(เก็บตก) 'ล้อเลียน' กับ 'เหยียดหยาม' หลังฝุ่นตลบเพจ 'น้องง' ปะทะ 'โหลกแดง'

อธิป ย้ำไม่มี "เหยื่อสากล" พิมพ์สิริ กางกฎหมายระหว่างประเทศพิจารณา พร้อม 6 ข้อทดสอบจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก ชี้เคารพทางหลากหลายไม่จำเป็นต้องมาพร้อมการปิดกั้นเสรีภาพ 'โชติศักดิ์' หนุนผลิตเนื้อหาที่ไม่ย้อนแย้งเสียเองมาสู้ ย้ำต้องมีขันติธรรมทางการเมือง

14 ม.ค. 2560 จากกรณีช่วงปีใหม่ที่ผ่านมาเกิดประเด็นถกเถียงในโซเชียลเน็ตเวิร์ก ระหว่างเฟซบุ๊กแฟนเพจ น้องง กับเพจ Red Skull และเพจควาย+Social ในประเด็น การล้อเลียนเสียดสี (Parody) กับ การเหยียดหยาม (Discrimination) จนถึง ความถูกต้องทางการเมือง (Political Correctness) หรือ PC จากการโพสต์เรื่อง 'คนบ้านนอก' กับ 'เรื่องเพศ' (ซึ่งเพจมิตรสหายท่านหนึ่ง ได้คัดลอกข้อความสรุปเหตุการณ์การถกเถียงที่เกิดขึ้นไว้ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่เพจ มิตรสหายท่านหนึ่ง)

ในโอกาสนี้ ประชาไทได้พูดคุยกับ อธิป จิตตฤกษ์ พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ และ โชติศักดิ์ อ่อนสูง ถึงประเด็น ความแตกต่างระหว่างการล้อเลียนเสียดสีกับการเหยียดหยาม การมีขันติธรรมทางการเมือง (political tolerance) รวมไปถึงการเคารพความหลากหลายทางวัฒนธรรม และการจัดการกับเนื้อหาลักษณะเหยียดในโลกออนไลน์ เป็นต้น

ความแตกต่างระหว่างการล้อเลียนกับการเหยียด

"คนละมิติเลยเวลาเราพูดถึงการล้อเลียน เรากำลังพูดถึงมิติ "รูปแบบ" การแสดงออก ส่วนเวลาพูดถึง การเหยียดเรากำลังพูดถึงมิติ "เนื้อหา" การแสดงออก ซึ่งพอมันคนละมิติกัน คำถามว่ามันไปมีเส้นแบ่งหรือไม่เลยผิดฝาผิดตัว เพราะมันเป็นได้พร้อมๆ กันตามปกติอยู่แล้ว" อธิป ตอบคำถามความแตกต่างระหว่างการล้อเลียนกับการเหยียด

ขณะที่ พิมพ์สิริ ได้ยกเอา Rabat Plan of Action on the prohibition of advocacy of national, racial or religious hatred that constitutes incitement to discrimination, hostility or violence มาอธิบาย ซึ่ง พิมพ์สิริ ระบุว่า เป็นเอกสารหลักของประเด็นเสรีภาพในการแสดงออกและการรณรงค์เพื่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติ ความมุ่งร้าย หรือความรุนแรงพูดไว้ชัดเจนว่าการจะจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกต้องเป็นไปตามข้อทดสอบหกข้อ ดังนี้ 

หนึ่ง บริบท โดยเฉพาะบริบทสังคมการเมืองที่จะเป็นตัวบ่งชี้ว่าข้อความนั้นจงใจทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติหรือก่อให้เกิดความรุนแรงหรือไม่

สอง ผู้พูด และสถานภาพในสังคมของผู้พูดในการจะนำมาซึ่งการเลือกปฏิบัติหรือความรุนแรง

สาม เจตนา การพูดพล่อยๆ หรือไม่ยั้งคิดไม่สามารถนำมาเป็นข้ออ้างในการจำกัดความคิดเห็นได้ ความเห็นที่มาจากการพูดพล่อยๆ อาจจะเป็นเป็นที่รบกวน แต่ไม่ได้หมายความว่าความเห็นเหล่านั้นจะนำไปสู่การกระทำ

