Skip to main content
sharethis

สปส.เตรียมปรับโฉมบัตรผู้ประกันตนบัตรเดียวทุก รพ.

25 ต.ค. เว็บไซต์คมชัดลึกรายงานว่า นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ สปส.มีนโยบายการเปลี่ยนบัตรประกันสังคมจากบัตรอ่อน เป็นบัตรสมาร์ทการ์ด เพื่ออำนวยความสะดวกสบายให้กับผู้ประกันตนในการเข้ารักษาพยาบาลในสังกัด ทั้งนี้บัตรดังกล่าวจะเชื่อมโยงข้อมูลของผู้ถือบัตรกับสถานพยาบาลต่างๆ คล้ายกับการใช้บัตรประชาชนเพียงใบเดียวในระบบสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่ง ชาติ (สปสช.) ที่สามารถเข้ารักษาพยาบาลได้ทุกโรงพยาบาลโดยไม่มีเงื่อนไข ซึ่งขณะนี้ สปส.กำลังเจรจราและทำข้อตกลงกับโรงพยาบาลในสังกัด
 
ในเบื้องต้นยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะจัดทำบัตรในลักษณะไหน อาจเป็นบัตรสมาร์การ์ดหรือบัตรแม่เหล็ก ทั้งนี้ภายในบัตรนอกจากจะมีข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลการรักษาพยาบาลของผู้ ประกันตนแล้ว ยังมีข้อมูลในส่วนอื่นๆที่เป็นเรื่องสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนด้วย อาทิ ข้อมูลการจ่ายเงินสมทบเงินของนายจ้างและเงินบำเหน็จบำนาญที่จะได้รับ นายเฉลิมชัยกล่าวและว่า ยังเป็นการป้องการทุจริตการใช้สิทธิซ้อน โดยมีการใช้บัตรคนอื่นมาใช้สิทธิการรักษา

นายเฉลิมชัย กล่าวอีกว่า สำหรับการรักษาพยาบาลของระบบประกันสังคม จะมีการแยกโรคร้ายแรงที่มีค่าใช้จ่ายสูง เช่น โรคมะเร็งออกจากค่าเหมาจ่ายรายหัว เพื่อแก้ปัญหาการผลักภาระการรักษาพยาบาล เพราะที่ผ่านมาโรงพยาบาลส่วนใหญ่ไม่อยากรักษาเพราะไม่คุ้มกับค่ารายหัว

ทั้งนี้ในส่วนของโรคพื้นฐาน ผู้ประกันตนสามารถเข้ารักษาพยาบาลได้ทุกโรงพยาบาล ส่วนโรคร้ายแรงที่มีค่าใช้จ่ายสูงนั้น โรงพยาบาลต้นสังกัดจะส่งต่อไปยังโรงพยาบาลศูนย์ โดยที่โรงพยาบาลศูนย์จะเรียกเก็บเงินจากสปส.โดยตรง ซึ่งจะเป็นลักษณะการแยกบัญชีการจ่ายเงินออกมาจากบัญชีการรักษาโรคทั่วไป ทั้งนี้ โรคใดที่เข้าข่ายเป็นโรคร้ายแรงที่มีค่าใช้จ่ายสูงนั้น คณะกรรมการการแพทย์จะพิจารณาต่อไป

นอกจากนี้ยังจะยกเลิกระบบการสำรอง จ่ายกรณีฉุกเฉินหรืออุบัติเหตุ ซึ่งต่อไปผู้ประกันตนไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินเองแล้วเอาใบเสร็จไปเบิกทีหลัง อีกต่อไป ซึ่งคาดว่าการปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการที่เพิ่มความสะดวกให้กับผู้ ประกันตนดังที่กล่าวมา จะสามารถเริ่มใช้ได้ในเดือนเมษายน 2554

(คม ชัด ลึก, 25-10-2553)

รง.ร่วมทุนจีเอฟพีที เกิดก๊าซแอมโมเนียรั่ว ทำคนงานป่วยราว 100 ราย

พ.ต.ท.ดำรง นามเขต สารวัตรเวร สภ.หนองใหญ่ อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี ได้รับแจ้งมีเหตุก๊าซแอมโมเนีย รั่วไหลในโรงงานจีเอฟพีที นิชิเร (ประเทศไทย) จำกัด รั่วไหลภายในโรงงานและมีพนักงานจำนวนมากสูบดมสารเคมีดังกล่าวและเกิดอาการ แน่นหน้าอก, หายใจไม่ออก และอาเจียน เป็นจำนวนมาก จึงได้ประสานเจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยในพื้นที่ เพื่อรับพนักงาน ส่งโรงพยาบาล ทำการรักษาตัวโดยด่วน

จากการสอบสอบในเบื้องต้นมีผู้ป่วย ที่ได้รับผลกระทบนับ 100 คนนำตัวส่งโรงพยาบาลหนองใหญ่ จำนวน 67 คน โรงพยาบาลบ้านบึง 15 คน และโรงพยาบาลบ่อทอง จำนวน 6 คน และอีกจำนวนมากที่กลับไปพักผ่อนที่บ้าน โดยส่วนใหญ่การ แน่อนหน้าอก, หายใจไม่ออก, เวียนศีรษะ, มือเท้าชา และบางรายอาเจียน

นางชุลี อนุตระกูลชัย หัวหน้ากลุ่มการพยาบาล โรงพยาบาลหนองใหญ่ กล่าวว่า มีผู้ที่ได้รับผลกระทบและล้มป่วยเกือบ 100 รายที่ต้องนำส่งโรงพยาบาล โดยส่วนใหญ่อาการไม่หนักและสามารถกลับบ้านได้แล้ว แต่มีเพียงประมาณ 6-8 คน ต้องรอดูอาการแต่อาการก็ไม่น่าเป็นห่วงแต่อย่างไร เพราะได้พักผ่อนระยะหนึ่งอาการก็มีขึ้นแล้ว และคาดว่าภายในวันนี้ก็กลับบ้านได้หมด

ด้านนางสาววชิรา ยังให้ผล พนักงานโรงงาน หนึ่งในจำนวนผู้ป่วย กล่าวว่า ปัญหาก๊าซแอมโมเนียที่รั่วไหลนั้นเกิดขึ้นประมาณ 7 โมงกว่าๆ ซึ่งมีพนักงานที่ได้กลิ่นก็พยายามจะหนีออกมา แต่มีหัวหน้าแผนกสั่งห้ามไม่ให้พนักงานออกมา เพราะมีสินค้าส่งเข้ามาแล้วต้องรีบทำ แต่กลิ่นก๊าซเริ่มทวีความรุนแรงขึ้นจนทำให้พนักงานหมดสติล้มลงกับพื้น ทำให้พนักงานส่วนใหญ่ไม่พอใจและรีบหนีออกมาจากโรงงานทันที เนื่องจากส่วนใหญ่เริ่มทนไม่ไว้แล้ว

