วิบูลย์ แช่มชื่น: ทางออกประเทศไทย ต้องปฏิวัติประชาธิปไตย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ชื่อบทความเดิม: ทางออกประเทศไทย: ต้องปฏิวัติประชาธิปไตย ทำอำนาจอธิปไตยให้เป็นของปวงชน

 
รากเหง้าแห่งปัญหาของประเทศไทย
            เป็นที่รับรู้กันทั่วไปในหมู่ชาวพุทธ และผู้ที่ยึดหลักเหตุผลแบบวิทยาศาสตร์ว่า ปัญหาใดๆในโลกล้วนเกิดจากเหตุทั้งสิ้น การแก้ปัญหาจะสำเร็จได้ต้องแก้ที่ต้นเหตุแห่งปัญหาเท่านั้น
            ก่อนการเสนอทางออกสำหรับปัญหาประเทศไทย คนไทยทุกฝ่ายทุกสี ต้องทำความเข้าใจร่วมกันเสียก่อนว่ารากเหง้าของปัญหาคืออะไร ให้มองปัญหาและสาเหตุให้ตรงกันเสียก่อน ก่อนร่วมกันคิดแก้ไข สิ่งที่เป็นข้อสรุปเบื้องต้น ในข้อเขียนนี้คือปัญหาความขัดแย้งแตกแยกในสังคมไทยในปัจจุบัน เกิดจากปัญหาที่มีรากเหง้าต้นเหตุจากระบอบการเมืองการปกครองของไทยเป็นระบอบเผด็จการที่อำนาจอธิปไตยไม่ได้เป็นของปวงชน
ระบอบเผด็จการเป็นการปกครองโดยอำนาจของคนส่วนน้อย เพื่อประโยชน์ของคนส่วนน้อย ไม่ได้เป็นระบอบเพื่อความสุขของปวงชน ปัญหาของคนไทยทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมการศึกษา สุขภาพ ฯลฯ จึงมากมาย และแก้ไม่ได้ด้วยระบอบเผด็จการปัจจุบัน ทำให้ไทยจึงยังเป็นประเทศด้อยพัฒนาล้าหลังอย่างที่กำลังเป็นอยู่ รวมเหตุแห่งปัญหาของไทย จนเกิดความขัดแย้งลึกในสังคมไทยวันนี้ ล้วนมาจากเหตุที่อำนาจการปกครองของไทยเป็นระบอบเผด็จการนั่นเอง  
ระบอบหรืออำนาจการปกครองมีความหมายเดียวกัน ระบอบเผด็จการคืออำนาจเป็นของบุคคลหรือกลุ่มคนหรือคนส่วนน้อย ระบอบประชาธิปไตยคืออำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ของทุกคนไม่ใช่ของคนส่วนใหญ่เท่านั้น จึงต้องย้ำว่า ปัญหาของประเทศไทยวันนี้ คือปัญหาระบอบการปกครองของประเทศเราเป็นระบอบเผด็จการ ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย อย่างที่เขียนหลอกไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 3 ในเกือบทุกฉบับ การแก้ไขปัญหาของชาติไทยวันนี้ จึงจำเป็นต้องปฏิวัติประชาธิปไตย หรือต้องทำให้อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน เท่านั้น แล้วปัญหาย่อยอื่นๆในชาติก็จะสามารถแก้ไขได้ตามมา
รากเหง้าแห่งปัญหาของประเทศไทย ตามหลักวิชารัฐศาสตร์แล้ว คือปัญหาของระบอบหรืออำนาจการปกครอง ไม่ใช่ปัญหาของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นองคมนตรี หรือนายกรัฐมนตรี หรือผู้นำกองทัพ และไม่ใช่ปัญหาที่เกิดจากอดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกยึดอำนาจ ไม่ใช่ปัญหาที่เกิดจากกองทัพที่ทำการยึดอำนาจ ด้วยเหตุผลเดิมๆซ้ำซาก ไม่ใช่ปัญหาที่เกิดจากตุลาการภิวัฒน์ แต่เป็นปัญหาโครงสร้างอำนาจหรือระบอบการปกครอง ที่ไม่เคยเป็นระบอบประชาธิปไตยตลอดเวลา 78 ปี หลังการปฎิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่สังคมไทยก็ยังอยู่ภายใต้อำนาจหรือระบอบเผด็จการตลอดมา
เมื่อสังคมโลกและสังคมประชาชาติ เปลี่ยนแปลงมาถึงยุคนี้ ระบอบการปกครองหลักๆอาจจะมีเพียงสองระบอบเท่านั้น คือระบอบประชาธิปไตย หรือเสรีนิยม (Democracy หรือ Liberalism) และ ระบอบเผด็จการ (Dictatorship หรือ Authoritarianism) เท่านั้น ส่วนระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือ Absolute Monarchy นั้นถือว่าไม่ได้เป็นระบอบการปกครองของประเทศในโลกสมัยใหม่นี้แล้ว ถ้าประเทศใดยังมีประมุขแห่งรัฐเป็นกษัตริย์ เป็นพระราชาธิบดีหรือพระจักรพรรดิเช่นหลายประเทศในยุโรปหรือญี่ปุ่น ก็ถือว่าเป็นองค์ประมุขของชาติภายใต้รัฐธรรมนูญของประชาชน ดังนั้นก่อนคิดแก้ปัญหาการเมืองการปกครองของเรา เราต้องตอบคำถามก่อน ว่าระบอบการปกครองของไทยเราเป็นระบอบใดแน่ คำตอบของประชาชนไทยจะต้องตรงกันเสียก่อน ก่อนคิดแก้ปัญหาชาติร่วมกัน และเราจะต้องไม่สับสนอีกด้วย
โดยหลักวิชาการ การจะชี้ว่าระบอบการปกครองเป็นประชาธิปไตยหรือเป็นเผด็จการนั้น ยึดหลักสำคัญอย่างน้อย 5 ประการ คือ 1) หลักอำนาจอธิปไตย - Sovereignty 2) หลักแห่งสิทธิเสรีภาพ – Rights & Liberty 3) หลักความเสมอภาค – Equality 4) หลักกฎหมาย – Rule of Law และ 5) หลักรัฐบาลหรือผู้ปกครองจากการเลือกตั้ง – Elected Government อาจจะมีหลักการอื่นอีกเช่นหลักภราดรภาพ (Fraternity) หรือการอยู่ร่วมกันฉันญาติมิตรและอื่นๆ แต่หลักการที่ 1 คือหลักอำนาจอธิปไตยเป็นของใครนั้นถือว่าสำคัญที่สุด
อำนาจการปกครองหรืออำนาจอธิปไตย (Sovereignty) ถือเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าการปกครองของประเทศใดเป็นระบอบใด ถ้าระบอบแห่งอำนาจการปกครองเป็นของปวงชน คนในชาติทุกหมู่เหล่าได้ร่วมกันถืออำนาจอธิปไตย ก็ถือว่าเป็นระบอบประชาธิปไตย แต่ถ้าคนส่วนน้อยคือผู้ถืออำนาจ อำนาจอธิปไตยก็เป็นระบอบเผด็จการ หากตรวจสอบความจริงประเทศไทยวันนี้ แม้มีพรรคการเมือง มีการเลือกตั้ง มีรัฐสภา แต่ถ้าอำนาจอธิปไตยจริงๆยังเป็นของคนกลุ่มน้อย ของกลุ่มทุนไม่กี่กลุ่ม ของคนไม่กี่ตระกูล การปกครองของไทยก็เป็นระบอบเผด็จการ ที่ผู้ถืออำนาจทั้งโดยเปิดเผยและโดยลับๆจะไม่ยอมแบ่งปันอำนาจให้เป็นของปวงชน ยกเว้นพรรคหรือพวกตนเอง จะไม่มีการประกันสิทธิและเสรีภาพบุคคล ไม่มีความเสมอภาค ไม่ยึดหลักนิติธรรมสากล แม้มีกฎหมายก็ไม่ใช่กฎหมายเพื่อปวงชน เป็นเพียงเล่ห์กลเพื่อรักษาระบอบเผด็จการไว้เท่านั้น แม้ต้องหลอกประชาชนว่าทุกคนมีส่วนร่วมด้วยการให้มีการเลือกตั้ง แต่ก็เป็นการเลือกตั้งเพื่อเลือกคนของ ผู้กุมอำนาจเผด็จการเท่านั้นเอง การเลือกตั้งภายใต้ระบอบอำนาจที่ไม่เป็นธรรม ก็มักจะมีความฉ้อฉลไม่เป็นธรรมเสมอ การเลือกตั้งจึงไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของระบอบประชาธิปไตย  
การปกครอง “ระบอบเผด็จการ” (Authoritarian หรือ Dictatorship Regime) คือระบอบที่อำนาจการปกครองเป็นของบุคคล หรือของกลุ่มคน หรือของคนส่วนน้อยในสังคม ไม่ว่าคนกลุ่มนั้นจะเป็นใคร ไม่จำเป็นต้องเป็นทหาร หรือพลเรือนทั่วไป หากบุคคลหรือกลุ่มคนเป็นผู้ถืออำนาจเบ็ดเสร็จแล้ว ก็ถือได้ว่าเป็น อำนาจหรือระบอบเผด็จการทั้งสิ้น
กลุ่มคนส่วนน้อยในสังคมมีหลายกลุ่ม ระบอบเผด็จการจึงมีหลายชนิด เช่นระบอบเผด็จการสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ระบอบเผด็จการฟาสซิสต์ ระบอบเผด็จการทหาร ระบอบเผด็จการรัฐสภา ระบอบเผด็จการชนกรรมาชีพ ระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์ ฯลฯ คนกลุ่มน้อยกลุ่มใดหรือชนิดใดเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ระบอบเผด็จการก็เรียกชื่อเป็นชนิดนั้น
กล่าวโดยทั่วไปถ้าเจ้าศักดินาและเจ้าที่ดินเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยก็เป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือระบอบราชาธิปไตย ถ้าเจ้าที่ดินขนาดใหญ่สูงสุดร่วมกับนายทุนขนาดใหญ่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยก็เป็นระบอบฟาสซิสต์ ถ้านายทหารชั้นสูงบางกลุ่มร่วมกับนายทุนบางกลุ่มเป็นเจ้าของอำนาจก็เป็นระบอบเผด็จการทหาร ถ้าพวกกลุ่มนายทุนใหญ่ทั่วไปเป็นเจ้าของพรรคการเมืองเลือกพวกตัวเองลงสมัครรับเลือกตั้ง ได้ที่นั่งในรัฐสภาได้จัดตั้งรัฐบาล ก็เป็นระบอบเผด็จการรัฐสภา และผู้แทนต้องฟังหัวหน้าพรรคเป็นผู้สั่งการก่อนลงมติใดๆ ถ้าอำนาจอธิปไตยเป็นเพียงของชนกรรมาชีพ ของกรรมกรผู้ใช้แรงงาน ก็ถือเป็นเผด็จการชนกรรมาชีพ หรือเผด็จการคอมมูนิสต์
ระบอบเหล่านี้ล้วนแตกต่างจากระบอบประชาธิปไตยที่ถือว่าอำนาจอธิปไตยต้องเป็นของปวงชน ในระบอบประชาธิปไตยอำนาจการปกครองมิได้เป็นเพียงของคนส่วนใหญ่แต่เป็นของปวงชน อำนาจที่คนทุกกลุ่มให้การยอมรับ ดังนั้นในคำประกาศแห่งหลักการเสรีนิยมประชาธิปไตย (Liberal Manifesto – 1967) หรือคำประกาศขององค์การเสรีนิยมสากล (Liberal International – 1947) จึงเน้นหลักการให้เคารพสิทธิของคนส่วนน้อย (Minority Rights) ด้วย
การที่หลายคนชอบเรียกระบอบการปกครองปัจจุบันของไทยว่า เป็น ”ระบอบอำมาตยาธิปไตย” หรือ ระบอบเผด็จการอำมาตยาธิปไตย คำเรียกดังกล่าวแม้จะสื่อถูกต้องว่าเป็นอำนาจการปกครองของคนกลุ่มน้อย แต่ก็อาจจะไม่ตรงกับสภาพความจริงแท้แห่งปัญหาของระบอบการปกครองของไทยในปัจจุบันนัก ที่ไม่ได้มีระบบราชการที่มีพวกอำมาตย์จริงๆในไทยอีกแล้ว แต่ก็อาจจะเป็นการเทียบเคียงปัญหาที่ประชาชนถูกห้ามไม่ให้กล่าวถึงสถาบันกษัตริย์ ในการนำเสนอปัญหาต่อสาธารณะ ที่ผ่านมาจึงได้เน้นเสนอปัญหาที่อ้างอิงเชื่อมโยงอำนาจกับองคมนตรีและคนในรัฐบาลบางคนเท่านั้น ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้หรือบอกอาการของระบอบเผด็จการ ที่ผู้ถืออำนาจรัฐปฏิเสธการฟังเสียงของประชาชน หรือของคนส่วนใหญ่ ด้วยความกลัวการสูญเสียอำนาจที่พวกตนถือครองอยู่ 
โดยสภาพปัญหาของระบอบการปกครองของไทยในปัจจุบัน อาจจะกล่าวได้ว่าอำนาจอธิปไตยเป็นเพียงของคนส่วนน้อยเท่านั้น มีเพียงคนกลุ่มหนึ่งที่ถือดุลอำนาจการปกครองจริงในปัจจุบัน เป็นกลุ่มทุนดั้งเดิม มีเครือข่ายการใช้อำนาจของตนผ่านข้าราชการ ทหารและศาล รวมถึงองค์กรอิสระ แม้ว่ามีรัฐสภา ให้มีการเลือกตั้ง แต่อำนาจการปกครองปัจจุบันก็ยังไม่ใช่อำนาจของปวงชนจริง เมื่อผู้ถืออำนาจเป็นเผด็จการ จึงไม่ได้ยึดถืออำนาจปวงชน ไม่เคารพเสียงประชาชน ด้วยความหวาดกลัวจะสูญเสียอำนาจ จึงอาจจะทำได้ทุกอย่าง ทุกวิถีทางเพื่อยืดและเพื่อรักษาอำนาจของพวกตน แม้ต้องฆ่าคนจำนวนมาก อย่างโจ่งแจ้งหรือด้วยการซุ่มยิงก็ยอมทำ เป็นการใช้อำนาจเพราะหวาดกลัว ทั้งนี้ก็เพื่อการคงไว้ซึ่งอำนาจแห่งเผด็จการของกลุ่มตน
ผู้ปกครองที่ถืออำนาจเผด็จการวันนี้ จึงไม่มีใจให้ปวงชน ไม่ได้ให้ความสำคัญกับอำนาจปวงชน ไม่เคารพสิทธิพื้นฐานของบุคคล ไม่ได้ยึดหลักความเสมอภาคของคน ไม่ว่าในทางกฎหมายในทางการเมืองหรือในโอกาสของคน มีการใช้อำนาจนอกระบบ ใช้วาทกรรมต่างๆ ให้ฟังดูดีก่อนทำรัฐประหาร ก่อนการทำร้ายหรือเข่นฆ่าประชาชน แม้ศาลที่เป็นส่วนหนึ่งของระบอบ ก็ยังถือว่าการรัฐประหารของไทยมีความชอบธรรม นำกฎของเผด็จการมาใช้เปิดเผย ถือว่ากฎหมายคืออะไรก็ได้ที่เป็นกฎแห่งรัฐาธิปัตย์ ไม่ว่าจะตราขึ้นโดยคนๆเดียว คือโดยสภาที่บุคคลคนเดียวแต่งตั้ง ศาลก็ยังถือว่าเป็นกฎหมายของรัฐ ยังต้องนำมาใช้เมื่อจำเป็น โดยเฉพาะเพื่อกำจัดศัตรูของระบอบเผด็จการให้สิ้นซาก
ด้วยความที่ระบอบการปกครองไม่เป็นประชาธิปไตย ศาลก็ไม่ยึดถือหลักอำนาจอธิปไตยต้องเป็นของปวงชน ยังนำกฎหมายประกาศคำสั่งของบุคคล (One-man-laws) มาใช้บังคับทั้งในภาวะที่ปกติและภาวะฉุกเฉินตามที่ผู้ถืออาจอ้าง จึงยังมีการใช้กฎหมายย้อนหลังที่เป็นโทษต่อประชาชนอีกด้วย ไม่ได้ให้ความยุติธรรมตามหลักนิติธรรมสากล แต่ประชาชนก็รู้สึกได้ เห็นได้และพิสูจน์ได้เองจากคดีความต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา จนคำว่า “สองมาตรฐาน” กลายเป็นคำเรียกกระบวนการยุติธรรมไทย ที่ได้ยินไปทั่วประเทศและทั่วโลก จนมีคำถามที่ชาวโลกต้องแปลกใจ ว่าหลังจากคนไทยชุมนุมตามสิทธิในรัฐธรรมนูญ แม้มีคนตายกว่า 90 ศพ มีการซุ่มยิง ฟ้องด้วยภาพไปทั่วโลก แม้คนอยู่ในเขตวัดก็ถูกซุ่มยิง มีตายและบาดเจ็บหลายพันคน จนวันนี้ผู้ถืออำนาจอธิปไตยก็หลอกล่อซื้อเวลาเรื่อยไป เหมือนไม่มีอะไรเลวร้ายเกิดขึ้นในแผ่นดินไทย
