Skip to main content
sharethis

ชี้ตลาดแรงงานอีก 5 ปีสายวิชาชีพยังบูม

15 พ.ย. 53 - น.ส.นริศรา ชวาลตันพิพัทธ์ รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงศึกษาธิการได้ลงนามในบันทึกความร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา เพื่อร่วมผลิตและพัฒนาบุคลากรให้สอดคล้องกับความต้องการภาคอุตสาหกรรม ซึ่งตนได้ขอตัวเลขความต้องการแรงงานที่ชัดเจนนั้น ขณะนี้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ส่งตัวเลขความต้องการแรงงานในภาคอุตสาหกรรมหลัก 6 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหการ และเครื่องจักรกลการเกษตรมาให้แล้ว โดยพบว่าอีก 5 ปีข้างหน้า (2554-2558) ในอุตสาหกรรมทั้ง 6 กลุ่มต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น 248,862 คน คิดเป็นร้อยละ 19.26 จากการจ้างงานรวมปี 2553 จำนวน 1.29 ล้านคน ทำให้ตัวเลขการจ้างงานรวมของ 6 กลุ่มอุตสาหกรรมในปี 2558 เพิ่มเป็น 1.54 ล้านคน แบ่งเป็นระดับ ม.3 และ ม.6 จำนวน 131,628 คน คิดเป็นร้อยละ 52.89 ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) 37,829 คน คิดเป็นร้อยละ 15.20 ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) 51,813 คน คิดเป็นร้อยละ 20.82 และปริญญาตรี 27,591 คน คิดเป็นร้อยละ 11.09

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ความต้องการแรงงาน ในระดับ ปวช. และ ปวส. สาขาที่ต้องการมากที่สุดคือ สาขาช่างกลโรงงาน 49,813 คน คิดเป็นร้อยละ 55.57 รองลงมาคือ สาขาไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 17,885 คน คิดเป็นร้อยละ 19.95 และสาขาช่างยนต์ 10,356 คน คิดเป็นร้อยละ 11.55 ระดับปริญญาตรี มีความต้องการในสาขาวิศวกรรมศาสตร์ 27,591 คน โดยร้อยละ 80 ต้องการสาขาวิศวกรรมอุตสาหการ เครื่องกล ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ยานยนต์ และแมคคาทรอนิกส์ ขณะที่สาขาอื่นๆ เช่น บัญชี การเงิน กฎหมาย และงานธุรการ ต้องการเพียงร้อยละ 20 เท่านั้น และจากข้อมูลเหล่านี้แต่ละวิทยาลัยอาจต้องไปปรับในส่วนของเนื้อหาหลักสูตร การเรียนการสอนให้ 3 เดือนสุดท้ายของการเรียนนักเรียน นักศึกษาต้องเข้าฝึกงานในสถานประกอบการ เพื่อให้ ได้ประสบการณ์จริง และอาจต้องจัดสรรโควตาให้แก่ วิทยาลัยเพื่อจัดสรรนักศึกษาเข้าฝึกงานในสถานประกอบการ โดยเริ่มในภาคเรียนที่ 2/2553.

(ไทยรัฐ, 15-11-2553)

สว.โวยศธ.ไม่รับคนพิการทำงานขัดรัฐธรรมนูญ

15 พ.ย. 53 - นายมณเฑียร บุญตัน สว.สรรหา กล่าวระหว่างการประชุมวุฒิสภา ว่า อยากให้กระทรวงศึกษาธิการพิจารณาทบทวนในกรณีที่ปฎิเสธไม่ให้คนพิการเข้ามาทำ งานเป็นพนักงานcall center เพราะเป็นการบ่งบอกว่าเป็นความคิดที่ล้าหลังถือเป็นการ เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ขัดต่อเจตนารมของรัฐธรรมนูญรวมถึงพรบ.ส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการและ พันธกรณีระหว่างประเทศจึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงกระทรวงศึกษาฯและ อื่นในภาครัฐได้ดำเนินการสอบสวนดำเนินการให้เป็นไปตามเจตนารมของกฎหมาย

นายมณเฑียร กล่าวว่า ทั้งนี้ขอเรียกร้องให้รัฐบาลใช้โอกาสที่ไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมใหญ่ สามัญขององค์กรด้านคนตาบอดระดับโลก ในปีพ.ศ .2555 เพื่อแสดงศักยภาพในเวทีโลกและถือเป็นโอกาสให้คนไทยได้ต้อนรับผู้ นำคนตาบอดจากทั่วโลก และจะได้ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งนี้ขอให้รัฐบาลรวมถึงสังคมไทยได้เตรียมพร้อมในการเป็นเจ้าภาพในการเป็น เจ้าภาพในการประชุมระดับโลกในครั้งนี้ด้วย

ด้าน นายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ ส.ว. สรรหา  กล่าวว่า ฝากไปถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ดูแลเรื่องนโยบายผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย เนื่องจากรัฐบาลไม่มีนโยบายที่ชัดเจนในเรื่องนี้  ซึ่ง คนต่างด้านที่เข้ามาผิดกฎหมายรัฐบาลต้องผลักดันให้ออกไป แต่เข้าใจว่าเมื่อมีปริมาณมาก รัฐบาลจึงไม่สามารถผลักดันออกไปได้ทันที จึงอนุญาตให้ทำงาน แต่การอนุญาตให้ทำงานวันนี้ทางหน่วยงานต่างๆก็พยายามเอื้อประโยชน์ให้แรงงาน โดยออกเอกสารให้ เช่น  ใบ ขับขี่ แต่วันนี้ทำให้เกิดผลเสีย คือคนต่างด้าวไปขับรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง และเกิดมีการค้าเล็กๆ มีการเอารถพ่วงไปขายของในหมู่บ้าน ทำมาหากินแข่งกับคนไทย แย่งอาชีพคนไทย จึงขอให้นายกฯ แก้ไขเรื่องนี้ และขอความชัดเจนในเรื่องนโยบายต่างด้าวว่ารัฐบาลจะแก้ไขปัญหาอย่างไร และภาวการณ์แย่งอาชีพคนไทย ควรแร่งดำเนินการโดยเร็ว

(โพสต์ทูเดย์, 15-11-2553)

นักวิชาการชี้กระบวนการพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าวยุ่งยากทำนายจ้างละเลย

