Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 
 
ข้อเขียนของ สุรีย์ มิ่งวรรณลักษณ์ ชื่อ “ขุนนาง เอ็นจีโอ กป.อพช. และวิธีคิดอำมาตยาธิปไตย” ที่เผยแพร่ทาง “ประชาไท”เมื่อ 22 ธันวาคม 2552 นั้น ได้กล่าววิพากษ์ขบวนการองค์กรพัฒนาเอกชน หรือ เอ็นจีโอ โดยพาดพิงถึงเหตุการณ์การร้องเรียนเรื่องการพิจารณางบประมาณของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.)โดยองค์กรประชาชนอีสาน ๑๗ องค์กร นั้นเป็นความที่ 1.คนเอ็นจีโอควรรับฟังเป็นข้อคิดเพื่อการตรวจสอบภายใน 2.พอช.และคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน(กป.อพช.อีสาน) สองภาคีที่ร่วมรับผิดชอบงบประมาณดังกล่าวควรได้ชี้แจงรายละเอียดของการดำเนินการให้เกิดความจะแจ้ง
 
ในที่นี้ ผู้เขียนใคร่ขอแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเชิงหลักคิดกับสุรีย์แต่พองาม และคิดว่าวัฒนธรรมของการแลกเปลี่ยนที่เคารพซึ่งกันและกันในความหลากหลายจะนำมาสู่การเรียนรู้ร่วมกันในฐานะเพื่อนร่วมสังคมที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดี
 
ประการแรก เกี่ยวกับลักษณะขุนนาง-อำมาตยาธิปไตย ที่สุรีย์กล่าวว่าเป็นลักษณะลัทธิพรรคพวก ไม่นิยมหลักการ แต่เน้นหลักกู ใช้ระบบอาวุโส เด็กต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่ เน้นศรัทธามากกว่าคิดเองเป็นเอง กลัวเสียหน้าหากมีการวิพากษ์วิจารณ์ ตลอดทั้งชอบรวมศูนย์อำนาจไม่กระจายอำนาจ และชอบลำดับขั้นสูงต่ำกว่าความเสมอภาคในความเป็นมนุษย์ นั้น ผู้เขียนคิดว่าลักษณะดังกล่าวมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง เช่นเดียวกับการคอรัปชั่นที่มีอยู่ในทุกสังคม เพียงแต่เราจะจัดการกับมันอย่างไรที่จะต้องมีกลไกถ่วงดุล ตรวจสอบ ลงโทษ ที่มีประสิทธิภาพ ในสังคมไทยเรา-ลองทบทวนกันอย่างมีสติเถิด ใช่หรือไม่ที่ผู้มีอำนาจปกครองไม่ว่าจะเป็นพวกที่คุณสุรีย์เรียกพวกอำมาตย์หรือแม้แต่พวกที่ถูกเรียกว่า “ทุนสามานย์”เมื่อมีอำนาจแล้วมักต้องการอำนาจมากขึ้นไปอีกเสมอๆ (ตามกฎของอำนาจ) ความโน้มเอียงของผู้อยู่ในอำนาจนั้น จะควบคุมไม่ให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ ทำลายและครอบงำกลไกการตรวจสอบ อาศัยความไม่รู้เท่าทันของประชาชนเป็นเงื่อนไขกอบโกยผลประโยชน์ ใช้กันแต่หลักกูทั้งนั้น หลักประชาธิปไตยที่ว่าคนเราเท่าเทียมกัน มีความยุติธรรม และแบ่งปันกัน ซึ่งคุณสุรีย์อยากเห็นอยากให้เป็นนั้นดูเหมือนห่างไกลความจริงเสียเหลือเกิน และดูเหมือนว่าคุณสุรีย์ก็ไม่เคยเสนอว่าในทางปฏิบัติจริงขณะที่เราดำเนินชีวิตอยู่นี้ จะพอทำกันอย่างไรได้บ้าง นอกจากมีคำตอบสำเร็จรูปว่าต้องโค่นล้มพวกอำมาตย์เสียก่อน
 
