Skip to main content
sharethis



















 






 


เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2551 กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอว็อทช์) ร่วมกับคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ (กป.อพช.เหนือ) สำนักข่าวประชาธรรม และโครงการสื่อสารแนวราบ (Local Talk Project) จัดงานเสวนา "นโยบายเศรษฐกิจทางเลือกภาคใต้กระแสโลภาภิวัตน์ และอุดมการณ์เสรีนิยมใหม่: บทสำรวจองค์ความรู้ และประสบการณ์" ที่โรงแรมศิรินาถการ์เด้น จ.เชียงใหม่ ซึ่งได้นำเสนองานศึกษาทางวิชาการ พร้อมกับพูดคุยแลกเปลี่ยน ถกเถียงกันในประเด็นที่เกี่ยวพันกับนโยบายเศรษฐกิจ - ทางเลือกทางรอด ในระบบเศรษฐกิจกระแสหลักทุกวันนี้


 


โดยโลคัลทอล์คได้นำเสนอแบ่งออกเป็น 3 ส่วน


 


(1) งานศึกษาของ  ปกป้อง จันวิทย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ "กรณีศึกษาว่าด้วย Capital Controls (มาตรการกำกับและจัดการทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ) [ตัวอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศชิลี และมาเลเซีย]


 


(2) งานศึกษา "นโยบายเศรษฐกิจทางเลือกในประเทศกำลังพัฒนา - นโยบายพัฒนาที่ตั้งอยู่บนความสุข กรณีภูฏาน, บทบาทของอิสลามในการพัฒนา และนโยบายประชานิยมในละตินอเมริกา " ของนักวิชาการอิสระ สฤณี อาชวานันทกุล และ


 


(3) บทแลกเปลี่ยนสำหรับเศรษฐศาสตร์ทางเลือก โดย .ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์


 


"ประชาไท" ขออนุญาตนำมาเผยแพร่ซ้ำ โดยจะทะยอยลงเป็นตอนๆ จนครบ 3 ตอน


 


 


ความย่อ : ฎูฏาน ประเทศอิสลาม และละตินอเมริกา มีนโยบายทางเศรษฐกิจแตกต่างไปจากเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมใหม่ ที่มุ่งเน้นการแข่งขันและผลกำไร อ.สฤณี อาชวนันทกุล นักวิชาการอิสระ ศึกษาวรรณกรรมปริทัศน์ทั้งสามกรณี ซึ่งชี้ให้เห็นถึงเศรษฐกิจไม่ได้ขึ้นอยู่กับผลกำไรเพียงอย่างเดียว ยังมีเรื่องสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และคนชนชั้นแรงงานที่ควรผนวกเข้าไปในนโยบายเศรษฐกิจเช่นกัน


0 0 0




สฤณี อาชวนันทกุล นักวิชาการอิสระ และผู้ก่อตั้งเว็บไซต์คนชายขอบ - Fringer (www.fringer.org) ได้นำเสนอ "นโยบายเศรษฐกิจทางเลือกในประเทศกำลังพัฒนา" มีหัวข้อเรื่องย่อย ได้แก่ นโยบายพัฒนาในอุดมคติ นโยบายพัฒนาที่ตั้งอยู่บนความสุข: กรณีฎูฐาน บทบาทของอิสลามในการพัฒนา - เศรษฐกิจอิสลาม และนโยบายประชานิยมในละตินอเมริกา - เศรษฐกิจละตินอเมริกา


"นโยบายพัฒนาในอุดมคติ" ที่จากเดิม มีการให้ค่าจีดีพีเป็นองค์ประกอบเดียวของความสุขซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากมาย นักเศรษฐศาสตร์จึงเริ่มคิดถึงการพัฒนาทางเลือกต่างๆ โดยเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไม่กระจุกตัวอยู่ที่คนชั้นนำกลุ่มหนึ่ง และตั้งเป้าหมายที่การส่งเสริมการอยู่ดีมีสุขของประชาชนในสังคม ใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน ในการพัฒนาอย่างยั่งยืน มองทรัพยากรทั้งหมดเป็นต้นทุน มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์มากกว่าระดับรายได้ ส่งเสริมความยุติธรรมทางสังคมโดยรัฐต้องคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานและรองรับความหลากหลายทางวัฒนธรรมท้องถิ่นในทุกระดับได้ด้วย


"การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) หมายความว่า ไม่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติในอัตราที่เร็วกว่าความสามารถของมนุษย์ในการผลิตทรัพยากรทดแทน และไม่ทิ้งทรัพยากรธรรมชาติในอัตราที่เร็วกว่าอัตราที่ธรรมชาติจะสามารถดูดซับมันกลับเข้าไปในระบบได้"








 


                                         


 


ภูฏาน: การพัฒนาบนความสุข
" ภูฏาน: ใช้นโยบายการท่องเที่ยวที่ควบคู่ไปกับนโยบายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กฎหมายสิ่งแวดล้อมระบุว่าต้องมีพื้นที่ป่าไม้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 ของพื้นที่ทั้งประเทศ พื้นที่สงวนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 25และมาตรการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวทางอ้อมด้วยการเก็บภาษีท่องเที่ยว"


กรณีของภูฎานได้มีนโยบาย ความสุขมวลรวมประชาชาติ (Gross National Happiness : GNH) ที่เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การส่งเสริมวัฒนธรรมประจำชาติ ธรรมาภิบาลที่ดี โดยตัวอย่างนโยบายจีเอ็นเอชที่เป็นรูปธรรม เช่น "การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน"


โดยใช้นโยบายการท่องเที่ยวที่ควบคู่ไปกับนโยบายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กฎหมายสิ่งแวดล้อมระบุว่าต้องมีพื้นที่ป่าไม้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 ของพื้นที่ทั้งประเทศ และพื้นที่สงวนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 25 ไม่ยอมรับอุตสาหกรรมป่าไม้ อนุญาตให้คนตัดไม้ไปสร้างบ้านเรือนและอาคารเท่านั้น แต่ต้องขออนุญาตจากรัฐและต้องปลูกต้นไม้ชดเชย มาตรการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวทางอ้อมด้วยการเก็บภาษีท่องเที่ยว แคมเปญ "ชาติเดียว ชาติพันธุ์เดียว" : บังคับใช้ชุดจริยธรรมแบบจารีตเก่าแก่ พัฒนาระบบราชการที่เข้มแข็งและสามารถกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น


อย่างไรก็ตาม ภูฎานยังมีปัญหาและความท้าทาย อาทิ ภูฎานยังพึ่งพาอินเดีย โดยเฉพาะการขายไฟฟ้า - ร้อยละ 88 ของมูลค่าส่งออก และเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศในอัตราสูง เนื่องจากภาคเอกชนยังมีขนาดเล็กมาก รวมทั้งการพัฒนาภาคธุรกิจเอกชนเป็นไปอย่างเชื่องช้า และมีต้นทุนสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศกำลังพัฒนา ส่งผลให้แนวโน้มอัตราว่างงานสูงขึ้น เนื่องจากมีหนุ่มสาวที่จบการศึกษาเร็วกว่าตำแหน่งงานในภาคเอกชน ภาครัฐต้องรับภาระในการจ้างงานค่อนข้างสูง


นอกจากนี้ ความพยายามที่จะอนุรักษ์อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างแข็งขืน ก็กำลังส่งผลกระทบเชิงลบต่อชนกลุ่มน้อยในประเทศ โดยเฉพาะชาวเนปาลอพยพที่ถูกกีดกัน อีกทั้ง ในช่วงนี้หลังจากที่เพิ่งผ่านระบอบการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข รัฐบาลจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างมากในการจัดตั้งและทำนุบำรุงโครงสร้างเชิงสถาบันใหม่ๆ ที่จำเป็นในระบอบประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นระบบราชการ สถาบันตุลาการ และองค์กรอิสระอื่นๆ ด้วย


 







 "อิสลาม : มนุษย์ควรแสวงหาความมั่งคั่งอย่างชอบธรรมได้ด้วยการทำงานหนักและรับมรดกตกทอด
สังคมมีหน้าที่ดูแลคนจนและคนด้อยโอกาส