ไม่น่าเชื่อว่าในแผ่นดินที่มีกฎหมายของรัฐ วันนี้แม้เวลาล่วงเลยไปแล้วกว่า 6 เดือน ก็ยังไม่มีการจับกุมคุมขังฝ่ายผู้กระทำคนใด ไม่มีใครถูกกล่าวหา ไม่มีใครถูกหมายเรียก หรือถูกสอบสวนใดๆ ยกเว้นฝ่ายผู้ถูกกระทำ 417 คนถูกจำขังโดยมิชอบ ผู้นำจำนวนหนึ่งรวมถึงสมาชิกสภาผู้แทนของรัฐถูกละเมิดสิทธิ ไม่ให้ทำธุรกรรมการเงิน ไม่ต้องถามถึงการลงโทษผู้ที่เป็นผู้กระทำให้คนตายและบาดเจ็บ รวมถึงผู้มีอำนาจที่สั่งการ นอกจากเขาจะไม่ถูกจับ ไม่ถูกสอบสวน ไม่มีโทษจากกระบวนการยุติธรรมไทยแล้ว หลายคนยังกลับได้รับการเลื่อนยศเลื่อนตำแหน่งให้สูงขึ้นอีกด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น ทั้งพรรคการเมือง และนักการเมือง ทั้งในฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ยังจะระดมกำลังเสนอญัตติ เสนอกฎหมายเพื่อปรองดองหรือให้นิรโทษกรรมบางคน บางกลุ่มคน เขาทำเพื่อใคร เพื่อผู้ฆ่าหรือผู้ถูกฆ่าที่ไม่ได้ทำผิด ที่ยังไม่ได้รับการเยียวยาใดๆ แล้วนักการเมืองเหล่านี้ ก็ยังประกาศหาเสียงขอคะแนน เพื่อให้ได้รับเลือกตั้งเข้าไปมีอำนาจการปกครองอีก ทำอย่างนี้ได้อย่างไร ไม่รู้ความหนาบาง เพียงแค่นี้ก็บ่งบอกให้เห็น ให้รู้ว่า พรรคการเมืองบางพรรคและนักการเมืองไทย ที่ถืออำนาจอธิปไตยอยู่บางคน ประชาชนก็เห็นแล้วว่าท่านเป็นคนของระบอบใด เผด็จการ หรือประชาธิปไตย ก็ขอให้โชคดีต่อไปเถิด ถ้าอยู่เหนือกฎแห่งกรรม   
ระบอบแห่งอำนาจอธิปไตย ที่เป็นระบอบเผด็จการผสมหลายชนิดของไทยในปัจจุบัน จึงเป็นระบอบหรืออำนาจการปกครองที่ไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชนคนไทย ประชาชนคนไทยทั่วไป ที่เคยคุ้นกับชีวิตแบบสบายๆอะไรก็ได้ เริ่มรู้สึกได้ถึงระบอบแห่งอำนาจที่ไม่เป็นธรรมที่ผ่านมาและดำรงอยู่ มีความตื่นตัวกันอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ เพื่อการเปลี่ยนแปลงใหม่ จนสังคมไทยปัจจุบันเข้าสู่ศูนย์กลางแห่ง “สถานการณ์ปฏิวัติ” เป็นสถานการณ์ที่ประชาชนหยุดไม่ได้ จะไม่ยอมรับระบอบการปกครอง ไม่ยอมรับผู้ปกครอง รัฐบาลจะปกครองไม่ได้ ต้องใช้กฎหมายพิเศษเพื่อรักษาอำนาจตัวเอง จะใช้ความรุนแรง แต่จะแก้ปัญหาไม่ได้ ต่อไปในอนาคต มวลชนทั่วไปก็ยิ่งจะมีความตื่นตัว และต้องการการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น จำนวนก็จะมากขึ้น และมากขึ้นๆ อีกเรื่อยๆ นี่คือสถานการณ์ปฏิวัติของประชาชน คนที่ควรจะตื่นตามในวันนี้ควรจะเป็นนักการเมือง รวมผู้ปกครองทั้งหลาย แต่น่าเสียดาย พวกท่านๆทั้งหลายยังตามประชาชนไม่ทัน
สิ่งที่รัฐบาลฝ่ายผู้ปกครองหรือ ผู้นำฝ่ายประชาชนยังไม่เข้าใจ คือไม่รู้ว่าแท้จริงแล้วประชาชนเคลื่อนไหวตื่นตัวนั้นเพราะต้องการอะไร หลายคนไปโทษคุณทักษิณ จนอดีตนายกต้องได้รับกรรมอย่างไม่สมควร สูญทั้งอำนาจและเงิน ได้รับโทษโดยไม่ได้ทำผิดตามหลักนิติธรรม ท่านทั้งหลายหารู้ไม่ว่า ประชาชนต้องการ “ระบอบประชาธิปไตย” จริงๆ เขาไม่ได้ต่อสู้เรียกร้องเพื่อคนหนึ่งคนใดโดยเฉพาะ แม้แกนนำการเคลื่อนไหวบางคน ก็อาจจะหลงผิด คิดไม่ถึงไม่เข้าใจรากเหง้าของปัญหาชาติ หรือเขาอาจจะเพียงฉกฉวยโอกาส หรือต้านการปฏิวัติ (Counter Revolution) เพื่อพาตัวเองเข้าสู่ระบอบเผด็จการเก่าแก่ดั้งเดิม ถ้าจริงก็เป็นเพียงการหลอกและทำเพื่อประโยชน์แห่งตน จึงนำพามวลประชาชนเรียกร้องเพียงการเลือกตั้ง แทนการเรียกร้องระบอบประชาธิปไตย จนนำไปสู่การสูญเสียอย่างมหาศาลเช่นที่ผ่านมา
จึงขอให้ประชาชนผู้รู้ ช่วยกันตรวจสอบดู และไตร่ตรองคิดดูว่าถ้าหากมีการเลือกตั้ง ถ้าพรรคการเมืองปัจจุบัน ที่ประชาชนแห่กันเลือกจนชนะเลือกตั้ง ใครเป็นผู้แทน เป็นคนของใคร ของพรรคหรือของประชาชน เมื่อตั้งรัฐบาลใหม่ในระบอบเดิม ถามว่ารัฐบาลใหม่ ในระบอบเดิมจะสามารถแก้ปัญหาการปกครองระบอบเผด็จการได้จริงหรือ จะแก้ปัญหาวิกฤติชาติได้จริงหรือ?
คำถามถึงประชาชนคือ แท้จริงแล้วประชาชนไทยร่วมกันเคลื่อนไหว ใส่เสื้อสีต่างๆ เพื่ออะไร เพื่อเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง จากระบอบเผด็จการให้เป็นระบอบประชาธิปไตย ใช่หรือไม่ หรือท่านเพียงต่อสู้เคลื่อนไหวเพื่อใคร เพื่อคนใดคนหนึ่งจริงหรือ? การเคลื่อนไหว ทั้งผ่านเน็ท ผ่านสื่อวิทยุ ทีวี ทั้งเข้าร่วมการชุมนุม โดยสันติ ท่านจริงใจเคลื่อนไหว แม้ภายใต้การห้ามของอำนาจเผด็จการท่านก็ยอมฝืน เพื่ออะไร เพื่อใคร เราเห็นว่า นี่คือสิ่งที่เรียกว่า “สถานการณ์ปฏิวัติ” เป็นสถานการณ์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ที่ผู้ปกครองเผด็จการสุดท้ายจะทนไม่ได้ จะต้องไป ไปอย่างไรก็คอยดูกัน
โดยหลักวิชา ถือว่าในสถานการณ์อย่างนี้ สุดท้ายอำนาจเผด็จการใดๆก็จะทนอยู่ไม่ได้ ถือเป็นกฎเกณฑ์การเปลี่ยนแปลง ของสังคมการปกครองในทั่วโลก ไม่มีเหตุผลใดที่จะทำให้เชื่อว่าไทยจะเป็นข้อยกเว้นของกฎเกณฑ์นี้ ไม่ว่าคนจะถูกฆ่าหรือถูกขังมากเพียงใด เส้นทางสู่ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยก็จะไม่มีวันเปลี่ยนแปลง
ปัญหาที่ผ่านมาที่สำคัญถึงขั้นทำให้เกิดความล้มเหลว คือความไม่เข้าใจในปัญหาของผู้ปกครองและแกนนำการการเคลื่อนไหว ด้วยความไม่เข้าใจอาจจะคิดว่าการเลือกตั้งจะแก้ปัญหาประเทศได้จริง ข้อเรียกร้องของแกนนำจึงมุ่งไปที่ การยุบสภา ให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยคิดว่าหลังการเลือกตั้งประชาชนจะได้มีอำนาจจริงเสียที ซึ่งน่าจะผิด โดยความเป็นจริงแล้วหลังการเลือกตั้งทั่วไปอำนาจอธิปไตยของปวงชน ก็ยังจะไม่เกิด ยังจะเป็นอำนาจของคนกลุ่มน้อยต่อไปเช่นเดิม เป็นของกลุ่มทุนเก่าร่วมกับทหารและข้าราชการบางกลุ่มต่อไปเช่นเดิม ก็เท่านั้น
ในระบอบเดิมนี้ “อำนาจอธิปไตยของปวงชน” นั้น จะยังไม่มีทางเกิดได้ ไม่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ ด้วยเพียงผลการเลือกตั้งทั่วไป หากเลือกตั้งในโครงสร้างแห่งอำนาจในสภาพปัจจุบัน ที่ถือว่าระบอบการปกครองยังจะต้องเป็นของระบอบเผด็จการต่อไป
