Skip to main content
sharethis
 

1 – 7 ม.ค. 2553
 
โรงงานเปิดศึกแย่งแรงงาน แจกหัวคิวซื้อตัวล่อ ปี 53 ขาดกว่า 5 แสน
เว็บไซต์ไทยโพสต์ (
2 ม.ค. 53) - โรงงานเปิดศึกแย่งชิงแรงงานรับออเดอร์ใหม่ คาดขาดแคลนกว่า 4-5 แสนคน งัดกลยุทธ์ล่อใจ ขึ้นเงินเดือนซื้อตัว แจกค่าหัวหาพนักงาน ขณะที่ลูกจ้างส่วนหนึ่งแห่กลับบ้านทำเกษตรอยู่ยาว กินรายได้ราคาพืชผล ส่วนเด็กมหาวิทยาลัยแนวโน้มยังเตะฝุ่น เจออาชีวะกินเรียบ
ปี 52 คดีแรงงานที่เข้าสู่การพิจารณาของศาลแรงงาน มีจำนวนทั้งสิ้น 26,103 คดี
เว็บไซต์ข่าวสด
(2 ม.ค. 53) - นายสราวุธ เบญจกุล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่าสำหรับคดีในส่วนของศาลชำนัญพิเศษ มีปริมาณคดีเข้าสู้การพิจารณาของศาลภาษีอากร ทั้งสิ้น 478 คดี พิพากษาเสร็จสิ้น 308 คดี คิดเป็นร้อยละ 64.44 คดีที่ฟ้องร้องกันมากที่สุด ประกอบด้วย 1. ภาษีมูลค่าเพิ่ม 128 คดี 2. พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน 59 คดี 3. พ.ร.บ.ศุลกากร 53 คดี และ 4. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 41 คดี ส่วนคดีแรงงานที่เข้าสู่การพิจารณาของศาลแรงงาน จำนวนทั้งสิ้น 26,103 คดี พิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว 17,336 คดี คิดเป็นร้อยละ 66.41 อันดับ 1 เรื่องขอให้จ่ายค่าจ้างให้ถูกต้องและตามกำหนดเวลา 7,243 คดี อันดับ 2 เรื่องขอให้คิดค่าชดเชย 6,704 คดี อันดับ 3 ขอให้จ่ายสินจ้างแทนการบอกล่วงหน้า 6,011 คดี และ อันดับ 4 ขอให้รับกลับเข้าทำงานและ/หรือให้จ่ายค่าเสียหายกรณีเลิกจ้างไม่เป็นธรรม 2,993 คดี
มูนิธิกระจกเงาแฉจังหวัดสงขลาติดกลุ่มค้าแรงงานมนุษย์
เว็บไซต์สยามรัฐ (2 ม.ค. 53)
- รายงาน ข่าวจากศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา เปิดเผยว่า ในการขณะนี้การค้าแรงงานมนุษย์มีความรุนแรงเพิ่ม มากขึ้น ส่วนใหญ่อยู่ภาคการประมง มี จ.สงขลา ติด 1 ใน 4 จังหวัดที่มีปัญหาขั้นรุนแรง มากกว่าร้อยละ 50 ของ แรงงานที่ถูกล่อลวงจากกรุงเทพฯและแรงงานต่างด้าวโดยมีนายหน้า ไปทำงานเรือประมงที่ท่าเรือประมง จ.สงขลา โดยใช้วิธีการให้แรงงานดื่มกินแบบติดบัญชีในร้านคาราโอเกะไว้ก่อน แล้วบังคับให้แรงงานลงเรือประมงเพื่อใช้หนี้แทน นายประพร เอกอุรุ นายกสมาคมประมง จ.สงขลา เปิดเผยว่า ตนทราบแต่ข่าวว่าท่าเรือประมง จ.สงขลามีการค้าแรงงานติด 1 ใน 4 ของ การค้ามนุษย์และละเมิดสิทธิ แต่ยังไม่เคยประสบกับเหตุการณ์ด้วยตนเอง หากบุคคลใดพบเห็นมีการหน่วงเหนี่ยวแรงงานข้ามชาติหรือการค้าแรงงานเถื่อน จะมีเจ้าหน้าที่ของรัฐร่วมด้วยก็ตาม ขอให้แจ้งตนทราบในฐานะ สส.และนายกสมาคมประมงด้วย เพื่อจะได้นำปัญหาเข้าสู่สภาผู้แทนราษฏรและรายงานให้รัฐบาลทราบ หาทางป้องกันและแก้ปัญหาต่อไป
ปลัด สธ.ห่วงวัยรุ่นแรงงานหญิง/นักเรียนฆ่าตัวตายมากขึ้น/แนะผู้ปกครองใกล้ชิดบุตรหลาน
เว็บไซต์สยามรัฐ (2 ม.ค. 53)
- นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยเกี่ยวกับสถานการณ์การฆ่าตัวตายของคนไทยว่า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากการวิเคราะห์รายละเอียด พบว่าผู้ทำร้ายตนเองเป็นผู้หญิงมากกว่าชาย ส่วนใหญ่อยู่ในวัยรุ่นและหนุ่มสาว มากที่สุดในกลุ่มอายุ 20-24 ปีร้อยละ 22 รองลงมาเป็นกลุ่มอายุ 15-19 ปีร้อยละ 20 และอายุ 25-29 ปีร้อยละ 17 ร้อยละ 38 เป็นผู้ใช้แรงงาน รองลงมาเป็นนักเรียนนักศึกษาร้อยละ 17 และไม่มีอาชีพร้อยละ 12 สถานที่ก่อเหตุทำร้ายตนเองส่วนใหญ่ร้อยละ 82 อยู่ที่บ้านและบริเวณบ้าน รองลงมาคือหอพัก เรือนจำร้อยละ 9 มักกระทำในช่วง 18-22 น. วิธีการที่ใช้มากที่สุด ได้แก่ กินสารเคมีหรือสารพิษที่ไม่ทราบชนิดร้อยละ 23 รองลงมาคือกินยาแก้ปวดลดไข้ร้อยละ 16 และกินยาฆ่าหญ้ายาฆ่าแมลงร้อยละ 15 ผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิงกว่า 2 เท่าตัว ร้อยละ 36 เป็นผู้ใช้แรงงาน รองลงมาเป็นเกษตรกรร้อยละ 16 และไม่มีงานทำร้อยละ 15 นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อว่า สาเหตุการฆ่าตัวตายพบว่ามีหลายสาเหตุ เช่น การเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน ทำให้เกิดความเครียด คับข้องใจ อีกทั้งการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารการฆ่าตัวตายผ่านสื่อต่างๆ ก็มีผลให้เกิดการเลียนแบบการทำร้ายตนเองมากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลย้อนหลังตั้งแต่ปี2547-2551 พบว่า แนวโน้มผู้ที่บาดเจ็บจากการทำร้ายตนเองสูงขึ้นในปี 2551 เป็นหญิงมากกว่าชาย แต่ผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จเป็นชายมากกว่าหญิง แนวโน้มเกิดในกลุ่มอายุ 20-39 ปีสูงขึ้นทุกปี และสูงขึ้นในกลุ่มผู้ใช้แรงงาน นักเรียนนักศึกษา และผู้ไม่มีงานทำ ส่วนวิธีการทำร้ายตนเองด้วยการกินยาลดไข้ยาแก้ปวด พิษจากยาและสารเคมีที่ไม่ทราบรายละเอียด และวัตถุมีคมมีแนวโน้มสูงขึ้น การกินยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลงมีแนวโน้มลดลง ผู้ตายจะใช้บ้านและบริเวณบ้านเป็นสถานที่ทำร้ายตนเองมากที่สุดทุกปี
กสร.จ่อจัดระเบียบสหภาพแรงงาน
เดลินิวส์ (3 ม.ค. 53)
- เมื่อวันที่ 2 ม.ค. นางอัมพร นิติสิริ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวถึงปัญหาการเลิกจ้างแกนนำสหภาพแรงงานที่ถูกมองว่าเป็นตัวการก่อการประท้วงในสถานประกอบการรอบ ปี 2552 ว่า ได้รับแจ้งว่ามีสหภาพแรงงานร้องเรียนมายังคณะกรรม การแรงงานสัมพันธ์จากเหตุดังกล่าวจำนวน 33 แห่ง จากสหภาพแรงงานที่มีอยู่ทั่วประเทศ 1,192 แห่ง ทั้งนี้เห็นว่าสหภาพแรงงานของประเทศไทยยังขาดความเข้าใจในเรื่องของกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ที่ดี ทำให้การแสดงบทบาทผิดแปลกแตกต่าง ทั้งการนำประท้วง การแสดง บทบาทในเชิงลบมากกว่าสร้างสรรค์ โดยไม่ใช้ หลักเหตุผลและสุจริตใจ จึงปรากฏภาพก้าวร้าว สหภาพแรงงานเหล่านี้จึงมีโอกาสสูงที่จะถูกเลิกจ้าง และทำให้บรรยากาศการลงทุนในประเทศไทยเสียหาย
“สมาชิกสหภาพแรงงานของไทยยังมีส่วนร่วมไม่มากพอ ทำให้บทบาทไปตกอยู่ที่ผู้นำ ซึ่งหลายสหภาพแรงงานก็มีการเมืองเข้า มาเกี่ยวข้อง ในปี 2553 กสร. มีนโยบายจัดฝึกอบรมสหภาพแรงงานทั่วประเทศให้ครบทั้ง 1,192 แห่ง เพื่อให้คนเหล่านี้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานที่ดี มีความเข้าใจในหลักกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ และเป็นกลไกในการเจรจาต่อรองกับนายจ้างด้วยหลักและเหตุผล ขณะเดียวกัน กสร. จะสร้างกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองสหภาพแรงงานตั้งแต่ผู้เริ่มก่อการ เนื่องจากไม่ต้องการให้ทุกครั้งที่มีข่าวว่าจะ ตั้งสหภาพแรงงานในโรงงาน คนเหล่านี้ก็ต้องเสี่ยงกับการถูกเลิกจ้าง เพราะกฎหมายปัจจุบันจะคุ้มครองคนที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานแล้วเท่านั้น” นางอัมพร กล่าว
สปส.หวั่นฐานะบักโกรก งัดสารพัดวิธีพยุงกองทุน แรงงานคาดปีเสือม็อบพุ่ง
แนวหน้า (
4 ม.ค. 53) - นายปั้น วรรณพินิจ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยถึงการดำเนินงานกองทุนประกันสังคมในปี 2553 ว่า สปส.จะปรับเปลี่ยนในหลายด้าน เพื่อประสิทธิภาพและความมั่นคงของกองทุน เนื่องจากหลายฝ่ายเป็นห่วงว่าในปี 2557 ที่เริ่มมีการจ่ายเงินกรณีชราภาพจะทำให้สถานะของกองทุนย่ำแย่ เพราะปริมาณเงินไหลออกมากกว่าไหลเข้า โดย สปส.จะเพิ่มช่องทางการลงทุนและปรับเปลี่ยนวิธีการเก็บเงินสมทบ ทั้งนี้ กองทุนประกันสังคมมีเงินอยู่ประมาณเกือบ 7 แสนล้านบาท โดยในปี 2552 กองทุนมีรายได้กว่า 24,000 ล้านบาท ซึ่งยังไม่นับรวมกำไรอีกกว่า 50 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่ลงทุนในต่างประเทศนายปั้น กล่าวว่า การลงทุนส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในสินทรัพย์ที่มั่นคง เช่น พันธบัตร ร้อยละ 87-88 อสังหาริมทรัพย์ลงทุนไม่เกินร้อยละ 5-6 ซึ่งในอนาคตจะขยายผลการลงทุนทางเลือกมากขึ้น โดยเฉพาะพวกโภคภัณฑ์ เช่น น้ำมัน พืชพลังงาน ขณะที่การลงทุนในต่างประเทศปีนี้จะเพิ่มการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ เพราะตอนนี้ราคาหุ้นอสังหาริมทรัพย์ลงมาเกือบสุดแล้ว โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและยุโรปบางส่วน ตนเชื่อว่ามูลค่าของที่ดินต่างประเทศจะต่ำสุดราวกลางปี 2553 หรืออย่างช้าสุดไม่เกินไตรมาสที่ 3
 
"ไพฑูรย์"เชื่อสถานการณ์แรงงานทิศทางดีขึ้น
เว็บไซต์แนวหน้า
(4 ม.ค. 53) - นายไพฑูรย์ แก้วทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยหลังจากเปิดบ้านภรณ์-ไพฑูรย์ ต.คลองคะเชนทร์ อ.เมือง จ.พิจิตร ให้ข้าราชการและนักการเมืองท้องถิ่น ได้เข้าขอพรและอวยพรเนื่องในวันขึ้นปีใหม่ว่า สถานการณ์แรงงานจากปี 2552 ที่ผ่านมามีคนว่างงานทั่วประเทศประมาณ 1 ล้านคน แต่ตอนนี้ทางกระทรวงแรงงานได้ใช้มาตรการสามลดสามเพิ่มทำให้อัตราว่างงานลดน้อยลงมา ซึ่งปัจจุบันมีคนว่างงานเหลือเพียงประมาณ 4 แสนคน และคาดว่าในปี 2553 นี้อัตราการว่างงานจะลดน้อยลงไปเรื่อยๆ เนื่องจากกระทรวงแรงงานได้ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีการฝึกอาชีพ ทดสอบฝีมือแรงงาน และจัดหางานให้ผู้ว่างงาน ประกอบกับสภาวะเศรษกิจที่เริ่มดีขึ้นผู้ประกอบการมีการจ้างงานมากขึ้น อีกทั้งผู้ที่ถูกเลิกจ้างงานก่อนหน้านี้กลับมาทำงานภาคเกษตรกรรมมากขึ้น ก็จะทำให้อัตราการว่างงานน้อยลงในที่สุด ซึ่งถือเป็นการประสบความสำเร็จของกระทรวงแรงงาน
ศธ.ทบทวนเกณฑ์รับนักเรียนปี 53 หนุนเพิ่มสัดส่วนเรียนสายอาชีพ
เดลินิวส์ (4 ม.ค. 53) -
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยถึงนโยบายการรับนักเรียนปีการศึกษา 2553 ว่า ตนได้มอบหมายสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไปทบทวนหลักเกณฑ์และขั้นตอนการรับนักเรียนให้ละเอียดและครบถ้วนมากที่สุดว่า กฎเกณฑ์ กติกา การรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และมัธยมศึกษาปีที่ 4 จะมีแนวทางอย่างไรบ้าง รวมถึงสัดส่วนการรับนักเรียนด้วย โดยให้ยึดเรื่องความเป็นธรรมเป็นหลัก ดังนั้นเชื่อว่าหลักเกณฑ์การรับนักเรียนในปีการศึกษาหน้าจะมีความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตามคาดว่าจะสามารถประกาศหลักเกณฑ์อย่างเป็นทางการได้ภายในเดือนมกราคมนี้ เพื่อให้สถานศึกษานำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ในการพิจารณาหลักเกณฑ์การรับนักเรียนดังกล่าว สพฐ.จะต้องไปหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ด้วย เพราะตนได้มอบเป็นแนวทางไปแล้วว่า ต้องการให้ส่งเสริมสนับสนุนเด็กเรียนสายอาชีพมากขึ้นเพราะปัจจุบันสัดส่วนการรับนักเรียนสายอาชีพอยู่ที่ร้อยละ 40 ขณะที่สายสามัญร้อยละ 60 ซึ่งถือว่าสูงมากเกินไป และตลาดแรงงานไม่ได้ต้องการผู้ที่จบสายสามัญมากขนาดนั้น ดังนั้นทั้ง สพฐ. และ สอศ.จะมีกระบวนการแนะแนว และคัดเลือกเด็กอย่างไร เพื่อให้เด็กได้เรียนในสิ่งที่เป็นความต้องการของตลาดแรงงานที่แท้จริง
นายจ้าง-ลูกจ้าง พอใจนโยบายแรงงาน หวังรัฐเดินหน้าสานภารกิจต่อ
เว็บไซต์แนวหน้า (
5 ม.ค. 53) - ที่กระทรวงแรงงาน น.ส.ส่งศรี บุญบา รองอธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยผลสำรวจของกองวิจัยตลาดแรงาน กรมการจัดหางาน ถึงความพึงพอใจของประชาชนต่อนโยบายและผลงานของกระทรวงแรงงาน ว่า กลุ่มตัวอย่างลูกจ้างและนายจ้างสถานประกอบการจำนวน 1,029 คน พบว่า นโยบายและผลงานที่นายจ้างและลูกจ้างมีความพึงพอใจมากที่สุด คือ นโยบายขยายความคุ้มครองผู้ประกันตนกรณีว่างงานจาก 6 เดือน เป็น 8 เดือน (ถึงสิ้นปี 2552) ได้ 4.3 จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน นโยบายการขยายความคุ้มครองผู้ประกันตนที่ตามมาตรา 40 จาก 3 กรณีเป็น 5 กรณี ได้ 4.28 คะแนน และนโยบายลดการส่งเงินสบทบเข้ากองทุนประกันสังคมจากร้อยละ 5 เหลือร้อยละ 3 เป็นเวลา 6 เดือน ได้ 4.23 คะแนน ขณะที่นโยบายและผลงานที่พึงพอใจมาก อาทิ โครงการเช็คช่วยชาติได้ 3.96 คะแนน โครงการนัดพบแรงงานได้ 3.89 คะแนน และโครงการต้นกล้าอาชีพ ในส่วนของกระทรวงแรงงานได้ 3.69 คะแนน สำหรับความคาดหวังในปี 2553 ประชาชนต้องการให้กระทรวงแรงงานดำเนินตามนโยบายเดิมต่อไป เช่น การให้เงินค่าทดแทนกรณีว่างงาน การลดเงินสมทบกองทุน การให้สิทธิในการรักษาเพิ่ม การตั้งกองทุนคุ้มครองแรงงานนอกระบบ โดยเพิ่มให้มีการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับสิทธิของแรงงานและข้อมูลข่าวสารให้ทันสมัยยิ่งขึ้น
ก.แรงงาน โวรับมือผลกระทบมาบตาพุด เร่งเตรียมตำแหน่งงานรองรับ
เว็บไซต์แนวหน้า (
5 ม.ค. 53) - ที่กระทรวงแรงงาน น.ส.ส่งศรี บุญบา รองอธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า จากการลงพื้นที่สำรวจแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากกรณีศาลปกครองมีคำสั่งระงับ 65 โครงการมาบตาพุดทำให้มีการคาดการณ์จะทำให้แรงงานกว่า 4 หมื่นคน ซึ่งกรมการจัดหางานได้เตรียมตำแหน่งงานรองรับไว้เรียบร้อยแล้ว อาทิ งานด้านวิศวกร จำนวน 332 อัตรา ผู้ควบคุมงานโครงสร้าง 23 อัตรา ช่างก่อสรค้าง 403 อัตรา ผู้ตรวจสอบคุณภาพก่อสร้าง 33 อัตรา ช่างเชื่อม 683 อัตรา แรงงานทั่วไป 2,855 อัตรา “ขณะนี้มีแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการระงับโครงการในมาบตาพุดเข้ามาติดต่อขอสิทธิประโยชน์กรณีการว่างงานจากกรมการจัดหางานเพียง 20 คนเท่านั้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ทางนายจ้างที่ถูกชะลอก่อสร้างโครงการไม่ต้องการเลิกจ้างงาน เนื่องจากทางนายจ้างคิดว่าหากต้องการจำนวนแรงงานเหล่านี้กลับเข้าทำงาน จะไม่สามารถตามตัวกลับเข้าทำงานได้ โดยขนาดนี้แรงงานกลุ่มนี้จะถูกย้ายไปช่วยงานในพื้นที่ก่อสร้างแห่งอื่นไปก่อน” น.ส.ส่งศรี กล่าว
ค่ายรถอเมริกันแนะรัฐล้อมคอกปัญหาแรงงาน
เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ (5 ม.ค. 53) -
แหล่งข่าวจากหอการค้าอเมริกันในประเทศไทย (AMCHAM) เปิดเผยกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า จากกรณีเรื่องข้อพิพาทแรงงานยานยนต์ในปีที่ผ่านมา เช่น ข้อพิพาทแรงงานของสหภาพแรงงานเจนเนอรัล มอเตอร์ส หรือ สหภาพแรงงานเอเอที (โรงงานผู้ผลิตฟอร์ด มาสด้า) หรือแม้กระทั่งโรงงานซัพพลายเออร์ชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์หลายแห่ง ทำให้ผู้ประกอบยานยนต์เริ่มไม่มั่นใจ ในเสถียรภาพของภาคแรงงานและได้มองหาทางออกโดยเริ่มต้น มีการศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาและทำทำหนังสือเพื่อเสนอแนวทางแก้ปัญหาส่งถึงรัฐบาลผ่านทางหอการค้าฯ เพราะผลเสียหายจากข้อพิพาทแรงงานที่ยืดเยื้อและเกิดขึ้นซ้ำทุกปีนั้น ส่งผลเสียต่อการดำเนินธุรกิจอย่างมาก โดยเฉพาะในสภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเช่นทุกวันนี้ ดังนั้น อยากให้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาแก้ปัญหาอย่างจริงจัง เพื่อผลดีต่อเศรษฐกิจประเทศโดยรวม โดยนำบทเรียนที่ผ่านมามาพิจารณาถึงแนวทางแก้ปัญหาโดยที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมอย่างเป็นธรรม
ทั้งนี้ ค่ายรถยนต์มองว่าปัญหาเรื่องแรงงานเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ที่ต้องแก้ในแบบเชิงรุกมากกว่าเชิงรับและทำเป็นแผนระยะยาว สิ่งที่ภาครัฐควรสนใจคือกระบวนการทางแรงงาน และกฎหมายที่เกี่ยวกับการเจรจาข้อเรียกร้อง ซึ่งในปัจจุบันหากภาครัฐสามารถตีกรอบให้กับแรงงานได้มากขึ้นอาจทำให้เหตุแห่งการพิพาทแรงงานจนถึงขึ้นนัดหยุดงาน หรือปิดงานลดลงหรือ ยุติข้อพิพาทได้รวดเร็ว ตัวอย่างต่อไปนี้คือข้อพิจารณา
1. ภาครัฐควรให้คำปรึกษาแก่ลูกจ้าง และตรวจสอบข้อเรียกร้องของลูกจ้างก่อนการยื่นต่อนายจ้าง เพื่อเป็นการช่วยลดปัญหาข้อเรียกร้องที่เกินความเป็นจริง ภายใต้ พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ รวมถึงภาวะเศรษฐกิจที่ส่งผลโดยตรงต่อบรรยากาศในการเจรจาข้อเรียกร้อง การตรวจสอบและกลั่นกรองในขั้นต้นนี้จะช่วยลดแรงงานกดดันในการเจรจาตลอดจนความคาดหวังได้เป็นอย่างดี ก่อนที่ส่งผลรุนแรงเมื่อเป็นกรณีพิพาท
2. ภาครัฐควรให้ความรู้กับภาคแรงงานในเรื่องกฎหมายและสิทธิที่แรงงานควรหรือไม่ควรปฏิบัติ ทั้งในส่วนของผู้นำแรงงาน และสมาชิกสหภาพแรงงาน ซึ่งปรากฏว่าในหลายเหตุการณ์ลูกจ้างกระทำการโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์จนเกิดคดีความ
3. ภาครัฐควรเป็นผู้นำในการจัดคณะทำงานเฉพาะกิจกรณีเหตุการณ์นัดหยุดงาน หรือพิพาทแรงงานอื่น คณะทำงานควรประกอบด้วยตำรวจ แรงงานจังหวัด เจ้าหน้าที่จังหวัด และตัวแทนฝ่ายในจ้าง ทั้งนี้เพื่อให้สามารถควบคุมสถานการณ์ให้อยู่ภายใต้กรอบ และชี้แนะแรงงานในทางที่เหมาะสมเพื่อการนัดหยุดงานเป็นไปอย่างสันติและจบลงเร็วที่สุด
4. คณะผู้ไกล่เกลี่ยกรณีพิพาทแรงงานจากภาครัฐควรเป็นผู้มีความรู้และชำนาญในการเจรจา และเป็นกลางคอยให้ข้อมูลทางกฎหมาย การชี้นำในบางความคิดเห็นหลายครั้งส่งผลให้เกิดความเข้าใจผิดในด้านเจตนาของผู้ไกล่เกลี่ย ซึ่งอาจรวมถึงผู้ไกล่เกลี่ยควรได้รับการอบรมเฉพาะทาง
5. ระหว่างการนัดหยุดงานและรวมตัวกันของลูกจ้าง ภาครัฐควรให้มีตัวแทนเพื่อให้คำปรึกษาและให้ความรู้แก่สมาชิกที่ร่วมนัดหยุดงานอย่างเหมาะสมเป็นระยะในเรื่องสิทธิทางกฎหมาย และข้อจำกัดในการแสดงออกที่เหมาะสม
อุตฯไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์หวั่นขาดแรงงาน
เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ (5 ม.ค. 53) -
ดร.ขัติยา ไกรกาญจน์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ภาพรวมการส่งออกของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในช่วง 3 ไตรมาสของปีที่ผ่านมายังมีการปรับตัวลดลง โดยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551โดยไตรมาสแรกลดลง 30% ไตรมาสสอง 20% และไตรมาสสาม 10% ส่วนไตรมาสสุดท้ายเชื่อว่าสถานการณ์จะกลับมาเป็นบวก และเมื่อสรุปภาพรวมทั้งปีคาดว่าจะลดลง 12% หรือคิดเป็นมูลค่า 1.455 ล้านล้านบาท เป็นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ 9 แสนล้านบาท ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่น้อยกว่าการคาดการณ์ในช่วงต้นปี