ขณะเกิดเหตุนั้นมีพนักงานหลายแผนก กำลังทำงานคาดว่า มีพนักงานในช่วงนั้นกว่า 1,000 คน จึงทำให้มีผู้ป่วยเป็นจำนวนมากและคาดว่าจะต้องเกิน 100 คนแน่นอน เพราะยังไม่สามารถตรวจสอบได้

อนึ่ง บริษัท จีเอฟพีที นิชิเร (ประเทศไทย) จำกัด  (GFN) โดยบริษัท ร่วมทุนระหว่างบมจ. จีเอฟพีที(GFPT) กับ บริษัท นิชิเร ฟูดส์ อิงค์ ซึ่งเป็นโรงงานผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ไก่แปรรูป และไก่สดแช่แข็งไปยังประเทศญี่ปุ่นและประเทศอื่น ๆ ทุนจดทะเบียน 780 ล้านบาท มีกำลังการผลิตและการแปรรูปเนื้อไก่ที่ 75,000 ตันต่อปี และกำลังการผลิตไก่ปรุงสุกที่ 18,000 ตันต่อปี เริ่มเปิดดำเนินเมื่อ มิ.ย.53

(อินโฟเควสท์, 25-10-2553)

พนง.ผลิตเครื่องออกกำลังกายรวมตัวเรียกร้องค่าแรง โวย รง.ไม่ยอมจ่าย

26 ต.ค. 53 - ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรี นายบุญยืน สุขใหม่ ตัวแทนพนักงานและเจ้าหน้าที่สหภาพแรงงานภาคตะวันออก ได้นำพนักงานของบริษัท ซุปเปอร์เมค โปรดักส์ จำกัด ตั้งอยู่ที่หมู่ 3 ตำบลบ่อวิน อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ที่มีพนักงานทั้งสิ้นกว่า 400 คน มารวมตัวกันที่หน้าสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรี เพื่อเรียกร้องสวัสดิการและเงินเดือน หลังโรงงานปิดตัวเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยไม่จ่ายเงินตามขั้นตอนของกฎหมายแรงงาน สร้างความเดือดร้อนแก่พนักงาน จึงต้องรวมตัวออกมาเรียกร้องดังกล่าว
      
โรงงานได้ปิดตัวไปเมื่อเดือนกรกฎาคม โดยทางคณะผู้บริหารซึ่งเป็นชาวไต้หวัน รับปากว่าจะจ่ายเงินเดือน และสวัสดิการให้ตามกฎหมาย โดยจะได้รับโบนัสและค่าตอบแทน ตามอายุงานและฐานเงินเดือน ซึ่งจะได้รับค่าตอบแทน ตั้งแต่ 50,000 บาท ถึง 100,000 บาท ทุกๆ คน 100 % แต่ที่ผ่านมาทางบริษัทจ่ายให้เพียง 54% เท่านั้น ซึ่งยังไม่เป็นไปตามที่รับปากไว้
      
นายบุญยืนกล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาทางพนักงานรวมตัวเข้าไปร้องเรียนรับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานมา แล้ว และรับปากจะให้การช่วยเหลือ แต่ขณะนี้ก็ยังไม่ได้รับเงินดังกล่าวที่เหลือ เพื่อนำเงินไปลงทุนหรือหางานใหม่ทำ ดังนั้น ทางพนักงานจึงต้องมารวมตัวเพื่อให้เจ้าหน้าที่ให้การช่วยเหลือต่อไป เนื่องจากที่ผ่านมารัฐมนตรีได้รับทราบและพร้อมให้การช่วยเหลือ แต่ปัญหาก็ยังไม่มีอะไรคืบหน้า
      
ในความเป็นจริงแล้ว โรงงานดังกล่าวไม่ได้ขาดทุนหรือเจ๊งแต่อย่างไร แต่ไม่ทราบสาเหตุที่ปิดตัวในครั้งนี้ ดังนั้น การปิดตัวโดยไม่มีผลกระทบทางด้านการเงิน ทางบริษัทก็ควรที่จะต้องจ่ายเงินทดแทนให้กับแรงงานที่ถูกเลิกจ้างหรือตกงาน ในครั้งนี้ โดยถูกต้องและเป็นไปตามกฎหมายด้วยนายบุญยืนกล่าว
      
ด้านนายประสิทธิ์ คำรักษ์ พนักงานแผนกปั๊ม กล่าวว่า โรงงานแห่งนี้เปิดดำเนินกิจการมาประมาณ 18-20 ปีแล้ว โดยเป็นโรงงานผลิตเครื่องออกกำลังกายทุกประเภท เพื่อการส่งออก ซึ่งที่ผ่านมาก็มีออเดอร์สั่งซื้อและผลิตสินค้ามาโดยตลอด และก็ว่าจ้างพนักงานทำงานล่วงเวลามาโดยตลอด แต่จู่ๆ ก็มาปิดโรงงานโดยกะทันหัน ที่สำคัญพนักงานส่วนใหญ่ก็ทำงานมาหลายปีแล้วและมีอายุมาก ซึ่งจะไปหางานใหม่ทำก็เป็นเรื่องลำบาก ดังนั้น เงินที่ทางบริษัทฯต้องจ่ายก็ควรจะต้องจ่ายให้ครบ เพื่อนำเงินที่เหลือไปลงทุนหรือไปหางานที่อื่นทำต่อไป
      
ล่าสุดจากการร่วมประชุมกับเจ้าหน้าที่แรงงานและสวัสดิการสังคม สรุป 4 ข้อ คือ 1.เจ้าหน้าที่แรงงานฯจะไปแจ้งความดำเนินคดีทางอาญากับทางบริษัท ที่ สภ.บ่อวิน 2.ให้พนักงานไปแจ้งความที่ศาลแรงงานจังหวัดชลบุรี 3.เรียกร้องค่าเสียหาย เพื่อนำเงินมาจ่ายชดเชยที่ถูกเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม และ 4. ในวันที่ 28 ต.ค. จะประชุมร่วมกับนายจ้างและตัวแทนทนายความเพื่อหาข้อสรุปต่อไป

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 26-10-2553)

ก.แรงงานเล็งของบเพิ่ม 150 ล้านช่วยสร้างงาน

นายสุธรรม นทีทอง โฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กรมการจัดหางาน เตรียมเสนอของบประมาณเพิ่มเติมจากรัฐบาลกว่า 150 ล้านบาท ในการจัดหาอุปกรณ์ประกอบอาชีพที่ได้รับความเสียหายจนไม่สามารถซ่อมแซมได้ให้ กับประชาชน โดยตั้งเป้าช่วยเหลือกว่า 15,000 ราย ในขณะที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้ประสานไปยังผู้ประกอบการ เพื่อให้ผู้ประสบอุทกภัย หยุดงานได้โดยไม่คิดเป็นวันลางาน โดยจะหามาตรการด้านภาษีตอบแทนผู้ประกอบการที่ให้ความร่วมมือ