15 พ.ย. 53 - นายแล ดิลกวิทยารัตน์  ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาแรงงานและการจัดการ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงแรงงาน ดำเนินการแต่งตั้งคณะทำงานพิเศษเพื่อแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวในเรื่องการ พิสูจน์สัญชาติ  การตรวจสอบแหล่งพำนักของแรงงานต่างด้าว และให้นายจ้างรายงานทุก 3 เดือน ว่า เป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าจะให้ได้ผล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและทั่วถึง ทั้งนี้ มองว่าที่ผ่านมาแรงงานต่างด้าวไม่ใช่ตัวปัญหา ในทางกลับกันคนเหล่านี้เข้ามาเติมส่วนขาดของแรงงานฝีมือในระดับล่าง  ซึ่งถ้าไม่มีแรงงานเหล่านี้สถานประกอบการจำนวนมากอาจล้มละลายได้ ส่วนกรณีที่มีปัญหาว่าแรงงานต่างด้าวไม่ยอมเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติ นั้น ต้องยอมรับว่าปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากขั้นตอนการขอใบอนุญาตมีความยุ่งยากเกิน ไป และเสียค่าใช้จ่ายมาก ในการพาแรงงานต่างด้าวไปขึ้นทะเบียน ทำให้นายจ้างจำนวนไม่น้อยไม่นิยมพาแรงงานต่างด้าวไปจดทะเบียน จึงกลายเป็นที่มาของแรงงานเถื่อน ลักลอบทำงานอยู่ในประเทศไทยจำนวนมาก

(สำนักข่าวไทย, 15-11-2553)

ครม.เศรษฐกิจเห็นชอบเพิ่มงบช่วยแรงงานเจออุทกภัย

15 พ.ย. 53 - นายธราดล เปี่ยมพงศ์สานต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจมีมติเห็นชอบอนุมัติงบกลาง ของงบประมาณปี 2554 ในส่วนของเงินสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉิน ให้กับกระทรวงแรงงานเพิ่มเติม จากเดิม 139 ล้านบาท เพิ่มเป็น 406 ล้านบาท เพื่อนำไปดำเนินโครงการจ้างงานเร่งด่วนและพัฒนาทักษะฝีมือเพื่อบรรเทาความ เดือนร้อนด้านอาชีพ ให้กับแรงงานผู้ประสบภัยน้ำท่วม โดยเฉพาะแรงงานที่อยู่ในท้องถิ่นควรได้รับการช่วยเหลือในลำดับแรก

การดำเนินการดังกล่าว เป็นภารกิจปกติของหน่วยงาน ซึ่งคณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้มีมติให้หน่วยงานต่างๆไปพิจารณาปรับงบประมาณประจำ ปี 2554 ในสัดส่วน 5-10% มาทำภารกิจช่วยเหลือฟื้นฟูน้ำท่วมก่อน ซึ่งเรื่องนี้ครม.ได้เคยมีมติให้กระทรวงแรงงานไปเร่งสำรวจผู้ถูกเลิกจ้าง จากสาเหตุน้ำท่วม เพื่อจะได้หาทางช่วยเหลือได้อย่างเหมาะสมก่อนหน้านี้แล้วนายธาราดลกล่าว

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายให้กระทรวงต่างๆ ไปดำเนินการเกลี่ยงบประมาณ จากงบประจำประมาณ 5-10% เพื่อนำมาใช้ในการดำเนินการช่วยเหลือผลกระทบน้ำท่วมและฟื้นฟูผลกระทบน้ำท่วม ก่อน

(โพสต์ทูเดย์, 15-11-2553)

ภาคเอกชนจี้รัฐเร่งเปิดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวรอบใหม่

15 พ.ย. 53 - ในการประชุมเพื่อระดมความเห็นและข้อเสนอจากภาคธุรกิจต่อการเปิดจดทะเบียนแรง งานข้ามชาติรอบใหม่ บทเรียนและข้อท้าทาย ที่จัดโดย มูลนิธิรักษ์ไทย มีตัวแทนผู้ประกอบการประมง  สภาอุตสาหกรรม หอการค้า จากจังหวัดต่างๆ เข้าร่วม โดยทุกฝ่ายเห็นตรงกันที่จะให้มีการเปิดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวรอบใหม่ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในปัจจุบัน         
 
น.ส.วรรณดี ศรีบัวเอี่ยม ประธานชมรมผู้ประกอบการผู้ใช้แรงงานข้ามชาติ จ.สมุทรสาคร กล่าวเรียกร้องให้รัฐบาลรีบเปิดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวรอบใหม่โดยเร็วที่ สุด เนื่องจากการนำเข้าแรงงานแบบถูกกฎหมายตามที่กระทรวงแรงงานกำหนด ให้ใช้วิธีเอ็มโอยู ไม่สามารถทำได้จริง และล่าช้า ปีที่ผ่านมาเคยไปแจ้งความจำนง ขอนำเข้าแรงงานต่างด้าว 50,000 คน แต่ถึงวันนี้ได้แรงงานแค่หลักร้อย และต้องการให้เปิดขึ้นทะเบียนใหม่ โดยไม่จำกัดเฉพาะผู้ที่เคยขึ้นทะเบียน หรือเคยมี ทร.38/1 เท่านั้น เพราะบางส่วนหนีกลับประเทศไปแล้ว แต่แรงงานใต้ดินจำนวนมากในขณะนี้ ไม่เคยขึ้นทะเบียนมาก่อน รวมถึงเปิดขึ้นทะเบียนให้ผู้ติดตามด้วย
 
ขณะที่ นายศรัณย์ณัฐ ประมงทรัพย์ รองประธานสมาคมประมงภาคกลาง กล่าวว่า ขณะนี้ ผู้ประกอบการประมงกำลังเดือดร้อนแสนสาหัสกับการขาดแคลนแรงงาน เห็นด้วยที่ให้มีการขึ้นทะเบียนรอบใหม่ แต่ต้องการให้แยกการจดทะเบียนจากกิจการประเภทอื่น เพราะหากเป็นแรงานที่มาอย่างถูกต้องตามกฎหมายก็จะไม่ยอมทำประมง หรือทำแล้วหนีไปทำงานอื่น หากปล่อยเป็นรูปแบบเดิม เชื่อว่าผู้ประกอบการประมง 22 จังหวัด ชายฝั่งทะเลคงจะไม่ร่วมด้วย  เพราะแก้ปัญหาไม่ตรงจุด เนื่องจากกลุ่มกิจการประมงมีการเคลื่อนย้ายงานบ่อย และเสนอให้ขึ้นทะเบียนได้ตลอดปี หรือใช้ระบบโควตาแรงงานเข้ามาแทน
 
นางรุ่งอรุณ  บุญรอด รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรม จ.สมุทรสาคร กล่าวเรียกร้องให้รัฐบาล ลดขั้นตอนในการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวและการพิสูจน์สัญชาติให้น้อยลง ที่ผ่านมาขั้นตอนยุ่งยาก เป็นอุปสรรค ที่สำคัญยังมีค่าใช้จ่ายสูง  ทำให้แรงงานต่างด้าวและผู้ประกอบการบางส่วนโดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดเล็กไม่ อยากให้ความร่วมมือ

(สำนักข่าวไทย, 15-11-2553)

ระยองปิดล้อมชุมชนจับแรงงานต่างด้าว

18 พ.ย. 53 - กำลังฝ่ายปกครองสนธิกำลังกับตำรวจเมืองระยอง ปิดล้อมตรวจค้นชุมชนย่านปากน้ำระยอง แหล่งชุมชนแพร่ระบาดของยาเสพติด เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมชาวกัมพูชาได้ 15 คน ตรวจสอบเอกสารไม่มีใบอนุญาตเข้าทำงาน ส่วนชาวไทยอีก 13 คน จากการตรวจสอบปัสสาวะพบเป็นสีม่วง จึงส่งทั้งหมดดำเนินคดีตามกฎหมาย

สำหรับการตรวจค้นครั้งนี้เป็นไปตาม มาตรการป้องปรามยาเสพติดของ จ.ระยอง เพื่อประกาศสงครามกับยาเสพติด โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงการแพร่ระบาดของยาเสพติดชุมชนปากน้ำระยอง ทั้งยังเป็นแหล่งกบดานของแรงงานต่างด้าวอีกด้วย

(สำนักข่าวไทย, 18-11-2553)

สปส. แนะผปต. รู้ว่างงาน รีบขึ้นทะเบียนด่วนหากเกิน 30 วัน รับประโยชน์ทดแทนไม่ครบถ้วน

18 พ.ย. 53 - สำนักงานประกันสังคม (สปส.) แนะผู้ประกันตนที่ถูกเลิกจ้างหรืออกจากงานให้รีบขึ้นทะเบียนหางาน ณ สำนักจัดหางานของรัฐภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ลาออกหรือถูกเลิกจ้าง เพื่อรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน หากขึ้นทะเบียนล่าช้าจะได้รับประโยชน์ทดแทนไม่ครบถ้วน

สำนักงานประกันสังคม (สปส.) แนะผู้ประกันตนซึ่งถูกเลิกจ้างหรือลาออกจากงานโดยได้นำส่งเงินสมทบกองทุน ประกันสังคมมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายใน 15 วัน ก่อนการว่างงานควรรีบไปขึ้นทะเบียนหางานที่สำนักจัดหางานของรัฐภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ถูกเลิกจ้างหรือลาออกจากงาน หากขึ้นทะเบียนล่าช้าเกิน 30 วัน ประโยชน์ทดแทนที่ได้รับจะลดลงตามระยะเวลาที่ยื่นล่าช้า โดยเตรียมหลักฐานได้แก่ รูปถ่ายขนาด 1 นิ้ว 2 รูป บัตรประจำตัวประชาชน หนังสือรับรองการออกจากงาน หรือคำสั่งของนายจ้างให้ออกจากงาน และสำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์หน้าแรกซึ่งมีชื่อและเลขที่ บัญชีของผู้ประกันตน

สำหรับประโยชน์ทดแทนที่ผู้ประกันตน ว่างงานได้รับความช่วยเหลือได้แก่ การบริการจัดหางาน การฝึกอบรมฝีมือแรงงาน โดยผู้ประกันตนจะได้รับการประสานจากเจ้าหน้าที่หากมีตำแหน่งงานที่ เหมาะสม หรืออาจได้รับการฝึกพัฒนาฝีมือแรงงานหากจำเป็นและผู้ประกันตนจะต้องไปรายงาน ตัวต่อสำนักจัดหางานของรัฐเดือนละ 1 ครั้ง ตามวันเดือนปีที่สำนักงานจัดหางานนัดหมาย

ทั้งนี้การจ่ายเงินทดแทนระหว่างว่าง งานกรณี่ถูกเลิกจ้างจะได้รับเงินทด แทนร้อยละ ร้อยละ 50 ของค่าจ้างที่นำส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคม ครั้งละไม่เกิน 180 วันใน 1 ปี ส่วนกรณีที่ผู้ประกันตน ลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาในการจ้างไว้แน่นอน จะได้รับเงินทดแทนร้อยละ 30 ของค่าจ้างที่นำส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคมในระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน โดย สปส.จะจ่ายเงินทดแทนโดยการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของผู้ประกันตนเป็นราย เดือน หากผู้ประกันตนกลับเข้าทำงานในสถานประกอบการหรือปฏิเสธงานที่จัดหาให้ และไม่ไปรายงานตัวตามที่กำหนด สปส.จะงดจ่ายประโยชน์ทดแทนทันที

หากผู้ประกันตนประสงค์จะใช้สิทธิ ประกันสังคมต่อไป สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตน โดยสมัครตามมาตร 39 โดยยื่นแบบคำขอเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 (สปส.1-20) ด้วยตนเองได้ที่สำนักงานประกันสังคมทุก แห่งทั่วประเทศ ภายในระยะเวลา 6 เดือน นับแต่วันที่สิ้นสุดสภาพการเป็นลูกจ้าง ซึ่งจะได้รับความคุ้มครอง 6 กรณี  ได้แก่ ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย ไม่เนื่องจากการทำงาน คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร และชราภาพ โดยผู้ประกันตนจะนำส่งเงินสมทบในอัตราเดือนละ 432 บาท

มีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลได้ที่สำนัก งานประกันสังคมเขต พื้นที่/จังหวัด/สาขาที่ท่านสะดวก (เจ้าหน้าที่ให้บริการทุกวัน เวลา 07.00-19.00 น.ระบบโทรศัพท์ตอบรับอัตโนมัติให้บริการ 24 ชั่วโมง
ศูนย์สารนิเทศ สอบถามข้อมูลประกันสังคม
โทร.1506 www.sso.go.th

(บ้านเมือง, 18-11-2553)

คนงานกู๊ดเยียร์ 500 คนประท้วงโดนห้ามเข้าพื้นที่

18 พ.ย. 53 - นายวาสุเทพ บุญคุ้ม คณะกรรมการกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิต เปิดเผยกับโพสต์ทูเดย์ว่าคนงานบริษัท กู๊ดเยียร์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ประมาณ 400-500 คนได้รวมตัวประท้วงนายจ้างหน้าโรงงานย่าน กม.ที่ 35 ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานีเนื่องจากถูกนายจ้างปิดประตูไม่ให้เข้าพื้นที่ตั้งแต่ 07.00 น.จนถึงขณะนี้( 16.00 น.)

สาเหตุที่นายจ้างปิดประตูเนื่อง จากกลุ่มคนงานได้ยื่นข้อเรียกร้องเกี่ยว กับสภาพการจ้างงาน 15 ข้อ เช่น ขอให้ จ่ายเงินโบนัสกลางปีเป็นจำนวน 2.5 หมื่นบาท ขอให้จ่ายเงินสมนาคุณพิเศษเป็นจำนวน 2 หมื่นบาท ขอให้บริษัทจัดสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลให้กับพนักงานที่เกษียณอายุต่ออีก 5 ปี ฯลฯ

การเจรจาเริ่มขึ้นตั้งแต่เดือน ก.ค.ผ่านมา 4 เดือนเจรจาไป 12 ครั้งแต่ยังไม่สามารถตกลงกันได้ และการไกล่เกลี่ยครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 10 พ.ย. ที่ผ่านมาก็ไม่มีความคืบหน้าเพราะนายจ้างไม่ยอมส่งตัวแทนที่มีอำนาจในการ ตัดสินลงมาเจรจา

ดังนั้นกลุ่มคนงานจึงเตรียมตัวนัด หยุดงานประท้วงในเวลา 17.00 น.ของวันนี้ แต่นายจ้างได้สั่งให้ลูกจ้างที่เป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานที่มาทำงานกะเช้า ไม่ต้องเข้าโรงงาน โดยยินดีจ่ายค่าจ้างโดยไม่ต้องทำงาน ทำให้คนงานต้องชุมนุมชี้แจงกันอยู่หน้าบริเวณบริษัทฯรอการเจรจากับทางนาย จ้างเพื่อหาข้อยุติต่อไป โดยขณะนี้แรงงานจังหวัดปทุมธานีกำลังเข้าไปเจรจาหาข้อยุติกับนายจ้างภายใน โรงงานแล้ว

(โพสต์ทุเดย์, 18-11-2553)

บี้ทหารเคลียร์พม่ารับการตั้งเขตอุตสาหกรรม

18 พ.ย. 53 - นายชัยวุฒิ  บรรณวัฒน์  รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยในงานสัมมนา ก้าวต่อไปของอุตสาหกรรมไทย บนมิติของความไว้วางใจว่า อยู่ระหว่างหารือกับฝ่ายความมั่นคงของไทยเกี่ยวกับแนวทางการสร้างความมั่นใจ แก่นักลงทุนและประชาชนในพื้นที่ชายแดนไทยกับประเทศพม่า เนื่องจากกระทรวงอุตสาหกรรมกำลังศึกษารูปแบบการจัดตั้งเขตอุตสากรรมพิเศษตาม แนวชายแดนที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตากในพื้นที่ 5,000 ไร่ เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยไปตั้งโรงงานบริเวณชายแดนและใช้แรงงานจาก ประเทศพม่า ซึ่งจะช่วยการส่งสินค้าไปยังอินเดียและยุโรปได้สะดวกโดยไม่ต้องอ้อมผ่าน ประเทศสิงคโปร์
  
เหตุการณ์ต่อสู้กันระหว่างชนกลุ่มน้อยกับทหารพม่าจนชาวบ้านต้อง อพยพเข้ามา อยู่ในอำเภอแม่สอดกว่า 10,000 รายได้สร้างความกังวลต่อนักลงทุนอย่างมากถึงความปลอดภัย ซึ่งการดำเนินการจัดเขตอุตสาหกรรมคงพิจารณาอย่างรอบคอบแม้ว่าในช่วงที่ผ่าน มาที่ประชุมครม. ได้อนุมัติหลักการแล้วก็ตาม
  
ทั้งนี้ยอมรับว่าอุตสาหกรรมหลายประเภทไม่สามารถที่ตั้งในประเทศไทย ได้แล้ว เพราะจะถูกชุมชนต่อต้าน ส่งผลให้ผู้ประกอบการเริ่มไปตั้งโรงงานบริเวณชายแดนไทยกับเพื่อนบ้านหรือไป ลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่หรือโครงการไฟฟ้านิวเคลียร์ในอนาคต คงจะยากที่จะมาตั้งโรงงานได้ ล่าสุดผู้ผลิตไฟฟ้าก็นำร่องในการลงทุนประเทศลาวแล้วส่งไฟฟ้ามาจำหน่ายในไทย หรือซื้อก๊าซธรรมชาติจากพม่ามาผลิตไฟฟ้าในไทย เป็นต้น

(เดลินิวส์, 18-11-2553)

รมว.แรงงาน สั่ง สปส. เร่งเจรจา รพ.ให้ผู้ประกันตน รักษาได้ทุกแห่ง

19 พ.ย. 53 - นายเฉลิมชัย  ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้นายปั้น วรรณพินิจ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เร่งเจรจาเชื่อมโยงเครือข่ายโรงพยาบาลต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ประกันตนสามารถเข้ารับบริการในโรงพยาบาลใดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเข้าโรงพยาบาลหลักที่ลงทะเบียนไว้เพียงอย่างเดียว ทั้งนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้ประกันตนสามารถใช้บริการโรงพยาบาลในสังกัดได้อย่าง อิสระ ส่วนปัญหากรณีการปฏิเสธการรักษาของโรงพยาบาล ในโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงนั้น ได้ให้คณะกรรมการแพทย์ตรวจสอบสถิติการรักษาย้อนหลัง 3 ปี เพื่อหาตัวเลขผู้ป่วยโรคค่าใช้จ่ายสูง ว่ามีจำนวนเท่าใด เพื่อนำมาคำนวณหาอัตราค่าใช้จ่ายรายหัว

ทั้งนี้ เชื่อว่าเมื่อทราบตัวเลขที่ชัดเจน อัตราค่าใช้จ่ายรายหัวจะลดลงกว่าร้อยละ 40-50 ซึ่งจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน 2554 นอกจากนี้ยังได้มอบหมายให้ สปส.หารือกับกระทรวงสาธารณสุข ที่จะให้สถานีอนามัยทุกตำบล เป็นศูนย์กลางการรักษาผู้ประกันตนที่อยู่ในชุมชนต่าง ๆ ในโรคพื้นฐานทั่วไป ที่แพทย์สามารถให้การรักษาในเบื้องต้นได้ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกันตน

(สำนักข่าวไทย, 19-11-2553)

เครือข่ายลูกจ้างขู่ยกพวก 5 พันคนกดดันบอร์ดค่าจ้างกลาง

19 พ.ย. 53 - เวลา 10.00 น. นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าเครือข่ายลูกจ้างเตรียมยกขบวนผู้ใช้แรงงานประมาณ 5-6 พันคนไปกดดันที่กระทรวงแรงงานในวันที่คณะกรรมการค่าจ้างกลางจะประชุมพิจารณา ตัวเลขค่าจ้างขั้นต่ำเพื่อแสดงจุดยืนเรียกร้องให้ปรับเพิ่มตัวเลขเพิ่มเป็น 10 บาททุกจังหวัดทั่วประเทศในวันที่ 1 ม.ค. 2554 จากปัจจุบันที่คณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรองค่าแรงขั้นต่ำเสนอตัวเลขที่ 5, 7 และ 10 บาท (จังหวัดที่ได้เพิ่ม 10 บาทมีจังหวัดเดียวคือภูเก็ต)

เราทำแบบสอบถามไปยังสหภาพแรงงาน ต่างๆประมาณพันชุดและกว่า 80% ตอบกลับมาว่าพอใจที่ตัวเลข 421 และ 250 บาทแต่มองว่าคงเป็นไปได้ยากดังนั้นถ้าปรับขึ้นอีก 10 บาทก็ถือว่าน่าพอใจ แต่จากการสอบถามตัวแทนลูกจ้างในคณะอนุกรรมการฯพบว่ามีการหารือว่าจะขยับขึ้น อีกเป็น 8.5 บาทซึ่งก็ยังเป็นตัวเลขที่รับไม่ได้อยู่ดี ดังนั้นเราจะขอแรงจากสหภาพแรงงานแห่งละ 10-20 คนมารวมตัวกันกดดันกรรมการค่าจ้างกลางในวันที่มีประชุมนายมนัสกล่าว

ขณะเดียวกันยังเรียกร้องให้แบ่งโซน ค่าจ้างออกเป็น 3 โซนในปี 2555 เนื่องจากปัจจุบันอัตราค่าจ้างในแต่ละจังหวัดต่างกันถึง 29 ระดับ ขณะที่อัตราค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้นและมีราคาใกล้เคียงกันทั้งประเทศ แรงงานที่อยู่ต่างจังหวัดกลับได้ค่าแรงต่ำกว่าส่วนกลางซึ่งหากโรงงานไม่มี สวัสดิการสนับสนุนการดำรงชีวิต มีแต่ค่าแรงขั้นต่ำอย่างเดียวคนที่เป็นลูกจ้างจะอยู่ไม่ได้

สำหรับการประชุมของคณะกรรมการค่า จ้างกลางครั้งล่าสุดมีขึ้นวันที่ 12 พ.ย. ที่ผ่านมา โดยกรรมการมีมติให้คณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรองกลับไปทบทวนตัวเลขใหม่ เนื่องจากอัตราที่เสนอมายังถือว่าไม่ทำให้คุณภาพชีวิตผู้ใช้แรงงานดีขึ้น โดยอนุกรรมการฯจะประชุมอีกครั้งในวันที่ 22 พ.ย.นี้ ส่วนคณะกรรมการค่าจ้างกลางยังไม่มีกำหนดเวลาแน่ชัดสำหรับการประชุมครั้งต่อ ไป

(โพสต์ทูเดย์, 19-11-2553)

กู๊ดเยียร์ขอเวลาถึงบ่าย 3 โมงให้คำตอบลูกจ้าง

นายวาสุเทพ บุญคุ้ม คณะกรรมการกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิต เปิดเผยว่า ภายหลังการชุมนุมเป็นวันที่ 2 ของกลุ่มคนงานบริษัท กู๊ดเยียร์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เพื่อเรียกร้องให้สภาพการจ้างงานให้ดีขึ้น ล่าสุดฝ่ายนายจ้างได้ขอเวลาหารือกับผู้บริหารระดับสูงและสัญญาว่าจะให้คำตอบ ที่ชัดเจนภายในเวลา 15.00 น.ของวันนี้ว่าจะยอมรับข้อเสนอของฝ่ายลูกจ้างหรือไม่

ทั้งนี้ หากนายจ้างยืนยันว่าไม่สามารถรับข้อเสนอของลูกจ้างได้ คณะกรรมการสหภาพแรงงานจะได้ประชุมหาแนวทางเคลื่อนไหวกดดันต่อไปและต้องหารือ กับนักกฎหมายด้วยว่าจะได้รับผลกระทบจากพรก.ฉุกเฉินฯและกลุ่มเสื้อแดงที่มี การเคลื่อนไหวในวันนี้หรือไม่ อย่างไรก็ตามยืนยันว่าประท้วงยืนชุมนุมเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมายเพราะ ชุมนุมบนทางเท้าและไม่ได้ลงไปปิดถนนแต่อย่างใด สาเหตุที่รถติดเนื่องจากผู้สัญจรชลอรถดูการชุมนุม

ทั้งนี้ ผู้ชุมนุมดังกล่าวเริ่มการประท้วงหน้าโรงงานตั้งแต่เวลา 7.00 น.ของวันที่ 18 พ.ย. ที่ผ่านมา

(โพสต์ทูเดย์, 19-11-2553)

ผลสำรวจพบ 8 อาชีพเงินเดือนเกินแสน

19 พ.ย. 53 - นายบุญเลิศ ธีระตระกูล ผู้อำนวยการกองวิจัยตลาดแรงงาน กรมการจัดหางาน เปิดเผยว่าจากการสำรวจข้อมูลอาชีพที่ทำรายได้สูงที่สุดปี 2552 พบว่าผู้บริหารในระดับผู้จัดการในธุรกิจต่างๆเป็นอาชีพเฉลี่ยต่อเดือนสูงติด ลำดับต้นๆของประเทศ ขณะที่อาชีพที่ต้องใช้ทักษะเฉพาะมีอาชีพนักบิน วิศวกร ผู้พิพากษา สถาปนิก นักคณิตศาสตร์และแพทย์ติดอันดับ 20 อาชีพที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนสูงที่สุดด้วย

