Skip to main content
sharethis

สืบเนื่องจากที่คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ออกคำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard และธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ผู้กำกับภาพยนตร์ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2554 เพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว ต่อมา เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.54 คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ (บอร์ดชาติ) ในฐานะผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์คณะที่ 2 ในฐานะผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ยื่นคำให้การต่อศาลปกครองอ้างเหตุผลหลายประการคัดค้านคำฟ้องของผู้กำกับภาพยนตร์ และล่าสุด วันที่ 2 ก.ย. 54 ผู้กำกับภาพยนตร์ได้ยื่นคำคัดค้านคำให้การ โต้แย้งกลับในทุกประเด็น โดยมีประเด็นสำคัญ ตัวอย่างเช่น กรรมการที่ลงมติบางคนไม่ได้ดูหนังก่อน หนึ่งในประเด็นฟ้องมีว่า คำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะกรรมการบางคนไม่เคยดูหนังมาก่อน แต่กลับมาร่วมลงมติสั่งไม่อนุญาตให้ฉาย คณะกรรมการภาพยนตร์ฯ ให้เหตุผลว่า แม้กรรมการบางคนไม่ได้ดูหนัง แต่จำนวนคนที่ดูหนังและคนที่เข้าร่วมประชุมนั้นครบองค์ประชุมตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว และกฎหมายไม่ได้กำหนดว่าต้องดูหนังครบทุกคน ผู้ฟ้องคดีโต้แย้งไปในคำคัดค้านว่า กรณีนี้ไม่เกี่ยวกับเรื่ององค์ประชุม เพราะแม้องค์ประชุมจะครบ แต่คนที่ไม่ได้ดูหนังแล้วมาลงมติย่อมเป็นมติที่ไม่ถูกต้องเพราะไม่มาจากข้อเท็จจริงที่สมบูรณ์ครบถ้วน และในรายงานการประชุมยังปรากฏว่ามีกรรมการบางท่านที่ไม่ได้ดูหนังแต่มาออกความเห็นเป็นไปในทางที่ไม่อนุญาตให้ฉาย ซึ่งอาจชักจูงให้กรรมการท่านอื่นเข้าใจผิดไปด้วยได้ กรรมการไม่ได้ศึกษาเรื่อง “ศีลธรรมอันดี” ในสังคม แต่กลับใช้ “ศีลธรรม” ของตัวเองตัดสิน ตามที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวว่า คำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะกรรมการผู้ตัดสินใช้ความคิดส่วนตัวในการออกคำสั่ง ไม่เปิดกว้างรับฟังบรรทัดฐานเรื่องศีลธรรมอันดีของที่แตกต่างหลากหลายในสังคม และผู้ถูกฟ้องคดีอ้างมาในคำให้การว่ากรรมการของผู้ถูกฟ้องคดีล้วนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับการแต่งตั้งตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ มีที่มาจากผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ กัน เป็นตัวแทนของวิญญูชนทั่วไปในสังคมแล้ว ผู้ฟ้องคดีโต้แย้งไปในคำคัดค้านว่า การออกคำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์ซึ่งเป็นการจำกัดสิทธิของประชาชน ผู้ถูกฟ้องคดีต้องใช้ดุลพินิจด้วยความระมัดระวัง ผู้คนที่อาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน ย่อมมีความคิดเห็นต่อ “ศีลธรรมอันดีของประชาชน” ที่แตกต่างกัน กรรมการพิจารณาภาพยนตร์เป็นแค่ตัวแทนของคนกลุ่มเดียวเท่านั้น หากใช้เพียงความคิดเห็นส่วนตัวในการตัดสินใจ จึงไม่ใช่ตัวแทนของวิญญูชนทั่วไปในสังคมไทย และไม่อาจตัดสินใจแทนประชาชนทั้งประเทศได้ การไม่อนุญาตให้ฉาย กับ เรตห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักร จริงๆ แล้วก็เหมือนกัน ตามที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวว่า คำสั่งนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะ Insects in the Backyard ไม่มีลักษณะของภาพยนตร์ประเภทห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักร (เรต ห) ที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงเลย เช่น ไม่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่กระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และไม่มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์ ฯลฯ และผู้ถูกฟ้องคดีอ้างมาในคำให้การว่ากรณีนี้ไม่ใช่สั่งให้ภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard เป็นภาพยนตร์ประเภทห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักร หรือการให้เรต ห แต่เป็นการสั่งไม่อนุญาตให้ฉาย เนื่องจากขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน ตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ มาตรา 29 จึงไม่ต้องผูกพันตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ผู้ฟ้องคดีโต้แย้งไปในคำคัดค้านว่า ที่จริงแล้วคำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์ กับคำสั่งให้เรต ห นั้น เป็นคำสั่งเดียวกัน มีผลทางกฎหมายเหมือนกัน การตีความกฎหมายว่า คำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์ กับคำสั่งให้เรต ห เป็นคำสั่งที่ต่างกันจะทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีมีอำนาจออกคำสั่งที่กว้างขวางไม่มีขอบเขต ไม่เป็นธรรมต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพราะฉะนั้นจึงต้องตีความให้ถูกต้อง และผูกพันตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง และภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard ไม่มีลักษณะใดที่จะสั่งไม่อนุญาตให้ฉายได้เลย ขอเรียกค่าเสียหาย 400,000 ตามที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวว่า กรณีนี้เป็นการละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ขอเรียกค่าเสียหาย 400,000 บาท และผู้ถูกฟ้องคดีอ้างมาในคำให้การว่าเป็นค่าเสียหายที่เลื่อนลอย ไม่มีที่มาที่ไป ไม่มีหลักฐานยืนยันได้ ผู้ฟ้องคดีโต้แย้งไปในคำคัดค้านว่า กรณีนี้ไม่ใช่ค่าเสียหายอันเป็นตัวเงินที่ต้องมีหลักฐานเป็นใบเสร็จมาพิสูจน์ แต่เป็นการเรียกค่าความเสียหายต่อสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญมาตรา 45 รับรองไว้ เป็นค่าเสียหายอันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ซึ่งศาลมีหน้าที่ต้องคุ้มครองและกำหนดค่าเสียหายให้ตามความร้ายแรงของกรณี หลังจากยื่นคำคัดค้านในวันนี้แล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองมีเวลาอีก 30 วันเพื่อยื่นคำคัดค้านอีกครั้ง เท่ากับทั้งสองฝ่ายมีโอกาสส่งเอกสารต่อศาลฝ่ายละ 2 ครั้งเท่ากัน หากไม่มีฝ่ายไหนติดใจนำส่งเอกสารเพิ่มเติม ศาลจะรวบรวมเอกสารและพยานหลักฐานทั้งหมดไปพิจารณาเพื่อพิพากษาคดี โดยหากมีข้อเท็จจริงที่ยังไม่เป็นที่แน่ชัดศาลอาจเรียกพยานมาไต่สวนเพิ่มเติมได้ แต่เนื่องจากในวันที่ยื่นฟ้องคดีนี้ ผู้ฟ้องคดี คือ ธัญญ์วาริน และทีมกฎหมายได้ยื่นคำร้องขอให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ในส่วนที่ให้อำนาจแก่รัฐในการสั่งห้ามฉายภาพยนตร์ขัดต่อสาระสำคัญของสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย ดังนั้นศาลปกครองจึงต้องรอฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อนจึงจะพิพากษาคดีนี้ได้ อนึ่ง ภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard เป็นภาพยนตร์แนวดรามา นำเสนอเรื่องราวของครอบครัวที่มีพ่อเป็นสาวประเภทสอง และลูกๆ ไม่ยอมรับในตัวพ่อที่แตกต่างจากพ่อของคนอื่น จนเกิดปัญหาต่างๆ ตามมากับครอบครัวนี้ ภาพยนตร์มุ่งจะสื่อสารให้สังคมมองเห็นปัญหาที่เกิดจากการไม่ยอมรับความหลากหลายทางเพศ และให้มองเห็นทุกคนในความเป็นมนุษย์มากกว่ามองเห็นกรอบที่สังคมกำหนดขึ้น ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์เล็กๆ ที่ธัญญ์วาริน เป็นทั้งผู้กำกับ นักแสดงนำ และอำนวยการสร้างเอง เดิมมีกำหนดฉายเพียงวันละหนึ่งรอบ ในโรงภาพยนตร์เอสเอฟ เซ็นทรัลเวิล์ด เพียงแห่งเดียว แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้ฉายตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ พ.ศ.2551 จึงนำมาสู่การฟ้องคดีครั้งนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net