Skip to main content
sharethis

เครือข่ายปฏิรูปสื่อจี้ ส.ส.แสดงจุดยืนเรื่องปฏิรูปสื่อ หลังเกิดกรณีประมูล 3G ล่ม-ไล่ปิดวิทยุชุมชนช่วง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-เอาผิดผู้ใช้เครือข่ายทางสังคมโลกออนไลน์ หวั่นรัฐบาลใช้จังหวะคนอยากได้ 3G ผ่านร่าง พ.ร.บ.กสทช.ฉบับ ส.ว. ที่ให้โควต้าหน่วยงานความมั่นคงมากไป เสนอตั้งกมธ.ร่วมพิจารณาร่างร่วมกัน

เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 53 คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) แถลงข่าวเรียกร้องสภาผู้แทนราษฎรแสดงจุดยืนต่อการปฏิรูปสื่อ โดยนายสุเทพ วิไลเลิศ เลขาธิการ คปส. กล่าวถึงกรณีร่าง พ.ร.บ.กสทช. ว่า ที่ผ่านมา คปส. และเครือข่ายปฏิรูปสื่อภาคประชาชน ได้เคยแถลงยืนยันให้มีการตั้ง คณะกรรมาธิการร่วมระหว่าง ส.ส.และส.ว. โดยยืนยันร่างของ ส.ส. เดิม เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับสาระที่ ส.ว.แก้ไขเพิ่มเติม ที่ให้ฝ่ายความมั่นคงหรือทหารเข้ามาเป็น กสทช. ได้โดยมีสัดส่วนอย่างชัดเจน ให้หลักประกันกับกองทัพในการได้ใช้คลื่นอย่างพอเพียง ซึ่งไม่แน่ชัดว่าอะไรคือความพอเพียงของหน่วยงานนี้ และเรื่องการขยายระยะเวลาการโอนจ่ายค่าตอบแทนของรัฐวิสาหกิจคือทีโอทีและ กสท. จากเดิมหนึ่งปีเป็นสามปี

นายสุเทพ กล่าวว่า ในวาระที่สภาผู้แทนราษฎรจะลงมติร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ในวันพรุ่งนี้ และจากกรณี 3G ที่ศาลปกครองสูงสุดสั่งคุ้มครองชั่วคราว การแทรกแซง-สั่งปิดวิทยุชุมชนจำนวนมากในช่วง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และการจับตา-เอาผิดผู้ใช้เครือข่ายทางสังคมบนโลกออนไลน์ เช่น การจับกุม น.ส.จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไทเป็นครั้งที่สอง ซึ่งแม้ได้รับการประกันตัวแล้ว แต่การดำเนินคดีต้องยังเดินหน้าต่อไป โดยจากกรณี 3G ทำให้มีการพูดเรื่องการตั้งองค์กรอิสระ คือ กสทช. ขึ้นอีก เพื่อให้เกิดการประมูล 3G ซึ่งดูเหมือนจะให้ความสำคัญกับรายได้ทางเศรษฐกิจมากกว่ามิติทางสังคม

คปส. จึงอยากให้สภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน แสดงจุดยืนในการปฏิรูปสื่อว่ามีจุดยืนอย่างไรเพราะตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าไม่มีรัฐบาลใดผลักดันให้มีการจัดตั้งองค์กรอิสระ ก่อให้เกิดการแทรกแซงสื่อในรูปแบบต่างๆ ทั้งจากเงื่อนไขสัญญาสัมปทานและการไม่คุ้มครองสื่อในท้องถิ่น เช่น วิทยุชุมชนและวิทยุท้องถิ่น ซึ่งนี่อาจเป็นประเด็นในการเลือกตั้งครั้งใหม่เพื่อให้ประชาชนพิจารณาว่า พรรคการเมืองใดมีจุดยืนเรื่องนี้ชัดเจน นอกจากนี้ ยังย้ำถึงรัฐบาลด้วยว่า หากจะมีการแปรสัญญาสัมปทานในกิจการวิทยุและโทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคมใดๆ และมีผลให้เป็นการขยายเวลาสัญญาหรือสัมปทาน จะต้องไม่ขัดกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย

ด้านนายวิชาญ อุ่นอก เลขาธิการสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ กล่าวถึงปัญหาของวิทยุชุมชนเมื่อยังไม่มี กสทช.ว่า แม้ว่า กทช. จะเคยออกมาให้ข่าวว่ามีการออกใบอนุญาตวิทยุชุมชน แต่ข้อเท็จจริงคือยังไม่มีใบอนุญาตวิทยุชุมชนออกมาสักฉบับ ยังต้องรอ กสทช. และยังมีการไล่ปิดสถานีวิทยุชุมชนเท่าที่สหพันธ์ฯ หาข้อมูลมาได้จำนวน 47 สถานี ส่วนที่แอบปิดยังไม่มีข้อมูล เมื่อไม่มีองค์กรอิสระที่จะทำหน้าที่ออกใบอนุญาต การปิดวิทยุชุมชนก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ภาคธุรกิจก็ตั้งวิทยุชุมชนที่คลื่นส่งแรงกว่า ส่งผลเบียดทับคลื่นของสถานีขนาดเล็กที่ก่อตั้งตามเจตนารมณ์วิทยุชุมชนด้วย