ทั้งนี้ การที่สถานการณ์ไตรมาสสุดท้ายมีการปรับตัวที่ดีขึ้นเป็นผลมาจาก ยอดคำสั่งซื้อในไตรมาส 4 เริ่มดีขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการต้องเพิ่มการทำงานล่วงเวลาหรือโอที จนโรงงานบางแห่งต้องรับแรงงานเพิ่ม โดยเฉพาะโรงงานอิเล็กทรอนิกส์ที่ขณะนี้มีความต้องการแรงงานเพิ่มกว่า 1 หมื่นคน แต่ก็ยังไม่สามารถรับเพิ่มได้ทัน เนื่องจากคำสั่งซื้อที่กลับมาอย่างรวดเร็ว จึงทำให้ต้องสรรหาแรงงานจากภาคอุตสาหกรรมอื่นทดแทน
 “ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมนี้มีการลดจำนวนคนลง และเมื่อสถานการณ์เริ่มดีขึ้น โดยเฉพาะไตรมาสสุดท้ายที่พลิกกลับมาเป็นบวก เราจำเป็นต้องไปหาแรงงานในภาคอุตสาหกรรมอื่นเข้ามาแทน หรือในอุตสาหกรรมที่ให้ค่าแรงต่ำกว่า ประเด็นนี้เราเป็นห่วงเช่นกันว่าอนาคตจะรองรับไม่ทันกับการขยายตัว สิ่งที่เกิดขึ้นนี้กลับกันจากในอดีตคือ ในบางเซคเตอร์ตอนนี้เป็นการขาดแรงงานเชิงปริมาณ ไม่ใช่คุณภาพ ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้น แต่เมื่อก่อนเป็นการขาดแรงงานเชิงคุณภาพ”
ประธานกลุ่มอุตฯ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันราคาของสินค้ามีราคาที่ต่ำลง เนื่องจากต้องแข่งกับสินค้าจีน ขณะที่วัตถุดิบในปีหน้ามีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ทั้งทองแดง เหล็ก และพลาสติก ดังนั้นผู้ประกอบการในประเทศจำเป็นต้องมีการลงทุนเครื่องจักรให้มากขึ้น รวมทั้งการออกแบบที่แตกต่างจากคู่แข่ง และเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยยกระดับสินค้า และทดแทนกับแรงงานที่ขาดหายไปได้ โดยเฉพาะการเพิ่มเครื่องจักรซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่ง
ลูกจ้างจี้ปฏิรูประบบกองทุนประกันสังคม
เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ (5 ม.ค. 53) -
นายประสิทธิ์ จงอัศยากุล คณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) ฝ่ายนายจ้าง ในฐานะโฆษกบอร์ด สปส.กล่าวถึง กรณีนายปั้น วรรณพินิจ เลขาธิการ สปส. มีแผนที่จะปรับเปลี่ยนการดำเนินงานของกองทุนประกันสังคมในหลายเรื่อง โดยเฉพาะการเพิ่มการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ในตลาดต่างประเทศ ว่า สปส.ไม่สามารถลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ของตลาดต่างประเทศตามที่เป็นข่าวได้ และหากดำเนินการก็จะขัดต่อกฎหมาย เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทยยังไม่อนุญาตให้ดำเนินการ เพียงแต่ สปส.สามารถลงทุนในลักษณะของหุ้นและกองทุนของอสังหาริมทรัพย์ได้เท่านั้น
นายประสิทธิ์ กล่าวอีกว่าปี 2552 ที่ผ่านมา บอร์ด สปส.ได้อนุมัติวงเงินลงทุน 600 ล้านดอลลาร์ ไปลงทุนในตลาดต่างประเทศ ซึ่งเป็นแผนการลงทุนระยะเวลา 5 ปี เนื่องจากเห็นว่าภาวะเศรษฐกิจในต่างประเทศใกล้ถึงจุดต่ำสุดแล้ว โดยวงเงินดังกล่าว แบ่งเป็นการลงทุน 3 ส่วน คือ ลงทุน 200 ล้านดอลลาร์ ในพันธบัตร หน่วยงานของภาครัฐและหุ้นกู้เอกชน ที่มีผลการตอบแทนระดับเกรดเอ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับหุ้นกู้ของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) วงเงิน 200 ล้านดอลลาร์ จะดำเนินการจ้างผู้จัดการลงทุนในตลาดหุ้นหลักทรัพย์ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก นับเป็นการลงทุนครั้งแรกของ สปส. ซึ่งหากการลงทุนดังกล่าวอยู่ในช่วงภาวะดี คาดว่าจะได้รับผลตอบแทนเกินร้อยละ 10 และวงเงิน 200 ล้านดอลลาร์ ลงทุนในหุ้นหรือกองทุนอสังหาริมทรัพย์ อาทิเช่น กองทุนเซ็นทรัลพัฒนาในประเทศไทย
ส่วนแผนการปรับเปลี่ยนการจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคม กรณีชราภาพจากร้อยละ 3 เพิ่มเป็นร้อยละ 4 พร้อมทั้งขยายอายุการรับเงิน และระยะเวลาจ่ายเงินสมทบ 180 เดือน จึงจะได้รับสิทธินั้น นายประสิทธิ์ กล่าวว่า ยังไม่ทราบถึงเรื่องนี้ เนื่องจากยังไม่มีการเสนอเข้าที่ประชุมบอร์ด สปส.เป็นเพียงความคิดเห็นของเลขาธิการ สปส.เท่านั้น ต้องรอศึกษาถึงความเป็นไปได้ก่อน เพราะเห็นว่าเมื่อมีการเริ่มจ่ายเบี้ยสิทธิประโยชน์ชราภาพ เงินในกองทุนย่อมไหลออกมากกว่าไหลเข้า ดังนั้น กองทุนชราภาพจึงต้องปรับการจ่ายเงินสมทบเพิ่มขึ้น เพื่อรักษาสมดุลของกองทุน
ทางด้านนายชัยสิทธิ์ สุขสมบูรณ์ ประธานสหพันธ์แรงงานธนาคารและการเงินแห่งประเทศไทย (สธง.) กล่าวว่า หากมีการปรับการจ่ายเงินสมทบกรณีชราภาพจริงก็เป็นเรื่องที่ดี แต่นายจ้างจะยอมจ่ายหรือไม่ ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องนี้ ส่วนเรื่องการขยายอายุการรับเงินจาก 55 ปี เป็น 62-63 ปีนั้น ตนเห็นด้วย เนื่องจากปัจจุบันอายุเฉลี่ยของคนไทยสูงขึ้น ฐานอายุ 55 ปีถือว่าสั้นไป สมควรที่จะขยายฐานอายุนี้ออกไปให้เท่ากับต่างประเทศ
แรงงานชี้คนตกงานมาบตาพุดไม่สูง
เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ (5 ม.ค. 53) -
น.ส.ส่งศรี บุญบา รองอธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า จากการลงพื้นที่สำรวจแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากกรณีศาลปกครองมีคำสั่งระงับ 65 โครงการมาบตาพุด ทำให้คาดการณ์ว่าจะส่งผลกระทบกับแรงงานกว่า 1 หมื่นคน ซึ่งกรมการจัดหางานได้เตรียมตำแหน่งงานรองรับไว้เรียบร้อยแล้ว อาทิเช่น งานด้านวิศวกร จำนวน 332 อัตรา ผู้ควบคุมงานโครงสร้าง 23 อัตรา ช่างก่อสร้าง 403 อัตรา ผู้ตรวจสอบคุณภาพก่อสร้าง 33 อัตรา ช่างเชื่อม 683 อัตรา แรงงานทั่วไป 2,855 อัตรา
"ขณะนี้ มีแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการระงับโครงการในมาบตาพุด เข้ามาติดต่อขอสิทธิประโยชน์กรณีการว่างงานจากกรมการจัดหางานเพียง 20 คนเท่านั้น สะท้อนให้เห็นว่าทางนายจ้างที่ถูกชะลอก่อสร้างโครงการไม่ต้องการเลิกจ้างงาน เนื่องจากทางนายจ้างคิดว่าหากต้องการจำนวนแรงงานเหล่านี้กลับเข้าทำงาน จะไม่สามารถตามตัวกลับเข้าทำงานได้ โดยขนาดนี้แรงงานกลุ่มนี้จะถูกย้ายไปช่วยงานในพื้นที่ก่อสร้างแห่งอื่นไปก่อน" น.ส.ส่งศรีกล่าว
รองอธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวอีกว่า ในปี 2553 นี้ รัฐบาลจะมีโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าทั้ง สายสีน้ำเงิน (บางซื่อ-ท่าพระ) สายสีแดง (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) และสายสีเขียว (หมอชิต-สะพานใหม่) ซึ่งจะสามารถรองรับแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากมาบตาพุดมาได้ในระดับหนึ่ง และทางนายจ้างก็ไม่ต้องการเลิกจ้างแรงงาน เพราะเกรงว่าจะไม่สามารถเรียกตัวกลับเข้าทำงานได้ในภายหลัง
แรงงานเรียนเพิ่ม ค่าเฉลี่ยสูงขึ้นทุกปี
ไทยโพสต์ (5 ม.ค. 53) -
รศ.ธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เปิดเผยผลการจัดทำรายงานปีการศึกษาเฉลี่ยของประชากรไทย ปี 2550-2551 ของ สกศ. เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายเรียนฟรี 15 ปี และการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง โดยทำการศึกษาตั้งแต่ ปี 2547-2551 พบว่า จำนวนประชากรในวัยเรียน (3-24 ปี) มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องทุกปี ในขณะที่ประชากรนอกวัยเรียน (อายุ 25-59 ปี) และกลุ่มนอกวัยแรงงาน (60 ปีขึ้นไป) มีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี โดยมีอัตราส่วนเพศชายต่อเพศหญิงเฉลี่ยเท่ากับร้อยละ 49.1 ต่อ 50.9
ในส่วนของประชากรที่อยู่ในระบบ พบว่า จากปี 2547-2551 จำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยของกลุ่มอายุ 15 ปีขึ้นไป เพิ่มเป็น 8.0 หรือมีการศึกษาเฉลี่ยสูงกว่าระดับประถมศึกษา กลุ่มอายุ 15-39 ปี เพิ่มเป็น 10.3 ปี หรือมีการศึกษาเฉลี่ยสูงกว่าระดับมัธยมศึกษาตอนต้น กลุ่มอายุ 40-59 ปี เพิ่มเป็น 7.1 ปี หรือมีการศึกษาเฉลี่ยสูงกว่าระดับประถมศึกษา และกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไปมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เป็น 4.6 ปี หรือสูงกว่าระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เล็กน้อย จากตัวเลขจะสังเกตได้ว่ากลุ่มอายุที่กล่าวมามีอัตราการศึกษาเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าพอใจในระดับหนึ่ง
สำหรับประชากรวัยแรงงาน อายุ 15-59 ปี การศึกษาเฉลี่ยตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งเท่ากับ 8.4 ปี เพิ่มขึ้นเป็น 8.8 ปี ในปี 2551 หรือมีการศึกษาเฉลี่ยอยู่ในระดับสูงกว่าระดับประถมศึกษา จะเห็นได้ว่ามีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่หากเปรียบเทียบกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่จำนวนปีการศึกษาเฉลี่ย 9.5 ปี ก็ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด จึงต้องเร่งดำเนินนโยบายและกำหนดมาตรการในการจัดการศึกษาทั้งในระบบ นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย รวมถึงการพัฒนาหลักสูตรและวิธีการสอน เพื่อให้สนองต่อความต้องการของกลุ่มด้อยโอกาส และต้องจัดให้มีรูปแบบการศึกษาที่หลากหลาย เพื่อเป็นทางเลือกให้กลุ่มประชากรวัยต่างๆ ที่ไม่สามารถเข้าเรียนในระบบโรงเรียนปกติ
รวบแก๊งลอบขนแรงงานพม่าช่วงปีใหม่ได้ผู้ต้องหาไทย 3 พม่ากว่าสิบคนสารภาพคิดค่าหัวรายละ 5,000พิมพ์ไทย (5 ม.ค. 53) - จ.ระนอง มุ่งหน้าผ่านเข้าพื้นที่ จ.ชุมพร ถึงบริเวณทางโค้งเชิงเขาถนนสาย จปร.-รับร่อบ้านปากพรุ หมู่ 6 ตำบล จปร. อ.กระบุรี จ.ระนอง เขตติดต่อกับ ต.รับร่ออ.ท่าแซะ จ.ชุมพร แต่รถยนต์คันดังกล่าวเมื่อเห็นเจ้าหน้าที่จึงหักหลบ เพื่อหนีการจับกุม แต่รถได้ไถลตกลงไปติดอยู่ในร่องน้ำข้างเชิงเขา เจ้าหน้าที่จึงกรูเข้าไปตรวจสอบ ทราบคนขับชื่อ นายธวัช แซ่ลิ้ม อายุ 22 ปี อยู่บ้านเลขที่36 หมู่ 8 ต.น้ำจืด อ.กระบุรี จ.ระนอง และนายบอย ศรีทอง อายุ 22 ปี อยู่บ้านเลขที่ 45/1 หมู่6 ต.มะมุ อ.กระบุรี จ.ระนอง นั่งมาด้านเบาะนั่งข้างคนขับ ภายในแค็ปหลังที่นั่งคนขับรถพบแรงงานต่างด้าวชาวพม่าทั้งชาย-หญิง นั่งอัดกันมาแน่นจำนวน 11 คน
สอบสวนทราบว่า แก๊งลักลอบขนแรงงานต่างด้าวดังกล่าว ได้อาศัยจังหวะช่วงเทศกาลปีใหม่ซึ่งเข้าใจว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ได้เข้มงวดจับกุมเหมือนปกติที่ผ่านมา จึงลักลอบขนแรงงานต่างด้าวทั้งหมดมาจากชายแดนริมแม่น้ำกระบุรีด้าน จ.ระนอง ได้รับค่าหัวรายละ 3,000 บาท เพื่อนำส่งขึ้นรถประจำทางสีแดง ที่จอดรอรับอยู่บริเวณถนนเพชรเกษม ข้างป้อมสายตรวจหน้าจุดแวะพักรถโดยสารและนักท่องเที่ยว "คุณสาหร่าย" ต.ท่าข้าม อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร แล้วส่งต่อ แหล่งข่าวรายงานเพิ่มเติมว่าระหว่างเจ้าหน้าที่กำลังตรวจสอบจับกุมผู้ต้องหาชุดแรก ได้มีรถยนต์กระบะ ตอนครึ่งยี่ห้อโตโยต้า สีบรอนซ์ ทะเบียนบจ-2443 ระนอง ขับมาจากทาง อ.ท่าแซะ จ.ชุมพรมาด้วยความเร็วสูง เจ้าหน้าที่จึงเรียกให้หยุดทราบคนขับชื่อ นายสุธี ชุ่มชื่น อายุ 30 ปี อยู่บ้านเลขที่3/6 หมู่ 1 ตำบล จปร.อ.กระบุรี จ.ระนอง
ตรวจสอบภายในแค็ปหลังคนขับมีแรงงานชายชาวพม่า 2 คน เป็นเด็ก 1 คน ผู้ใหญ่ 1 คนทั้ง 2 เป็นพ่อลูกกัน สอบสวนทราบว่า แรงงานพ่อลูกทั้ง 2 คน ไปรับจ้างทำงานอยู่ในพื้นที่ เกาะเต่าจ.สุราษฎร์ธานี ช่วงเทศกาลปีใหม่ จึงอยากกลับบ้าน ได้ว่าจ้างนายหน้าให้มาส่งที่จุดแวะพักผู้โดยสาร "คุณสาหร่าย" แล้วมีนายสุธีไปรับช่วงต่อต่อคิดค่าหัว 5,000 บาท เพื่อพาไปส่งบริเวณริมแม่น้ำกระบุรี จ.ระนอง กลับประเทศพม่า เจ้าหน้าที่จึงควบคุมตัวผู้ต้องหาแก๊งค้าแรงงานเถื่อนทั้งหมด พร้อมแรงงานต่างด้าว และรถยนต์ของกลางที่ใช้เป็นพาหนะขนแรงงาน ส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
ลูกจ้างหนุนสมทบเพิ่มเงินชราภาพ
เว็บไซต์มติชน (5 ม.ค. 53)
- เมื่อวันที่ 4 มกราคม นายประสิทธิ์ จงอัศยากุล คณะกรรมการประกันสังคม(บอร์ด สปส.) ฝ่ายนายจ้าง ในฐานะโฆษกคณะกรรมการประกันสังคม กล่าวถึงกรณี นายปั้น วรรณพินิจ เลขาธิการ สปส.มีแผนจะปรับการดำเนินงานของกองทุนประกันสังคม โดยเพิ่มการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ ว่า สปส.ไม่สามารถลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศได้ เพราะขัดต่อกฎหมาย เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ยังไม่อนุญาตให้ดำเนินการ เพียงแต่ สปส.สามารถลงทุนหุ้นและกองทุนอสังหาริมทรัพย์ได้เท่านั้น ไม่ใช่เก็งกำไรในอสังหาริมทรัพย์โดยตรง
นายประสิทธิ์ กล่าวว่า ปี 2552 บอร์ด สปส.อนุมัติเงินลงทุน 600 ล้านเหรียญสหรัฐ ไปลงทุนในตลาดต่างประเทศ เป็นแผนการลงทุน 5 ปี เนื่องจากเห็นว่าภาวะเศรษฐกิจในต่างประเทศใกล้ถึงจุดต่ำสุดแล้ว ทั้งนี้ วงเงินดังกล่าว แบ่งเป็นการลงทุน 3 ส่วน คือ 1 ลงทุนพันธบัตร หน่วยงานของภาครัฐและหุ้นกู้เอกชนที่มีผลการตอบแทนระดับเกรดเอ วงเงิน 200 ล้านเหรียญสหรัฐ 2.จ้างผู้จัดการลงทุนดำเนินการลงทุนในตลาดหุ้นหลักทรัพย์ในประเทศต่างๆ ทั่วโลกวงเงิน 200 ล้านบาท 3.ลงทุนในหุ้นหรือกองทุนอสังหาริมทรัพย์วงเงิน 200 ล้านบาท เช่น กองทุนเซ็นทรัลพัฒนาในประเทศไทย เป็นต้น
นายประสิทธิ์ กล่าวถึงแผนการปรับเปลี่ยนการจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคม กรณีชราภาพจากร้อยละ 3 เพิ่มเป็นร้อยละ 4 พร้อมทั้งขยายอายุการรับและระยะเวลาจ่ายเงินสมทบ 180 เดือนจึงจะได้รับสิทธิว่า เรื่องนี้ยังไม่มีการเสนอเข้าที่ประชุมบอร์ด สปส.เป็นเพียงความคิดเห็นของเลขาธิการ สปส.ต้องรอให้เสนอเข้าที่ประชุมและศึกษาผลดีผลเสียก่อนอย่างไรก็ตาม เห็นว่ากองทุนชราภาพต้องปรับการจ่ายเงินสมทบเพิ่มขึ้น เพื่อรักษาสมดุลของกองทุน
นายชัยสิทธิ์ สุขสมบูรณ์ ประธานสหพันธ์แรงงานธนาคารและการเงินแห่งประเทศไทย(สธง.) กล่าวว่า หากปรับการจ่ายเงินสมทบกรณีชราภาพจริงก็เป็นเรื่องที่ดี แต่นายจ้างจะยอมจ่ายหรือไม่ ส่วนการขยายอายุการรับเงินจาก 55 ปี เป็น 62-63 ปีนั้นเห็นด้วย เนื่องจากปัจจุบันอายุเฉลี่ยของคนไทยสูงขึ้น
คนงานฟอร์ด-มาสด้า ประท้วงเพิ่มโบนัส
เดลินิวส์ (5 ม.ค. 53)
- เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 5 ม.ค.พนักงานกว่า 500 คน ได้ชุมนุมประท้วงผู้บริหารบริษัท ออโต้อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานประกอบรถยนต์ฟอร์ดและมาสด้า ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมอิสเทิร์นซีบอร์ด อ.ปลวกแดง จ.ระยอง เกี่ยวกับปัญหาการจ่ายโบนัสและการยุบกะการทำงาน ซึ่งเป็นการประท้วงต่อเนื่องมาจากปลายปี 2552 และยังหาข้อสรุปร่วมกันไม่ได้ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.ปลวกแดง และตำรวจนปพ. กว่า 50 นาย กระจายกำลังคอยควบคุมสถานการณ์อยู่รอบ ๆ บริษัท
นายสมศักดิ์ สุขยอด ประธานสหภาพแรงงานฟอร์ดและมาสด้าประเทศไทยกล่าวว่า สาเหตุของการประท้วงครั้งนี้ มาจากการเจรจาข้อเรียกร้องที่ไม่สามารถตกลงกันได้ตั้งแต่ปี 2552 เนื่องจากบริษัทยืนยันที่จะจ่ายโบนัสตามที่เสนอครั้งแรก คือ โบนัส 5 เดือน บวกเงิน 10,000 บาท และปรับขึ้นเงินเดือน 4.5% บวกเงินอีก 100 บาท ขณะที่สหภาพแรงงานฯได้ลดตัวเลขลงจากเดิมเหลือเพียง โบนัส 5.6 เดือน บวกเงิน20,000 บาท และปรับขึ้นเงินเดือน 4.5%บวกเงินอีก 400 บาท
ในส่วนสวัสดิการอื่น ๆ เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่าเบี้ยขยัน ค่ากะ ค่าอาหาร ค่าเล่าเรียนบุตร ค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งการสนับสนุนกิจกรรมของสหภาพแรงงานฯมีการยื่นเสนอตามปกติ แต่สิ่งที่น่าแปลกใจคือนายจ้างยังยืนกระต่ายขาเดียวไม่ยอมปรับตัวเลข เมื่อการเจรจาไม่สามารถหาข้อยุติได้ นายจ้างจึงยื่นข้อเรียกร้องสวนออกมา และประกาศปิดโรงงานเมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 52 ถึงวันที่ 4 ม.ค. 53 จนถึงปัจจุบันยังไม่มีท่าทีว่าจะเปิดทำงานเมื่อไหร่
สำหรับครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน สหภาพแรงงานฯยื่นข้อเรียกร้องตามปกติ และมีการเจรจาไปแล้ว 12 ครั้ง แต่ไม่สามารถหาข้อสรุปได้ เนื่องจากนายจ้างอ้างว่าบริษัทประสบปัญหาจึงไม่มีกำลังที่จ่ายตามที่สหภาพแรงงานเรียกร้องได้ ทั้งที่ข้อเท็จจริงนั้นบริษัทในอุตสาหกรรมยานยนต์ทุกบริษัทประสบปัญหาไม่ต่างกัน แต่ส่วนใหญ่ได้ประกาศจ่ายสวัสดิการไปหมดแล้ว ซึ่งในส่วนของบริษัทมีโอกาสดีกว่าหลายบริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกัน แม้จะมีการลดกำลังการผลิต ลดจำนวนพนักงานที่สมัครใจลาออก แต่ไม่ถึงขั้นยุบกะ หรือเลิกจ้างพนักงานจำนวนมากตามที่นายจ้างกล่าวอ้าง
มาร์คสั่งทบทวนค่าจ้างขั้นต่ำ หวั่นนักลงทุนย้ายฐานหนี
เว็บไซต์ไทยรัฐ (
6 ม.ค. 53) -เมื่อวันที่ 6 ม.ค. นายวัชระ กรรณิการ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจ มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เร่งประสานกับกระทรวงแรงงาน พิจารณาความเหมาะสมของระบบค่าจ้างขั้นต่ำ และค่าจ้างแรงงานของไทย เพื่อให้ไทยสามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศในอนาคต รวมถึงให้ติดตามโครงสร้างการว่างงานอย่างใกล้ชิด เพราะเกรงว่าในระยะต่อไปหากอุตสาหกรรมหลักของไทย เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ ไม่สามารถพัฒนาให้มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลกระทบต่อแรงงานใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานในอนาคต
โดยที่ประชุมนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กระทรวงแรงงานเร่งหาแนวทางแก้ไขปัญหาการนัดหยุดงานและการประท้วงของแรงงาน ให้ได้ความชัดเจน โดยเฉพาะปัญหาที่ค้างอยู่ ทั้งในส่วนของโรงงานรถยนต์ และโรงงานสิ่งทอ ที่ได้รับการร้องเรียนจากเอกชน เช่น บริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ ประเทศไทย ที่ระบุว่า หากไทยไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ ได้ อาจมีผลกระทบกับการลงทุนของบริษัทฯ ในไทย ที่อาจถึงขั้นต้องย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น ซึ่ง ครม.เศรษฐกิจ เห็นว่าควรใช้กระบวนการแรงงานสัมพันธ์ เจรจาเรื่องค่าจ้าง และโบนัสของลูกจ้างให้ได้ข้อยุติต่อไป