ความไม่รู้ หรืออ่อนด้อยเชิงหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตย และความผิดพลาดในยุทธวิธีการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลง ด้วยวิธีการระดมมวลชน การเรียกร้อง และการนำโดยกลุ่มปฏิกิริยา ที่ขาดความรู้ทางทฤษฎี ที่ทำการฉวยโอกาสเพียงเพื่อหาอำนาจ และรายได้ให้ตนเองและพรรคพวกนั้น ได้ทำให้กระบวนการเพื่อประชาธิปไตยบิดเบี้ยวไปอย่างน่าเสียดาย ทำให้เป้าหมายและความต้องการของประชาชนล้มเหลว(ชั่วคราว) นอกจากไม่สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเป็นระบอบใหม่ได้แล้ว ยังมีความเลวร้ายมาก ที่ได้ทำให้เกิดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน อันมีค่ามหาศาลจนประมาณค่ามิได้อีกวาระหนึ่ง
หากเราไม่เข้าใจสภาพปัญหาแท้จริง ในอนาคตประวัติศาสตร์ก็อาจจะซ้ำรอยได้ หากวิธีการที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาชาติ และการสร้างประชาธิปไตยไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้องเหมาะสม สังคมไทยอาจจะต้องเผชิญกับการสูญเสีย อีกมากมายมหาศาลกว่าที่เคยเกิดมาแล้วเสียอีก
 
ทางออกประเทศไทย – ต้องปฏิวัติประชาธิปไตย
            ข้อสรุปเบื้องต้น ดังบรรยายมาพอสมควร จึงสรุปได้ว่า ปัญหาประเทศไทยทุกด้าน ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และปัญหาความขัดแย้งอันเกิดจากปัจจัย ที่เป็นสาเหตุใหญ่ที่สุดของปัญหาประเทศไทยในวันนี้ คือการที่อำนาจอธิปไตยเป็นของเผด็จการ อำนาจการปกครองเป็นของกลุ่มทุนผูกขาด ที่เป็นเพียงคนกลุ่มน้อย โดยคนส่วนน้อย เพื่อคนส่วนน้อย คนส่วนใหญ่จึงยัง “โง่ จน เจ็บ” มายาวนานซ้ำซาก ทั้งๆที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดของโลก จนไม่น่าเชื่อว่า ทำไมประชาชนคนไทยแท้ส่วนใหญ่จึงยังลำบาก จึงยังยากจนปานนี้ จึงเป็นผู้ไม่มี จึงมีชีวิตเพื่อรอคอยถุงยังชีพตลอดมา ทั้งเด็ก คนกลางคนและคนสูงอายุ 
ถ้าถามว่าทำไมประเทศอื่น ที่มีทรัพยากรน้อยกว่าไทยมาก จึงเจริญพัฒนาล้ำหน้าไทยไปกันได้มากมาย คำตอบง่ายๆคือเขามีการบริหารจัดการที่ดีกว่า คือเขาเป็นประชาธิปไตยไปก่อนไทยนั่นเอง ทำให้ระบอบการปกครองของเขาเป็นของปวงชน เอื้ออาทรเพื่อปวงชน คนส่วนใหญ่ของเขาได้รับผลลัพท์ทั่วกัน จนมีความพอเพียงจริง มีความสุขกว่าคนไทย จนเขาได้ขึ้นชั้นกลายเป็นประเทศพัฒนากันทั้งหมดรวมประเทศเพื่อนบ้านใหม่ๆใกล้เคียงไทยเราด้วย มีทางเดียวที่จะแก้ปัญหาของไทยให้มีความเจริญเทียมอารยะประเทศอื่นได้คือการทำให้อำนาจการปกครองของไทยเป็นของปวงชน ยกเลิกหรือล้มล้างระบอบเผด็จการ แล้วสร้างระบอบประชาธิปไตยขึ้นแทนให้สำเร็จ
ดังนั้นทางออกของปัญหาประเทศไทยวันนี้ มีทางเดียว คือการสร้างประชาธิปไตยขึ้นให้ได้ แต่ด้วยความซับซ้อนของสภาพปัญหาในระยะที่ผ่านมา การพัฒนาประชาธิปไตยแบบค่อยเป็นค่อยไป หรือการปฏิรูปการปกครองของไทย น่าจะไม่ใช่วิธีการที่จะสำเร็จหรือเป็นไปได้ ไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงได้จริง หากทอดเวลาให้ยาวต่อไปมาก ระบอบการสืบทอดอำนาจ ก็ไม่น่ารอดพ้นจากอำนาจเผด็จการไปได้ ทางออกของไทยที่ถูกต้องเหมาะสมกว่า จึงควรต้องเป็น การปฏิวัติประชาธิปไตย” แทนการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป
หลายคนกลัวคำว่า “การปฏิวัติ” เพราะเข้าใจผิดในความหมายของคำ คิดว่าเป็นการสื่อความหมายที่ใช้ความรุนแรง เนื่องจากเคยมีผู้สับสน นำคำว่า ปฏิวัติ ไปใช้แทนคำว่ารัฐประหาร ซึ่งเป็นการทำให้ระบอบแย่ลงเลวลง แต่ความจริงแล้ว การปฏิวัติหมายถึงการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นเท่านั้น ในการปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนระบอบปกครอง จึงมีความหมายเพื่อเปลี่ยนจากระบอบเผด็จการ ให้เป็นระบอบประชาธิปไตยให้ได้จริง ให้เป็นคุณต่อชาติและประชาชนได้จริง
เพื่อให้เป็นตัวอย่างแรกของโลก คนไทยทุกฝ่ายต้องร่วมเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย โดยไม่ติดยึดสีแห่งสัญญลักษณ์เดิมใดๆ ทุกคนเป็นคนไทยที่มีธงชาติไทยเป็นสัญญลักษณ์ของชาติ หากมองหาสีแห่งประชาธิปไตยไทยของผู้ร่วมเคลื่อนไหว สีธงไตรรงค์สามสีนี้ จะเป็นหลักยึดของคนไทยได้ ที่สำคัญเราควรร่วมกันคิดหาวิธีการ “ปฏิวัติประชาธิปไตยโดยสันติวิธี” ร่วมกัน จะเป็นการดีและเหมาะสมที่สุดทั้งในปัจจุบันและอนาคต
การปฏิวัติประชาธิปไตย คือการเปลี่ยนแปลงระบอบเผด็จการให้เป็นระบอบประชาธิปไตย หรือยกเลิกระบอบเผด็จการแล้วสถาปนาระบอบประชาธิปไตยขึ้นแทน หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าประเทศไทยเป็นระบอบประชาธิปไตยอยู่แล้ว มีรัฐธรรมนูญ มีกฎหมาย มีการเลือกตั้ง มีรัฐสภา ถือว่าเป็นประชาธิปไตยอยู่แล้วเพียงยังไม่สมบูรณ์ ไม่ต้องปฏิวัติก็ได้ เพียงแต่ทำการพัฒนาระบบใหม่ให้สมบูรณ์เท่านั้น เพียงทำการปฏิรูปก็ได้ ไม่ต้องถึงปฏิวัติประชาธิปไตยก็ได้ แต่ดูก่อน ทำความเข้าใจก่อนว่า ระบอบประชาธิปไตยคืออะไรเสียก่อน จึงควรสรุปว่าควรพัฒนา ปฏิรูป หรือปฏิวัติ ความจริงถ้าระบอบอำนาจประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยอยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องปฎิวัติประชาธิปไตย
แต่คำถามเดิมคือวันนี้ประเทศไทยเป็นระบอบประชาธิปไตยจริงหรือ? เพียงการมีรัฐธรรมนูญ มีกฎหมาย มีรัฐสภา มีการเลือกตั้ง แบบไทย เป็นประชาธิปไตยจริงหรือ? ตอบได้ว่าไม่จริง ประเทศที่ปกครองด้วยระบอบเผด็จการต่างๆ ก็มีรัฐธรรมนูญ มีกฎหมาย มีรัฐสภา มีการเลือกตั้ง แต่ก็ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย คนไทยจึงต้องทำความเข้าใจกันใหม่ว่า ระบอบประชาธิปไตยคืออะไร จะสถาปนาทำให้เกิดขึ้นได้จริงอย่างไร ขอให้ทำความเข้าใจต่อไปดังนี้
 
ระบอบประชาธิปไตยคืออะไร?