นายวิชาญ กล่าวต่อว่า หลังจากศาลได้พิพากษาว่าการเปิดประมูล 3G ไม่ใช่อำนาจของ กทช. รัฐบาลก็พยายามชงเรื่องเข้าสภาให้เกิด กสทช. เพื่อให้มีองค์กรอิสระมาจัด การเรื่อง 3G และดูเหมือนทุกคนก็อยากให้ พ.ร.บ.นี้ผ่านไวๆ โดยไม่สนใจเนื้อหา และแม้ว่า ลึกๆ แล้วเขาเองก็อยากให้ พ.ร.บ.กสทช. ผ่าน เพื่อให้มีองค์กรอิสระเข้ามาจัดสรรคลื่นความถี่ของประเทศ แต่เขามองว่า ร่างฉบับของ ส.ว.ยังมีปัญหา เพราะมีการเพิ่มกรรมการ กสทช.จาก 11 คน เป็น 15 คนและมีหน่วยความมั่นคงเข้ามาเป็นกรรมการด้วย ทั้งที่ปัจจุบัน ทหารหรือหน่วยงานความมั่นคงก็เข้าตั้งวิทยุชุมชนกว่า 400 สถานีทั่วประเทศและจ้างคนมาจัดรายการตามความเชื่อของตัวเอง ซึ่งผิดหลักการของวิทยุชุมชนอยู่ แล้ว จึงไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง หากจะสนใจแค่ให้ กสทช. ผ่าน ทั้งนี้ตั้งคำถามต่อสภาฯ ด้วยว่า ก่อนหน้านี้ สภาฯ ได้ยืนยันตามร่าง ส.ส. ไปแล้ว หากตอนนี้ มีการปรับตามร่าง ส.ว. แปลว่าไม่ได้เชื่อมั่นในร่างที่ผ่านจาก ส.ส. ไปใช่หรือไม่

น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ รองประธาน คปส. และอดีตกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กสทช. กล่าวว่า กองทัพ CAT และ TOT สามหน่วยงานนี้จะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการเกิดขึ้นของ กสทช. เพราะเขาคือเจ้าของคลื่นความถี่เดิม โดยกองทัพมีวิทยุ 200 กว่าสถานีและทีวีสองช่องคือ ช่อง 5 และ 7 ส่วน CAT และ TOT ดูแลคลื่นโทรคมนาคมทั้งหมด หากมี กสทช. หน่วยงานเหล่านี้ก็จะได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะต้องถูกปรับโครงสร้าง ทำให้การเกิดกฎหมาย กสทช. เป็นไปได้ยาก

น.ส.สุภิญญา ระบุว่า ถ้าไม่ผ่านร่าง พ.ร.บ.กสทช.ในปีนี้ ประเทศไทยจะเละกว่านี้หลายเท่าตัว เพราะที่ผ่านมา ความล่าช้าด้านการปฏิรูปวิทยุโทรทัศน์ หยุดนิ่ง สื่อใหม่อย่างวิทยุชมชน ทีวีดาวเทียม ก็ยังไม่มีใครให้ใบอนุญาต ที่ผ่านมา มี กทช. ที่พอทำหน้าที่ได้ แต่เมื่อถูกฟ้องเรื่องอำนาจหน้า ที่ ก็ต้องรอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ล่าสุด กทช. ก็แทบทำงานหลักๆ ไม่ได้ ได้แต่กำกับดูแล แต่ระบบสัมปทานยังอยู่ เช่น นโยบายย้ายค่ายเบอร์เดิม ยังบังคับใช้ไม่ได้ เมื่อ กทช.จะเพิ่มค่าปรับ เอกชนก็ไม่ยอม แต่ กทช.ก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะคู่สัมปทานกับเอกชนคือรัฐวิสาหกิจ หากเปลี่ยนจากระบบสัมปทานเป็นให้ใบอนุญาตได้ กทช. ก็จะลงโทษหรือยึดใบอนุญาตเพื่อจะกำกับเอกชนได้ ดังนั้นหาก กสทช. ไม่ได้เกิดอีก จะไม่เกิดอะไรเลย แต่ก็ไม่อยากให้แค่ผ่านร่างฉบับของ ส.ว. โดยอยากให้ ส.ส. หนักแน่นในการยืนยันร่างของตัวเอง เพราะอย่างน้อยร่างของ ส.ส. ตรงกับเจตนารมณ์ของการปฏิรูปสื่อ จึงอยากให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมระหว่างสองสภาเพื่อเจรจาตกลงกัน เพื่อให้กฎหมายเดินหน้าไปได้ โดยหวังว่า อย่างน้อยภายในเดือนพฤศจิกายน จะตั้ง กสทช.ได้ เพื่อเริ่มต้นปฏิรูปวิทยุโทรทัศน์และคมนาคมได้เสียที ทั้งนี้ ประมาณการว่าร่าง พ.ร.บ.ผ่านในปีนี้ ราวปี 2556 จะเริ่มจัดสรรคลื่นความถี่ได้ใหม่อีกครั้ง