สี่ เนื้อหาและรูปแบบ ที่ต้องมีการวิเคราะห์ว่าคำพูดเหล่านี้จะนำไปสู่การกระทำดังกล่าวหรือไม่

ห้า ขอบเขตของคำพูด ความคิดเห็นเหล่านั้นถูกเผยแพร่ผ่านสื่อชนิดใด เข้าถึงผู้คนจำนวนมากหรือเป็นเพียงแค่กลุ่มคนในสภาพจำกัด

และ หก ความเป็นไปได้ ศาลอาจจะต้องเป็นผู้พิจารณาและวางหลักเกณฑ์ในท้ายที่สุดว่าความเห็นดังกล่าวนั้นมีผลต่อการทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติและความรุนแรงจริงหรือไม่

ด้าน โชติศักดิ์ กล่าวถึง ความแตกต่างระหว่างการล้อเลียนกับการเหยียดว่า เท่าที่ทราบมีคนพยายามเสนอเส้นแบ่งอยู่ เช่น  ถ้านำไปสู่การเลือกปฏิบัติถือว่าเป็นการเหยียด แต่ตนก็ยังเห็นข้อจำกัดของเส้นแบ่งพวกนี้อยู่ เพราะเวลาพูดว่า นำไปสู่ นี่มันนำไปสู่แบบทางตรงหรือทางอ้อมแค่ไหน คือถ้าจะพยายามเชื่อมโยงให้ได้จริงๆ การล้อทุกกรณีก็อาจเชื่อมให้เห็นว่าสามารถนำไปสู่การเลือกปฏิบัติได้ทั้งนั้น 

"พูดในแง่อำนาจ ซึ่งอันนี้ไม่เชิงเป็นการแบ่งระหว่างล้อเลียนกับเหยียดซะทีเดียว แต่เป็นเส้นที่บอกว่าล้อเลียนแบบไหนที่ทำได้แบบไหนที่ทำไม่ได้ ซึ่งผมว่าก็ยังเป็นปัญหาอยู่ เพราะไม่รู้จะแบ่งด้วยอำนาจอะไร อำนาจทางการเมือง อำนาจทางเศรษฐกิจ หรืออะไร แล้วต้องมีอำนาจมากแค่ไหนถึงมากพอที่จะล้อเลียนได้ แต่ที่มีปัญหาที่สุดก็คือ พวกที่เอาความรู้สึกของตัวเองเป็นตัวตั้ง คืออันไหนที่ไม่ชอบแล้วถือว่าเหยียดหมด" โชติศักดิ์ กล่าว

ไม่มี "เหยื่อสากล" 

อธิป กล่าวว่า เข้าใจก่อนว่าทั่วๆ ไปมันไม่มี "เหยื่อสากล" ในแง่ที่จะเป็นเหยื่อทุกกาลเวลาและสถานที่ ไปถามคนไม่พอใจ ใครก็พอว่าตัวเองเป็นเหยื่อทั้งนั้น แต่คนอื่นๆ ก็อาจไม่เห็นด้วยก็ได้ คือมันต้องเริ่มก่อนว่ามิติความเป็นเหยื่อมันซับซ้อนและสัมพัทธ์มากๆ โดยเฉพาะเมื่อ "การทำร้าย" มันไม่ชัดเจน ซึ่งตรงนี้เราพูดบนฐานที่ว่าเหยื่อมันจะเป็นเหยื่อก็ต่อเมื่อสังคมในภาพรวม "ยอมรับ" ก่อนว่าเหยื่อเป็นเหยื่อจริงๆ ถ้าไม่เช่นนั้นสถานะทางสังคมของคนที่เคลมว่าตัวเองเป็นเหยื่อก็เป็นแค่คนที่ทึกทักไปเอง ซึ่งอันนี้มันก็ต้องเข้าใจอีกว่าแต่ละสังคม แต่ละกลุ่มคนในสังคมมันก็มองไม่เหมือนกันอีก สุดท้ายมันเหมือนเวลาคนทะเลาะกัน แล้วต่างฝ่ายต่างก็อ้างว่าตนคือผู้ถูกกระทำทั้งคู่ คือถ้าไม่มีสถานการณ์เฉพาะมา แทบไม่ต้องพูดเลยว่าตัดสินได้หรือไม่ว่าใครถูก ควรจะเข้าข้างใคร มันไม่ได้อยู่แล้ว

