Skip to main content
sharethis

เผยกรณีกัมพูชาส่งหนังสือถึงยูเอ็นจีเอและยูเอ็นเอสซี เป็นการเวียนหนังสือกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชาที่คลาดเคลื่อน วาดภาพไทย "รุนแรง-รุกราน" ชี้ถึงไม่มีเอ็มโอยู 2543 ก็ต้องเจรจาเพราะเป็นหลักของชาติภาคี

 
วันนี้ (9 ส.ค.53) เมื่อเวลา 17.00 น.ที่โรงแรมเซนทารา แกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่สมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ส่งหนังสือถึงประธานการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (ยูเอ็นจีเอ) และคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) ประท้วงท่าทีของไทยที่จะยกเลิกบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ไทย-กัมพูชา ปี 2543 รวมถึงจะใช้วิธีทางการทูตและการทหารในการแก้ปัญหาชายแดน ซึ่งจดหมายดังกล่าวยังระบุด้วยว่า ข้อพิพาทบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชาที่ได้รับการพิจารณาชี้ขาดให้ได้รับการดูแลจากกัมพูชาโดยศาลโลกเมื่อปี 2505 และองค์กรอื่นๆ ในปี 2477 ซึ่งไทยละเมิดคำตัดสินของศาลระหว่างประเทศ
 
นายอภิสิทธิ์ชี้แจงว่า ความจริงเป็นการเวียนหนังสือของกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชาซึ่งก็อยู่บนพื้นฐานที่คิดว่าคลาดเคลื่อนทั้งคำพูดและการรายงานอะไรต่างๆ แต่ก็คงไม่มีปัญหา เพราะกระทรวงการต่างประเทศของไทยก็คงจะได้ทำความเข้าใจต่อไป แต่เรื่องนี้ก็เป็นตัวบ่งบอกเหมือนกันว่าการที่หลายคนบอกว่าถ้าเรายกเลิกเอ็มโอยูปี 2543 แล้วเขาจะต้องกลับมายึดสนธิสัญญายาม-ฝรั่งเศสนั้นมันไม่ใช่ เป็นอย่างที่ตนพูดว่าเขาจะต้องย้อนกลับไปหาทางเอาองค์กรระหว่างประเทศเข้ามาเหมือนกัน ส่วนหลักของการแก้ปัญหาตามเอ็มโอยูปี 2543 ถึงไม่มีเอ็มโอยูเรื่องการเจรจาก็ต้องทำเพราะเป็นหลักของสหประชาชาติที่เราเป็นภาคีอยู่แล้ว
 
เมื่อถามว่า ความพยายามที่กัมพูชาจะนำประเทศที่ 3 เข้ามาเกี่ยวข้องนั้นคิดว่าจะสำเร็จหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ก็ไม่ควรจะสำเร็จ เพราะเรามีเอ็มโอยูดังกล่าวอยู่ เมื่อถามต่อว่ากัมพูชาอ้างว่าถ้ามีการยกเลิกเอ็มโอยูนี้ เท่ากับไทยทำผิดกฎหมายระหว่างประเทศ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรายังคงไปไม่ถึงตรงนั้น แต่อย่างที่เรียนว่าขณะนี้ตนมองว่าเอ็มโอยูเป็นประโยชน์ในการแก้ปัญหาอยู่ ทั้งในเรื่องที่ได้พูดไปแล้วเกี่ยวกับมรดกโลก ทั้งในเรื่องของการเป็นฐานของการที่เราจะดำเนินการอะไรในกรณีที่มีเห็นว่าการรุกล้ำเข้ามา อีกทั้งตนคิดว่าก็จะทำให้เป็นหลักประกันที่ทำให้ชาวโลกได้เห็นว่าเรายึดมั่นตามเจตนารมณ์ของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เพราะตนคิดว่าค่อนข้างชัดเจนว่ากัมพูชาพยายามที่จะทำให้ภาพของเราในสายตาของชาวโลกเป็นฝ่ายที่รุนแรงหรือเข้าไปรุกราน ซึ่งตรงกันข้ามเพราะสิ่งที่ตนพูดทั้งหมดคือการที่เราต้องตอบโต้ถ้ามีการรุกล้ำเข้ามาในส่วนของเรา ส่วนการชี้แจงต่อกับต่างประเทศนั้น ไม่ได้มีปัญหา เพราะจุดยืนของเราชัดเจนอยู่แล้ว
 
ต่อคำถามถึงแรงกดดันต่อเรื่องการทูตและการทหารที่จะไปดูแลพื้นที่ตรงนั้นยากขึ้นหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่ เพราะคิดว่าเป็นตัวที่บ่งบอกว่าสภาพปัญหาต่างๆ ที่รัฐบาลประเมินอยู่และได้อธิบายมานั้นก็เป็นจริง เพราะฉะนั้น เราก็จะต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบ เมื่อถามต่อว่า จากสิ่งที่เกิดขึ้น ดูเหมือนกัมพูชานำความขัดแย้งภายในประเทศมาเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเพื่อวัตถุประสงค์ของตัวเอง นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนถึงได้เรียนว่าดีที่สุดสำหรับเราก็คือมีอะไรภายในก็พูดคุยกัน อย่าไปทำให้เกิดความรู้สึกที่ว่าเรามีปัญหากันเอง ทะเลาะเบาะแว้ง มีความรุนแรง หรืออะไร
 
เมื่อถามว่า หนังสือที่ไทยจะทำเพื่อชี้แจงต่อยูเอ็นนั้นจะเป็นอย่างไร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ดำเนินการ เป็นเรื่องของระดับกระทรวง เพราะหนังสือของกัมพูชาก็ออกมาจากกระทรวงการต่างประเทศของเขา ส่วนการที่กัมพูชาออกมาบอกว่าไทยละเมิดการตัดสินของศาลโลก นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า คืออย่างนี้ครับ เขายังใช้คำว่า "ถ้า" สิ่งที่เขาอ้างว่าหนังสือพิมพ์บอกว่าตนพูดนั้นเป็นจริงหรืออะไรต่างๆ ซึ่งมันไม่จริงอยู่แล้ว ซึ่งตรงนั้นเราก็ชี้แจงได้อยู่แล้ว ไม่มีปัญหา
 
ต่อข้อถามว่า การที่เราไม่มีเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศกัมพูชา ทำให้เราเสียเปรียบในแง่ของการติดตามความเคลื่อนไหวหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า "ไม่หรอกครับ" เมื่อถามต่อว่า ตอนนี้ยังไม่มีการส่งเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศกัมพูชากลับไป นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ต้องรอทางกัมพูชา เพราะเขาเป็นฝ่ายที่สร้างปัญหาขึ้นในเรื่องของการที่จะมาละเมิดระบบของเรา
 
 
 
สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net