สำหรับอาชีพที่มีรายได้เกิน 1 แสนบาท/เดือนมี 8 อาชีพประกอบด้วย 1.อาชีพนักบิน 2.41 แสนบาท 2.วิศวกรเหมืองแร่และนักโลหะการ 2.35 แสนบาท 3.ผู้จัดการฝ่ายโฆษณาและประชาสัมพันธ์ 1.53 แสนบาท 4.กรรมการและผู้บริหารระดับสูง 1.38 แสนบาท 5.ผู้พิพากษา 1.21 แสนบาท 6. อาชีพสถาปนิกรายได้ 1.17 แสนบาท 7.ผู้บริหารองค์การนายจ้าง-ลูกจ้าง 1.06 แสนบาท และ 8.วิศวกรเคมี 1.05 แสนบาท

เป็นที่น่าสังเกตว่าอาชีพผู้จัดการ ฝ่ายโฆษณาและประชาสัมพันธ์เป็นอาชีพที่มีรายได้สูงกว่ากรรมการและผู้บริหาร ระดับสูง และจำนวนก็มีน้อยกว่าคือผู้จัดการฝ่ายโฆษณามีประมาณ 3,700 คน ส่วนกรรมการและผู้บริหารระดับสูงมีถึง 1.6 หมื่นคน

สำหรับอาชีพที่มีรายได้ในช่วง 6 หมื่น-1 แสนบาทมี 12 อาชีพ ในจำนวนนี้อาชีพผู้จัดการฝ่ายจัดหาและจำหน่ายสินค้ามีระดับรายได้สูงที่สุด ในบรรดาอาชีพระดับผู้จัดการด้วยกัน และพบว่าอาชีพนักคณิตศาสตร์มีรายได้สูงกว่าแพทย์

โดยผู้จัดการฝ่ายจัดหาและจำหน่าย สินค้ามีรายได้ 8.5 หมื่นบาท นักคณิตศาสตร์ 7.3 หมื่นบาท ผู้จัดการฝ่ายผลิตและปฏิบัติการด้านการบริการทางธุรกิจ 7 หมื่นบาท แพทย์ 6.9 หมื่นบาท ผู้จัดการฝ่ายผลิตและปฏิบัติการด้านผลิต 6.7 หมื่นบาท ผู้จัดการฝ่ายอื่นๆซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ 6.6 หมื่นบาท

ผู้จัดการทั่วไปด้านการผลิต 6.4 หมื่นบาท ผู้จัดการฝ่ายวิจัยและพัฒนา 6.4 หมื่นบาท ผู้จัดการทั่วไปด้านการเกษตร 6.3 หมื่นบาท ผู้จัดการทั่วไปด้านการก่อสร้าง 6.2 หมื่นบาท ผู้จัดการทั่วไป 6.2 หมื่นบาท และข้าราชการอาวุโส 6.2 หมื่นบาท

(คมชัดลึก, 19-11-2553)

ดึงแรงงานต่างด้าวเข้าประกันสังคม

19 พ.ย. 53 - สำนักงานประกันสังคม (สปส.) แจงหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียน และการให้ความคุ้มครอง ลูกจ้างแรงงานต่างด้าวสัญชาติ ลาว กัมพูชา และพม่า ที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ เข้ามาทำงานถูกกฎหมาย ต้องขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน พร้อมทั้งจ่ายเงินสมทบ รับสิทธิประโยชน์ 7 กรณี

สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ให้นายจ้างที่มีแรงงานต่างด้าวสัญชาติ ลาว กัมพูชา และพม่า ที่เดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทย ต้องผ่านการพิสูจน์สัญชาติ และมีเอกสารใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) หนังสือเดินทาง (Passport) หรือเอกสารแสดงตัวแทนหนังสือเดินทาง แจ้งขึ้นทะเบียนเป็นลูกจ้างตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 และเป็นผู้ประกันตนตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ลูกจ้างได้รับหลักฐานเอกสารครบถ้วน โดยจะยกเว้นไม่ขึ้นทะเบียน กรณีเป็นลูกจ้างของกิจการเพาะปลูก ประมง ป่าไม้ และเลี้ยงสัตว์ ซึ่งมิได้ใช้ลูกจ้างตลอดปี และไม่มีงานลักษณะอื่นรวมอยู่ด้วย กรณีลูกจ้างของนายจ้างที่จ้างไว้เพื่อทำงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราว เป็นการจร หรือเป็นไปตามฤดูกาล กรณีลูกจ้างของนายจ้างที่เป็นบุคคลธรรมดาซึ่งงานที่ลูกจ้างทำนั้นมิได้มีการ ประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย กรณีเป็นลูกจ้างของนายจ้าง ซึ่งประกอบการค้าเร่ หรือการค้าแผงลอย กรณีเป็นลูกจ้างซึ่งทำงานเกี่ยวกับงานบ้านอันมิได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ ด้วย

สำหรับอัตราการนำส่งเงินสมทบกองทุน ประกันสังคม กำหนดให้ผู้ประกันตนต้องนำส่งเงินสมทบในอัตรา 5 % จากค่าจ้างรายเดือน ซึ่งค่าจ้างที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบ ของผู้ประกันตน กำหนดเป็นจำนวนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1,650 บาท และไม่เกินเดือนละ 15,000 บาท  ทั้งนี้ เมื่อลูกจ้างซึ่งเป็นแรงงานต่างด้าวได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนตามพระราช บัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 และได้นำส่งเงินสมทบจะได้รับความคุ้มครองใน 7 กรณี ได้แก่ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพลภาพ ตาย คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และว่างงาน

มีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลได้ที่สำนัก งานประกันสังคมเขต พื้นที่/จังหวัด/สาขา ที่ท่านสะดวก หรือโทร.1506 (เจ้าหน้าที่ให้บริการทุกวัน เวลา 07.00-19.00 น. ระบบโทรศัพท์ตอบรับอัตโนมัติให้บริการ 24 ชั่วโมง) ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.sso.go.th

(โพสต์ทูเดย์, 19-11-2553)

มาเลย์ปล่อย 38 แรงงานไทยลักลอบเข้าเมือง (ไอเอ็นเอ็น, 20-11-2553)

