้ สร้างมาเพื่อความสนุกสนาน เพราะกุแค้น ตอบตะละแม่ ไม่ได้"
เห็นแล้วก็ตลกขบขันดีค่ะ และดีใจด้วย ถือว่าเราได้รับความนิยมในระดับหนึ่งถึงได้มีเพจล้อเลียนเกิดขึ้น

 
ถ้าจะเขียนคำว่า “ประชาไท” ในภาษาตะละแม่ฯ จะเขียนได้ว่าอย่างไร
อิสรมานพ, นรเสรี แปลจากคำว่า ประชา ที่หมายถึงมวลชนหรือคน ส่วน ไท (ที่ไม่มี ย) หมายถึงความเป็นอิสระ เป็นคำตรงข้ามกับ ทาส (ขอหมายเหตุไว้ด้วยว่าคำว่า มานพ (ใช้ น หนู) หมายถึงคน เป็นคนละคำกับ มาณพ (ณ เณร) ที่แปลว่าเด็กหนุ่มนะคะ)
 

คิดว่าบทสัมภาษณ์นี้ควรชื่อว่าอะไรในภาษาตะละแม่ฯ
จำนรรจา นารีหลุดกาล: คุยกับแอดมิน "ตะละแม่ป๊อปคัลเจอร์"
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net