Skip to main content
sharethis
  • iLaw รีวิวรายงาน 398 หน้า ของ กมธ.พิทักษ์สถาบันฯ หลังทำงานเกือบ 5 ปี โดยมีสาระสำคัญเล่าถึงคุณูปการของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยหลายด้าน เช่น การด้านการปกครอง การแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเมืองและคุณูปการต่อฝ่ายนิติบัญญัติ
  • ขณะที่วันนี้ กมธ.พิทักษ์สถาบันฯ หารือตัวแทนเหล่าทัพและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถึงแนวทางพิทักษ์และปกป้องสถาบันฯเพื่อความมั่นคงของชาติ หวังสร้างทัศนคติเชิงบวกให้กับคนรุ่นใหม่
  • ส่องงบประมาณปี 67 พบทุกเหล่าทัพจัดงบพิทักษ์รักษา เทิดทูนสถาบันกษัตริย์ เพิ่มขึ้นจากปี 66

 

15 ม.ค.2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (14 ม.ค.) iLaw เผยแพร่บทวิจารณ์ 'รายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง คุณูปการของสถาบันพระมหากษัตริย์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและฝ่ายนิติบัญญัติ' ซึ่งจัดทำโดยคณะกรรมาธิการวิสามัญการพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ (กมธ.พิทักษ์สถาบันฯ)  โดยที่ประชุมวุฒิสภาเห็นชอบด้วยกับรายงานพร้อมทั้งข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการวิสามัญ และมีมติให้ส่งไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการต่อไป

ทั้งนี้การประชุมวุฒิสภาเมื่อวันที่ 9 ม.ค.ที่ผ่านมา วุฒิสภามีวาระพิจารณารายงานหนึ่งฉบับดังกล่าาวซึ่งมีความยาว 398 หน้า รวมปกหน้า-หลัง iLaw ระบุว่า จากการสืบค้นระเบียบวาระการประชุมวุฒิสภารวมถึงหน้าเว็บไซต์ของกมธ. พิทักษ์สถาบันฯ ไม่พบการอัพโหลดรายงานฉบับอื่นๆ ก่อนหน้านี้ รายงานฉบับนี้จึงอาจเป็นผลงานที่ออกมาในรูปแบบรายงานเพียงฉบับเดียวของกมธ. พิทักษ์สถาบันฯ ที่ได้รับการแต่งตั้งมาตั้งแต่ 20 ต.ค.2562 มีอายุการทำงานถึงสี่ปีสามเดือน นับถึงวันที่วุฒิสภาเห็นชอบกับรายงานฉบับนี้

ฐานที่มาของ กมธ. พิทักษ์สถาบันฯ สืบเนื่องมาจากในข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ.2562 ข้อ 82 กำหนดให้วุฒิสภาตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ขึ้นคณะหนึ่งมีจำนวนไม่เกิน 30 คน ในจำนวนนี้ให้ประกอบด้วยบุคคลที่ไม่ได้เป็น สว. ไม่เกินกึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมาธิการขึ้นทั้งหมด มีหน้าที่และอำนาจกระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริงหรือศึกษาเรื่องใดๆ ที่เกี่ยวกับการพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

iLaw สรุปประเด็ฯสำคัญของรายงานฉบับนี้ว่า มีสาระสำคัญเล่าถึงคุณูปการของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยหลายด้าน เช่น คุณูปการด้านการปกครองในประเทศไทย คุณูปการด้านการแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และคุณูปการต่อฝ่ายนิติบัญญัติ

หารือตัวแทนเหล่าทัพวางแนวพิทักษ์สถาบันฯ หวังสร้างทัศนคติเชิงบวกให้กับคนรุ่นใหม่

ขณะที่วันนี้ (15 ม.ค.) สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา รายงานว่า สุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ ประธาน กมธ.พิทักษ์สถาบันฯ  วุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม กมธ. โดยมีวาระพิจารณา “ประชุมหารือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ในการพิทักษ์และปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์” ร่วมกับที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ประจำคณะ กมธ.วิสามัญ และผู้แทนเหล่าทัพประกอบด้วย ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และผู้แทนผู้บัญชาการทหารเรือ ณ ห้องประชุม หมายเลข 406 – 407 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา ฝั่งสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา

สุวพันธุ์ กล่าวภายหลังสรุปแผนงานการสานต่อการพิทักษ์และปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ พร้อมปัญหาและอุปสรรครวมถึงการดำเนินงานที่ผ่านมา และแผนงานการสานต่อการพิทักษ์และปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ของคณะ กมธ.วิสามัญ ว่า การประชุมคณะ กมธ.วิสามัญในครั้งนี้ เป็นการหารือแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ข้อพิจารณา และข้อเสนอแนะร่วมกันในการพิทักษ์และปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยที่ประชุมได้รับทราบข้อมูลการดำเนินงานของเหล่าทัพและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการพิทักษ์และปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ พร้อมทั้งวิเคราะห์แนวทางการสร้างความมั่นคงให้กับสถาบันหลักของชาติ รวมถึงหารือถึงปัญหา ข้อเสนอแนะ เพื่อให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือด้านการพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ในทุกภาคส่วนต่อไป

จเด็จ  อินสว่าง รองประธาน กมธ.วิสามัญฯ คนที่สอง กล่าวว่า เหล่าทัพ และเครือข่ายความมั่นคงของกองทัพ มีบุคลากรจำนวนมาก และมีสถานศึกษาสังกัดกองทัพ ดังนั้น กองทัพควรเร่งสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์กับทหารที่เป็นคนรุ่นใหม่ หรืออยู่ในช่วงวัยรุ่น ก็จะช่วยให้เกิดเครือข่ายการสื่อสารต่อไปยังสาธารณชนในวงกว้างได้ ดังนั้น กองทัพต้องใช้เครือข่ายเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งการสร้างความรู้สึกในความเป็นชาตินิยมที่สร้างสรรค์ (Creative Nationalism) เช่น การติดธงชาติตามบ้านเรือน เป็นต้น

พลเอกพหล  สง่าเนตร สว. ในฐานะที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ กมธ. กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาความไม่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและเป็นเรื่องที่น่าวิตกกังวล ดังนั้น กองทัพต้องสร้างจิตวิญญาณให้คนรุ่นใหม่พิทักษ์และเทินทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยปลูกฝังวิธีคิดเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์แบบใหม่ โดยใช้ภาคการศึกษา ภาคความมั่นคง และภาคประชาสังคม ร่วมมือกันจัดกิจกรรมหรือโครงการให้คนแต่ละช่วงวัย หรือมีที่มาที่แตกต่างกันได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างมีเหตุผลและรอบด้าน จะทำให้เกิดความร่วมมือกันในการอนุรักษ์คุณค่าของสังคมไทยด้วยวิธีคิดแบบใหม่ได้

ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม กมธ. กล่าวว่า ปัจจุบันการสื่อสารในยุคดิจิทัล ตนมีข้อห่วงใยประเด็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยเหล่าทัพต้องเร่งสร้างค่านิยมเชิงบวก รวมทั้งหลังจากนี้ รัฐบาลจะดำเนินการ 3 เรื่องที่สำคัญ คือ การทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ การเลือก สว.ใหม่ และการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ซึ่งทั้งหมดนี้จะนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ซึ่งมีหลายประเด็นที่มีแนวโน้มอาจทำให้เกิดความขัดแย้งในประเทศ ดังนั้น เหล่าทัพจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์ความมั่นคงอย่างใกล้ชิด

พลเอก สนิธชนก  สังขจันทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม ในฐานะที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ กมธ. กล่าวว่า กองทัพมีกระบวนการคัดกรองบุคลากรเข้าสู่การรับราชการ โดยมีการสอบถามทัศนคติที่เน้นย้ำต้องเป็นผู้ยึดมั่นในสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งนี้ ตนยินดีรับข้อเสนอของ กมธ. ในการสร้างเครือข่ายพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ให้มีความเข้มแข็ง อย่างไรก็ตาม กระทรวงศึกษาธิการ ควรจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนที่มีเนื้อหาปลูกฝังสถาบันพระมหากษัตริย์ และควรมีการส่งเสริมให้เยาวชนได้มีโอกาสทัศนศึกษาในสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ชาติไทยด้วย