นายวัชระ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ครม.เศรษฐกิจยังรับทราบสถานการณ์ความต้องการแรงงานที่พบว่า สถานประกอบการกำลังต้องการแรงงานประมาณ 120,000 ตำแหน่ง หรือเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 6.5% ชี้ให้เห็นว่าไทยกำลังเริ่มประสบภาวะขาดแคลนแรงงานขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะแรงงานในภาคอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ ซึ่งที่ผ่านมาได้ถูกเลิกจ้างไปบางส่วนและขณะนี้ไม่มีความสนใจที่จะกลับมาทำงานเดิม เนื่องจากได้รับการอบรมจากโครงการต้นกล้าอาชีพและสามารถมีรายได้ต่อวันสูง กว่าที่เคยทำงานอยู่เดิม ขณะที่ความต้องการแรงงานไทยในต่างประเทศมีมากถึง 140,000 คน โดยเฉพาะไต้หวันต้องการสูงสุดที่ 45,000 คน ส่วนการเลิกจ้างแรงงานมีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจำนวนผู้ประกันตนที่มาขึ้นทะเบียนขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเริ่มลดลง หลังจากเพิ่มขึ้นสูงสุดในเดือน ก.พ. 52 ที่มีสูงงถึง 101,939 คน ลดลงเหลือ 40,638 คน ในเดือน พ.ย. 52 ขณะที่อัตราการว่างงานรายเดือน ปี 52 มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จากเดือน เม.ย. 52 ที่มีอัตราว่างงานสูงสุดถึง 2.1% ลดลงเหลือ 1.2% ในเดือน ก.ย. 52 และคาดว่าในเดือน พ.ย. 52 และ ธ.ค. 52 จะลดเหลือเพียง 1.1% หรือมีคนว่างงานเพียง 400,000 คน
สำหรับสถานการณ์แรงงานในพื้นที่มาบตาพุดนั้น ครม.เศรษฐกิจรับทราบว่าหากมีการระงับโครงการทั้ง 65 โครงการ คาดว่า จะมีลูกจ้างได้รับผลกระทบ 40,000 คน แต่ถ้าก่อสร้างโครงการแล้วเสร็จจะมีการรับลูกจ้างเข้าทำงานประมาณ 15,000 ตำแหน่ง ขณะที่ผลกระทบต่อการจ้างแรงงานไทยจากวิกฤติการณ์ทางการเงินของบริษัท ดูไบ เวิลด์ พบว่าปัจจุบันมีแรงงานไทยในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ประมาณ 29,000 คน มีแรงงานไทยทำงานอยู่ในเมืองดูไบมากที่สุด 8,000 คน และถูกเลิกจ้าง 41 คน โดยนายจ้างได้จ่ายเงินค่าจ้าง และเงินสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายให้อย่างครบถ้วนแล้ว ทั้งนี้ คาดว่าวิกฤติที่เกิดขึ้นครั้งนี้ไม่น่าส่งผลกระทบต่อการจ้างแรงงานไทยใน ยู.เอ.อี อีก เนื่องจากไม่มีแรงงานไทยทำงานในโครงการที่เกี่ยวข้องกับบริษัทในเครือของดูไบเวิลด์ และคาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อแรงงานภาพรวมที่ทำงานในประเทศรอบอ่าวอื่นๆ มากนัก
"เอเอที"สหภาพถกโบนัสไม่จบเข้มดำเนินคดีหลังรถเสียหาย
เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ
(7 ม.ค. 53) -บริษัท ออโต้อัลลายแอนซ์(ประเทศไทย) จำกัด หรือ เอเอที โรงงานประกอบรถยนต์ ฟอร์ด และมาสด้า ออกแถลงการณ์ว่าโรงงานได้เริ่มมาตรการปิดการเข้าออกบริเวณพื้นที่โรงงานจังหวัดระยอง ในวันที่ 5 ม.ค. 2553 เพื่อประกันความปลอดภัยพนักงานและลูกค้า รวมทั้งเป็นการป้องกันความเสียหารยที่อาจเกิดขึ้น หลังจากก่อนหน้านี้ได้เกิดความเสียหายกับทรัพย์สินของบริษัทในช่วงระหว่างการเจรจาต่อรองเงินโบนัสรายปีและสวัสดิการ ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงอันเป็นที่พึงพอใจกี่ยวกับสัญญาการจ้างงานฉบับใหม่ได้"บริษัทเชื่อว่าการสร้างความเสียหายให้กับทรัพย์สินของบริษัทฯ เป็นการกระทำของพนักงานเพียงแค่กลุ่มหนึ่งเท่านั้น ทั้งนี้พนักงานคนหนึ่งอยู่ในระหว่างการสอบสวนและดำเนินคดีทางอาญาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจและถูกถอดถอนจากสถานภาพการเป็นพนักงานของบริษัท" แถลงการณ์ระบุ
ด้านนายยงยุทธ เม่นตะเภา ประธานสหพันธ์แรงงานยานยนต์ เปิดเผยกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า ปัญหาความขัดแย้งของเอเอที กับสหภาพแรงงาน เกิดขึ้นหลังจากการเจรจาต่อรองโบนัสและสวัสดิการช่วงปลายปีโดยเอเอทีต้องการจ่าย 5 เดือน บวกเงินพิเศษ 1 หมื่นบาท แต่สหภาพต้องการ 6.5 เดือน บวก 1.8 หมื่นบาท ก่อนจะลดเงื่อนไขเหลือ5.6 เดือน บวก 2 หมื่นบาท แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ ทำให้เอเอทีตัดสินใจประกาศหยุดงานตั้งแต่ 25 ธ.ค. 2552 เร็วกว่ากำหนดเดิม 29 ธ.ค.2552 และเปิดทำงาน 5 ม.ค.2553
แต่เมื่อเปิดทำงานก็ยังไม่สามารถตกลงกันได้อีก ขณะเดียวกันก็เกิดเหตุการณ์แย่งชิงมวลชน โดยทั้งเอเอที และสหภาพฯ ต่างดึงพนักงานมาอยู่ฝ่ายตัวเองทำให้เกิดความไม่พอใจนำไปสู่ความเสียหายของรถยนต์จำนวนหนึ่งแต่ยังไม่สามารถระบุจำนวนได้ และทำให้เอเอที ตัดสินใจปิดโรงงานอีกครั้ง แหล่งข่าวจากเอเอที เปิดเผยว่า โรงงานเตรียมจะเปิดโต๊ะให้พนักงานที่รับเงื่อนไขได้และต้องการทำงานต่อไปลงชื่อภายในวันที่ 10 ม.ค.ก่อนที่จะเปิดทำงานตามปกติในวันที่ 11 ม.ค. ต่อไป ส่วนพนักงานที่ไม่มาลงชื่อก็ถือว่าไม่ต้องการทำงานกับบริษัทต่อไป
ยานยนต์-อิเล็กทรอนิกส์อ่วม-ต้องการพุ่ง 6.5% รัฐจำนนไทยผจญวิกฤตแรงงานขาด
เว็บไซต์ข่าวสด (7 ม.ค. 53)
-นายวัชระ กรรณิการ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานได้รายงานสถานการณ์ความต้องการแรงงาน ต่อที่ประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ขณะนี้สถานประกอบการแจ้งความต้องการแรงงานในประเทศ ประมาณ 120,000 ตำแหน่ง โดยความต้องการแรงงานสูงขึ้นประมาณ 6.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และความต้องการแรงงานไทยในต่างประเทศสูงถึง 140,000 คน โดยเฉพาะประเทศไต้หวันที่มีความต้องการแรงงานไทยสูงถึง 45,000 คน และขณะนี้ไทยเริ่มมีสัญญาณการประสบภาวะการขาดแคลนแรงงานพื้นฐาน โดยเฉพาะแรงงานในภาคอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ ที่ในช่วงวิกฤตมีการเลิกจ้างเป็นจำนวนมาก และไม่มีความสนใจจะกลับเข้าทำงานเช่นเดิม เพราะแรงงานเหล่านั้นได้รับการฝึกอบรมจากโครงการต้นกล้าอาชีพ
ส่วนแรงงานในพื้นที่มาบตาพุด คาดลูกจ้างจะได้รับผลกระทบประมาณ 40,000 คน หากโครงการแล้วเสร็จสามารถก่อสร้างได้ต่อ จะสามารถรับลูกจ้างเข้าทำงานได้ประมาณ 15,000 ตำแหน่ง ซึ่งกรณีของมาบตาพุด นายกฯ สั่งการให้ตรวจสอบและติดตามความคืบหน้าของ 8 โครงการ ที่คาดว่าจะมีปัญหา นอกจากนี้ในส่วนของผลกระทบต่อการจ้างแรงงานไทยจากวิกฤตดูไบเวิลด์ มีการเลิกจ้างแรงงานไทยจำนวน 41 คน
ทั้งนี้ นายกฯ ได้สั่งการให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหาแรงงาน ในอุตสาหกรรมรถยนต์ หรือบริษัท ฟอร์ด มอร์ เตอร์ส และแรงงานของ บริษัท ไทรอัมพ์ ประเทศไทย ซึ่งนายไพฑูรย์ แก้วทอง รมว.แรงงาน ได้แจ้งที่ประชุมว่า ขณะนี้ปัญหาด้านแรงงานของ 2 บริษัทนี้อยู่ระหว่างกระบวนการแรงงานสัมพันธ์ โดยมีการเจรจาในเรื่องของค่าจ้างและโบนัสของลูกจ้างให้มีความยุติธรรมต่อไป ดังนั้น ที่ประชุมจึงมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประสานกระทรวงแรงงาน พิจารณาความเหมาะสมของระบบค่าจ้างแรงงาน และค่าจ้างขั้นต่ำ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ นายทวีกิจ จตุรเจริญคุณ รองประธานสายงานแรงงาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ออกมาระบุว่าปัจจุบันผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมจ่ายค่าแรงในอัตราที่สูงกว่าอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเป็นส่วนใหญ่และมีแนวโน้มว่าปี "53 จะเพิ่มสูงขึ้นอีกเนื่องจากแรงงานทั่วไป รวมถึงระดับช่างฝีมือภาพรวมจะขาดไม่ต่ำกว่า 4-5 แสนคน จากภาวะที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวส่งผลให้คำสั่งซื้อจากต่างประเทศเริ่มกลับเข้ามา ดังนั้นโรงงานจะเริ่มมีการรับแรงงานเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุดเกิดการแย่งตัวแรงงานแล้วในบางประเภทอุตสาหกรรม เช่น สิ่งทอ ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ส่วนสาเหตุของการขาดแคลนส่วนหนึ่งเกิดจากแรงงานย้ายกลับไปทำภาคเกษตรแทน เพราะภาคเกษตรก็เริ่มขาดแรงงานเช่นกัน

สกศ.เผยผลวิจัยจำนวนวัยเรียนลดลง วัยทำงานเพิ่มสูงขึ้น

บางกอกทูเดย์ (7 ม.ค. 53) -รองศาสตราจารย์ธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ได้จัดทำรายงานปีการศึกษาเฉลี่ยของประชากรไทย ปี 2550-2551 โดยได้ดำเนินการติดตามผลการพัฒนาการศึกษา และนำมาวิเคราะห์สภาพการได้รับการศึกษา รวมถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยของประชากรไทย เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่จัดให้ทุกคนมีโอกาสรับการศึกษาฟรี 15 ปี และการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง โดยทำการศึกษาตั้งแต่ ปี 2547-2551 พบว่า จำนวนประชากรในวัยเรียน (3-24 ปี) มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องทุกปี ในขณะที่ประชากรนอกวัยเรียน (อายุ 25-59 ปี) และกลุ่มนอกวัยแรงงาน (60 ปีขึ้นไป) มีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี โดยมีอัตราส่วนเพศชายต่อเพศหญิงเฉลี่ยเท่ากับร้อยละ 49.1 ต่อ 50.9
ในส่วนของประชากรที่อยู่ในระบบ พบว่า จากปี 2547-2551 จำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยของกลุ่มอายุ 15 ปีขึ้นไป เพิ่มเป็น 8.0 หรือมีการศึกษาเฉลี่ยสูงกว่าระดับประถมศึกษา กลุ่มอายุ 15-39 ปี เพิ่มเป็น 10.3 ปี หรือมีการศึกษาเฉลี่ยสูงกว่าระดับมัธยมศึกษาตอนต้น กลุ่มอายุ 40-59 ปี เพิ่มเป็น 7.1 ปี หรือมีการศึกษาเฉลี่ยสูงกว่าระดับประถมศึกษา และกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เป็น 4.6 ปี หรือสูงกว่าระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เล็กน้อย จากตัวเลขจะสังเกตได้ว่ากลุ่มอายุที่กล่าวมามีอัตราการศึกษาเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าพอใจในระดับหนึ่ง
สำหรับประชากรวัยแรงงาน อายุ 15-59 ปี หากพิจารณาการศึกษาเฉลี่ย ตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งเท่ากับ 8.4 ปี เพิ่มขึ้นเป็น 8.8 ปี ในปี 2551 หรือมีการศึกษาเฉลี่ยอยู่ในระดับสูงกว่าระดับประถมศึกษา จะเห็นได้ว่ามีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่หากเปรียบเทียบกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่จำนวนปีการศึกษาเฉลี่ย 9.5 ปี ก็ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด จึงต้องเร่งดำเนินนโยบายและกำหนดมาตรการในการจัดการศึกษาทั้งในระบบ นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย รวมถึงการพัฒนาหลักสูตรและวิธีการสอน เพื่อให้สนองต่อความต้องการของกลุ่มด้อยโอกาส และต้องจัดให้มีรูปแบบการศึกษาที่หลากหลาย เพื่อเป็นทางเลือกให้กลุ่มประชากรวัยต่างๆ ที่ไม่สามารถเข้าเรียนในระบบโรงเรียนปกติ และดึงสถานประกอบการให้เข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริมการศึกษาสำหรับ ประชากรกลุ่มดังกล่าว ให้ได้รับการพัฒนาต่อยอดวุฒิการศึกษาให้สูงขึ้น และเพิ่มโอกาสความก้าวหน้าในอาชีพการงาน ซึ่งจะส่งผลให้ปีการศึกษาเฉลี่ยของประชากรไทยสูงขึ้นตามลำดับ
ตำรวจหลักศิลานครพนมจับแรงงานต่างด้าว 30 คน
เว็บไซต์สยามรัฐ (7 ม.ค. 53)
-เมื่อเวลา 11.00 น.วันที่ 7 มกราคม 2553 พ.ต.ท.วีรยุทธ เหมือนพุฒ สารวัตรใหญ่ สภ.หลักศิลา อ.ธาตุพนม จ.นครพนม ได้รับรายงานว่า จะมีการลักลอบขนแรงงานต่างด้าวชาวลาว เข้าไปทำงานที่กรุงเทพฯ หลังเทศกาลปีใหม่ในพื้นที่ ต.หลักศิลา อ.ธาตุพนม จ.นครพนม จึงร่วมกับ พ.ต.ท.ทรงศักดิ์ บุญไทย สวป. นำกำลังตำรวจชุดสืบสวน ออกตรวจสอบตั้งจุดสกัดตรวจค้นจับกุม จนกระทั่งสามารถติดตามจับกุมคนไทยผู้ร่วมขบวนการลักลอบขนแรงงานชาวลาวได้ จำนวน 4 คน มี นายธีระพงษ์ พลเชียงขวาง อายุ 42 ปี นายวีระศักดิ์ ไชยะ อายุ 25 ปี บ้านอยู่ ต.กุดฉิม อ.ธาตุพนม จ.นครพนม นายอาวุธ โทพา อายุ 24 ปี ชาวบ้านกล้วย ต.ขามเฒ่า อ.เมือง จ.นครพนม และ นายสาธิน ศรีสวัสดิ์ฉิม อายุ 35 ปี ชาว ต.หัวเวียง อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น โดยทั้ง 4 คน ได้ขับรถยนต์กระบะแค็ป จำนวน 3 คัน ลักลอบขนแรงงานต่างด้าวชาวลาว จำนวน 27 คน ชาย 9 คน หญิง 18 คน อายุระหว่าง 18 – 40 ปี มาตามเส้นทางระหว่าง บ้านหนองย่าม้า กับ บ้านนายอ ต.โพนแพง อ.ธาตุพนม จ.นครพนม ตำรวจจึงเข้าตรวจค้น ไม่พบหลักฐานหนังสือเดินทาง จึงควบคุมตัวทั้งหมดมาสอบสวน
พ.ต.ท.วีรยุทธ เหมือนพุฒ สารวัตรใหญ่ สภ.หลักศิลา อ.ธาตุพนม จ.นครพนม กล่าวว่า การจับกุมครั้งนี้สืบเนื่องจากได้รับรายงานจะมีการลักลอบขนแรงงานเถื่อนไปทำงานกรุงเทพฯ จึงได้วางกำลังออกตรวจสอบติดตามจับกุมมาต่อเนื่องจนกระทั่งสามารถจับกุมผู้ต้องหา พร้อมชาวลาวดังกล่าวได้ จากการสอบสวนทราบว่า แรงงานดังกล่าวได้รับการติดต่อจากนายหน้า ซึ่งต้องจ่ายค่าหัวคนละประมาณ 3,000 บาท เพื่อไปทำงานรับจ้างที่กรุงเทพฯ โดยให้นั่งเรือข้ามฟากข้ามมาลงตามจุดข้ามแดน ในหมู่บ้านติดน้ำโขง จากนั้นจะมีรถมารับนำไปส่งต่อ เข้าไปกรุงเทพฯ ส่วนเส้นทางจะใช้เส้นทางรองเพื่อเลี่ยงด่านตรวจ ซึ่งจะมีแรงงานบางส่วนที่เคยไปทำงานมาก่อน แต่บางรายไม่เคยไปเพิ่งได้รับการติดต่อ หลังจากจากที่เพื่อนเคยไปทำงานกลับมาเยี่ยมบ้านช่วงปีใหม่ นอกจากนี้ในส่วนผู้ต้องหาชาวไทยที่นำพาทราบว่า ทำหน้าที่รับจ้างตามสั่งของนายทุน เป็นเงินต่อหัวประมาณ 3,000 บาท ซึ่งติดต่อรับส่งกันเป็นประจำ เบื้องต้นเชื่อว่าจะมีการทำเป็นขบวนการที่จะได้สอบสวนขยายผลติดตามจับกุมผู้ร่วมขบวนการมาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

8 – 14 ม.ค. 2553
 
ไพฑูรย์เมินรื้อค่าจ้างขั้นต่ำเอื้อนายทุน
เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ (8 ม.ค. 53) -
นายไพฑูรย์ แก้วทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึง กรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจที่มีมติให้กระทรวงแรงงานแก้ไขปัญหาการนัดหยุดงานประท้วงของแรงงาน บริษัท ออโต้ อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือเอเอที โรงงานผลิตรถยนต์ฟอร์ด และมาสด้า และบริษัทไทรอัมพ์ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนว่า ปัญหาของบริษัทเอเอที นั้นเป็นเรื่องปกติในช่วงสิ้นปีที่จะมีการเรียกร้องขอขึ้นเงินเดือนและโบนัสประจำปี ซึ่งจากสถานการณ์ล่าสุด อยู่ระหว่างการเจรจาระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างเกี่ยวกับอัตราตัวเลขของโบนัส โดยนายจ้างยืนยันที่จะจ่ายแค่ 4.5 เดือน ขณะที่ลูกจ้างยังเรียกร้องขอเพิ่มเป็น 5.6 เดือน ซึ่งคาดว่าน่าจะได้ข้อยุติเร็วๆ นี้
ส่วนกรณีปัญหาของม็อบไทรอัมพ์นายไพฑูรย์กล่าวว่า ล่าสุดให้ทีมกฎหมายของกระทรวงแรงงานเข้าไปเจรจากับทางกลุ่มแกนนำสหภาพไทรอัมพ์โดยมอบให้ นายสมชาย ชุ่มรัตน์ ปลัดกระทรวงแรงงานเป็นผู้รับผิดชอบ ทั้งนี้ม็อบไทรอัมพ์เสนอเงื่อนไขขอจักรเย็บผ้าของบริษัทไทรอัมพ์เพื่อนำไปประกอบอาชีพส่วนตัว เนื่องจากอดีตพนักงานไทรอัมพ์ยืนยันว่าไม่ต้องการที่จะเป็นลูกจ้างใคร ซึ่งขณะนี้ทางกระทรวงอยู่ระหว่างการเจรจาการทางบริษัทไทรอัมพ์เพื่อขอจักรเย็บมาให้กับอดีตพนักงานเหล่านี้ ซึ่งหากผลการเจรจาเป็นไปตามเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้แล้ว ทางสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ ยังไม่ยุติการชุมนุมเรียกร้องบริเวณใต้ถุนกระทรวงแรงงาน ทางเราก็จะใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดต่อไป
สำหรับประเด็นที่นายกรัฐมนตรีสั่งให้ทบทวนอัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้เอื้อกับการลงทุนนั้น นายไพฑูรย์ ชี้แจงว่า เรื่องของการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นอยู่กับคณะอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำของแต่ละจังหวัด จะเป็นผู้รวบรวมข้อมูลและเสนอเข้ามายังคณะกรรมการค่าจ้างกลางเป็นผู้พิจารณา ดังนั้นกระทรวงไม่จำเป็นต้องเร่งรีบดำเนินการ โดยเฉพาะกรณี 5 จังหวัดที่ไม่ได้ขึ้นค่าแรงในครั้งนี้ ก็สามารถที่จะขอปรับเพิ่มเมื่อไรก็ได้หากอนุกรรมการจังหวัดนั้นๆ เสนอเข้ามาอีก
ด้านนายประสิทธิ์ จงอัศญากุล โฆษกคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด) กล่าวว่า ผลการประชุมบอร์ดเมื่อวันที่ 5 ม.ค.ที่ผ่านมาว่าที่ประชุมได้มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการปรับโครงสร้างการจ้างของภายในสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เนื่องจากปัจจุบัน สปส.มีบุคลากรอยู่ทั้งสิ้นกว่า 7,000 คน แต่ 4,000 คนเป็นเพียงลูกจ้างซึ่งไม่มีความมั่นคงทั้งเรื่องค่าตอบแทนและสวัสดิการ ดังนั้นจึงควรหาทางออกเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้คนทำงาน ได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการฯขึ้นมาศึกษา รวมไปถึงกรณีที่บางตำแหน่งเช่น ฝ่ายลงทุนซึ่งต้องการผู้ที่มีความเชี่ยวชาญและมีความรู้ความสามารถเข้ามาดูแล แต่ สปส.กลับไม่สามารถดึงคนเหล่านั้นเข้ามาทำงานได้ เพราะติดขัดกฎระเบียบราชการที่ไม่สามารถจ่ายค่าตอบแทนในราคาสูงได้
นอกจากนี้นายปั้น วรรณพินิจ เลขาธิการ สปส.ยังได้ชี้แจงกรณีโครงการการประชาสัมพันธ์กว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งนำเข้าที่ประชุมบอร์ดมาแล้วถึง 3 รอบแต่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ และเมื่อวันที่ 5 ม.ค.ที่ผ่านมานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้เรียกนายปั้นพร้อมทั้งนายไพฑูรย์ แก้วทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเข้าไปชี้แจงที่ทำเนียบรัฐบาลเพราะต้องการให้ประเมินความคุ้มค่า ดังนั้นบอร์ดจึงมีมติให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาถึงความคุ้มค่าโดยมีนายปรีชา สิทธิกรณ์ไกร ผู้ทรงคุณวุฒิในบอร์ดเป็นประธาน โดยล่าสุด สปส.ได้ปรับลดวงเงินของโครงการดังกล่าวลงอีกหลายร้อยล้านบาท และเสนอกรอบวงเงินไปที่นายอภิสิทธิ์แล้ว
ปลัดแรงงานแจงเหตุลดงบฯ พีอาร์
เว็บไซต์มติชน (8 ม.ค. 53) -
