Skip to main content
sharethis

ลอบขน 200 ต่างด้าวพม่า ยึดใส่รถอ้างไปวัดทำบุญ รัฐไม่ยืดพิสูจน์สัญชาติ
แนวหน้า (1 มี.ค. 53) - เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ทหารกองกำลังเทพสตรี ได้นำกำลังไปดักซุ่มจับขบวนการขนแรงงานต่างด้าวที่บริเวณบ้านทุ่งคา ต.หาดส้มแป้น อ.เมือง จ.ระนอง หลังทราบข่าวว่าขบวนการดังกล่าวจะอาศัยช่วงวันหยุดยาวในวันมาฆบูชา ขนแรงงานชาวพม่าจาก จ.ระนอง ไปส่งต่อยัง จ.ชุมพร โดยจะใช้รถกระบะจำนวน 10 คัน ขนแรงงานชาวพม่ากว่า 200 คน กระทั่งเจ้าหน้าที่พบรถกระบะต้องสงสัยยี่ห้อ วีโก้ 4 ประตู สีบรอนด์ทอง ทะเบียน ชภ 6533 กทม.และรถกระบะวีโก้ตอนครึ่ง สีบรอนด์ทอง ทะเบียน ปท 1607 กทม.เนื่องจากสังเกตเห็นแรงงานต่างด้าวชาวพม่านั่งอยู่ภายในรถและกระบะท้าย เต็มคันรถ จึงได้แสดงตัวขอตรวจค้น ทำให้แรงงานต่างด้าวที่นั่งอยู่ท้ายกระบะต่างวิ่งหลบหนีการจับกุมขึ้นไปบน ภูเขาทั้งสิ้น 15 คน และสามารถจับกุมได้ 31 คน

จากการสอบสวนคนขับรถทั้งสองคน คือ นายสุรศักดิ์ จรรยา อายุ 40 ปี และนายอัฐนิรัตน์ ศรีคง อายุ 38 ปี ทั้ง 2 คน ให้การรับสารภาพว่า ตนได้รับค่าจ้างคนละ 3,000 บาท ให้ขนแรงงานต่างด้าวชาวพม่าไปส่งที่ อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร โดยอาศัยช่วงเทศกาลวันหยุดยาวในวันมาฆบูชา คิดวางอุบายอำพรางว่าจะพาแรงงานพม่าไปทำบุญ ไม่คิดว่าทางเจ้าหน้าที่จะไหวรู้ทัน เจ้าหน้าที่จึงได้ตั้งข้อหานำพาแรงงานต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้ รับอนุญาต ส่วนแรงงานต่างด้าวทั้ง 31 คน ถูกดำเนินคดีในข้อหาเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต
แรงงานไทย 20 คน ถูกทางการโปแลนด์ จับกุมตัวและคุมขังนาน 3 เดือน
ช่อง 7 (2 มี.ค. 53) -
เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการไปทำงานต่างประเทศ เปิดเผยว่า แรงงานกลุ่มนี้เป็นหญิง 18 คน และชาย 2 คน ถูกทางการโปแลนด์ ควบคุมตัวและคุมขังมานานกว่า 1 สัปดาห์แล้ว ข้อหาทำงานผิดประเภท จึงถูกลงโทษกักขัง 3 เดือน
โดยส่วนใหญ่เดินทางไปจากภาคเหนือและอีสานของไทย และเข้าเมืองอย่างถูกต้องในฐานะแรงงานในสวนผลไม้ ผ่านการจัดส่งโดยบริษัทกิตติ บราเดอร์ แต่ถูกจับกุม เพราะไปทำงานในฟาร์มเห็ด ผิดจากใบอนุญาตให้ทำงาน ในสวนผลไม้เท่านั้น
นายสุภัท กุขุน รองอธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่จากสถานทูตไทยประจำกรุงวอซอ ประเทศโปแลนด์ และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เข้าไปดูแลให้ความช่วยเหลือ พร้อมจ่ายค่าดำเนินการด้านกฎหมายให้แล้ว
และจะสอบสวนข้อเท็จจริงว่า มีการจ่ายค่าจัดส่งสูงถึง 270,000 ถึง 400,000 บาทจริงหรือไม่ เพราะเป็นอัตราที่สูงเกินไป แต่ต้องรอแรงงานกลุ่มนี้กลับมาให้ปากคำ ก่อนจะดำเนินการเอาผิดผู้เกี่ยวข้องได้
