Skip to main content
sharethis

ขอให้เสื้อแดงนำข้อเสนอไปพิจารณา ส่วนมาร์คจะกลับจากบาร์เรน 31 มี.ค. ด้าน ปชป. วางกรอบ 6 ธ.ค. ยุบสภา 23 ม.ค. เลือกตั้งใหม่ ส่วนครม. มีมติขยาย พรบ.มั่นคงฯ ถึง 7 เม.ย. ประกาศเพิ่ม 2-5 เม.ย. พื้นที่หัวหิน-ชะอำรับการประชุมลุ่มน้ำโขง

 

อภิสิทธิ์ให้คนเสื้อแดงนำข้อเสนอไปพิจารณา ส่วนตนจะกลับจากต่างประเทศ 31 มี.ค.

ศูนย์สื่อทำเนียบรัฐบาล รายงานว่า เมื่อวานนี้ (30 มี.ค.) เวลา 07.45 น. ณ ท่าอากาศยานขนส่งทหาร กองบิน 6 (บน.6) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ก่อนออกเดินทางโดยเที่ยวบินพิเศษของกองทัพบก ไปเยือนราชอาณาจักรบาห์เรนถึงกรณีการเจรจากับแกนนำคนเสื้อแดงครั้งที่ 2 ที่ไม่สามารถหาข้อยุติได้ รวมถึงการที่นายชำนิ ศักดิ์เศรษฐ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เข้าหารือเกี่ยวกับแนวทางการเจรจาและการเดินหน้าการแก้ไขปัญหาสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง ว่า คิดว่ารัฐบาลได้แสดงออกอย่างชัดเจนว่าได้ใช้ความพยายามอย่างถึงที่สุด รับฟังข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุม และรับฟังจากประชาชนทั่วไปที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างจากผู้ชุมนุม ได้พยายามเสนอทางออกที่คิดว่ามีเหตุมีผลรองรับชัดเจน และได้ให้ทางตัวแทนของกลุ่มผู้ชุมนุมได้ใช้เวลาในการกลับไปพิจารณาเพราะตนจะเดินทางไปต่างประเทศและกลับในวันที่ 31 มีนาคม 2553

แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายและเป็นที่น่าสังเกตว่าได้รับการปฏิเสธอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือทั้ง ๆ ที่นายวีระ มุสิกพงศ์ แกนนำกลุ่มผู้ชุมนุม ได้พยายามเปิดทางให้มีการพูดคุยกันในวันพฤหัสบดีที่ 1 เมษายน 2553 แต่ก็กลับมีการส่งสัญญาณให้ปิดการเจรจาโดยเร็ว ตนคิดว่าเมื่อเป็นเช่นนี้รัฐบาลก็ยังยืนอยู่ในจุดเดิม นั่นก็คือจะพูดคุยกับผู้ชุมนุมได้เสมอหากผู้ชุมนุมไม่มีการเคลื่อนไหวในลักษณะที่กดดันหรือคุกคาม พร้อมๆ กับที่จะบริหารสถานการณ์ของการชุมนุมให้เกิดผลกระทบความเดือดร้อนน้อยที่สุด และจะเดินหน้าในการบริหารราชการแผ่นดิน ทำงานต่างๆ เหมือนอย่างที่ตนยังทำอยู่ไม่ว่าจะเป็นงานในหรือต่างประเทศ

"หวังว่าประชาชนจะมองเห็นชัดเจนและมีความเข้าใจมากยิ่งขึ้นว่าการที่จะพยายามตัดสินใจเพื่อประโยชน์ส่วนรวม และมีการประนีประนอมแล้วกลับไม่ได้รับการตอบสนอง เพราะฉะนั้นก็มีความจำเป็นที่จะต้องเดินหน้าในการที่จะทำงาน และบริหารสถานการณ์ของการชุมนุมต่อไป ทั้งนี้ก็อยากขอให้ประชาชนช่วยกันแสดงออกว่าจริงๆ นี้ประเทศเราต้องการทางออกที่ไม่ใช่เป็นเรื่องของความต้องการของคนหนึ่งคนใดหรือฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ตนคิดว่าถ้าประชาชนได้แสดงออกโดยสันติวิธีในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะที่ไม่ไปเสี่ยงต่อการเกิดการปะทะกันให้เห็นว่าคนส่วนใหญ่นั้น ต้องการที่จะให้บ้านเมืองกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และรัฐบาลก็มีข้อเสนอที่ถือว่าสมเหตุสมผลแล้วก็คงจะช่วยลดการสนับสนุนของผู้ชุมนุมได้" นายกรัฐมนตรี กล่าว