20 พ.ย. 53 - สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสงขลา ร่วมกับ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง รับตัวแรงงานไทย จำนวน 38 คน ที่ถูกจับกุมในประเทศมาเลเซีย เนื่องจากลักลอบเข้าเมือง และทำงานโดยผิดกฎหมาย โดยแรงงานไทยทั้งหมด ได้เดินทางกลับประเทศ ทางด่านพรมแดนสะเดา อ.สะเดา จ.สงขลา ท่ามกลางความยินดีที่ได้กลับประเทศ และสามารถมาร่วมฉลองเทศกาลลอยกระทงที่บ้านเกิด หลังจากที่ทางการมาเลเซีย ได้ยอมปล่อยตัวตามการร้องขอของทางการไทย หลังจากที่ถูก สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองประเทศมาเลเซีย จับกุมในข้อหาลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย และไม่มีหนังสือเดินทาง และเข้าไปทำงานอาชีพรับจ้าง มีทั้งที่ลักลอบเข้าประเทศมาเลเซีย ด้วยความสมัครใจและถูกหลอกลวง และหลังจากถูกปล่อยตัว กรมสิทธิและเสรีภาพฯ กงสุลไทย ประจำประเทศมาเลเซีย ได้ออกหนังสือเดินทางให้กับแรงงานไทย ทั้ง 38 คน เพื่อเดินทางกลับเข้าสู่บ้านเกิด โดยกลุ่มแรงงานไทย ส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาอยู่ในภาคเหนือ และภาคอีสาน

(ไอเอ็นเอ็น, 20-11-2553)

ปรับค่าจ้าง 250 บาท คลังเผยกระทบต้นทุน-ฉุดจีดีพี 0.58%

21 พ.ย. 53 - รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้ศึกษาถึงผลกระทบของการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำต่อเศรษฐกิจไทยหลังจากที่ รมว.คลังได้สั่งการให้ศึกษาถึงความเหมาะของอัตราค่าจ้างขั้น ต่ำที่เหมาะสม และรัฐบาลต้องการให้ปรับแบบก้าวกระโดดมาอยู่ที่วันละ 250 บาททั่วประเทศ เนื่องจากเห็นว่าแม้เศรษฐกิจไทยจะมีการขยายตัวในระดับสูง แต่ยังมีปัญหาเชิงโครงสร้างและการกระจายรายได้ของประชาชน

ทั้งนี้ในผลการศึกษาได้ประเมินผล กระทบของการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำในหลายกรณี จากปัจจุบันค่าจ้างขั้นต่ำใน กทม. อยู่ที่ 206 บาทต่อวัน และเฉลี่ยของทั้งประเทศอยู่ที่ 165.3 บาทต่อวัน ซึ่งหากมีการปรับค่าจ้างขั้น ต่ำเพิ่ม 44 บาท มาอยู่ที่ 250 บาทต่อวันตามข้อเสนอของรัฐบาล จะทำให้กระทบต่อจีดีพี 0.58% และอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นจากกรณีฐานอีก 3.75% ต่อปี

นอกจากนี้ ผลการศึกษายังระบุว่าการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้น ต่ำ จะมีผลต่อเศรษฐกิจในระดับมหภาคและต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการแข่งขันของไทย แต่ภาคอุตสาหกรรมจะได้รับผลกระทบไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของการใช้แรงงาน โดยอุตสาหกรรมที่น่าจะได้รับผลกระทบมาก คือ อุตสาหกรรมบริการ ค้าปลีกและค้าส่ง เนื่องจากมีสัดส่วนของการใช้แรงงานสูง

แหล่งข่าวจาก สศค.ระบุว่า การศึกษาผลกระทบการปรับค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้ เป็นเพียงผลการวิเคราะห์เท่านั้นได้ระบุถึงอัตราค่าจ้างที่เหมาะสม เพราะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการค่าจ้างเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสม แต่อาจจะนำไปเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจได้ โดยสศค.เห็นว่าควรมีการปรับค่าจ้างที่ สอดคล้องกับภาวะค่าครองชีพที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น และเพื่อเป็นการลดช่องว่างของรายได้ในตลาดแรงงาน ซึ่งนอกจากรัฐบาลจะดูแลแรงงานในระบบกว่า 2 ล้านคนแล้ว ควรจะให้ความสำคัญกับแรงงานนอกระบบที่มีจำนวนมากถึง 24 ล้านคนด้วย โดยเน้นให้การช่วยเหลือในด้านสวัสดิการและให้หลักประกันรายได้

(คมชัดลึก, 21-11-2553)

ภาครัฐไกล่เกลี่ยเหลวนายจ้างกู๊ดเยียร์ประกาศปิดงานต่อเฉพาะสหภาพแรงงาน ลูกจ้างชุมนุมรอเจรจา

เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2553 เวลา ประมาณ 19.00 น. นายพงษ์ศักดิ์  เปล่งแสง ตำแหน่งที่ปรึกษา รมว.กระทรวงแรงงาน และนายดำรงค์  เปรมสวัสดิ์ หัวหน้า กรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน จังหวัดปทุมธานี ได้มาเป็นคนกลางเข้าร่วมเจรจาไกล่เกลี่ยระหว่างนายจ้าง บริษัทกู๊ดเยียร์(ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ตั้งอยู่เลขที่ 50/9 หมู่ 3 ถ.พหลโยธิน กม. 36 ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี และสภาพแรงงานคนทำยางแห่งประเทศไทย แต่ยังหาข้อยุติการเจรจาในครั้งนี้ไม่ได้
 
เช้าวันที่ 19 พฤศจิกายน 2553 นายสมภพ มาลีแก้ว นักวิชาการแรงงาน ชำนาญการพิเศษ กระทรวงแรงงาน และ นายสมใจ อภิรมย์ เจ้าหน้าที่กรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน จังหวัดปทุมธานี ได้เข้าร่วมเจรจาระหว่างนายจ้างบริษัท กู๊ดเยียร์ และ นายอรรคพล ทองดีเลิศ ประธานสหภาพคนทำยางแห่งประเทศไทย ก็ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ และทางนายสมภพ แจ้งให้มีเจรจาอีกครั้งในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2553 เวลา 09.00 น. ณ กรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน จังหวัดปทุมธานี
 
ต่อมาในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2553 เวลาประมาณ 18.00 น. ทางบริษัท กู๊ดเยียร์ ได้ประกาศปิดงานสมาชิกสหภาพคนทำยางแห่งประเทศไทย มีผลบังคับใช้ ณ วันที่ 22 พฤศจิกายน 2553 และนายอรรคพล ทองดีเลิศ ได้แถลงการณ์กับสมาชิกคนทำยางฯ ว่าทางบริษัทประกาศปิดงานสมาชิกสหภาพฯ แล้ว