สศช.เผยว่างงานไตรมาส4ปี'52 ลดเหลือ 1%
กรุงเทพธุรกิจ (3 มี.ค.53) -
นางสุวรรณี คำมั่น รองเลขาธิการสำนักงาน คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์) เปิดเผยว่า อัตราการว่างงานในช่วง Q4/52 ลดลงเหลือเพียง 1% หลังภาวะเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้น ขณะที่อัตราการว่างงานทั้งปี 52 อยู่ที่ 1.5% โดยมีการจ้างงานเฉลี่ย 37.7 ล้านคน เพิ่มขึ้น 1.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่อัตราการว่างงานมี จำนวน 380,000 คน หรือคิดเป็น 1% ของอัตราแรงงานทั้งหมด ตามภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น รวมทั้งโอกาสทางการศึกษาของเด็กไทยเริ่มเพิ่มขึ้น หลังจากรัฐบาลได้มีการสนับสนุนมาตรการเรียนฟรี 15 ปี และประชาชนยังสามารถเข้าถึงแหล่งบริการทางสุขภาพได้มากขึ้น
สำหรับการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างของผู้ประกอบการในปีนี้ต้องขึ้นอยู่กับคุณภาพของ ลูกจ้าง และสมรรถภาพการทำงาน สำหรับปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ ภาวะการตึงตัวของตลาดแรงงาน เนื่องจากขาดแคลนแรงงานมีฝีมือ มีความเชี่ยวชาญ และแรงงานบางส่วนไม่ตรงกับความต้องการของตลาด รวมทั้งในอนาคตที่จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุทำให้จำนวนแรงงานลดลง และต้องระวังปัญหาคุณแม่วัยใส คือ กลุ่มที่มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร และการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายใหม่ 2009 ที่ยังมีการแพร่ระบาด และมีผู้เสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง
ปลัดแรงงานยำ้ชัดไม่ขึ้นค่าแรงตามเงินเฟ้อ
ไทยรัฐออนไลน์ (
3 ม.ค. 53) - เมื่อวันที่ 3 มี.ค.นายสมชาย ชุ่มรัตน์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ด ค่าจ้าง) เปิดเผย "ไทยรัฐออนไลน์" ว่า ยังไม่มีการพิจารณาปรับอัตราค่าจ้างขั้นตำ่ในขณะนี้ แม้ว่ากระทรวงพาณิชย์ออกมาระบุว่าอัตราเงินเฟ้อจะพุ่งสูงถึง 3.7% เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อนั้นเป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งเท่านั้น การจะพิจารณาปรับค่าจ้างขั้นตำ่นั้น บอร์ดจะมีการพิจาณาจากรอบด้านทั้งข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงการคลัง และ พิจารณาจากความสามารถการจ่ายของนายจ้างด้วย อีกทั้งกระทรวงแรงงานได้ประกาศขึ้นค่าจ้างขั้นตำ่ตั้งแต่ 1-8 บาทไปเมื่อช่วงต้นเดือนม.ค.ที่ผ่านมา