ประการที่สอง ข้อที่ว่าสังคมเราต้องมีกลไกถ่วงดุล ตรวจสอบและลงโทษที่เข้มแข็งนั้น มีผู้กล่าวและทำการพิสูจน์กันพอควรแล้วว่าภาคประชาชนต้องเข้มแข็ง ประสบการณ์ของผู้เขียนเองนั้นบอกว่าประชาชนจะเข้มแข็งได้ไม่เคยมีเลยที่จะมาจากการหยิบยื่นให้จากผู้ปกครอง(ทุกประเภท) และไม่เชื่อด้วยอีกเช่นกันว่าโคนอำมาตย์เสร็จแล้ว กลุ่มอำนาจใหม่จะยอมให้ประชาชนเติบโตเข้มแข็ง มีแต่ประชาชนแต่ละหมู่เหล่าต้องจัดตั้งตัวเองขึ้นมา กระบวนการนี้ท่านว่าต้องใช้เวลาและถ้าเราอยากให้เป็นจริงต้องเริ่มลงมือทำกันทันที ต้องเปลี่ยนที่วัฒนธรรมทางการเมืองผ่านการเรียนรู้ยกระดับทางจิตสำนึกของผู้คนที่เติบโตเปลี่ยนแปลงจากความเป็นราษฎรเป็นพสกนิกรสู่ความเป็นพลเมืองที่สำนึกในสิทธิเสรีภาพและหน้าที่ในการอยู่ร่วมกันเป็นสังคมอย่างมีศักดิ์ศรีเท่าเทียม ว่าเถอะ คุณสุรีย์อาจบอกว่าการต่อสู้อันดุเดือดที่พลพรรคสีแดงกำลังลุกขึ้นต่อสู้โค่นล้มอำมาตย์อยู่นั่นไง คือการเรียนรู้อันยิ่งใหญ่ของมวลชนหรืออาจเลยไปถึงว่านั่นคือการต่อสู้ทางชนชั้นที่แหลมคม จะยกระดับจิตสำนึกของมวลชนครั้งใหญ่ นั่นก็ไม่ว่ากัน แต่สิ่งที่เราสัมผัสอยู่ขณะนี้ ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าระหว่างสำนึกชนชั้นกับการบ่มเพาะความเกลียดชังและอคติ อะไรจะเป็นจุดหลัก
 
ถ้าสายตาเราไม่พร่าและไม่ละเลยจนเกิน ใคร่เชิญชวนคุณสุรีย์เยี่ยมมองให้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการเคลื่อนไหวของคนเล็กคนน้อยอันหลากหลายในสังคมแห่งนี้ ผู้เขียนเห็นว่าในสองสามทศวรรษมานี้เรามีคนชั้นกลางมากขึ้นในสังคมไทย ก็ถ้าคนชั้นกลางเป็นองค์ประกอบสำคัญของความเป็นประชาธิปไตยตามที่ชาวตะวันตก(พ่อฝรั่ง)สอนเรามาซึ่งอาจจะมีส่วนจริงไม่น้อย เราก็มีต้นทุนนี้มากขึ้น-คนที่สำนึกในสิทธิเสรีภาพอันเป็นกุญแจสำคัญของประชาธิปไตย แต่มันก็มาพร้อมกับความสับสนเพราะพวกเขามักเก่งในทางบริโภคอย่างไม่บันยะบันยังและทำตัวเป็นคนไม่มีบุพการีเสียมาก
 
ความเคลื่อนไหวของประชาชนตามชุมชนเล็กๆ ด้วยประเด็นเฉพาะ(เล็กๆ)ซึ่งอาจถูกมองจากคนชั้นกลางและนักคิดบางสำนักว่าพวกเขาเคลื่อนไหวเพียงประเด็นเฉพาะหน้าเฉพาะกิจ นักคิดตะวันตกบางคนถึงกับกล่าวว่าพวกเขาละโมบและไร้วิสัยทัศน์ เราอย่าดูดาย การเคลื่อนไหวเหล่านี้สร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมให้คืบไปสู่ความก้าวหน้าอยู่ทุกวัน พวกเขากำลังก่อสำนึกแห่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ยกระดับสำนึกเรื่องสิทธิเสรีภาพ ใช่หรือไม่ 
การเติบโตทุกวันของกลุ่มออมทรัพย์ระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ ที่สามารถสร้างอำนาจต่อรองกับรัฐและทุนได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ จากที่รัฐเคยมองว่ากลุ่มเหล่านี้เป็นกลุ่มเถื่อน แล้วในปัจจุบัน ที่สุดรัฐก็ต้องมีนโยบายรับรอง อุดหนุน และแก้กฎหมายเช่นกฎหมายสหกรณ์ให้มีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนเป็นสหกรณ์ประเภทที่ 7  
 