นายสมยศ บุญเนตร รองประธานสหภาพแรงงานคนทำยางแห่งประเทศไทยกล่าวว่า ขณะนี้นายจ้างได้ใช้มาตรการประกาศปิดงานเฉพาะส่วนที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน คนทำยาง ซึ่งมีอยู่จำนวน 600 กว่าคน รวมทั้งพนักงานลูกจ้างชั่วคราวของบริษัทอีกราว 100 คน ที่สหภาพแรงงานได้เปิดรับเป็นสมาชิก ปัจจุบันนี้บริษัทมีพนักงานทำงานประมาณ 800 คน สิ่งที่สหภาพแรงงานเป็นห่วงมากขณะนี้คือพนักงานชั่วคราว ที่นายจ้างปรับมาจากพนักงานเหมาค่าแรง โดยให้เป็นพนักงานชั่วคราวทำงานสัญญาจ้างระยะสั้น 11 เดือน แล้วต่อสัญญาใหม่อีกครั้งซึ่งมีอยู่ประมาณ 150 คนในบริษัทฯ ว่าจะมีการยกเลิกสัญญาจ้าง เนื่องจากการใช้กลยุทธิ์จากการปิดงานพนักงานทั้งหมด มาเป็นเฉพาะพนักงานที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานคาดว่าเป็นการลดอำนาจการต่อรอง ของสหภาพแรงงานที่มีการชุมนุมเพื่อรอการเจรจาอยู่ในขณะนี้ แต่อย่างไรก็ตามสหภาพแรงงานจะยืนต่อสู้เคียงข้างกับสมาชิกทุกคน ไม่ว่าจะเป็นพนักงานประจำ หรือพนักงานชั่วคราวหากต้องประสบปัญหาจากการที่ถูกปิดงานนายสมยศกล่าว
 
ขณะนี้พนักงานบริษัทกู๊ดเยียรยังคงชุมนุมอยู่บริเวณริมถนนพหลโยธิน และพร้อมต่อการเจรจาเพื่อหาข้อยุติกับนายจ้างโดยมีข้อเรียกร้องจำนวน 15 ข้อ คือ 1. ขอให้บริษัทฯ เปลี่ยนความหมายคำว่า พนักงานจากเดิมเป็นพนักงาน หมายถึง พนักงานที่ตกลงทำงานให้นายจ้างโดยได้รับค่าจ้างไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร 2.  ขอให้บริษัทฯ จ่ายค่าจ้างและผลประโยชน์อื่นให้แก่ลูกจ้างที่ทำงานในลักษณะและคุณภาพอย่าง เดียวกันและปริมาณเท่าเทียมกัน 3. การกำหนดมาตรฐานเวลาในการทำงานให้ใช้เวลาที่ 450 พอยท์ (เจ็ดชั่วโมงครึ่ง) 4. การกำหนดมาตรฐานเวลาในการทำงานในกรณีที่ให้มีการทำงานติดต่อกันระหว่างเวลา พัก ให้บริษัทฯ จ่ายค่าล่วงเวลาเท่าครึ่งในเวลาพัก 30 นาที 5.  ขอให้บริษัทฯขยายขั้น (ขีด) ของพนักงานรายชั่วโมงปีละ 2 ขั้น (ขีด) ทุกบัญชีค่าจ้างเพิ่มขึ้นขั้นละ 2 บาท  6. ให้บริษัทฯปรับค่าจ้างทั่วไปทุกเครื่องที่รัฐบาลมีการประกาศการปรับค่าจ้าง ขั้นต่ำเป็นจำนวนตามที่รัฐบาลประกาศ  7.  ในกรณีที่บริษัทฯเลิกจ้างเนื่องจากลดกำลังคนยุบตำแหน่งงาน ปิดโรงงานขายกิจการโอนหรือ ควบกิจการ ให้บริษัทฯจ่ายเงินชดเชยพิเศษตามอายุงานปีละ 30 วัน และให้พนักงานที่ทำงานอายุงาน 15 ปีขึ้นไป ที่เกษียณอายุ หรือขอเกษียณได้โดยรับเงินช่วยเหลือพิเศษอายุตามงานปีละ 30 วัน รวมทั้งพนักงานรายชั่วโมง (รายได้รวมตลอดปีสุดท้าย) x 8 = ค่าจ้างต่อวัน 12 x 208 พนักงานรายเดือน (รายได้รวมตลอดปีสุดท้าย) x 8 = ค่าจ้างต่อวัน 12 x 191 และ 8. โครงการรักษาพยาบาล การรักษาพยาบาลคนไข้นอกวงเงิน 1,000 บาท คนไข้ในค่าห้องวันละ 2,000 บาท ค่ารักษาวงเงินครั้งละ 20,000 บาท และค่ารักษาส่วนเกินให้บริษัทสำรองจ่ายเหมือนเดิม และขอเน้นกรณีขอให้บริษัทจัดสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลให้กับพนักงานที่เกษียณ อายุต่ออีก 5 ปี เนื่องจากพบว่าเมื่อแรงงานเกษียณอายุแล้วมีการเจ็บป่วยเพิ่มขึ้น

ทั้งมีข้อเรียกร้องเรื่องให้บริษัทฯ จัดเงินกู้ฉุกเฉินให้พนักงาน 1 เดือนเหมือนเดิม จัดเครื่องแบบของพนักงานให้เป็นแบบและมาตรฐานเดียวกันทั้งโรงงาน ทั้งเงินโบนัสขอให้บริษัทฯ จ่ายเงินสมนาคุณพิเศษเป็นจำนวน 20,000 บาท และจ่ายเงินโบนัสกลางปีเป็นจำนวน 25,000 บาท และเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2553 ทางนายจ้างเรียกตัวแทนสหภาพแรงงานคนทำยางฯ เข้าประชุมและได้ตกลงกันว่า จะทำสัญญา 2 ปี และจะได้เงินสมนาคุณปีแรก 1,900 บาท ปีที่ 20,000 บาท และค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยนอก 800 บาท ค่าห้อง 1900 บาท และคนผู้ป่วยในวงเงินไม่เกิน 20,000บาท และเงินเกษียณอายุ 25 ปีขึ้นไปให้ 60 วัน

(นักสื่อสารแรงงาน, 21-11-2553)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net