นอกจากนี้ สำนักงานประกันสังคม ยังปล่อยกู้วงเงิน 10, 000 ล้านบาท แก่ผู้ประกันตน ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ 23 จังหวัด ที่ถูกน้ำท่วม ไม่เกินรายละ 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 2.50 ต่อปี เป็นเวลา 2 ปี หลังจากนั้น คิดอัตราดอกเบี้ยลอยตัว เพื่อนำไปซ่อมแซมบ้าน และขยายเวลาจ่ายเงินสมทบของสถานประกอบการออกไป อีก 4 งวด เริ่ม ก.ย. - ธ.ค. 53 โดยล่าสุดมีรายงานจำนวนลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการจ้างงาน 6 จังหวัด รวม 67,231 คน
 
(ไอเอ็นเอ็น, 26-10-2553)

แรงงานคาดหลังน้ำลดคนตกงานกว่าแสน

27 ต.ค. 53 - นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า หลังสถาการณ์น้ำลดคาดว่า จะมีประชาชนต้องการงานทำประมาณ 1แสนคน ได้สั่งการให้ศูนย์แรงงานแต่ละจังหวัด เปิดรับลงทะเบียนผู้ที่ต้องการงานทำ

นายเฉลิมชัย กล่าวต่อว่า บ่ายวันนี้ได้เชิญผู้ประกอบการเกี่ยวกับสิ่งทอมาหารือถึงแรงงานที่ขาดแคลน รวมถึงความต้องการแรงงานประเภทต่างๆ ก่อนที่กระทรวงแรงงานจะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้รับสมัครงานต่อไป

(โพสต์ทูเดย์, 27-10-2553)

รวบพม่า 33 ขณะนั่งเรือหางยาวลักลอบเข้าเมืองระนอง

27 ต.ค.53 - ร.ต.สมบัติ ทองจันทร์ ทหารหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 25 (ฉก.ร.25) กองกำลังเทพสตรี ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าจุดตรวจเกาะสะระณีย์ (เกาะผี) หมู่ 2 ต.ปากน้ำ อ.เมืองระนอง นำกำลังลงเรือเร็ว ออกลาดตระเวนตามแนวชายแดนทางทะเลด้าน จ.ระนอง-จ.เกาะสอง ประเทศพม่า บริเวณหน้าเกาะหม้อ หมู่ 4 ต.ปากน้ำ อ.เมืองระนอง พบเรือหางยาว 1 ลำ กำลังขับมุ่งหน้าเข้าสู่จังหวัดระนอง จึงส่งสัญญาณให้หยุดเพื่อตรวจสอบ พบชาวพม่านอนราบอยู่กับท้องเรือ รวม 33 คน เป็นชาย 15 คน หญิง 18 คน เด็กผู้ชาย อายุ 3 ปี 1 คน พร้อมสัมภาระจำนวนหนึ่ง ตรวจสอบไม่มีหลักฐานการเข้าเมือง พร้อมประสานไปยัง พ.ต.ท.วีรยศ การุณยธร สารวัตรใหญ่ ด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดระนอง ให้ทำการตรวจสอบ
      
จากการสอบสวน นายโกโกวิ่น อายุ 29 ปี คนขับเรือชาวพม่าให้การรับสารภาพว่า ตนได้รับการว่าจ้างจากนายหน้าชาวพม่าจากจังหวัดเกาะสอง ให้พาชาวพม่าไปส่งที่ริมป่าโกงกาง บริเวณเตาถ่านร้าง อ.กะเปอร์ จ.ระนอง โดยได้ค่าจ้างเที่ยวละ 10,000 บาท จะมีนายหน้าจากฝั่งไทย มารับส่งต่อไปที่กรุงเทพฯ และจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายค่านายหน้าคนละ 10,000 บาท จึงควบคุมตัวทั้งหมดส่งให้พนักงานสอบสวน สภ.ปากน้ำ อ.เมืองระนอง ดำเนินคดีตามกฎหมายและขยายผลติดตามจับกุมผู้ร่วมขบวนการต่อไป

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 27-10-2553)

สปส.เตรียมปรับรูปแบบบัตรแบบใหม่'บัตรสมาร์ทการ์ด'ใช้ได้ทุกโรงพยาบาล

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ว่า ขณะนี้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) กำลังเจรจราและทำข้อตกลงกับโรงพยาบาลในสังกัด เกี่ยวกับนโยบายการเปลี่ยนบัตรประกันสังคม จากเดิมที่เป็นบัตรอ่อน มาเป็นบัตรสมาร์ทการ์ด เพื่ออำนวยความสะดวกสบายให้กับผู้ประกันตนในการเข้ารักษาพยาบาลในสังกัด โดยบัตรดังกล่าวจะเชื่อมโยงข้อมูลของผู้ถือบัตรกับสถานพยาบาลต่างๆ คล้ายกับการใช้บัตรประชาชนเพียงใบเดียวในระบบสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่ง ชาติ(สปสช.) ที่สามารถเข้ารักษาพยาบาลได้ทุกโรงพยาบาลโดยไม่มีเงื่อนไข

ทั้งนี้ ภายในบัตรยังมีข้อมูลในส่วนอื่นๆที่เป็นเรื่องสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน ด้วยอาทิ ข้อมูลการจ่ายเงินสมทบเงินของนายจ้างและเงินบำเหน็จบำนาญที่จะได้รับ ซึ่งการใช้บัตรแบบใหม่นี้ ยังจะสามารถป้องกันการทุจริตการใช้สิทธิซ้อน โดยมีการใช้บัตรคนอื่นมาใช้สิทธิการรักษาได้อีกด้วย

(พิมพ์ไทย, 28-10-2553)

แรงงานเช่าบ้านในพื้นที่น้ำท่วมมีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือ

28 ต.ค. 53 - นายอิสระ สมชัย รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยว่า หน้าที่หลักของกระทรวงคือการเยียวยาผู้ประสบภัยหลังน้ำลด โดยจะมีการสนับสนุนเงินให้ครัวเรือนละ 5,000 บาท อย่างไรก็ตามยังมีปัญหาว่าแรงงานต่างถิ่นที่เข้ามาอยู่ในพื้นที่ประสบ อุทกภัยและเช่าบ้านอยู่จะได้รับการเยียวยาหรือไม่ ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้คำนึงถึงเจ้าของบ้าน แต่คำนึงถึงผู้ประสบเหตุเป็นหลัก ดังนั้นหากแรงงานได้รับการรับรองจากผู้ปกครองท้องถิ่นว่าเสียหายจริงก็มี สิทธิได้รับการเยียวยา