การใช้กระบวนการทางกฎหมายในการสู้กับความเห็นแก่ได้ของนายทุนของชาวชุมชนมาบตาพุดจนสามารถสร้างบรรทัดฐานใหม่ของการใช้รัฐธรรมนูญ
 
การลุกขึ้นมาสร้างระบบสวัสดิการของชาวบ้านที่ประยุกต์เรื่องบุญมานำการสร้างการประกันสังคมของชาวชุมชนที่อยู่นอกกองทุนประกันสังคม(ที่ในที่สุดรัฐก็ยอมจ่ายเบี้ยสมทบเท่ากันกับที่ชาวบ้านออมวันละบาท และนายกอภิสิทธิ์ได้ทำพิธีมอบให้กับองค์กรชุมชน 500 องค์กรแรกไปเมื่อ 11 มกราคมที่ผ่านมา)
 
การต่อสู้ต้านเขื่อน เหมืองแร่ โรงงานอุตสาหกรรม นิคมอุตสาหกรรมฯลฯ ของประชาชนตามชุมชนต่างๆ ในรอบหลายปีที่ผ่านมานั้น ชาวบ้านธรรมดาได้เรียนรู้ที่จะใช้กระบวนการทางกฎหมาย กระบวนการทางวิชาการและกระบวนการต่อสู้แบบสันติวิธีอย่างเข้มข้น หลายกรณีได้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายและนโยบายรัฐที่จะต้องมีกระบวนการมีส่วนร่วม มีการศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้าน ฯลฯ
 
ความเปลี่ยนแปลงเฉพาะกรณีเฉพาะพื้นที่เหล่านี้ล้วนสะท้อนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงระดับกฎหมายและนโยบายที่มีผลต่อความเปลี่ยนแปลงทั่วทั้งสังคมในเวลาต่อมาทั้งสิ้น ถ้าเราหันกลับไปมองชุดนโยบายดีๆ ที่นายกทักษิณริเริ่มทำในยุคของเขานั้น มองกันอย่างไม่ตัดตอนก็คือ นโยบายเหล่านั้นถูกสังเคราะห์มาจากการคิดค้นของชุมชนและการสนับสนุนของเอ็นจีโอต่างๆ กับราชการที่ก้าวหน้า มาอย่างยาวนานจนได้รับการยอมรับยกระดับมาเป็นนโยบาย ใช่หรือไม่
 
เราเคยมองเห็นปรากฏการณ์เหล่านี้เป็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหรือไม่ แต่ถ้าสายตาของคุณสุรีย์เอาแต่จ้องเล็งที่จะเห็นความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองต้องเปลี่ยนโครงสร้างกันเสียก่อน(หรือจริงๆอาจเปลี่ยนเฉพาะ “คณะ”)จนมองไม่เห็นการเติบโตทาง “ปริมาณ” ที่เกิดจากการ “ต่อสู้และต่อรอง”ของประชาชนแล้วละก็ ต้องแสดงความเสียใจจริงๆ
 
