Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

“ชีวิตคนตะวันออกมีความสุขมากกว่าคนตะวันตก เพราะผู้คนไม่ค่อยตั้งคำถามกับตัวเองตลอดเวลา เราปล่อยวาง อะไรผ่านแล้วก็ให้ผ่านไป เพราะถ้าตั้งคำถามกับตัวเองบ่อยๆ จะมากจะน้อยปฏิเสธไม่ได้ว่ามันเจ็บปวด อย่างเรื่อง 6 ตุลาฯ มีคนส่วนหนึ่งเหมือนกันที่ออกมาเชียร์ให้จัดการนักศึกษา ถ้าคุณเก็บมาคิด มันต้องเจ็บปวดขึ้นมาอีก ตรงกันข้าม ถ้าปล่อยวาง ก็ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้ ยกเว้นญาติของคนตาย นั่นเขาคงสุขไม่ได้อยู่แล้ว แต่จะทำยังไง ในเมื่อทั้งระบบของเราเป็นแบบนี้” (สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล จากนิตยสาร GM ฉบับเดือนสิงหาคม 2001) ข้อสังเกตข้างต้นสะท้อนถึง “วัฒนธรรมปล่อยวาง” ได้อย่างเป็นรูปธรรม ในปี 2553 ที่ผ่านมาผมไปสัมภาษณ์พระสงฆ์ที่มีชื่อเสียงหลายรูปประกอบงานวิจัยชื่อ “พระสงฆ์กับการเลือกฝ่ายทางการเมือง” มุมมองหนึ่งที่ได้เห็นชัดเจนเป็นพิเศษคือมุมมองเรื่อง “การปล่อยวาง” ในความหมายข้างต้น เช่น พระพยอม กัลยาโณ เสนอทำนองว่า “กรณี 91 ศพ” เป็นต้น หากมีการหาคำตอบกันอย่างถึงที่สุดว่าใครเป็นคนผิดก็เท่ากับเป็นการฟื้นฝอยหาตะเข็บ ความขัดแย้งก็ไม่จบ ความปรองดองก็เกิดไม่ได้ ฉะนั้น ทุกฝ่ายจึงควรลืมอดีตเพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ด้วยการสร้าง “ความปรอดอง” ทัศนะของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ก็เห็นได้ชัดว่าไม่ต้องการแสวงหาความจริง หรือชี้ว่าใครผิดใครถูกในกรณีสลายการชุมนุม แต่มุ่งเสนอโมเดลอนาคตของประเทศว่าควรจะเป็นอย่างไร และต้องปฏิรูปเรื่องอะไรบ้าง คำเทศนาของพระสงฆ์ การรณรงค์เรื่องปรองดอง และแม้แต่ล่าสุดจดหมายของคุณทักษิณ ชินวัตร ก็เรียกร้องให้ทุกฝ่ายลืมอดีต เพื่อให้เกิดความปรองดองและประเทศจะได้เดินหน้าต่อ ทั้งหลายทั้งปวงนี้ล้วนแต่สะท้อน “วัฒนธรรมปล่อยวาง” ทั้งสิ้น หากมองในภาพกว้างเราอาจจะเห็นได้ว่าวัฒนธรรมปล่อยวางเป็นวัฒนธรรมตะวันออก และวัฒนธรรมตะวันออกมักมีรากฐานมาจากศาสนา ไม่ว่าจะเป็นศาสนาพราหมณ์ พุทธ เชน ปรัชญาเต๋า ต่างเน้นเรื่อง “การปล่อยวาง” เพื่อความหลุดพ้นทางจิต หรือเพื่อมีชีวิตกลมกลืนกับวิถีทางแห่งกฎธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม หากเราไปดูที่หลักคำสอนและวิถีชีวิตดั้งเดิมของศาสดา นักปรัชญา ผู้ก่อตั้งศาสนาและปรัชญาตะวันออกจริงๆ แล้ว เราจะพบว่าการปล่อยวางไม่ใช่การปฏิเสธที่จะตั้งคำถามกับตนเองอย่างจริงจัง แต่การปล่อยวางจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อผ่านการตั้งคำถามกับตนเอง กับชีวิตอย่างจริงจัง หรือผ่านการคิดอย่างทะลุปรุโปร่งถึงที่สุดแล้วเท่านั้น เช่น การปล่อยวางวิถีชีวิตทางโลกของเจ้าชายสิทธัตถะจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากไม่ผ่านการตั้งคำถามกับตนเองอย่างจริงจัง ไม่ผ่านการคิดอย่างจริงจังในเรื่องที่คนทั่วๆ ไปอาจไม่คิดจริงจังนัก เช่น ปัญหาเรื่องเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นต้น และการปล่อยวางในระดับการตรัสรู้ก็ไม่อาจเป็นไปได้เช่นกัน หากไม่ผ่านการใช้ชีวิตตนเองทดลองปฏิบัติและคิดจนทะลุปรุโปร่งกระทั่งค้นพบทางเลือกใหม่ของตนเอง ในคำสอนของศาสนาพราหมณ์ เชน และปรัชญาเต๋าก็เหมือนกัน การปล่อยวางจะเป็นไปไม่ได้หากไม่ตั้งคำถามกับตนเองอย่างจริงจังมาก่อน ยิ่งในพุทธศาสนามหายานและวัชรยานที่ถือว่าเป็นศาสนาแนวก้าวหน้าด้วยแล้ว การปล่อยวางจะเป็นไปได้จำเป็นต้องผ่านการวิพากษ์ตนเองอย่างจริงจังและตรงไปตรงมา ชนิดที่ว่าต้องฉีกหน้ากากตนเองทุกชั้นออกให้หมดจดจริงๆ เท่านั้น ฉะนั้น แก่นของการปล่อยวางตามหลักศาสนาปรัชญาตะวันออกจริงๆ มันเป็นเรื่องที่ต้องจริงจังอย่างยิ่งกับการตั้งคำถามกับตนเอง การคิดอย่างทะลุปรุโปร่งในปัญหาแต่ละเรื่อง กระทั่งการเอาชีวิตของตนเองไปทดลองเพื่อค้นหาคำตอบที่ทำให้สามารถปล่อยวางได้จริง แต่วัฒนธรรมการปล่อยวางที่ปฏิเสธการตั้งคำถามกับตนเอง ไม่ต้องคิดอย่างจริงจัง ไม่นิยมถกเถียงกันอย่างถึงที่สุดในประเด็นปัญหาซีเรียสต่างๆ นั้น น่าจะเป็น “วัฒนธรรมปล่อยวางแบบไทยๆ” ที่สร้างกันขึ้นมาใหม่จากการปรับใช้หลักคำสอนพุทธศาสนาให้สอดคล้องกับระบบสังคมการเมืองแบบ “อำนาจนิยมอุปถัมภ์” ฉะนั้น แม้วัฒนธรรมปล่อยวางแบบไทยๆ จะอ้างอิงศาสนาพุทธ แต่เราก็เห็นได้ว่าไม่สอดคล้องกับคำสอนของพุทธศาสนาแบบดั้งเดิม โดยลองตั้งคำถามง่ายๆ เช่น 1) เป็นไปได้อย่างไรที่พระพุทธเจ้าศาสดาของชาวพุทธ จะเสียสละชีวิตทางโลก สละสถานะชนชั้นกษัตริย์เพียงเพื่อจะแสวงหาคำตอบที่จะมาบอกแก่ชาวโลกว่า