พลเอก ทรงวิทย์  หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และในฐานะที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ กมธ. และ กล่าวว่า ทุกเหล่าทัพต้องแก้ไขความเหลื่อมล้ำภายในกองทัพให้ได้ ก่อนที่จะนำไปสู่การพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะปัจจุบันทหารรุ่นใหม่มองเรื่องปัจเจกบุคคลมากกว่าอุดมการณ์ ส่วนงบประมาณในการสื่อสารสถาบัน ควรมีจุดรวมเพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างสอดคล้องกัน ส่วนการสื่อสารเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ในสื่อสังคมออนไลน์ เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมีการศึกษา เพราะเนื้อหาเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์เข้าถึงประชาชนได้น้อยมาก

พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผู้บัญชาการทหารอากาศ และในฐานะที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ กมธ. กล่าวว่า กองทัพอากาศได้จัดกิจกรรมให้เด็กและเยาวชนได้มีพื้นที่แสดงออกเพื่อให้เกิดความไว้วางใจ โดยกองทัพอากาศใช้คนรุ่นใหม่ในกองทัพอากาศเป็นตัวแทนในการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเรื่องการมีระเบียบวินัยในรั้วทหารไปสู่สื่อสังคมออนไลน์ ทั้งนี้ ตนเห็นด้วยกับการจัดทำหลักสูตรเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ของกระทรวงศึกษาธิการ เพราะถือว่าเป็นต้นน้ำในการสร้างความเข้าใจในเรื่องนี้ ส่วนเหล่าทัพนั้น ยังถือเป็นปลายน้ำ ดังนั้น ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันจึงจะทำให้สังคมไทยเกิดความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

เกษมสันต์  วีระกุล ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ กมธ. กล่าวว่า เหล่าทัพยังขาดแม่ทัพที่จะเป็นผู้กำหนดยุทธศาสตร์ในการสื่อสารเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ของหน่วยงานต่าง ๆ ไปสู่ประชาชน โดยเฉพาะปัจจุบันที่เป็นการสื่อสารแบบดิจิทัล เหล่าทัพจำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการสื่อสารเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ไปยังกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในโลกออนไลน์ที่ทันต่อสถานการณ์

ขณะที่ทุกเหล่าทัพจัดงบปี 67 พิทักษ์รักษา เทิดทูนสถาบันกษัตริย์ เพิ่มขึ้นจากปี 66

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เอกสารงบประมาณ (เอกสารขาวคาดแดง) ที่เว็บไซต์สำนักงบประมาณเผยแพร่เผยแพร่เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.66 นั้นคือเอกสารงบประมาณ ฉบับที่ 3 เล่มที่ 1 งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 หน่วยงานที่น่าสนใจคือ กระทรวงกลาโหม ซึ่งมีการระบุ 'เป้าหมายการให้บริการหน่วยงาน งบประมาณและประมาณการรายจ่ายล่วงหน้า ระยะปานกลาง จำแนกตามแหล่งเงิน' ผ่าน งบประมาณ และการประมาณการรายจ่ายล่วงหน้า โดยเฉพาะภารกิจที่วางเป้าหมายไว้ที่ การพิทักษ์รักษา การเทิดทูน และเฉลิมพระเกียรติสถาบันพระมหากษัตริย์ ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคือ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม กองทัพบก กองทัพเรือ กองทักอากาศและกองบัญชาการกองทัพไทย พบว่ามียอดเพิ่มขึ้นจากปี 66 ทุกหน่วยงาน โดยหากรวมการวางงบประมาณและการประมาณการรายจ่ายล่วงหน้าระยะปานกลางปี 66-70 รวมแล้วกว่า 8,800 ล้านบาท

โดยมีรายละเอียดดังนี้

หน่วยงานในสังกัดกระทรวงกลาโหม

ปีงบประมาณและการประมาณการรายจ่ายล่วงหน้า (ล้านบาท)

2566

2567

2568

2569

2570

รวม 5 ปี

สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม

1,033.22

1,033.19

1,033.19

1,033.19

1,033.19

5,165.98

กองทัพบก

281.71

291.2

291.2

291.2

291.2

1,446.51

กองทัพเรือ

45.49

395.55

395.55

395.55

395.55

1,627.69

กองทัพอากาศ

35.93

65.4

65.4

65.4

65.4

297.53

กองบัญชาการกองทัพไทย

53.08

58.08

58.08

58.08

58.08

285.40

 

 

 

 

 

รวม

8,823.11

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net