Skip to main content
sharethis
 
นับจากการตายของ ‘สุไลมาน แนซา’ ผู้ต้องสงสัยตามหมายพรก.ฉุกเฉินตายปริศนาในค่ายอิงคยุทธฯ เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคมที่ผ่านมา นับเป็นรายที่สอง ที่ผู้ต้องสงสัยเสียชีวิตระหว่างการควบคุมของเจ้าหน้าที่ทหาร ต่อจากกรณีอิหม่ามยะผา คาเซ็ง เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ถึงกระบวนการยุติธรรมภายใต้กฎหมายพิเศษในพื้นที่ชายแดนใต้อย่างมาก
รายงานข่าวแจ้งว่า ศชต- ศป.กตร.สน สรุปรายงานการปฏิบัติงานตั้งแต่ 21 กค. 2548 – 31 มีนาคม 2553 ได้ปิดล้อมตรวจค้นจำนวน 21,606 ครั้ง 42,737 เป้าหมาย ออกหมายจับตามพ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 4,171 หมาย จับกุมผู้ต้องสงสัย 2,962 หมาย ปิดล้อมปะทะคนร้ายเสียชีวิต 46 คน ทั้งนี้ ตั้งแต่เกิดเหตุความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ปี 2547 พื้นที่นี้อยู่ภายใต้การบังคับใช้กฎหมายพิเศษ 3 ฉบับ คือ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก 2457 พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 และพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร 2551 โดยบังคับใช้แล้วในพื้นที่ 4 อำเภอของจ.สงขลา คือ จะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี
นายสิทธิพงษ์ จันทร์วิโรธ เลขาธิการศูนย์ทนายความมุสลิม เปิดเผยว่า ขณะนี้มีชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนเข้ามาที่ศูนย์มากกว่า 1,000 คดี โดยทั้งหมดที่มาร้องเรียนเป็นชาวไทยมุสลิมทั้งหมด เนื่องจากรัฐตั้งธงว่าในสถานการณ์การก่อความไม่สงบในพื้นที่นี้ มีมูลเหตุจูงใจในการแบ่งแยกดินแดนโดยอาศัยเงื่อนไขเรื่องชาติพันธุ์และศาสนา การบังคับใช้กฎหมายพิเศษด้วยข้อกล่าวหาพิเศษเพื่อความมั่นคงจึงสร้างผลกระทบและมีผลต่อการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนมาโดยตลอด
นายสิทธิพงษ์ กล่าวว่า ขณะนี้ประชาชนตกอยู่ในสภาพหวาดวิตก ไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม เพราะโดยหลักแล้ว เมื่อถูกจับตามอำนาจตามกฎอัยการศึก ผู้ถูกกักตัวควรได้รับการปล่อยภายใน 7 วัน แต่กลับเป็นว่าเมื่อกักตัวครบ 7 วันแล้ว การ ‘ซักถาม’ ยังไม่พบการกระทำผิด ทหารก็จะมาขอออกหมายกับศาล ในฐานะผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้เกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบแทน ซึ่งเป็นอำนาจตามพรก.ฉุกเฉินฯ กลายเป็นแนวปฏิบัติว่าเจ้าหน้าที่สามารถใช้กฎหมายพิเศษ 2 ฉบับ ควบคุมตัวบุคคลได้ 37 วัน ทั้งๆ ที่ควรจะเป็นเพียง 7 วัน หรือ 30 วันแล้วแต่กรณี ซึงน่าจะเป็นการใช้กฎหมายซ้ำซ้อน เนื่องจากพรก.ฉุกเฉินฯ ได้กำหนดชัดว่าการควบคุมตัว จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อมีการมาขออนุญาตศาลเพื่อออกหมายจับ แต่เจ้าหน้าที่กลับใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกจับมาก่อน แล้วขออนุญาตศาลภายหลัง
นายสิทธิพงษ์ กล่าวว่า หลายคนหลังจากการตรวจค้น และถูกควบคุมตัวด้วยกฎอัยการศึก ครอบครัวและญาติของผู้ต้องสงสัย ยากลำบากในการติดตามผู้ถูกควบคุมตัวเนื่องจากไม่ได้รับแจ้งว่าถูกกักหรือควบคุมตัวที่ใด จะรู้ก็ต่อเมื่อได้รับหมายศาล ‘หมาย ฉฉ’ ให้ควบคุมตัวต่ออีก วิธีการเหล่านี้ทำให้ผู้ถูกควบคุมตัวถูกจำกัดสิทธิ ไม่สามารถเข้าถึงทนายความเพื่อร่วมรับฟังการสอบปากคำ รวมทั้งไม่ให้ญาติเยี่ยม จนกระทั่งปรากฎว่ามีการฟ้องร้องกลับว่าระหว่างกระบวนการซักถามมีการซ้อมทรมานระหว่างการกักตัวหรือควบคุมตัวบ่อยครั้ง ฝ่ายกองทัพจึงมีนโยบายยกเลิกกฎห้ามเยี่ยม 3 วันแรกโดยญาต แต่ยังห้ามพบทนายความอยู่