นายสมชาย ชุ่มรัตน์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวเมื่อวันที่ 7 มกราคม ถึงกรณีมีกระแสข่าวผู้นำแรงงานบางคนในคณะกรรมการประกันสังคมพยายามผลักดันโครงการประชาสัมพันธ์ มูลค่า 1,000 ล้านบาท ถึงขนาดข่มขู่ในที่ประชุมบอร์ด หากไม่ผลักดันโครงการ จะนำม็อบมาประท้วงว่า เรื่องนี้อาจเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน เพราะในการหารือเรื่องดังกล่าวได้ชี้แจงด้วยเหตุและผล สาเหตุที่บอร์ด สปส.ปรับลดวงเงินของโครงการประชาสัมพันธ์ลงหลายร้อยล้านบาทนั้น เพราะต้องรอแต่งตั้งคณะทำงานศึกษาความคุ้มค่าของโครงการดังกล่าว นายยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวถึงความคุ้มค่าของโครงการว่า การประชาสัมพันธ์ที่ผ่านมา ยังตอบโจทย์ไม่ได้ว่าเพื่อกลุ่มเป้าหมายใด จึงไม่แน่ใจว่าการลงทุนครั้งนี้จะคุ้มทุนหรือไม่ ดังนั้น ควรศึกษาให้ดีก่อนทำ นอกจากนี้ ไม่เห็นด้วยกับโครงการบริการข้อมูลสายด่วน 1506 เนื่องจาก ปัจจุบันมีปัญหาให้บริการอย่างมาก เห็นว่า สปส.ควรทำระบบข้อมูลสายด่วนให้เหมือนบริษัทเอกชน
นายกรัฐมนตรีพร้อมส่งเสริมสวัสดิการต่าง ๆ แก่คนพิการ
สำนักโฆษก (8 ม.ค. 53) -
นายอำนวย กลิ่นอยู่ ประธานสมาพันธ์ผู้พิการผู้ค้าสลากประเทศไทย กล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรีในนามสมาพันธ์ผู้พิการผู้ค้าสลากประเทศไทย และคนพิการทั้งประเทศ ซึ่งรู้สึกประทับใจและขอบคุณที่นายกรัฐมนตรีได้เสียสละเวลาให้คนพิการเข้าพบในวันนี้ และขอขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่ไม่ลืมคนพิการโดยได้ดำเนินนโยบายรัฐสวัสดิการในการจะจ่ายเบี้ยยังชีพให้แก่คนพิการที่มีอยู่ประมาณ 9 แสนคนทั่วประเทศที่ได้ขึ้นทะเบียนคนพิการไว้ คนละ 500 บาทต่อเดือนในเดือนเมษายนที่จะถึงนี้ ซึ่งทำให้คนพิการที่ไม่เคยมีรายได้เลยจะมีความสุขมาก และเป็นการแบ่งเบาภาระของครอบครัว รวมทั้งยังส่งเสริมสนับสนุนให้คนพิการได้มีโอกาสศึกษาต่อจนถึงระดับปริญญาตรี ทำให้ชีวิตของคนพิการเริ่มมีความหวังขึ้นด้วย
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้รับมอบช่อดอกกุหลาบจากประธานสมาพันธ์ผู้พิการผู้ค้าสลากประเทศไทย พร้อมกล่าวว่ารัฐบาลมีนโยบายในเรื่องของการสงเคราะห์ไปสู่เรื่องของสิทธิและสวัสดิการอย่างแท้จริง ซึ่งตลอด 1 ปีที่ผ่านมาได้พยายามขับเคลื่อนในเรื่องเหล่านี้โดยได้รับความร่วมมืออย่างดีจากทุกกระทรวง ทบวง กรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยในเรื่องของเบี้ยยังชีพคนพิการที่จะเริ่มในเดือนเมษายนนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้มีหลักประกันที่ดีขึ้น รวมทั้งการให้โอกาสทางการศึกษาแก่คนพิการตั้งแต่การศึกษาขั้นพื้นฐานไปจนถึงระดับอุดมศึกษา นอกจากนี้ รัฐบาลได้ขอให้กระทรวงแรงงานแก้ไขกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันเพื่อเปิดโอกาสให้คนพิการได้เข้าทำงานจาก 1 ต่อ 200 คน ลดลงมาเหลือ 1 ต่อ 50 คน ซึ่งจะเป็นแนวทางที่สำคัญและถูกต้องสำหรับการสร้างโอกาสต่อไป รวมทั้งการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารสาธารณะและอาคารต่าง ๆ รถขนส่งสาธารณะ รถขนส่งมวลชน ให้แก่คนพิการได้เข้าถึงการบริการให้มากที่สุด โดยรัฐบาลจะผลักดันต่อไป และให้ทุกหน่วยงานได้ตระหนักถึงเรื่องเหล่านี้และจพยายามดูแลอย่างดีที่สุดเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายนี้ ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีได้ให้กำลังใจแก่คนพิการทุกคนได้มีความเข้มแข็ง มีโอกาส และช่วยกันผลักดันให้บ้านเมืองของเราเป็นบ้านเมืองที่ดี เป็นสังคมที่มีความสงบสุข และอยู่ร่วมกันบนความหลากหลายด้วยความเข้าใจซึ่งกันและกัน
กสร.เข้มใช้ กม.แรงงานสัมพันธ์ -อบรมสหภาพ หลังข้อพิพาทแรงงานพุ่ง ลูกจ้างหนุนเชิญ ขรก.เกษียณอายุร่วมเจรจา
เว็บไซต์แนวหน้า (
9 ม.ค. 53) - ที่กระทรวงแรงงาน นางอัมพร นิติสิริ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวภายหลังการประชุมภาคีแรงงาน เพื่อปรึกษาหาแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาแรงงานสัมพันธ์ โดยมีตัวแทนจากสภาองค์การนายจ้างและลูกจ้างทั้ง 24 แห่งเข้าร่วมหารือ ว่า ปัจจุบันสถานการณ์ข้อพิพาทระหว่างนายจ้างและลูกจ้างมีความรุนแรงมากขึ้น โดยในปี 2551 มีข้อเรียกร้องเพื่อขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง จำนวน 282 แห่ง ส่วนในปี 2552 มีข้อเรียกร้อง จำนวน 322 แห่ง จะเห็นได้ว่าสถานการณ์ดังกล่าวมีจำนวนเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจัยที่นำไปสู่ความขัดแย้งด้านแรงงาน มีดังนี้ 1.การแบ่งปันผลประโยชน์ไม่เหมาะสม 2.นายจ้างและลูกจ้างมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อกัน 3.การขาดช่องทางการสื่อสาร 4.นายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานและขาดความรับผิดชอบทางสังคม 5.ลูกจ้างขาดวินัยอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในภาคตะวันออก ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาดังเช่นในปัจจุบัน 6.การขาดความรู้ความเข้าใจในกฎหมาย 7.ความกดดันจากภาวะเศรษฐกิจ และ 8.ปัญหาจากการให้คำปรึกษาด้านแรงงานสัมพันธ์ที่ไม่ถูกต้อง
อธิบดี กสร.กล่าวว่า ตนได้วางแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งคาดว่าสถานการณ์จะมีความรุนแรงมากขึ้น ด้วยการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ทั้งในส่วนของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานและพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ นอกจากนี้ จะมีการอบรมสหภาพแรงงาน ให้มีระเบียบวินัยและเข้าใจข้อกฎหมายของสหภาพแรงงานอย่างแท้จริง
นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับ กสร.ที่จะจัดให้มีการอบรมสหภาพแรงงาน โดยจัดตั้งเป็นสำนักงานอบรม ทั้งในส่วนของนายจ้างและลูกจ้าง นอกจากนี้ ยังเสนอให้มีการจัดหาผู้เชี่ยวชาญการประนอมข้อพิพาทแรงงานให้มากขึ้น เพราะปัจจุบัน กสร.ยังขาดบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้ ตนเสนอให้ กสร.เชิญอดีตข้าราชการที่เกษียณอายุไปแล้วเข้ามาเป็นผู้เชี่ยวชาญ เนื่องจากมีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ พร้อมทั้งให้ กสร.มีส่วนร่วมกับนิติสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างให้มากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเดือนตุลาคมถึงธันวาคม เนื่องจากช่วงนั้น ถือเป็นช่วงเวลาเปราะบางในการขอขึ้นค่าจ้างประจำปีและเงินโบนัส
นายสุวรรณ สุขประเสริฐ ผู้อำนวยการสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย กล่าวว่า ตนเสนอให้มีการจัดการประกวดสหภาพแรงงานดีเด่น เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับสหภาพแรงงานและเป็นตัวอย่างที่ดี อีกทั้งยังเสนอให้ กสร.บังคับใช้กฎหมายให้เข้มข้นมากกว่านี้ โดยตรวจสอบว่าผู้นำแรงงานที่มีในปัจจุบันมีใบอนุญาตและมาจากองค์กรใด เนื่องจากขณะนี้มีผู้แอบอ้างเข้ามาเป็นผู้นำแรงงาน ซึ่งส่งผลให้เกิดความขัดแย้งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างมากขึ้น
ชี้ 5 กลุ่มอุตฯ ขอปิดกิจการสูงสุดรอบปี 52
เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ (11 ม.ค. 53) -
นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปี 2552 มีโรงงานอุตสาหกรรมได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการ จากกรมโรงงานอุตสาหกรรมรวม 3,673 แห่ง เงินลงทุน 142,111 ล้านบาท มีการจ้างงาน 91,383 คน ลดลงจากปี 2551 ที่มีผู้ได้รับใบอนุญาตโรงงาน 4,253 แห่ง เงินลงทุน 152,242 ล้านบาท มีการจ้างงาน 119,487 คน การเปิดโรงงานในปี 2552 ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี เมื่อเทียบกับปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น คาดว่าปีนี้การขอเปิดโรงงานน่าจะดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ
โดยปี 2552 จังหวัดพระนครศรีอยุธยามีการเปิดโรงงาน มูลค่าลงทุนมากที่สุด 13,859 ล้านบาท มีผู้ได้รับใบอนุญาตโรงงาน 94 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2551 ที่มีมูลค่าลงทุน 13,456 ล้านบาท มีผู้ได้รับใบอนุญาต 136 ราย รองลงมาจังหวัดสระบุรีมีมูลค่าการลงทุน 13,166 ล้านบาท มีผู้ได้ใบอนุญาต 73 ราย ลดลงจากปี 2551 ที่มีการลงทุน 34,380 ล้านบาท มีผู้ได้ใบอนุญาต 75 ราย และจังหวัดกาญจนบุรี มีมูลค่าการลงทุน 10,086 ล้านบาท มีผู้ได้รับใบอนุญาต 53 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2551 ที่มีการลงทุน 344 ล้านบาท มีผู้ได้รับใบอนุญาต 49 ราย
อย่างไรก็ตาม ปี 2552 การขอเปิดโรงงานส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมอาหาร ผลิตภัณฑ์จากพืช ผลิตยานพาหนะ ผลิตภัณฑ์โลหะและผลิตภัณฑ์อโลหะ โดยช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2552 ผู้ประกอบการเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ชัดเจน จึงมีการขอตั้งโรงงานใหม่เข้ามามากช่วงปลายปี
นายวิฑูรย์ กล่าวว่า ในส่วนของโรงงานที่ยื่นขอปิดกิจการในปี 2552 มีจำนวน 1,658 ราย ลดลง 31.8% เทียบกับปี 2551 มีมูลค่าลงทุน 24,000 ล้านบาท มีการจ้างงาน 44,000 คน ลดลง 29.1% การปิดกิจการถือว่าไม่สูงมาก เมื่อเทียบกับปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้น ส่วนโรงงานที่ขอปิดกิจการในปี 2552
โดยกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายได้รับผลกระทบแรงงานมากสุด มีแรงงานในโรงงานที่ปิด 4,207 คน หรือ 62.2% เทียบกับปี 2551 รองลงมาเป็นผลิตหนังสัตว์และผลิตภัณฑ์จากหนังมีแรงงานในโรงงานที่ปิด 4,186 ราย ลดลง 46% สิ่งทอ มีแรงงานในโรงงานที่ปิด 3,598 คน ลดลง 27.1% ผลิตภัณฑ์อโลหะมีแรงงานในโรงงานที่ปิด 3,463 คน ลดลง 16.1% เป็นต้น
จับกุมแรงงานต่างด้าว 75 คน
พิมพ์ไทยออนไลน์ (11 ม.ค. 53)
- ตำรวจกองบังคับการปราบปรามระดมกำลังเจ้าหน้าที่ เพื่อกวาดล้างแรงงานต่างด้าวในพื้นที่แขวงและเขตท่าข้ามบริเวณบ้านกลางกรุง ซอยลาดปลาเค้า 79 แขวงและเขตลาดพร้าวและบริเวณซอยบุญชู แขวงและเขตดินแดง โดยสามารถจับกุมแรงงานต่างด้าว เป็นชายและหญิงได้จำนวน 75 คน เป็นชาวพม่า 36 คนชาวลาว16 คน ชาวกัมพูชา 18 คน และชาวกะเหรี่ยง 5 คน
ซึ่งเจ้าหน้าที่สอบสวนทราบว่า มีแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง มาพักอาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งบางรายประกอบอาชีพที่ไม่สุจริต และบางรายที่ไม่ได้มีการจัดทำประวัติ หรือขออนุญาต อย่างถูกต้อง จึงระดมกำลังเจ้าหน้าที่ ออกทำการกวาดล้างจับกุม ทั้งนี้จากการสอบถาม นางเรียม อายุ 20 ปี ชาวกัมพูชา กล่าวว่า หลบหนีเข้าเมือง มาทาง อรัญประเทศ จ.สระแก้วและเข้ามาทำงานก่อสร้าง ย่านลาดปลาเค้า ได้ประมาณปีเศษ โดยได้ค่าแรง วันละ 170 บาท และสิ้นเดือน จะส่งเงินกลับประเทศ เพื่อส่งให้แม่ใช้จ่าย อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ได้ส่งตัวแรงงานต่างด้าวทั้งหมด ส่งดำเนินคดีตามสถานีตำรวจ ในพื้นที่รับผิดชอบ เพื่อให้ตรวจสอบว่า มีใบอนุญาตให้ทำงานในราชอาณาจักรไทยหรือไม่ หากไม่มีก็จะผลักดันกลับประเทศต่อไป
สปส.จัดงานเร่งพัฒนาเครือข่าย ม.40
พิมพ์ไทยออนไลน์ (11 ม.ค. 53)
- นายไพฑูรย์ แก้วทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยต่อสื่อมวลชนภายหลัง เป็นประธานเปิดงานประชุมพัฒนาเครือข่ายประกันสังคมมาตรา 40 ว่า กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม ได้เร่งผลักดันให้มีการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน มาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม 2533 ให้ได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นเป็น 5 กรณีคือ (เจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ ตาย และชราภาพ)เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ประชาชนทั่วไป ที่ประกอบอาชีพอิสระสมัครเป็นผู้ประกันตน มาตรา 40 มากขึ้น
จึงได้จัดการประชุม โดยเชิญชวนกลุ่มอาสาสมัครแรงงาน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กลุ่มอาชีพแรงงานต่างๆและผู้นำองค์กรปกครองท้องถิ่น เข้ามาร่วมประชุมให้ได้รับทราบข้อมูล ข้อเท็จจริง เกี่ยวกับการประกันสังคมและการขยาย การคุ้มครองประกันสังคมไปสู่แรงงานนอกระบบการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนมาตรา 40 และร่วมแสดงความคิดเห็นข้อเสนอแนะต่างๆ เกี่ยวกับการประกันสังคมตามมาตรา 40 รวมทั้งได้นำข้อมูลข่าวสาร ความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับการคุ้มครอง และขยายสิทธิประโยชน์เหล่านี้ไปบอกกล่าวต่อประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบอย่างทั่วถึง
ทั้งนี้ ข้อมูลที่ได้รับจากการแสดงความคิดเห็นข้อเสนอแนะภายในงานประชุมครั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมจะนำไปพิจารณาปรับปรุงแก้ไขต่อไป เพื่อให้กลุ่มแรงงานนอกระบบได้รับการคุ้มครองประกันสังคมเพิ่มเติมมากขึ้นอย่างเหมาะสมที่สุด
หากผู้ประกันตนมีข้อสงสัย สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่/จังหวัด/สาขาทั่วประเทศ หรือโทร 1506 ติดต่อเจ้าหน้าที่โดยตรง ให้บริการทุกวันไม่เว้นวันหยุดตั้งแต่เวลา 07.00-19.00 น หรือดูรายละเอียดได้ที่www.sso.go.th
กมธ.วุฒิสภาบุกสระแก้วแก้แรงงานหลงพื้นที่ตลาดจี้จว.ประกาศเขตให้ชัดเจน
แนวหน้า (11 ม.ค. 53)
- พ.ต.อ.พายัพ ทองชื่น สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดสระแก้ว ในฐานะประธานอนุกรรมาธิการการบำบัดทุกข์บำรุงสุขและรักษาความสงบเรียบร้อยในกรรมาธิการการปกครองวุฒิสภา และที่ปรึกษากรรมาธิการแรงงานฯ เปิดเผยภายหลังลงตรวจพื้นที่การค้าขายในตลาดโรงเกลือ และการเดินทางผ่านเข้า-ออกของนักท่องเที่ยวและชาวกัมพูชา บริเวณด่านพรมแดนอรัญประเทศ จุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ที่ผ่านมาได้รับการร้องเรียนจากพ่อค้า แม่ค้าในตลาดเดชไทย ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับตลาดโรงเกลือ ว่ามีเจ้าหน้าที่จากแรงงานจังหวัดสระแก้ว มาตรวจและขู่ว่าจะจับกุมชาวกัมพูชาที่มาค้าขายและประกอบอาชีพรับจ้างในตลาดเดชไทย โดยอ้างว่าตลาดเดชไทยไม่อยู่ในพื้นที่ตลาดโรงเกลือ ซึ่งจากการตรวจดูแล้วตลาดเดชไทยกับตลาดโรงเกลือ มีเพียงถนนศรีเพ็ญกั้นกลางเท่านั้น หากตลาดเดชไทยไม่ใช่พื้นที่ผ่อนผัน ทาง จ.สระแก้ว ต้องประกาศและติดป้ายไว้อย่างชัดเจน เพราะทุกวันนี้พ่อค้า แม่ค้า และประชาชนส่วนใหญ่ก็เข้าใจว่าตลาดเดชไทย และตลาดอื่นๆ ที่อยู่ติดกันนั้นก็คือพื้นที่ตลาดโรงเกลือเหมือนกัน มีชาวเขมรเข้ามาค้าขายและรับจ้างเป็นจำนวนมาก เพราะหากไม่ใช่พื้นที่ผ่อนผันเหมือนตลาดโรงเกลือ ก็ควรประกาศและห้ามตั้งแต่ต้นแล้ว ไม่ใช่ปล่อยมาถึงทุกวันนี้ หากมีการจับกุมจริงเกรงว่าจะมีปัญหากระทบความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับชาวเขมร ซึ่งเรื่องนี้จะได้นำไปพิจารณาและสอบถามไปยังจังหวัดสระแก้วให้ชัดเจน
ด้าน ร.อ.ชาญ ว่องไวเมธี ผบ.ร้อย ทพ.1206 ฉก.กรม.ทพ.12 กกล.บูรพา เผยว่า พ.อ.วสุ เจียมสุข ผบ.ฉก.กรม.ทพ.12 กกล.บูรพา ได้สั่งการให้กองร้อยทหารพรานที่ประจำอยู่หน้าแนวชายแดน ในพื้นที่รับผิดชอบของ ฉก.กรม.ทพ.12 กกล.บูรพา เข้มงวดการลักลอบเดินทางข้ามเขตแดนของชาวเขมรอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งให้มีการประสานจับเจ้าหน้าที่ฝ่ายกัมพูชาในความร่วมมือสกัดกั้นไม่ให้ชาวเขมรลักลอบเดินทางเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย แต่ขณะนี้ทำงานลำบากขึ้นเนื่องจากไม่สามารถประสานหรือร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายกัมพูชา ได้เนื่องจากช่วงที่รัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชาเกิดปัญหากันนั้น ทางรัฐบาลกัมพูชา ได้สั่งห้ามเจ้าหน้าที่กัมพูชา มาร่วมกิจกรรมหรือมาสานสัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทย ทำให้เราไม่สามารถเชิญเจ้าหน้าที่กัมพูชา มาเจรจาหรือขอความร่วมมือได้ ทำให้ เราทำงานลำบากขึ้นเพราะไม่ได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่กัมพูชาเท่าที่ควร
กรมสวัสดิการฯจับมือ 7 องค์กรส่งเสริมมุมนมแม่ในสถานประกอบกิจการ
กระทรวงแรงงาน (11 ม.ค. 53)
- นายสมชาย ชุ่มรัตน์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการสนับสนุนการจัดสวัสดิการแรงงานการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสถานประกอบกิจการระหว่าง กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร องค์การยูนิเซฟประเทศไทย องค์การอนามัยโลกประเทศไทยและ ศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย วันพฤหัสบดีที่ 14 มกราคม 2553 เวลา 09.00 – 12.00 น. ณ ห้องประชุม ป.พิบูลสงคราม ชั้น 5 อาคาร 15 ชั้น กระทรวงแรงงาน ถนนมิตรไมตรี เขตดินแดง กรุงเทพฯ โดยมี นางอัมพร นิติสิริ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และ แพทย์หญิงศิริพร กัญชนะ ประธานศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย เป็นเจ้าภาพในการจัดลงนามความร่วมมือ
โครงสร้างใหม่ 'กรมสวัสดิฯ'ยันไม่ส่งผลกระทบ
บางกอกทูเดย์ (11 ม.ค. 53)
- นางอัมพร นิติสิริ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เปิดเผยว่า การปรับ โครงสร้างการบริหารงานด้านความปลอดภัยใน ครั้งนี้ เพื่อจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานให้เป็นระบบและ มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยกระจายภารกิจลงสู่ศูนย์ความปลอดภัยแรงงานพื้นที่ ลดความซับซ้อนในการทำงาน มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย และเพื่อรองรับการเป็นเจ้าภาพหลักขับเคลื่อนระเบียบวาระแห่งชาติ แรงงานปลอดภัยและสุขภาพอนามัยดี และการจัดตั้งสำนักความปลอดภัยแรงงานนี้ ได้มีการประกาศลงราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 11 ธันวาคม 2552 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้การปรับโครงสร้างดังกล่าว...จะไม่ส่งผลกระทบต่อการให้บริการหรือการดำเนินงานใดๆ ทั้งสิ้นซึ่งเป็นประโยชน์และมีความต่อเนื่องกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของกรมฯ ขอให้ทุกฝ่ายมั่นใจว่าการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้เปรียบเสมือนการตรวจเช็คและบำรุงรักษาเครื่องจักรครั้งใหญ่ เป็นการ เพิ่มศักยภาพ ในการขับเคลื่อนระเบียบวาระแห่งชาติอย่างเป็นรูปธรรมซึ่งนำไปสู่ความเข้มแข็งของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน นอกจากนี้หากนายจ้าง ลูกจ้าง สถานประกอบกิจการ และผู้ที่เกี่ยวข้อง สนใจรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดตั้งสำนักความปลอดภัยแรงงาน สามารถค้นหาหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ โทร. 0-2442-8338