ประการที่สาม เรื่อง เอ็นจีโอ ดูเหมือนการแสดงความคิดเห็นต่อท้ายบทความของคุณสุรีย์จะมีความดุเดือดเป็นพิเศษและต่อเนื่องจนเชื่อว่าเป็นขบวนการบางอย่าง บางบท ขอโทษนะครับ ถึงขั้นอยากเรียกว่า “กักขฬะของคนกำพร้า” ทีเดียว แต่เอาเถอะ นี่คือเสรีภาพที่คุณสุรีย์(รวมทั้งประชาไท)ต้องการหรือเปล่า เท่าที่พิจารณาในข้อเขียนเหล่านั้น เอ็นจีโอ เป็นพวกที่ไม่ควรมีตัวมีตนมีชีวิตอยู่ในประเทศนี้เลย ในทางหลักการ(ที่จับได้ในข้อเขียนเหล่านั้น)คือเอ็นจีโอทั้งหลายเป็นพวกอำมาตยาธิปไตย เป็นพลังตรงข้ามกับฝ่ายประชาธิปไตย ตามที่ติดตามอ่านข้อเขียนของคุณสุรีย์มาหลายเรื่อง ในสังคมแห่งนี้ถูกคุณสุรีย์มองว่ามีเพียงสองฝ่ายที่กำลังต่อสู้กันอยู่ ถ้าไม่ไปด้วยกันกับฝ่ายสีแดงก็จะถูกยัดเยียดให้เป็นฝ่ายอำมาตยาธิปไตยไปในทันที แบ่งฝ่ายเลือกข้างกันชัด ทำอย่างนี้ ด้านหนึ่งคุณอาจเสียเพื่อนเสียแนวร่วม อีกด้านหนึ่งทัศนะเช่นนี้ไม่น่าจะดีในระยาว ถ้าคุณเกิดมีอำนาจปกครองคุณจะเป็นคนขี้ระแวงและคุณจะปราบปรามประชาชนกระทำตนเป็นทรราชเสียเอง
 
ในอดีต เอ็นจีโอ เคยถูกกล่าวหาจากนักสังคมนิยมว่าเป็นพวกถ่วงรั้งความเปลี่ยนแปลง มองตามหลักวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ก็คือ ฉุดรั้งมิให้สังคมเกษตรกรรมวิวัฒนาการไปเป็นสังคมอุตสาหกรรม สังคมเกษตรเป็นวิถีการผลิตแบบศักดินา เป็นภาคการผลิตที่ล้าหลังต้องปลดปล่อยแรงงานเกษตรไปเป็นกรรมกรในภาคทุนนิยม แล้วกรรมกรจะเป็นพลังหลักที่จะโค่นล้มทุนนิยมสถาปนาระบบสังคมนิยมขึ้นมา ถึงวันนี้ ทัศนะต่อ เอ็นจีโอ ของสำนักคิดฝ่ายซ้ายที่กำลังสามัคคีนายทุนก็คงคิดไม่ต่างกันใช่หรือไม่ เอ็นจีโอ ก็คงหลีกไม่พ้นที่จะได้ชื่อว่าเป็นซากเดนของศักดินา-อำมาตยาธิปไตย
 
เราคงไม่พูดกันในบทความนี้ว่าเมื่อไหร่ ใช้เวลาเท่าไหร่ที่ฝ่ายซ้ายจะแกะตัวเองหลุดจากนายทุนที่กำลัง “ทำแนวร่วม” กันอยู่ แล้วเมื่อไหร่กรรมกรจะได้ทำการปฏิวัติ เรารู้เพียงว่าบนการต่อสู้ของคนเล็กคนน้อยท่ามกลางเวลาที่ผ่านไปโดยเราไม่ยอมปล่อยเวลาผ่านไปเพียงเฝ้าดูสังเกตการณ์ นั้น เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ก้าวหน้าขึ้นในสังคมแห่งนี้ตลอดเวลา สิทธิเสรีภาพของคนก็เติบโตโดยที่เรายังไม่ได้โค่นล้มฝ่ายไหนไปให้สิ้นซาก แล้วที่มองเห็นอยู่ เอ็นจีโอ และองค์กรชุมชน กลุ่มทางสังคมที่หลากหลายก็ทำงานเหล่านี้ไปไม่มีหยุด แม้จะดูเชยๆ บ้างที่ไม่สามารถอภิปรายเกี่ยวกับอำนาจรัฐหรือการพูดคุยทางวิชาการด้วยถ้อยคำโตๆ
 
แต่ถ้าจะถามกันว่า เขาเอาด้วยกับพวกอำมาตยาธิปไตยมั้ย ก็น่าจะได้รับคำตอบว่า “ไม่” เอาด้วยกับทุนสามานย์มั้ย ก็ไม่เช่นกัน เพราะเห็นกันมาแล้วว่าแย่พอกัน
 
หรือคุณจะว่าประวัติศาสตร์กำหนดแล้วว่าคนที่เหมาะจะเป็นชนชั้นปกครองในขั้นนี้มีให้เลือกอยู่แค่นั้น?

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net