ต่อข้อถามว่าการเจรจาระหว่างกันถือว่าล้มเหลวไปแล้ว ข้อเสนอที่ระบุว่า 9 เดือนจะยุบสภายังคงอยู่หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้ก็ไม่ได้เป็นข้อเสนอที่ได้รับการตอบสนอง ก็คงจะยังไปสรุปว่าเป็นสิ่งที่วางอยู่ไม่ได้ เพราะข้อเสนอนั้นทำเพื่อให้เกิดความสงบในบ้านเมือง แต่เมื่อกลุ่มที่ยังมีปัญหาเขาไม่ยอมรับและเขาก็บอกว่าจะไม่ทำให้มันสงบก็เกิดปัญหาความรุนแรงหรือร้อนแรงในบรรยากาศทางการเมือง ตนก็ต้องกลับไปอยู่ที่จุดเดิมที่บอกว่าการยุบสภาจะขึ้นอยู่กับเรื่องของเศรษฐกิจ เรื่องของการแก้ไขกติกาที่เป็นที่ยอมรับ และเรื่องของการที่จะบริหารให้บรรยากาศของบ้านเมืองมีลักษณะที่เอื้อต่อการเลือกตั้งที่สมประโยชน์ต่อทางออกของประเทศ

 

ลั่นจะจับคนก่อเหตุไม่สงบมาลงโทษให้ได้ ปรามผู้ชุมนุมมีสิทธิตาม รธน. เท่านั้น

ต่อข้อถามว่า กังวลต่อการยกระดับการชุมนุมหรือไม่ และขณะเดียวกันก็ยังคงมีเรื่องการก่อวินาศกรรมอย่างต่อเนื่อง นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องการก่อวินาศกรรมก็จะพยายามอย่างเต็มที่ว่าอย่างน้อยในคดีที่เกิดขึ้นก็ต้องจับกุมตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษให้ได้ ส่วนการเฝ้าระวังของเจ้าหน้าที่ก็ต้องทำอย่างเต็มที่ ซึ่งตนก็เห็นใจเพราะการป้องกันในพื้นที่กว้างขวางมากนั้นมันไม่ง่าย แต่ทุกคนก็มีความเข้มแข็งอยู่ ส่วนการยกระดับการชุมนุมก็ยังไม่ทราบว่าเป็นในรูปแบบไหนอย่างไร แต่ขอยืนยันว่าผู้ชุมนุมมีสิทธิ์เท่าที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญเท่านั้น และไม่พึงที่จะไปชุมนุมในลักษณะที่นอกเหนือจากกรอบที่กฎหมายกำหนดไว้

ต่อข้อถามถึงข้อเสนอของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) และนพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ว่าควรมีการปฏิรูปประเทศไทย นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนไม่ได้มีข้อคิดเห็นที่แตกต่างในเรื่องของการปฏิรูปในด้านต่างๆ จะเห็นได้ว่าในการพูดคุยตนก็พูดชัดเจนว่าเราไม่ได้พูดแต่ประเด็นเรื่องรัฐธรรมนูญ เราอยากเอาทุกเรื่องที่คิดว่าเป็นปัญหามาวางและร่วมกันแก้ไข รัฐบาลพร้อมที่จะเดินหน้าปฏิรูปในหลายอย่าง แต่การปฏิรูปจะประสบความสำเร็จได้ส่วนหนึ่งก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน แต่ดูเหมือนคนเสื้อแดงจะไม่ให้ความร่วมมือในเรื่องนี้ แต่ตนก็จะไม่ลดละความพยายาม และถ้าภาคส่วนอื่นๆ มาร่วมกันก็คงจะช่วยได้มาก เราไม่มีปัญหาเพราะเป็นความตั้งใจอยู่แล้วในการทำทุกอย่างเพื่อให้เราหลุดพ้นจากโครงสร้างที่เป็นที่มาของปัญหาในปัจจุบัน