รองนายกรัฐมนตรีแถลงจับแก๊งขอทานต่างด้าว577คน
เว็บไซต์สยามรัฐ (11 ม.ค. 53) -
เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 11 มกราคม 2553 พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายอิสระ สมชัย รมว.กระทรวงพัฒนาสังคมและความั่นคงของมนุษย์ และ พล.ต.ท.วุฒิ ลิปตพัลลภ ผบช.สตม. ร่วมกันแถลงข่าวผลระดมกวาดล้างจับกุมขอทานต่างด้าวในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล โดยสามารถจับกุมขอทานต่างด้าวเป็นชาวกัมพูชาทั้งหมด 557 คน เป็นชาย 220 คน และหญิง 337 คน
ผบช.สตม. เปิดเผยว่า การระดมกวาดล้างดังกล่าวเป็นนโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมืองทั้งระบบ เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อความมั่นคง โดยการปรับปรุงระบบการเข้าเมือง การจัดระเบียบชายแดนและการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว ดังนั้นสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจึงทำการสนองนโยบายออกระดมกวาดล้างตั้งแต่วันที่ 8-10 ม.ค. ที่ผ่านมา โดยขอทานต่างด้าวที่จับกุมมาทั้งหมดนั้น ส่วนมากจะเป็นขบวนการรูปแบบค้ามนุษย์ที่มีทั้งคนไทยและคนต่างด้าวมาแสวงหาผลประโยชน์ อาทิ เดินยาเสพติด เร่ขายดอกไม้ เร่ขายหมากฝรั่งลูกอม โดยส่วนใหญ่ก็จะทำมาหากินอยู่แถว วงเวียนใหญ่ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สนามหลวง สวนจตุจักร เป็นต้น
ด้าน พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง ในขณะนี้ได้เสนอกฎหมายปราบปรามนายหน้าค้ามนุษย์ให้มีโทษสูงสุดการปัจจุบัน คือ ประหารชีวิต พร้อมกับสั่งการให้ สตม. ออกสืบหาต้นตอของขบวนการดังกล่าว เพื่อกวาดล้างให้สิ้นซาก ส่วนต่างด้าวที่จับกุมมาวันนี้ก็จะทำประวัติไว้ผลักดันกลับประเทศ แต่ถ้าเดินทางกลับมาอีกทางรัฐบาลก็จะดำเนินการขั้นเด็ดขาดต่อไป
ไทยบุกตลาดแรงงานแอฟริกา ก.บัวแก้วสั่งทูตสำรวจตลาด
เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ (12 ม.ค. 53) -
มีการส่งเสริมและขยายตลาดแรงงานในภูมิภาคแอฟริกาตอนบน และปรับโครงสร้างสำนักงานแรงงานในต่างประเทศ โดยปัจจุบันมีแรงงานไทยเดินทางไปทำงานใน 11 ประเทศ จำนวน 587,284 คน ซึ่งจากการเดินทางไปดูงานที่ประเทศลิเบีย พบว่าประเทศดังกล่าวมีการลงทุนพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานจำนวนมาก มีความต้องการจ้างแรงงานเพิ่มอีก 5,000 คน
ประเทศแอลจีเรีย พบว่า ขณะนี้ มีบริษัทต่างชาติเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมน้ำมัน ไฟฟ้า และโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งล่าสุด ได้รับแจ้งว่าต้องการแรงงานไทยจำนวน 12,400 คน ดังนั้น กระทรวงแรงงาน ได้ปรับโครงสร้างสำนักงานแรงงานในต่างประเทศ (สนร.) เพื่อรองรับการเปิดตลาดใหม่ดังกล่าว โดยปรับลด สนร.ที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย จากเดิม 2 แห่ง คือ ที่กรุงริยาด และเจดาห์ เหลือเพียง 1 แห่ง คือ ที่กรุงริยาด เพื่อดูแลแรงงานครอบคลุมพื้นที่ประเทศคูเวต บาห์เรน จอร์แดน เยเมน อิรัก ซีเรีย และเลบานอน
นอกจากนี้ ขอจัดตั้ง สนร.แห่งใหม่ ณ กรุงอาบูดาบี ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) เพื่อดูแลแรงงานไทยในประเทศกาตาร์ โอมาน และอิหร่าน ทั้งหมด 56,537 คน รวมทั้งขอจัดตั้ง สนร. ณ กรุงตริโปลี ประเทศลิเบีย โดยครอบคลุมประเทศแอฟริกาใต้ ซูดาน อียิปต์ คองโก โมร็อกโก แอลจีเรีย มีแรงงานไทยทำงานอยู่ทั้งหมด 21,127 คน
ด้านนายกษิต ภิรมย์ รมว. กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ได้สั่งสถานทูตไทยในต่างประเทศในภูมิภาคแอฟริกาใต้และตะวันออกกลาง ให้รายงานถึงแนวทางความต้องการแรงงานทั้งแรงงานไร้ฝีมือ และแรงงานที่มีทักษะฝีมือ อีกทั้งเตรียมเชิญบริษัทต่างชาติที่ได้รับสัมปทานก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นไต้หวัน เกาหลี ญี่ปุ่น มาร่วมประชุม เพื่อรับรู้ยุทธศาสตร์ในการลงทุนแต่ละบริษัท มีความต้องการแรงงานประเภทใด และมากน้อยแค่ไหน
สตม.กวาดล้างขอทานต่างด้าว"กัมพูชา"มากสุด
เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ (
12 ม.ค. 53) - พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และ พล.ต.ท.วุฒิ ลิปตพัลลภ ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง แถลงข่าวการกวาดล้างกลุ่มขอทานต่างด้าว ระหว่างวันที่ 8-10 ม.ค. ที่ผ่านมา สามารถจับกุมชาวกัมพูชาได้ 595 คน ชาวพม่า และชาวลาว 1 คน
สำหรับขอทานเหล่านี้ จะลักลอบเข้ามาในประเทศไทยตามแนวชายแดน อาทิเช่น ตลาดโรงเกลือ จังหวัดสระแก้ว จังหวัดตราด จังหวัดศรีสะเกษ และข้ามแม่น้ำโกลก เข้ามาจากประเทศมาเลเซีย โดยมีลักษณะเป็นขบวนการจัดหาแรงงานเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งมีทั้งคนไทย และชาวต่างชาติเป็นนายหน้า พาชาวต่างด้าวเหล่านี้เข้าพักอยู่รวมกันตามแหล่งชุมชนแออัด ย่านบางกะปิ ก่อนจะพาไปขอทานตามย่านชุมชน หรือย่านการค้าขนาดใหญ่ ทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล อาทิเช่น ประตูน้ำ สะพานใหม่ บางกะปิ ตลาดยิ่งเจริญ บางแค รังสิต สำโรง
พล.ต.ท.วุฒิ เปิดเผยว่า หลังจากนี้ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จะสืบสวนขยายผลถึงต้นตอขบวนการดังกล่าว และจัดทำประวัติ พร้อมผลักดันออกนอกประเทศต่อไป
ขณะที่ พล.ต.สนั่น กล่าวว่า ปัญหาชาวต่างด้าวลักลอบเข้ามาทำงานในประเทศไทยกระทบทั้งการท่องเที่ยว และภาพลักษณ์ของประเทศ เพราะเป็นขบวนการในลักษณะการค้ามนุษย์ จึงได้ผลักดันกฎหมายการค้ามนุษย์ให้มีโทษสูงสุดถึงประหารชีวิตเข้าสู่คณะรัฐมนตรี เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อป้องกันการกระทำความผิดลักษณะดังกล่าว
ด้านนายอิสสระ สมชัย รมว.พม. กล่าวว่า ผู้ถูกจับกุมมีร่างกายปกติไม่พิการเข้ามาแฝงตัวขอทานและหางานทำ ขณะนี้ทางการไทยได้ส่งตัวกลับทั้งหมด โดยชาวกัมพูชา ส่งกลับทาง จ.สระแก้ว ชาวพม่าส่งกลับทางแม่สอด และชาวลาวส่งทาง จ.หนองคาย
สำหรับขั้นตอนต่อไปจะต้องสืบหาตัวนายหน้าที่นำชาวต่างด้าวดังกล่าวมาในประเทศไทย และจากการสอบถามพบว่าชาวกัมพูชาต้องเสียค่าหัวให้นายหน้าคนละประมาณ 1,500 บาท มีรายได้ 300-500 บาทต่อวัน ทำงานตามชุมชน ห้างสรรพสินค้าและสนามหลวง
 อย่างไรก็ตาม การผลักดันส่งต่างด้าวกลับประเทศต้องอาศัยงบประมาณ ขณะนี้ใช้งบของกระทรวงแรงงาน เป็นงบฯ ป้องกันแรงงานต่างด้าว เพราะ พม.ไม่มีงบเกี่ยวกับการส่งกลับขอทานที่เป็นชาวต่างด้าว ทั้งนี้ หากพบผู้กระทำผิดหรือนายหน้านำคนเหล่านี้เข้ามา พม.จะใช้กฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 ดำเนินคดีแทน เพราะกฎหมายควบคุมขอทาน พ.ศ.2484 ยกเลิกใช้แล้ว
ผลการดำเนินงานคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศของกรมการกงสุลประจำปี 2552
กระทรวงการต่างประเทศ (11 ม.ค. 53) -
ในรอบปี 2552 กรมการกงสุลได้ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ของไทยทั้งหมด 94 แห่งให้ความช่วยเหลือแก่คนไทยในต่างประเทศที่ตกทุกข์ได้ยากที่ร้องขอความช่วยเหลือมายังราชการจำนวนทั้งสิ้น 3,169 ราย สาเหตุการตกทุกข์ได้ยากเกิดจากบุคคลสูญหายในต่างแดน การประสบภัยพิบัติจากธรรมชาติ การเจ็บป่วย ปัญหาครอบครัวของคนไทยที่สมรสกับชาวต่างชาติ การถูกเอาเปรียบในเรื่องสิทธิประโยชน์ต่างๆ อันพึงได้ของคนไทย ปัญหาการจ้างงาน ( นายจ้างโกงค่าแรงงานหรือ กระทำผิดสัญญาการจ้างงานในต่างประเทศ การหนีงาน การประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน หรืออื่นๆ ) การถูกจับจากการลักลอบไปทำประมงในน่านน้ำของประเทศอื่น การค้ายาเสพติด การค้ามนุษย์ และจากสถิติการให้ความช่วยเหลือคนไทยในต่างแดนตั้งแต่ปี 2546 (5,990 คน) พบว่าปัญหาคนไทยในต่างแดนประสบปัญหาลดลงตามลำดับ
เพิ่ม 2 สนง.แรงงานต่างประเทศ
เว็บไซต์มติชน (12 ม.ค. 53) -
นายไพฑูรย์ แก้วทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยเมื่อวันที่ 11 มกราคม ภายหลังหารือร่วมกับนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศว่า ปัจจุบันมีแรงงานไทยไปทำงานใน 11 ประเทศ จำนวน 587,284 คน และมีแนวโน้มว่าประเทศลิเบียต้องการจ้างแรงงานไทยอีกไม่น้อยกว่า 5,000 คน แอลจีเรียอีก 12,400 คน กระทรวงแรงงานจึงได้เพิ่มสำนักแรงงานในต่างประเทศแถบตะวันออกกลางใหม่ เพื่อคุ้มครองแรงงานให้ครอบคลุมเขตพื้นที่อีก 2 แห่ง ได้แก่ สำนักแรงงาน ณ กรุงอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ดูแลแรงงานไทยในยูเออี กาตาร์ โอมานและอิหร่าน จำนวน 56,537 คน สำนักแรงงาน ณ กรุงตริโปลี ลิเบีย ดูแลแรงงานไทยในแอฟริกาใต้ ซูดาน อียิปต์ คองโก โมร็อกโก แอลจีเรีย จำนวน 21,127 คน นายกษิตกล่าวว่า แนะนำให้กระทรวงแรงงานหารือกับบริษัท ชิปปิ้ง บริษัทคาโก้ บริษัทเรือสำราญ และเรือเดินสมุทร เพื่อให้แรงงานไทยมีส่วนแบ่งตลาดแรงงานร้อยละ 5
โรงงานเปิดใหม่ปี 52 ลดวูบ
เว็บไซต์ไทยรัฐ (12 ม.ค. 53)
- นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในปีที่ผ่านมามีโรงงานอุตสาหกรรมที่แจ้งขอปิดกิจการกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) รวม 1,658 ราย คิดเป็นวงเงินลงทุน 24,000 ล้านบาท ลดลงจากปี 2551 ในอัตรา 31.8% และ 12.61% ตามลำดับ ซึ่งมีแรงงานที่ต้องตกงานรวมกัน 44,000 คน ถือเป็นอัตราที่สวนทางกับปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจโลก เนื่องจากผู้ประกอบการไทยเริ่มมีการปรับตัวทำให้จำนวนการปิดกิจการไม่พุ่งสูงมากนัก รวมถึงนโยบายการให้ความช่วยเหลือของภาครัฐจนหลายรายสามารถประคองกิจการเพื่อรองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปีนี้ได้
ทั้งนี้ ประเภทโรงงานที่ขอปิดกิจการส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์อโลหะ 152 ราย ลดลง 33% มูลค่า 5,400 ล้านบาท เพิ่ม 122.72% ผลิตภัณฑ์พลาสติก 101 ราย ลดลง 20.32% มูลค่า 2,600 ล้านบาท เพิ่ม 247.98% เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี 37 ราย ลดลง 40.32% มูลค่า 2,200 ล้านบาท เพิ่ม 249.53% ผลิตยานพาหนะและอุปกรณ์การซ่อมยานพาหนะ 179 ราย ลดลง 31.94% มูลค่า 2,226 ล้านบาท เพิ่ม 43.87% เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ 35 ราย ลดลง 31.37% มูลค่า 1,381 ล้านบาท ลดลง 61.99% เป็นต้น
"การปิดกิจการโรงงานในปี่ผ่านมาพบว่าแรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายได้รับผลกระทบมากสุด 4,207 ราย ลดลง 62.23% รองลงมา ผลิตหนังสัตว์และผลิตภัณฑ์จากหนัง 4,186 ราย ลดลง 46.08% สิ่งทอ 3,598 คน ลดลง 27.12% ผลิตภัณฑ์อโลหะ 3,463 คน ลดลง 16.15% อุตสาหกรรมอาหาร 3,246 คน ลดลง 20.6% ผลิตภัณฑ์พลาสติก 2,996 คน เพิ่ม 50.63%"
สำหรับโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการจาก กรอ.มีจำนวนกว่า 3,700 แห่ง วงเงินลงทุน 140,000 ล้านบาท ลดลงปี 2551 ประมาณ 10,000 ล้านบาท มีการจ้างงานใหม่ 90,000 คน ถือเป็นตัวเลขการขอเปิดกิจการที่น่าพอใจ เพราะปีที่ผ่านมาทั่วโลกประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ ในปีนี้ กรอ.คาดว่าจะมีผู้ประกอบการขอเปิดโรงงานเพิ่มขึ้นแน่นอน เนื่องจากสัญญาณการฟื้นตัวเศรษฐกิจเริ่มชัดเจน
ขณะเดียวกันในส่วนของจังหวัดที่มีมูลค่าขอลงทุนสูงสุด 5 อันดับประกอบด้วย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มูลค่า 13,859 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2551 จำนวน 403 ล้านบาท จังหวัดสระบุรี 13,166 ล้านบาท ลดลง 21,214 ล้านบาท กาญจนบุรี 10,086 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9,742 ล้านบาท สมุทรสาคร 9,781 ล้านบาท ลดลง 1,178 ล้านบาท และฉะเชิงเทรา 8,088 ล้านบาท เพิ่ม 3,185 ล้านบาท
"ในปีที่ผ่านมาพบว่า เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจจากสหรัฐฯ และเรื่องของมาบตาพุด แต่ยอดการเปิดกิจการยังมีเพิ่มอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในไตรมาสที่ 4 ของปีที่ผ่านมาที่นักลงทุนเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ชัดเจน จึงคาดว่าตลอดปีนี้ยอดของเปิดกิจการใหม่กับ กรอ.คงจะเพิ่มขึ้นจากปี 2552"
กรมจัดหางานเล็งเปิดตลาดแรงงานในซาอุฯ รอบใหม่ หลังแนวโน้มสัมพันธ์ไทย-ซาอุฯ ดีขึ้น
เว็บไซต์แนวหน้า (
13 ม.ค. 53) - ที่กระทรวงแรงงาน นายสมชาย ชุ่มรัตน์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีที่อัยการฝ่ายคดีพิเศษมีคำสั่งฟ้อง พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม ผบช.ตำรวจภูธรภาค 5 พร้อมพวก ในคดีอุ้มฆ่านักธุรกิจชาวซาอุดิอาระเบีย ซึ่งอาจส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดิอาระเบียดีขึ้น ว่า ขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่า จะมีนโยบายฟื้นความสัมพันธ์ ระหว่างไทยกับซาอุดิอาระเบีย ได้มากน้อยแค่ไหน รวมทั้งจะมีนโยบายในการขยายตลาดแรงงานไปยังประเทศดังกล่าวหรือไม่ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาประเทศชาอุดิอาระเบียได้เปิดโอกาสให้แรงงานไทยเดินทางไปทำงานในประเทศได้ แต่เป็นการติดต่อกันเองระหว่างเอกชนกับเอกชน ส่วนการทำข้อกตลงระหว่างรัฐต่อรัฐในการจัดส่งแรงงานนั้นยังไม่มีจนกว่าปัญหาจะคลี่คลาย
นายสุภัท กุขุน รองอธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า นับเป็นสัญญาณที่ดี เนื่องจากคดีมีการคลี่คลายไปในระดับหนึ่ง หลังจากที่คดีหยุดไปกว่า 10 ปี ซึ่งข้อเท็จจริงแล้วเรื่องคดีความกับเรื่องแรงงานไม่มีความเกี่ยวข้องกัน แต่ที่ไปเชื่อมโยงกัน เพราะเมื่อ 20 ปีที่แล้ว มีแรงงานไทยเดินทางไปทำงานที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย จำนวน 2 แสนคน แต่ต่อมาเกิดคดีขโมยเพชรซาอุ ตามมาด้วยคดีอุ้มฆ่าทูต และคดีอุ้มฆ่านักธุรกิจ ส่งผลให้การส่งคนงานไทยไปทำงานเกิดการสะดุด ประกอบกับโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ อาทิ ก่อสร้างถนน สร้างท่อส่งน้ำมันและแท่นขุดเจาะน้ำมันในซาอุดิอาระเบียสิ้นสุดโครงการ ทำให้แรงงานไทยต้องเดินทางกลับประเทศจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง
นายสุภัท กล่าวต่อไปว่า ตนคิดว่าหากรัฐบาลไทยและซาอุฯ ฟื้นความสัมพันธ์ เชื่อว่าจะทำให้คนงานไทยกลับเข้าไปทำงานในซาอุฯ ได้อีกครั้ง ซึ่งปัจจุบันในซาอุฯ ยังมีโครงการต่างๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นใหม่ แน่นอนว่าแรงงานไทยจะได้รับโอกาสเข้าไปทำงาน เนื่องจากบริษัทที่ลงทุนในซาอุฯ ทั้งยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น คุ้นเตยกับการจ้างแรงงานไทย อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีการจ้างแรงงานจากประเทศเวียดนาม จีน อินเดีย บังคลาเทศ เพื่อทดแทนแรงงานไทยที่ไม่สามารถเข้าไปทำงานได้ อย่างไรก็ตาม ตนคิดว่าการฟื้นตัวหลังจากนี้คงไม่กลับไปบูมเหมือนเมื่อ 20 ปีที่แล้ว
“คาดเดาว่าถ้าสถานการณ์คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ก็น่าจะมีความเป็นไปได้ที่แรงงานไทยจะสามารถเข้าไปทำงานในซาอุฯ จากหลักร้อยก็จะเป็นหลักหมื่นในอนาคต อย่างไรก็ตาม การที่เราไม่ได้ส่งคนงานไปทำงานทำให้มีคู่แข่งขันมากขึ้น การที่เราจะกลับเข้าไปใหม่จึงจำเป็นต้องมีความพร้อมในเรื่องของทักษะฝีมือให้สูงกว่าเดิม โดยเฉพาะช่างฝีมือซึ่งเหนือกว่าแรงงานชาติอื่น แต่สิ่งที่เราเป็นห่วง คือ ความไม่พร้อมของสภาพร่างกายของแรงงาน”รองอธิบดีกรมจัดหางาน กล่าว
นายสุภัท กล่าวอีกว่า กรมจัดหางานได้เตรียมความพร้อมจัดตั้งระบบศูนย์ข้อมูลสำหรับผู้ที่สนใจจะไปทำงานที่ตะวันออกลาง และแอฟริกาขึ้นเป็นการเฉพาะ เพื่อที่จะกระตุ้นให้แรงงานมีการเตรียมพร้อมในการที่จะไปทำงานทั้งทางร่างกายและจิตใจ เพื่อให้มีความอดทนต่อสภาพอากาศและภูมิประเทศ รวมทั้งการพัฒนาฝีมือแรงงานของตนเองด้วย ส่วนผู้รับอนุญาตจัดหางานซึ่งเป็นบริษัทเอกชนก็จะต้องเตรียมตัวที่ในการหาข้อมูลต่างๆ เพราะว่าระบบการจ้างงานใหม่ต้องรับผิดชอบในการจัดหาคน ส่งคนไปทำงาน และฝึกให้กับแรงงานที่จะไปอยู่ต่างประเทศด้วย
ทั้งนี้ มีแรงงานไทยที่ขอเดินทางเข้าไปทำงานในประเทศซาอุฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2548-2552 เฉลี่ยปีละ 700-800 คน ขณะที่แรงงานไทยที่ทำงานอยู่ในซาอุฯ ปัจจุบันประมาณ 2 หมื่นคน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่นายจ้างขอมาเป็นกรณีพิเศษ เช่น ช่างที่ทำงานในอู่ซ่อมรถ พนักงานทำอาหาร ซึ่งทำงานมานานแล้วและได้รับการไว้ใจจากนายจ้าง ทั้งนี้แรงงานเหล่านี้ไม่ได้ผ่านระบบจัดหางานโดยรัฐและบริษัทจัดหางาน
ถกอุทธรณ์ไล่ 6 คนรถไฟ
เว็บไซต์มติชน (13 ม.ค. 53) -
เมื่อวันที่ 12 มกราคม ที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน มีการประชุมคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (ครส.) โดยมีนายไพฑูรย์ แก้วทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธาน พิจารณากรณีที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ไล่ออกนายวิรุฬห์ สะแกคุ้ม และพวกรวม 6 คน ในความผิดข้อหาประพฤติชั่วเนื่องจากขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชาจนทำให้ ร.ฟ.ท.เสียหายกว่า 70 ล้านบาท แต่สหภาพแรงงาน (สร.รฟท.) ร้องขอความเป็นธรรมต่อ ครส.เพื่อให้ยกเลิกคำสั่งดังกล่าว นายไพฑูรย์ให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า การประชุมยังไม่ได้ข้อยุติ เพราะยังมีความเห็นที่แตกต่างกันอยู่ แต่จะประชุมกันอีกครั้งในวันที่ 15 มกราคมนี้ อย่างไรก็ตามกระบวนการของ ครส.ยังไม่ใช่ข้อยุติ เพราะฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดสามารถนำเรื่องไปฟ้องศาลได้
"โสภณ" เดินหน้ายกเครื่องรฟท. ขู่สหภาพฯขัดขวางจะเอาผิดตาม กม.
