Skip to main content
sharethis

11 ม.ค. 54 - เมื่อเวลา 10.45 น. นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เผยว่าวันนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีหารือเรื่องความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือคนไทย 7 คนและแนวโน้มของสถานการณ์ คาดว่า วันพรุ่งนี้ศาลกัมพูชาน่าจะมีความชัดเจนเรื่องการอนุญาตให้ประกันตัวคนไทย หลังทนายความได้ยื่นคำร้องไปเมื่อวันจันทร์ที่ 10 ม.ค. ส่วนเรื่องการตั้งข้อหาจารกรรมเพิ่มกับ นายวีระ สมความคิด นางนฤมล จิตรวะรัตนา และ น.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ นั้น ขณะนี้ยังไม่มีรายงานอย่างเป็นทางการ มีแค่เพียงการรายงานข่าวของสื่อกัมพูชา และสื่อต่างประเทศในกัมพูชา ซึ่งทางกระทรวงการต่างประเทศ กำลังติดตามอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า การขอพระราชทานอภัยโทษเป็นแนวทางหนึ่งในการช่วยเหลือคนไทยทั้งหมดให้กลับ ประเทศเหมือนที่เคยดำเนินการกับคดีคนไทยในกัมพูชาที่ผ่านๆ มา แต่คงต้องหารือกับฝ่ายกฎหมายอีกครั้งว่า แนวทางใดจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับเรื่องนี้

นายชวนนท์ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ยังได้หารือถึงเรื่องการตั้งศูนย์ประสานงานเพื่อช่วยเหลือคนไทย 7 คนด้วย โดยให้กระทรวงการต่างประเทศรับผิดชอบในภาพรวมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการชี้แจง ให้ข่าวแก่สื่อมีกรมสารนิเทศดูแลอยู่ การประสานความช่วยเหลือและติดต่อกับญาติของคนไทยทั้งหมด ซึ่งเป็นหน้าที่ของกรมการกงสุล ส่วนการประสานเรื่องคดีเป็นหน้าที่ของสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงพนมเปญ

และเมื่อเวลา 15.35 น.นายชวนนท์ เผยว่าล่าสุดอัยการกัมพูชาแจ้งข้อหา พยายามประมวลข่าวสาร ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อการป้องกันประเทศ ตามมาตรา 27 และ มาตรา 446 ของกฎหมายกัมพูชา  เพิ่มกับนายวีระ สมความคิด และน.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ โดยศาลนัดไต่สวนเพิ่มเติมเฉพาะ 2 คนนี้ในเช้าวันที่ 12 ม.ค. ซึ่งการเพิ่มข้อหาครั้งนี้ จะทำให้การช่วยเหลือบุคคลทั้ง 2 ทำได้ยากมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการขอประกันตัว ด้าน 5 คนไทยที่ต้องข้อหาเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย และเข้าเขตทหารโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น ศาลกัมพูชายังไม่ได้มีคำสั่งว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ดังนั้นคงต้องรอดูความชัดเจนจากศาลกัมพูชาก่อนว่า จะนัดพิจารณาคดีเลยหรืออนุญาตให้ประกันตัว

“ไชยวัฒน์” จี้ “กษิต-ชวนนท์-ประศาสน์” ลาออกจากตำแหน่ง

เมื่อเวลา 11.00 น. นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ แกนนำเครือข่ายประชาชนไทยหัวใจรักชาติ พร้อมด้วย ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์ หนึ่งในทีมที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายของเครือข่ายฯ ที่เพิ่งเดินทางกลับจากกัมพูชา ได้แถลงร่วมกันถึงแนวทางการให้ความช่วยเหลือ 7 คนไทยที่ถูกกัมพูชาจับกุมฐานลักลอบเข้าเมือง โดย ม.ล.วัลย์วิภา กล่าวว่า จากการเดินทางไปกัมพูชาเพื่อช่วยเหลือคนไทยทั้ง 7 คน ปรากฏว่าได้รับการกีดกันจากนายประศาสน์ ประศาสน์วินิจฉัย เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงพนมเปญ ทำให้ไม่ได้พบกับทีมทนายความกัมพูชาและคนไทยทั้ง 7 คนภายในเรือนจำ ทำให้การทำงานไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งเป้าไว้

ม.ล.วัลย์วิภา กล่าวต่อว่า แม้จะได้รับการติดต่อประสานงานกลับมาจากนายประศาสน์ว่า ได้ยื่นเรื่องการขอเข้าพบคนไทยทั้ง 7 คนในเรือนจำไปยังกระทรวงมหาดไทยกัมพูชาแล้ว แต่ไม่ได้กำหนดระยะเวลาว่าจะให้เข้าเยี่ยมเมื่อใด ในทางกลับกันเครือข่ายฯ ได้ประสานเป็นการภายในกับเจ้าหน้าที่กัมพูชาในการขอเข้าเยี่ยมเช่นกัน ดังนั้น หลังจากนี้จะใช้ช่องทางของเครือข่ายฯ แทน โดยคณะที่ปรึกษากฎหมาย นำโดยนายการุณ ใสงาม จะเดินทางไปยังประเทศกัมพูชาอีกครั้ง

ด้านนายไชยวัฒน์ ยืนยันว่า คนไทยทั้ง 7 คน ถูกจับกุมในดินแดนของไทยและต้องใช้องค์กรระหว่างประเทศมาแก้ไข แต่ปัญหาอยู่ที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายประศาสน์ ประศาสน์วินิจฉัย เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงพนมเปญ ดังนั้น ในวันนี้ เวลา 13.00 น. จะเดินทางไปยังกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อชุมนุมกดดันและขับไล่ให้นายกษิต, นายชวนนท์ และนายประศาสน์ ลาออกจากตำแหน่ง

ครม.มอบหมาย ก.ต่างประเทศ ให้ข่าว “7 คนไทย” เพียงผู้เดียว

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี ทางกระทรวงการต่างประเทศได้รายงานให้ทราบถึงการดูแล 7 คนไทย ที่ถูกทางการกัมพูชาจับกุมตัวในข้อหาลักลอบหลบหนีเข้าเมือง ซึ่งทางกระทรวงฯ ได้ดูทั้งเรื่องคดีและประสานงานให้ญาติไปเยี่ยม และขณะนี้ยังไม่มีรายงานว่า มีการแจ้งข้อหาเพิ่ม  อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ตนไม่อยากพูดอะไรเพิ่มเติม  แต่ยืนยันได้ว่าทั้งหมดอยู่ระหว่างการช่วยเหลือภายใต้นโยบาย 3 ข้อ  คือ 1. ดูแลทุกคน  2. รักษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ  และ  3. รักษาอธิปไตยและสิทธิของประชาชน

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรียังเห็นพ้องว่า จะให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ประสานและให้รายละเอียดแต่เพียงฝ่ายเดียว เพราะการที่มีรายงานจากหลายฝ่ายถ่ายทอดออกไปทำให้เกิดความสับสน ส่วนกรณีที่ สมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา  ระบุว่ามีโทรศัพท์โทรมาจากรัฐบาลไทยและไม่ได้รับสายนับ 10 ครั้งนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนไม่ทราบ เพราะเป็นโทรศัพท์ของสมเด็จฮุน เซน และตนได้มอบนโยบายให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ประสาน แต่ไม่ได้ลงในรายละเอียด ดังนั้น ต้องไปถามกระทรวงการต่างประเทศ

ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก: ข่าวสด, สำนักข่าวไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net