Skip to main content
sharethis


สถานการณ์คลื่นยักษ์ซัดชายฝั่งแถบภาคใต้ของไทย ที่มีความรุนแรง ขนาดของคลื่นสูงถึง 5 เมตรนั้น ล่าสุดวันที่ 22 ธันวาคม อ.หลังสวน จ.ชุมพร เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก นายนิพันธ์ ศิริธร นายอำเภอหลังสวน เข้าตรวจสอบบ้านฝั่งกระโจมไฟ หมู่ 12 ต.บางมะพร้าว ซึ่งประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติไปตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม เนื่องจากสถานการณ์รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ คลื่นยักษ์และลมพายุพัดถนนลาดยางในหมู่บ้านเสียหายทั้งหมด นอกจากนี้ พื้นที่ ต.ปากน้ำหลังสวน ห่างไปประมาณ 5 กม. บ้านเลขที่ 168 หมู่ 4 ซึ่งเป็นบ้านชั้นเดียวถูกคลื่นยักษ์พัดเสียหายทั้งหลัง ทรัพย์สินในบ้านถูกคลื่นซัดหายไปในทะเลทั้งหมด ส่วนที่ 99 เบย์รีสอร์ท มูลค่าร่วม 100 ล้านบาท ก็ได้รับความเสียหายเกือบทั้งหมด


 



นอกจากนี้ ที่เกาะพิทักษ์ หมู่ 14 ต.บางน้ำจืด อ.หลังสวน คลื่นยักษ์ได้โถมเข้าใส่ ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นหลายเท่า จนหมู่บ้านชาวประมงที่มีอยู่จำนวน 40 หลัง ถูกน้ำท่วม ชาวบ้านประมาณ 1,500 คน เดือดร้อนหนัก ทางราชการก็ยังไม่สามารถเข้าไปให้ความช่วยเหลือได้ เนื่องจากคลื่นยังสูงอยู่เรือไม่สามารถออกเดินทางไปยังเกาะพิทักษ์ได้


 



สุราษฎร์ฯ สั่งปิดโรงเรียน 2 แห่ง


สภาพอากาศที่ จ.สุราษฎร์ธานี เกือบทุกพื้นที่ท้องฟ้ามืดครื้ม มีฝนตกโปรยปรายแต่ไม่แรงนัก บริเวณชายฝั่งยังมีคลื่นลมแรงจัดความสูงประมาณ 3-4 เมตร นายนิวัตน์ สวัสดิ์แก้ว ผู้ว่าฯ สุราษฎร์ธานี ได้ออกประกาศให้ปากน้ำท่ากระจาย หมู่ 7 ต.ท่าชนะ อ.ท่าชนะ และ หมู่ 1 บ้านพอด ต.ชลคราม อ.ดอนสัก เป็นเขตภัยพิบัติ และเขตพื้นที่การศึกษาสุราษฎร์ธานี เขต1 ได้ประกาศปิดโรงเรียนนทีวัฒนาราม และโรงเรียนปากดอนสัก อ.ดอนสัก ไว้ชั่วคราวแล้ว


 



ช่วงเวลา 12.00 น. บริษัท ราชาเฟอร์รี่ จำกัด ประกาศงดบริการเรือเฟอร์รี่ข้ามฟากจากฝั่ง อ.ดอนสัก ไปเกาะพะงัน เนื่องจากท่าเทียบเรือเกาะพะงันมีคลื่นลมจัด ขณะที่บริเวณท่าเทียบเรือเฟอร์รี่ฝั่งบนบก ที่ อ.ดอนสัก บรรยากาศค่อนข้างเงียบเหงา แม้ว่าในบางแห่งได้เปิดให้บริการตามปกติก็ตาม แต่นักท่องเที่ยวก็เลี่ยงจะเดินทางในระยะนี้ มีเพียงรถบรรทุกน้ำมันเชื้อเพลิงและรถบรรทุกสินค้าประเภทเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต้องเดินทางไปยังเกาะสมุยและเกาะพะงันเท่านั้น


 



ส่วนสถานการณ์คลื่นลมในอ่าวไทย ฝั่งเกาะสมุย และเกาะพะงันบริเวณชายหาดต่างๆ ชาวประมงทยอยนำเรือเข้าเทียบท่าจอดเป็นแนวยาวเพื่อหลบคลื่นลม โรงแรมต่างๆ ได้ทำสัญลักษณ์เป็นธงแดงปักริมชายหาดเพื่อเตือนนักท่องเที่ยวให้ระวังอันตรายและจัดเจ้าหน้าที่คอยเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ด้านอำเภอได้จัดอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนนำกระสอบทรายจำนวน 1.5 หมื่นใบวางแนวกั้นน้ำทะเลบริเวณถนนสายเลียบหาดโฉลกหลำ หมู่ 8 ต.บ้านใต้ และจากการสำรวจพบว่า บังกะโลนอร์ทบีช ถูกคลื่นซัดได้รับความเสียหายอย่างมาก


 



นายวิวัฒน์ ทิดเชิดวงศ์ หัวหน้าสำนักงานการขนส่งทางน้ำที่ 4 สาขาสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ได้ประกาศห้ามเรือทุกชนิดออกจากฝั่งจนกว่าจะหมดช่วงมรสุม ยกเว้นเรือเฟอร์รี่ซึ่งเป็นเรือขนาดใหญ่ บริการรับส่งผู้โดยสารข้ามฟากไปเกาะสมุยและเกาะพะงัน ทั้งนี้ ก่อนออกจากฝั่งเจ้าหน้าที่สำนักงานการขนส่งทางน้ำที่ 4 สาขาสุราษฎร์ธานี จะตรวจสอบสภาพความพร้อมของเรือ ตรวจเช็คสภาพเครื่องเรือ และเสื้อชูชีพให้ครบตามจำนวนผู้โดยสารที่ลงเรือว่าอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานหรือไม่


 



ประกาศ 4 จังหวัดเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ


นายสมชาย รามสูตร หัวหน้าชุดปฏิบัติการเฝ้าระวังภัยพิบัติ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 11 กล่าวว่า สถานการณ์ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดเข้าอ่าวไทย ส่งผลให้มีกระแสคลื่นพัดอย่างรุนแรงในพื้นที่แนวชายฝั่งด้านตะวันออกของ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และสงขลา โดยได้ประกาศให้พื้นที่ชายฝั่งอ่าวไทยของจังหวัดดังกล่าวเป็นเขตพื้นที่ประสบภัยพิบัติทั้งหมด เพื่อให้สามารถป้องกันและรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินจากภัยธรรมชาติได้อย่างทันท่วงที ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง


 



"ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ส่วนหนึ่งได้รับอิทธิพลมาจากพายุจ่ามี ที่เคลื่อนตัวอยู่ใกล้ประเทศฟิลิปปินส์ แต่ประเทศไทยจะไม่ได้รับผลกระทบรุนแรงอย่างแน่นอน เนื่องจากการประเมินสถานการณ์จากแผนที่สภาพอากาศ พบว่าความรุนแรงของคลื่นกำลังลดระดับลงเหลือความสูงเพียง 2-3 เมตร โดยวันที่ 21 ธันวาคม ที่ผ่านมา มีระดับความรุนแรงสูงสุดประมาณ 5 เมตร ซึ่งหลังจากวันที่ 23 ธันวาคม เป็นต้นไป สถานการณ์จะเริ่มคลี่คลายสู่สภาวะปกติ" นายสมชาย กล่าว


 



สงขลาอพยพชาวเก้าเส้ง 50 ครัวเรือน


นายอุทิศ ชูช่วย นายกเทศมนตรีเทศบาลนครสงขลา กล่าวว่า ได้จัดกระสอบทรายเพิ่มอีก 2 หมื่นกระสอบ นำไปกั้นน้ำทะเลกัดเซาะจากชุมชนเก้าเส้งถึงลานดนตรีริมชายหาดชลาทัศน์ระยะทางประมาณ 3 กม. ส่วนชาวบ้าน 50 หลังคาเรือนที่ถูกกระแสคลื่นพัดเข้าบ้าน ได้อพยพให้มาพักที่โรงเรียนเทศบาล 5 วัดหัวป้อมนอก อ.เมือง จ.สงขลา เป็นการชั่วคราวก่อน


 



"แนวกระสอบทรายที่นำมาวางกั้นเป็นเขื่อนนั้นไม่สามารถป้องกันได้ทั้งหมด เนื่องจากระดับน้ำและกระแสความเร็วลมมีกำลังแรงมาก ซึ่งทางเทศบาลได้ประสานผู้นำชุมชนให้เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด และให้ลำเลียงเรือประมงขนาดเล็กจำนวน 300 ลำมาจอดภายในคลองสำโรง ซึ่งเป็นคลองขนาดใหญ่ในเขตเทศบาลนครสงขลาแล้ว" นายอุทิศ กล่าว


 



ชาวบ้านแหลมตะลุมพุกไม่ยอมย้าย


นายประยุทธ แก้วประสิทธิ์ นายก อบต.แหลมตะลุมพุก กล่าวว่า กระแสคลื่นลมได้เพิ่มความรุนแรงขึ้นตามลำดับ แนวคลื่นสูงประมาณ 4-5 เมตร พัดพาทรายมาบนถนน สูงประมาณ 50-100 ซม. ชาวประมงที่อาศัยอยู่บริเวณชุมชนปลายแหลมตะลุมพุกประมาณ 338 ครัวเรือน ที่แนวคลื่นกัดเซาะชายหาดเป็นวงกว้าง กวาดพื้นที่ไปจนใกล้เข้าถึงบ้านเรือน หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น ชายหาดจะหมดไป ชาวบ้านจะเป็นอันตราย จึงจำเป็นต้องให้ทั้งหมดย้ายออกจากพื้นที่ แต่ชาวบ้านไม่ยินยอม เพราะเป็นห่วงทรัพย์สิน



ส่วนที่ อ.ท่าศาลา ชาวประมงได้ลากเรือประมงทั้งขนาดกลางและขนาดเล็กขึ้นไปอยู่บนลานริมถนนสายนครศรี-สุราษฎร์ธานี เพื่อหลบคลื่นที่มีความรุนแรงมากในช่วงเช้าตั้งแต่เวลา 05.00 น.ถึงประมาณ 11.00 น. จึงเบาบางลง ส่วนเรือประมงขนาดใหญ่จอดในลำคลองขนาดใหญ่ที่เป็นเส้นทางออกสู่อ่าวไทยจนแน่นลำคลองรวมแล้วหลายร้อยลำ ทำให้ในทะเลไม่มีเรือใดๆ ลอยลำอยู่เลย


 



ชาวประมงไม่เคยเห็นทะเลคลั่งขนาดนี้


นายเกรียงศักดิ์ ลิ้มประเสริฐ ชาวบ้านหมู่ 3 ต.แหลมตะลุมพุก อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก แนวคลื่นอยู่ห่างจากบ้านแค่ไม่ถึง 10 เมตร บ้านเรือนบางหลังถูกคลื่นซัดหอบทรายเข้าบ้านสูงเป็นเมตร ที่ผ่านมาไม่เคยพบคลื่นที่รุนแรงขนาดนี้มาก่อน จึงขอให้หลังจากนี้ ทางจังหวัดควรจัดสรรที่ดินป่าชายเลนให้แต่ละครัวเรือนอย่างเพียงพอสำหรับปลูกบ้านพักอาศัย โดยจะขอเฉพาะพื้นที่ส่วนบ้านจะสร้างเอง ส่วนที่ดินเก่ายกให้เป็นทรัพย์สินของทางราชการ นำไปสร้างแนวป้องกันคลื่นต่อไป


 



นายอิสรอ ลาเต๊ะ อายุ 50 ปี ชาวประมงหมู่บ้านในถุ้ง ต.ท่าศาลา อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า ชาวประมงไม่กล้านำเรือออกหาปลามาราว 1 สัปดาห์แล้ว เนื่องจากคลื่นลมแรง จากประสบการณ์เป็นชาวประมงมานานกว่า 35 ปี ไม่เคยเห็นทะเลมีคลื่นแรงขนาดนี้ และไม่ทราบว่าเกิดจากสาเหตุใด อาจจะเกิดจากมีการทำลายสิ่งแวดล้อมกันมากจึงส่งผลต่อธรรมชาติไปทั้งหมด และในอนาคตทะเลอาจจะกลืนแผ่นดินไปมากกว่านี้อีก


 



เรือประมงนราฯจอดนิ่งสนิท 1,600 ลำ


จ.นราธิวาส มีฝนตกหนักต่อเนื่องในห้วง 5 วันที่ผ่านมา ส่งผลให้คลื่นลมในฝั่งทะเลอันดามันแรงและมีขนาดความสูงประมาณ 3-4 เมตร ทำให้เรือประมงหาปลาทั้งเล็กใหญ่ในพื้นที่ อ.ตากใบ และ อ.เมือง จ.นราธิวาส รวม 1,600 ลำ ต้องจอดไว้ตามบริเวณชายฝั่ง ห้างร้านต่างๆ บริเวณหาดทรายนราทัศน์ บ้านบาเลฮีเล ตลอดริมชายฝั่ง อ.ตากใบ-บ้านทอน อ.เมือง ระยะทางรวม 40 กม. ถูกคลื่นซัดทรายมาทับถมผิวถนนหนากว่า 1 เมตร และกลืนชายหาดลึกเข้ามากว่า 30 เมตร เทศบาลต้องนำรถแทรกเตอร์มากวาดทรายเพื่อเปิดทางเดินรถตามปกติ นอกจากนี้ยังเกิดน้ำท่วมขังสูงกว่า 1 เมตร ทำให้ร้านค้าต่างๆ ต้องปิดกิจการชั่วคราว


 



นักวิชาการชี้คลื่นสูงเพราะสะสมพลังงานมาก


ผช.ดร.ปราโมทย์ โศจิศุภร อาจารย์ประจำ คณะวิทยาศาสตร์ทางทะเล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า คลื่นที่เกิดจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือเกิดขึ้นประจำทุกปีอยู่แล้ว ซึ่งความสูงของคลื่นที่เกิดจากลม จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัย คือ ความเร็วลม ระยะเวลาที่ลมพัด และระยะทาง ถ้าเกิดแรงลมปะทะกับผิวน้ำทะเลต่อเนื่องนานหลายวัน และเป็นระยะทางไกลกว่าจะถึงฝั่ง มีการสะสมพลังงานมากคลื่นก็จะสูงมาก อย่างไรก็ตาม ปัจจัยการทรุดตัวของแผ่นดินบริเวณชายฝั่งทะเล และระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นจากปัญหาโลกร้อน พอมาเจอกับคลื่นที่สะสมพลังงานมากก็ยิ่งทำให้คลื่นสูงกว่าทุกๆ ปี


 



"บริเวณหัวไทร ปากพนัง เป็นพื้นที่มีปัญหาแผ่นดินทรุดตัว ประกอบกับน้ำทะเลสูง ที่เป็นผลพวงจากสภาวะโลกร้อน แถมมาเจอกับคลื่นสูงที่อาจมีการสะสมพลังงานมาก เพราะลมพัดแรงจากเวียดนามเดินทางมากว่า 600 กม. พัดนานและต่อเนื่องอยู่กลางทะเลนานหลายวัน มีการสะสมพลังงานมากจึงมีลักษณะคล้ายการเกิดลมพายุ ซึ่งมีหลายๆ ปัจจัยร่วมกันที่ทำให้เกิดคลื่นสูง" ผช.ดร.ปราโมทย์ วิเคราะห์


 



ส่วนแนวทางป้องกันคลื่นสูงนั้น ผช.ดร.ปราโมทย์ กล่าวว่า คลื่นสูงเป็นเรื่องของธรรมชาติ ไม่สามารถควบคุมอะไรได้ ทำได้เพียงแค่การป้องกันและรักษาแผ่นดินไว้เท่านั้น อาจต้องมีการสร้างเขื่อน แต่ก็ต้องใช้งบประมาณมหาศาล ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องศึกษารายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง


 



ด้าน ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผอ.ศูนย์วิจัยการเปลี่ยนแปลงของโลกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นคลื่นสเวลล์(swell) ที่เกิดการสะสมพลังงานมาก โดยปกติคลื่นลักษณะนี้จะมีการเคลื่อนตัวด้วยความเร็วสูงสุด แต่พอเข้าใกล้ชายฝั่งที่น้ำตื้นจะเปลี่ยนพลังงานจลน์ หรือความเร็ว เป็นพลังงานศักย์ คล้ายกับการเกิดคลื่นสึนามิ แต่ต้นกำเนิดต่างกัน จึงทำให้เกิดคลื่นสูงกว่าปกติ


 



"คลื่นสเวลล์ จะมีขนาดใหญ่หรือเล็กขึ้นอยู่กับกำลังลมที่ผิวน้ำทะเล ระยะทางที่ลมพัด และช่วงเวลาที่ลมพัด ซึ่งมีพฤติกรรมการเกิดคล้ายคลื่นสึนามิแต่มีต้นกำเนิดจากลม โดยอาจเกิดกลางทะเลลึกเป็นคลื่นยาวเดินทางเร็วมาถึงฝั่งก่อน ผมว่าการเกิดคลื่นครั้งนี้น่าจะตามมาด้วยคลื่นสั้นๆ อีกหลายลูก แต่ทั้งหมดตอนนี้ยังไม่มีฐานความรู้เรื่องตำแหน่งการเกิดคลื่นกลางทะเลมากนัก รู้แต่เพียงว่าเป็นคลื่นลักษณะใด มีความรุนแรงอย่างไร แต่ถ้ามีความรู้เรื่องตำแหน่งการเกิดคลื่นกลางทะเล อาจช่วยทำนายทิศทางการที่คลื่นจะซัดเข้าฝั่งได้ เพราะจะเกิดที่เดิมๆ ทิศทางเดิมๆ อาจเป็นตัวช่วยวิเคราะห์และเตือนคนให้อพยพออกจากพื้นที่เสี่ยงได้" ดร.อานนท์ กล่าว


 


 


 


...................


ที่มา: เว็บไซต์คมชัดลึก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net