สำหรับการแจกถุงยังชีพหรือสิ่งของ ช่วยเหลือนั้น จะแจกให้กับผู้ประสบภัยทุกคนโดยไม่คำนึงว่าจะมีภูมิลำเนาหรือมีชื่ออยู่ใน พื้นที่หรือไม่ แต่เนื่องจากช่วงวิกฤตมักมีมิจฉาชีพแฝงตัวเป็นจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องมีระเบียบเพื่อพิสูจน์ความเดือดร้อน อย่างไรก็ตามผู้ได้รับผลกระทบสามารถให้ผู้ปกครองท้องถิ่นรับรองและไปติดต่อ ที่สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณสุขจังหวัดได้ทันที

(โพสต์ทูเดย์, 28-10-2553)

ก.แรงงานจัดโครงการฟื้นฟูอาชีพให้ผู้ประสบภัยน้ำท่วม เป้าหมาย 9 หมื่นคน

28 ต.ค. 53 - นายวัชระ กรรณิการ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)วันนี้รับทราบการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบ อุทกภัยของกระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางานจัดทำโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ปี 53 ภายหลังน้ำลดใน 2 โครงการ

โครงการแรก คือ การช่วยเหลือถึงบ้านบริการอาชีพ เป้าหมาย 75,000 คน และ โครงการที่สอง การฟื้นฟูสร้างอาชีพใหม่ให้คนว่างงาน ตกงาน จากอุทกภัย 53 เป้าหมาย 15,000 คน ในการฟื้นฟูอาชีพประสบภัยที่ต้องการอาชีพเดิม และสร้างอาชีพใหม่ให้ผู้ประสบภัยที่ต้องการเปลี่ยนอาชีพ

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานได้ สำรวจข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 22 ต.ค.53 พบว่าจากการเกิดอุทกภัยในครั้งนี้ มีสถานประกอบการที่ได้รับความเสียหายทั้งสิ้น 22,542 แห่ง ลูกจ้างได้รับความเดือดร้อน 394,000 คน

พร้อมกันนี้ กระทรวงแรงงานได้ จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบความเดือดร้อนด้านอาชีพ นอกจากนี้ยังแจ้งให้ทุกจังหวัดมอบหมายแรงงานจังหวัดประสานให้หน่วยงานใน สังกัดกระทรวงแรงงานร่วม มือกันในการให้บริการประชาชนตามภารกิจ และติดตามสถานการณ์การเกิดอุทกภัย และให้ความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัด เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย

รวมทั้งสำรวจความต้องการความช่วย เหลือของประชาชนในพื้นที่ที่ประสบภัย ธรรมชาติหลังน้ำลดเพื่อให้การช่วยเหลือตามโครงการจ้างงานเร่งด่วนและพัฒนา ทักษะฝีมือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนด้านอาชีพในปีงบประมาณ 54

ขณะเดียวกัน สำนักงานประกันสังคมได้ออกประกาศ เรื่อง ขยายหรือเลื่อนกำหนดเวลาการนำส่งเงินสมทบของสถานประกอบกิจการที่ประสบ อุทกภัยและการนำส่งเงินสมทบกองทุนเงินทดแทน โดยให้สถานประกอบกิจการยื่นแสดงความจำนงขอเลื่อนกำหนดเวลาต่อสำนักงานประกัน สังคม และจัดทำโครงการ"ประกันสังคมเคียงข้างผู้ประกันตนต้านอุทกภัย"เพื่อให้ผู้ ประกันตนที่มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดที่ประสบอุทกภัยกู้เงินเพื่อนำไปซ่อม แซมปรับปรุงที่อยู่อาศัยของครอบครัว รายละไม่เกิน 50,000 บาท โดยมีอัตราดอกเบี้ยใน 2 ปีแรกคงที่ร้อยละ 2.5 ต่อปี หลังจากนั้นเป็นดอกเบี้ยลอยตัวตามเงื่อนไขของธนาคารที่มีการลงนามทำ MOU ขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานการดำเนินงานกับธนาคาร

(สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 28-10-2553)

ส.ส.รัฐบาลรับปากหนุน ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม

28 ต.ค. 53 - ที่โรงแรมบางกอกพาเลซ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยร่วมกับแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานจัดสัมมนาสร้างการเรียนรู้เพื่อมีส่วนร่วมในการผลักดัน พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. ... (ฉบับบูรณาการแรงงาน)เพื่อรับฟังทัศนะของฝ่ายการเมืองต่อการเป็นองค์กรอิสระของกองทุนประกันสังคม และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเนื้อหาสาระของร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมจากตัวแทนผู้ใช้แรงงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
      
น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับบูรณาการแรงงานว่า ถึงเวลาแล้วที่ผู้ใช้แรงงาน ผู้ประกันตน และเครือข่ายภาคประชาชนจะต้องหาทางออกร่วมกันในการปฏิรูปสำนักงานประกัน สังคม (สปส.) ไปสู่ความเป็นองค์กรอิสระ เพื่อการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และผู้ประกันตนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เพื่อการมีหลักประกันทางสังคมที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยการร่วมเข้าชื่อเสนอกฎหมายประกันสังคม ฉบับบูรณาการแรงาน จำนวน 20,000 รายชื่อ ตั้งแต่วันที่ 1-15 พฤศจิกายน 2553 ที่สำนักงานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย หรือที่ http://voicelabour.org  เพราะ ที่ผ่านมา ตลอดระยะเวลา 20 ปีของการตั้งสำนักงานประกันสังคม การบริหารงานกองทุนประกันสังคมส่อว่าอาจจะไม่มีประสิทธิภาพ ถูกแทรกแซง ผู้ประกันตนยังพบข้อจำกัดในการเข้าถึงสิทธิด้านต่างๆ รวมถึงคุณภาพของการรักษาพยาบาล การจัดเวทีสัมมนาครั้งนี้ก็เพื่อสร้างการเรียนรู้ต่อเนื้อหาสาระของร่าง พ.ร.บ.นี้ให้แก่ผู้ใช้แรงงาน และหวังว่า ส.ส.จะร่วมกันลงชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมดังกล่าวด้วยอีกทางหนึ่ง
      
ว่าที่ ร.ต.สุเมธ ฤทธาคนี ประธาน กรรมาธิการ (กมธ.) การแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม กมธ.ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน โดยมีตัวแทนผู้ใช้แรงงานเข้าร่วมด้วย ใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมง ก็ได้หารือกันหลายเรื่อง ยืนยันว่าผู้ใช้แรงงานจะไม่ได้โดดเดี่ยว ยังมี กมธ.การแรงงานด้วย เมื่อสัมมนาแล้ว ก็ขอให้ส่งผลมาให้ กมธ.จะดำเนินการต่อในขั้นตอนของสภาผู้แทนฯ
      
ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้ อำนวยการสำนักสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาวะและลดปัจจัยเสี่ยงรอง สสส.กล่าวว่า ยินดีที่พรรคการเมืองสนับสนุน เรื่องประกันสังคมเป็นเรื่องที่ทำมานาน ที่ผ่านมา การมีส่วนร่วมของประชาชนมีน้อย จึงต้องคิดกันว่าจะทำอย่างไรให้มีส่วนมากขึ้น มีแรงงานเข้าไปมีส่วนร่วมบริหารกองทุน อยู่บนหลักการของประชาธิปไตยและเป็นไปได้ เป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ลดความเหลื่อมล้ำ การปรับปรุงประกันสังคมจะทำให้กลุ่มต่างๆได้รับการดูแลจากรัฐมากขึ้น ก็ขอขอบคุณ ส.ส.ทั้งหมดที่จะช่วยสนับสนุน ซึ่งขั้นตอนก็ต้องผ่านการพิจารณาของรัฐสภาต่อไป เพื่อรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน วันนี้ คงเป็นเวทีที่ภาคแรงงานทุกคนพร้อมจะเข้ามาเรียนรู้แลกเปลี่ยน ทราบว่าแผนงานคุณภาพชีวิตแรงงานคาดหวังจะให้มีการรวมพลังของแรงงานทุกภาค ส่วน รวมทั้งแรงงานข้ามชาติด้วย ซึ่งมีส่วนผลักดันการพัฒนาของประเทศไทย เพื่อให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน
      
นายนคร มาฉิม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ที่ปรึกษา กมธ.การแรงงาน สภาผู้แทนฯ กล่าวว่า รัฐบาลเห็นความสำคัญของผู้ใช้แรงงานมากที่สุดยุคหนึ่ง จึงมีกฎหมายแรงงานหลายฉบับเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้ฝากมายังวงสัมมนานี้ด้วยว่า 1.รัฐบาล ต้องการสร้างความเข้มแข็งของ สปส.ร่วมกับนายจ้างและลูกจ้าง เพราะแม้ว่าจะมีเงินมากที่สุด คือ 7 แสนกว่าล้านบาท แต่ใช่ว่าจะเพียงพอต่อการรองรับบำเหน็จบำนาญชราภาพ ที่กองทุนนี้จะเข้าไปจ่าย แนวโน้มจะเหมือนว่ารับมา 6 บาท แต่จ่าย 20 และหากเป็นองค์การอิสระโดยไม่มีการช่วยเหลือทั้งนโยบายและงบจากรัฐ พร้อมหรือไม่ที่จะรับความเสี่ยง นี่คือสิ่งที่รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานฝากมาถึงผู้ใช้แรงงาน 2.ต่อไป ทิศทางในการบริหารงานของรัฐบาลอาจจะต้องขับเคลื่อนให้ สปส.เข้าสู่ระบบรัฐสวัสดิการเต็มรูปแบบ การบริหารกองทุนต้องทำให้มีดอกผลเพื่อรองรับค่าใช้จ่ายในอนาคต
      
หลังจากได้รับร่างกฎหมายนี้ จากผู้นำแรงงาน กระบวนการของผมเริ่มแล้วคือ ปรับร่างแต่ไม่ทิ้งหลักการใหญ่ และต้องดูว่าสอดคล้องกับร่างของรัฐบาลหรือไม่ เมื่อเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เป้าคือจะทำอย่างไรมาช่วยกันคิดกันทำ เพื่อคุ้มครอง ดูแล ยกระดับมาตรฐานทุกอย่างของแรงงานให้ดีที่สุด รับปากว่า ผมและเพื่อน ส.ส.รวม 20 คน จะนำเสนอร่างของผู้ใช้แรงงานต่อสภาผู้แทนฯในสมัยนี้อย่างแน่นอนนายนครกล่าว
      
นายสถาพร มณีรัตน์ ส.ส.ลำพูน พรรคเพื่อไทย รอง ประธาน กมธ.การแรงงาน สภาผู้แทนฯ กล่าวว่า สภาจะปิดประชุมวันที่ 28 พฤศจิกายน จะเปิดอีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง ยุบสภาก็เลิกกัน พิจารณาอะไรไม่ได้ ดังนั้นวันนี้จึงต้องไปเร่งรัดกระทรวงแรงงานให้บรรจุร่างนี้ของรัฐบาลให้ เร็ว เพราะทราบว่ายังติดขัดอยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ส่วนเรื่องอคติของฝ่ายการเมืองต่อองค์กรอิสระ จะเป็นอิสระอย่างไรต้องคิด เพราะองค์กรอิสระต้องอยู่ภายใต้การกำกับของกระทรวงแรงงาน ในที่สุดก็จะมีปัญหาเหมือนเดิมคือสภาก็จะตีตกเรื่ององค์กรอิสระ เมื่อไปถึงวุฒิสภา หากเห็นต่างก็ต้องตีกลับมาที่สภา ก็จะต้องตั้ง กมธ.ร่วมอีก

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 28-10-2553)

ลูกจ้างน้ำท่วมเฮ!-รับเงินเดือน 100%

นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สั่งการให้อุตสาหกรรมจังหวัด กรมโรงงาน และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เร่งตรวจสอบและเยียวยาแรงงานในโรงงานที่ถูกน้ำท่วม เบื้องต้นจะขอความร่วมมือให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างแก่ผู้ที่ไม่สามารถทำงานได้ ไม่ต่ำกว่า 50% หรือจ่ายเต็ม 100% สำหรับพนักงานจ้างรายวันส่วนพนักงานรายเดือนนั้นนายจ้างก็ไม่ควรคิดเป็นวัน หยุดหรือวันลา เพราะน้ำท่วมไม่ใช่ความผิดของลูกจ้าง ทั้งนี้ เบื้องต้นมีลูกจ้างที่ตกงานไม่ถึง 1 แสนคน สิ่งที่ห่วงอีกอย่างคือ อ้อยที่ถูกน้ำท่วมกว่า 1 แสนไร่ ซึ่งอาจกระทบต่อค่าความหวาน แต่ล่าสุดรับรายงานมาแล้วว่าเหลืออ้อยที่ถูกน้ำท่วมประมาณ 5-6 หมื่นไร่

นายณัฏฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล ประธานคณะทำงานด้านนโยบายและการบริหารอุตสาหกรรม 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย กล่าวว่า น้ำท่วมไร่อ้อย ทำให้ผลผลิตเสียหายค่าเงินบาทแข็งทำให้รายได้จากการส่งออกลดลง ซึ่งตามหลักการสามารนำเงินจากกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายมาช่วยเหลือชาวไร่ได้ จึงเห็นว่ารัฐไม่ควรเร่งนำเงินจากกองทุนฯ ไปใช้หนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตามกำหนดเวลาชำระหนี้ในเดือนธ.ค.54

ด้านนายสมมาต ขุนเศษฐ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ขณะนี้กลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็นสมาชิกส.อ.ท. ส่วนใหญ่มีนโยบายจะจ่ายเงินแก่ลูกจ้างรายวันที่ไม่สามารถเข้ามาทำงานได้ใน ช่วงที่ถูกน้ำท่วมในอัตรา 100% เต็มของเงินเดือนที่เคยได้รับ ซึ่งมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 2-3 หมื่นราย เพื่อให้ลูกจ้างสามารถนำเงินไปเลี้ยงดูครอบครัวในช่วงที่ประสบปัญหาน้ำท่วม ได้อย่างเต็มที่เนื่องจากผู้ประกอบการมองว่าเป็นเหตุการณ์สุดวิสัย ไม่ใช่ความผิดของลูกจ้างและไม่ต้องการซ้ำเติมลูกจ้างที่ได้รับความเดือดร้อน อย่างหนัก

ขณะเดียวกันหลังจากน้ำลดจนพนักงาน สามารถเข้ามาทำงานได้ตามปกติแล้วนายจ้างจะเร่งเพิ่มกำลังการผลิตเต็ม 100%โดยการเพิ่มช่วงโอที เพื่อผลิตสินค้าให้ทันต่อเวลาสัญญาการส่งของให้ลูกค้า แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาลูกค้าบางรายสามารถผ่อนผันระยะเวลาการส่งสินค้าให้ ระดับหนึ่งก็ตามเพราะภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่คาดไม่ถึง

"ปัจจุบันนายจ้างให้ความสำคัญกับ ลูกจ้างมากโดยเฉพาะช่วงที่เกิดวิกฤตต่างๆ โดยเท่าที่สำรวจความเห็นของสมาชิกในพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมเกือบทั้งหมด ให้ค่าจ้างแรงงานเต็ม100% ซึ่งในส่วนของโรงงานส่วนใหญ่จะมีการทำงาน 1-2 กะ ที่เหลือก็จะมีการจ้างโอที ขณะที่บางแห่งมีการใช้กำลังการผลิตเต็มโดยมีการจ้างงาน 3 กะ หลังจากนี้คงมีเพิ่มโอทีเพื่อให้งานเสร็จ" นายสมมาตกล่าว

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ได้ออก 7 มาตรการ เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนให้ผู้ประกอบการ เช่น ปล่อยกู้ซ่อมแซม ตัวอาคารโรงงานโดยผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม คิดดอกเบี้ย เอ็มแอลอาร์-1% ต่อปี ในปีแรก หลังจากนั้นคิดเอ็มแอลอาร์ ผ่อนชำระนานถึง 5 ปี สามารถใช้หลักประกันเดิมและการพักชำระเงินต้นนาน 6 เดือน เป็นต้น

(ข่าวสด, 29-10-2553)

นายจ้างลิเบียบีบ 500 แรงงานไทยถอนชื่อร้องทุกข์ขู่ฟ้องดำเนินคดี

ความคืบหน้าปัญหาความเดือดร้อนของ แรงงานไทยที่ไปตกระกำลำบากในประเทศลิเบีย กรณีของกลุ่มแรงงานที่ไปทำงานกับบริษัทนายจ้างรันฮิลล์ (RANHILL)กว่า 1,400 ชีวิต ที่มีชะตากรรมเหมือนกับกลุ่มแรงงานบริษัท นายจ้าง ARSEL BENA WA TASEED JOINT VENTURE ที่ไม่ได้รับเงินเดือนตรงเวลา และตามสัญญาจ้างอีกทั้งบริษัทนายจ้างไม่ได้จัดเตรียมสวัสดิการที่ดีให้กับ แรงงาน

ล่าสุด เมื่อวันที่ 28 ต.ค.53 แหล่งข่าวจากแรงงานไทยในลิเบีย ได้โทรศัพท์มาร้องทุกข์กับ นสพ.สยามรัฐ ว่า หลังจากที่แรงงานไทยที่กลับมาจากลิเบียได้นำรายชื่อคนงานกว่า 500 คน ที่ไปทำงานกับนายจ้างบริษัทรันฮิลล์ ยื่นหนังสือชี้แจงความเดือดร้อนกับคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ปรากฏว่า ขณะนี้แรงงานกว่า 500 คน กำลังถูกบริษัทจัดหางานและบริษัทนายจ้างกดดันอย่างหนัก โดยข่มขู่ว่าจะฟ้องร้องคนงานที่ลงชื่อร้องเรียน และขอให้ถอนรายชื่อออกจากการร้องเรียนด้วย

"ขณะนี้คนงานไทยที่ลงชื่อร้องเรียน ต่อคณะกรรมาธิการการแรงงานไปกว่า 500 คน โดนข่มขู่อย่างหนักว่าจะโดนบริษัทฟ้องร้องกลับโทษฐานที่ไปลงชื่อร้องเรียน ดังนั้นขอให้ถอนชื่อออกจากการร้องเรียนเสีย เพื่อจะได้ไม่ถูกฟ้องร้อง อีกอย่างหนึ่งบริษัทจัดหางานกลัวเสียชื่อเสียง เพราะต้องการจะส่งแรงงานไทยมาทำงานที่ลิเบียอีกประมาณ4,000 คน จึงไม่ต้องการให้ถูกร้องเรียนว่าเอารัดเอาเปรียบคนงาน และจะเสียผลประโยชน์จากการไม่ได้รับค่าหัวคิว หากไม่มีคนงานมาสมัครไปทำงาน" แหล่งข่าวแรงงานไทยในลิเบีย กล่าว

ขณะนี้แรงงานไทยกว่า 500 คน ต้องอดทนต่อความทุกข์ยากลำบากจากการกระทำของนายจ้าง และต่างเฝ้ารอว่าเมื่อไหร่จะได้รับการช่วยเหลือให้ได้เดินทางกลับประเทศไทย ทั้งนี้ แรงงานทุกคนพร้อมที่จะนำหลักฐานเอกสารต่างๆ มาแฉพฤติกรรมของบริษัทนายจ้างด้วย

แหล่งข่าวแรงงานไทย กล่าวต่อว่าหลังจากบริษัทจัดหางาน เงินและทองพัฒนาจำกัด ได้ติดต่อคนงานเพื่อจ่ายเงินเดือนค้างจ่ายและค่าหัวคิวคืนกว่า 100 คน คนละ 8,000-40,000 บาทไปแล้ว และให้เซ็นถอนการร้องทุกข์ยินยอมไม่ติดใจฟ้องร้องทางแพ่งและอาญากับบริษัท แต่ยังมีคนงานอีกกว่า 53 คน ไม่ยอมรับเงินค้างจ่ายแค่ 8,000-12,000 บาท เนื่องจากเห็นว่าน้อยเกินไปและไม่ได้รับเงินค่าหัวคิวคืนนั้น ขณะนี้ทางบริษัทจัดหางานเงินและทองฯได้พยายามดิ้นรนอย่างหนัก โทรศัพท์ไปตื้อให้คนงานไปรับเงินเดือนค้างจ่ายที่สำนักงานบริษัทใน กทม. โดยมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อให้แรงงานถอนคำร้องไม่ติดใจเอาความบริษัท

"บริษัทจัดหางานถูกกดดันอย่างหนัก จากหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร และสำนักนายกรัฐมนตรี ทำให้ต้องรีบเคลียร์ปัญหาให้จบโดยจะเสียเงินน้อยที่สุดคือจ่ายแค่เงินเดือน ค้างจ่ายที่นายจ้างลิเบียโอนมาให้คนงาน แต่ในส่วนของค่าหัวคิวกว่าแสนบาทนั้นเข้ากระเป๋าไปแล้ว จึงไม่ยอมควักออกมาจ่ายคืนคนงาน" แหล่งข่าวแรงงานไทย ระบุ

(สยามรัฐ, 29-10-2553)

ก.แรงงานเร่งสำรวจข้อมูล-ใช้ปรับค่าจ้าง 54

29 ต.ค. 53 - นายสุนันท์ โพธิ์ทอง รองปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรองค่าจ้างกลาง เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานจะดำเนินการจัดเก็บข้อมูลการปรับค่าจ้างประจำปี 2554 ของสถานประกอบกิจการทั่วประเทศ เพื่อนำมาพิจารณา กำหนดแนวทางการปรับค่าจ้างประจำปี 2554 ให้กับสถานประกอบกิจการ พิจารณาปรับค่าจ้าง ให้พนักงานที่ทำงานเกิน 1 ปี ขึ้นไป

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้สำนักงานแรงงานจังหวัด ดำเนินการสำรวจข้อมูล จากสถานประกอบกิจการในจังหวัด จังหวัดละ 39 แห่ง โดยแยกเป็นสถานประกอบกิจการขนาดเล็ก ที่มีลูกจ้าง ตั้งแต่ 1-49 คน ขนาดกลาง ที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 50-299 คน และขนาดใหญ่ ที่มีลูกจ้าง ตั้งแต่ 300 คน ขึ้นไป ซึ่งได้กำหนดส่งแบบสอบถาม คืนสำนักงานคณะกรรมการค่าจ้าง ภายในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2553 เพื่อรวบรวมให้คณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรองค่าจ้างกลาง พิจารณาในวันที่ 2 พฤศจิกายน ก่อนนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างกลาง

(ไอเอ็นเอ็น, 29-10-2553)

เจ้าของฟาร์มฮาวายถูกตั้งข้อหาใหม่เอาเปรียบแรงงานไทย

29 ต.ค. 53 - เจ้าของฟาร์มขนาดใหญ่อันดับ 2 ในรัฐฮาวาย ของสหรัฐ ถูกตั้งข้อหาใหม่ฐานเอารัดเอาเปรียบแรงงานชาวไทยหลายสิบคน หลังหลอกลวงเรื่องค่าแรงและจำกัดบริเวณให้พวกเขาอยู่แต่ในฟาร์มเท่านั้น

ข้อกล่าวหาทั้ง 12 กระทง ระบุว่า  นายอเล็ก และนายไมค์ ซู  2 พี่น้องเจ้าของอะลูนฟาร์มส์ ล่อล่วงคนงานชาวไทย โดยสัญญาว่าจะให้เงินเดือนสูงและทำงานเพียง 3 ปีเท่านั้น แต่หลังจากนั้น ทั้งสองพี่น้องกลับบังคับให้คนงานทำงานต่อ โดยข่มขู่ว่าจะส่งตัวออกนอกประเทศและยึดวีซ่า นอกจากนี้  ยังมีการตั้งข้อหานายเสี่ยว เคียง คู แห่งบริษัทไทยไทเปแมนพาวเวอร์ อีกด้วย  ด้านนายเอริก ไซทซ์ ทนายความของนายอเล็ก เปิดเผยว่า  ลูกความของเขาจะยืนกรานว่าไม่มีความผิด ทั้งนี้ เมื่อเดือนที่ผ่านมา สองพี่น้องตระกูลซู ได้กลับคำให้การ โดยยืนยันว่าไม่ได้กระทำความผิด อย่างไรก็ตาม พวกเขาอาจถูกจำคุก 20 ปี หากถูกตัดสินว่ามีความผิดจริง.

(สำนักข่าวไทย, 30-10-2553)

กกร.เสียงแตกตีกลับข้อเสนอเข้าร่วม กก.ไตรภาคี

1 พ.ย. 53 - นายดุสิต นนทะนาคร ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย ว่า การเข้าไปมีส่วนร่วมในคณะกรรมการไตรภาคี คงต้องพิจารณาว่าคณะกรรมการชุดนี้ทำงานอย่างไร มีจุดอ่อนที่ต้องปรับปรุงตรงไหน บ้าง ซึ่งการให้กกร.เข้าไปมีส่วนร่วมต้องเข้าไปเพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง แต่ขณะนี้ก็เห็นว่าคณะกรรมการยังทำงานดี จึงไม่เห็นด้วยที่จะเข้าไปมีส่วนร่วม และเอกชนเองก็คงเข้าไปทำทุกอย่างไม่ได้

"คนที่ต้องการเข้าไปคงจะมีเหตุผล อาจจะเข้าไปรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง แต่กกร.ทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม และการจะเข้าไปมีส่วนร่วมในทุกเรื่องก็คงจะเป็นไปไม่ได้"นายดุสิต กล่าว

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้ให้กลับไปศึกษาข้อเสอนมาใหม่ โดยให้พิจารณาว่าการเข้าไปมีส่วนร่วมในคณะกรรมการไตรภาคีมีความเหมาะสมและ เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมหรือไม่ เพราะหากเห็นว่าคณะกรรมการชุดเดิมมีจุดอ่อนอะไรค่อยเสนอมาแล้วจึงเข้าไป เสริม เพื่อให้การทำงานมีความเข้มแข็งขึ้นมากกว่า

สำหรับข้อเสนอดังกล่าวเป็นข้อเสนอ ของส.อ.ท. เพื่อให้กกร.หาแนวทางผลักดันให้ผู้แทนจากกร. ได้มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมในคณะกรรมการไตรภาคี ทำหน้าที่ดูแลบริหารจัดการแรงงานของประเทศ

ขณะเดียวกันที่ประชุมได้หารือถึง มาตรการเยียวยาผลกระทบหลังน้ำลด โดยให้แต่ละหน่วยงาน เช่น หอการค้าจังหวัด สภาอุตสาหกรรมจังหวัด และสมาคมธนาคารไทยไปสำรวจดูว่าในแต่ละจังหวัดมีปัญหาอะไรและต้องการให้ช่วย เหลืออะไรบ้าง โดยจะเริ่มต้นเงินช่วยเหลือด้วยวงเงินจำนวนหนึ่งเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบที่ เกิดขึ้นในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา

ทั้งนี้ การช่วยเหลือเฉพาะหน้าที่ผ่านมาได้ทำไปแล้ว ต่อจากนี้ก็จะให้แต่ละจังหวัดไปสำรวจปัญหาที่เกิดขึ้นมาต้องการให้ช่วยเหลือ อะไรบ้างแล้วจัดลำดับความสำคัญมา คาดว่าน่าจะเห็นผลภายใน 2 สัปดาห์นี้ ซึ่งเรื่องนี้สามารถทำได้เลยโดยไม่ต้องรอเข้าที่ประชุม กกร.ครั้งหน้า เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาเพราะถ้าต้องรอรัฐบาลช่วยเหลือคงไม่ทันเพราะรัฐบาลเองก็ มีงานเยอะ แต่คงจะค่อยไปประสานในเรื่องของข้อมูลกันมากกว่า

ส่วนเรื่องการดูแลค่าจ้างของลูกจ้าง รายวันที่ให้มีการจ่ายค่าจ้างเต็ม 100%นั้น ไม่ได้มีการหารือกันในที่ประชุม เพราะคิดว่าเป็นเรื่องที่แต่ละบริษัทที่จะต้องเข้าไปดูแล และคิดชื่อว่าคงไม่มีใครเอาเปรียบผู้ที่เดือดร้อน

นอกจากนี้ ที่ประชุมจะเสนอรัฐบาล เรื่องภาษีสิ่งแวดล้อมที่เรียกเก็บจากผู้ประกอบการในแต่ละจังหวัด ว่าก็ควรนำเงินภาษีที่เก็บได้ในแต่ละจังหวัดมาบริหารจัดการแก้ปัญหาใน จังหวัดนั้นๆไม่ใช่นำมาเฉลี่ยแล้วกระจายไปจังหวัดอื่น เพื่อมห้เกิดการแก้ไขปัญหาที่ชขัดเจน และทั่วถึงพื้นที่ที่เกิดปัญหาอย่างแท้จริง

(โพสต์ทูเดย์, 1-11-2553)

แรงงานบ่อวินรวมใจหาเงินสร้างพลังหนุนแก้ปัญหาพื้นที่

31 ต.ค. 53 - คณะทำงานกลุ่มแรงงานบ่อวิน สัมพันธ์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก สำนักงานเลขที่ 120/46 ม. 4 ต.บ่อวิน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ได้จัดกิจกรรมทำบุญสำนักงานฯ และทอดผ้าป่าเพื่อเป็นทุนช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ตั้งเป็นกองทุนเพื่อสนับสนุนในการจัดกิจกรรมให้กับสมาชิก โดยมีผู้เข้าร่วมเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้กว่า 150 คน
 
โดยมีวัตถุประสงค์การจัดงาน ดังนี้
 
1. เพื่อเป็นการเผยแพร่กิจกรรมของคณะทำงานกลุ่มแรงงานบ่อวินสัมพันธ์และสมาชิก ได้รับการเผยแพร่ให้ผู้ใช้แรงงานและสมาชิกสหภาพแรงงานฯในกลุ่มฯได้รับรู้

2. เพื่อเป็นการรำลึกถึงอดีตกรรมการของกลุ่มฯ ที่ได้เคยเรียกร้องขอความเป็นธรรมให้แก่สมาชิกในกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวัน ออกและต่อขบวนการแรงงาน และเผยแพร่ชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จักโดยทั่วกัน

3. เป็นการส่งเสริมให้เกิดความสมานฉันท์ระหว่างสหภาพแรงงานฯภายในกลุ่มฯ

4. เพื่อเป็นการจัดหารายได้และเพิ่มศักยภาพและความเข้มแข็งให้กับกลุ่มฯ

5. เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนแนวคิดในการช่วยเหลือผู้ขาดโอกาสให้กับสมาชิกของสหภาพแรงงาน

6. เพื่อเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างสหภาพแรงงานในกลุ่มกับองค์กรแรงงานภายนอกให้มากขึ้น

7. เพื่อเป็นการสนับสนุนกิจกรรมร่วมกับชุมชนตามที่รับการร้องขอ

8. เพื่อการจัดกิจกรรมให้การศึกษากับแรงงานก่อนเข้าสู่ระบบแรงงานในภาคอุตสาหกรรม
 
ทั้งนี้สหภาพแรงงานต่างๆที่เป็นสมาชิกของกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวัน ออก และผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วนได้ร่วมกันบริจาคเงินสนับสนุนกิจกรรมในครั้งนี้ ประมาณ 200,000 บาท
 
นายชัยวิวัฒน์ อุ่นทะยา ประธานคณะทำงานกลุ่มแรงงานบ่อวิน สัมพันธ์ กล่าวเปิดการจัดทำกิจกรรมในครั้งนี้ว่าคณะกรรมการบริหารฯจะนำเงินที่ได้จากการทำกิจกรรมในครั้งนี้ นำมาบริหารงานของคณะทำงานฯเพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้แรงงานและ เพื่อสนับสนุนในการขับเคลื่อนประเด็นกฎหมายต่างๆที่เป็นประโยชน์ของผู้ใช้ แรงงานและพี่น้องประชาชน และเพื่อพัฒนาคณะทำงานแห่งนี้ให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของผู้ใช้แรงงาน และพี่น้องประชาชนต่อไป” 
ในช่วงบ่ายได้จัดเวทีเสวนาเรื่องการผลักดันกฎหมายประกันสังคม ให้เป็นองค์กรอิสระ(ร่างฉบับบูรณาการณ์ของผู้ใช้แรงงาน) เพื่อรับฟังข้อเสนอและแนวทางการผลักดันเพื่อให้เกิด การประกันสังคมที่ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้แรงงานอย่างแท้จริง
 
นายจรัญ ก่อมขุนทด ที่ปรึกษาคณะทำงานฯกล่าวระหว่างเวที นำเสนอว่ากฎหมายประกันสังคมของไทยที่บังคับใช้ในปัจจุบันนี้ ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน สิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากประกันสังคมของผู้ประกันตนนั้นได้รับสิทธิ ประโยชน์น้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนเงินของกองทุนฯ กับการเข้าถึงสิทธิในการรักษาพยาบาล และสิทธิประโยชน์อื่น ถือว่า ผู้ประกันตนเข้าถึงสิทธิได้ยากมาก และมีระยะเวลาในการพิจารณาค่าชดเชยต่างๆที่ค่อนข้างใช้เวลานานมาก เพราะฉะนั้นพวกเราต้องร่วมการผลักดันให้ประกันสังคม เป็นองค์กรอิสระให้จงได้ เพื่อประโยชน์ของผู้ประกันตนในอนาคต
 
ทั้งนี้ในระหว่างการเสวนาได้รับการสนับสนุนจากสหภาพแรงงาน คาวาซากิยานยนต์แห่งประเทศไทย เล่นดนตรีให้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

นายสราวุธ  ขันอาสา นักข่าวแรงงานกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก รายงาน (voicelabour.org, 31-10-2553

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net