Skip to main content
sharethis

นักวิชาการถกกรณีล้อเลียน นะ Polycat เป็น Cyberbullying หรือไม่ ด้านอาทิตย์ ผู้ประสานงานไทยเน็ต เตือนหากคิดออกกฎหมายเรื่องนี้ต้องระวัง เพราะการล้อเลียนเป็นการตรวจสอบอำนาจ หวั่นถูกคุมการแสดงออก ชี้ต่างประเทศก้าวข้ามล้อเลียน ผลักดันให้ดูถูกกันได้

ที่มา: http://musicstation.kapook.com/view149160.html

ในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา Cyberbullying หรือการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์กลายเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงมากบนสื่อสังคมออนไลน์ จากกรณีที่มีชาวเน็ตนำรูปของรัตน จันทร์ประสิทธิ์ หรือ นะ นักร้องนำวง Polycat มาเปรียบเทียบกับเทพพิทักษ์ แอสละ เน็ตไอดอลชื่อดังจนทำให้เกิดการแชร์อย่างกว้างขวาง ต่อมารัตนได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่าตนไม่ชอบถูกล้อเลียน จนเกิดกระแสต่อต้านการล้อเลียนดัวกล่าวเพราะถือเป็น Cyberbullying ซึ่งประเด็นดังกล่าวไม่ใช่เรื่องที่ควรละเลย เพราะในต่างประเทศก็เคยมีเหตุการณ์สะเทือนใจที่เด็กหญิงเมแกน ไมเออร์ ชาวสหรัฐอเมริกา วัย 13 ปี ฆ่าตัวตายจากการถูก Cyberbullying มาแล้ว

อย่างไรก็ตาม ชาวเน็ตอีกกลุ่มหนึ่งกลับไม่เห็นด้วยกับกระแสดังกล่าว โดยบอกว่าการล้อเลียนในลักษณะนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปกติ เช่น การล้อเลียนนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แม้ประยุทธ์จะออกมาแสดงความไม่พอใจในการล้อดังกล่าว แต่สุดท้ายแล้วชาวเน็ตก็ยังคงล้อประยุทธ์ต่อไปจนนำไปสู่การจับกุมแอดมินเพจ ‘เรารัก พล.อ.ประยุทธ์’ การล้อจึงเป็นสิ่งที่เกิดเป็นประจำ ไม่ว่าจะกับดารา นักร้อง หรือนักการเมือง ทั้งนี้ก็เพราะชาวเน็ตกลุ่มนี้เชื่อว่าการล้อเลียนเป็นเสรีภาพในการแสดงออก และทุกคนที่เป็นบุคคลสาธารณะย่อมสามารถถูกล้อเลียนได้

ปรากฎการณ์ดังกล่าวได้ทำให้เกิดคำถามขึ้นว่าความหมายของ Cyberbullying คืออะไร รวมไปถึงคำถามที่ว่าสรุปแล้วการล้อเลียนเป็นสิ่งที่ทำได้หรือไม่ในสังคมประชาธิปไตย ประชาไทจึงสัมภาษณ์ความเห็นนักวิชาการเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ผลปรากฎว่านักวิชาการมีความเห็นที่แตกต่างกันทั้งในแง่นิยามของ Cyberbullying และเส้นแบ่งว่าเรื่องใดบ้างที่เราควรล้อเลียนได้

กฤษฎา แสงเจริญทรัพย์ อาจารย์สาขาวิชานิติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี กล่าวว่า Bullying หรือการกลั่นแกล้ง เป็นเรื่องที่มีอยู่นานแล้วในสังคม แต่ Cyberbullying แตกต่างตรงที่การกลั่นแกล้งนั้น ย้ายมาอยู่บนโลกออนไลน์ ซึ่งทำให้เรื่องราวการกลั่นแกล้งสามารถแพร่กระจายได้เป็นวงกว้างและรวดเร็วกว่าการกลั่นแกล้งในโลกแห่งความจริง และปัญหาในสังคมไทยส่วนหนึ่งเกิดจากทัศนคติของคนในสังคมที่ยังมองว่าการกลั่นแกล้ง หยอกล้อ เป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในกลุ่มเพื่อน อีกทั้งทัศนคติที่มองว่าการกลั่นแกล้งต้องเกิดทางกายภาพเท่านั้น