ซากัต ราคาในการทำธุรกรรมต่างๆ ต้องเป็นราคาที่ยุติธรรม"


 


บทบาทของอิสลามในการพัฒนา
ต่อมา อ.สฤณี กล่าวถึง เศรษฐกิจในอุดมคติกรณีโลกมุสลิมสอดคล้องกับหลักศาสนาอิสลามที่มองว่า มนุษย์ทุกคนมีหน้าที่ทำงานเพื่อหาเลี้ยงชีพ พระอัลเลาะห์เป็นเจ้าของสุดท้ายของสรรพสิ่งทุกอย่างบนโลก มนุษย์ควรแสวงหาความมั่งคั่งอย่างชอบธรรมได้ด้วยการทำงานหนักและรับมรดกตกทอด สังคมมีหน้าที่ดูแลคนจนและคนด้อยโอกาส - ซากัต ราคาในการทำธุรกรรมต่างๆ ต้องเป็นราคาที่
"ยุติธรรม" หมายความว่าเป็นผลลัพธ์ของตลาดที่มีการแข่งขันอย่างเสรีจริงๆ


การผูกขาดและกักตุนสินค้านำไปสู่การฉวยโอกาสเอาเปรียบผู้อื่น และดังนั้นจึงต้องถูกต่อต้านหรือกำจัด เป้าหมายของนโยบายการเงินของรัฐควรอยู่ที่การรักษาเสถียรภาพของราคา เป้าหมายของนโยบายการคลังของรัฐควรอยู่ที่การสร้างสมดุลระหว่างรายได้ (จากการเก็บภาษี) และรายจ่าย (เพื่อสาธารณประโยชน์) ในทางที่งบประมาณไม่ขาดดุล


โดยหลักการของระบบการเงินอิสลามมีหลักการพื้นฐานที่สำคัญที่สุดคือการห้าม "ริบา" (ดอกเบี้ย) และห้ามการควบคุมราคาและการบิดเบือนราคา แต่ไม่ได้ห้ามการเก็งกำไรใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งแก่นแท้ของระบบการเงินอิสลามอยู่ที่การส่งเสริมทักษะและทัศนคติแบบ "ไม่เสี่ยงเกินตัว" ของผู้ประกอบการ การปกป้องสิทธิในทรัพย์สินส่วนบุคคล ความโปร่งใสและความเท่าเทียมกันของผู้เล่นในระบบ ตลอดจนความศักดิ์สิทธิ์ของสัญญาทางการเงิน


ส่วนความท้าทายและนโยบายที่จำเป็นของระบบเศรษฐกิจนี้ ได้แก่ ถึงแม้สถาบันการเงินอิสลามจะมีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ แต่สถานการณ์ตลาดที่ไม่เอื้ออำนวยปัญหาขาดแคลนสภาพคล่อง พอร์ตลงทุน เครื่องมือบริหารความเสี่ยง สินทรัพย์สภาพคล่องสูงตลอดจนข้อจำกัดอื่นๆ ทำให้มูลค่าสินทรัพย์ของสถาบันการเงินอิสลามอยู่ในระดับค่อนข้างคงที่และสินทรัพย์เหล่านั้นส่วนใหญ่ก็เป็นตราสารการเงินระยะสั้น


นอกจากนี้ปัจจุบันธุรกรรมการเงินแบบอิสลามมักจะเสียเปรียบตราสารหนี้กระแสหลักในด้านความคุ้มค่าของต้นทุน หรืออุปสรรคสำคัญประการหนึ่งที่กีดขวางการเติบโตของการเงินอิสลามคือการขาดความเข้าใจในสภาวะตลาดการเงินสมัยใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เป็นต้น


 







 "ในยุคล่าอาณานิคม ละตินอเมริกาเป็นเมืองขึ้น
และถูกประเทศแม่ขูดรีดทรัพยากรไปเป็นจำนวนมาก หลังจากได้รับเอกราชแล้ว
ประเทศส่วนใหญ่อยู่ภายใต้ระบบสังคมนิยมและเผด็จการ ปกครองโดยรัฐบาลทหารที่ต้องการความชอบธรรม
เพื่อจะได้อยู่ในอำนาจนานๆ
จึงเริ่มมีการใช้นโยบายประชานิยม
"