--------------

แถลงการณ์

"ด้วยระยะเวลากว่าสิบปีที่ผ่านมาไม่ปรากฏว่ามีรัฐบาลใดผลักดันให้มีการจัดตั้งองค์กรอิสระมากำกับดูแลสื่อวิทยุและโทรทัศน์ได้ ด้วยเหตุที่ยังมีหลายฝ่ายคัดค้านการปฏิรูประบบและเข้าแทรกแซงกระบวนการสรรหากรรมการ ประกอบกับฝ่ายบริหารเองก็ขาดเจตจำนงทางการเมืองในการผลักดันให้เกิดองค์กรอิสระมากำกับดูแลวิทยุโทรทัศน์ตามเจตนารมณ์การปฏิรูปสื่อที่รัฐธรรมนูญกำหนด

การปฏิรูปสื่อในความหมายเดิมที่ประชาชนต้องการเห็นคือ การมีองค์กรอิสระมาจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับดูแลตามระบบใหม่ องค์กรของรัฐไม่ผูกขาดคลื่นความถี่และเปิดให้ภาคส่วนอื่นๆในสังคมได้เข้าถึงและใช้ทรัพยากรการสื่อสารนี้อย่างทัดเทียม ขณะที่รัฐบาลต้องลดอำนาจตัวเองลงมากำกับทิศทางของหน่วยงานรัฐที่ยังต้องใช้คลื่นความถี่ เพื่อทำหน้าที่บริการสาธารณะ ตลอดจนรัฐต้องรับรองสิทธิเสรีภาพในด้านข้อมูลข่าวสารของประชาชน แต่เป้าหมายในการปฏิรูประบบสื่อข้างต้นกลับเป็นเรื่องที่ถูกยื้อยุดไว้ในระบบผูกขาดเช่นในอดีต

แม้กระทั่งปัจจุบันทิศทางการปฏิรูปสื่อที่สะท้อนออกมาจากฝ่ายบริหาร ทั้งกรณีที่รัฐบาลต้องการแปรสัญญาสัมปทานเพื่อผลักดันสามจี การปิดกั้นวิทยุชุมชนและวิทยุท้องถิ่นที่ประชาชนในท้องถิ่นสามารถเข้าถึงได้ และการเฝ้าจับตาเอาผิดกับผู้ใช้สื่อใหม่ (New Media) ต่างสะท้อนอย่างชัดเจนว่า รัฐบาลไม่ต้องการให้เกิดการปฏิรูปสื่อในความหมายเดิม ทั้งยังต้องการคงระบบสัมปทานที่รัฐผูกขาดและแสวงประโยชน์ไว้ จึงเท่ากับว่ารัฐบาลเป็นปฏิปักษ์กับการปฏิรูปสื่อในความหมายที่แท้จริงใช่หรือไม่

คปส.จึงมีข้อเรียกร้องต่อ สภาผู้แทนราษฎร และรัฐบาล ดังนี้

1. ขอเรียกร้องให้ทุกส่วนในสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมาจากการเลือกตั้ง ทั้งพรรครัฐบาล พรรคร่วมรัฐบาล และพรรคฝ่ายค้าน ได้แถลงแสดงจุดยืนในการผลักดันการปฏิรูปสื่อต่อสาธารณะ เพื่อให้มีความชัดเจนว่าแต่ละฝ่ายมีจุดยืนในเรื่องนี้อย่างไร ต้องการให้มีการปฏิรูปสื่อหรือไม่ หรือจะปฏิรูปสื่อในความหมายใด อันจะเป็นประโยชน์ต่อการเลือกผู้แทนของประชาชนในวาระต่อไป

2. ขอให้รัฐบาลในฐานะฝ่ายบริหารที่มีความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงสื่อ ได้คำนึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนและดำเนินการอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย หากรัฐบาลต้องการแปรสัญญาสัมปทานในกิจการวิทยุและโทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคมใดๆ ก็ตาม  และมีผลให้เป็นการขยายระยะเวลาสัญญาหรือสัมปทาน นอกจากจะเป็นเครื่องยืนยันว่ารัฐบาลนี้ต้องการคงอภิสิทธิ์สื่อในระบบเดิมแล้ว ยังขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมาย

ด้วยความเชื่อมั่นในสิทธิเสรีภาพของประชาชน
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.)
28 กันยายน 2553

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net