แนวหน้า (13 ม.ค. 53) -
นายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคม เตรียมรายงานผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ สังกัด กระทรวงคมนาคม ในรอบ 1 ปีให้กับที่ประชุม รัฐสภา รับทราบในเดือนมกราคม 2553 นี้ โดยเฉพาะ การแก้ไขปัญหาการขาดทุนของ การรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.)ทาง กระทรวงคมนาคม มีแผนปรับโครงสร้าง รฟท.ด้วยการจัดตั้งหน่วยธุรกิจ (Business Unit :BU) ขึ้นมา 3 หน่วย ประกอบด้วย หน่วยการเดินรถ หน่วยทรัพย์สิน และหน่วยอำนวยการ
นอกจากนี้จะจัดตั้งบริษัทลูกขึ้นมาอีก 1 บริษัท เพื่อบริหารการเดินรถ โครงการระบบ ขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และ สถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง(โครงการรถไฟฟ้า แอร์พอร์ต เรล ลิ้งค์) โดยร.ฟ.ท. ถือหุ้น 100 %
ส่วนกรณีที่ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ รฟท.ออกมาคัดค้านกับแผนปรับโครงสร้างนั้นรมว.คมนาคม ยืนยันว่า หากสหภาพฯมีการดำเนินการใดๆออกมาแล้วเป็นการทำให้ประเทศเสียหาย ก็ต้องดำเนินการไปขั้นตอนของตามกฎหมาย และจะไม่ยอมให้ใครเป็นอุปสรรคในการพัฒนาองค์กรอย่างเด็ดขาด
ในส่วนแผนการลงทุนของร.ฟ.ท. นั้นจะรายงานให้รัฐสภา ทราบว่า เมื่อเร็วๆนี้ คณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้เห็นชอบแผน และปรับเพิ่มวงเงินลงทุนจากเดิมที่ 100,000 ล้านบาท เป็น 153,052 ล้านบาท โดยจะเร่งดำเนินการแผนการลงทุน 2 ส่วนคือ
ส่วนแรก เป็นแผนงานการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานระยะเร่งด่วน นะระยะเวลา 5 ปี (2553-2557) มีวงเงิน 86,942 ล้านบาท ได้แก่ ลงทุนงานโยธา จำนวน 51,124 ล้านบาท ,งานอาญัติสัญญาณ( ระบบ สัญญาณไฟ หรือระบบอื่นๆ ในการเดินรถ) จำนวน 19,014 ล้านบาท และงานรถจักร และล้อเลื่อน 16,803 ล้านบาท
ส่วนที่ 2 เป็นงานพัฒนาระบบรถไฟทางคู่ ระยะเร่งด่วน 767 กิโลเมตร จำนวน 5 เส้นทาง วงเงินรวม 66,110 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายลพบุรี-ปากน้ำโพ 2.สายมาบกระเบา-นครราชสีมา 3.สายชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น 4.สายนครปฐม-หัวหิน และ5.สายประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร
นอกจากนี้จะรายงานให้รัฐสภา ทราบว่า ในส่วนของการแก้ไขปัญหาการขาดทุนของการบินไทยนั้น ในการแก้ไขปัญหาการขาดทุนสะสม ณ ปี2551 ที่มีอยู่กว่า 21,000 ล้านบาท ขณะนี้ การบินไทยได้ทำแผนฟื้นฟู และแก้ไขปัญหาดังกล่าวแล้ว
บีโอไอฟุ้ง 52 ลงทุนสูงสุด 40 ปี
เว็บไซต์เดลินิวส์ (13 ม.ค. 53)
- นางอรรชกา สีบุญเรือง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ในปี 52 มีนักลงทุนขอรับส่งเสริมการลงทุนผ่านบีโอไอ 1,573 โครงการ วงเงิน 723,400 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 80% โดยเป็นมูลค่าสูงสุดในรอบ 40 ปีนับตั้งแต่มีการส่งเสริมการลงทุนในประเทศไทย ซึ่งสวนทางกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เกิดวิกฤติทั่วโลก รวมถึงความวุ่นวายทางการเมืองของไทย และ ปัญหาการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด แต่นักลงทุนยังมั่นใจพื้นฐานเศรษฐกิจของไทย และมาตรการพิเศษกระตุ้นการลงทุนได้สิ้นสุดในปี 52
ทั้งนี้กลุ่มอุตสาหกรรมบริการและ สาธารณูปโภคได้รับความสนใจมากสุด 709 โครงการ มูลค่า 430,800 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ การผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ
ขณะที่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า มี 219 โครงการ มูลค่า 100,900 ล้านบาท ส่วนใหญ่การผลิตชิ้น ส่วนฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ ผลิตแผงวงจรรวมผลิตชิ้นส่วนกล้องดิจิทัล ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอ นิกส์สำหรับรถยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า, อุตสาหกรรมเกษตรและผลิตผลจากการเกษตร 212 โครงการ มูลค่า 66,800 ล้านบาท, อุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วนเครื่องจักร และโลหะ 217 โครงการ มูลค่า 55,500 ล้านบาท
ทั้งนี้โครงการที่ยื่นขอรับส่งเสริมในปี ที่ผ่านมา มีโครงการขนาดใหญ่มูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาทมากถึง 106 โครงการ วงเงินรวม 460,300 ล้านบาท แต่กิจการ ที่ยื่นขอรับส่งเสริมมากที่สุด เป็นกิจการขนาดกลาง มูลค่าระหว่าง 20-200 ล้านบาท จำนวน 689 โครงการ มูลค่ารวม 52,600 ล้านบาท
นางอรรชกา กล่าวว่า ช่วง 10 วันสุดท้ายของปีหรือหลัง 21 ธ.ค. 52 มีมูลค่าขอรับส่งเสริมลงทุนมากสุดกว่า 150,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการผลิตฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ กว่า 30,000 ล้านบาท การผลิตแผงวงจรรวม 6,300 ล้านบาท ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมเกือบ 20,000 ล้านบาท การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ 13,600 ล้านบาท และการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ 5,100 ล้านบาท และเอทานอล 5,800 ล้านบาท
 “ปี 52 บีโอไอได้ตั้งเป้า 400,000 ล้านบาท ครึ่งหลังของปีเศรษฐกิจโลกมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจน ทำให้ยอดการลงทุนเพิ่มอย่างมากจนเกินเป้า 80% หรือ 323,400 ล้านบาท”
นายสรยุทธ์ เพ็ชรตระกูล ผู้ช่วยรัฐ มนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในปี 53 บีโอไออาจพิจารณาปรับเพิ่มเป้าการลงทุนใหม่ เพราะตัวเลขในปี 52 มีมากกว่า ที่ประเมินไว้ แต่ที่น่าเสียดายมีอย่างน้อย 2 บริษัทที่กำลังจะขยายกำลังการผลิตในไทย เพิ่มกว่า 15,000 ล้านบาท เนื่องจากประสบปัญหาเรื่องของแรงงานประท้วงขอขึ้นเงินโบนัส ทำให้ผู้ผลิตยางรถยนต์จากไต้หวันไม่กล้าขยายลงทุน 5,000-6,000 ล้านบาท ขณะที่ผู้ผลิตโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ จากสหรัฐ ไม่กล้าขยายลงทุนเพิ่มวงเงิน 10,000 ล้านบาทเช่นกัน เพราะแนวทางแก้ปัญหามาบตาพุดที่ไม่ชัดเจน
กรมการกงสุลมอบเงินกว่า 11 ล้านบาท แก่ญาติแรงงานไทยที่เสียชีวิตในต่างแดน
กระทรวงการต่างประเทศ
(13 ม.ค. 53) - เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2553 นางสาวมธุรพจนา อิทธะรงค์ รองอธิบดีกรมการกงสุล เป็นประธานในพิธีมอบเงินสิทธิประโยชน์ให้แก่ญาติของแรงงานไทย 5 ราย ที่เสียชีวิตในต่างประเทศ ณ อาคารกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ถนนแจ้งวัฒนะ
รองอธิบดีกรมการกงสุลได้มอบเงินสิทธิประโยชน์ อันเป็นเงินที่คนไทยผู้เสียชีวิตในต่างประเทศพึงได้รับและเรียกร้องได้ให้แก่ทายาทของแรงงานผู้เสียชีวิต 5 ราย ประกอบด้วย แรงงานไทยในสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ที่เสียชีวิตเนื่องจากหัวใจล้มเหลว 2 ราย และแรงงานไทยในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ที่เสียชีวิตเนื่องจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ 3 ราย ทั้งนี้ จำนวนเงินสิทธิประโยชน์ที่มอบให้แก่ทายาทของผู้เสียชีวิตทั้งหมดในครั้งนี้ รวมเป็นมูลค่ากว่า 5.5 ล้านบาท โดยก่อนหน้าการมอบเงินในครั้งนี้ กรมการกงสุลได้มอบเงินสิทธิประโยชน์ให้แก่ทายาทของแรงงานในเกาหลีใต้ผู้เสียชีวิตไปแล้ว 3 ราย เป็นมูลค่ากว่า 5.6 ล้านบาท ทำให้กรมการกงสุลได้มอบเงินอันพึงได้แก่ญาติของคนไทยผู้เสียชีวิตในต่างแดนไปแล้วรวมทั้งสิ้นกว่า 11 ล้านบาท
โอกาสนี้ รองอธิบดีกรมการกงสุลได้กล่าวสรุปผลการดำเนินงานคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศของกรมการกงสุลประจำปี 2552 ว่า สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ของไทยทั้งหมด 94 แห่ง ได้ให้ความช่วยเหลือแก่คนไทยในต่างประเทศที่ตกทุกข์ได้ยากและร้องขอความช่วยเหลือเป็นจำนวนทั้งสิ้น 3,169 ราย ซึ่งรวมทั้ง กรณีบุคคลสูญหายในต่างแดน การประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ การเจ็บป่วย ปัญหาครอบครัวของคนไทยที่สมรสกับชาวต่างชาติ การถูกเอาเปรียบในเรื่องสิทธิประโยชน์ต่างๆ อันพึงได้ของคนไทย ปัญหาการจ้างงาน เป็นต้น
ต้นกล้าเก็บตก 5 โครงการก่อนปิดฉาก
เว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจ (13 ม.ค. 53)
- ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการดำเนินงานโครงการเพิ่มศักยภาพผู้ว่างงาน เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมในชุมชน หรือ ต้นกล้าอาชีพ เปิดเผยภายหลังการประชุมบอร์ดต้นกล้าอาชีพซึ่งมีนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2552 ที่ผ่านมาว่า จากผลการดำเนินงานของต้นกล้าอาชีพที่ผ่านมา ซึ่งสามารถช่วยเหลือและให้การอบรมผู้ว่างงานได้สูงกว่าเป้าหมาย คือ สามารถให้การอบรมได้ทั้งสิ้น 502,604 คน ภายใต้วงเงิน 8,859.9 ล้านบาท ประกอบกับสถานการณ์การว่างงานกลับสู่ภาวะปกติ โครงการต้นกล้าอาชีพจึงจะทยอยปิดโครงการนับจากนี้ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม2553
สำหรับการดำเนินการฝึกอบรมที่ยังคั่งค้างอยู่ให้แล้วเสร็จ ซึ่งต้องของบประมาณเพิ่มเติม จำนวน 2,965.8 ล้านบาทนั้น จะนำไปใช้ฝึกอบรมในโครงการที่ได้รับการอนุมัติไปแล้วและอยู่ระหว่างรอดำเนินการอีก 5 โครงการ รวม 218,745 คน ประกอบด้วย 1.โครงการต้นกล้าอาชีพปกติ หลักสูตรการทำวิสาหกิจชุมชน จำนวน 19,550 คน วงเงิน 225.216 ล้านบาท 2.โครงการพิเศษสร้างผู้สอบบัญชีกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง 4,000 คน วงเงิน 75.2 ล้านบาท 3.โครงการพิเศษสำมะโนประชากรและเคหะ พ.ศ. 2553 จำนวน 62,300 คน วงเงิน 436.1 ล้านบาท 4.โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการประกอบอาชีพแก่ผู้ที่กลับไปประกอบอาชีพในภูมิลำเนา 117,395 คน วงเงิน 1,809.29 ล้านบาท และ5. โครงการต้นกล้าอาชีพสำหรับพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 15,500 คน วงเงิน 420 ล้านบาท
รัฐวิสาหกิจด้านการบินครองแชมป์จ่ายโบนัสสูงสุด
เว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจ (
13 ม.ค. 53) - จากการสำรวจของ"ฐานเศรษฐกิจ"พบว่าแม้ในปีนี้สถานการณ์ท่องเที่ยวไทยต้องประสบปัญหาการชะลออย่างหนักจากสารพัดปัจจัยลบที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของความวุ่นวายทางการเมือง ที่ส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินธุรกิจในปีนี้ แต่ในกลุ่มธุรกิจรายใหญ่ที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวหลายแห่งในปีนี้ก็ยังคงประกาศการจ่ายโบนัสให้กับพนักงาน หลังจากการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัวในช่วง 4 เดือนหลังของปีนี้ และเพื่อเป็นขวัญกำลังใจ หลังจากในช่วงครึ่งปีแรกภาคแรงงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวต่างได้รับผลกระทบอย่างมากสำหรับมาตรการลดค่าใช้จ่ายต่างๆที่ภาคธุรกิจนำมาใช้เพื่อประคองให้ธุรกิจอยู่รอดได้
ทั้งนี้ในปีนี้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวเนื่องกับด้านการบิน ที่มีการจ่ายโบนัสให้กับพนักงานมากที่สุด คือ บริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด หรือบวท.จ่าย 3.75 เดือน ซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงที่บวท.ตั้งงบในส่วนนี้เป็นค่าใช้จ่ายประจำทุกปี เพื่อเป็นเงินรางวัลพิเศษ ในฐานะที่บวท.เป็นหน่วยงานที่ไม่แสวงหากำไร ขณะที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)หรือทอท.จ่ายโบนัสที่ 3.75 เดือน ลดลงจากปีที่ผ่านมาที่จะจ่ายอยู่ที่ 7 เดือน
ด้านสายการบินต่างๆนั้นบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) แม้ยังไม่มีประกาศในเรื่องนี้ออกมา แต่วงในก็กำลังรอลุ้นโบนัสที่จะออกในเดือนมกราคมปีหน้า เนื่องจากผลประกอบการกว่า 11 เดือนที่ผ่านมาบมจ.การบินไทยมีผลประกอบการที่ดีขึ้นกว่าเป้าหมายที่วางไว้ เห็นได้จากอัตราการบรรทุกเฉลี่ยของผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น รายได้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้(ตุลาคม-ธันวาคมนี้) ที่คาดว่าจะได้ถึง 29,184 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา รวมถึงรายได้ผู้โดยสารต่อกิโลเมตรหรือYield ก็ปรับขึ้นมาเป็น 2.1 บาท จากเดิมที่เคยลดลงไปอยู่ที่1.87 บาท สายการบินไทยแอร์เอเชีย จ่าย 1.75 เดือน นกแอร์ 1 เดือน
แรงงานไทยเมินซาอุฯเหตุ "ค่าจ้าง" ต่ำ
เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ (
14 ม.ค. 53) - นายไพฑูรย์ แก้วทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า แม้ความสัมพันธ์ไทยและซาอุฯ ดีขึ้น ก็ไม่ได้หมายความว่า สถานการณ์แรงงานไทยจะฟื้นในทันที เพราะขณะนี้ ความนิยมที่จะไปทำงานที่ซาอุฯ ของคนไทยลดลงไปมาก ไม่ค่อยมีใครสนใจไปทำงานที่ซาอุฯ สักเท่าไร เนื่องจากค่าแรงถูกกว่าที่อื่น มันไม่บูมเหมือนเมื่อก่อน อย่าลืมว่าในประเทศแถบอาหรับด้วยกัน ที่เป็นประเทศเกิดใหม่ก็มีการลงทุนค่อนข้างเยอะ ซึ่งล่าสุด ที่ไปดูตลาดแรงงานที่ประเทศลิเบีย แอลจีเรีย และไนจีเรีย ก็เป็นตลาดใหม่ที่น่าสนใจ
ส่วนแรงงานกลุ่มแรกที่คาดว่าจะได้เข้าไปทำงานที่ประเทศซาอุฯ หากมีการเปิดวีซ่าให้แรงงานไทย นายไพฑูรย์ กล่าวว่า ขณะนี้ ที่ซาอุฯ งานก่อนสร้างใหม่ๆ จะน้อยลง ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องของงานซ่อมบำรุงจำพวกบ่อน้ำมันต่างๆ ที่เปิดใช้มานานแล้ว เพราะฉะนั้น แรงงานประเภทช่างเชื่อมโลหะจะเป็นที่สนใจของตลาดที่ซาอุฯ ขณะนี้มากกว่า โดยเฉพาะแรงงานคนไทยถือว่าเป็นที่ยอมรับในเรื่องของทักษะฝีมือในสาขานี้มานานแล้ว
ด้านนายสุภัท กุขุน รองอธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ปัจจุบันในซาอุฯ ยังมีโครงการต่างๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นใหม่ แน่นอนว่า แรงงานไทยจะได้รับโอกาสเข้าไปทำงาน เนื่องจากบริษัทที่ลงทุนในซาอุฯ ทั้งยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น จะคุ้นเคยกับการจ้างแรงงานไทยมาก่อน อย่างไรก็ตาม การที่เราไม่ได้ส่งคนงานไปทำงานมานาน ทำให้คู่แข่งขันเรามีมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแรงงานจากเวียดนาม จีน อินเดีย บังกลาเทศ ซึ่งค่าแรงจะถูกกว่าเรามาก ดังนั้น การที่เราจะกลับเข้าไป จึงจำเป็นต้องมีความพร้อมในเรื่องของทักษะฝีมือให้สูงกว่าเดิม
นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวว่า จากกรณีที่ต่างชาติพยายามเข้ามาใช้พื้นที่ในประเทศไทยเป็นแหล่งปลูกข้าวเพื่อส่งกลับประเทศตนเอง ในขณะนี้ สมาคมได้ประสานงานไปยังสมาชิกเพื่อจับตามองชาวนาด้วยกันเองว่ามีการเปลี่ยนแปลงการดำรงชีวิตมากขึ้นมากน้อยเพียงใด อาทิเช่น มีเงินมากพอที่จะซื้อที่นามูลค่าสูงเกินฐานะความเป็นอยู่ในปัจจุบันที่จะทำได้ ซึ่งกรณีนี้ มีความเป็นไปได้ที่ชาวนาคนดังกล่าวจะเป็นนอมินีของคนต่างชาติ หรือมีการเปลี่ยนอาชีพไปทำอย่างอื่น เนื่องจากไม่สามารถเช่าที่นาผืนเดิมได้อีก กรณีดังกล่าวอาจสันนิษฐานในเบื้องต้นได้ว่าได้รับผลกระทบจากนักลงทุนรายใหญ่เข้ามากว้านซื้อที่ดิน
นายปราโมทย์ วานิชานนท์ กรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ กล่าวว่า ช่วงปี
2551 ที่ราคาข้าวพุ่งขึ้นสูงมาก ทำให้เกิดกระแสความไม่มั่นคงด้านอาหาร และมีนักการเมืองบางกลุ่ม ชักจูงนักลงทุนจากซาอุดีอาระเบียเข้ามาลงทุนกว้านซื้อที่ทำนาเพื่อส่งข้าวกลับประเทศ แต่เรื่องนี้มีกระแสต่อต้าน ทำให้นักลงทุนไม่กล้าดำเนินการต่อ และโดยส่วนตัวแล้วคิดว่านักลงทุนซาอุฯ คงไม่สนใจจะทำนาในไทย เพราะเป็นวิธีการที่ยากเกินไป เมื่อเทียบกับการใช้เงินทุ่มซื้อ
"ที่เขาเข้ามาช่วงก่อนนี้น่าจะเป็นการมาดูลู่ทางมากกว่า แต่เมื่อไทยมีกระแสต่อต้านหนักเข้า เขาก็ถอย และไม่กล้าเข้ามาอีก จนถึงปัจจุบันแม้ว่าท่าทีการเมืองระหว่างไทยกับซาอุฯ จะเริ่มดีขึ้น แต่คิดว่านักลงทุนของซาอุฯ คงไม่ฟื้นเรื่องการลงทุนทำนาขึ้นมาอีก เพราะไม่คุ้มกับการลงทุนแน่ แต่รัฐเจรจาขายข้าวผูกขาดกับซาอุฯ แบบปีต่อปีมากกว่า" นายปราโมทย์กล่าว
แฉประมงเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ทะลักปี 53
เว็บไซต์ไทยรัฐ (14 ม.ค. 53) -
นายเอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หัวหน้าปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์มูลนิธิประจกเงา เปิดเผยว่า ศูย์ปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงาได้รวบรวมสถานการณ์การค้ามนุษย์ในรอบปี 2552 พบดังนี้ 1. การค้ามนุษย์แรงงานภาคประมง โดยได้รับแจ้งเหตุแรงงานประมงขอรับความช่วยเหลือ เนื่องจากถูกล่อลวงและบังคับให้ทำงานโดยไม่สมัครใจ ตลอดจนถูกละเมิดสิทธิกว่า 130 กรณี มากกว่าปีที่ผ่านมาถึง 3 เท่า จังหวัดที่ถูกขึ้นบัญชีว่ามีปัญหาขั้นรุนแรง ได้แก่ สงขลา ชลบุรี (ท่าเรือแสมสาร อ.สัตหีบ) สมุทรสาคร และสมุทรปราการ ทั้งนี้การขาดแคลนแรงงานประมงกว่า 1 แสนอัตรา ทำให้เกิดขบวนการนายหน้าจัดหาแรงงานประมง ในจำนวนนี้มีแรงงานเด็กรวมอยู่ด้วย โดยปีที่ผ่านมาแม้จะมีการตั้งคณะกรรมการศึกษาปัญหาเพื่อหาแนวทางแก้ไข แต่ยังไม่มีรูปธรรมที่ชัดเจน 2. ขอทานเด็กส่วนใหญ่เป็นเด็กที่ถูกนำมาจากประเทศกัมพูชาและพม่า พื้นที่ที่มีการลักลอบนำเด็กมาขอทานในไทย คือ ด่านอรัญประเทศ จ.สระแก้ว ซึ่งภาพรวมของธุรกิจเด็กขอทานยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะเด็กขอทานต่อคนหาเงินได้ตั้งแต่วันละ 300-1,000 บาทขึ้นไป
 3.การลักพาตัวเด็ก โดยปี 2552 มีเด็กถูกลักพาตัว 7 รายเท่าที่ปี พ.ศ.2551 เด็กที่ถูลักพาตัวมีอายุเฉลี่ยเพียง 6 ขวบเท่านั้น ลักษณะการลักพตัวส่วนใหญ่เพื่อนำไปกระทำทางเพศและบังคับใช้แรงงาน มักจะเกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล 4.ขบวนการซื้อขายเด็กทารก ส่วนใหญ่พบที่ชายแดนภาคใต้ของไทย โดยกลุ่มเป้าหมายที่นายหน้าจะเข้าไปติดต่อขอซื้อเด็กเป็นกลุ่มหญิงขายบริการที่ตั้งครรภ์โดยไม่พึงประสงค์หรือครอบครัวยากจน ซึ่งจะหว่านล้อมโดยมีเงินหลายหมื่นบาทเป็นตัวล่อ พื้นที่ที่พบปัญหามากคือ อ.ด่านนอก จ.สงขลา เนื่องจากมีสถาบันเทิงคาราโอะ ดิสโก้เธค และนวดแผนโบราณหนาแน่น จึงมีหญิงขายบริการมากเป็นเงาตามตัว อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าปัญหาการค้ามนุษย์ปี 2553 มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นในแรงงานภาคประมงเนื่องจากเกิดภาวะขาดแคลนแรงงาน ส่วนด้านอื่นๆ อาจจะทรงตัว แต่ไม่ได้ลดขนาดของปัญหาลง โดยเฉพาะเรื่องการนำเด็กมาเป็นเครื่องมือในการขอทาน อาจกลายเป็นปัญหาปกติที่รัฐบาลไทยไม่สามารถจัดการได้อย่างเป็นรูปธรรม
เจ้าของสวนผลไม้ในฮาวายของสหรัฐเตรียมยอมรับผิดบังคับใช้แรงงานไทย
แนวหน้า (14 ม.ค. 53) -
โฮโนลูลู (เอเอฟพี) - เอกสารของศาล ระบุว่า นายอเล็กซ์ โซวโฟเน โซว ประธานบริษัทอะลุน ฟาร์มส์ ซึ่งทำธุรกิจสวนผักผลไม้ รายใหญ่อันดับ 2 ของฮาวาย และนายไมค์ มาโกเน โซว น้องชายซึ่งเป็นรองประธานบริษัท จะรับสารภาพต่อศาลในวันนี้ว่า สมรู้ร่วมคิดกับนายหน้าหางานไทยในการนำแรงงานไทย 44 คนไปทำงานในฟาร์มของพวกเขาที่ฮาวาย
ในคำฟ้องระบุว่า แรงงานไทยถูกหลอกให้ไปทำงานในไร่แห่งนี้ โดยผู้ชักชวนอ้างว่า จะได้ค่าตอบแทนสูง นอกจากนี้พวกเขายังถูกข่มขู่ ข้อมูลของรัฐบาลท้องถิ่น ระบุว่า แรงงานไทยหลายคนถูกห้ามออกนอกสวนหลังทำงานเสร็จ และให้พักอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์ 11 หลัง ห้ามติดต่อกับบุคคลภายนอกโดยเฉพาะคนลาว ทั้งยังถูกขู่จะส่งตัวกลับไทยหากไม่เชื่อฟังคำสั่ง หรือพยายามหลบหนี ข้อมูลของศาล ยังเผยว่า แรงงานไทยแต่ละคนติดหนี้นายหน้าไทยคนละ 16,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 528,000 บาท) เป็นค่าใช้จ่ายในการจัดหางาน
สองผู้บริหารอะลุน ฟาร์มส์ ถูกส่งฟ้องเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ในข้อหาสมรู้ร่วมคิดบังคับใช้แรงงาน และการปลอมแปลงวีซ่า ระหว่างเดือนเมษายน 2546 – เดือนกุมภาพันธ์ 2548 ทั้งคู่เผชิญโทษจำคุกสูงสุด 15 ปี แต่ยังไม่ชัดเจนว่า การตัดสินโทษจะอยู่ภายใต้เงื่อนไขการรับสารภาพหรือไม่
"กนอ."กางแผนแม่บท 10 ปี ลุยลดมลพิษจาก 42 นิคมฯทั่วไทย
แนวหน้า