กฤษฎาแสดงความเห็นว่า รัตนไม่ควรถูกล้อเลียนเพราะเป็น Cyberbullying และหากเราจะล้อบุคคลสาธารณะ เราก็ควรจะวิพากษ์วิจารณ์แต่เรื่องที่เกี่ยวกับการทำงานของเขา หรือเรื่องที่เป็นประโยชน์ของสาธารณะ เพราะถึงแม้ดารา นักร้อง หรือนักการเมือง จะเป็นบุคคลสาธารณะ แต่เขาก็มีพื้นที่ส่วนตัวที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย

“สำหรับบุคคลสาธารณะ ถ้าคุณจะวิพากษ์วิจารณ์เขาเรื่องการทำงาน คุณก็ทำไป แต่เมื่อไรก็ตามที่คุณไปล้อเลียนเรื่องที่มันไม่เกี่ยวกับการทำงาน เป็นเรื่องส่วนตัวของเขา แบบนี้ผมมองว่าไม่ถูก” เขากล่าว

กฤษฎายังกล่าวอีกว่า สังคมไทยควรจะตระหนักถึงปัญหาของการกลั่นแกล้งกันให้มากขึ้น เพราะนอกจากจะส่งผลเสียหายทางกายภาพแล้ว ยังมีความเสียหายทางจิตใจที่ไม่สามารถเห็นได้ว่ามีบาดแผลที่ตรงไหน อีกทั้งผลของความเสียหายทางจิตใจอาจอยู่ต่อไปในระยะยาว

ด้านอาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล เจ้าหน้าที่สื่อพลเมืองจากเครือข่ายพลเมืองเน็ต (Thai Netizen Network) มองว่ากรณีล้อเลียนรัตนไม่ได้เป็น Cyberbullying เพราะ Cyberbullying จะมีลักษณะ 3 อย่าง หนึ่งคือใช้ความรุนแรงทางกายภาพหรือวาจา สองคือความสัมพันธ์เชิงอำนาจของสองฝั่งไม่เท่ากัน หมายถึงฝั่งที่ถูกแกล้งไม่สามารถสู้ ต่อรอง หรือปฏิเสธได้ จะต้องทนอยู่ในสภาวะจำยอม และสามคือต้องมีลักษณะที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ต่อเนื่อง แต่ในกรณีดังกล่าว รัตนก็ยังมีพื้นที่ในสังคมที่จะอธิบายออกสื่อได้ ไม่ต้องทนอยู่ในสภาวะจำยอมหรือหนีไปไหนไม่ได้แต่อย่างใด และในเรื่องการทำซ้ำ หากเป็นการ Cyberbullying ต้องเป็นลักษณะของการถูกกระทำซ้ำๆ ทุกวันโดยพุ่งเป้าแบบเจาะจง แต่กรณีรัตนเป็นเพียงกระแสออนไลน์ชั่วคราว ที่เมื่อเวลาผ่านไปก็จะไม่มีใครพูดถึง

“ไม่ได้บอกว่า [การล้อเลียน] ไม่มีปัญหา การล้อที่ทำให้อีกฝั่งไม่สบายใจมันเป็นเรื่องมารยาท แต่ไม่จำเป็นที่จะต้องบอกว่าเป็น Cyberbullying” อาทิตย์ กล่าว