            เพื่อความเข้าใจตรงกัน อุดมการณ์ประชาธิปไตยสากล ดังประกาศไว้ใน คำประกาศแห่งเสรีนิยมสากล ที่เรียกว่า Liberal Manifesto 1947 หรือ The 1967 Declaration of Oxford และ The 1981 Liberal Appeal of Rome ขององค์การประชาธิปไตยของโลก หรือ Liberal International ที่ก่อตั้งเมื่อปีค.ศ. 1947 อธิบายได้ว่า ระบอบเสรีนิยมประชาธิปไตยนั้น แสดงออกโดยโครงสร้างอำนาจการปกครองแบบประชาธิปไตย หรือ รัฐบาลประชาธิปไตย (Democratic Government) โดยการปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้น จะต้องยึดหลักการปกครองประชาธิปไตย ตามหลักการในคำประกาศที่สำคัญดังนี้
            หลักที่ 1 – อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน (Popular Sovereignty) หมายความว่าประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยสูงสุดของประเทศชาติร่วมกัน ไม่ใช่คนส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือกลุ่มใด คณะใด ซึ่งเป็นคนส่วนน้อยถืออำนาจและผูกขาดอำนาจไว้ ก่อนปี 2475 อำนาจอธิปไตยหรืออำนาจสูงสุดของไทยเป็นของพระมหากษัตริย์ แต่หลังการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 24 และ 27 มิถุนายน 2475 โดยสันติวิธี ประชาชนสยามและประชาชนไทยมีความชอบธรรมในการเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยสูงสุดของชาติ จริง โดยล้นเกล้ารัชกาลที่ 7 ได้พระราชทานกฎหมายที่ชื่อพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองสยาม(ฉบับชั่วคราว) ซึ่งเปรียบเสมือนหนังสือมอบอำนาจให้ปวงชนโดยทรงลงพระปรมาภิไธยเอง โดยไม่ต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ และต่อมาอีก 2 ปี (2 มีนาคม 2477 – ปี 2478 ตามปีสากล) พระองค์ยังได้ทรงพระอักษรเป็นลายพระหัตถ์ว่า “ข้าพเจ้าสมัครใจจะสละอำนาจของข้าพเจ้าให้แก่ราษฎรทั้งหลาย แต่มิยินยอมยกอำนาจของข้าพเจ้าให้แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือคณะหนึ่งคณะใด...” และประโยคทองของหลักแห่งอำนาจอธิปไตยที่กล่าวไว้โดยอดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ชื่ออับบราฮัม ลินคอล์น คือ ”ประชาธิปไตยคือหลักการปกครองที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน โดยประชาชนและเพื่อประชาชน”
หลักการแห่งอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนนี้ ถือเป็นหลักการที่สำคัญที่สุดของระบอบประชาธิปไตย อำนาจอธิปไตยแห่งรัฐถือว่ามีอำนาจเดียว แต่โดยหลักการแห่งการใช้อำนาจรัฐนั้น แบ่งแยกเป็น 3 ด้านหรือ 3 อำนาจการปกครองย่อยคือ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหารและอำนาจตุลาการ โดยหลักการจัดการระบอบอำนาจรัฐนั้น ให้แบ่งแยกอำนาจทั้ง 3 อำนาจ เพื่อการตรวจสอบความชอบธรรมและให้ถ่วงดุลกันและกันได้ เพราะปราชญ์การปกครองเชื่อว่า Power corrupts, absolute power corrupts absolutely คือ “อำนาจมักจะฉ้อฉล อำนาจเผด็จการยิ่งจะฉ้อฉลอย่างเบ็ดเสร็จ”
ในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐภาแบบของไทย โดยทั่วไปจะถือว่ารัฐสภาต้องถือดุลอำนาจรัฐสูงสุด (Supremacy of Parliament) เช่นเดียวกับของประเทศอังกฤษ ก็คือหลักอำนาจประชาชนต้องสูงสุดนั่นเอง แต่รัฐสภาของไทยจริงๆแล้วไม่ใช่ เพราะอำนาจจริงของรัฐไทยไม่ได้เป็นของปวงชนแต่เป็นของเผด็จการทุนผูกขาด ที่มีอำนาจเหนือรัฐสภาเหนืออธิปไตยแห่งปวงชน นอกจากนั้น หลักการแห่งอำนาจอธิปไตยปวงชน ยังสามารถแสดงออกและเห็นได้ จากนโยบายการบริหารประเทศของผู้มีอำนาจปกครอง ที่ใช้อำนาจรักษาผลประโยชน์ของประชาชน หรือปวงชน มิใช่รักษาผลประโยชน์ของคนส่วนน้อย หรือของพรรคพวกของผู้ถืออำนาจเท่านั้น อย่างที่กำลังเป็นอยู่ในประเทศไทยปัจจุบัน
            หลักที่ 2 – หลักสิทธิเสรีภาพ (Freedom or Liberty) ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย บุคคล หรือพลเมืองจะต้องได้รับการประกันสิทธิพื้นฐานและ ต้องมีเสรีภาพบริบูรณ์ ในการใช้สิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมือง ทั้งสิทธิในทางส่วนตัว ในทางสังคมและสิทธิทางการเมือง สิทธิต่างๆเหล่านี้ถือเป็นสิทธิมนุษยชนที่ได้มาพร้อมการเกิด รัฐบาลหรือใครจะละเมิดมิได้ ไม่ว่าจะมีกฎหมายเขียนไว้หรือไม่ก็ตาม เปรียบได้กับสิทธิการหายใจ การดื่มน้ำและการรับประทานอาหาร จะเขียนกฎหมายห้ามไว้ก็ปฏิบัติไม่ได้
            เพื่อไม่ให้สับสนในเหล่าผู้ปกครองระบอบเผด็จการ หลักการแห่งสิทธิพื้นฐานของพลเมืองและสิทธิทางการเมืองของบุคคลทั่วไป ในทางสากลได้รับการกำหนดไว้ในกฎหมายระหว่างประเทศสองฉบับ คือ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (UN Declaration on Human Rights) รวม 30 มาตรา และกฎหมายประกอบที่ชื่อว่าอนุสัญญาระหว่างชาติว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil Rights and Political Rights – ICCPR) ถือเป็นกฎหมายหรือข้อตกลงสากลสำหรับรัฐที่เป็นประเทศภาคีขององค์การสหประชาชาติที่จะต้องให้หลักประกันสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของบุคคล ให้การรับรองศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์
            ในกฎหมายระหว่างชาติ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ใน 30 มาตรา และมีรายละเอียดเป็นแนวปฎิบัติในกฎหมาย ICCPR กำหนดให้รัฐภาคีทุกประเทศ ต้องให้หลักประกันแก่พลเมือง ในด้านความเสมอภาค ให้มีการประกันสิทธิบุคคลที่เป็นพลเมือง ในเรื่อง การเป็นเพศชายหญิง สิทธิในการใช้ภาษาสื่อสาร การนับถือศาสนา สิทธิในการคิดการพูดและการแสดงออก สิทธิในการสมาคม ในการถือครองทรัพย์สิน ในการเลือกถิ่นที่อยู่ การถือสัญชาติ การเลือกคู่สมรส การแต่งงาน การดำเนินชีวิตครอบครัว การศึกษา การประกอบอาชีพ การแสวงหาความสุข การพักผ่อน การเดินทาง สิทธิทางศาล การห้ามลงโทษถ้าไม่มีกฎหมายกำหนด ห้ามลงโทษย้อนหลัง สิทธิในชีวิตและร่างกาย ห้ามการทรมาน การให้การเคารพสิทธิของผู้อื่น การห้ามมีทาส การประกันสิทธิทางการเมือง การประกันโอกาสที่เท่าเทียมในการสมัครเข้าสู่ตำแหน่งการเมือง สิทธิการมีส่วนร่วมในอำนาจการปกครองของรัฐ และสิทธิในการเปลี่ยนแปลงผู้ปกครองผ่านวิธีการเลือกตั้ง (ม.21 ทั้งข้อ 1 ข้อ 2 และข้อ 3) เป็นต้น
            ในจำนวนสิทธิเสรีภาพทั้งปวง กล่าวได้ว่า สิทธิเสรีภาพในการคิด และการแสดงออกมีความสำคัญที่สุด คนแตกต่างสัตว์อื่นก็ในด้านความคิด หากคนถูกตัดสิทธิ ไม่ให้คิด ไม่ให้พูด ไม่ให้แสดงออก ด้วยตนเอง หรือโดยผ่านสื่อต่างๆ แล้ว ก็เปรียบได้ว่าคนก็ไม่ได้แตกต่างจากสัตว์แต่อย่างใด
