Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

จากกรณีที่คนไทย 7 คนถูกทหารกัมพูชาจับตัวจนในที่สุด ศาลกัมพูชาพิพากษาจำคุก 5 คนไทยคนละ 9 เดือนและปรับเป็นเงินจำนวน 1 ล้านเรียล โดยโทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ก่อนซึ่งก็มีความหมายว่ากระทำความผิดจริงแต่ยังไม่ต้องถูกติดคุกนั่นเอง เหตุการณ์ต่างๆที่สับสนในตอนแรกเริ่มกระจ่างขึ้นตามลำดับ แต่ก็ยังเป็นที่สงสัยว่า“ใครได้อะไร เมื่อไหร่ และอย่างไร” ซึ่งใช้เป็นคำอธิบายว่า “การเมืองคืออะไร” (Politics is,who gets "What", "When", and "How") ของฮาโรลด์ ลาสเวลล์ (Harold D. Lasswell) ปรมาจารย์ทางรัฐศาสตร์ชาวอเมริกันที่โด่งดัง

ที่ผมยกนิยามศัพท์ของคำว่า “การเมืองคืออะไร” มากล่าวถึงกรณี 7 คนไทย ก็เนื่องเพราะว่ากรณีนี้เป็นกรณีการเมืองโดยแท้ ถึงแม้ว่าจะมีกรณีการบังคับใช้กฎหมายของศาลกัมพูชามาเกี่ยวข้องด้วยก็ตาม แต่ก็เป็นกรณีที่ฝ่ายการเมืองของกัมพูชาที่ใช้ศาลเป็นเครื่องมือในการดำเนินการทางการเมืองกับไทยเช่นกัน

จุดเริ่มต้นของกรณีนี้เกิดขึ้นจากมีการพยายามที่จะใช้การปลุกกระแสชาตินิยมในกรณีพิพาทเรื่องเขตแดนของกลุ่มการเมืองบางกลุ่มและรัฐบาลเองเพื่อสร้างคะแนนนิยมของกลุ่มการเมืองและกลบปัญหาความไม่เอาไหนของรัฐบาลเอง แต่่การณ์กลับไม่เป็นไปดังที่คาดหวัง เนื่องจากมีเข้าร่วมการชุมนุมจำนวนไม่มากนักและมิหนำซ้ำยังถูกต่อต้านจากคนในพื้นที่ จึงได้มีการตัดสินใจยกระดับการจุดชนวนด้วยการเดินข้ามแดนเข้าไปให้ทหารกัมพูชาจับกุมตัว โดยหวังที่จะปลุกกระแสความรักชาติขึ้นมา

ในเบื้องแรกผู้ก่อการเรื่องดังกล่าวคงมิได้คาดหมายเหตุการณ์จะพลิกผันว่าจะมีการดำเนินคดีจนถึงกับมีการขึ้นโรงขึ้นศาลจนถึงต้องมีการขังคุก (ขี้ไก่) จนแมลงสาบแทะหัว กว่าจะได้ประกันตัวและตัดสินคดีก็เกือบเอาชีวิตไม่รอด คณะดังกล่าวคงนึกแต่เพียงว่าหากมีการจับกุมในพื้นที่คงสามารถเจรจาได้เหมือนครั้งที่ผ่านๆ มา แล้วค่อยนำข่าวไปสร้างกระแส

แต่เหตุไม่คาดฝันย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ เพราะทหารกัมพูชาที่จับกุมเกิดจำนายวีระ สมความคิด ที่เคยถูกจับมาแล้วแต่ถูกปล่อยตัวพร้อมกับทำทัณฑ์บนไว้แล้วเมื่อไม่นานมานี้ กอปรกับนายวีระเองก็ถูกทางการกัมพูชาขึ้นบัญชีดำไว้แล้วเพราะด่าฮุนเซ็นไว้เยอะ การณ์จึงกลับไปเข้าล็อกทางฝ่ายกัมพูชา บุคคลทั้งเจ็ดจึงถูกส่งตัวไปยังพนมเปญพร้อมกับการถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของรัฐบาลฮุุนเซ็น

การจงใจที่จะให้ถูกทางการกัมพูชาจับกุมนั้นปรากฏชัดเจนขึ้นเป็นลำดับ ไม่ว่าจะเป็นภาพจากวิดีโอที่ถูกบันทึกไว้ ไม่ว่าจะเป็นการออกมาเรียกร้องในทันทีทันควันของขบวนการ  คลั่งชาติที่ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลไทยปะทะกับกัมพูชาเพื่อให้บานปลายให้ได้ เป้าหมายก็เพื่อให้มีการตัดความสัมพันธ์ของสองประเทศ มีการเรียกร้องให้ปิดพรมแดนเพื่อตอบโต้ จากนั้นนำไปสู่การตัดสัมพันธ์ทางการทูต และที่ร้ายที่สุดมีการเรียกร้องจากทหารเก่าหลงยุคที่ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลใช้มาตรการทางทหารออกมากดดันรัฐบาลกัมพูชาเพื่อให้ปล่อยตัวผู้ต้องหา