นายสมชาย กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม บอร์ดจะนำเรื่องอัตราเงินเฟ้อของกระทรวงพาณิชย์เข้าไปพิจารณาในที่ประชุม บอร์ดที่จะมีขึ้นช่วงปลายเดือน มี.ค.นี้ด้วย ทั้งนี้ บอร์ด กำลังพิจารณาปรับค่าจ้างขั้นตำ่ให้กับ 5 จังหวัดที่เหลือที่ไม่ได้ปรับขึ้นเมื่อช่วงต้นเดือน ม.ค.ที่ผ่านมาตามที่ ครม.สั่งการมา ซึ่งจะมีการพิจารณาให้ 1-3 บาท ประกอบด้วย สุโขทัย เชียงราย เพชรบูรณ์ อุทัยธานี และ แม่ฮ่องสอน และ ใน 5 จังหวัดนี้ มี 2 จังหวัดที่ไม่ขอปรับขึ้นเลย คือ สุโขทัย และ เชียงราย ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน มี.ค.นี้ และพร้อมส่งให้ ครม.พิจารณา และประกาศใช้คาดว่าไม่เกินเดือน มิ.ย.นี้จะประกาศใช้ได้
วัยทำงานสั้นลงภาคการผลิตวุ่น กลุ่มวิชาชีพหนีทำงานต่างแดน
เดลินิวส์ (4 มี.ค. 53) -
นางสุวรรณี คำมั่น รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยภาวะสังคมไทยในไตรมาส 4 และภาพรวมปี 2552 ว่า การจ้างงานรวมในไตรมาส 4 ของปี 52 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.8% เนื่องจากการฟื้นตัวของภาคการผลิต อุตสาหกรรม ก่อสร้างและภาคบริการ โดยเฉพาะโรงแรม ภัตตาคารและการค้า ที่จ้างงานเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ภาพรวมในปี 52 พบว่าปัญหาการว่างงานลดน้อยลงมากโดยมีอัตราว่างงานเฉลี่ยทั้งปีที่ 1.5% ซึ่งเป็นระดับปกติ
นอกจากนี้ ผู้ประกันตนที่ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานลดลงจากที่มีจำนวนสูงสุดที่ 250,557 คน ในไตรมาส 1 ของปี 52 เหลือเพียง 123,708 คน ในไตรมาสที่ 4 ปี 52 รวมทั้งปี 52 มีการจ้างงานเฉลี่ย 37.7 ล้านคน เพิ่มขึ้น 1.8% ถือว่าเป็นอัตราที่น่าพอใจ
ทั้งนี้มีประเด็นสำคัญที่ต้องเฝ้าระวัง คือ การตึงตัวของตลาดแรงงาน ทั้งการขาดแคลนแรงงานที่มีฝีมือ เนื่องจากทักษะฝีมือและสาขาความเชี่ยวชาญของแรงงาน ไม่ตรงกับความต้องการของตลาด เห็นได้จากเดือน ม.ค. 53 ตำแหน่งงานว่างมีมากกว่าจำนวนผู้สมัครงานและมีการบรรจุงานไม่มาก ทั้งที่มีคนว่างงาน รวมทั้งต้องระวังการขาดแคลนแรงงานในอนาคต เนื่องจากไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้กำลังคนในวัยทำงานมีสัดส่วนลดลง
“จากจำนวนแรงงานในปัจจุบันทั้งสิ้น 38.32 ล้านคน อยู่ในช่วงอายุ 40-59 ปี 15.76 ล้านคน คิดเป็น 41.1% ขณะที่ช่วงอายุ 25-39 ปี ซึ่งเป็นช่วงกำลังคนในวัยทำงานที่มีประสิทธิภาพสูงสุด มีจำนวน 14.49 ล้านคน คิดเป็น 37.8% ขณะที่ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็นสัดส่วน 11% ของประชากรทั้งประเทศ 65 ล้านคน และผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นปีละ 270,000 คน เสียชีวิตปีละ 200,000 คน เป็นตัวเลขบ่งชี้ให้รัฐบาลต้องเตรียมดูแลสวัสดิการสังคมให้คนกลุ่มนี้เพิ่ม ขึ้นด้วย”