การปล่อยวางคือการไม่ตั้งคำถามกับตนเองอย่างจริงจัง ไม่คิด ไม่ถกเถียงอย่างถึงที่สุดในปัญหาพื้นฐานของชีวิต และปัญหาพื้นทางทางสังคมการเมืองต่างๆ 2) ที่สำคัญการค้นพบอริยสัจสี่ของพระพุทธเจ้านั้น ก็เกิดจากการตั้งคำถามกับตนเองอย่างจริงจัง การทุ่มเทชีวิตทั้งชีวิตออกแสวงหา และ “ความคิดหลัก” (main idea) ของอริยสัจสี่ที่สำคัญที่สุดก็คือ ปัญหาใดๆ จะแก้ได้ ก็ต่อเมื่อรู้ “ความจริง” ของปัญหานั้นๆ ก่อน ฉะนั้น จะเป็นไปได้อย่างไรที่พระพุทธเจ้าจะสอนให้ชาวพุทธปล่อยวางโดยการทิ้งปัญหา หรือให้ทำใจลืมปัญหาที่เป็นจริงแล้วชะช่วยให้ชีวิต และสังคมก้าวไปสู่ภาวะที่ดีขึ้น ถ้าเช่นนั้น วัฒนธรรมปล่อยวางแบบไทยๆ ที่ไม่จริงจังกับการตั้งปัญหากับตนเอง ไม่จริงจังกับการคิดการถกเถียงปัญหาซีเรียสต่างๆ ของชีวิต และสังคมการเมือง เกิดจากอะไร? ผมคิดว่า เกิดจากระบบสังคมการเมืองแบบ “อำนาจนิยมอุปถัมภ์” ที่ฝังราลึกมานานตั้งแต่ยุคราชาธิปไตยที่กษัตริย์ครอบครองทั้งอำนาจรัฐ ควบคุมพุทธจักร หรือใช้สถาบันสงฆ์เป็นเครื่องมือในการปลูกฝังอุดมการณ์ทางการเมืองแบบอำนาจนิยมอุปถัมภ์ ในระบบสังคมการเมืองเช่นนี้ผู้มีอำนาจสูงสุดเป็นทั้งผู้ใช้อำนาจรัฐ เป็นทั้งผู้มีอำนาจชี้นำทางความคิดและทางศีลธรรมด้วย และเป็นทั้งผู้อุปถัมภ์ให้ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินได้รับความสุขด้วย ตัวผู้มีอำนาจมีฐานะเป็น “บุคคลศักดิ์สิทธิ์” เหนือมนุษย์ทั่วไป และมี “อำนาจศักดิ์สิทธิ์” ทั้งอำนาจปกครอง อำนาจชี้นำทางความคิด และทางศีลธรรม ในปัจจุบันแม้สังคมเราจะเปลี่ยนระบบการปกครองเชิงนิตินัย (บางระดับ) เป็นระบอบประชาธิปไตยแล้ว แต่เป็นประชาธิปไตยที่เน้นการปลูกฝังอุดมการณ์ หรือจิตสำนึกที่เอื้อต่อการยอมรับระบบอำนาจนิยมอุปถัมภ์อันเป็นมรดกแห่งอดีต ฉะนั้น ภายใต้ระบบสังคมการเมืองดังกล่าวนี้จึงทำให้เกิด “วัฒนธรรมปล่อยวางอย่างจำเป็น” คือ 1) วัฒนธรรมปล่อยวางของราษฎร์ที่จะไม่คิด ไม่ตั้งคำถามกับตนเอง กับสังคมอย่างจริงจัง เพราะมีกษัตริย์ มีพระสงฆ์คิดแทน หรือผลิต \คำตอบสำเร็จรูป\" ให้ทุกเรื่องอยู่แล้ว นับแต่เรื่องในอดีตชาติ ชาติปัจจุบัน และชาติหน้า วิถีชีวิตที่ดี สังคมที่ดี ระบบเศรษฐกิจ การศึกษา การปกครองที่ดี ความสุขในชีวิตการงาน การเป็นคนดี การทำใจ การมีความสงบทางจิตใจ ฯลฯ 