แต่โชคดีที่ปลุกกระแสไม่ขึ้น เพราะไม่เช่นนั้นเราอาจจะได้เห็นการคืนชีพของพวกคลั่งชาติที่กลับมายิ่งใหญ่เป็นผู้นำประชาชนบนความหายนะของประเทศ เพราะชายแดนจะถูกแปรจากสนามการค้ากลายเป็นสนามรบ ประชาชนทั้งสองประเทศอพยพหลบหนีการสู้รบกันอย่างน่าเวทนาดังปรากฏในหลายประเทศแถบอาฟริกา เราอาจจะได้เห็นผู้คนและทหาร  ชั้นผู้น้อยล้มตายด้วยเหตุผลเพียงว่าเพื่อรักษาผืนแผ่นดินที่พิพาท ตามแผนการกระหายอำนาจของกลุ่มล้าหลังคลั่งชาติพวกนี้

ทางฝ่ายรัฐบาลเองนั้นเล่านอกจากจะดำเนินนโยบายทางการทูตแบบตีสองหน้ากับประเทศเพื่อนบ้านแล้ว หลังจากที่เกิดปัญหาความกินแหนงแคลงใจกับกลุ่มการเมืองที่ส่งเสริมตัวเองให้ขึ้นสู่อำนาจ ก็พยายามเอาใจโดยการเล่นการเมืองแบบตีสองหน้าอีกเช่นกัน โดยแสร้งว่าไม่ยอมรับการกดดันทางนโยบายจากกลุ่มนี้ แต่กลับส่ง ส.ส.คนสนิทกับหัวหน้ารัฐบาลเข้าร่วมกระบวนการดังกล่าวโดยหวังเพื่อแสดงให้เห็นว่ายังมีไมตรีกันอยู่ และหวังผลทางการเมืองในเบื้องลึกคือการเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่บนสถานการณ์ความขัดแย้งในกระแสความรักชาติที่ดุเดือดเลือดพล่าน

นอกจากนั้นการพยายามปลุกกระแสคลั่งชาติโดยการยอมลงทุนให้คนของตัวเองถูกจับนั้นก็ยังหวังผลของการกลบกระแสของการเรียกร้องผลของการค้นหาความจริงกรณี 91 ศพให้เงียบลงอย่างน้อยก็ชั่วคราวในระยะเฉพาะหน้าชั่วคราวก่อนที่จะมีการเลือกตั้งใหญ่เสียก่อนหลังจากนั้นค่อยว่ากันทีหลัง เป็นแก้ผ้าเอาหน้ารอดไปวันๆ และเผื่อฟลุ้กจุดกระแสติดก็จะได้เป็นรัฐบาลเสียงข้างมากเด็ดขาดพรรคเดียวไปเลย

แต่ก็เป็นที่น่าดีใจที่คนไทยส่วนใหญ่ติดตามข่าวสารด้วยสนใจและเห็นใจผู้ถูกจับ แต่ไม่หลงกลตกเป็นเหยื่อของอุบายอันซ่อนเร้นนี้ กระแสการปลุกความรักชาติจึงไม่แปรเปลี่ยนไปเป็นกระแสความคลั่งชาติตามที่กลุ่มการเมืองและรัฐบาลมุ่งหวัง เหตุดังกล่าวนี้มิใช่คนไทยส่วนใหญ่ไม่รักชาติ แต่คนไทยในยุค “2G ครึ่ง”นี้เข้าถึงเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้หลายทางนอกเหนือจากสื่อของกลุ่มการเมืองดังกล่าวและสื่อกระแสของรัฐบาล ทำให้คนไทยได้รู้ว่าอะไรจริง อะไรเท็จ ถึงแม้ว่าจะรู้ไม่หมดทุกอย่างถึงเบื้องหลังอุบายดังกล่าวก็ตาม

แต่ที่เหนือสิ่งอื่นใดคนไทยเรารู้ว่าหากเกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชา เราก็จะเป็นเหมือนกับอีกหลายๆ ประเทศที่ตกเป็นเหยื่อของสงคราม ผู้คนบาดเจ็บล้มตายโดยไม่มีเหตุผล มีแต่ความอดอยากยากแค้น ดังปรากฏเป็นข่าวที่รับรู้กันโดยทั่วไป คนไทยเรารู้ว่าโลกยุคใหม่มิใช่ยุคชาตินิยมล้าหลังคลั่งชาติที่เมื่อเกิดความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้านนิดๆ หน่อยๆ ก็ไม่จำเป็นต้องสู้รบกันให้แตกหักกันไปข้างหนึ่งอีกต่อไปแล้ว

