Skip to main content
sharethis

สัมภาษณ์โดย องอาจ เดชา


 






 


ขณะที่นักท่องเที่ยวกำลังแห่กันไปเที่ยว อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอนกันอย่างต่อเนื่องในห้วงฤดูหนาว หากคนท้องถิ่นอำเภอปายกลับบ่นครวญว่าการท่องเที่ยวทำให้วิถีชีวิตเก่าแก่ดั้งเดิมของปายนั้นเปลี่ยนไป


ในขณะที่ชาวบ้านพยายามยื้อการดำรงวิถีให้ช้าลง ทว่าล่าสุด ภาครัฐกลับประโคมข่าวท่องเที่ยวปายทะลุเป้า พร้อมเตรียมเปิดสายการบินเชียงใหม่-ปาย เดือนมกราคมปี 2550 เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้น


"ประชาไท" จึงขอนำเสนอบทสัมภาษณ์ ". ดวงใจ หล่อเลิศวิทย์" คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ทำการวิจัย สกว.เรื่อง "การท่องเที่ยวเมืองปาย"


ซึ่งจากผลการวิจัยชิ้นนี้ พบว่า ปัญหาหนึ่งของการท่องเที่ยวอำเภอปาย นั้นคือ "สื่อและภาครัฐ นั้นคือตัวการทำให้ปายเปลี่ยนไป" และจริงๆ แล้ว "การท่องเที่ยวปายนั้นเพื่อใคร"


 



 



ดวงใจ หล่อเลิศวิทย์


คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


 


 


นโยบายการท่องเที่ยวของรัฐทำให้มีผลต่อปายอย่างไรบ้าง?


นโยบายจากภาครัฐ อย่างที่เห็นชัดๆ คือนโยบายเรื่อง Long Stay หรือการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ สปา หรือการท่องเที่ยวเพื่อชุมชนซึ่งมีเมื่อปี 2540 หลังเศรษฐกิจฟุบ อันนั้นเน้นชุมชนเป็นพื้นฐาน รัฐก็จะมาบอกว่าชุมชนจะต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วชาวบ้านเขาทำมาก่อนหน้านั้นแล้ว เพียงแต่ว่ารัฐอาจจะไม่ได้อยู่ในพื้นที่จึงไม่เห็นว่า ชาวบ้านเขาก็ทำ Home Stay กันอยู่แล้ว แต่รัฐกลับไปบอกว่าชุมชนจะต้องทำอย่างนั้นๆ ตามทฤษฎี หนึ่ง สอง สาม สี่... สุดท้ายมันก็เลยเพี้ยนไง สุดท้ายชาวบ้านก็เริ่มไม่แน่ใจแล้วว่าสิ่งที่เขาทำอยู่แล้วนั้นมันถูกหรือเปล่า แต่ข้างนอกมาบอกให้เขาทำอย่างโน่น ทำนี่อยู่ตลอดเวลา


           


แล้วก็อีกอย่าง การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ อย่างเช่น สปา ดิฉันมองว่ามันไม่ค่อยเหมาะกับบ้านเรา อาบน้ำพุร้อน แบบญี่ปุ่นนะ แต่บ้านเราน้ำพุร้อนมันมีจำกัดมากเลย จะทำอย่างนี้กันหลายแห่ง พอมันบูมปุ๊ป ทุกคนก็อยากไปสปา ซึ่งดิฉันมองว่ามันใช้ทรัพยากรสิ้นเปลืองมากเลยนะ ไม่คุ้มกับรายได้ที่แลกกับทรัพยากรธรรมชาติที่เราต้องสูญเสียไป


 


อีกอันก็คือ พ.ร.บ.โรงแรม คือเรามีอยู่เกณฑ์เดียวที่มันจะคุมไปทั้งหมด แต่การท่องเที่ยวมันไม่ได้มีแค่ลักษณะเดียว มันมีหลายลักษณะ แต่เราไม่ได้มองไปยังจุดเล็กๆ ที่มันแตกต่าง หรือจะสร้างจุดแตกต่างนี้ให้มันดำรงเอกลักษณ์ของตัวเองไว้ แต่เราพยายามจะไปเปลี่ยนมัน


 


ดิฉันมองว่านโยบายรัฐ เวลาที่ชาวบ้านเขาให้เราดูแบบฟอร์มที่ต้องกรอกขอห้องพักว่าต้องมีกี่ห้องๆ มันโบราณมากเลยนะ แล้ว พ.ร.บ. ก็เก่า แล้วไม่ค่อยมีการปรับให้เหมาะสมกับธุรกิจขนาดเล็ก แบบของชุมชนอย่างนี้ไง แล้ว พ.ร.บ. ก็กำหนดเรื่องการต่อใบอนุญาต ปีละหมื่น ถ้าจะเอาจริงต้องจ่าย 5 ปี แล้วใครจะไปเอาเงินที่ไหนมาจ่ายแบบนี้ บางทีเราก็ต้องว่าธุรกิจขนาดไหน ถ้าเป็นรีสอร์ทก็คงจะจ่ายได้ แต่ชาวบ้านใหญ่สุดลงทุนแค่ล้านหนึ่ง แต่นายทุนนั่นคืออย่างน้อยหนึ่งล้าน


 


ที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวได้เข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตคนปายหรือไม่?


ถ้าเราได้มาดูพื้นที่จริงๆ เขาก็มีวิธีการจัดการของเขา ชาวบ้านเขาก็มีวิธีการจัดการนักท่องเที่ยวที่นิสัยไม่ดี แต่รัฐพยายามบอกว่าเมืองท่องเที่ยวนะ ต้องเอาใจนักท่องเที่ยว ต้องเซอร์วิสนะ ความคิดอันนี้มันฝังหัวเรามานาน นักท่องเที่ยวทำอะไรจึงไม่ผิด ตำรวจก็ไม่ค่อยเอาเรื่องเพราะส่วนหนึ่งก็พูดกันไม่ค่อยรู้เรื่อง


 


เจ้าอาวาสที่วัดกลาง เล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนนี้เราจะเปิดเสียงตามสายทุกวันพระ ตอนตีสี่ ตอนนี้ก็ต้องเปลี่ยนให้ช้าลง เพราะนักท่องเที่ยวไปปิดวิทยุ ท่านบอกว่า ไทยแลนด์ๆ แล้วก็ให้ออกไป คือมันมีเรื่องอย่างนี้เกิดขึ้นบ่อย แล้วเจ้าของเกสต์เฮาส์ผู้ประกอบการที่อยู่ใกล้วัดเองก็แรง เขาเคยเอาป้ายไปเขียนติดไว้ที่ประตูวัดเลยนะว่า "อย่าเบียดเบียนประชาชน" ชาวบ้านเขียน พระก็งงมากเลย ผู้ประกอบการเขียน แต่เราก็ไม่รู้ว่าเป็นคนในหรือคนนอก เขามองว่านักท่องเที่ยวคือลูกค้า เจ้าอาวาสก็บอกว่า คนมันเปลี่ยน ไม่ได้นับถือศาสนาเหมือนเมื่อก่อน


 


งานวิจัยที่ทำอยู่กำหนดไว้หรือไม่ว่าจะศึกษาตั้งแต่ช่วงไหน ถึงช่วงไหน?


ตั้งแต่เริ่มมีการท่องเที่ยวมาจนถึงปัจจุบัน ตั้งแต่ปี 2524 มาจนถึงปัจจุบัน มี 3 ช่วงคือ...


 


ช่วงที่ 1 มีแบ็คแพ็คเข้ามา ชาวบ้านก็แบ่งบ้านให้พัก บ้านที่เขาว่าซอมซ่อที่สุดแล้ว เพราะว่าที่พักมันไม่มี เริ่มตั้งแต่ 2524-2534 ยังไม่มีผู้ประกอบการ มีแต่ชาวบ้านทำกันเอง พอแบ็คแพ็คเริ่มมากขึ้นเพราะมีผู้ประกอบการจากเชียงใหม่พาเข้ามา แล้วทัวร์ป่าบูมมาก ปี 2534-3535 ช่วงนั้นเพราะที่เชียงใหม่มันไม่เวอร์จินแล้ว นักท่องเที่ยวก็เริ่มย้ายมาที่ปาย แม่ฮ่องสอน


 


ช่วงแรกๆ ยังไม่มีผู้ประกอบการที่เป็นคนนอก ชาวบ้านเขาก็จัดการเองได้ แบบค่อยเป็นค่อยไป คืนละ 20-50 บาท แม้ดูเหมือนน้อย แต่คนที่นี่หาเงินยากมาเลย เขามีรายได้น้อย นี่จึงเป็นรายได้ แต่เขาก็อยู่กันแบบพออยู่พอเพียง ปีหนึ่งมีนักท่องเที่ยวไม่เยอะ พอปี 2534-2535 นักท่องที่ยวต่างชาติเริ่มรู้จักปายมากขึ้น คนก็เริ่มรู้จัก มาปี 2540 เศรษฐกิจฟุบ ก็เริ่มมีคนกรุงเทพฯ ครีเอทีฟกลุ่มหนึ่งเข้ามาสร้างสีสันให้กับปาย ทำให้ปายมีบุคลิกไม่เหมือนกับเมืองที่อื่น แล้วก็เพราะยังไม่ค่อยมีใครรู้จักด้วย เมื่อก่อนร้านอาหารทุ่มหนึ่งก็ปิดแล้ว หาอะไรกินไม่ได้เลย


 


ยุคที่ 2 ปี 2534-2542 ชาวบ้านเริ่มเรียนรู้แล้วว่ามีนักท่องเที่ยวเข้ามาก็สามารถทำธุรกิจได้ ผู้ประกอบการจากเชียงใหม่ก็มาซื้อที่ดินเมืองปายสร้างที่พัก เริ่มมีคนข้างนอกมาซื้อที่ เริ่มมีเกสต์เฮาส์ริมน้ำ แต่ก็ยังไม่มาก แต่ก็มีการขายที่ เช่าที่กันเล็กๆ ชาวบ้านก็คงรู้ว่าที่ดินของเขาก็สามารถทำเป็นที่พักได้ แต่ก็ได้แต่มอง


 


ยุคที่สองนี้ ที่ริมน้ำจะมีคนเชียงใหม่เข้ามาทำ แต่พอหลังเศรษฐกิจฟุบ ก็ยังคงมีคนเข้ามาเที่ยวเรื่อยๆ แต่พอหลังจากปี 2542 ก็เริ่มจะมีสื่อเข้ามาประชาสัมพันธ์แล้วมี ททท. ส่งเสริมการท่องเที่ยวปาย ปี 2539-2540 แม่ฮ่องสอนก็บูมมาก ปายก็ได้อานิสงส์มาจากตรงนั้นด้วย คนผ่านไปแม่ฮ่องสอน แล้วพักแวะที่ปาย ก็มีเทร็คกิ้ง ครีเอทีฟกลุ่มหนึ่งก็มาสร้างปายให้มีสีสันให้เหมาะกับคนเมืองที่อยากมาเสพธรรมชาติบริสุทธิ์ แต่ก็มีร้านกาแฟเก๋ให้นั่ง พอปี 2542 ก็เริ่มมีรีสอร์ทเข้ามาซื้อที่ ชาวบ้านก็ลือกันมากเพราะเป็นขนาดใหญ่มาก ลือกันทั่วเมืองว่า รีสอร์ทมาแล้วใครจะเปลี่ยน พอปี 2544 คนก็เริ่มเข้ามากันเต็มเลย เพราะว่าได้รับสื่อ


 


สื่อทำให้ปายเปลี่ยนไปด้วยใช่ไหม?


ต้องบอกสื่อนิดหนึ่งนะว่าเวลาเขียนถึงปาย ถ้าอยากให้ปายยั่งยืน อย่าไปเขียนให้ปายโรแมนติกนัก มันไม่ใช่ด้านเดียว เพราะถึง ททท. ไม่โฆษณา ไม่มีสื่อ คนก็เข้ามาเที่ยว อยากให้มันค่อยเป็นค่อยไป ไม่ต้องประชาสัมพันธ์ให้ เขาก็ทำการตลาดของเขาอยู่แล้ว


 


น่าจะเขียนถึงปายในอีกด้านหนึ่งว่า คนที่มาข้างนอกควรจะมาเห็นร้านของคนท้องถิ่น เพื่อลูกหลานเขาจะอยู่ได้ เพราะชาวบ้านเขาจะอุดหนุนกันไปเป็นทอดๆ เพราะถ้าชาวบ้านเขาทำธุรกิจอยู่ได้ลูกหลานเขาก็จะไม่ต้องออกไปข้างนอก เพราะมีอาชีพ


 


คนปายมีศักยภาพ แต่ระบบระเบียบของราชการทำให้ชาวบ้านทำไม่ได้ ไปตั้งใบอนุญาตให้มันสูงเกินไป เราคิดว่ามันต้องคุยกัน แล้ว พรบ. นี้ใครเป็นคนกำหนด มันเขียนมาตั้งแต่ปี 2400 กว่าแล้ว เราพูดถึงเศรษฐกิจชุมชน แต่ก็ไปติดที่กฎหมายเหล่านี้ มันทำให้เกสต์เฮาส์หลายแห่งไม่ได้รับอนุญาต ก็ไม่ต้องเสียภาษี ก็เป็นเถื่อนเสียเลย เพราะว่าเป็นหลังคาตองตึง บ้านไม้ไผ่นะ เพราะชาวบ้านรู้ว่าถ้าไปบ้าจี้ตามราชการ ไปทำบ้านปูนก็คงไม่มีคนเข้ามาพัก คือมันตรงข้ามกับนโยบายของรัฐที่บอกว่าอนุรักษ์ปายเอาไว้


           


ยังมีชุมชนเก่าแก่ของปายที่หลงเหลือ?


ชุมชนที่ยังอยู่ได้ ที่เรายังเห็นบ้านเก่าๆ ในตลาดแถบนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นชุมชนมุสลิม ซึ่งเขาอยู่พอเพียง เขาก็ไม่ยอมขายที่ไง ชาวบ้านคนอื่นเขาขายหมดแล้วนะ ตลาดปายหรือกาดหลู่ ซึ่งเป็นความทรงจำของชาวบ้านมากว่า 90 ปี หลายชั่วอายุคนก็ยังต้องปิดตัวลงเมื่อปี 2547 เพราะนายทุนบอกว่าจะทำเป็นไนท์บาซาร์ แต่ว่ามีคนมาจองไม่มาก ไม่คุ้มทุนเขาก็เลยไม่ทำ


 


ก็เห็นว่ามีตลาดเกิดใหม่เยอะแยะเลย มีตลาดเช้า ตลาดเย็น ตลาดจันทร์ ก่อนนี้มีกาดหลู่เป็นตลาดของชาวบ้านไทใหญ่ที่มีเช้าและเย็น พอปิดตัวลงเทศบาลก็รีบซื้อที่ดินข้างนอกเพื่อทำตลาดเทศบาล ไม่ให้คนไปขายในเขต อบต. แย่งอำนาจกันอยู่ พอเทศบาลเปิดตลาด อีกไม่นาน อบจ. ก็ไปเปิดตลาดข้างสนามบิน เปิดวันจันทร์ กาดวันจันทร์ แล้ว อบต. เวียงใต้ก็มีกาดวันพุธ เป็นพ่อค้าเร่มาแบบซุปเปอร์มาเก็ตเคลื่อนที่ซึ่งทำให้ร้านค้าเดิมในปายแย่เลย


 


อย่างบริเวณร้านเซเว่นฯ เดิมเคยเป็นร้านค้าของคนจีนเป็นโชห่วยเล็กๆ เขาต้องยอมให้เซเว่นฯ มาเช่าที่ดิน บ้านเก่าๆ ที่ยังหลงเหลืออยู่ตอนนี้ก็เป็นบ้านของครอบครัวมุสลิมอีหม่ามสมชายกับพี่น้องของเขา ที่เหลือก็เป็นบ้านเศรษฐีเก่าของปาย ที่เป็นพ่อค้าช้าง เราจะพบว่าสังคมเปลี่ยน คนก็ขายที่ด้วยเหตุผลหลายๆ อย่าง ที่ปายยังอยู่ได้และเป็นเอกลักษณ์ก็เพราะยังมีชุมชนมุสลิม เพราะเขาอยู่อย่างพอเพียง เพราะถ้าเป็นคนไทใหญ่จะขายกันเยอะ


 


ล่าสุด มีข่าวว่าปาย เปิดสายการบิน เชียงใหม่-ปาย?


ถ้าเกิดมีสนามบินเข้ามามันก็จะยิ่งเปลี่ยนเข้าไปอีก เพราะที่นี่ความเงียบสงบคือเสน่ห์ แต่มันกำลังจะถูกเครื่องบินทำลาย วันละ 2 เที่ยว เที่ยวละ 12 คน เดินทาง 19 นาทีก็ถึงปายแล้ว คุณเอาใครมา ก็เป็นคนที่มีเงินเยอะๆ มา รัฐจะบอกว่าต้องการคนที่มีกำลังจ่ายสูง จะเอาไฮเอ็นต์ นโยบายรัฐไม่เคยบอกว่าจะเอาคนรายได้ต่ำเลยนะ เพราะคนกลุ่มนี้ไม่ใช่เป้าหมายของรัฐ แต่พวกเขาบริโภคกับชาวบ้าน มาแล้วพักกับชาวบ้าน อยู่กินกับชาวบ้าน ไม่ได้ฟุ้งเฟ้อ


 


แต่นโยบายหลังๆ ที่ส่งเสริมให้คนมาลงทุนซื้อที่ดินได้ ให้โอกาสทำวีซ่าง่าย แล้วก็มีนักท่องเที่ยวที่อีเหละเขละขละมาก จะทำอะไรก็ได้ ซึ่งสมัยก่อนถึงจะเป็นแบ็คแพ็คแต่เราก็มีนักท่องเที่ยวที่คุณภาพดีกว่านี้อีก มันเปลี่ยน นักท่องเที่ยวเปลี่ยน คนที่นี่เขาก็จัดการไม่ได้ เพราะเจ้าหน้าที่รัฐ ตำรวจท่องเที่ยว ตำรวจภูธรก็บอกว่าเป็นเมืองท่องเที่ยว ชาวบ้านก็ต้องอดทนกับเสียงดัง อดทนแม้จะมีนักท่องเที่ยวมาสร้างความลำบากให้ชาวบ้าน


           


การท่องเที่ยวเพื่อใคร?


เราก็มานึกๆ ว่าจริงๆ แล้วการท่องเที่ยวมันเพื่อใคร ฝรั่งบางคนมาพักเกสต์เฮาส์ สี่ทุ่มแล้วเสียงดังมาก เจ้าของก็ไปเตือน เขาก็บอกว่า "ผมจ่ายเงินนะ" เขาก็ถามยูจ่ายเท่าไหร่ ฝรั่งตอบ 100 บาท ที่นี่มันไทยแลนด์ มันฟรีแลนด์นะ ฟรีแลนด์บ้านมึงซิ เอามีดมาไล่มันเลยนะ ต้องจัดการแบบนี้เลย นักท่องเที่ยวถึงได้ออกไป ที่นี่เขามีวิธีการจัดการ ชาวบ้านเขาจัดการเขาเองว่ามาอยู่ที่นี่จะทำอะไรซี้ซั้วไม่ได้


 


ขณะเดียวกันก็มีผู้ประกอบการที่โปรนักท่องเที่ยว เพราะมีการแข่งขันกันเยอะ ปี 2545 ที่ดินเริ่มแพงแล้ว เขาลงทุนเยอะ ก็ต้องเอาทุนคืน ทำทุกวิถีทาง


           


ชาวบ้านคนที่ทำอยู่ก่อนเขาไม่มีเพาเวอร์ แต่คนที่มาอยู่ใหม่เขามีเงิน มีอำนาจ มีเส้นสาย ก็เลยทำให้ทุกอย่างมันเปลี่ยนไปตามอำเภอใจ แล้วคนพวกนี้จะดีล (deal) กับเจ้าหน้าที่รัฐ เจ้าหน้าที่เองก็ลำบากใจ เพราะเขาก็ทำอะไรไม่ได้ เขาก็ถูกบีบจากข้างบน จากกระทรวง บางทีนายทุนมาซื้อที่ดินริมน้ำ แต่ไปสร้างบนที่งอกก็ผ่าน พอน้ำมาพวกนี้ก็ไปหมดเลย ชาวบ้านว่ามันศักดิ์สิทธิ์มากเลย น้ำมาช่วยล้างบ้านล้างเมือง เพราะปกติชาวบ้านเขาไม่สร้างที่ริมน้ำ เขากลัวจะตาย ส่วนใหญ่จะทำนา


           


หรือเป็นเพราะว่าสื่อมักชอบนำเสนอว่า ปายเป็นเมืองโรแมนติก?


การเที่ยวอย่างนี้คนมาตามสื่อ มันโรแมนติก มีร้านกาแฟ ถามทีว่าคุณกินกาแฟ 50 กับน้ำเงี้ยว 10 บาท พร้อมโอเลี้ยง 5 บาท สดจะตาย ป้าแกบอกว่าไม่ต้องโฆษณาป้านะ นี่คือความต่าง ใน 2 ระดับ ทั้งที่อยู่ตรงข้ามถนนกันแค่นี้ มาเที่ยวปายมันก็ต้องรู้จักคนปายด้วย แล้วคนปายจริงๆ เขาจะไม่แต่งร้านอะไรมากมายอย่างที่เห็น เขาจะเรียบง่ายมาก


           


การที่ผู้ประกอบการมาเยอะมันก็มีการแข่งขัน ทุกคนก็จะคิดว่า ต้องมีนักท่องเที่ยวมาตลอดมันถึงจะอยู่ได้ แค่นักท่องเที่ยวมาช่วงไฮฯ แค่ 4 เดือนแล้วเลี้ยงทั้งปีไม่ไหว เพราะต้องมีรายจ่ายอื่นๆ พวกนี้ก็จะทำเป็นแพ็คเกจ เราคิดว่าคนกลุ่มนี้เร่งให้ปายมันโตโดยใช้สื่อ แล้วก็มีสื่อที่พร้อมจะโฆษณาให้ด้วย มันก็เลยเอื้อกันไปกันมา ดิฉันคิดว่าอย่างนั้น


           


แล้วมีผลกระทบเยอะไหม?


ผลกระทบอาจจะไม่มาก แต่มันก็กระทบเยอะ ชุมชนดั้งเดิมก็ลดน้อยลง ย้ายออกไปบ้าง แต่งงานย้ายครอบครัวไปบ้าง วัฒนธรรมอาจไม่เท่าไหร่ แต่ทรัพยากรสิที่น่ากลัว อย่างน้ำขาดแคลน จะเห็นชัดในหน้าแล้ง ดิฉันว่าน้ำเป็นตัวบอกว่าความสามารถในการรองรับของพื้นที่แค่ไหน รีสอร์ทใช้น้ำเปลือง แล้วมีแอร์อีก ไฟที่ดับๆ ติดๆ ในเมืองปายก็เพราะมีรีสอร์ทพวกนี้แหละ เสาไฟฟ้าแรงสูงก็เข้ามา การบริโภคทรัพยากรเยอะ รีสอร์ทขนาดใหญ่มีประมาณ 10 แห่ง ที่ดูมีระดับ การวางผังเมืองก็สำคัญ


           


สมัยก่อนคนปายเห็นฝรั่งแล้วหนี แต่พอเห็นบ่อยๆ ก็เริ่มชิน คนรุ่นแรกๆ ที่ทำธุรกิจเกสต์เฮาส์ก็เป็นพวกข้าราชการครูที่มีพื้นฐานทางภาษาอังกฤษ ชาวบ้านก็ได้แต่มองตาปริบๆ มีที่ แต่ทำไม่เป็น หลังจากนั้นก็เริ่มทำบ้าง เขาเริ่มปรับตัวได้


           


คนปายเป็นคนใจดี ใครมาเขาก็ต้อนรับ แต่อย่ามาสร้างปัญหา อย่ามาเสียงดัง แม้จะเรื่องนิดเดียวแต่เป็นปัญหาเลยนะ วัยรุ่นปายเดี๋ยวนี้ก็เริ่มเปลี่ยน คนปายวัย 50 ปีขึ้นไป กลายเป็นกำลังสำคัญของที่นี่ แต่ต่ำกว่านั้นเราก็ไม่แน่ใจ


           


นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวปายส่วนใหญ่เป็นไงบ้าง?


นักท่องเที่ยวฝรั่งก็เริ่มโอเคแล้ว เพราะเขาก็ศึกษามาก่อน แต่นักท่องเที่ยวไทยยังไม่ค่อยรู้จักปาย อยากมาเที่ยวปาย เพราะเห็นว่าสื่อมันเขียนแล้วก็อยากมาดูว่ามันโรแมนติกจริงหรือเปล่า ก็ขับรถมากินโน่นนี่ร้านอาหารหรูๆ พักรีสอร์ทหรูๆ เหมือนที่ดาราหรือใครมาพัก เป็นกระแสเพื่อจะอินเทรนด์ แต่ก็มีกลุ่มหนึ่งที่อยากมาดูวิถีชาวบ้านจริงๆ นักท่องเที่ยวก็น่าจะมีการศึกษาข้อมูลมาก่อน ปายเองก็ต้องเตรียมข้อมูลไว้ให้นักท่องเที่ยวด้วย ต้องมีเวลาหน่อย ไม่ใช่ฉาบฉวย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net