การจำกัดความคิดเห็น ผ่านกฎหมายระหว่างประเทศ

สำหรับการจำกัดความคิดเห็นนั้น พิมพ์สิริ ได้ยกกฎหมายระหว่างประเทศมาอธิบายว่า เสรีภาพในการแสดงออกจะถูกจำกัดได้ภายใต้ข้อ 19(3) และข้อ 20 ของกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง 1. บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะมีความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง 2. บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพแห่งการแสดงออก สิทธินี้รวมถึงเสรีภาพที่จะแสวงหา รับและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและความคิดทุกประเภท โดยไม่คำนึงถึงพรมแดน ทั้งนี้ ไม่ว่าด้วยวาจาเป็นลายลักษณ์อักษรหรือการตีพิมพ์ ในรูปของศิลปะ หรือโดยอาศัยสื่อประการอื่นตามที่ตนเลือก
 
3. การใช้สิทธิตามที่บัญญัติในวรรค 2 ของข้อนี้ ต้องมีหน้าที่และความรับผิดชอบควบคู่ไปด้วย การใช้สิทธิดังกล่าวอาจมีข้อจำกัดในบางเรื่อง แต่ทั้งนี้ข้อจำกัดนั้นต้องบัญญัติไว้ในกฎหมายและจำเป็นต่อ (ก) การเคารพในสิทธิหรือชื่อเสียงของบุคคลอื่น (ข) การรักษาความมั่นคงของชาติ หรือความสงบเรียบร้อย หรือการสาธารณสุข หรือศีลธรรม ของประชาชน 
 
ส่วนข้อยี่สิบนั้น ระบุว่า 1. การโฆษณาชวนเชื่อใดๆ เพื่อการสงคราม เป็นสิ่งต้องห้ามตามกฎหมาย 2. การสนับสนุนให้เกิดความเกลียดชังในชาติ เผ่าพันธุ์ หรือศาสนา ซึ่งยั่วยุให้เกิดการเลือกประติบัติ การเป็นปฏิปักษ์ หรือการใช้ความรุนแรง เป็นสิ่งต้องห้ามตามกฎหมาย
 
พิมพ์สิริ สรุปถึงการจำกัดความคิดเห็นที่ชอบด้วยหลักกฎหมายระหว่างประเทศนั้น ควรย้อนกลับไปดูข้อทดสอบหกข้อที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้

โชติศักดิ์หนุนขีดเส้นแบ่งล้อเลียนกับเหยียดให้ชัด

โชติศักดิ์ กล่าวว่า ถ้าเป็นไปได้ก็หาเส้นแบ่งให้ชัดเจน อันนี้ไม่ใช่แค่แบ่งว่าล้อเลียนกับเหยียด แต่อาจจะต้องแบ่งลงไปถึงว่าอาจจะมีล้อเลียนบางแบบที่ไม่ถึงขั้นเหยียดแต่ก็ไม่ควรทำด้วย ที่สำคัญคือแบ่งด้วยเหตุผลไม่ใช่ความรู้สึกส่วนตัว เพราะถ้าใช้ความรู้สึกมาแบ่ง ทุกๆ อย่างมันจะกลายเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ไปหมด เพราะทุกๆ อย่างก็มักจะมีคนไม่ชอบทั้งนั้น สมมุติมีการวิจารณ์เรื่องนึงซึ่งโคตรจะใช้เหตุผลเลย แต่คนที่ถูกวิจารณ์ฟังแล้วส่วนมากก็มักจะไม่ชอบทั้งนั้น คือถ้าใช้ความรู้สึก อย่าว่าแต่การล้อเลียนเลย แม้แต่การวิจารณ์ด้วยเหตุผลก็ทำไม่ได้

ย้ำต้องมีขันติธรรมทางการเมือง

สำหรับขันติธรรมทางการเมืองนั้น โชติศักดิ์ ยืนยันว่า ต้องมี อย่างน้อยที่สุดอย่างที่ยกตัวอย่างไป คือถ้ามีคนวิจารณ์เราด้วยเหตุด้วยผล และไม่ใช่เรื่องส่วนตัว เราก็ต้องอดทนให้ได้ แต่คำถามคือเราต้องอดทนกับการล้อหรือไม่ แบบไหนต้องอดทน แบบไหนไม่ต้องทน เส้นแบ่งมันจะบอกเราเอง ถ้าเราสามารถหามันเจอได้
 

