Skip to main content
sharethis

สันติ – ผู้ร่วมเดินสันติปัตตานีถือธงรณรงค์ในเรื่องการสร้างความสามัคคีและสมานฉันท์ขณะร่วมเดินในพื้นที่จังหวัดปัตตานี (ภาพจากอามานนิวส์)

 

เสวนา – คณะผู้ร่วมเดินสันติปัตตานีร่วมเสวนากับชาวบ้านในมัสยิดนูรลญันนะห์ บ้านพระพุทธ อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ก่อนพักข้างคืนที่นั่นก่อนเดินทางเข้าเขตจังหวัดปัตตานีในวันรุ่งขึ้น โดยมีกลุ่มสมณะที่เดินสันติปัตตานี เข้าร่วมวงเสวนาภายในมัสยิดครั้งนี้ด้วย

 

พักเหนื่อย – เด็กๆ จากบ้านโฮมฮักจากจังหวัดยโสธร นอนพักเหนื่อยบนตักแม่ติ๋วที่มัสยิดนูรลญันนะห์ หลังจากมาร่วมเดินเท้าสันติปัตตานีครั้งนี้ด้วย

 

(31 ส.ค. 53) ถึงวันนี้คณะผู้เดินเพื่อสันติปัตตานีจากมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา จังหวัดนครปฐม ไปยังจังหวัดปัตตานี นำโดยนายโคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสภาศาสนสัมพันธ์เพื่อสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คงเดินทางถึงจุดหมายปลายทางที่ปัตตานีแล้ว

อันที่จริงการเดินเท้าเข้าเขตชายแดนใต้จริงๆ เริ่มขึ้นมาตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2553 เมื่อคณะทั้งหมดเดินทางถึงบ้านพระพุทธ หมู่บ้านชื่อพระพุทธ แต่ชาวบ้านเป็นมุสลิม ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเทพาใกล้สี่แยกพระพุทธ อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา หลังจากเริ่มต้นเดินเท้ามาตั้งแต่วันที่ 11 กรกฎาคม 2553

ด้วยวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านพระพุทธ หมู่บ้านใกล้ชายทะเลแห่งนี้ ไม่ต่างจากชาวบ้านมุสลิมทั่วไปในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงถือเป็นประตูสู่ชายแดนใต้ก็ว่าได้

โดยจุดแวะพักค้างคืนของคณะเดินเพื่อสันติภาพปัตตานี คือที่มัสยิดนูรุลญันนะห์ บ้านพระพุทธ เพื่อพบปะกับชาวบ้านและมีการจัดเสวนา เพื่อบันทึกเทปออกอากาศรายการเวทีสาธารณะทางสถานีโทรทัศน์ทีวีไทยด้วย

ในวงเสวนาที่มัสยิดนูรุลญันนะห์ มีชาวบ้านมาล้อมวงกันเต็มมัสยิด ส่วนวงในประกอบด้วยคณะผู้เดินสันติภาพ เช่น นายโคทม นายประมวล เพ็งจันทร์ รวมทั้งคณะผู้เดินเท้าที่มาสมทบเพิ่มเติม

วงเสวนามีการพูดคุยกันอย่างกว้างขวางในเรื่องสันติภาพ ความขัดแย้ง และความไม่เป็นธรรมต่างๆ โดยยกตัวอย่างสถานการณ์และสภาพปัญหาที่พบตามรายทาง โดยมีเครือข่ายภาคประชาชนจากหลายจังหวัดในภาคใต้ เช่น จากจังหวัดชุมพร นครศรีธรรมราช สงขลา เดินทางมาร่วมวงเสวนาครั้งนี้ด้วย

แต่ประเด็นที่น่าสนใจแวดวงมุสลิมด้วยกัน ก็คือการตั้งคำถามถึงการให้พระสงฆ์ หรือสมณะที่ร่วมเดินสันติภาพในครั้งนี้ด้วย ได้เข้ามาพักอาศัยอยู่ในมัสยิดซึ่งเป็นศาสนสถานของชาวมุสลิม

ด้วยเพราะอาจเป็นประเด็นที่อ่อนไหวสำหรับชาวมุสลิม ที่ค่อนข้างอินหรือศรัทธามั่นกับหลักการศาสนาอิสลามมาก ยิ่งในท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบที่เป็นอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ขณะนี้ เพราะอาจเป็นการก่อความขัดแย้งเพิ่มขึ้นมาอีกได้

นายณัฐกิจ สมานมิตร กรรมการอิสลามประจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในฐานะหนึ่งในผู้ที่เคยร่วมเดินสันติภาพครั้งนี้ด้วย เมื่อครั้งการเดินเท้าอยู่ในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งตามคณะมาสมทบที่มัสยิดแห่งนี้ กล่าวขึ้นว่า เรื่องนี้ทำได้ และมิติทางด้านศาสนาก็ไม่ใช่เงื่อนไขของความขัดแย้ง

จากนั้นก็ยกตัวอย่างสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยครั้งหนึ่งที่คณะผู้เดินสันติภาพซึ่งประกอบด้วยสมณะจำนวนหนึ่ง เดินทางมาถึงที่หมู่บ้านชาวมุสลิม จากนั้นนายณัฐกิจ ได้โทรศัพท์สอบถามไปยังประธานคณะกรรมการอิสลามประจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ว่า จะหาวัดให้สมณะเหล่านั้นใช้เป็นที่หลับนอน

“ตอนนั้นประธานบอกให้นอนในมัสยิดไปเลย จึงทำให้เราเองก็ทราบว่าในอิสลามสามารถให้สมณะหรือนักบวชในศาสนาอื่นเข้าไปในมัสยิดได้ ขณะเดียวกัน เราก็คิดว่าโต๊ะครูก็สามารถที่จะเข้าไปบรรยายธรรมในวัดได้ด้วยเช่นกัน” นายณัฐกิจ กล่าว

ขณะที่นายประมวล เพ็งจันทร์ อดีตอาจารย์ภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เสริมความเห็นในประเด็นด้วยเช่นกัน

“ทีแรกเรากังวลเรื่องพระสงฆ์ว่าจะพักในมัสยิดได้หรือไม่ แต่ทางโต๊ะครูบอกว่าพักได้ แล้วชาวบ้านมุสลิมที่นั่นก็ยังจัดคนมาดูแลด้วย เช่น จะนอนมีมุ้งหรือไม่ สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดความรู้สึกห่วงใยต่อกัน เมื่อมีความห่วงใยกันสันติสุขก็เกิดได้ในใจเรา” นายประมวล กล่าว

เช่นเดียวกับคนมุสลิมในหมู่บ้านชื่อพระพุทธ ความห่วงใยต่อคณะผู้เดินสันติภาพที่มีความหลากหลายทั้งความเชื่อทางศาสนาและชาติพันธ์ เพราะมีทั้งผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ อิสลาม คริสต์ มีทั้งที่มาจากภาคเหนือ ภาคกลางภาคอีสาน ฝรั่งมังค่าก็ยังมีถึงสองหน่อ!

จบการเสวนา คณะทั้งหมดได้ร่วมกันละศีลอดกับชาวบ้าน พวกเขาไม่ได้นอนพักมัสยิดแห่งนี้ แต่ไปนอนพักที่โรงเรียนประถมที่อยู่ใกล้ๆ แทน

วันรุ่งขึ้นคณะทั้งหมดได้ร่วมเดินเท้ามุ่งหน้าสู่ปัตตานี โดยจุดเริ่มต้นของการเข้าเขตจังหวัดปัตตานีอยู่ที่บ้านเกาะหม้อแกง ตำบลท่ากำชำ จังหวัดปัตตานี

ณ จุดนี้เองที่มีคณะผู้ใหญ่ในจังหวัดปัตตานีหลายคนมาร่วมต้อนรับ ได้แก่ ว่าที่ร้อยตรีเลอเกียรติ์ วงศ์โพธิพันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี นาสนั่น พงษ์อักษร นายอำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี พร้อมด้วยข้าราชการครู ประชาชน นักเรียนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม

จากนั้นได้เดินทางไปพักค้างคืนที่ศูนย์จำหน่ายและแสดงสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือศูนย์โอท็อปจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ตำบลบ่อทอง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี โดยมีทหารคอยรักษาความปลอดภัยให้ตลอดการเดินเท้า ขณะเดียวกันก็มีนายทหารนอกเครื่องแบบมาร่วมเดินสันติปัตตานีครั้งนี้ด้วย

 คณะเดินเท้าเพื่อสันติภาพถึงปัตตานี คนพื้นที่ร่วมต้อนรับ ภาคประชาชนร่วมถกต่อยอดกิจกรรมสร้างสันติสู่ชายแดนใต้

ในช่วงเย็นวันนั้น คณะผู้เดินสันติปัตตานีได้มีโอกาสร่วมเสวนาวงเล็กๆ กับกลุ่มภาคประชาสังคมในพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มไทยพุทธที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่

วันต่อมาการเดินเท้าเริ่มขึ้นในช่วงเช้า มุ่งหน้าไปยังตัวเมืองปัตตานี อันเป็นที่ตั้งของมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี อันเป็นจุดหมายปลายทางของการเดินสันติปัตตานีครั้งนี้ ซึ่งมีกำหนดถึงในวันที่ 1 กันยายน 2553

การเดินสันติครั้งนี้มีประชาชน นักเรียนนักศึกษามาร่วมเดินด้วย เป็นแถวยาวเหยียด ร่วมกว่า 50 คน เช่นเดียวกับการเดินครั้งที่ผ่านๆ มา ที่มีผู้เข้ามาสมทบมากบ้างน้อยบ้าง

แต่ก่อนถึงตัวเมืองปัตตานี อีกแค่ไม่ถึง 10 กิโลเมตร คณะทั้งหมดได้หยุดพักค้างคืนกันอีกคืนที่โรงเรียนศาสน์สามัคคี ตำบลตุยง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม

ที่นี่คณะผู้ร่วมเดินสันติปัตตานีได้มีโอกาสเสวนากับกลุ่มปัญญาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ในช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนที่จะถึงเวลารับประทานอาหารละศีลอดของชาวมุสลิม โดยมีการพูดการต่อยอดกิจกรรมต่างๆ หลังจากการเดินสันติปัตตานีจะสิ้นสุดลงในวันรุ่งขึ้น

เพราะหากแม้การเดินเท้าเพื่อสันติครั้งนี้จะสิ้นสุดลง แต่ก้าวย่างของการสร้างสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้แห่งนี้ก็ไม่อาจจบลงไปที่จุดหมายปลายทางของการเดิน

หากแต่จักต้องโบยบินไปกระจายเมล็ดพันธ์แห่งสันติภาพและภราดรภาพให้เจริญงอกงามทุกย่อมหญ้าประชามี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net