นายสิทธิพงษ์ กล่าวอีกว่า ผู้ถูกควบคุมตัวบางราย เจ้าหน้าที่มักหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำในการประกันสิทธิเสรีภาพของผู้ถูกควบคุมตัว โดยอ้างระเบียบกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (ระเบียบกอ.รมนฯ) ที่เปิดช่องการขอขยายเวลาการควบคุมตัว ไม่ต้องนำตัวผู้ถูกควบคุมมาที่ศาล ทำให้ทนายและญาติไม่มีโอกาสได้สังเกตดูตามเนื้อตัวร่างกาย จึงมีรายงานและร้องเรียนการซ้อมทรมานผู้ถูกควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษเพื่อให้รับสารภาพจำนวนมาก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 11-13 มิถุนายนนี้ นางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วชิระ กรรมการสิทธฺมนุษยชนแห่งชาติ และอนุกรรมการภาคใต้ ลงพื้นที่จังหวัดปัตตานี เพื่อติดตามปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในมิติต่างๆ ในคดีความมั่นคงภายใต้กฎหมายพิเศษ และเตรียมเข้าพบแม่ทัพภาค 4 เพื่อต่อรองให้มีนโยบายแจ้งญาติและครอบครัวทันที หลังการทำการบุกตรวจ และควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยว่านำไปกักหรือควบคุมตัวที่ใด เพื่อครอบครัวจะได้ไม่เป็นกังวลว่าถูกอุ้มหาย ถูกควบคุมตัวโดยมิชอบ หรือถูกลวงไปฆ่านอกกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งมาฟังข้อเท็จจริงการเสียชีวิตของนายสุไลมาน
นอกจากนี้จะมารับฟังรายงานข้อเสนอต่อฝ่ายตุลาการต่อกระบวนการยุติธรรมโดยศูนย์ทนายความมุสลิม เพื่อผลักดันให้เป็นไปตามกรอบกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่ประเทศไทยในฐานะรัฐภาคีย่อมผูกพันในการประกันสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน แม้ในภาวะฉุกเฉิน
ข้อเสนอต่อฝ่ายตุลาการต่อกระบวนการยุติธรรม คดีความมั่นคง โดยศูนย์ทนายความมุสลิม เช่น กรณีการออกหมายจับตามพรก.ฉุกเฉินฯ พยาน หลักฐานที่เจ้าหน้าที่ได้เสนอให้มีการออกหมายจับนั้น ศาลควรเรียกมาไต่สวนให้ทราบสาเหตุของการขออำนาจการจับกุมนั้น ควรกำหนดมาตรการในการให้ผู้ควบคุมตัวทำรายงานแสดงสถานะปัจจุบันของผู้ถูกควบคุมตัวต่อศาล เพื่อให้มีการจัดตั้งสารบบในการแจ้งสถานะอันนำไปสู่การป้องกันมิให้มีการออกหมายจับซ้ำ และขั้นตอนในการปลดหมาย
การขยายระยะเวลาการควบคุมตัว ควรนำขั้นตอนของข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยหลักเกณท์และวิธีการเกี่ยวกับการออกคำสั่งหรือหมายอาญา พ.ศ. 2548 มาบังคับใช้ โดยกำหนดให้มีการนำตัวผู้ถูกควบคุมตัวมาศาลเพื่อทำการไต่สวนว่าผู้ถูกควบคุมตัวนั้นจะคัดค้านการขยายระยะเวลาการควบคุมตัวหรือไม่ เนื่องจากปัจจุบันนี้ศาลยึดเอาแนวทางของระเบียบกอ.รมน.ฯ มาปฏิบัติ ซึ่งมีลำดับศักดิ์ทางกฎหมายด้อยกว่าพรก.ฉุกเฉินฯ ประมวลกฎหมายอาญาฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐธรรมนูญ เป็นต้น
ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตรภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า 6 ปีกว่าในสถานการณ์ความไม่สงบจังหวัดชายแดนใต้ มีผู้เสียชีวิตกว่า 4,000 คน และบาดเจ็บนับหมื่นคน รัฐจำเป็นต้องเรียกผู้ต้องหาในคดีความมั่นคงหรือกลุ่มขบวนการที่ก่อเหตุว่า “ผู้ก่อความรุนแรง” ไม่ยกระดับเป็นผู้ก่อการร้ายเหมือนเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองในกรุงเทพฯ ที่ไม่ลังเลใจเรียก “ผู้ก่อการร้าย” เพราะในพื้นที่ชายแดนใต้นี้ กลุ่มขบวนการใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือรณรงค์ทางการเมือง โดยใช้ศาสนาและชาติพันธุ์เป็นเงื่อนไขสำคัญ ซึ่งสามารถเชื่อมโยงเป็นการเมืองระหว่างประเทศได้ ดังนั้นรัฐต้องแสดงออกทุกวิถีทางว่า รัฐสามารถควบคุมเหตุการณ์และกุมสภาพการบังคับใช้กฎหมายได้ ท่าทีของรัฐที่ระมัดระวังการแทรกแซงจากองค์กรระหว่างประเทศนี้เอง ด้านหนึ่งก็ทำให้ไปละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนจำนวนมาก
“ขณะเดียวกันรัฐไทยก็ขาดความชอบธรรมในนิติรัฐ เพราะทุกคนควรเท่าเทียมกันภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่เมื่อเลือกใช้กฎอัยการศึก พรก.ฉุกเฉินเป็นเครื่องมือสำคัญ ในการบุกค้น กักตัวผู้ต้องสงสัย ความเสียหายที่เกิดขึ้น รัฐกลับออกกฎหมายห้ามเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐหากเกิดข้อผิดพลาดหรือเสียหายในการบังคับใช้กฎหมาย”
 
อ่านเพิ่มเติม รายงานข้อเสนอต่อฝ่ายตุลาการต่อกระบวนการยุติธรรม ในคดีความมั่นคง ใน http://www.deepsouthwatch.org/node/523

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net