Skip to main content
sharethis

ผลวิจัยระดับโลกเผยการปลดพนักงานประจำในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี ค.ศ. 2008 ทำให้มีผู้ผันตัวมาเป็นแรงงานนอกระบบเพิ่มขึ้น แม้เศรษฐกิจฟื้นตัวแรงงานเหล่านี้ได้รับค่าแรงจากการทำงานต่ำกว่าช่วงก่อน เกิดวิกฤต

แรงงานรับงานมาทำที่บ้านในเมือง Malang ประเทศอินโดนีเซีย รับจ้างผลิตแร็คเก็ตแบตมินตันให้กับบริษัทส่งออกเครื่องกีฬา (ที่มาภาพ: Cecilia Susiloretno)

เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 54 ที่ผ่านมา Inclusive Cities องค์กรความร่วมมือเพื่อการแก้ไขปัญหาแรงงานยากจน เผยผลการสำรวจกลุ่มแรงงานนอกระบบ (Informal job sector) จากเก้าประเทศในแถบเอเชีย แอฟริกา และลาตินอเมริกา พบว่าพวกเขายังคงดำเนินชีวิตอย่างยากลำบากและยังไม่ได้รับอานิสสงค์หลังจาก ที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวหลังวิกฤตปี ค.ศ. 2008 แต่แรงงานนอกระบบจำนวนมากยังไม่ฟื้นตัวจากภาวะความยากจน เพราะไม่อาจหารายได้ได้เทียบเท่ากับช่วงก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจได้

การว่างงานและอัตราการจ้างงานในระดับต่ำ ส่งผลผลักให้แรงงานต้องก้าวสู่ภาคการผลิตนอกระบบ (นอกอุตสาหกรรม ไม่มีนายจ้างและเงินเดือนประจำ) กลายเป็นแรงงานนอกระบบ ไม่ว่าจะเป็นอาชีพ คนเก็บขยะ, หาบเร่แผงลอย, คนงานก่อสร้าง, คนทำความสะอาดบ้าน, และแรงงานจ้างรายชิ้น ที่รับงานไปทำตามบ้าน ให้กับอุตสาหกรรมเสื้อผ้าที่เชื่อมโยงกับแบรนด์ดังระดับโลก โดยครึ่งหนึ่งของผู้ที่ถูกสำรวจระบุว่ารายได้ของพวกเขาลดลงตั้งแต่ช่วงกลาง ปี ค.ศ. 2009 จนถึงปี ค.ศ. 2010

สำหรับแนวทางการช่วยเหลือแรงงานนอกระบบเหล่านี้ ในรายงานระบุว่ารัฐบาลควรมีโครงการต่างๆ เช่น การอนุมัติเงินกู้สำหรับผู้มีรายได้ต่ำ เพื่อช่วยเหลือผู้ขายสินค้าหาบเร่ จัดหาสถานที่ตลาดขายสินค้าถาวรที่มีค่าเช่าต่ำ รวมถึงสนับสนุนเรื่องการแยกขยะและส่งเสริมการรีไซเคิลขยะ เพื่อเพิ่มรายได้ให้คนเก็บขยะ เป็นต้น

งานศึกษาชิ้นนี้ได้ทำการสำรวจเมื่อปี ค.ศ. 2010 ครอบคลุมในประเทศ โคลัมเบีย, อินเดีย, อินโดนีเซีย, เคนย่า, มาลาวี, ปากีสถาน, เปรู, แอฟริกาใต้ และประเทศไทย และถึงแม้งานศึกษาชิ้นนี้ไม่ได้ระบุตัวเลขที่แน่นอนของจำนวนแรงงานนอกระบบ ทั้งหมดทั่วโลก แต่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ได้เปิดเผยข้อมูลเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ระบุว่ามีคนว่างานกว่า 205 ล้านคนระหว่างช่วงเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว และกว่า 1.54 พันล้านคนมีสภาพเป็นคนงานที่ไม่มีความมั่นคงในหน้าที่การงาน

ที่มาข่าว:
World's poorest workers fall further behind: Study (The Economic Times, 23-3-2011)
http://articles.economictimes.indiatimes.com/2011-03-23/news/29178338_1_informal-sector-street-vendors-financial-crisis

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net