(14 ม.ค. 53) - นางมณฑา ประณุทนรพาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริหาร กนอ.ได้มีมติเห็นชอบร่างนโยบายการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์(Eco-Industrial Estate)เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมต่างๆให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์ ที่มุ่งเน้นให้เกิดการดูแลสิ่งแวดล้อมและสุขภาพชุมชน ซึ่งจะต้องกำหนดมาตรฐานการพัฒนา และสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์ ให้สอดคล้องกับศักยภาพของแต่ละพื้นที่
ทั้งนี้ กนอ.มีแผนที่จะพัฒนานิคมอุตสาหกรรม 42 แห่งทั่วประเทศ เป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์ให้แล้วเสร็จภายใน 10 ปี คือ ตั้งแต่ปี 2553-2562 แบ่งเป็นระยะที่ 1 ปี 2553-2557 จะมีการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์นำร่องกีบนิคมอุตสาหกรรม 15 แห่ง และระยะที่ 2 ปี 2558-2562 จะมีการขยายและต่อยอดพื้นที่ในการพัฒนาออกไปจนครบนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 42 แห่ง โดย กนอ.จะมีการพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเป็นแห่งแรก
"การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์ จะเป็นรูปแบบการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมแนวใหม่ ที่เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนทั้งผู้ประกอบการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และชุมชน เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำแผนแม่บทในการพัฒนา มีเป้าหมายสำคัญเพื่อให้นิคมอุตสาหกรรม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมสามารถเติบโตไปด้วยกันได้ โดยจะพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างมีดุลยภาพ อีกทั้งยังเน้นการดูแลสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของผู้ประกอบการ แรงงาน และชุมชนเป็นสำคัญด้วย" นางมณฑา กล่าว
รมว.แรงงานพร้อมขยายความคุ้มครองแรงงานนอกระบบตามมาตรา 40
เว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจ (14 ม.ค. 53) - กระทรวงแรงงาน สัมมนาเชิงปฏิบัติการพี่เลี้ยงและอาสาสมัครแรงงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2553 รุ่นที่ 2 ภาคใต้และการสร้างเครือข่ายขยายความคุ้มครองประกันสังคมสู่แรงงานนอกระบบ ณ โรงแรมแกรนด์ปาร์ค อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราชวันที่ 14 มกราคม 2553 นายไพฑูรย์ แก้วทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการพี่เลี้ยง และอาสาสมัครแรงงาน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 รุ่นที่ 2 ภาคใต้ และการสร้างเครือข่ายขยายความคุ้มครองประกันสังคมสู่แรงงานนอกระบบว่า การสัมมนาเชิงปฏิบัติการฯ ในวันนี้ เป็นการบูรณาการงานของกระทรวงแรงงาน เพื่อนำภารกิจและบริการด้านแรงงานไปสู่ประชาชนในพื้นที่ ชุมชนได้อย่างครอบคลุม ทั่วถึง ทันต่อเหตุการณ์ และมีประสิทธิภาพ โดยผ่านเครือข่ายด้านแรงงาน ทั้งในส่วนขององค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และอาสาสมัครแรงงานของกระทรวงแรงงาน เพื่อประโยชน์สุข และมีคุณภาพชีวิตที่ดีของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ทุกแห่งหนทั่วประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานนอกระบบ ซึ่งเป็นกำลังแรงงานสำคัญกลุ่มใหญ่ของประเทศ ด้วยสัดส่วน 24.1 ล้านคน หรือ 63.7% ของกำลังแรงงานของประเทศไทย
สำหรับภารกิจด้านแรงงานที่กระทรวงแรงงานให้การดูแลแก่แรงงานนอกระบบ ประกอบด้วยการจัดหางาน โดยการช่วยเหลือให้นักเรียนนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาใหม่ ประชาชนที่ว่างงาน ผู้ตกงาน และแรงงานคืนถิ่นมีงานทำทั้งในและต่างประเทศ หรือประกอบอาชีพอิสระตามที่ต้องการ การพัฒนาฝีมือแรงงาน ด้วยการให้ความรู้ ทักษะสำหรับการประกอบอาชีพ ในโรงงานอุตสาหกรรม หรือประกอบอาชีพอิสระตามความถนัด
การคุ้มครองสิทธิแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเกษตร และผู้รับงานไปทำที่บ้านให้ได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรม มีวันหยุด วันลา และความปลอดภัยในการทำงานตามที่กฎหมายกำหนดการประกันสังคม ได้มีการปรับปรุงสิทธิประกันสังคมแก่แรงงานนอกระบบให้ได้รับการคุ้มครองประกันสังคมตามกฎหมายประกันสังคม มาตรา 40 ซึ่งเดิมได้รับการคุ้มครอง สิทธิประโยชน์เพียง 3 กรณี คือ คลอดบุตร ทุพพลภาพ และตาย ให้ได้รับการคุ้มครองเพิ่มมากขึ้นเป็น 5 กรณี คือ 1) ได้รับค่าชดเชยเมื่อต้องเจ็บป่วยนอนโรงพยาบาล 2) ได้รับค่าคลอดบุตร 3) ได้รับเงินชดเชยรายเดือนเมื่อทุพพลภาพ 4) ได้รับค่าทำศพเมื่อเสียชีวิต และ 5) มีเงินออมรายเดือน ซึ่งคาดว่าจะเริ่มใช้ได้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2553 เป็นต้นไป
สำหรับการสัมมนาเชิงปฏิบัติการฯ ครั้งนี้ เป็นรุ่นที่ 2 จากจำนวน 4 รุ่น กลุ่มเป้าหมายครอบคลุมพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ ประมาณ 500 คน ประกอบด้วยอาสาสมัครแรงงานของจังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 190 คน ผู้บริหารองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 120 คน หัวหน้าส่วนราชการสังกัดกระทรวงแรงงาน 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 75 คน และข้าราชการและเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องของจังหวัดนครศรีธรรมราชและส่วนกลาง จำนวน 85 คน โดยมีรูปแบบการสัมมนาฯ ประกอบด้วย การบรรยาย หัวข้อ “บทบาทอาสาสมัครแรงงานกับการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน” โดย ผู้อำนวยการกลุ่มงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการคุ้มครองแรงงาน สำนักคุ้มครองแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน การบรรยายหัวข้อ “การให้ความรู้กับผู้ประกันตนตามมาตรา 40” โดยผู้ตรวจราชการกรม สำนักงานประกันสังคม การบรรยายพิเศษหัวข้อ “นโยบายการพัฒนาประกันสังคมสู่แรงงานนอกระบบ โดยเครือข่ายด้านแรงงาน” โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และ การบรรยายพิเศษหัวข้อ “บทบาทของกระทรวงแรงงานกับความสัมพันธ์ในพื้นที่” โดย ปลัดกระทรวงแรงงาน
ก.แรงงานกระโดดช่วย 600 คนงานมาบตาพุดถูกเลิกจ้าง เตรียมงาน 2 พันตำแหน่งรองรับ
เว็บไซต์เดลินิวส์ (14 ม.ค. 53) - ที่กระทรวงแรงงาน เมื่อวันที่ 14 ม.ค. นายสมชาย วงศ์ทอง รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวถึง กรณีบริษัทชิโนไทยประกาศเลิกจ้างแรงงานจำนวน 600 คน ว่า จังหวัดระยองเป็นจังหวัดที่มีโรงงานอุตสาหกรรมก่อสร้างตั้งขึ้นเสมอ ทำให้ทุกครั้งที่แรงงานก่อสร้างเมื่อทำงานเสร็จตามคำสั่งก็จะเดินทางกลับภูมิลำเนา และเมื่อมีคำสั่งซื้อเข้ามาใหม่ ทางบริษัทผู้รับเหมาก็จะเรียกตัวคนเหล่านี้กลับเข้ามาทำงานอีกครั้ง นับว่าเป็นการดำเนินวงจรตามปกติอยู่แล้ว ซึ่งกรณีของแรงงานชิโนไทยที่ถูกเลิกจ้างกะทันหัน ก็อยู่ในวงจรเดียวกัน จะแตกต่างที่งานหมดก่อนกำหนดมากกว่า อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ความช่วยเหลือแรงงานบริษัทชิโนไทยที่ถูกปลดจากงานก่อนระยะเวลาที่กำหนด เนื่องจากคำสั่งศาลปกครอง กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจะเข้าไปช่วยเหลือในกรณีที่แรงงานไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายการเลิกจ้าง และเงินชดเชย
ด้าน น.ส.ส่งศรี บุนบา รองอธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงานมีแนวทางให้ความช่วยเหลือคนงานที่ได้รับผลกระทบจากกรณีที่ศาลสั่งระงับ 65 โครงการในมาบตาพุดไว้แล้ว โดยได้เตรียมตำแหน่งงานว่างที่มีลักษณะคล้ายกับตำแหน่งงานเดิมกว่า 2,000 ตำแหน่งไว้รองรับ พร้อมทั้งได้ขอรายชื่อคนงานที่ถูกเลิกจ้างจาก บริษัท ชิโนไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อประสานกับนายจ้างบริษัทอื่นให้รับเข้าทำงาน อย่างไรก็ตาม หากบริษัทชิโนไทยมีโครงการก่อสร้างที่อื่น ตนก็จะเจรจาขอให้บริษัทดังกล่าวถ่ายเทคนงานเหล่านี้ไปทำงานตามที่ต่าง ๆ ต่อไป ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับผลกระทบสามารถแจ้งความประสงค์ที่สำนักงานจัดหางาน จ.ระยอง โทรศัพท์ 038-694-0228 หรือติดต่อโดยตรงที่ น.ส.หรรษา โอเจริญ จัดหางาน จ.ระยอง 08-9833-4893

15 – 23 ม.ค. 53
 
เอ็นจีโอจี้นายกฯดูแลต่างด้าว หวั่นถูกกวาดจับ
เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ (
15 ม.ค. 52) - เครือข่ายสิทธิมนุษยชนด้านแรงงานข้ามชาติ ได้ทำหนังสือถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และสำเนาถึง รมว.แรงงาน เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยมีเนื้อหาระบุว่า มีความห่วงใยต่อสถานการณ์ของแรงงานข้ามชาติเข้าเมืองผิดกฎหมาย ซึ่งได้รับอนุญาตให้มีสิทธิอาศัยชั่วคราวและมีสิทธิทำงานชั่วคราว เพื่อรอการส่งกลับเป็นเวลา 1 ปี ซึ่งใบอนุญาตทำงานของแรงงานกลุ่มดังกล่าว จะสิ้นสุดวันที่ 20 ม.ค.นี้ ประมาณ 6 หมื่นคน ทำให้อาจถูกผลักดันออกนอกประเทศไทย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในหนังสือดังกล่าวระบุอีกว่า มีความสับสนต่อการบังคับใช้ และตีความนโยบายของรัฐบาล กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการขยายโอกาสให้แรงงานมาขึ้นทะเบียน และการต่อใบอนุญาตทำงาน รวมถึงการขยายเวลาการพิสูจน์สัญชาติให้กับแรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติ โดยเฉพาะแรงงานสัญชาติพม่า ซึ่งมีเนื้อหาดังนี้ คือ
รัฐบาลจะมีนโยบายต่อสิทธิอาศัยและสิทธิการทำงานของแรงงานข้ามชาติ กลุ่มที่ใบอนุญาตทำงานจะสิ้นสุดลงในวันที่ 20 ม.ค.นี้ อีกทั้งยังไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติ 2. แรงงานกลุ่มที่สิทธิการทำงานชั่วคราว จะสิ้นสุดลงในวันที่ 20 ม.ค.นี้ และยังไม่เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติ จะสามารถต่ออายุใบอนุญาตทำงาน ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อเดือน พ.ค. 2552 และวันที่ 3 พ.ย. 2552 ได้ตามปกติหรือไม่ 3. รัฐบาลจะดำเนินการออกมติคณะรัฐมนตรีตามมติของคณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าวกระทรวงแรงงาน เพื่อรองรับแรงงานกลุ่มนี้หรือไม่
นายไพฑูรย์ แก้วทอง รมว.แรงงาน กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง (กบร.) จะมีการเสนอให้นำเรื่องเข้า ครม.เพื่อยืดอายุแรงงานต่างด้าวที่แจ้งความประสงค์ว่าจะพิสูจน์สัญชาติให้สามารถอยู่ต่อในประเทศไทยได้อีก 2 ปี ซึ่งเหมือนกับการให้ใบเหลืองไว้ และระหว่างนั้นจะทยอยพิสูจน์สัญชาติไปด้วย
ITF จี้ รฟท.รับ 6 แกนนำฯหาดใหญ่กลับ
ไทยโพสต์ (15 ม.ค. 53)
- สหพันธ์แรงงานขนส่งระหว่างประเทศ ลงพื้นที่สอบ 6 แกนนำพนักงานรถไฟหาดใหญ่โดนไล่ออก ยันออกมาเคลื่อนไหวให้ปรับปรุงมาตรฐานระบบความปลอดภัยไม่ผิด จี้ รฟท.รับกลับเข้าทำงานไม่มีเงื่อนไข ขู่หากเพิกเฉยเตรียมร้ององค์กรแรงงานระหว่างประเทศจัดการพร้อมยกประเด็นไทยเข้าสู่โต๊ะประชุมแรงงานรถไฟโลก
ที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย สาขาหาดใหญ่ วันที่ 14 ม.ค. คณะผู้แทนสหพันธ์แรงงานขนส่งระหว่างประเทศ หรือ ITF จาก 5 ประเทศ คือ นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น อินเดีย นอร์เวย์และอังกฤษ แถลงถึงผลการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีการไล่ออก 6 พนักงานรถไฟ ซึ่งเป็นแกนนำของสหภาพรถไฟฯ หาดใหญ่ ที่ได้ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้การรถไฟฯ ปรับปรุงมาตรฐานระบบความปลอดภัย หลังจากที่ได้รับฟังข้อมูลจากทุกฝ่าย ทั้ง รมว.แรงงาน ผู้บริหารการรถไฟฯ และสหภาพรถไฟฯ ทั้งในส่วนกลางและหาดใหญ่
นายออยสเตน อาสลาคเซน ประธานสาขาแรงงานรถไฟ ITF (ระดับสากล) กล่าวว่า การกระทำของพนักงานรถไฟทั้ง 6 คนเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และการที่การรถไฟและผู้ที่เกี่ยวข้องมีคำสั่งไล่ออกพนักงานทั้ง 6 คนเป็นสิ่งที่ผิด จึงขอเรียกร้องให้การรถไฟฯ รับทั้ง 6 คนกลับเข้าทำงานโดยเร็วที่สุด และไม่มีเงื่อนไขใดๆ รวมทั้งจะต้องถอนฟ้องพนักงานรถไฟฯ ในทุกๆ คดี ทั้งคดีอาญาและการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย
"เราจะรอฟังมติของคณะกรรมการไตรภาคี ที่จะมีการประชุมชี้ขาดพนักงานรถไฟฯ ทั้ง 6 คนว่าจะไล่ออกหรือไม่ ในวันที่ 15 ม.ค. ซึ่งหากไม่ได้รับความเป็นธรรม ทาง ITF และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย จะยื่นเรื่องร้องเรียนไปยังองค์แรงงานระหว่างประเทศหรือ ILO ทันที รวมทั้ง ITF พร้อมที่จะทำทุกวิถีทางที่จะช่วยพนักงานทั้ง 6 และรวมถึงสนับสนุนการเคลื่อนไหวของสหภาพรถไฟฯ ไทย เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม" นายออยสเตนกล่าว
ประธานสาขาแรงงานรถไฟ ITF กล่าวว่า จากการลงพื้นที่พบว่าพนักงานรถไฟฯ ถูกบังคับให้ขับรถจักรที่มีปัญหาระบบความปลอดภัย โดยเฉพาะระบบวิจีแลนด์ หรือระบบเตือนสติคนขับ ซึ่งเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้และประเทศอื่นไม่มี รวมทั้งหัวรถจักรเกือบทั้งหมดมีปัญหาและอยู่ในสภาพเก่า นายมัสซา ทากาฮาชิ ผู้แทนสหภาพแรงงานรถไฟตะวันออกแห่งประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า การปลดพนักงานทั้ง 6 คนออกเป็นการปลดก่อนแล้วหาเหตุผลมาสนับสนุน ซึ่งไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องและเป็นปัญหาทางการเมืองที่พยายามทำลายองค์กรของสหภาพฯ ที่สำคัญรายงานของผู้บริหารการรถไฟฯ ที่ลงพื้นที่สอบสวนข้อเท็จจริงไม่ตรงกับความเป็นจริง และขัดแย้งกับข้อมูลในพื้นที่ และคำสั่งไล่ออกมีการระบุจำนวนคนที่ทำผิดซึ่งหน้า แต่ไม่มีการระบุชื่อ ที่สำคัญกรณีที่การรถไฟฯ ระบุว่าสูญเสียรายได้จากการที่มีการหยุดเดินรถ สวนทางกับความเป็นจริง เพราะรายได้ส่วนใหญ่ของรถไฟมาจากเงินอุดหนุนของรัฐบาล ซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชน และเมื่อเปิดเดินรถประชาชนก็กลับมาใช้บริการตามปกติ จึงไม่มีเหตุผลที่จะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย
"ในวันแรงงานรถไฟโลกในช่วงเดือนเมษายนของปีนี้ จะมีการหยิบยกประเด็นการต่อสู้ของพนักงานรถไฟไทยที่เรียกร้องเรื่องความปลอดภัยแล้วถูกไล่ออกไป เป็นประเด็นหลักให้สหภาพแรงงานรถไฟทั่วโลกรับทราบ และหาแนวทางแก้ปัญหาของแต่ละประเทศ" นายมัสซากล่าว
เชื่อกม.สหรัฐคุ้มคนงานไทย
เว็บไซต์มติชน (
15 ม.ค. 53) - เมื่อวันที่ 14 มกราคม นายสุภัท กุขุน รองอธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวถึงกรณีแรงงานไทย 44 คน ถูกล่อลวงไปทำงานในบริษัท อาลุนฟาร์มส์ ซึ่งเป็นฟาร์มผักและผลไม้ใหญ่เป็นอันดาบ 2 ของเกาะฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา ว่า แรงงานกลุ่มนี้เป็นแรงงานเก่าที่ได้วีซ่าเข้าไปทำงานที่สหรัฐ แต่เมื่อวีซ่าหมดอายุ แรงงานเหล่านี้ไม่กลับไทย แต่หลบหนีลักลอกทำงานอยู่กับนายจ้าง อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เข้าสู่กระบวนการศาลแรงงานของสหรัฐแล้ว ตนเชื่อมั่นในกฎหมายสหรัฐว่าจะให้ความเป็นธรรมและคุ้มครองแรงงานเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม กระทรวงแรงงานได้ประสานกับสถานทูตสหรัฐในการดูแลคนงานทั้ง 44 คนแล้ว หากใครต้องการกลับไทยแต่ขาดทุนทรัพย์ สามารถยื่นความประสงค์ได้ที่กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ
"ปัจจุบันแรงงานไทยได้รับอนุญาตให้เข้าทำงานในสหรัฐ น้อยมาก เนื่องจากขั้นตอนในการขอวีซ่าของสหรัฐฯ ยุ่งยากและรัดกุม" นายสุภัทกล่าว และว่า ส่วนกรณีที่แรงงานไทยทั้ง 44 คน ติดหนี้ค่านายหน้าหางานกับนักธุรกิจชาวไทย คนละ 1.6 หมื่นเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 5.3 แสนบาทนั้น แรงงานไทยเหล่านี้ต้องเดินทางกลับประเทศไทยก่อนดำเนินการยื่นฟ้องร้องต่อศาลเพื่อดำเนินคดีกับนายหน้า
ครส.ให้ รฟท. รับ 6 พนง.กลับเข้าทำงาน
เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์
(15 ม.ค. 53) - นายไพฑูรย์ แก้วทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในฐานประธานคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (ครส.) กล่าวภายหลังการประชุม ครส. พิจารณากรณีพนักงานการรถไฟแห่งประเทศไทย 6 คนที่ถูกไล่ออก หลังมีส่วนเกี่ยวข้องกับการหยุดเดินรถไฟสายใต้ เมื่อเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมาว่า การพิจารณาล่าช้า เนื่องจากมีเอกสารจำนวนมาก และฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างมีความเห็นที่ขัดแย้งกัน และใช้เวลาในการพิจารณาถึง 3 ครั้ง จึงจำเป็นต้องลงมติ ซึ่งผลปรากฏว่ามติของคณะกรรมการเห็นว่า คำสั่งไล่ออกของการรถไฟแห่งประเทศไทยมิชอบ โดยมีคะแนะเสียง 5 ต่อ 4 เสียง โดยคะแนนเสียงทั้ง 5 มาจากลูกจ้างทั้งหมด สำหรับฝ่ายราชการและนายจ้างมีเพียงฝ่ายละ 2 เสียงเท่านั้น ส่วนคณะกรรมการที่เหลือติดภารกิจ ไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ อย่างไรก็ตาม ครส.จะออกหนังสือเพื่อให้การรถไฟแห่งประเทศไทยปฏิบัติตามมติในการรับพนักงานทั้ง 6 กลับเข้าทำงาน ซึ่งการรถไฟมีระเวลาในการพิจารณารับกลับจำนวน 30 วัน ทั้งนี้เชื่อว่ากระบวนการทั้งหมดยังไม่เสร็จสิ้น หากการรถไฟแห่งประเทศไทยไม่ยอมรับมติของ ครส. ก็สามารถยื่นเรื่องต่อศาลเพื่อเพิกถอนคำสั่งได้ ซึ่งมติของ ครส.จะนำไปประกอบการพิจารณาของศาลแรงงานต่อไป
ด้านนายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพแรงงานการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มติ ครส.ที่ออกมาสะท้อนให้เห็นว่าสิ่งที่พนักงานทำลงไป เป็นการต่อสู้เพื่อประชาชนจริงๆ หลังจากนี้แม้ รฟท.จะมีสิทธิตามกฎหมายที่จะนำเรื่องไปฟ้องต่อศาลแรงงานเพื่อให้ชี้ขาดได้อีกครั้ง แต่อยากให้ชะลอเรื่องดังกล่าวไว้ และใช้โอกาสนี้หันมาทบทวนเรื่องที่เกิดขึ้น เพื่อดูว่าพนักงานมีเจตนาทำเพื่อความปลอดภัยของประชาชนจริงหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นก็ไม่ควรยื่นเรื่องฟ้องศาลอีกครั้ง ซึ่งจะส่งผลให้การทำงานระหว่างผู้บริหารและพนักงานหลังจากนี้มีความเข้าใจกันมากยิ่งขึ้น
ประธานฟอร์ดเคลียร์ม็อบเรียบ พนักงานรับสัญญาจ้างใหม่เริ่มเดินเครื่อง 1 กะ
เว็บไซต์ไทยโพสต์ (16 ม.ค. 53)
- เมื่อวันที่ 15 ม.ค. นายคิโยทากะ โชวบุดะ ประธานบริษัท ออโต้อัลลายแอนซ์ ประเทศไทย หรือเอเอที ผู้ผลิตรถยนต์ฟอร์ด ประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า พนักงานส่วนใหญ่ของบริษัทจากทุกแผนกได้แสดงเจตจำนงยอมรับสัญญาการจ้างงานฉบับใหม่และได้กลับเข้ามาทำงานโดยปกติแล้ว โดยพนักงานจำนวนกว่า 2,650 คนที่กลับเข้าทำงาน ประกอบด้วย พนักงานประจำสำนักงาน 550 คน และพนักงานในสายการผลิต 2,100 คน ซึ่งประกอบด้วยพนักงานประจำ 1,000 คน และพนักงานชั่วคราว 1,100 คน
สำหรับมาตรฐานการดำเนินการผลิตปกติ (หนึ่งกะ) เอเอทีใช้พนักงานในสายการผลิต 1,658 คน ดังนั้นจากจำนวนพนักงานที่กลับมาทำงานในปัจจุบันจึงกล่าวได้ว่า เอเอทีมีพนักงานในส่วนการผลิตที่มีความชำนาญและประสบการณ์เกินกว่าระดับพื้นฐานดังกล่าว และสามารถเริ่มการผลิตได้อย่างปลอดภัยตั้งแต่วันที่ 12 ม.ค.ที่ผ่านมา รวมทั้งยืนยันว่าไม่มีการจ้างพนักงานใหม่เนื่องจากการปิดงานงดจ้าง บริษัทยังคงให้ความสำคัญกับพนักงานเดิมที่มีประสบการณ์และมีความทุ่มเทกับการทำงาน
"ก่อนเริ่มดำเนินการผลิตในวันอังคารที่ผ่านมา บริษัทได้ตรวจสอบความพร้อมของโรงงานผลิตอย่างเข้มงวดและละเอียดถี่ถ้วน บริษัทจะตรวจสอบคุณภาพของรถยนต์อย่างต่อเนื่องด้วยเกณฑ์การตรวจสอบที่เคร่งครัดที่สุดโดยทีมผู้ชำนาญพิเศษ เพื่อให้มั่นใจได้ว่ารถยนต์ทุกคันมีคุณภาพได้มาตรฐานทัดเทียมหรือเกินกว่ามาตรฐานระดับสากล" นายโชวบุดะกล่าว
ล่าสุด เอเอทีได้เริ่มดำเนินการผลิตปกติ (หนึ่งกะ) แล้วในขั้นต้นและมีแผนเพิ่มกำลังการผลิตอย่างช้าๆ ภายในอีกไม่กี่วันข้างหน้า นับตั้งแต่เอเอทีเริ่มกลับมาดำเนินการผลิตยังไม่มีรายงานความเสียหายใดๆ เกิดขึ้นในโรงงานผลิต ผู้บริหารของบริษัทกำลังดำเนินการทุกอย่างเพื่อให้โรงงานสามารถกลับมาผลิตได้อย่างเต็มกำลังเร็วที่สุด
ทั้งนี้ เอเอทีเริ่มมาตรการปิดการเข้าออกบริเวณพื้นที่โรงงานจังหวัดระยองเมื่อวันที่ 5 ม.ค.2553 เพื่อประกันความปลอดภัยของพนักงานและลูกค้า รวมทั้งป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับผลิตภัณฑ์ของบริษัท เนื่องจากพนักงานไม่พอใจเรื่องเงินโบนัสรายปีและสวัสดิการ โดยมีการเจรจาจนตกลงกันเมื่อวันที่ 12 ม.ค.
เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงอุตสาหกรรมรายงานจำนวนโรงงานที่แจ้งปิดกิจการกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมในปี 2552 มีจำนวน 1,658 ราย ลดลงจากปีก่อน 31.8% วงเงินลงทุน 2.4 หมื่นล้านบาท ลดลง 12.61% โดยมีแรงงานที่ได้รับผลกระทบ 4.4 หมื่นคน ลดลง 29.1% ซึ่งยังถือเป็นอัตราที่สวนทางกับปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจโลก
ทั้งนี้ ประเภทโรงงานที่ขอปิดกิจการส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์อโลหะ 152 ราย มูลค่า 5,400 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์พลาสติก 101 ราย มูลค่า 2,600 ล้านบาท เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี 37 ราย มูลค่า 2,200 ล้านบาท ผลิตยานพาหนะและอุปกรณ์การซ่อมยานพาหนะ 179 ราย มูลค่า 2,226 ล้านบาท เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ 35 ราย มูลค่า 1,381 ล้านบาท โดยแรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายได้รับผลกระทบมากสุด 4,207 ราย ผลิตหนังสัตว์และผลิตภัณฑ์จากหนัง 4,186 ราย สิ่งทอ 3,598 คน ผลิตภัณฑ์อโลหะ 3,463 คน อุตสาหกรรมอาหาร 3,246 คน และผลิตภัณฑ์พลาสติก 2,996 คน
สหภาพตั้งบอร์ดททท.พัฒนาเว็บ-ตั้งศูนย์อบรม
เว็บไซต์มติชน
(16 ม.ค. 53) -นายประเสริฐ วรพิทักษ์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า สหภาพได้ยื่นหนังสือถึงนายชุมพล ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้มอบนโยบาย นายวิชัย ศรีขวัญ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) ททท. เร่งผลักดันแผนการดำเนินงานของททท.ประมาณ 7-8 เรื่อง ทั้งนี้ ประเด็นหลักที่ยื่นขอคือ เรื่องอี-มาร์เก็ตติ้ง ที่จะเป็นการให้บริการครบวงจนผ่านระบบออนไลน์ ทั้งในเรื่องของการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ แพคเกจท่องเที่ยว รวมถึงการติดต่อสื่อสารกับนักท่องเที่ยว
"ตอนนี้ ททท.มีเจ้าหน้าที่ในฝ่ายดังกล่าวอยู่แล้ว แต่ยังมีอุปสรรคในหลายเรื่อง จึงต้องดำเนินการแก้ไขให้แล้วเสร็จโดยเร็ว หากมอบเรื่องดังกล่าวเป็นนโยบายให้ดำเนินการอย่างจริงจัง ก็มั่นใจว่าจะช่วยให้การดำเนินงานรวดเร็วมากยิ่งขึ้น"
นายประเสริฐกล่าวว่า นอกจากนี้ ยังได้ขอให้จัดตั้งศูนย์เทรนนิ่ง เซ็นเตอร์ ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ของททท. และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มศักยภาพในการดำเนินงานมากยิ่งขึ้น ซึ่ง ททท.มีพื้นที่ว่างอยู่ที่บางแสน จังหวัดชลบุรี หากนำมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์ก็จะช่วยเพิ่มศักยภาพให้การท่องเที่ยวของไทยมากยิ่งขึ้น โดยเบื้องต้นคาดว่าจะต้องใช้งบประมาณในการก่อสร้างประมาณ 62 ล้านบาท
รมว.คมนาคมสั่งบอร์ดยื่นอุทธรณ์ 6 พนง.รถไฟ
เว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจ
(16 ม.ค. 53) -นายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลแรงงานโดยเร็วที่สุด เพื่อคัดค้านมติของคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ กรณีที่คณะกรรมการฯ มีมติจะรับพนักงานการรถไฟ 6 คน โดยรมว.คมนาคมยืนยันว่าพนักงานรถไฟทั้ง 6 คนมีความผิดจริง การรถไฟฯจึงมีคำสั่งไล่ออก ซึ่งได้ปฏิบัติตามระเบียบของการรถไฟที่มีอยู่
องค์กรสิทธิฯจี้'มาร์ค'แก้ปัญหาแรงงานข้ามชาติ
เว็บไซต์ไทยรัฐ (18 ม.ค. 53) -
นายสมชาย หอมลออ เลขาธิการมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา พร้อมด้วยผู้อำนวยการโครงการยุติธรรมเพื่อแรงงานข้ามชาติ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา เจ้าหน้าที่ภาคสนาม โครงการยุติธรรมเพื่อแรงงานข้ามชาติ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายการศึกษา โครงการยุติธรรมเพื่อแรงงานข้ามชาติ จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกันลงนามในจดหมายเปิดผนึกถึง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับสถานการณ์ของแรงงานข้ามชาติเข้าเมืองผิดกฎหมายสัญชาติพม่า ลาวและกัมพูชา กว่า 2 ล้านคนที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย และมีจำนวนกว่า 61,543 คนที่ใบอนุญาตทำงานในประเทศไทยจะหมดอายุลงในวันที่ 20 มกราคม 2553 จากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนธันวาคม 2551 ที่ระบุว่าใบอนุญาตทำงานของแรงงานข้ามชาติทุกคนจะหมดอายุลงในปี 2553 หลังจากนั้นแรงงานข้ามชาติจะต้องเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติเพื่อ เป็นการยืนยันสัญชาติของแรงงานข้ามชาติเป็นครั้งแรกนับแต่แรงงานข้ามชาติ เหล่านี้เดินทางเข้าสู่ประเทศไทย
“การขาดการประชาสัมพันธ์เพื่อให้ แรงงานและนายจ้างมีความรู้ความเข้าใจประโยชน์ของการพิสูจน์สัญชาติ สร้างแรงจูงใจในการเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติ อีกทั้งค่าใช้จ่ายของกระบวนการที่ค่อนข้างมีราคาสูงสำหรับแรงงานข้ามชาติและ ยังไม่มีการควบคุมบริษัทเอกชนที่เข้ามาดำเนินการ ทำให้แรงงานข้ามชาติมีความหวาดกลัว รวมทั้งกังวลเรื่องความปลอดภัยของครอบครัว ผู้ร่วมลงนามมีความกังวลว่า แรงงานข้ามชาติจำนวน 61,543 คนที่ใบอนุญาตทำงานจะหมดอายุในวันที่ 20 มกราคม 2553 นี้ และเป็นแรงงานข้ามชาติกลุ่มแรกที่ต้องเผชิญกับเส้นตายของการพิสูจน์สัญชาติ อาจจะต้องถูกผลักดันกลับตามนโยบายของภาครัฐที่ประกาศว่าจะผลักดันแรงงานข้าม ชาติที่ไม่เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติกลับประเทศ ซึ่งแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ยังไม่ได้เริ่มเข้าสู่กระบวนการนี้ อีกทั้ง มีแรงงานข้ามชาติอีกเป็นจำนวนมากที่ปฏิเสธกระบวนการดังกล่าว”
จากผลกระทบโดยตรงของกระบวนการพิสูจน์สัญชาติที่มีต่อชีวิตของแรงงานข้ามชาติเหล่า นี้ ผู้ร่วมลงนาม มีความเห็นว่านโยบายของรัฐบาลไทยที่จะอนุญาตให้แรงงานข้ามชาติต่อใบอนุญาต ทำงานได้ในปี 2553หรือขยายระยะเวลาไปถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553 ซึ่งเป็นเส้นตายของการพิสูจน์สัญชาติ ยังมีความคลุมเครืออยู่ว่าจะมีการดำเนินการอย่างไร ประกอบกับได้รับข้อมูลว่า แต่ละจังหวัดมีการดำเนินการเพื่อต่ออายุใบอนุญาตของแรงงานข้ามชาติที่ใบ อนุญาตทำงานจะหมดอายุ อย่างไม่เป็นทางการและมีวิธีการที่แตกต่างกันและรัฐบาลไทยยังไม่มีนโยบาย ด้านแรงงานข้ามชาติที่จะจัดการเรื่องนี้
เพื่อให้เกิดการปฏิบัติตาม กฎหมายและนโยบายที่ถูกต้อง อีกทั้งเป็นการผ่อนความวิตกกังวล และสื่อสารความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับทั้งแรงงาน นายจ้าง/ภาคอุตสาหกรรม และหน่วยงานภาครัฐ ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จึงขอให้มีการตรวจสอบ สถานการณ์ และมีคำสั่ง ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงนโยบาย และทางปฏิบัติแก่แรงงาน นายจ้าง ภาคอุตสาหกรรมรวมถึงสาธารณชนในส่วนที่จะดำเนินการดังกล่าวนี้โดยอาศัยตาม กฎหมายฉบับใด และรัฐบาลจะผลักดันแรงงานข้ามชาติที่ไม่เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติกลับ ประเทศ เมื่อใด
คนงานนิคอนร้อง รมว.แรงงาน ถูกลอยแพ
เดลินิวส์ (18 ม.ค. 53) -
ที่กระทรวงแรงงาน นายธงชัย สิทธิเดช ประธานสหภาพแรงงานนิคอน ประเทศไทย จำกัด ซึ่งประกอบกิจการผลิตกล้องถ่ายภาพ ตั้งอยู่ภายในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จ.พระนครศรีอยุธยา มีนายโนบุยุคิ มุราอิชิ เป็นประธานกรรมการบริษัท ได้นำคนงานและสมาชิกสหภาพกว่า 50 คน เข้าร้องเรียนและยื่นหนังสือขอความช่วยเหลือต่อ นายไพฑูรย์ แก้วทอง รมว.แรงงาน ภายหลังถูกนายจ้างประกาศเลิกจ้างสมาชิกและกรรมการสหภาพรวม 44 คน ในขณะที่มีการยื่นข้อเรียกร้องต่อนายจ้างจำนวน 13 ข้อ ซึ่งทางนายจ้างก็ได้ยื่นข้อเรียกร้องกลับมายังสหภาพ รวมทั้งได้ยื่นเรื่องฟ้องศาลเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 116 ล้านบาท โดยนายจ้างและสหภาพไม่สามารถดำเนินการเจรจาตกลงกันได้
นางอัมพร นิติสิริ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่า เมื่อลูกจ้างของบริษัทนิคอนฯ ยื่นหนังสือเพื่อขอให้นายจ้างถอนคดีจากเรื่องการเข้าปิดถนนและให้นายจ้างรับกลับเข้าทำงานอีกครั้ง ในฐานะของเจ้าหน้าที่ผู้ประนอมจะต้องให้การช่วยเหลือตามหน้าที่ แต่ไม่มั่นใจว่าทางบริษัท นิคอนฯ จะยอมรับฟังหรือไม่ ทั้งนี้กระทรวงแรงงานจะนัดทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างมาเจราจาอีกครั้งในวันที่ 20 ม.ค.เวลา 10.00 น.
จับลอบขนพม่าเข้าเมือง
เว็บไซต์มติชน (
18 ม.ค. 53) -  เมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ต.ท.นพดล กรึงไกร รอง ผกก.ป. สภ.เมือง จ.พะเยา พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำด่านตรวจแม่ต๋ำ ต.แม่กา อ.เมือง จ.พะเยา เข้าตรวจค้นและจับกุมนายบุญส่ง ยวงใย อายุ 49 ปี อยู่บ้านเลขที่ 99 หมู่ 8 อ.พาน จ.เชียงราย หลังตรวจพบว่าลักลอลขนแรงงานต่างด้าวชาวพม่า 4 คน นั่งมาในรถยนต์กระบะนิสสัน สีเทา หมายเลขทะเบียน บฉ 1490 พะเยา ผ่านมาที่ด่านตรวจ ทั้งหมดเข้ามาในประเทศไทยโดยไม่มีเอกสารอย่างถูกต้อง ตำรวจจึงนำตัวส่ง พ.ต.ท.กฤตภาส ตาลาน พงส.สภ.เมือง จ.พะเยา ดำเนินคดี ซึ่งนายบุญส่งรับสารภาพว่าจะนำแรงงานชาวพม่าส่งไปทำงานที่หน้ามหาวิทยาลัยนเรศวรพะเยา ต.แม่กา อ.เมือง จ.พะเยา และลักลอบทำบ่อยครั้งก่อนถูกจับได้
สิงห์บุรียกเครื่องปรับค่าจ้างขั้นต่ำ165บาท/วัน มุ่งคุ้มครองลูกจ้างพัฒนาฝีมือเข้าสู่ตลาดแรงงานเดลินิวส์ (18 ม.ค. 53) - นายชิดพงษ์ ฤทธิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี ประธานคณะอนุกรรมการอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดสิงห์บุรี เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะอนุกรรมการอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดสิงห์บุรี เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2552 โดยมติที่ประชุมเห็นชอบให้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้น4 บาท จากอัตราวันละ 161 บาท เป็นวันละ 165 บาท เสนอต่อคณะกรรมการค่าจ้างกลาง กระทรวงแรงงาน ขณะนี้ได้มีประกาศของคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่องอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 25 ธันวาคม2552 ที่ผ่านมา ได้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดสิงห์บุรี เป็นวันละ 165 บาท มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 เป็นต้นไป
ผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี กล่าวเพิ่มเติมว่า อัตราค่าจ้างขั้นต่ำนี้มุ่งที่จะคุ้มครองแรงงานเพื่อพัฒนาฝีมือที่เข้าสู่ตลาดแรงงานใหม่ ปี 2553 เพื่อให้แรงงานเข้าใหม่เหล่านี้สามารถดำรงชีพอยู่ได้ตามสมควรแก่ภาวะค่าครองชีพ ในปี 2553 สำหรับแรงงานที่เข้าสู่ตลาดแรงงานมาไม่น้อยกว่า 1 ปี จะเป็นแรงงานที่มีทักษะฝีมือมากขึ้น มีผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้น นายจ้างควรพิจารณาปรับค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างมากกว่าอัตราจ้างขั้นต่ำ ดังนั้นจังหวัดสิงห์บุรีจึงขอความร่วมมือสถานประกอบกิจการ และลูกจ้าง ผู้ใช้แรงงานได้ปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ(ฉบับที่ 3) และห้ามมิให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินแก่ลูกจ้างน้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ สำนักงานแรงงานจังหวัดสิงห์บุรี ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัด อาคาร 1 โทร. 0-3650-7199
ไตรมาสแรกธุรกิจฟื้น จ้างงานเพิ่มแสนอัตรา
เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ (21 ม.ค. 53) -
นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึง สถานการณ์ว่างงานในเดือน ม.ค. 2553 ว่า นายจ้างมีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงปลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ทำให้ผู้ประกอบการเริ่มขยับขยายกิจการของตัวเองมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้ตำแหน่งงานว่างที่มีเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
จากสำนักงานสถิติแห่งชาติเดือน ต.ค. 2552 มีกำลังแรงงานประมาณ 38.25 ล้านคน มีผู้ว่างงาน 4.1 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.1 เป็นผู้ที่เคยทำงานมาก่อน 3.1 แสนคน โดยทำงานในภาคบริการและภาคการผลิตเท่ากัน 1.2 แสนคน ภาคเกษตรกรรม 7 หมื่นคน และยังไม่เคยทำงาน 1.0 แสนคน
นายสมเกียรติ กล่าวว่า ณ วันที่ 1 ม.ค. 2553 พบว่านายจ้างมีความต้องการแรงงานทั้งสิ้น จำนวน 126,134 อัตรา เมื่อเปรียบเทียบเดือน ธ.ค. 2552 ความต้องการแรงงานจำนวน 122,579 อัตรา นายจ้างมีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น 3,555 อัตรา หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.90 โดยเพิ่มขึ้นในหมวดอาชีพช่างเทคนิคและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง เสมียน เจ้าหน้าที่ พนักงานบริการ พนักงานขายในร้านและตลาด ผู้ปฏิบัติงานในโรงงาน
รองปลัดแรงงาน กล่าวต่อว่า กระทรวงแรงงานยังได้ให้บริการจัดหางาน จัดงานนัดพบแรงงาน การให้บริการโดยรถ Mobile Unit การให้บริการจัดหางาน ณ สำนักงาน การให้บริการผู้ประกันตนกรณีว่างงาน และโครงการมีงานทำ นำชุมชนเข้มแข็ง ซึ่งในเดือน ธ.ค. 2552 มีผู้สมัครงานจำนวน 75,253 คน สามารถบรรจุงานได้ 46,495 คน คิดเป็นอัตราการบรรจุงานร้อยละ 61.78
นอกจากนี้ ผู้ประกันตนมาขึ้นทะเบียนขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเดือน ธ.ค. 2552 จำนวน 35,234 คน ลดลงจากเดือนก่อน 5,404 คน โดยเฉพาะในเดือน พ.ย. จำนวน 40,638 คน มีผู้ได้รับการบรรจุงาน 29,842 คน คิดเป็นร้อยละ 84.70 แนวโน้มการว่างงานเดือน ม.ค. 2553 นายสมเกียรติ มองว่าจากการวิเคราะห์ในเชิงสถิติคาดว่าจะมีผู้ว่างงานประมาณ 650,000 คน คิดเป็นร้อยละ 1.7 ของกำลังแรงงานทั้งหมด
ครม.มีมติขยายเวลาพิสูจน์สัญชาติ
พิมพ์ไทยออนไลน์ (21 ม.ค. 53)
-  คณะรัฐมนตรี มีมติขยายเวลาพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าวอีก 2 ปี แต่ต้องยื่นขอพิสูจน์สัญชาติก่อนวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้ ขณะที่ รองอธิบดีกรมการจัดหางาน ยืนยัน ทางการพม่าไม่มีการเรียกเก็บเงินหากไปพิสูจน์สัญชาติ
นายสุภัท กุขุน รองอธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยถึงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เรื่องการผ่อนปรนและการขยายเวลาพิสูจน์สัญชาติแรงงานข้ามชาติ ว่า ครม. มีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง (กบร.) เสนอให้ขยายระยะเวลาพิสูจน์สัญชาติของแรงงานต่างด้าว สัญชาติลาว พม่า และกัมพูชา จากวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553 ออกไปถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2555 ทั้งนี้มติ ครม.ดังกล่าวครอบคลุมแรงงานต่างด้าวที่ใบอนุญาตกำลังจะหมดอายุลงในวันที่ 20 มกราคม 2553 ด้วย
ซึ่งแรงงานต่างด้าวที่ได้รับการผ่อนปรนทั้งหมดจะต้องยื่นคำขอพิสูจน์สัญชาติ และขอต่อใบอนุญาตให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553 มิฉะนั้นจะถือเป็นแรงงานผิดกฎหมาย และถูกผลักดันออกนอกประเทศ ทั้งนี้ รัฐบาลไทยจะอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวกลุ่มดังกล่าวสามารถทำงานต่อเป็นการชั่วคราว แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องเดินทางไปพิสูจน์สัญชาติ และทำหนังสือเดินทางที่ประเทศต้นทางก่อนวันที่28 กุมภาพันธ์ 2555
รองอธิบดีกรมการจัดหางาน ยังกล่าวถึงกรณีที่มีแรงงานต่าวด้าวบางส่วน โดยเฉพาะสัญชาติพม่า ไม่กล้าขอรับพิสูจน์สัญชาติ เนื่องจากกลัวการเรียกเก็บเงินจากทางการพม่า ว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเพียงข่าวลือ ไม่มีมูลความจริงแต่อย่างใด ซึ่งเรื่องนี้ทางการพม่าได้ให้ความช่วยเหลือในการประชาสัมพันธ์ และทำความเข้าใจกับชาวพม่าอย่างเต็มที่แต่ก็มีคนพม่าบางกลุ่ม ไม่ประสงค์ดีสร้างสถานการณ์ โดยแต่งตัวเป็นทหารปลอมเรียกเก็บเงินจากชาวพม่าที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ซึ่งทางการพม่ากำลังกวาดล้างและจับกุมคนกลุ่มนี้อยู่
ชี้แรงงานขาด 5 แสน-จี้รัฐเพิ่มโควตาต่างด้าว ธุรกิจยิ้มเชื่อมั่นสูงสุดรอบ 3 ปี 8 ด.
เว็บไซต์ข่าวสด (21 ม.ค. 53)
-  นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทยเดือนธ.ค.52 มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นอยู่ที่ระดับ 113.6 ซึ่งสูงสุดในรอบ 44 เดือน(3 ปี 8 เดือน) ถือเป็นการปรับตัวเกิน 100 เป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน สูงขึ้นจากเดือนพ.ย. ที่อยู่ระดับ 104.7 สะท้อนให้เห็นว่าเอกชนมีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจมากขึ้น แต่ผู้ประกอบการยังกังวลในด้านต้นทุน เพราะราคาวัตถุดิบ น้ำมัน ค่าแรงขั้นต่ำปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งค่าเงินบาทยังมีทิศทางแข็งค่า ทำให้ดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงจากระดับ 118.3 ในเดือนพ.ย.อยู่ที่ระดับ 111.5 ในเดือนธ.ค.52
นายสันติ กล่าวถึงปัญหามาบตาพุด ที่การนิคมอุตสาห กรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) มีแนวคิดจะเรียกเก็บเงินพิเศษจากกิจการที่รุนแรง 5 แสนบาท เพื่อนำไปจัดทำกระบวนการรับฟังความคิดเห็นว่า ค่าใช้จ่ายระดับ 5 แสนบาท นั้นน่าจะกระทบต่อธุรกิจรายเล็กๆ แต่หากเป็นธุรกิจรายใหญ่คงไม่เป็นไร ดังนั้นคงต้องหารือกับกนอ.ให้ชัดเจน และหากจะเก็บจริงต้องให้สมเหตุสมผล ส่วนการเลือกตั้งประธาน ส.อ.ท.คนใหม่นั้นไม่อยากให้การเมืองมาครอบงำ โดยมั่นใจว่านายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล รองประธานส.อ.ท. ซึ่งตนสนับสนุนจะได้รับเลือกให้เป็นประธานส.อ.ท.คนใหม่
ด้านนายทวีกิจ จตุรเจริญคุณ รองประธานสายแรงงาน ส.อ.ท. กล่าวว่า จากคำสั่งซื้อที่กลับเข้ามาส่งผลให้ขณะนี้ภาคอุตสาหกรรมที่เป็นสมาชิกส.อ.ท.เกือบทั้งหมดระบุว่าเริ่มประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานในระดับอาชีวะ และช่างฝีมือ รวมแล้วประมาณ 4-5 แสนคนโดยเฉพาะแรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอจะขาดมากสุดราว 1-2 แสนคน รองลงมาเป็นประเภทอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เกือบ 5 หมื่นคน ซึ่งหากภาคการส่งออกมีการขยายตัวต่อเนื่องปัญหาการขาดแคลนแรงงานจะหนักขึ้น ซึ่งในเรื่องนี้อาจนำเสนอรัฐบาลในการเพิ่มการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวอีกจากปัจจุบันที่เปิดให้อยู่ระดับ 1 ล้านคน ขณะที่ความต้องการแรงงานต่างด้าวขณะนี้จะมีสูงถึงเกือบ 2 ล้านคนและยังไม่รวมกับแรงงานต่างด้าวที่เป็นลักษณะใต้ดินคือไม่ถูกต้องตามกฎหมายที่ขณะนี้มีอยู่ในระบบอีกจำนวนหนึ่ง
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ประธานส.อ.ท.ระบุว่ามีนักการเมืองเป็นอดีตรัฐมนตรี และข้าราชการเข้ามาแทรกแซงการคัดเลือกคณะกรรมการอุตสาหกรรมประจำจังหวัดที่จะมีขึ้นในวันที่ 23 ม.ค.นี้ว่า ตนได้สั่งการให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ทำหนังสือเวียนไปยังอุตสาหกรรมจังหวัดต่างๆว่าเรื่องการเลือกตั้งคณะกรรมการอุตสาหกรรมประจำจังหวัดไม่ใช่เรื่องที่ราชการจะเข้าไปแทรกแซง เพราะเป็นเรื่องของภาคเอกชน แต่หากเป็นการเลือกตั้งภาคเอกชนเขามีปัญหาอะไรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ก.แรงงานร้องศาลขับม็อบไทรอัมพ์
เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ (22  ม.ค. 53)
-  นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ปัญหาม็อบสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ ที่ยังคงปักหลักชุมนุมยืดเยื้ออยู่บริเวณใต้ถุนตึกกระทรวงแรงงานนานกว่า 4 เดือน ว่า ขณะนี้ กระทรวงอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลหลักฐาน เพื่อส่งให้ศาลยุติธรรมพิจารณาหลังจากได้มอบหมายให้ ผอ.กลุ่มงานกฎหมาย สำนักบริหารกลาง สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงานดำเนินการยื่นฟ้องไปเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา เพื่อให้กลุ่มม็อบอดีตพนักงานไทรอัมพ์ เคลื่อนย้ายออกไปจากพื้นที่ของกระทรวง ซึ่งเป็นสถานที่ราชการ เนื่องจากที่ผ่านมา ได้รับการร้องเรียนจากผู้ที่มาติดต่อราชการกับกระทรวงจำนวนมากไม่ได้รับความสะดวก กระทรวงจึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องฟ้องร้อง เพื่อขออำนาจศาลสั่งให้อดีตพนักงานไทรอัมพ์ย้ายออกไปจากพื้นที่ของกระทรวง
"จริงๆ เราไม่ได้มุ่งใช้กระบวนการทางกฎหมาย เพื่อจัดการกับม็อบไทรอัมพ์อย่างเดียว ที่ผ่านมา ได้มีความพยายามเจรจาในทุกทาง ทั้งการให้ความช่วยเหลือตามช่องทางกฎหมายแรงงานในรูปของเงินชดเชยการเลิกจ้าง การหาตำแหน่งงาน และการหาสถานที่เพื่อให้พักพึ่ง และท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานมีความเป็นห่วง ล่าสุดข้อเรียกร้องฝ่ายม็อบที่ต้องการจักรเย็บผ้า เพื่อนำไปประกอบอาชีพ ทางเราก็เจรจามาตลอด คาดว่าอีก 2-3 วันน่าจะได้ข้อสรุปด้วยดี" นายสมเกียรติ กล่าว
ด้านนายพงศักดิ์ เปล่งแสง โฆษกกระทรวงแรงงานฝ่ายการเมือง กล่าวว่า ไทรอัมพ์เรียกร้องต่อนายไพฑูรย์ แก้วทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้จัดหาจักรเย็บผ้าเพื่อให้คนงานไปประกอบอาชีพจำนวน 560 ตัวนั้น จึงเปิดรับบริจาคจักรเย็บผ้า เพื่อมอบให้กับคนงานไทรอัมพ์ หากผู้ใดประสงค์บริจาคสามารถติดต่อผ่านตนได้โดยตรง ที่หมายเลขโทรศัพท์ 08-1550-7302
นางสาวธัญยธรณ์ คีรีถาวรพัฒน์ รองประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ กล่าวว่า สาเหตุที่อดีตคนงานไทรอัมพ์ลุกขึ้นมาเขียนป้ายผ้า และสวมใส่เสื้อผ้าและใช้ผ้าแดงคาดผมนั้น เนื่องจากสีแดงเป็นสีแห่งการต่อสู้ ซึ่งทุกคนต้องการตอบโต้การลงมาพูดคุยกับคนงานของนางอัมพร นิติสิริ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ว่า ข้อเรียกร้องของคนงานทั้ง 3 ข้อเป็นไปไม่ได้ ทั้งการขอจักรเย็บผ้าให้กับอดีตคนงานคนละ 1 ตัว แหล่งเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยหรือดอกเบี้ยต่ำ พร้อมทั้งพื้นที่ในการประกอบอาชีพ เนื่องจากหมดอำนาจของกระทรวงแรงงานแล้วในการดำเนินการ ซึ่งคนงานต้องช่วยตนเอง อีกทั้งคนงานก็อยู่ที่กระทรวงแรงงานมากว่า 3 เดือนแล้วควรที่จะกลับบ้าน เพื่อไปประกอบอาชีพหารายได้ จึงทำให้คนงานรู้สึกไม่พอใจกับการลงมาชี้แจงกับคนงาน จึงยืนยันจะอยู่ที่กระทรวงแรงงานในการเรียกร้องต่อไป
สปส. แจ้ง 6 โรงพยาบาลเอกชน ออกจากสถานพยาบาลประกันสังคม
บ้านเมือง
(22  ม.ค. 53) -  สำนักงานประกันสังคม (สปส.) แจ้งผู้ประกันตนมีสถานพยาบาลเอกชนที่ไม่เข้าเป็นสถานพยาบาลประกันสังคม ประจำปี 2553 จำนวน 6 แห่ง คือ โรงพยาบาลชัยปราการ   จังหวัดสมุทรปราการ โรงพยาบาลราชเวชอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี โรงพยาบาลรวมแพทย์สุโขทัย จังหวัดสุโขทัย โรงพยาบาลศุภมิตร จังหวัดสุพรรณบุรีโรงพยาบาลเพชรรัชต์ จังหวัดเพชรบุรี และโรงพยาบาลช้างเผือก จังหวัดเชียงใหม่ สำหรับผู้ประกันตน ที่เลือกสถานพยาบาลดังกล่าวไว้แล้ว ทางสปส. จะจัดสถานพยาบาลรัฐบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขในเขตพื้นที่ที่สถานประกอบการของผู้ประกันตนตั้งอยู่ให้ไปก่อน หากผู้ประกันตนท่านใดมีความประสงค์จะเปลี่ยนสถานพยาบาลสามารถยื่นคำขอเปลี่ยนสถานพยาบาลใหม่ได้ ตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค. ถึง วันที่ 31 มี.ค. 53
        
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net