            หลักที่ 3 – ความเสมอภาค (Equality)   ระบอบประชาธิปไตยถือว่าความเสมอภาคของมนุษย์ เป็นหลักสำคัญของการปกครองแบบประชาธิปไตย ที่จะต้องถือว่ามนุษย์แต่ละคนเมื่อเกิดมาแล้ว แม้โดยธรรมชาติคนเกิดมาไม่เหมือนกัน มีความแตกต่างในทางผิวพรรณ ในเผ่าพันธุ์ ในความฉลาดมากน้อย มีมากมีน้อย การให้คนทุกคนมีความเท่าเทียมกันในทุกเรื่องทุกอย่างจึงเป็นไปไม่ได้ เป็นการขัดกับหลักธรรมชาติของมนุษย์ เพื่ออนุวัติธรรมชาติของมนุษย์ ให้สอดคล้องตามหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตย เมื่อระบอบกำหนดให้ประชาชนต้องเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย หรืออำนาจสูงสุดของประเทศ โดยหลักแห่งความเสมอภาคจึงกำหนดให้ประชาชนจะต้องมีความเท่าเทียมกัน ในการแสดงออกซึ่งความเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยนั้น ใน 3 ด้าน
โดยกำหนดสาระสำคัญของหลักความเสมอภาคของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย 3 ประการ คือ 1) ประชาชนจะต้องเสมอภาคในกฎหมาย (Equality Before the Law) 2) ประชาชนต้องมีความเสมอภาคทางการเมือง ในการออกเสียงลงคะแนน (Equality in Voting) ในการเลือกตั้งหรือลงประชามติ ด้วยหลักหนึ่งคนหนึ่งเสียง (One man one vote) และ 3) ประชาชนต้องมีความเสมอภาคในโอกาส (Equality in Opportunity) นั่นคือระบอบประชาธิปไตย ต้องให้หลักประกันความเสมอภาคของประชาชนในโอกาสที่เท่าเทียม ในการใช้ความสามารถ ในทางเศรษฐกิจ ในการได้รับการประกันสังคม ในการที่จะได้รับการศึกษา ในการประกอบอาชีพ ในการมีงานทำและคุ้มครองแรงงาน
หากตรวจสอบสภาพสังคมไทย ในอดีตและปัจจุบันแล้ว ก็จะเห็นปัญหาระบอบการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย มีมากมาย ที่ขัดแย้งชัดแจ้งกับหลักความไม่เสมอภาคนี้ ที่เป็นรูปธรรมในช่วงสองสามปีนี้ก็มีมากมาย เช่นการตัดสิทธิทางการเมืองของนักการเมืองไทย การใช้ระบบอุปถัมภ์ในการมีงานทำ การได้ตำแหน่ง กระบวนการยุติธรรมที่แตกต่างกรณีเขายายเที่ยง กรณีการจับกุมคุมขังผู้ชุมนุมต่างสีเสื้อ การตัดสินลงโทษอย่างรวดเร็วถ้าเป็นพวกตรงกันข้าม หรือการตัดสินคดีที่มุ่งกลั่นแกล้งเพื่อเอาผิดบุคคลฝ่ายตรงกันข้าม ให้ติดคุกโดยการอ้างการกระทำผิด โดยที่ไม่มีผู้เสียหายหรือไม่มีเจตนาร้าย ถ้าเป็นฝ่ายตนแม้ผิดก็ไม่ติดคุก ถ้าเป็นฝ่ายศรัตรูของระบอบเผด็จการ ต้องให้จำคุกโดยไม่รอลงอาญา หรือให้มีการซุ่มยิงฆ่าเอาชีวิตผู้ชุมนุม เป็นการทำร้ายฝ่ายตรงกันข้ามกับอำนาจเผด็จการ เสมือนมีใบอนุญาตให้ฆ่าได้ แม้เวลาผ่านไปกว่า 6 เดือนก็ไม่พบว่า มีผู้ใดเป็นผู้กระทำ ผู้ใดเป็นผู้สั่งการเป็นต้น แม้เป็นการกระทำที่ชัดเจนเป็นภาพวีดีโอ เห็นกันไปทั่วโลก เหล่านี้คือพยานหลักฐานบ่งชี้ชัด ถึงระบอบการปกครองที่เป็นเผด็จการอันเลวร้ายที่สุดในสังคมไทยวันนี้
หลักที่ 4 – หลักนิติธรรมหรือหลักกฎหมาย (Rule of Law)
ถือว่าหลักนิติธรรมหรือหลักแห่งกฎหมาย คือหลักที่สำคัญมาก ในระบอบที่อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน โดยนัยแห่งความหมายของกฎหมายในระบอบประชาธิปไตย นอกจากต้องเป็นกฎหมายภายใต้หลักนิติธรรมสากลแล้ว หลักกฎหมายของระบอบประชาธิปไตย จึงจำเป็นจะต้องเป็นกฎหมายของปวงชนเท่านั้น กฎหมายจะต้องตราขึ้นโดยรัฐสภาของปวงชนเท่านั้น และนำไปตีความใช้โดยศาลที่ตั้งขึ้นโดยชอบธรรมเท่านั้น โดยให้ถืออำนาจตามกฎหมายของปวงชน กฎหมายใดที่ขัดกับหลักกฎหมายหรือหลักนิติธรรมย่อมถือเป็นโมฆะ
มีการเข้าใจผิดกันมาก ในระหว่างคนที่ไม่รู้หลักหรือลัทธิประชาธิปไตย โดยเข้าใจผิดคิดว่าการปฏิบัติตามกฎหมายคือเครื่องหมายของการถือหลักประชาธิปไตย การไม่ปฏิบัติตามกฎหมายถือเป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตย แต่ความจริง ไม่ว่าในระบอบประชาธิปไตยหรือเผด็จการ ทุกคนต้องปฎิบัติตามกฎหมายทั้งสิ้น ไม่มีระบอบใดอนุญาตให้ใครละเมิดกฎหมายได้ แต่ที่สำคัญกฎหมายที่บังคับใช้จะต้องเป็นกฎหมายที่เป็นประชาธิปไตย กฎหมายเปลี่ยนแปลงได้เสมอ กฎหมายใดที่ไม่เหมาะสม เมื่ออำนาจอธิปไตยไม่ต้องการ ก็สามารถแก้ไขหรือยกเลิกเสียก็ได้ กฎหมายใดไม่เป็นธรรมแก่ประชาชน หากคนจำนวนมากแสดงออกเป็นประชามติคัดค้าน ให้ยกเลิก หรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายฉบับนั้น ก็ถือเป็นวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย หาใช่เป็นวิธี กฎหมู่อยู่เหนือกฎหมาย แต่อย่างใดไม่ การกล่าวเช่นนั้นอาจเป็นความพยายามของอำนาจเผด็จการที่ ต้องการให้ประชาชนยินยอมตามกฎเผด็จการ เพื่อให้ประชาชนอยู่ภายใต้อำนาจแห่งการกดขี่ของพวกตนเองตลอดไป
การปฏิบัติตามกฎหมายจึงไม่ใช่เครื่องหมายบ่งบอกความเป็นประชาธิปไตย เพราะอำนาจเผด็จการก็ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือปกครองเช่นกัน ที่เลวร้ายกว่านั้นระบอบเผด็จการมักจะเน้นหนักให้ประชาชน ต้องปฎิติตามกฎหมายที่กดขี่ประชาชน ที่ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน รวมทั้งกฎหมายปิดปากต่างๆ โดยอ้างเหตุผลความมั่นคงบ้าง การก่อการร้ายบ้าง หรือแม้กระทั่งกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพบ้าง ไม่ว่าจะพูดอะไรเกี่ยวกับสถาบัน หากเป็นบุคคลฝ่ายตรงกันข้ามกับอำนาจเผด็จการ ก็จะใช้กฎหมายหมิ่นฯเป็นข้อหาในการกลั่นแกล้ง เพื่อประหัตถ์ประหารกำจัดบุคคลที่เป็นฝ่ายตรงกันข้าม เพื่อประโยชน์ของพวกตนที่เป็นอำนาจเผด็จการทั้งสิ้น ทั้งๆที่ผลเสียย่อมตกสู่สถาบันโดยตรง พวกที่ทำให้สถาบันเบื้องบนเสียหายอย่างแท้จริง จึงเป็นคนของพวกกระบอบเผด็จการทั้งนั้น
เมื่อตรวจสอบสภาพการณ์ตามหลักนิติธรรม หรือหลักการใช้กฎหมายปกครองของไทย ไม่ว่าจะเป็นอำนาจในฝ่ายนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจในฝ่ายศาลหรือตุลาการ ในระบอบเผด็จการแบบไทยนี้ ล้วนมีปัญหาหลักกฎหมายที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่อยู่บนหลักนิติธรรม ทั้งสิ้น มีกฎหมายไทยหรือแม้แต่รัฐธรรมนูญที่ตราขึ้นโดยอำนาจเผด็จการ ไม่ผ่านอำนาจปวงชนจริง กฏหมา(ย)เผด็จการมีเต็มบ้านเมืองไปหมด แต่ฝ่ายนิติบัญญัติก็ไม่เห็นเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเปลี่ยนแปลงแก้ไข ซ้ำร้ายยังมีการมอบอำนาจอธิปไตย ไม่ว่าเป็นอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการ ให้องค์กรที่เรียกว่าองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญอีก เพื่อให้ใช้อำนาจอธิปไตย เหนืออำนาจนิติบัญญัติ เหนืออำนาจบริหาร เหนืออำนาจตุลาการ เป็นการใช้อำนาจรัฐเหนืออำนาจอธิปไตยปวงชน ซึ่งผิดหลักการแห่งระบอบประชาธิปไตยอย่างยิ่ง