อธิปแนะควรยอมรับทำอะไรไม่ได้กับเนื้อหาเหยียด

ต่อคำถามถึงมาตรการในการจัดการเนื้อหาที่มีลักษณะเหยียดบทสื่ออินเทอร์เน็ตนั้น อธิป กล่าวว่า เราควรจะยอมรับว่าในทางปฏิบัติเราแทบทำอะไรไม่ได้เลย ตนยังนึกไม่ออกว่าเรามีทางเลือกในการจัดการอะไรกับสิ่งที่เราไม่พอใจบนอินเทอร์เน็ตรวมๆ ขนาดผู้มีอำนาจมันยังจัดการกันไม่ได้เลย

เคารพทางหลากหลายไม่จำเป็นต้องมาพร้อมการปิดกั้นเสรีภาพ

พิมพ์สิริ กล่าวด้วยว่า การปิดกั้นหรือการล่าแม่มดจะยิ่งทำให้พื้นที่เสรีภาพในสังคมนั้นๆ รวมถึงการพูดคุยถกเถียงในประเด็นเหล่านั้นหดแคบลง การเคารพทางหลากหลายทางวัฒนธรรมไม่จำเป็นต้องมาพร้อมการปิดกั้นเสรีภาพ และสังคมที่เคารพเสรีภาพก็ควรจะมีที่ทางให้กับความเห็นทุกประเภท ตราบใดที่ความเห็นเหล่านั้นจะไม่นำไปสู่ความรุนแรงหรือการเลือกปฏิบัติอย่างเป็นระบบต่อกลุ่มอัฒลักษณ์ใดอัตลักษณ์หนึ่ง
 
"สิ่งที่ทำได้สำหรับคนที่ไม่ชอบใจหรือคิดว่าความเห็นเหล่านั้นขัดหูขัดตาคือการผลิตเนื้อหาในแบบที่ตัวเองเชื่อขึ้นมาตอบโต้ ซึ่งถือเป็นวิธีการที่ต่างฝ่ายต่างก็ใช้เสรีภาพของตนเองในการแสดงความคิดเห็นโดยไม่จำเป็นต้องไปละเมิดผู้อื่น" พิมพ์สิริ กล่าว

หนุนผลิตเนื้อหาที่ไม่ย้อนแย้งเสียเองมาสู้

"ความหลากหลายทางวัฒนธรรมนี่ตัดไปได้เลย เพราะมันไม่เคยมีอยู่จริง เอาง่ายๆนะ ถ้าผมบอกว่าวัฒนธรรมของพวกผมคือการไม่เคารพวัฒนธรรม แค่คุณบอกหรือเรียกร้องให้ผมเคารพวัฒนธรรมมันก็เป็นการไม่เคารพต่อวัฒนธรรมของพวกผมแล้ว เพราะถ้าคุณเคารพคุณจะมาเรียกร้องให้ผมทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามทำไม" โชติศักดิ์ กล่าว
 
ส่วนกรณีที่มีคนไม่พอใจเนื้อหาของคนอื่นนั้น โชติศักดิ์ กล่าวเสนอว่า ก็คือผลิตเนื้อหาออกมาสู้ วิพากษ์วิจารณ์เนื้อของเขา ที่สำคัญก็คือจะต้องไม่ทำอะไรที่ย้อนแย้งเสียเอง เช่น ถ้าบอกว่าเกลียดการเหยียด แต่ก็ผลิตเนื้อหาที่เหยียดเสียเอง เพราะมันเป็นการดิสเครดิตทั้งตัวเองและประเด็นที่นำเสนอ ทำให้ตัวองเป็นตัวตลก ซึ่งที่พูดนี่ไม่ใช่จะบอกว่าเขาไม่มีสิทธิทำ ใครๆ ก็มีสิทธิดิสเครดิตตัวเองและทำให้ตัวเองเป็นตัวตลกทั้งนั้น เพียงแต่ถ้าถามตน ก็ไม่เสนอให้ทำ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท