Skip to main content
sharethis

ศุกร์ที่ 5 มิถุนายน ตอนสาย เด็ก ๆ เล่อป่อเฮอข้ามแม่น้ำมาเมืองไทยแล้ว...
ตลอดวันนั้นทั้งวันที่เรานั่งทำงาน กินข้าว ดื่มกาแฟ พูดโทรศัพท์ งีบหลับ อ่านหนังสือ ฯลฯ เรือเล็กๆ สี่ลำกำลังทำหน้าที่ขนชาวบ้านนับพันอพยพมาประเทศไทย รอบแล้วรอบเล่า
วันก่อนหน้า ได้ข่าวว่า ครูนอดาพาเด็กในความดูแลกว่า 40 คนจากหมู่บ้านจิโพคีข้ามมาหลบอยู่ในวัดไทย จิโพคีอยู่ในเขตอิทธิพลของดีเคบีเอ ครูนอดาเคยพาเด็กๆ วิ่งหลบลูกกระสุนมาก่อนแล้วหลายครั้ง แม้ว่าแกมักล้อเลียนตัวเองว่าเป็นคนขี้ขลาด ได้ยินเสียงปืนทีไรก็ร้องไห้ตัวสั่นงันงก ... ครูนอดาตัวจริงของวันนี้ ก็คือแม่ไก่ที่กางปีกปกป้องลูกเจี๊ยบพาดั้นด้นข้ามน้ำเชี่ยวมาสู่ที่ปลอดภัยอย่างกล้าหาญ
 
นั่งเขียนหนังสืออยู่ที่นี่ สงครามเข้าใกล้มาเต็มที ลูกปืนใหญ่ตกลงไม่ไกลจากบ้านผู้ใหญ่เล่อป่อเฮอแล้ว เด็กบางคนไม่อยากเข้าใจและไม่รับรู้ แต่หลายคนก็คงขวัญผวา โดยเฉพาะคนที่เคยยืนน้ำตานองอยู่บนฝั่งไทย มองภาพโรงเรียนของตัวถูกเผาเป็นเถ้าถ่านมาก่อน
 
ส่วนใหญ่ พวกเขาเคยเห็นภาพนั้นมาแล้ว มากกว่าหนึ่งครั้ง
 
ข่าวการสู้รบระหว่างกองทัพพม่าร่วมด้วยกองกำลังกะเหรี่ยงพุทธ(ดีเคบีเอ) กับกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (เคเอ็นยู) จนส่งผลให้มีผู้ลี้ภัยข้ามมาฝั่งไทยกว่าสองพันคน และกำลังเพิ่มขึ้นเป็นสามสี่พันคน เป็นข่าวเล็กๆ ที่อาจไม่ได้รับความสนใจมากนัก


เรื่องแบบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับคนที่ติดตามข่าวสารชายแดนและประเทศเพื่อนบ้าน เราหลายคนอ่านข้อมูลลักษณะนี้จนชิน และชา  แม้จะรู้ทั้งรู้ว่ามันโหดร้ายสำหรับคนที่กำลังเผชิญหน้ากับสถานการณ์นั้นปานใด
 
ถ้าพูดกันในเชิงข้อมูลเชิงวิเคราะห์ ก็อาจต้องเริ่มต้นด้วยการฉายภาพว่า เล่อป่อเฮอคือหมู่บ้านตั้งใหม่ของคนที่ถูกทำให้พลัดถิ่นฐานโดยสงครามระหว่างรัฐบาลทหารพม่ากับเคเอ็นยู ชาวบ้านบางคนย้ายมาจากเล่อป่อเฮอเดิมที่อยู่ไม่ไกลนัก บางคนโยกย้ายมาจากที่อื่น และล่าสุดก็ยังมีคนที่เพิ่งหนีการเกณฑ์ทหารและลูกหาบของดีเคบีเอมาพักอยู่ด้วย
 
พื้นที่ดังกล่าวสงบและปลอดภัยมาเกือบสิบปี โรงเรียนเล่อป่อเฮอที่ขยายแล้วขยายอีกกลายเป็นสถานศึกษาขั้นสูงสำหรับเด็ก ๆจากหมู่บ้านในเขตอิทธิพลของดีเคบีเอที่มักมีโรงเรียนชุมชนถึงเพียงชั้นป. 2 การอยู่ได้อย่างมั่นคงของเล่อป่อเฮอ คงเป็นเรื่องที่วิเคราะห์วิพากษ์ไปได้หลายรูปแบบ เพราะมีทั้งประเด็นการทำความตกลงกันในระดับเคเอ็นยูและดีเคบีเอท้องถิ่น ไปจนถึงความสัมพันธ์แข็งแกร่งระหว่างครูต่อครู เด็กต่อเด็ก และเครือญาติมวลมิตรที่อย่างไรก็ตัดกันไม่ขาด แม้ว่าในยุคหนึ่ง พวกเขาจะเคยเห็นการแตกหักชนิด “พี่ฆ่าน้อง” “น้องฆ่าพี่” มาแล้วก็ตาม
 
แต่เนื่องจากบทความบทนี้ไม่ใช่บทวิเคราะห์ และไม่มีวัตถุประสงค์จะให้ข้อมูลอันจะเป็นประโยชน์แก่งานวิชาการใด ๆ ภาพของเล่อป่อเฮอที่จะบรรยายให้เห็นในที่นี้ จึงเป็นเพียงหมู่บ้านกะเหรี่ยงริมแม่น้ำเมยที่งดงามที่สุดแห่งหนึ่ง



และเด็ก ๆ ที่นั่น ก็เพียงเป็นเด็ก ๆ ที่สวยงามที่สุดของโลกกลุ่มหนึ่ง
 
หมู่บ้านเล่อป่อเฮอ อยู่ริมเส้นขอบแดนซึ่งคือแม่น้ำเมยอันถูกกำหนดให้เป็นพรมแดนประเทศ บ้านไผ่ใต้ถุนสูงหลังคาตองตึง ปลูกกระจายตัวห่าง ๆต่างกับกระท่อมในค่ายผู้ลี้ภัยที่แออัดยัดเยียด นี่คือเหตุผลที่คนที่นี่เลือกที่จะไม่เข้าค่าย อยู่ที่เล่อป่อเฮอ พวกเขาใช้ชีวิตได้อย่างเสรี เลี้ยงหมูเลี้ยงไก่ ทอผ้า ปลูกผัก ทำไม่ได้เพียงอย่างเดียวคือปลูกข้าว เพราะรอบ ๆหมู่บ้านเป็นสนามกับระเบิดที่เคเอ็นยูวางไว้ป้องกันกองทัพพม่าหรือดีเคบีเอ
 
เล่อป่อเฮอมีหาดทรายและโขดหินที่ร้อนระอุในยามกลางวัน หนาวเหน็บถึงสะท้านได้ในยามกลางคืน และสดชื่นที่สุดในยามเช้า หน้าหนาว ลำน้ำทั้งสายห่มด้วยไอหมอกขาวตั้งแต่ฟ้าแจ้งจนแดดจ้า ในขณะที่หน้าแล้ง น้ำจะตื้นใสจนใครต่อใครก็อยากลงดำผุดดำว่าย และในหน้าฝนอย่างนี้ สายน้ำก็ขยายสูงจนเกือบเอื้อมแตะได้จากชานบ้าน
 
โรงเรียนเล่อป่อเฮอชั้นประถมต้นเป็นเพียงโรงไม้หลังคาตองตึง กั้นระดับชั้นด้วยกระดานดำผุ ๆพัง ๆ แต่ห้องเรียนของเล่อป่อเฮอหอมกลิ่นแม่น้ำ และเป็นห้องเรียนที่หัวเราะได้ ร้องเพลงได้ และเต้นระบำได้ ครูหลายคนเป็นขบถหัวใหม่และนักดนตรีชั้นดี เด็ก ๆจึงกล้าพูดกล้าทำ กล้ารับผิดชอบ และยังหัดเขียนเพลง เล่นเพลง และร้องเพลงกันเป็นแถว
 
..นี่คือเล่อป่อเฮอ.. และเมื่อเราพูดถึงผู้ลี้ภัยราวพันจากเล่อป่อเฮอ รวมถึงอีกสองพันจากหมู่บ้านใกล้เคียง เราจึงกำลังหมายรวมถึงพ่อเฒ่าแม่เฒ่า ผู้หญิงท้องแก่ คู่รักวัยรุ่น เด็กน้อยมอมแมม ทารกแบเบาะ แม่ของลูกชาย พ่อของลูกสาว พี่ น้อง เพื่อนของใครบางคน และหลายคน


เมื่อเราพูดถึงคนลี้ภัย เราจึงกำลังพูดถึงคนที่ต้องสะกดใจ ข่มอารมณ์ กัดริมฝีปากเก็บข้าวของเท่าที่เก็บได้ ขณะที่พยายามทำใจว่าสิ่งที่ไม่สามารถหยิบติดไปก็คงต้องถูกทำลายเป็นจุล บ้านที่เคยอยู่และโรงเรียนที่เคยเรียนเคยสอนอันเปี่ยมไปด้วยความทรงจำทั้งหวานชื่นและขมขื่นอาจต้องถูกเผา หมู่บ้านนี้ผืนดินนี้ อาจไม่ได้กลับมาเห็นอีกแล้ว ชั่วชีวิต
 
และเมื่อเราพูดถึงคนที่กำลังหลบภัยอยู่ในหมู่บ้านกะเหรี่ยงฝั่งไทย แออัดกันในวัด โบสถ์ โรงเรียน และกระท่อมพักของชาวบ้าน เรากำลังหมายรวมถึง ...
 
กลุ่มเด็กผู้หญิงที่วิ่งไล่จับผีเสื้ออยู่ที่สนามหน้าหอพัก
        เหล่าทโมนที่อยากจะง่วนจับกบหาปลามากกว่าท่องหนังสือ
             แก็งเด็กจิ๋วที่เดินร้องเพลงคริสต์มาสตามบ้านเพื่อแลกกับขนมวันเทศกาลทุกปี
                    แม่เฒ่านักด้นธา (บทกวี) ระดับปรมาจารย์ที่ปกาเกอะญอเชียงใหม่ยังต้องคารวะ
                             เด็กชายหน้าจิ้มลิ้มปากแดงที่ขาขาดเพราะกับระเบิด
                                    เด็กชายวัยรุ่นที่ทั้งแสบและขี้แยได้พร้อม ๆกันอย่างไม่น่าเชื่อ
                                            เด็กหญิงนักแสดงจาก “บทเพลงของแอ้โด้ะฉิ” ที่หลายคนหลงรัก
                                                 และอื่น ๆ
                                                        อื่น ๆ
                                                             อื่น ๆอีกมากมาp
 
เนื่องจากบทความชิ้นนี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์จะทำหน้าที่วิเคราะห์วิพากษ์วิจารณ์ใด ๆ ข้อสรุปของมันจึงมีเพียงว่า ผู้คนเหล่านี้ที่กำลังหลบภัยอยู่ริมขอบแดนไทย กำลังหวาดกลัวว่าบ้านอันเป็นที่รักจะถูกทำลาย กระสุนปืนใหญ่จะข้ามน้ำมาถึงที่นี่ พรุ่งนี้จะไม่มีที่ให้อยู่หรือให้ไป วันไหนจะถูกส่งเข้าไปอยู่ในรั้วลวดหนามค่ายผู้ลี้ภัย หรือเมื่อไรจะถูกกดดันส่งกลับไปสู่อันตรายหรือไม่
 
ดังนั้น แม้ความช่วยเหลือจากองค์กรมนุษยธรรมนานาชาติต่าง ๆจะเข้าไปถึงแล้ว ความช่วยเหลือใด ๆจากท่าน ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เสื้อผ้า ผ้าห่ม ขนม ถ้อยคำ รวมทั้งการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อให้มั่นใจว่าทุกคนจะได้รับความช่วยเหลือและคุ้มครองที่เหมาะสม ล้วนเป็นกำลังใจและมิตรภาพที่พวกเขาปรารถนาอย่างที่สุด ในยามทุกข์ยามนี้
 
 
 
-----------------------
หมายเหตุ
เนื่องจากเจ้าจัมโบ้ หมาประจำหอพัก คงไม่สามารถว่ายข้ามแม่น้ำในฤดูฝนมาได้ ดิฉันจึงหวังว่า มันอาจได้นั่งเรือมากับเด็ก ๆ หรือข้ามมาฝั่งไทยได้แล้วด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งโดยปลอดภัยเช่นกัน
 
 
 

ศูนย์ข่าวข้ามพรมแดน (Cross Border News Agency - CBNA) เป็นศูนย์ข่าวออนไลน์ภาคภาษาไทย จัดตั้งขึ้นมาโดยความร่วมมือขององค์กรที่ทำงานด้านแรงงานไทย คือ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และ Union Network International: Thai Liaison Council (UNI-TLC) กับ องค์กรที่ทำงานด้านแรงงานข้ามชาติ (แรงงานอพยพ) และผู้ลี้ภัยในประเทศไทย คือ ศูนย์ข้อมูลริมขอบแดน เพื่อนไร้พรมแดนและ โครงการสมานฉันท์แรงงานข้ามพรมแดน
ดำเนิน การผ่านเงินทุนส่วนตัว และการลงแรงกาย แรงใจ ของกลุ่มเพื่อนสนิท 4 คน คือ คุณพรสุข เกิดสว่าง, คุณอดิศร เกิดมงคล, คุณบัณฑิต แป้นวิเศษ และคุณบุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ ไม่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรทุนใดๆทั้งสิ้น
 
พวกเราทั้ง 4 คน เห็นพ้องว่า “สังคมไทยต้องมีพื้นที่เรียนรู้ มากกว่าในห้องเรียนเพียงเท่านั้น เราเชื่อว่า ใครๆ ในที่นี้หมายถึง คนธรรมดาๆ ทุกคน ก็เรียนรู้ประเด็นแรงงานและประเด็นพม่าได้ การเรียนรู้มาพร้อมกับความเข้าใจ และความอดกลั้นในความต่าง รวมถึงการเคารพคนอื่นที่ต่างจากเรา”
 
"มุ่งส่งเสริมสิทธิมนุษยชนให้เกิดขึ้นในประชาชนทุกกลุ่ม สิทธิมนุษยชน คือ จุดเริ่มต้นแห่งสันติภาพ"
กิจกรรมของศูนย์ข่าวข้ามพรมแดนในปี 2552 นี้ เป็นการรวบรวมข่าวภาษาไทยและนำเสนอบทวิเคราะห์ เกี่ยวกับสถานการณ์ต่างๆ ด้านแรงงานทุกกลุ่มในประเทศไทย รวมถึงผู้ลี้ภัย ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศพม่า ตลอดจนสถานการณ์การเมือง เศรษฐกิจ สังคม ภายในประเทศพม่าที่ส่งผลกระทบต่อการย้ายถิ่น
 

 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net