2) วัฒนธรรมของราษฎรที่จะปล่อยวางไม่ตั้งคำถามต่อสถานะอันศักดิ์สิทธิ์และอำนาจศักดิ์สิทธิ์นั้น เพราะมีกฎหมายห้าม มีการปลูกฝังให้เชื่อฟังและสยบยอมเนื่องจากถือว่า “ความเชื่อ” สำคัญกว่า “ความจริง” ฉะนั้น ระบบสังคมการเมืองแบบอำนาจนิยมอุปถัมภ์มันจึงสร้าง “วัฒนธรรมปล่อยวางอย่างจำเป็น” ที่มีอิทธิพลในการหล่อหลอม หรือสร้าง “บุคลิกภาพ” ทั้งภายนอกและภายในแก่ราษฎร์ให้มี “คุณลักษณะเฉพาะตัว” คือเป็น \"ผู้เคารพเชื่อฟังและหวังพึ่งผู้มีอำนาจ\" โดยเฉพาะบุคลิกภาพภายในตั้งแต่ระดับจิตใต้สำนึก จิตสำนึก ค่านิยม มาตรฐานตัดสินทางศีลธรรม ปรัชญาชีวิต อุดมการณ์ทางสังคมการเมือง ล้วนแต่ถูกหล่อหลอมขึ้นให้สยบยอม รู้จักที่สูงที่ต่ำ รู้สถานะไพร่ของตนเองที่ “จะต้องปล่อยวาง” ไม่ตั้งคำถามอย่างจริงจังต่อสถานะและอำนาจอันศักดิ์สิทธิ์นั้น วัฒนธรรมปล่อยวางภายใต้ระบบสังคมการเมืองแบบอำนาจนิยมอุปถัมภ์ดังกล่าวนี้ นอกจากจะหล่อหลอมนิสัยปล่อยวางที่จะคิด จะตั้งคำถามอย่างจริงจังต่อสถานะและอำนาจศักดิ์สิทธิ์แล้ว มันยังสร้างนิสัยที่ไม่จริงจังกับการตั้งคำถามกับตนเองและต่อสังคมของตนเองด้วย และก็สร้าง “ศีลธรรมดัดจริต” แบบสลิ่มด้วย ซึ่งหมายถึง “ศีลธรรมแบบปิดตาข้างหนึ่ง” ที่นิยมอ้างอิงเพื่อตัดสินดี-เลวระหว่างผู้มีสถานะและอำนาจศักดิ์สิทธิ์กับนักการเมืองที่ประชาชนเลือก จะว่าไปวัฒนธรรมปล่อยวางแบบไม่จริงจังกับการคิด การตั้งคำถาม การแสวงหาความจริงของปัญหาดังกล่าวนั่นเองคือ “กับดักของการหลอกตนเอง” โดยการหลีกเลี่ยงที่จะรับรู้ ทำความเข้าใจ ร่วมกันคิด หรือถกเถียงอย่างถึงที่สุดในปัญหาที่แท้จริง แล้วมันก็หล่อหลอมให้ผู้คนมีศีลธรรมดัดจริตกันทั่วบ้านทั่วเมือง และขยันใช้ศีลธรรมดัดจริตนั้นตัดสินคนอื่นๆ อย่างไม่ต้องใช้ความคิด ใช้เหตุผล หรือยึดความสอดคล้องกับหลักการของประชาธิปไตย แม้แต่หลักการของศาสนาที่ตนเองอ้างถึง ในอดีตวัฒนธรรมปล่อยวางดังกล่าวอาจช่วยให้คนสบายใจได้บ้าง แต่ปัจจุบันมันทำให้สังคมติด “กับดักแห่งการหลอกตัวเอง” ที่เป็นเหตุให้สั่งสมปัญหาซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ จนไม่อาจพบทางออก แล้วความรุนแรงนองเลือดก็มักเป็นผลที่ตามมาอย่างอุบัติเหตุ และ/หรืออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้!"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net