นอกจากนี้เมื่อไทยก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ที่   สามารถเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีได้ในปี 58 ไทยต้องเผชิญการไหลออกของแรงงานมีฝีมือและกลุ่มวิชาชีพ เช่น ปัจจุบันอาชีพแพทย์ไหลไปทำงานในต่างประเทศจำนวนมาก ซึ่งสัญญาณตลาดแรงงานตึงตัวต่อเนื่องยังเป็นแรงกดดันต่อค่าจ้าง ราคาสินค้า และค่าครองชีพโดยรวมให้สูงขึ้นในระยะต่อไปได้ ที่สำคัญ ในปัจจุบันระบบการจ่ายค่าจ้างส่วนใหญ่ยังอิง กับระดับการศึกษามากกว่าทักษะหรือความสามารถเฉพาะ ทำให้ผลตอบแทนแรงงานบางกลุ่มไม่สะท้อนผลิตภาพที่แท้จริง และค่าจ้างแท้จริงโดยเฉลี่ยยังเพิ่มขึ้นน้อย จึงควร ปรับมาใช้ระบบการจ่ายค่าจ้างตามสมรรถนะหรือความเชี่ยวชาญ เหมือนในอุตสาหกรรมพาณิชย์นาวี และปิโตรเคมี คนที่จบระดับ ปวส. เงินเดือน 30,000 บาท หรือทำงานเดินเรือทะเล เดือนละ 60,000 บาท
นางสุวรรณีกล่าวว่าปี 52 เป็นจุดเปลี่ยนผ่านสำคัญของไทยเพราะคนไทยได้รับความช่วยเหลือ สวัสดิการสังคม บริการทางสังคมและหลักประกันมากขึ้น แต่การพัฒนางานคุ้มครองทางสังคมยังไม่ประสบความสำเร็จในเชิงคุณภาพ เพราะขาดการขับเคลื่อนที่ต่อเนื่องซ้ำซ้อน มีปัญหาที่แตกต่างกันในแต่ละกลุ่มเป้าหมายและความซับซ้อนของปัญหามีการ เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะภาครัฐที่ต้อง เพิ่มการลงทุนด้านสวัสดิการสังคม จัดทำระบบฐานข้อมูลประชากรของประเทศ ทั้งในระดับพื้นที่ จำแนกกลุ่มตามวัยอาชีพ เพศและรายได้ เพื่อจัดทำกลุ่มเป้าหมายในการให้ความคุ้มครองทางสังคมประเภทต่าง ๆ ชุม ชนใช้ศักยภาพของตนเองและทุนทางสังคมมาใช้ในการจัดสวัสดิการและบริการให้กับ คนในชุมชน.
แรงงานไทยในโปแลนด์ถูกขังเพิ่ม
ช่อง 7 (4 ม.ค. 53) -
หลังแรงงานไทย 20 คน ได้ขอความช่วยเหลือผ่านช่อง 7 สี ว่าถูกคุมขังโดยไม่เป็นธรรม ล่าสุดเมื่อคืนนี้ตามเวลาในประเทศไทย มีแรงงานไทยอีก 5 คน ถูกนายจ้างพาไปขังไว้ในโรงแรมแห่งหนึ่งในกรุงวอซอร์
โดยนางสาวจรรยา ยิ้มประเสริฐ ประธานสหภาพคนทำงานต่างประเทศ เปิดเผยว่า ข่าวการเอาผิดนายจ้างของแรงงานไทย ทำให้นายจ้างแฝงและบริษัทจัดหางานหวาดกลัว ตระเวนให้แรงงานเซ็นต์ชื่อไม่ให้เอาความหรือฟ้องร้องและเตรียมส่งกลับ ประเทศ ซึ่งในทางกฎหมายแรงงานไทยน่าจะได้อุทธรณ์ตามสิทธิ์
ด้านครอบครัวของแรงงานไทย ที่อยู่จังหวัดขอนแก่นและอุดรธานีได้มารวมตัวกัน และร้องเรียนกับทีมข่าว 7 สีขอนแก่น ว่า การจ้างแรงงานไทยไปโปแลนด์มีการหลอกลวงเรื่องค่าจ้างที่ลดกว่าที่ตกลงไว้ กว่าครึ่ง ซึ่งครอบครัวก็มีความเครียด และกลุ้มใจมาก โดยพรุ่งนี้จะเข้ามายื่นหนังสือร้องทุกข์กับท่านนายกรัฐมนตรี ถึงในกรุงเทพฯ ด้วย
