Skip to main content
sharethis

ขณะที่บทความนี้ออกตีพิมพ์ ตัวแทนฝ่ายไทยที่นำโดย นายนิตย์ พิบูลสงคราม คงกำลังหน้าดำคร่ำเครียดเจรจาเอฟทีเอกับสหรัฐอเมริกา ในรอบที่ 4 ที่เมืองมอนทาน่า ประเทศสหรัฐอเมริกา ท่ามกลางแรงกดดันจากคู่เจรจามหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ที่ต้อง "เอาให้ได้" และแรงกดดันจากระดับนโยบายของไทยที่ต้อง "เร่งให้เสร็จ"

ในขณะเดียวกันนี้เอง สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ก็กำลังจะอยู่ในช่วงต้องตัดสินใจรับหรือไม่รับ "ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอเมริกากลางและโดมินิกัน หรือ DR-CAFTA" (The Dominican Republic-Central American Free Trade Agreement) หลังจากที่รัฐบาลสหรัฐฯ ใช้แผนเหนือเมฆนำเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาก่อนช่วงหยุดวันชาติสหรัฐฯ ผ่านไปด้วยคะแนน 54-45

ในสายตาของคนภายนอก 54-45 เสียงเป็นคะแนนเสียงที่ชนะกันค่อนข้างขาดลอย แต่สำหรับผู้เกาะติดการพิจารณาญัตติต่าง ๆ ของวุฒิสภาสหรัฐฯ ที่ขึ้นชื่อด้านสนับสนุนการค้าเสรีอย่างเหนียวแน่นชี้ว่า เป็นคะแนนเสียงสนับสนุนข้อตกลงการค้าเสรีที่ต่ำในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ

ที่ผ่านมา ข้อตกลงเอฟทีเอที่สหรัฐฯ ทำกับหลายประเทศ รวมทั้ง ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ หรือ NAFTA เมื่อ 10 ปีก่อนก็เคยผ่านด้วยเสียงสนับสนุนเอกฉันท์มาแล้ว

หลังจากที่การประชุม WTO ที่แคนคูนล้มลง เมื่อปี 2546 รัฐบาลสหรัฐฯ หันไปเน้นที่การทำข้อตกลงทวิภาคีและภูมิภาคอย่างมากโดยใช้ต้นแบบของ NAFTA อันที่จริง (เพื่อนำผลของเอฟทีเอไปกดดันในการเจรจา WTO) สหรัฐฯ ต้องการขยาย NAFTA แบบ "สุด ๆ ไปเลย" คือ ครอบคลุมทั่วทั้งทวีปอเมริกา ทั้งหมด 34 ประเทศ ภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอเมริกา (FTAA)

อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงดังกล่าวถูกคัดค้านอย่างรุนแรงจาก บราซิล อาร์เจนติน่า เวเนซูเอลา และโบลิเวีย ที่ไม่ต้องการข้อตกลงที่ครอบคลุมทุกด้าน (comprehensive agreement) แต่ต้องการให้ตัดประเด็นทรัพย์สินทางปัญญา การลงทุน การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐออกไป แล้วเลือกเฉพาะรายสินค้าที่แต่ละประเทศมีความพร้อมเท่านั้น ดังนั้น สหรัฐฯ จึงต้องมาผลักดันให้ CAFTA อันประกอบไปด้วย 5 ประเทศในอเมริกากลาง (นิคารากัว เอล ซาวาดอร์ กัวเตมาลา ฮอนดูรัส และคอสต้าริก้า) และโดมินิกัน รีพับลิค มีผลก่อนเพื่อเป็นการโดดเดี่ยวและกดดันบราซิลซึ่งเป็นตลาดหลักที่สหรัฐฯ ต้องการที่สุด

รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องใช้เวลากว่า 15 เดือนหลังการเจรจา CAFTA เสร็จสิ้นรวบรวมความกล้าส่งร่างข้อตกลงให้รัฐสภาพิจารณา ซึ่งผิดกับ FTA ที่สหรัฐฯ ทำกับชิลี สิงคโปร์ โมร็อคโค และออสเตรเลีย รัฐบาลนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาหลังการลงนามเพียงแค่ 1-2 เดือนเท่านั้น และแม้ว่าวุฒิสภาจะมีมติรับข้อตกลง CAFTA แล้วก็ตาม แต่ใช่ว่า จะผ่านฉลุยในสภาผู้แทนราษฎรที่พรรครีพับริกันมีเสียงข้างมาก เพราะ ส.ส.รีพับริกันหลายสิบคนตัดสินใจที่จะโหวตค้าน CAFTA ร่วมกับพรรคเดโมแครต และ ส.ส.อิสระ ทำให้ล่าสุด สัดส่วนที่ค้านก็ยังมีมากกว่าเสียงสนับสนุน โดยเสียงค้านประกอบไปด้วย 190 เสียงจากจากพรรคเดโมแครต และ 40 เสียงจากพรรครีพับลิคกัน (ส.ส.ทั้งสภามีทั้งสิ้น 435 เสียง)

ปัจจัยหลักที่ทำให้เสียงค้านเข้มแข็งขึ้นมากจาก "ตัวช่วยที่สำคัญ" คือ กลุ่มที่เคยสนับสนุน และเคยเชื่อว่าจะได้ประโยชน์ NAFTA ซึ่งขณะนี้มีความชัดเจนแล้วว่า หายนะอะไรเกิดขึ้นบ้าง และประจักษ์กับตาถึงความรุนแรงของผลกระทบ อาทิ สหภาพแรงงาน, กลุ่มนักสิ่งแวดล้อมที่เคยเชื่อมนต์ "คำมั่นสัญญา" และรัฐบาลท้องถิ่น 31 รัฐจาก 50 รัฐในสหรัฐก็ร่วมคัดค้านและถอนตัวออกจากการผูกมัดของ CAFTA แม้แต่กลุ่มประชาสังคมละตินอเมริกาที่ก่อนหน้านี้เคยเป็นแกนนำหลักหนุน NAFTA ยังออกโรงค้าน ซึ่ง "ตัวช่วย" เหล่านี้เป็นกลุ่มที่รัฐบาลอเมริกันและหอการค้าอเมริกัน...กลัวมากที่สุด

ข้อโต้แย้งเรื่อง CAFTA ในสังคมอเมริกันอาจดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัว แต่ในฐานะที่ไทยกำลังเร่งเจรจาเอฟทีเอกับสหรัฐฯ ภายใต้อำนาจต่อรองที่อ่อนแอด้วยข้อจำกัดต่าง ๆ CAFTA ได้ฉายภาพขยายรอบด้านของ เอฟทีเอไทย-สหรัฐฯ ได้เป็นอย่างดี

เชอร์รอด บราวน์ ส.ส.พรรคเดโมแครตจากรัฐโอไฮโอ กล่าวว่า "ใครที่โหวตสนับสนุน CAFTA ขอจงให้จำใส่ใจว่า ท่านมีหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวีในประเทศคู่เจรจา CAFTA คนเหล่านี้ป่วยเรื้อรัง แต่พวกเขาจะป่วยถึงตาย ถ้า CAFTA มีผลบังคับใช้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีปัญญาซื้อยาแบรนเนมที่ติดสิทธิบัตร รวมถึงผู้ป่วยทีบีและมาลาเรีย

แม้ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ จะอ้างว่า มีข้อตกลงข้างเคียง (side agreement) เพื่อให้สิทธิแก่การจัดการกับปัญหาโรคเอดส์ ทีบี และมาลาเรีย แต่ข้อตกลงข้างเคียงไม่มีผลบังคับทางกฎหมาย ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นข้อตกลงที่น่าหัวเราะเยาะ เพราะให้สัญญาว่าจะจัดการกับปัญหาด้านสาธารณสุข ขณะที่ข้อตกลง CAFTA เองได้ทำลายเครื่องมือเหล่านี้ไปแล้ว และไม่แตะต้องสิทธิบัตรเลยแม้แต่น้อย ข้อตกลงเช่นนี้ไปหลอกใครไม่ได้หรอก"

จากงานวิจัยของอ็อกซ์แฟม และองค์กรหมอไร้พรมแดน ชี้ว่า ระบบทรัพย์สินทางปัญญาใน CAFTA จะสร้างการผูกขาดให้กับอุตสาหกรรมยาในสหรัฐ ด้วยการกวาดยาสามัญออกจากตลาดให้เหลือเพียงยาติดสิทธิบัตรที่มีราคาแพง จะส่งผลให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีหลายล้านคนใน 6 ประเทศเข้าไม่ถึงยา แค่กัวเตมาลาประเทศเดียว มีผู้ติดเชื้อ 78,000 คน ในจำนวนนี้ 13,500 คนต้องการยาฆ่าเชื้อ ARV แต่มีเพียง 3,600 คนเท่านั้นที่ได้รับยาดังกล่าว หากมีการบังคับใช้ระบบสิทธิบัตรใน CAFTA จะทำให้มีผู้เสียชีวิตมากขึ้น ฉะนั้น สิ่งที่ CAFTA ประสบความสำเร็จที่สุด คือ การสร้างบรรยากาศที่เป็นมิตรกับอุตสาหกรรมยายักษ์ใหญ่มากที่สุด (pharma-friendly) ด้วยการขยายอายุสิทธิบัตร และการผูกขาดข้อมูลทางการค้า (data exclusivity) มากเสียยิ่งกว่าในสหรัฐเอง เพราะในสหรัฐกำหนดเพียง 5 ปี แต่ใน CAFTA กำหนดว่า "อย่างน้อย 5 ปี"

แม้ว่า CAFTA จะยังไม่มีผลบังคับใช้ แต่ประเทศเล็ก ๆ ก็ต้องเดินหน้าตามคำสั่งไปแล้ว เช่น ในกรณีของกัวเตมาลา รัฐสภาได้ผ่านร่างกฎหมายภายใต้แรงกดดันของสหรัฐฯ เพื่อปูทางให้กับ CAFTA ด้วยการกำหนดการผูกขาดข้อมูลทางการค้า (data exclusivity) แม้จะมีการประท้วงรุนแรงทั่วประเทศจากกลุ่มศาสนาและผู้ติดเชื้อทั่วกัวเตมาลา แต่มันก็สายเกินไป

ตัวเลขประมาณการของ Public Citizen ระบุว่า หาก CAFTA มีผลบังคับใช้ รัฐบาลคอสตาริก้า จะต้องเพิ่มงบประมาณด้านยาในส่วนของสาธารณสุขเพิ่มขึ้นจาก 8% เป็น 45% ของงบประมาณทั้งหมด ราคายาในคอสตาริก้าจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 800% ขณะที่งบประมาณของรัฐที่จะช่วยเหลือผู้ช่วย จะสามารถช่วยได้แค่ 18% ของผู้ป่วยทั้งหมด

PharMA สมาคมอุตสาหกรรมยาที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ อ้างว่า จะมีการลดราคาให้เป็นพิเศษสำหรับประเทศภาคี CAFTA แต่... "ยาจำเป็นต้องมีราคาแพงแม้จะขายในตลาดประเทศยากจน เพราะมีค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยอย่างมาก" ข้ออ้างเช่นนี้ถูกท้าทายจากงานวิจัยของนักวิชาการจากทั่วโลกแม้กระทั่งนักวิชาการอเมริกันเองว่า อุตสาหกรรมยาใช้จ่ายด้านการวิจัยน้อยมาก เมื่อเทียบกับค่าการตลาดและค่าโฆษณา

สารคดี Dying for Drugs ได้จัดฉายให้คณะกรรมาธิการการค้าระหว่างประเทศ วุฒิสภาสหรัฐ เป็นเรื่องราวของเด็กผู้ติดเชื้อที่ตายเพราะพ่อแม่ไม่มีปัญญาซื้อยาของบริษัทไฟเซอร์ที่ขายในฮอนดูรัสในราคา 27 ดอลลาร์ ทั้ง ๆ ที่ยาตัวนี้มีค่าผลิตแค่ไม่กี่เพนนีเท่านั้น ก่อนจะตบท้ายให้คณะกรรมาธิการฟังว่า สิ่งที่เห็นในสารคดีชิ้นนี้ ที่เกิดกับเด็กคนนี้ เป็นสิ่งที่อธิบายว่าทำไม สหรัฐอเมริกาต้องการให้ประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาอยู่ในเนื้อหาของข้อตกลง CAFTA

ประเด็นความห่วงใยถึงผลกระทบของ CAFTA ไม่ใช่มีเพียงยาราคาแพงเท่านั้น แต่CAFTA จะกระจายโมเดลอันผิดพลาดของการค้าระหว่างประเทศแบบ NAFTA ไปยังอีก 6 ประเทศในอเมริกากลาง ตลอด 10 ปีของ NAFTA ได้แสดงให้เห็นผลกระทบต่อครอบครัวคนทำงานและสิ่งแวดล้อม แค่ในสหรัฐ 766,000 ตำแหน่งงานหายไปอันเป็นผลโดยตรงจาก NAFTA

ในเขตเศรษฐกิจพิเศษมากิราโดร่าชายแดนสหรัฐ-เม็กซิโก ที่เคยเชื่อว่าจะสร้างงานให้คนเม็กซิกัน ค่าจ้างถูกเอารัดเอาเปรียบ ห้ามมีสหภาพแรงงาน มลภาวะอุตสาหกรรมทำให้เกิดโรคตับอักเสบและเด็กที่เกิดมีสภาพผิดปกติมากมาย

ในข้อตกลง CAFTA ไม่มีมาตรการปกป้องสิทธิแรงงานและสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังดังโฆษณา แต่มีท่าทีการสนับสนุนโรงงานนรก CAFTA ไม่ได้บังคับให้มีการเพิ่มมาตรฐานแรงงานตามองค์การแรงงานโลก หรือ ไอแอลโอ แค่ให้ประเทศคู่สัญญาทำตามกฎหมายเท่าที่มีอยู่เดิมโดยไม่สนใจว่ามาตรฐานที่มีอยู่นั้นจะต่ำแค่ไหน ไม่สนใจว่าประเทศแถบอเมริกากลาง รัฐบาลจะข่มขู่สหภาพ กีดกันการรวมตัวของประชาชน กดขี่แรงงาน ในที่สุด CAFTA จะเป็นแค่ เขตอุตสาหกรรมแรงงานนรกเท่านั้น

เกษตรกรรายย่อยในอเมริกากลางจะมีชะตากรรมเช่นเดียวกับเพื่อนพ้องของเขาในเม็กซิโก สหรัฐฯ และแคนาดาภายใต้แรงกระทำของ NAFTA ขณะที่อุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่อย่าง คาร์กิลและ ADM จะได้ประโยชน์เต็ม ๆ จากการผูกขาดเมล็ดพันธุ์และปัจจัยการผลิตอื่น ๆ จนทำให้เกษตรกรต้องสูญเสียที่ดิน อพยพแรงงานเข้าสู่เมืองไปเป็นแรงงานทาสในเขตอุตสาหกรรม หรือเสี่ยงที่จะอพยพอย่างผิดกฎหมายไปสหรัฐฯ

การบริการสาธารณะต่าง ๆ จะตกเป็นสินค้าอันหอมหวานของนักลงทุนต่างชาติที่ร่วมกับนายทุนชาติ ปิดโอกาสรัฐบาลต่างๆในการให้สิทธิพิเศษแก่บริการสาธารณะเพื่อประชาชน ภายใต้ CAFTA กฎหมายภายในประเทศที่ปกป้องสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงอาหาร, การรักษาพยาบาล สาธารณูปโภคพื้นฐานต่าง ๆ อาจถูกตีว่า "เป็นอุปสรรคทางการค้า" และถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายโดยบรรษัทข้ามชาติ

บทเรียนจาก NAFTA ที่อนุญาตให้บริษัทต่าง ๆ ฟ้องร้องรัฐบาลกับกฎทุกกฎที่ออกมาขวางการแสวงหากำไร พบว่า ตั้งแต่ปี 2537 กฎนี้ถูกใช้ฟ้องร้องแล้ว 27 คดีทั้งประเด็นสาธารณสุข ความปลอดภัยในการทำงาน กฎหมายสิ่งแวดล้อม ซึ่งทำให้รัฐบาลต้องจ่ายค่าปรับ ค่าชดเชย หรือต้องออกกฎหมายเฉพาะที่เอาใจนักธุรกิจเท่านั้น

CAFTA กำหนดให้รัฐบาลต้องแปรรูปให้เอกชนเข้ามาดำเนินการในกิจการต่าง ๆ ทำให้ต้องขึ้นราคาค่าบริการ ลดการเข้าถึง และลดคุณภาพ ผู้ที่จะได้ผลกระทบมากที่สุดคือ คนจน เด็ก และคนชรา

จากผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะกับคนยากจน และธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อย จึงก่อให้เกิดกระแสคัดค้านไปทั่วอเมริกากลาง

ในกัวเตมาลา ประชาชนเรียกร้องสิทธิการลงประชามติ เพื่อตัดสินชะตากรรมของตัวเองว่าอยากหายนะอย่างเม็กซิโกหรือไม่ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม ฮวน โลเปซ ออกมาเดินขบวนคัดค้านกับเพื่อนร่วมชาติร่วมชะตากรรม เขาถูกฝ่ายรัฐยิงตายคาที่

ในเอลซาวาดอร์ ประเทศแรกที่ผ่านข้อตกลง CAFTA แม้ประชาชนส่วนใหญ่คัดค้านเพราะประโยชน์จะตกแก่ชนชั้นนำที่กุมอำนาจเท่านั้น พวกเขาประกาศว่าจะสู้จนถึงที่สุด ปลายปีที่แล้ว ประชาชน 250,000 คนเดินขบวนประท้วงการแปรรูปและการผูกขาดยาตามเงื่อนไขของ CAFTA

ในฮอนดูรัส รัฐบาลกดดันรัฐสภาให้ผ่านข้อตกลง แต่ประชาชนทั้งแรงงาน เกษตรกรและอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็กกำลังเตรียมพร้อมเพื่อประท้วงใหญ่

คอสตาริก้า แกนนำการชุมนุมยืนยันว่า การประท้วงของพวกเขาจะเข้มข้น และดุเดือด "สงครามของพวกเราอยู่บนท้องถนน"

ที่นิคารากัว ประชาชนเรือนหมื่นประท้วงเป็นระยะเพื่อคัดค้านการแปรรูปน้ำ และการขึ้นราคายาภายใต้ระบบทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มงวดตาม CAFTA

แล้วผู้นำประเทศเหล่านี้ ... กำลังทำอะไรกันอยู่ ได้ยิน-ได้ฟัง-ได้เข้าใจความกังวลของประชาชนของพวกเขาหรือไม่

ประธานาธิบดีจาก 6 ประเทศคู่เจรจา เอล ซาวาดอร์, กัวเตมาลา, ฮอนดูรัส, นิคารากัว, คอสตาริก้า และโดมินิกัน รีพับลิค เต็มอกเต็มใจร่วมมือกับรัฐบาลสหรัฐฯ โดยนายร็อบ พอร์ตแมน ผู้แทนการค้า เดินสายตระเวนขอความเห็นใจจากสมาชิกคองเกรส และทัวร์ 11 เมืองใหญ่ในสหรัฐฯ เพื่อขอให้เห็นใจ "คนยากจนในอเมริกากลาง" ที่อยากได้ CAFTA ใจจะขาด

ขณะที่บทความนี้ออกตีพิมพ์ออกไป ตัวแทนฝ่ายไทยที่นำโดย นายนิตย์ พิบูลสงคราม กำลังคิดและทำอะไรอยู่ และผู้ที่กุมนโยบายเหนือพวกเขาอีกทีเคยได้ยิน-ได้ฟัง-ได้เข้าใจความกังวลของประชาชนของพวกเขาหรือไม่

หรือว่า พวกเขากำลังเตรียมแผน "ทัวร์ขอความเห็นใจ" ของ "คนยากจนในประเทศไทย" ที่อยากได้ FTA ใจจะขาด

อ้างอิงจาก http://www.stopcafta.org http://www.bilateral.org http://www.citizen.org(Public Citizen) http://www.globalexchange.org http://www.NCRonline.org(National Catholic Reporter) http://www.house.gov http://www.senate.gov http://www.ustr.gov
Washington Post, The Guardian, BBC, Reuter, AlterNet, Common Dreams, AP, Seattle Times

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล
กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA WATCH)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net