คนไทยรู้ว่าอย่างไรเสียเรากับประเทศเพื่อบ้านไม่ว่าจะเป็นกัมพูชา ลาวหรือพม่าและแม้แต่่มาเลเซียก็ตามเราไม่สามารถยกประเทศหนีกันไปได้ และก็หมดยุคที่จะใช้กำลังทหารเข้ายึดครองประเทศอื่นมาเป็นของตนเองอีกต่อไป ที่สำคัญก็คือแน่ใจได้อย่างไรว่าหากเรารบแล้วจะชนะ เพราะแม้แต่สหรัฐอเมริกาที่เป็นมหาอำนาจทางทหารยังรบแพ้ในสงครามเวียดนาม และกำลังแพ้อีกในสงครามอิรักจนโอบามาต้องออกนโยบายว่าจะถอนทหารเพื่อไม่ให้เสียหน้าการเป็นมหาอำนาจของตนเอง

อย่างไรก็ตามแม้ว่าไทยเราจะรบชนะแต่ก็คงหืดขึ้นคอ หรือสะบักสะบอม สูญเสียมาก แต่เราก็จะแพ้ในเวทีโลก แต่หากจะพูดแบบไม่เกรงใจละก็ทหารไทยเราห่างสมรภูมิไปนาน ต่างจากทหารกัมพูชาที่รบมาทั้งชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งทหารเขมรแดงที่ฮุนเซ็นเอามาใช้งาน ว่ากันว่าทหารกัมพูชาเชื่อว่าหากสู้กันตัวต่อตัวแล้วล่ะก็ต้องใช้ทหารไทยถึง 3 หรือ 5 คน สู้กับทหารกัมพูชาเพียงคนเดียวจึงจะเอาชนะได้

การเจรจาด้วยสันติวิธี การตกลงผลประโยชน์ร่วมกัน การเป็นเพื่อนบ้านที่มีไมตรีต่อกันต่างหากที่เป็นนโยบายที่สมประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย การได้เปรียบเสียเปรียบกันบ้างเล็กๆน้อยๆอยู่ที่ฝีมือของกระทรวงการต่างประเทศและผู้ที่เกี่ยวข้องที่จะเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งฝีมือทางด้านการต่างประเทศหรือทางการทูตของไทยก็ปรากฏเป็นเป็นที่เลื่องลือในความยอดเยี่ยมมาช้านาน ตัวอย่างที่เห็นชัดก็คือแม้แต่เราจะได้ประกาศสงครามกับฝ่ายพันธมิตรซึ่งเป็นผู้ชนะในสงครามโลกครั้งที่สอง เรายังไม่ตกเป็นประเทศที่เป็นฝ่ายแพ้สงครามเลย แต่ปัจจุบันเรากลับท้าตีท้าต่อยกับเขาไปทั่ว นับเป็นยุคที่ตกต่ำที่สุดของนโยบายการต่างประเทศของไทยเรา ซึ่งยังไม่รวมถึงการที่ให้เลขานุการรัฐมนตรีฯทำหน้าที่ให้ข่าวสำคัญๆต่อสื่อมวลชนแทนโฆษกกระทรวงฯ ทั้งๆที่ไม่มีแนวธรรมเนียมปฏิบัติทางการทูตแต่อย่างใด

ประเด็นสำคัญที่เราจะมองข้ามไปไม่ได้เลยก็คือการที่เรายอมรับคำพิพากษาของศาลกัมพูชาโดยไม่มีการอุทธรณ์ซึ่งทำให้คดีถึงที่สุด โดยความหมายก็คือเรายอมรับเขตอำนาจศาลกัมพูชาว่ามีอำนาจเหนือเขตแดนดังกล่าว ทำให้เราต้องเสียเปรียบหรืออำนาจต่อรองในการปักปันเขตแดนในภาพรวมต่อไปในอนาคต ซึ่งเข้าหลักกฎหมายปิดปากที่ทำให้เราแพ้คดีประสาทพระวิหารในศาลโลกมาแล้วในอดีต

ถึงแม้ว่านายอภิสิทธิ์จะพยายามชี้แจงว่าคำพิพากษาผูกพันเฉพาะคู่ความก็ตาม แต่ก็เป็นการพูดความจริงเพียงครึ่งเดียวเพราะแม้ว่าในคำบังคับจะผูกพันเฉพาะคู่ความหรือคู่กรณี แต่หลักกฎหมายที่ศาลได้วางไว้ย่อมเป็นแนวที่ต้องปฏิบัติตาม ดังจะเห็นได้จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ หรือคำพิพากษาของศาลปกครองที่ผ่านมา ที่สำคัญก็คือกรณีคำพิพากษา ฏีกาคดีอาชญากรสงครามหรือกรณีการยึดทรัพย์ของผู้นำรัฐบาลที่ถูกรัฐประหาร เป็นต้น

ฤาว่ารัฐบาลของนายอภิสิทธิ์จะถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ชาติไทยว่าเป็นยุคที่เราต้องเสียดินแดนให้กัมพูชาเพราะความ “คลั่งชาติ” ของคนบางกลุ่มและความ “อ่อนหัด” ของผู้นำรัฐบาลนั่นเอง

--------------------------

 
หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกใน "กรุงเทพธุรกิจ" ฉบับประจำวันพุธที่ 26 มกราคม 2554

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net