ด้านนายรัศม์   ชาลีจันทร์   อุปทูต   สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอซอร์ ประเทศโปแลนด์ กล่าวว่า ได้นำอาหารไปเยี่ยมและประสานกับนายจ้างให้จ่ายค่าแรงแล้ว คาดว่าจะส่งแรงงานที่ถูกกักขังกลับประเทศได้ภายในสัปดาห์หน้า และชี้แจงว่า การให้แรงงานเซ็นชื่อไม่ยื่นอุทธรณ์ เพราะอยากให้ได้กลับประเทศโดยเร็ว
สภาผ่าน กม.คุ้มครองแรงงานนอกระบบ
โพสต์ทูเดย์ (4 มี.ค. 53)
- ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 3 มี.ค. มีมติเห็นชอบในวาระที่ 2-3 ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน ด้วยมติเอกฉันท์ 349 งดออกเสียง 1 เสียง ไม่ลงมติ 20 เสียง โดยสาระสำคัญ พ.ร.บ.ฉบับนี้ คือการคุ้มครองผู้ที่รับงานไปทำที่บ้าน บางรายถูกเอารัด เอาเปรียบในการเรื่องจ้างงานและค่าจ้างงานขั้นต่ำ รวมไปถึงให้ความคุ้มครองแก่สตรีที่ตั้งครรภ์และเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี ให้ได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงพร้อมให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อดูแลแรงงานนอกระบบเหล่านี้ โดยขั้นตอนหลังจากนี้จะส่งต่อไปสู่ขั้นตอนการพิจารณาของวุฒิสภา
พนักงานเกษียณฟ้องบอร์ดธปท.จ่ายชดเชยเพิ่ม 10 ล.
เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ (4 มี.ค. 53)
- คุณพรทิพย์ จาละ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ในฐานะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ธปท. เมื่อวันที่ 25 ก.พ.ที่ผ่านมามีการหารือเกี่ยวกับกรณีพนักงาน ธปท.ที่เกษียณอายุในปี 2552 ฟ้องร้องบอร์ด ธปท.ทั้งคณะ
นายอรรคบุษย์ ไกรฤกษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สายช่วยงานบริหาร ธปท. กล่าวว่า มีพนักงาน ธปท.ที่เกษียณอายุบางส่วนได้ยื่นฟ้องร้องบอร์ด ธปท.ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อเรียกร้องให้ ธปท.จ่ายเงินชดเชยเพิ่มทั้งสิ้นประมาณ 10 ล้านบาท โดยอ้างตามกฎหมาย ธปท.ฉบับใหม่ที่เพิ่งประกาศใช้   ปี 2551 ในมาตรา 11 ที่ระบุว่า กิจการ ธปท.ไม่อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายคุ้มครองแรงงานว่าด้วยประกันสังคม ว่าด้วยเงินทดแทน และว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ แต่ ธปท.ต้องจัดให้มีระเบียบข้อบังคับกำหนดให้พนักงานและลูกจ้างได้รับประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ทั้งนี้เรื่องดังกล่าว ธปท.ให้อัยการเป็นทนายแก้ต่างให้ และขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครอง
"ส่วนใหญ่ที่ยื่นฟ้องเป็นพนักงานระดับล่างจำนวนหนึ่งที่เห็นว่าได้รับผลตอบแทนหลังเกษียณน้อยไปหรือไม่เพียงพอ ส่วนพนักงานระดับสูงหรือบางส่วนที่เห็นว่า ธปท.จ่ายให้เพียงพอแล้วไม่ได้ฟ้องร้อง อย่างไรก็ตามกรณีนี้ที่สุดแล้วแม้ว่า ธปท.ต้องจ่ายเงินให้พนักงานเกษียณที่   ฟ้องร้อง แต่ไม่ถือว่าเป็นบรรทัดฐานสำหรับพนักงานคนอื่น เนื่องจากเป็นการเรียกร้องสิทธิส่วนบุคคล" นายอรรคบุษย์กล่าว