 


นโยบายประชานิยมในละตินอเมริกา
แม้ว่าการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบ
"เปิดเสรีสุดขั้ว" ภายใต้อุดมการณ์เสรีนิยมใหม่ของตะวันตก ซึ่งถูกนำเข้ามาใช้อย่างเร่งรีบและรุนแรง เป็นสาเหตุหนึ่งของการเลือกดำเนินนโยบายประชานิยม และปรัชญาเบื้องหลัง ที่เกิดขึ้นในละตินอเมริกา คือ การที่ผู้ปกครองภายใต้แนวคิดประชานิยมได้พยายามนำเสนอแนวนโยบายที่มีลักษณะเป็นปฏิกิริยาโต้กลับนโยบายเดิม โดยมีสาระต่อต้านแนวคิดแบบตะวันตก และลิดรอนอำนาจทางเศรษฐกิจของชนชั้นนำ ทั้งชนชั้นนำระดับท้องถิ่น และระดับชาติที่มีบรรษัทต่างชาติคอยหนุนหลัง


กรณีละตินอเมริกาได้มีการใช้นโยบายประชานิยม ซึ่งมีหลักการพื้นฐานด้วยการระดมทรัพยากรทางการคลังของรัฐบาลทั้งเงินในงบประมาณและเงินนอกงบประมาณ และรายได้จากการค้าขายของรัฐบาล มาใช้จ่ายอย่างเต็มที่ในนโยบายประชานิยมรูปแบบต่างๆ รวมทั้งการทำให้สถาบันการเงินของรัฐให้เป็นแหล่งเงินทุนในการใช้จ่ายงบประมาณไปในนโยบายประชานิยม โดยเน้นหนักไปในการใช้นโยบายกึ่งการคลัง ฉะนั้นในความหมายของการใช้นโยบายประชานิยมเป็น "ปฏิกิริยา" ของประเทศละตินต่อผลเสียจากอุดมการณ์เสรีนิยมใหม่ และการกดขี่แทรกแซงของบรรษัทข้ามชาติและรัฐบาลอเมริกันมาโดยตลอด


ซึ่งในยุคล่าอาณานิคมภูมิภาคละตินอเมริกาเป็นเมืองขึ้นและถูกประเทศแม่ขูดรีดทรัพยากรไปเป็นจำนวนมาก หลังจากได้รับเอกราชแล้ว ประเทศส่วนใหญ่อยู่ภายใต้ระบบสังคมนิยมและเผด็จการ ปกครองโดยรัฐบาลทหาร เนื่องจากรัฐบาลทหารต้องการแสวงหาความชอบธรรมเพื่อจะได้อยู่ในอำนาจนานๆ จึงเริ่มมีการใช้นโยบายประชานิยม


กระนั้นนโยบายประชานิยมก่อปัญหามากมาย องค์กรโลกบาลต่างๆ จึงเข้ามามีบทบาทในละตินอเมริกา โดยเสนอให้ดำเนินนโยบายตามฉันทามติวอชิงตัน [เปิดเสรีทางเศรษฐกิจ - ลดละเลิกการกำกับควบคุมโดยรัฐ-แปรรูปรัฐวิสาหกิจ] ซึ่งเป็น "ยาแรง" ที่ส่งผลเสียต่อประเทศไม่น้อยไปกว่ากัน นำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจทั่วทั้งภูมิภาค ประชาชนได้รับความเดือดร้อนกันทั่วหน้า


หลังจากวิกฤติ ประเทศเริ่มมีปฏิกิริยาต่อต้านการชักนำและนโยบายแทรกแซงของสหรัฐอเมริกา นำไปสู่การดำเนินนโยบายประชานิยมอีกครั้ง ซึ่งมีรูปแบบแตกต่างออกไปจากเดิม


ทั้งนี้รูปแบบของประชานิยมในละตินอเมริกา ได้แก่ หนึ่ง ประชานิยมแบบดั้งเดิม มีฐานเสียงส่วนใหญ่อยู่ที่กลุ่มสหภาพแรงงาน มีนโยบายจัดสรร กระจายและแจกจ่ายสินค้าและบริการต่างๆ ให้กับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศซึ่งเป็นคนจนและชนชั้นกลางให้เป็นธรรมมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้ตั้งใจต่อต้านทุนนิยมเสียทีเดียว นโยบายแบบนี้มีลักษณะต้องการกระจายอำนาจในการบริโภคมากกว่าต้องการปฏิวัติระบอบเศรษฐกิจ


สอง ประชานิยมเสรีนิยมใหม่ เลือกดำเนินนโยบายประชานิยมควบคู่ไปกับนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ปล่อยให้กลไกตลาดเป็นตัวกำหนดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและลดบทบาทของรัฐลง แล้วใช้นโยบายเอาใจฐานเสียงที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนระดับล่างในเศรษฐกิจนอกระบบซึ่งจะใช้เฉพาะกลุ่มเท่านั้น ลักษณะสำคัญอีกประการหนึ่ง คือการแยกตัวเองออกจากกลุ่มนักการเมืองรุ่นเก่า กลุ่มอำนาจเก่า


สาม ประชานิยมชาตินิยม มีนโยบายซื้อคืนกิจการของเอกชน โดยเฉพาะกิจการผูกขาดในสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ตกอยู่ในมือบรรษัทข้ามชาติ ให้กลับมาเป็นของรัฐ และดำเนินการปฏิรูปโครงสร้างสถาบัน เฉกเช่นที่เกิดขึ้นในเวเนซูเอล่า และโบลิเวีย แต่ทั้งนี้ นโยบายประชานิยมรูปแบบต่างๆ ยังมีผลดี-ผลเสีย อาทิ


ประชานิยมแบบดั้งเดิมส่งผลให้รายได้ที่แท้จริงและการบริโภคอยู่ในระดับดีขึ้น อย่างมีนัยสำคัญในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ประชาชนได้สินค้าและบริการมาอุปโภคบริโภคโดยไม่ต้องแบกรับต้นทุน ทำให้เศรษฐกิจในระยะแรกเติบโต แต่จะก่อให้เกิดปัญหาตามมาในระยะยาวโดยเฉพาะการบั่นทอนวินัยทางการคลังของรัฐ และวินัยทางการเงินของประชาชน


ประชานิยมเสรีนิยมใหม่ ทำให้เกิดผลกระทบคล้ายคลึงกับประชานิยมแบบแรก ต่างกันที่มีผลดีจากการที่นักลงทุนจากในและต่างประเทศจะมีความเชื่อมั่นที่จะเข้ามาลงทุนภายในประเทศ มากกว่าประเทศที่ใช้ประชานิยมแบบดั้งเดิมและประชานิยมชาตินิยม หรือเมื่อใช้นโยบายควบคู่กับเสรีนิยมใหม่ที่เน้นกลไกตลาด จะทำให้เกิดประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น หากประเทศมีโครงสร้างเชิงสถาบันที่ดี


ส่วนประชานิยมชาตินิยม ส่งผลให้รายได้ที่แท้จริงเพิ่มขึ้น ระบบบริการสุขภาพและระบบการศึกษา มีคุณภาพดีกว่าเดิม แต่ก็ส่งผลให้รัฐบาลมีภาระในการใช้จ่ายมาก ซึ่งอาจส่งผลกระทบในระยะยาวไม่ต่างกันกับนโยบายประชานิยมแบบอื่นๆ นอกจากนี้ ก็มีข้อกังขาว่ารัฐบาลจะสามารถดำเนินธุรกิจผูกขาดได้ดีกว่าเอกชนหรือไม่


อย่างไรก็ดี สฤณี ยังทิ้งท้ายถึงข้อถกเถียงเกี่ยวกับนโยบายประชานิยมด้วยว่า แท้จริงแล้ว การดำเนินนโยบายเช่นนี้ ช่วยแก้ปัญหาให้กับคนยากจนได้หรือไม่ หรือจะทำให้กระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยและประชาสังคมต้องติดขัดจริงหรือไม่ นโยบายนี้มีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือคนจนจริงหรือ?.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net