 

ยัน พ.ร.บ.ความมั่นคงจำเป็นเพราะมีการก่อวินาศกรรม

ต่อข้อถามว่า ทำไมรัฐบาลต้องประกาศใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรต่อไปเรื่อย ๆ และบ้านเมืองจะปกติสุขได้เมื่อไร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่มีความจำเป็นที่จะต้องมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงฯ ก็เพราะจะเห็นได้ว่ามันมีปัญหาการก่อวินาศกรรม รวมทั้งการชุมนุมที่มีคนจำนวนมากก็มีความละเอียดอ่อนอยู่ในหลายสถานการณ์ กฎหมายความมั่นคงที่ได้ประกาศใช้มาก็สามารถช่วยให้การชุมนุมซึ่งมีลักษณะของความยืดเยื้อไม่มีปัญหาความรุนแรงเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เพราะเรามีกฎหมายตัวนี้ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ช่วยอยู่อย่างสำคัญ

ต่อข้อถามว่า แล้วเมื่อไหร่รัฐบาลจะกลับไปทำงานได้ในตามปกติหรือต้องอยู่บริหารราชการภายในค่ายทหารต่อไป นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนบอกว่าก็ดำเนินการไปโดยลำดับ และขณะนี้ตนเองก็ไม่ได้อยู่ในค่ายทหาร ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) เขาอยู่ที่นั่น แต่ว่าตนก็ใช้ชีวิตตามปกติและการทำงานของรัฐบาลก็เดินหน้าไปได้ เพียงแต่ตรงไหนที่คิดว่ามีความละเอียดอ่อนในการไปท้าทายเราก็หลีกเลี่ยง ตรงนี้ก็เพื่อประโยชน์ในความสงบของบ้านเมืองไม่ได้มีปัญหาอะไร งานรัฐบาลเดินหน้าเต็มที่ อย่างไรก็ตามเราก็ยังจะพยายามในที่จะเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุมในการลดพื้นที่การชุมนุมต่าง ๆ เพื่อไม่ให้กระทบกับประชาชนทั่วไป

ต่อข้อถามว่า จะมีการเพิ่มความเข้มข้นในการบังคับใช้กฎหมายขึ้นหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ก็จะเดินหน้าทำ แต่อย่างที่ได้ชี้แจงไปแล้วเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาว่าการบังคับใช้กฎหมายนั้นรัฐบาลไม่ได้ละเลย แต่จังหวะเวลาและวิธีการก็ต้องคำนึงถึงความละเอียดอ่อนของสถานการณ์ เพราะความมุ่งหมายของเราคือต้องการให้บ้านเมืองสงบ ไม่ไปสร้างเงื่อนไขให้เกิดความวุ่นวายมากยิ่งขึ้น

ต่อข้อถามว่า แต่ขณะนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ใช้เวทีคนเสื้อแดงเคลื่อนไหวปลุกระดมมากยิ่งขึ้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คุณทักษิณฯ ก็มีวาระของตัวเอง ซึ่งมันไม่ตรงกับวาระของประเทศ และไม่ตรงกับผลประโยชน์ของส่วนรวม ก็ต้องไปกันคนละทาง แต่เราก็พยายามอย่างยิ่งว่ากลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งมีข้อเรียกร้องที่ไม่ได้เกี่ยวกับคุณทักษิณฯ และมีเหตุผลอยู่เราก็รับฟัง แต่ไม่อยากให้ไปเป็นเหยื่อของคุณทักษิณซึ่งมีวาระส่วนตัว

 

ครม.ขยาย พรบ.มั่นคงฯ ถึง 7 เม.ย. คลุมพื้นที่หัวหิน-ชะอำรับการประชุมลุ่มน้ำโขง

 

สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี (ที่มาของภาพ: ศูนย์สื่อทำเนียบรัฐบาล)

 

ศูนย์สื่อทำเนียบรัฐบาล รายงานด้วยว่า ขณะเดียวกัน เมื่อเวลา 13.30 น. ที่สำนักงานปลัด กระทรวงสาธารณสุข นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า วันนี้ ครม.ได้พิจารณาเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาพื้นที่ที่จะมีผลกระทบต่อความมั่นคงในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลคืออำเภอปากเกร็ด อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี อำเภอบางพลี อำเภอบางเสาธง อำเภอบางบ่อ อำเภอพระประแดง อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ต่อไปอีก 7 วัน ระหว่างวันที่ 31 มีนาคม - 7 เมษายน 2553 และเห็นชอบประกาศพื้นที่ความมั่นคงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ใน 4 ตำบลของอำเภอหัวหิน และจังหวัดเพชรบุรี 2 ตำบลในอำเภอชะอำ ระหว่างวันที่ 2 - 5 เมษายน 2553 โดยจะใช้เป็นพื้นที่ประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ 1 ทั้งหมด 6 ประเทศ โดยได้มีการเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่ไว้ดูแลความเรียบร้อยไว้พร้อมแล้ว และจากนี้คณะกรรมการ กอ.รมน.ก็จะมีการประชุมมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นผู้ดูแลพื้นที่ประกาศความมั่นคนในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์และจังหวัดเพชรบุรีต่อไป

ต่อข้อถามว่า การประชุมสภาฯ พรุ่งนี้ (31มี.ค.) มีมาตรการที่จะดูแลอย่างไรบ้าง รองนายกฯ กล่าวว่า พรุ่งนี้ก็ไปประชุมตามปกติ โดยจะไม่มีทหารไปดูแลเหมือนเช่นการประชุมที่ผ่านมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ต่อข้อถามว่า เป็นห่วงว่าจะมีการก่อวินาศกรรมยิงระเบิดขึ้นที่อำเภอชะอำและหัวหินหรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า ไม่เป็นห่วง ส่วนจะมีการหารือกับแกนนำคนเสื้อแดงนอกรอบหรือไม่ในเรื่องของการดูแลรักษาความปลอดภัยและความสงบนั้น รองนายกฯ กล่าวว่า ตนไม่ได้รับมอบหมายให้ดูแลเรื่องการเจรจา อย่างไรก็ตามก็จะดูแลเหตุการณ์ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งขณะนี้คิดว่าไม่มีปัญหา

 

ชำนิไม่แน่ใจวันพฤหัสบดีจะมีเจรจารอบ 3 หรือไม่ แต่ยืนยันต้องให้เวลา 9 เดือนยุบสภา

ขณะที่เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่า เมื่อเวลา 14.30 น. นายชำนิ ศักดิเศรษฐ รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ หนึ่งในคณะผู้เจรจาฝ่ายรัฐบาลให้สัมภาษณ์อีกครั้งว่า ยังไม่มีการติดต่อประสานมาจากแกนนำคนเสื้อแดงเพิ่มเติม จึงไม่แน่ใจว่าเช้าวันพฤหัสบดีที่ 1 เม.ย.นี้ จะมีการหารือรอบที่สามหรือไม่

"แนวทางที่นายโคทม อารียา ผู้อำนวยการการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี เสนอให้ไม่ต้องมีการถ่ายทอดสดการเจรจานั้น รัฐบาลเห็นว่าการถ่ายสดจะทำให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลอย่างเท่าเทียมกัน ดังนั้นจึงคงจะไม่มีการใช้วิธีการอื่น และขอยืนยันว่าหากยุบสภาภายใน 3 เดือน ก็ไม่ต่างกับการยุบสภา 15 วัน แต่ถ้ายุบภายใน 6 เดือนก็จะไม่ทันกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนดว่าจะต้องมีการทำประชามติใน 6 ประเด็น ภายใน 90-120 วัน และการที่รัฐสภาจะแก้ไขรัฐธรรมนูญภายใน 120 วัน จากนั้นต้องทำประชาพิจารณ์อีกไม่น้อยกว่า 60 วัน รวมแล้วก็จะให้เวลา 9 เดือนพอดี" คณะเจรจาฝ่ายรัฐบาล กล่าว

 

ปชป.เผยวางกรอบยุบสภา 6 ธ.ค. 53 เลือกตั้ง 23 ม.ค. 54

เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ ยังรายงานว่า เมื่อเวลา 14.00 น. วานนี้ (30 มี.ค.) นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงหลังการประชุม ส.ส. และรัฐมนตรีพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานที่ประชุมว่า ในที่ประชุมมีการประเมินผลการเจรจาสองวันที่ผ่านมาถือว่ารัฐบาลมีกำไร เพราะมวลชนเสื้อแดงได้ดูคำชี้แจงของนายกฯ และเข้าใจและเห็นความจริงใจนายกฯ มากขึ้น วันที่สองแกนนำเสื้อแดงจึงตั้งใจจะมาเอาคืน ทำให้โต๊ะเจรจาล้ม

รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวอีกว่า นายสุเทพ ยังได้ชี้แจงเรื่องการยิงระเบิดที่เกิดขึ้นมาในช่วงนี้ว่ากลุ่มที่อยู่ เบื้องหลังมีหลายกลุ่ม และจ้างกันเป็นทอดๆ มีทั้งนายทหารเก่าและตำรวจเก่า ที่รู้ช่องทาง ทำให้ยากต่อการจับกุม นายสุเทพ จึงชี้แจงว่า จำเป็นต้องให้เจ้าหน้าที่ติดอาวุธทุกจุดโดยเฉพาะสายตรวจ ยกเว้นเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในที่ชุมนุม ดังนั้นจากนี้จะเห็นทหารบนทางด่วนทั้งขาขึ้นและขาลง เนื่องจากเป็นจุดที่ยิงอาวุธเข้าไปได้ง่าย

นพ.วรงค์ กล่าวอีกว่า นายสุเทพ ยังบอกด้วยว่ารัฐบาลได้ทำโรดแม็ปไว้เรียบร้อยแล้ว หากการเจรจาเมื่อวันที่ 29 มี.ค.สำเร็จ ในการประชุมครม. วันเดียวกันนี้ก็จะนำประเด็นเรื่องการทำประชามติเข้าพิจารณาในที่ประชุมครม. จากนั้นในวันที่ 5 เม.ย.นายกฯ จะไปพบกับประธานวุฒิสภาและประธานสภาเกี่ยวกับการทำประชามติ หลังจากนั้นกฎหมายยังกำหนดว่ารัฐบาลต้องทำความเข้าใจในระยะเวลา 90-120 วัน ซึ่งคิดสั้นสุดคือ 90 วัน ตรงกันวันที่ 4 ก.ค. จากนั้นวันที่ 11 ก.ค. จะประกาศผลประชามติ วันที่ 13 ก.ค.จะเสนอครม.ให้ความเห็นชอบประเด็นที่ผ่านประชามติ และเสนออนุมัติร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีการแก้ไขในวันเดียวกัน

นพ.วรงค์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้จะมีการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่ที่ประชุมร่วมรัฐสภาในวาระแรก วันที่ 21 ก.ค. จากนั้น วันที่ 22 ก.ค. ถึงวันที่ 21 ก.ย. จะเป็นเรื่องในชั้นกรรมาธิการ การทำประชาพิจารณ์ และการรับฟังความเห็นของประชาชน โดยหลังผ่านวาระสองแล้ว กฎหมายกำหนดว่าต้องรอ 15 วัน ซึ่งจะเข้าวาระสามได้ในวันที่ 8 ต.ค. และวันที่ 30 ต.ค. จะประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้ จากนั้นจะมีการพิจารณากฎหมายลูกต่างๆ และคาดว่าจะประกาศยุบสภาได้ในวันที่ 6 ธ.ค. และในวันที่ 23 ม.ค. 54 จะให้มีการเลือกตั้งใหม่ ดังนั้นหากพิจารณาจะเห็นว่าระยะเวลาที่รัฐบาลกำหนดใช้เวลาเพียง 8 เดือนเศษเท่านั้น แต่ทั้งหมดนี้ต้องขึ้นกับว่าการเจรจาจะลงตัวได้ในวันไหน จึงจะสามารถเดิมนับตามโรดแม็ปได้ ทั้ง นี้โรดแม็ปนี้นายสุเทพ ยืนยันว่า พรรคร่วมรัฐบาลเห็นพ้องด้วย แต่หากกลุ่มผู้ชุมนุมไม่รับเงื่อนไข รัฐบาลยังคิดว่ายังมีสิทธิชุมนุม โดยจะวางมาตรการเข้มงวดในการรักษาความปลอดภัยเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net