สหภาพคนทำงานต่างประเทศยื่นหนังสือร้องนายกฯช่วยเหลือค่าเสียหาย หนี้สิน จากการไปทำงานต่างประเทศ
เว็บไซต์แนวหน้า (
5 มี.ค. 53) - เมื่อเวลา 11.00 น.บริเวณประตู 4 ทำเนียบรัฐบาล เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการไปทำงานที่ต่างประเทศ สหภาพคนทำงานต่างประเทศ จำนวน 30 คน นำโดยนางจรรยา ยิ้มประเสริฐ ประธานเครือข่ายฯ ยื่นข้อเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เร่งรัดมาตรการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาเรื่องหนี้สินแก่ผู้เสียหายจากการไปทำงานที่ประเทศสวีเดน โปแลนด์ และประเทศอื่นๆ เนื่องจากแรงงานไทยที่ไปทำงานยังประเทศสวีเดนเมื่อเดือนก.ค.-ก.ย. 52 ยังไม่ได้รับเงินตามที่คาดหวัง
จรรยา กล่าวว่า คนงานไทยที่ไปทำงานเก็บลูกเบอรี่ที่สวีเดนต่างกลับมาด้วยความผิดหวัง เนื่องจากไม่ได้เงินและยังมีหนี้สินกลับมาอีก คนงานจำนวน 450 คน จึงเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือ แต่ความช่วยเหลือก็ยังไม่ถึงมือคนงาน และไม่สามารถชดเชยกับความเสียหายครั้งนี้ได้ นอกจากนี้ยังมีแรงงานไทยที่ไปทำงานที่ประเทศโปแลนด์จำนวน 20 คนถูกจับกุมอยู่ในสถานกักกัน 3 แห่ง เนื่องจากเดินทางไปกับบริษัทจัดหางานที่ถูกต้องตามกฎหมาย 3 บริษัท แต่กับได้ไปทำงานกับเอเยนซี่ แทนที่จะไปทำกับเจ้าของโดยตรง และการทำงานไม่เป็นไปตามสัญญาจ้าง จึงถูกทางการโปแลนด์จับกุม นอกจากนี้ยังมีแรงงานไทยอีก 16 คน เตรียมถูกส่งตัวกลับประเทศ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือคนงานที่โปแลนด์อย่างเร่งด่วนทั้งเรื่องอาหาร การเรียกร้องเงินเดือนและค่าเสียหายจากนายจ้างที่โปแลนด์ และบริษัทจัดหางาน
ก.แรงงานรับมือแรงงานทะลักกรูกันเข้ากรุงเทพช่วงภัยแล้ง
พิมพ์ไทย (
5 ก.พ. 53) - ขณะนี้ปัญหาภัยแล้งได้คุกคามแล้วในหลายจังหวัด สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน โดยเฉพาะเกษตรกร อย่างมาก และอาจเป็นสาเหตุให้แรงงานภาคชนบทออกไปหางานทำในเมือง ซึ่งเรื่องนี้กระทรวงแรงงานในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบด้านแรงงาน ได้เตรียมมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งไม่ให้ทะลักเข้าไปหางานทำในกรุงเทพมหานคร
ผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนิโญ่ ทำให้ปีนี้ประเทศไทยเผชิญกับสถานการณ์ภัยแล้งในระดับรุนแรง โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณนอกเขตชลประทานและพื้นที่แล้งซ้ำซาก เนื่องจากน้ำในอ่างเก็บน้ำ และแม่น้ำสายสำคัญ เช่น แม่น้ำโขงมีปริมาณน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง และจากการติดตามสถานการณ์ภัยแล้งของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล โดยศูนย์ปฏิบัติการและติดตามสถานการณ์ด้านน้ำบาดาล คาดว่า ปีนี้ประเทศไทยจะประสบภัยแล้งไม่น้อยกว่า 55 จังหวัด ดังนั้นเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน และป้องกันการทะลักเข้ากรุงเทพมหานครมาหางานทำของแรงงานในชนบท กระทรวงแรงงานจึงจัดสรรงบประมาณส่วนหนึ่งสร้างงานในท้องถิ่น
นายสมชาย ชุ่มรัตน์ ปลัดกระทรวงแรงงานบอกว่า ปีนี้กระทรวงแรงงานได้รับงบประมาณเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง 280 ล้านบาท โดยขณะนี้มี 69 จังหวัดที่ขอร่วมโครงการจ้างงานเร่งด่วนและพัฒนาทักษะฝีมือกับกระทรวงแรงงานแล้วและมีการจัดสรรงบประมาณลงพื้นที่ประสบภัยแล้งแล้วกว่า 130 ล้านบาท ปัญหาภัยแล้ง นอกจากส่งผลให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานของคนในพื้นที่เข้าสู่ชุมชนเมืองเพื่อหาเลี้ยงชีพแล้ว ปลัดกระทรวงแรงงาน บอกว่า สิ่งหนึ่งที่ประชาชนในชนบทหรือต่างจังหวัด มักเลือกเป็นหนทางในการแก้ปัญหา คือการละทิ้งอาชีพในท้องถิ่นด้วยการเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ ซึ่งช่วงปีที่ผ่านมาพบว่ามีจำนวนถึง 260,000 คน
แม้ปีนี้ภัยแล้งมีแนวโน้มรุนแรงมากกว่าหลายปีที่ผ่านมา จนหลายคนต้องละทิ้งพื้นที่ทำมาหากินและมุ่งสู่สังคมเมืองก็ตาม แต่ก่อนที่จะตัดสินใจเช่นนั้น ก็ขอให้ตั้งสติและต่อสู้กับปัญหาที่เกิดขึ้น เนื่องจากขณะนี้หน่วยงานภาครัฐต่างเร่งหามาตรการบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยแล้ว ขณะเดียวกันก็หวังว่าการต่อสู้กับภัยแล้งจะไม่จบสิ้นไปตามฤดูกาล เพราะเชื่อว่าปีหน้าคงเกิดขึ้นอีกและอาจวิกฤตมากกว่าเดิมก็ได้
‘ไพฑูรย์’ ทำหนังสือปรามผู้ประกอบการห้ามแรงงานต่างด้าวร่วมชุมนุมเสื้อแดง
เว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจ
- นายไพฑูรย์ แก้วทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวให้ความเห็นถึง การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงที่นัดชุมนุมใหญ่วันที่ 14 มี.ค.นี้ว่า กระทรวงแรงงาน ได้ทำหนังสือถึงผู้ประกอบการ เพื่อขอความร่วมมือ ห้ามนำผู้ใช้แรงงานมาร่วมเคลื่อนไหวชุมนุมกับกลุ่มเสื้อแดง เพราะอาจทำให้เกิดความวุ่นวายและไม่เป็นผลดีต่อผู้ใช้แรงงานเนื่องจากหากเกิดเหตุการณ์การจลาจลและแรงงานต่างด้าวถูกจับดำเนินคดี อาจส่งตัวกลับประเทศทันที ซึ่งนายจ้างอาจต้องร่วมรับผิดชอบด้วย
พนง.องค์การค้าฯโวย-เงินเดือนไม่ออก
เว็บไซต์ข่าวสด (