เมื่อตรวจสอบสภาพปัญหากฎหมายในระบอบการปกครองไทย จะเห็นว่า อำนาจแห่งระบอบเผด็จการได้ทำให้หลักกฎหมายของไทยขัดต่อหลักนิติธรรมสากล แม้แต่ศาลก็ยังถือว่ากฎแห่งเผด็จการเป็นกฎหมายชาติ นำมาบังคับใช้ได้โดยชอบ หลักกฎหมายจะมีผลย้อนหลังไปลงโทษบุคคลมิได้ แต่ในระบอบเผด็จการไทยในปัจจุบันก็ทำได้ กฎหมายไทยลงโทษคนที่ไม่ได้กระทำความผิดด้วยตนเองก็ได้ แม้คนอื่นทำผิดคนไม่ได้ทำก็ผิดด้วย เพียงการถูกกล่าวหาว่าทำผิดกฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้สุจริต แต่ราชทัณไทยในระบอบเผด็จการสามารถกักขังจนลืมก็ได้ เพราะสอบหาหลักฐานไม่จบ ตีตรวนได้ องค์กรนิติบัญญัติของอำนาจเผด็จการ สามารถออกกฎหมายที่ละเมิดหลักกฎหมายหรือหลักนิติธรรมได้ ทำให้สิทธิเสรีภาพของประชาชน ต้องถูกทำลาย ประชาธิปไตยจึงเป็นไปไม่ได้ภายใต้ระบอบกฎหมายของระบอบเผด็จการ ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงจะต้องถือหลักกฎหมายและหลักนิติธรรมอย่างเคร่งครัด
            หลักที่ 5 – หลักอำนาจการปกครองจากการเลือกตั้ง (Elected Government)
            หลักรัฐบาลจากการเลือกตั้ง หมายถึงอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารของรัฐจะต้องมาจากการเลือกตั้งทั่วไป คือการให้ผู้ปกครองต้องเป็นที่ยอมรับ หรือเป็นของปวงชนนั่นเอง ให้ยึดหลักการอำนาจประชาชนเป็นหัวใจสำคัญ ระบอบ ประชาธิปไตยหัวใจของระบอบคืออำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ประชาชนต้องมีสิทธิและเสมอภาค ในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง หรือลงประชามติเพื่อเปลี่ยนแปลงและถอดถอนรัฐบาล เจตนารมย์ที่แสดงออกของประชาชนในการเลือกตั้งคือความชอบธรรม ในการอยู่ในอำนาจหรือการออกจากอำนาจของผู้ปกครอง
            อำนาจการปกครองหรือผู้ปกครองจากการเลือกตั้ง ถือเป็นหลักประชาธิปไตยทางผู้แทน (Representative Democracy) ที่ยอมรับว่า ประชาชนทั่วไปไม่สามารถใช้อำนาจทางตรงได้ จึงต้องใช้ผู้แทนแห่งอำนาจตน คำถามที่สำคัญคือ ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นใคร ผู้แทนเป็นใคร มีอิสระในการเป็นตัวแทนแห่งอำนาจของปวงชนเพียงใด หรือเป็นได้เพียงผู้แทนของกลุ่มทุนเผด็จการผูกขาดบางกลุ่มเท่านั้น
หากดูที่โครงสร้างของอำนาจ ดูที่มาของอำนาจในระบบตัวแทน ว่าเป็นของปวงชนเพียงใด มีความครอบคลุมกลุ่มประชาชนน้อยใหญ่ครบถ้วนมากน้อยเพียงใด ก็จะรู้ได้ รู้คำตอบว่าเป็นรัฐสภาประชาธิปไตยหรือไม่ ในระบอบรัฐสภาแห่งประชาธิปไตย หากโครงสร้างผู้แทนจากการเลือกตั้ง ส่งผลให้อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนอย่างแท้จริง ก็เป็นประชาธิปไตย อำนาจการปกครองทั้งฝ่ายนิติปัญญัติที่เป็นผู้ถือดุลอำนาจการตรากฎหมายแห่งรัฐ และฝ่ายบริหารที่เป็นผู้กำหนดนโยบายเพื่อปวงชน หากมาจากอำนาจอธิปไตยของปวงชนโดยแท้ ย่อมถือเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญ ของระบอบประชาธิปไตยได้ อำนาจอธิปไตยก็จะเป็นของปวงชนได้อย่างแท้จริง หากเป็นในทางตรงกันข้าม รัฐสภาก็จะเป็นเพียงผู้แทนของระบอบเผด็จการเท่านั้น
            ฉะนั้น หากเพียงมีการเลือกตั้งในระบบใดก็ตาม ทำให้ได้ตัวแทนที่ไม่มีอิสระ มาเป็นผู้ปกครอง ไม่ว่าจะอยู่ฝ่ายนิติบัญญัติหรือฝ่ายบริหาร แต่เขาต้องอยู่ภายใต้อาณัติ ในกำกับของผู้นำพรรคการเมืองหรือของนายทุนที่เป็นเจ้าของพรรค รัฐสภาก็ไม่เป็นรัฐสภาประชาธิปไตยได้ อำนาจก็เป็นเพียงอำนาจเผด็จการทางรัฐสภาเท่านั้น การเลือกตั้งในระบอบเผด็จการจึงไม่ทำให้อำนาจการปกครองเป็นประชาธิปไตยได้ ในอีกความหมายหนึ่ง ความเป็นประชาธิปไตย ไม่ได้หมายถึงการเลือกตั้งหรือไม่เลือกตั้งเสมอไป อาจจะใช้วิธีที่ได้ตัวแทนจากคนที่เลือกตั้งภายในกลุ่มหลากหลาย มาทำหน้าที่แทนปวงชนก็ได้ เมื่อหากได้ตัวแทนที่ทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของปวงชน ก็ถือได้ว่าเป็นผู้ปกครองในระบอบประชาธิปไตยได้
            จุดอ่อนของการเลือกตั้งยังมีมากมาย นอกจากการเลือกตั้งที่ไม่บริสุทธิยุติธรรมแล้ว การเลือกตั้งจึงมิใช่ทางออกของการแก้ปัญหาชาติเสมอไป มิใช่วิธีการหลักแห่งระบอบประชาธิปไตยเสมอไป ถ้าเป็นเลือกตั้งในระบอบเผด็จการ ก็ได้เพียงอำนาจเผด็จการเท่านั้น ในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบเผด็จการอื่นๆ ก็มีการเลือกตั้ง แต่อาจจะเป็นการเลือกตั้งที่มีการจำกัดสิทธิผู้สมัครและผู้เลือกตั้งด้วยวิธีการและข้อกำหนดต่างๆมากมาย เช่นมีการจำกัดให้เฉพาะคนที่เป็นพวกของฝ่ายเผด็จการ ลงแข่งขัน จำกัดวุฒิการศึกษา การกำหนดค่าสมัครไว้สูงลิ่ว เพื่อกันไม่ให้คนทั่วไปลงสมัครได้ การเลือกตั้งในระบอบเผด็จการ ก็เป็นเพียงการให้ประชาชนลงคะแนนเลือกพอเป็นพิธีการเท่านั้น หลังเลือกตั้งแล้วผู้มีอำนาจจริงก็ถือว่า ได้อำนาจ “มาจาก” ประชาชนแล้ว จะทำอะไรก็ได้ การเลือกตั้งเช่นนี้ก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย ไม่ถือว่าเป็นหลักการของระบอบประชาธิปไตย
หากพิจารณาให้ถ่องแท้ การเลือกตั้งหรือการลงประชามติของไทยที่ผ่านมา ก็เห็นได้ว่าเป็นไปในทำนองเดียวกับการเลือกตั้งในระบอบเผด็จการ หลังการเลือกตั้งของไทย หากพรรคการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยชนะ ไม่ใช่พรรคที่เป็นตัวแทนปวงชนจริง ชนะการเลือกตั้ง แม้มีอำนาจปกครอง ก็จะไม่ทำให้การปกครอง เป็นประชาธิปไตยได้ ผลการเลือกตั้งของไทยส่วนใหญ่ จึงไม่ใช่คำตอบของการสร้างระบอบประชาธิปไตย การเลือกตั้งจึงไม่ใช่สาระสำคัญที่สุดของประชาธิปไตย และยิ่งหนักขึ้นหากนักการเมืองหรือผู้สมัครรับเลือกตั้งไม่มีอิสระ ในการคิด การพูด หรือการตัดสินใจ ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการสรรหาผู้แทนขั้นต้น คนที่ได้เป็นผู้แทนประชาชน หากมาทำงานในรัฐสภา ก็ไม่อาจทำหน้าที่เป็นตัวแทนในระบอบประชาธิปไตยได้ อำนาจรัฐสภาจากการเลือกตั้งก็จะกลายเป็นเพียงอำนาจแห่งเผด็จการรัฐสภาเท่านั้น
ดังบรรยายเหตุปัจจัยของสภาพและปัญหาการเลือกตั้ง ในฐานะส่วนหนึ่งของวิธีการแห่งระบอบประชาธิปไตย จึงกล่าวได้ว่าการเลือกตั้งไม่ใช่หลักการที่สำคัญที่สุด ไม่สามารถเป็นมรรควิธี หรือหนทางไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยได้ดีที่สุด ตามที่บางคนเชื่อ และประชาชนจำนวนก็อาจจะเข้าใจผิด และเชื่อเช่นนั้นไปด้วย การเรียกร้องของคนไทยในการชุมนุมที่ผ่านมา จึงขอให้ยุบสภาให้มีการเลือกตั้งทั่วไปใหม่นั้น จึงไม่อาจจะเป็นวิธีแก้ปัญหาการของชาติ ด้วยการใช้การเลือกตั้งเพื่อล้มระบอบเผด็จการได้ และเรายังไม่เคยสามารถใช้วิธีการเลือกตั้ง เพื่อเป็นเครื่องมือสร้างระบอบประชาธิปไตยได้ตลอดเวลาที่ผ่านมาอีกด้วย  
            อย่างไรก็ตามหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่กล่าวถึงทั้ง 5 ประการ คือ อำนาจอธิปไตยของปวงชน หลักเสรีภาพ หลักคนเสมอภาค หลักกฎหมาย และหลักผู้ปกครองจากเลือกตั้ง ทุกหลักการล้วนมีความสำคัญทั้งสิ้น แต่ที่สำคัญทีสุดที่เป็นหัวใจของระบอบประชาธิปไตย คือหลักการสร้างระบอบอำนาจอธิปไตยให้เป็นของปวงชนอย่างแท้จริง แม้เพียงทำให้หลักนี้ข้อเดียวให้สำเร็จเป็นจริงเท่านั้น หลักการสำคัญอื่นๆ ก็จะเป็นไปได้จริงด้วย
 
เราจะปฎิวัติประชาธิปไตยอย่างไร ?