อาทิตย์แสดงความเห็นอีกว่า การล้อเลียนบางอย่างควรต้องถูกปกป้องตามกฎหมาย อย่างเช่นการล้อเลียนบุคคลสาธารณะที่อยู่ในอำนาจและมีความรับผิดชอบต่อสาธารณะ คนเหล่านี้ควรจะถูกตรวจสอบได้ ซึ่งการล้อเลียนบุคคลเหล่านี้คือการแสดงออกทางการเมืองเพื่อตรวจสอบ ท้าทาย หรือทำให้อำนาจนั้นลดความศักดิ์สิทธิ์ลง

“ฝนตกน้ำท่วมทีคนก็ล้อสุขุมพันธุ์เต็มเฟซบุ๊กแล้ว เพราะว่าที่ผ่านมาคนกรุงเทพฯ รู้สึกว่า ผู้ว่าฯ คนนี้จัดการกับเรื่องน้ำท่วมไม่ได้อย่างที่หาเสียงไว้เลย คนกรุงเทพฯ เลยรู้สึกว่าเขาก็อยากแสดงออกอะไรบางอย่างในเรื่องที่เกี่ยวกับนโยบายสาธารณะ ในเรื่องที่เกี่ยวกับชีวิตที่เขาประสบ ความเดือดร้อนของเขา เพราะฉะนั้นการล้อสุขุมพันธุ์ มันคือการพูดถึงการบริหารที่ผิดพลาดอะไรบางอย่าง” อาทิตย์กล่าว

ส่วนกรณีที่คนบนโลกออนไลน์บางส่วนเสนอให้มีกฎหมายคุ้มครองจากการถูก Cyberbullying จอมพล พิทักษ์สันตโยธิน นักวิชาการจากคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เสนอว่าจะต้องมีการศึกษาให้ถี่ถ้วนเพื่อจะพิจารณาได้ว่าตัวกฎหมายจะออกมาเป็นลักษณะใด เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนกับกฎหมายที่มีอยู่เดิม เช่น กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ว่าด้วยเรื่องการละเมิดทำให้ผู้อื่นเสียหาย หรือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 16 ว่าด้วยเรื่องการเผยแพร่ภาพที่ตัดต่อหรือดัดแปลง เป็นต้น

ขณะที่อาทิตย์มองว่า ถ้าอยากมีกฎหมายคุ้มครองจากการถูก Cyberbullying จะต้องนิยามให้ชัดเจนก่อนว่าการกระทำใดบ้างที่เป็น Cyberbullying เพราะหากยังไม่มีนิยามที่แน่ชัดแล้ว กฎหมายที่ออกมาจะอันตรายมากในการนำไปบังคับใช้

“เวลาพูดถึงการออกกฎหมายมันต้องชัดเจน มุ่งแก้ปัญหาเฉพาะเรื่อง หากนิยามยังกว้างและแทบจะเป็นอะไรก็ได้ทั้งนั้น เท่ากับว่าเราจะมีกฎหมายควบคุมการแสดงออกตัวใหม่ออกมาให้ปวดหัวอีก” อาทิตย์ กล่าว

อาทิตย์ยังกล่าวอีกว่าขณะที่กระแสในไทยพยายามจะบอกว่าการล้อเลียนเป็นเรื่องผิด แต่ในกระแสโลกส่วนหนึ่งกลับมีความพยายามที่จะลดโทษ (Decriminalize) คดีหมิ่นประมาทให้เหลือแต่เพียงโทษทางแพ่ง ไม่มีโทษทางอาญาอีกต่อไป เพราะการพูดไม่ควรเป็นอาชญากรรม อย่างเช่นในประเทศอังกฤษที่มีการรณรงค์ให้แก้ไขกฎหมายให้สามารถดูถูกบุคคลอื่นได้

ภาพข่าวนายโรแวน แอทคินสัน หรือ มิสเตอร์บีน นักแสดงตลกชื่อดังประกาศรณรงค์ยกเลิกกฎหมายห้ามการดูถูกในอังกฤษ (ที่มา: telegraph)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net