6 มี.ค. 53) - เมื่อวันที่ 5 มี.ค. นางภัทราบุญ ปัญญาสุขศิริ ประธานสหภาพแรงงานองค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) เปิดเผยว่า ตนพร้อมด้วยสหภาพแรงงานองค์การค้าของสกสค. ได้มายื่นหนังสือถึงนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รมว.ศึกษาธิการ และนายเฉลียว อยู่สีมารักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานคณะกรรมการ สกสค. เพื่อขอให้สอบสวนกรณีการไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลจนเป็นเหตุให้ถูกอายัดบัญชี ส่งผลให้องค์การค้าฯ ไม่มีเงินจ่ายเงินเดือนพนักงานงวดสิ้นเดือนก.พ.ที่ผ่านมา ทำให้พนักงานองค์การค้าฯ ได้รับความเดือดร้อน ทั้งยังส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงและการดำเนินธุรกิจอีกด้วย และที่สำคัญขณะนี้องค์การค้าฯ ยังไม่มีผู้อำนวยการตัวจริง แต่ให้นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ทำหน้าที่รักษาการผู้อำนวยการแทน ซึ่งนับจากวันที่ได้รับการแต่งตั้งให้รักษาการจนถึงขณะนี้เป็นเวลากว่า 1 ปีแล้ว แต่นายชินภัทรและคณะก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาองค์การค้าฯ ได้ สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะไม่มีเวลาทำงานอย่างเต็มที่ จากผลงานในรอบปีที่ผ่านมาพบว่าองค์การค้าฯ มียอดขายตกต่ำและน้อยมาก เมื่อเทียบกับผอ.องค์การค้าฯ คนก่อนๆ
ประธานสหภาพแรงงานองค์การค้าฯ กล่าวอีกว่า สหภาพฯ เห็นว่าหากปล่อยให้บริหารงานในลักษณะนี้ต่อไปจะทำให้องค์การค้าฯ และพนักงานได้รับความเดือดร้อนมากขึ้น เนื่องจากองค์การค้าฯ ต้องทำธุรกิจค้าขายอีกมาก หากผิดนัดและถูกบังคับคดีอยู่บ่อยๆ อาจไม่มีใครอยากทำธุรกิจด้วย ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาจึงขอให้รมว.ศึกษาธิการ และปลัดกระทรวงศึกษาธิการดำเนินการดังนี้ 1.ขอให้เร่งจ่ายเงินเดือนพนักงานเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนโดยเร็ว 2.ขอให้สรรหาผอ.องค์การค้าฯ คนใหม่ และ 3.ขอให้สอบสวนความผิดทางวินัยผู้ที่เกี่ยวข้องที่ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลและไม่ยอมจ่ายเงินเดือนพนักงาน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันองค์การค้าฯ มีพนักงานประมาณ 1,900 คน ซึ่งต้องจ่ายเงินเดือนเป็นเงินประมาณ 40 ล้านบาทต่อเดือน ในขณะที่บัญชีที่ถูกอายัดมีเงินฝากเพียง 26.4 ล้านบาทเท่านั้น ทำให้เห็นว่าแม้ไม่มีการอายัดบัญชี องค์การค้าฯ ก็อาจไม่มีเงินจ่ายเงินเดือนพนักงาน ด้านนายชินภัทร กล่าวว่า ยืนยันว่าองค์การค้าฯ ได้จ่ายเงินให้แก่พนักงานทุกคนตั้งแต่วันที่ 4 มี.ค. เวลา 16.40 น.ที่ผ่านมา ดังนั้น หากมีปัญหาอะไรอยากให้สหภาพแรงงานองค์การค้าของสกสค.มาคุยกับตน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net