            สังคมไทยเข้าใจผิด หรือหลงผิดคิดว่าการสร้างประชาธิปไตย จะทำได้โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อมีปัญหาทางการเมือง ผู้นำจึงไปคิดแก้ไขรัฐธรรมนูญ จนสุดท้ายประเทศไทย รวยรัฐธรรมนูญมากถึง 18 ฉบับ มากกว่าประเทศอื่นใดในโลก แต่เราก็ยังไม่เคยเป็นประชาธิปไตยได้ ด้วยการสร้างรัฐธรรมนูญ จึงน่าสรุปเป็นบทเรียนได้ในวันนี้แล้วว่า ประชาธิปไตยไม่สามารถเกิดได้จากรัฐธรรมนูญ ดังนั้นวิธีการที่นักการเมืองไทย รวมถึงคณะบุคคลที่รัฐบาลเผด็จการตั้งขึ้น คิดและเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ไขปัญหาประเทศไทย เพื่อปฎิรูปประเทศไทยนั้น จึงไม่มีทางจะสำเร็จได้ ไม่ว่าจะใช้งบประมาณแผ่นดินมากเพียงใด
            รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายหลักแห่งระบอบประชาธิปไตย จะเกิดได้จากอำนาจหรือระบอบประชาธิปไตย โดยความเป็นจริง กฎหมายคือเครื่องมือรักษาระบอบอำนาจที่กำลังเป็นอยู่ อำนาจใดเขียนกฎหมายก็จะเป็นกฎหมายเพื่อกลุ่มชนที่ถืออำนาจนั้น หากรัฐธรรมนูญมาจากระบอบเผด็จการ ก็จะเป็นรัฐธรรมนูญเผด็จการ เพื่อรักษาอำนาจระบอบเผด็จการไว้ หากอำนาจการปกครองเป็นประชาธิปไตยรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบก็จะเป็นประชาธิปไตย จึงกล่าวได้ว่า “หากงาช้างไม่ได้งอกจากปากสุนัขฉันใด รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ก็จะไม่เกิดจากอำนาจเผด็จการฉันนั้น” สิ่งที่ประชาชนต้องเข้าใจเป็นเบื้องต้นในวันนี้ คือระบอบประชาธิปไตยจึงต้องมาก่อนรัฐธรรมนูญเสมอ ไม่ใช่มีรัฐธรรมนูญแล้วจึงจะมีประชาธิปไตย เช่นในอดีตถ้าเราไม่ได้รับโอนอธิปไตยมาจากพระมหากษัตริย์มาก่อนเมื่อปี 2475 ราชอาณาจักรสยามจะมีรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยฉบับ 27 มิถุนายน 2475 ได้อย่างไร ระบอบประชาธิปไตยคือปัจจัยที่ทำให้มีรัฐธรรมนูญของประชาชนเพื่อประชาชน ดังนั้นการสร้างหรือการปฎิวัติประชาธิปไตย ต้องเริ่มที่การทำระบอบอำนาจให้เป็นของปวงชนก่อน
ในโลกประชาธิปไตยทั้งหลายนั้น การเริ่มต้นของระบอบการปกครองในทุกประเทศ ล้วนเริ่มจากการเป็นระบอบเผด็จการมาก่อนทั้งสิ้น การทำให้ระบอบการปกครองของเขาเป็นประชาธิปไตยนั้น มีหลักง่ายๆ ที่เขาทำกันอยู่เพียง 2 อย่างใหญ่ๆคือ
๑)      ขจัดหรือทำลายระบอบเผด็จการลง
๒)     สถาปนาหรือสร้างระบอบประชาธิปไตยขึ้นแทน ก็เท่านั้น
การขจัดหรือทำลายระบอบเผด็จการนายทุนผูกขาด และเผด็จการรัฐสภาลงให้ได้โดยสิ้นเชิงนั้นมีมาตรการสำคัญที่จำเป็นต้องทำบางส่วนกล่าวได้คือ
๑)      ทำให้รัฐบาลของการปกครองแบบเผด็จการรัฐสภาสิ้นสุดลง
๒)     ทำให้รัฐสภาของการปกครองแบบเผด็จการรัฐสภาหรือเผด็จการนายทุนผูกขาดสิ้นสุดลง
๓)     ยกเลิกรัฐธรรมนูญของการปกครองแบบเผด็จการรัฐสภา หรือเผด็จการทุนผูกขาด
๔)     ยกเลิกกฎหมายพรรคการเมือง สลายพรรคการเมืองที่เป็นของนักธุรกิจการเมือง ซึ่งเป็นพรรคที่รักษาการปกครองในระบอบเผด็จการรัฐสภา ฯลฯ
การสถาปนาระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของไทย หรือการปฎิวัติประชาธิปไตยของไทย ให้สำเร็จนั้น ควรพิจารณาเพียงวิธีการปฏวัติในแนวทางสันติเท่านั้น การเคลื่อนไหวมวลชนในห้วงเวลาที่ผ่านมา หรือการคิดปฎิวัติในแนวทางรุนแรง เราเชื่อว่าไม่อาจจะสำเร็จได้ในบริบทของประเทศไทย แต่ในแนวทางแห่งสันติสังคมไทยสามารถบรรลุเป้าหมายประชาธิปไตยได้ โดยมรรควิธีนั้นอาจจะไม่สามารถสาธยายได้ทั้งหมด แต่มีความจำเป็นจะต้องมีมาตรการดำเนินการที่สำคัญบางอย่าง กล่าวโดยภาพรวมคือ
จำเป็นต้องมีการเคลื่อนไหว ในทางความคิดประชาธิปไตย ในทางหลักการและทฤษฎีต่างๆ ในหมู่ประชาชนทั่วไปให้เข้าใจ และจะต้องมีการเคลื่อนไหวในทางจัดตั้งองค์กรสร้างประชาธิปไตย ให้เป็นเครือข่ายอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในกลุ่มทุนเสรีนิยม กลุ่มกรรมกร และมวลชน ทุกอาชีพ ทุกวัฒนธรรมทั่วประเทศ อาจจะต้องดำเนินการเป็นสมัชชาประชาชนเพื่อสร้างประชาธิปไตยขึ้นในระดับชาติ
เมื่อถึงเวลาหนึ่ง จะเกิดมีองค์กรในลักษณะ สภาประชาชนเพื่อปฎิวัติประชาธิปไตยขึ้น โดยอาจจะประกอบด้วย ผู้แทนปวงชนและผู้แทนกลุ่มอาชีพและวัฒนธรรมต่างๆอย่างกว้างขวาง ทำหน้าที่คล้ายหน้าที่รัฐสภา แต่น่าจะทำได้ดีกว่ารัฐสภาในระบอบเผด็จการ ที่ไม่ได้ทำงานเพื่อประโยชน์ชาติและประชาชนอย่างแท้จริง ในช่วงเวลาอันไม่นานนักในอนาคตอันใกล้นี้ อาจจะมีความเป็นไปได้ที่สภาประชาชนปฎิวัติประชาธิปไตย ในวันที่มีความจำเป็น อาจจะต้องทำภารกิจร่วมกับรัฐภาในระบอบเผด็จเดิมเพื่อการปรองดองในชาติ กลายเป็นสภาแห่งชาติเพื่อสถาปนาระบอบประชาธิปไตย (National Council for Democracy) ขึ้นก็ได้ ซึ่งอาจจะนำไปสู่รัฐบาลพระราชทาน หรือรัฐบาลเฉพาะกาล หรือรัฐบาลชั่วคราว (Provisional Government) เพื่อทำภารกิจสำคัญต่างๆที่จำเป็น ในระยะเปลี่ยนผ่าน เพื่อสถาปนาระบอบประชาธิปไตยขึ้นให้ได้ เพื่อนำสังคมไทยไปสู่ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ให้ได้อย่างแท้จริง
ด้วยหลักการแห่งสิทธิมนุษยชน สิทธิในการคิด ในทางการเมือง ในการสมาคม ฯลฯ ถือเป็นสิทธิอันชอบธรรมของประชาชนทั่วโลก รวมทั้งคนไทยทุกหมู่เหล่า การดำเนินงานของสภาประชาชน จึงไม่ต้องใช้กฎหมายของระบอบเผด็จการใดๆ มากำกับหรือเป็นแนวทางดำเนินการในด้านใดๆ สภาประชาชนฯที่จะดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ไปตามเส้นทางแห่งระบอบประชาธิปไตย โดยชอบธรรม อาจจะมีอุปสรรคบ้าง แต่ด้วยแนวทางแห่งสันติวิธี เชื่อว่าจะมีแต่สิ่งดีๆเท่านั้นที่จะเกิดขึ้นตามมา และเชื่อมั่นได้ว่าจะส่งเพียงผลดีต่อชาติ ศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์ กับปวงชนชาวไทยเท่านั้นในท้ายที่สุด...ฯ
 
 
*เอกสารประกอบการสัมมนาเรื่อง “ทางออกประเทศไทย – ฟังเสียงประชาชนคนสามสี”จัดโดยชมรมประชาธิปไตยแห่งชาติ ร่วมกับ ศูนย์ข่าวประชาชนและหนังสือพิมพ์ไทยเรดนิวส์ ณ ห้องสัมมนาชั้น 5 อาคารอิมพีเรียลเวิลดิ์ลาดพร้าว กทม. วันเสาร์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ 2553 เวลา 13.00 – 16.30 น.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท