Skip to main content
sharethis

เครือข่ายประชาสังคม 23 องค์กร ร่วมกับสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้าและศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ จัดกิจกรรม “เปิดเวทีตัวแทนทางความคิดเพื่อรับฟังความคิดเห็นเรื่องการเมืองการปกครองในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้” ระหว่างวันที่ 8 – 9 มีนาคม ณ เพชรมีรีสอร์ท ตำบลปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา

พล.ต.ต. จำรูญ เด่นอุดม ในฐานะผู้ประสานงานโครงการฯ กล่าวว่า การใช้อาวุธและความรุนแรงไม่สามารถแก้ปัญหาได้ จึงจำเป็นต้องนำนโยบายการเมืองการปกครองที่ส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตและชะตากรรมของตนเองมาใช้ รัฐต้องรับรองและพิทักษ์สิทธิเสรีภาพอย่างเสมอภาค ไม่มีการเลือกปฏิบัติ ส่งเสริมการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นสามารถมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา เปิดโอกาสให้ประชาชน ระดับรากหญ้า สามารถเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ มีอำนาจในการกำหนดงบประมาณสำหรับการบริหารจัดการ พัฒนาและแก้ปัญหาของตนเอง เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่สำนึกว่าตนเองเป็นเจ้าของประเทศอย่างแท้จริง

กระบวนการจัดการความแย้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องใช้กระบวนการแก้ปัญหาโดยใช้สันติวิธี ให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพและอำนาจของตนเองตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ รวมทั้งระบอบการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตและกระบวนการพัฒนาและแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้ได้รูปแบบ “การปกครองใหม่” ที่มาจากประชาชนในพื้นที่จริงๆ ไม่ใช่การ ยัดเยียดนโยบายรัฐเช่นอดีตที่เคยผ่านมา

ในขณะที่ รศ.ดร.ฉันทนา บรรณพศิริโชติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการแก้ปัญหาจังหวัดภาคใต้ว่า ต้องมีการปฏิรูปการเมืองการปกครองของพื้นที่เสียใหม่ เพราะตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่า ความล้มเหลวในการแก้ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เกิดจากปัจจัยเหล่านี้หรือไม่

1. ความเป็นมลายู-มุสลิม ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นอุปสรรคทำให้ไม่สามารถเป็นส่วนหนึ่งของสังคมส่วนใหญ่ (รัฐไทย) อย่างเต็มภาคภูมิและได้รับการดูแลจากรัฐอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกันหรือไม่ อย่างไร?
2. ประชาชนสามารถเป็นผู้กำกับทิศทางการแก้ไขปัญหาและควบคุมการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ได้มากน้อยเพียงใด ?
3. การเมืองในระบบประชาธิปไตยที่เป็นอยู่..... สามารถสะท้อนความต้องการของคนในพื้นที่จริงหรือ ?
4. ผู้บริหารท้องถิ่นเข้าใจและสามารถตอบสนองความต้องการของคนในพื้นที่ได้มากน้อยเพียงใด ?

นอกจากนั้น ยังได้กล่าวถึงเขตปกครองพิเศษว่า เป็นพื้นที่ที่ประชาชนมีอำนาจในการกำหนดวิถีชีวิตและสถานภาพทางการเมือง โดยผ่านกระบวนการออกกฎหมายของตนเอง การมีส่วนในการดำเนินนโยบายทางสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ รายได้และภาษี มีการเชื่อมโยงกับโครงสร้างจากส่วนกลาง ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการแก้ปัญหา แต่ไม่สามารถแยกกระบวนการยุติธรรม การทหาร ความมั่นคงภายในประเทศ ดังนั้น คนในพื้นที่เขตปกครองพิเศษจึงต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญไทยไม่สามารถที่จะแบ่งแยกประเทศออกจากกัน ทั้งนี้ เพราะเขตปกครองพิเศษ มีเป้าหมายสำคัญสำหรับการอยู่ร่วมกัน มากกว่าการแบ่งแยกออกจากกัน

ในขณะที่อับดุลเราะมัน มอลอ อดีตนายกองค์การบริหารองค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า สังคมมักไม่ให้ความสำคัญกับความคิดเห็นของประชาชน สังเกตจากเมื่อใดก็ตามที่ประชาชนนำเสนอสภาพปัญหาและความต้องการของตนเอง สังคมมักจะถามว่า มีความเหมาะสมและมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด แต่หากรัฐนำเสนอนโยบายที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของประชาชน กลับไม่มีหน่วยงานใด ถามหรือตรวจสอบการใช้อำนาจเลย ยกกรณีตัวอย่างการบังคับใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้ประชาชนบางส่วนจะไม่เห็นด้วยเพราะมองว่า กฎหมายดังกล่าวมีการละเมิดสิทธิฯ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชน แต่กลับไม่มีเสียงตอบรับจากภาครัฐและภาคสังคมแต่อย่างใด

“เราคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ประชาชนในพื้นที่ต้องมีอำนาจในการตัดสินใจและบริหารจัดการอย่างแท้จริง มิใช่ ‘การสร้างการเปลี่ยนแปลง’ เพื่อให้อำนาจเปลี่ยนมือไปอยู่กับกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่งเท่านั้น” อับดุลเราะมัน กล่าว

.....................................
หมายเหตุประชาไท: การจัดสัมมนาดังกล่าว เป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นเรื่องการเมืองการปกครองจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งมีในพื้นที่ระดับอำเภอ 25 เวทีในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา และเวทีกลุ่มอาชีพอีก 13 เวที โดยการจะเวทีจะเริ่มตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนจนถึงสิงหาคม 2553
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net