Skip to main content
sharethis

สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย มุทิตา เชื้อชั่ง


 



 


ค่ำคืนวันที่ 22 กรกฎาคม กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (ปราบกบฏ) หรือ นปก. ได้ปรากฏตัวบนจอทีวีอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน หากแต่เป็นภาพของความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการพยายามฝ่าแนวกั้นของตำรวจเพื่อไปชุมนุมที่หน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เพื่อเรียกร้องให้ลาออกจากตำแหน่งประธานองคมนตรี


 


ภาพที่เห็น ชายหนุ่มหลายคนกำลังเอาแผงรั้วกระแทกโล่ของตำรวจปราบจลาจล ผู้คนขว้างปาสิ่งของกระทั่งกระถางต้นไม้ข้างทางเข้าใส่เจ้าหน้าที่ ทำลายข้าวของราชการ เกิดการจลาจลย่อมๆ มีผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งสองฝ่าย ก่อนหน้านั้นมีการยึดรถขยะเพื่อขับฝ่าด่านกั้นของตำรวจมาแล้วรอบหนึ่งในตอนบ่าย


 


ล่าสุด แกนนำ 18 คนถูกแจ้งข้อหามั่วสุมกันตั้งแต่ 10 ขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้าย ข่มขู่ว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ข่มขู่ว่าจะกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดในบ้านเมือง และข้อหาร่วมกันต่อสู้ขัดขืนเจ้าพนักงานระหว่างปฏิบัติหน้าที่โดยใช้กำลัง ด้าน พล.ต.อ.เสรีพิสุทธิ์ เตมียเวส รักษาการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ประกาศชัดว่าจะไม่ยอมให้ นปก.เคลื่อนขบวนไปก่อความวุ่นวายที่ไหนอีกอย่างเด็ดขาด นอกจากการชุมนุมที่สนามหลวง ขณะเดียวกัน ฝ่ายแกนนำ นปก.นำโดยหมอเหวง โตจิราการ นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ นายจักรภพ เพ็ญแข นายจตุพร พรหมพันธุ์ ก็แถลงข่าวตอบโต้สิ่งที่เกิดขึ้น โดยมีวีดิโอเทปยืนยันว่า กลุ่มผู้ชุมนุมไม่ใช่ผู้ที่เริ่มต้นก่อความรุนแรงก่อน และพวกเขาต่างหากที่เป็นผู้ถูกกระทำ


                          


0 0 0


 


"จิ้น กรรมาชน" นักดนตรีเพื่อชีวิตที่ขึ้นเวทีขับกล่อมกลุ่ม นปก. และกลุ่มต่อต้านเผด็จการอื่นๆ หลายต่อหลายครั้ง นั่งนิ่งสักพักเพื่อนึกถึงเหตุการณ์คืนนั้น


 


"มันเริ่มตั้งแต่การชุมนุมวันพฤหัสฯ (19 ก.ค.) วันนั้นฝนตกหนัก คนชุมนุมก็เหลือน้อย สภาพพื้นที่เละมาก แทบจะทำนาได้ ไม่มีการพัฒนา และ กทม.ก็ขอพื้นที่คืน มันทำให้พวกเราถูกไล่ไปอยู่มุมอับ...วันนั้นบนเวทีมีการประกาศว่าวันอาทิตย์จะมีการเดินขบวน แต่ยังไม่ได้บอกว่าจะไปไหน เพื่อป้องกันการสกัดกั้น"


 


นอกจากขึ้นเวทีร้องเพลงให้ผู้ชุมนุมฟังบางครั้งคราว เขาเป็นคนหนึ่งที่ไปร่วมชุมนุมตอนสองทุ่มเกือบทุกวันหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจการงานปิดร้านขายยาแล้ว


 


ที่น่าสนใจคือ เขาบรรยายสภาพทั่วไปของการชุมนุมว่า ทุกวันนี้เวทีที่สนามหลวงแทบจะไม่เหลือเค้าลางของพีทีวี แม้จะมีนักการเมืองร่วมขบวนอยู่ก็ร่วมในฐานะปัจเจกตามสิทธิอันพึงมี และตั้งแต่เมื่อไรไม่รู้ที่เวทีหรือผู้คนที่ร่วมชุมนุมไม่ได้พูดถึง "ทักษิณ ชินวัตร"


 


"การชุมนุมไม่ได้พูดถึงทักษิณกันแล้ว สิ่งที่เหลืออยู่คือนโยบายของทักษิณ สำหรับผม เขาจะกลับมาหรือไม่ ผมไม่สน.....พวกแกนนำอย่างหมอเหวง (โตจิราการ) ครูประทีป (อึ้งทรงธรรม) กับนักการเมืองอย่างจตุพร จักรภพ ก็มีช่องว่างน้อยลงเรื่อยๆ เวทีมุ่งแต่จะต้านเผด็จการให้จงได้"  


 


แม้จะไม่อาจหยั่งรู้ได้ถึงกระแสสำนึกภายในของ "แฟนทักษิณ" ซึ่งเป็นกำลังหลักในการชุมนุม หรือส่วนอื่นๆ ที่อาจไม่ได้คลั่งไคล้ทักษิณ แต่ต้องถูกแปะป้ายไปด้วยยามร่วมชุมนุมต่อต้านรัฐประหาร แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นในคนกลุ่มนี้ คือความเหนียวแน่น ทรหด ทนแดดทนฝน และมาร่วมอย่างต่อเนื่องทุกวัน  


 


จิ้นเล่าว่า ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เป็นคนระดับล่าง ชนชั้นกลางก็มีบ้างแต่ไม่มากนัก มีจำนวนมากที่น่าจะมาจากปริมณฑล มากันเป็นกลุ่มๆ ละ 20-30 คน โดยจะมาและกลับพร้อมกัน


 


"เชื่อได้ว่ามีการจัดตั้งแน่นอน แต่ไม่ใช่จัดจ้าง เขาตากแดดตากฝนเหมือนผม ไม่หนีไปไหน หลายต่อหลายครั้ง และมากันทุกวัน มันเกิดความรู้สึกบางอย่างที่รู้ได้ว่าตัวจริงหรือรับตังค์.....ผมเห็นด้วยกับการจัดตั้ง ถ้าผมจัดตั้งได้ผมก็จะทำ มันไม่ใช่สิ่งเลวร้าย"


 


0 0 0


 


วันเสาร์ที่ 21 กรกฎาคม เรื่องการเดินขบวนเริ่มชัดเจน มีการพูดกันปากต่อปากแล้วว่า จะเดินไปบ้านสี่เสาเทเวศร์ ผู้คนเริ่มจัดกลุ่มคุยกันไม่หยุดหย่อน และท้ายที่สุด เวทีก็ประกาศนัดเจอกันตอนเที่ยงวันรุ่งขึ้น จิ้นเล่าว่า บรรยากาศคืนนั้นเต็มไปด้วยความฮึกเหิม คึกคัก แววตาของคนที่ไปร่วมชุมนุมคืนนั้นเหมือนบอกว่า "พรุ่งนี้เจอกัน"


 


วันอาทิตย์ที่ 22 กรกฎาคม มีการจัดเตรียมการเคลื่อนขบวนกันตั้งแต่หัววัน กลุ่มพลเมืองภิวัตน์นำโดยสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด  และกลุ่มแรงงานนำโดย สมยศ พฤกษาเกษมสุข รับหน้าที่ดูแลความปลอดภัย โดยเปิดรับอาสาสมัคร "หน่วยสันติวิธี" จากเดิม 200 คนเป็น 400 คน และแน่นอน จิ้นเข้าร่วมเป็นหนึ่งในอาสาสมัคร


 


"คนแย่งกันสมัครและอยู่แถวหน้า ส่วนใหญ่เป็นคุณป้าอายุไม่ต่ำกว่า 60 ให้อยู่หลังๆ ก็ไม่ยอมด้วย บอกว่าทำไมต้องให้ผู้หญิงอยู่แถวหลัง พวกเขาเดินกันเร็วมาก ใส่เสื้อขาวและโพกศีรษะด้วยผ้าที่เขียนว่า "สันติวิธี" ส่วนผู้ชุมนุมเกือบทุกคนนัดกันใส่เสื้อเหลือง"


 


เขาเล่าว่า การเดินครั้งนี้ต่างจากการเดินไปบ้านสี่เสาฯ ครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ซึ่งไม่สามารถผ่านการสกัดกั้นของตำรวจไปถึงหน้าบ้าน "ป๋า" ได้ ขบวนคราวนี้ตั้งขึ้นตั้งแต่บ่ายโมงกว่า และเริ่มเดินกันราวบ่ายสอง เป็นการเดินที่รวดเร็ว เอาจริงเอาจัง ไม่มีการหยุดพักและร้องเพลงแบบคราวที่แล้ว มีแต่เสียงลมหายใจ ...


 


"ป้าแก่ๆ บอกว่า คราวนี้ถ้าไปไม่ถึงบ้าน 4 เสาฯ เขาจะไม่มาร่วมอีกแล้ว"


 


หน่วยสันติวิธีเดินนำหน้า 8 แถว ก่อนที่จะมีรถขยายเสียงที่มีหมอเหวงอยู่บนนั้น ตามด้วยรถคันใหญ่ที่มีแกนนำหลายคนคอยกล่าวปราศรัยไปตลอดทาง จิ้นเล่าว่า มีการจัดแถวของผู้ชุมนุมสลับไปกับรถขยายเสียงรวมทั้งหมด 6 คัน ขบวนเคลื่อนผ่านสะพานผ่านฟ้าไปได้ค่อนข้างลำบาก แม้ตำรวจจะไม่ได้กั้นขบวน แต่ก็ไม่มีการกั้นรถเช่นเดียวกัน ขบวนเดินผ่านกองทัพบก ผ่านกระทรวงสาธารณสุข ผ่านที่ทำการสหประชาชาติ จนกระทั่งเจอแนวกั้นของตำรวจพร้อมแผงเหล็กหลายชั้นที่สะพานมัฆวาน เมื่อเจรจาไม่เป็นผล จึงมีการแจกถุงมือหนังและคีมตัดลวดประมาณ 10 อันให้แก่แนวหน้า ซึ่งก็คือ บรรดาป้าๆ เข้าไปตัดลวดหนามเปิดทางให้รถใหญ่พุ่งชน


 


จิ้นเล่าว่า รถพุ่งชนด้วยความแรงจนแผงเหล็กแตกกระจายท่ามกลางตำรวจที่กำลังอลหม่าน แต่เขาก็ยืนยันว่ามีการประกาศบนรถแล้วว่าจะทะลวงเข้าไป และตำรวจหลบทัน ไม่ได้รับบาดเจ็บ ขณะที่มีรายงานข่าวว่ามีตำรวจได้รับบาดเจ็บขาหักหนึ่งคน


 


แผงเหล็กกระจัดกระจายระเกะระกะจนผู้ชุมนุมต้องโยนทิ้งลงในคลองข้างทาง เมื่อผ่านไปได้ มีการจัดตั้งแถวใหม่ โดยให้หน่วยสันติวิธีนำหน้าเช่นเดิม จากนั้นขบวนเจอรถขยะสองคันจอดขวางอยู่ เขาบอกว่าคนหนึ่งในนั้นหนีหายไปด้วยความกลัวโดยทิ้งกุญแจไว้ ขบวนจึงถือวิสาสะยึดรถขยะนั้นขับดันแนวรั้วเปิดทางเข้ามา เดินต่อไปสักพักก็เจอรถบรรทุกน้ำขวางถนนอยู่ กลุ่มผู้ชุมนุมช่วยกันปล่อยน้ำออกจากรถ แล้วรวมพลังกันยกรถพ้นแนวกีดขวาง


 


ขบวนเดินเรื่อยมา แล้วเลี้ยวซ้ายที่แยกหัวมุมสวนอัมพรก่อนถึงลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อมุ่งหน้าสู่บ้านสี่เสาฯ


 


"ถนนมันแคบลง ขบวนกลายเป็นแถวยาวเลื้อยไปตามถนน เราเพิ่งมารู้ภายหลังว่า นปก. จัดหน่วยเคลื่อนที่เร็วมาที่บ้านสี่เสาฯ ก่อนแล้ว กระจายกันอยู่ พอรถมาถึงปุ๊บก็มาร่วมชุมนุมทันที เหมือนกองทัพมด ส่วนตำรวจที่กันอยู่ก็ถอยไปอยู่ข้างๆ"


 


"มันประเมินยาก ผมคะเนไม่ถูกว่าคนสักเท่าไหร่ แค่คิดว่าอย่างน้อยไม่น่าจะต่ำกว่าหมื่น"


 


ขณะนั้นเวลาเกือบสี่โมงเย็นแล้ว แม้ฝนจะตกลงมาอย่างหนัก แต่ผู้ชุมนุมยังอยู่กันเหนียวแน่นด้วยอารมณ์ฮึกเหิมเนื่องจากผ่านด่านเข้ามาได้จนถึงจุดหมาย การปราศรัยเป็นไปอย่างต่อเนื่อง บรรยากาศเริ่มผ่อนคลาย มีพ่อค้าแม่ค้ารถเข็นนำอาหารการกินเข้ามาในขบวน โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำการปิดหัวปิดท้ายขบวนผู้ชุมนุมทั้งหมด


 


"มันเป็นมุมอับมาก หากเขาปิดประตูตีแมวก็ไม่มีทางหนีไปไหนได้เลย"


 


จนกระทั่งประมาณ 1 ทุ่ม จึงเริ่มมีการสับเปลี่ยนกำลังของเจ้าหน้าที่มาตั้งแถวกันอย่างคึกคัก มีคอมมานโดประมาณ 1 กองร้อยเดินเรียงแถวตอนหนึ่งเข้ามาด้านข้างของขบวนผู้ชุมนุม พร้อมตำรวจ พร้อมหมวกกันน็อก ทั้งหมดมีป้ายชื่อชัดเจน ไม่มีกระบอง และเขาได้กล่าวกับตำรวจว่า อย่าทำร้ายพี่น้องประชาชน


 


เกือบ 2 ทุ่ม จิ้นเดินจากปลายขบวนด้านหนึ่งมายังด้านวัดเทเวศร์ ผู้หญิงสูงวัยรับอาสาเฝ้ารถปราศรัยร่วมกับเด็กหนุ่มที่เป็นการ์ด แต่เดินมาไม่ทันไร ก็ได้ยินเสียงประกาศจากรถกระจายเสียงคันใหญ่ ให้กั้นทางแนววัดเทเวศร์ไว้ เพราะมีการบุกมาจากทางนั้น สิ่งที่เขาเห็น คือชุดคอมมานโดเดินบีบเข้ามาโดยใช้โล่ดัน ไม่มีไม้กระบอง พยายามจะเข้าชาร์จแกนนำบนรถ ประชาชนบริเวณนั้นตกใจและต่อสู้กันอย่างไร้ทิศทาง มีการปาก้อนหินกันข้ามไปข้ามมา บางส่วนใช้กระถางต้นไม้ขว้างข้ามไป เขายอมรับว่าเหตุการณ์ชุลมุนนั้นนับว่าค่อนข้างรุนแรงจริง และถือว่าแรงกว่าทุกครั้ง เพราะชาวบ้านไม่ยอมให้ตำรวจเข้าชาร์จแกนนำ


 


เหตุการณ์ชุลมุนอยู่พักใหญ่ มีประชาชนหัวร้างข้างแตกบาดเจ็บกันหลายคนเนื่องจากไม่มีเกราะกำบัง หน่วยสันติวิธีที่มีหลายร้อยคน ตอนนี้เหลือราว 10 คน พยายามเข้าไปห้ามปรามจนกระทั่งเหตุการณ์สงบลง เจ้าหน้าที่ถอยไปตั้งแถวอยู่ริมรั้วบ้านสี่เสาฯ คุณลุงคุณป้าที่ยังอารมณ์คุกรุ่นผลัดกันมาด่าทอเจ้าหน้าที่ด้วยความโกรธแค้น


 


"ป้าๆ ลุงๆ ที่เลือดร้อนมายืนด่าตำรวจด้วยความโกรธแค้น ทำนองว่า ตำรวจมีหน้าที่พิทักษ์สันติราษฎร์ ทำไมมาทำร้ายประชาชน เป็นพวกขี้ขลาดยอมฟังคำสั่งเผด็จการ แต่จริงๆ มันหยาบกว่านี้เยอะ มีคำสร้อยเต็มไปหมด พอแกเหนื่อยๆ ก็ให้คนพาแกไปนั่ง"


 


ข่าวทีวีรายงานว่า เจ้าหน้าที่เองก็ได้รับบาดเจ็บจำนวนไม่น้อยเช่นกัน ภาพการปะทะถูกแพร่ภาพในข่าวต้นชั่วโมงแทบทุกสถานี พร้อมๆ กับเสียงประณามความป่าเถื่อนของม็อบเริ่มดังขึ้นจากผู้คนในสังคม


 


ที่น่าสนใจคือ เหตุการณ์มิได้สิ้นสุดเพียงเท่านั้น จิ้นเล่าว่า  ผู้คนเริ่มนั่งกันไม่ติด เดินไปมา ตัวเขาเองก็เข้าไปคุยกับคอมมานโด 100 กว่าคนแทบจะเรียงตัว แล้วบอกตำรวจว่า อย่าถือสาประชาชนที่ไปยืนด่า เพราะต่างคนต่างมีอารมณ์ อีกสักพักพวกเขาก็จะแยกย้ายกลับบ้านกันแล้ว


 


ตำรวจเหล่านั้นเป็นหน่วยคอมมานโดที่จิ้นคุ้นหน้าคุ้นตา เนื่องจากเป็นหน่วยประจำที่คอยคุมการชุมนุม คุมการเคลื่อนขบวนตั้งแต่ช่วงแรกๆ จิ้นเล่าว่า ระหว่างคุยกันอยู่นั้น จู่ๆ ทุกคนก็แสบตา แสบคอขึ้นมาเฉยๆ  ทั้งที่ตำรวจไม่ได้ทำอะไร ปรากฏว่ามีผู้ชุมนุม 2 คน ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นผู้ที่แฝงตัวมา ได้ปาขวดน้ำที่น่าจะบรรจุสารเคมีบางอย่างเข้ามาตรงแผงเหล็ก หลังจากแสบตาอยู่พักหนึ่ง เหตุการณ์ก็ผ่านไป ไม่มีอะไรรุนแรง


 


สักพัก ในอีกฝั่งของขบวนก็เกิดการดันของตำรวจและเกิดการขว้างปาข้าวของระหว่างเจ้าหน้าที่และประชาชนกันอีก แต่ก็คลี่คลายรวดเร็วและไม่รุนแรงเท่าครั้งแรก เจ้าหน้าที่หน่วยนั้นมาตั้งแถวรวมกันหน่วยแรกที่ริมรั้วบ้านสี่เสาฯ จิ้นบอกว่า ดูสีหน้าแล้วตำรวจก็อยากกลับบ้านและท่าทางจะหิวข้าว


 


หลังจากนั้นมีข่าวแพร่สะพัดปากต่อปากว่า ภายในบ้านสี่เสาฯ ซึ่งขณะนั้นเริ่มปิดไฟมืดไปหมด มีการเคลื่อนไหวของทหาร 1 กองพันอยู่ในนั้นพร้อมกับข่าวลือเรื่องการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เขาไม่รู้ว่าทั้งหมดนั้นจริงเท็จหรือไม่ แต่ยืนยันว่า ขณะยืนร้องเพลง "เพื่อมวลชน" และ "วันของเรา" กล่อมผู้คนบนหลังคารถนั้น เขาเห็นแสงสะท้อนของหมวกเหล็กจำนวนมากภายในนั้น ....


 


0 0 0


 


จุดพีคที่ไม่มีใครได้เห็นอยู่ที่ตอนสุดท้าย "หน่วยที่ 3" ซึ่งเป็นหน่วยนิรนาม ไม่มีป้ายชื่อ ติดกระบอง วิ่งกรูออกมาจากด้านข้างบ้านสี่เสาฯ ตอนเกือบๆ สี่ทุ่ม


 


"จู่ๆ ประตูตรงสโมสรกองทัพบก หรือหน่วยงานอะไรสักอย่างข้างๆ บ้านสี่เสาฯ ก็เปิดออกมา มีคอมมานโดที่มีกระบอง ไม่มีป้ายชื่อ วิ่งออกมาเป็นแถวตอนเรียงห้าออกประมาณ 20 แถว เป็นการเคลื่อนไหวที่ไม่เหมือนคอมมานโดปราบจลาจลทั่วไป มันดูรุนแรงมาก เหมือนหน่วยล่าสังหาร ผมสัมผัสได้ถึงรังสีอำมหิต จริงๆ นะ มันพร้อมเพรียงและรวดเร็วมาก ไม่หลบเลี่ยงอะไรทั้งสิ้น แม้แต่คนแก่ที่ลุกไม่ทัน" แววตาของเขาจริงจัง


 


"เขาวิ่งตรงมาที่หน้าเวที ตอนนั้นมีคนสูงอายุประมาณสี่ห้าสิบคนนั่งอยู่หน้ารถปราศรัย เขาตรงเข้ามาเหยียบ กระทืบคนที่นั่ง คนแก่ทั้งนั้น พั่บๆ ๆ ๆ เร็วมาก พวกผู้หญิงสูงวัยพากันออกมาต้านด้วยมือเปล่า มีบางคนโดนไม้กระบองด้วย"


 


"ผมลุกขึ้นจะวิ่งเข้ามาก็มีคนมากระชากออก ตอนนั้นสปอร์ตไลท์จากในบ้านสี่เสาฯ ส่องลงมาจนตาพร่า แสบตามาก หน่วยจู่โจมเข้ามาถึงรถปราศรัยแล้วกระชากนั่งร้านที่เอาไว้ตั้งกล้องของพีทีวีล้มลง กระจายกำลังกันจะขึ้นไปบนรถ คนบนนั้นพยายามเอาร่มแหลมๆ ดันลงมา จากนั้นก็มีการยิงแก๊สน้ำตาขึ้นไปบนรถปราศรัย ทุกคนสำลัก"


 


"ผมวิ่งไปขอร้องตำรวจอีก 2 กองร้อยว่า อย่าเคลื่อนไหวเข้ามาอีก เขาก็เหมือนรู้ว่าพวกนี้ไม่ใช่พวกเขา เขาวางเฉย นิ่งสนิท ทำหน้าเซ็งๆ เหมือนไม่อยากอยู่ตรงนั้นแล้ว" จิ้นกล่าวและเล่าโดยไม่ยืนยันว่า มีการคุยกันในภายหลังโดยหน่วยข่าววงในระบุว่า นั่นอาจเป็นทหารที่มาสวมชุดคอมมานโด


 


แก๊สน้ำตาถูกยิงแตกบนอากาศอีกประมาณ 5 ลูก ทำให้ผู้ชุมนุมทั้งหมดรวมถึงผู้สื่อข่าวหลายสำนักตรงนั้นปั่นป่วนโกลาหล แสบหน้า แสบตา แสบคอ น้ำมูกน้ำตาไหล


 


หลังจากนั้นคนหนุ่มที่เริ่มตั้งหลักได้จึงนำแผงกั้นของคอมมานโดชุดเดิมที่ยืนอยู่ตรงรั้วบ้านสี่เสาฯ มากระแทกโล่ของคอมมานโดชุดโหดนี้


 


"หน่วยสันติวิธีทนไม่ไหวแล้วจริงๆ เอารั้วไปกระแทกโล่ตำรวจ ปังๆๆๆ  เอากระถางต้นไม้ขว้างใส่แต่ตอนนั้นเหลือแต่กระถางพลาสติกแล้ว" … ความโกลาหลเกิดขึ้นอีกครั้ง และท้ายที่สุดตำรวจต้องล่าถอยไป


 


"มันเกิดหลังจากเราโดนกระทืบแล้ว พวกป้าๆ ยังกรูกันเข้าไปปกป้องแกนนำบนรถ ผมได้ยินป้าคนหนึ่งตะโกน "ฉันยอมตายตรงนี้ จะไม่ให้ใครจับพวกเราไปสักคนหนึ่ง"" จิ้นพยายามเล่าอย่างยากลำบาก เพราะกดน้ำเสียงสะอื้นไว้


 


 เขายืนยันว่า การปะทะกันรอบสุดท้ายนี้ไม่ได้รับการรายงาน ไม่ปรากฏเป็นข่าว


 


"เป็นการบิดเบือนอย่างร้ายกาจที่สุด ภาพในโทรทัศน์เป็นการปะทะกันรอบแรกที่โดนตำรวจดันเข้ามาก่อน  ตอนคนโดนกระทืบ ตอนแก๊สน้ำตา ตอนสเปรย์พริกไทยลงกลับจับภาพไม่ได้ คนหลายพันตรงนั้นแสบหน้า น้ำหูน้ำตาไหล ต้องถอดเสื้อมาโปะหน้า โทรทัศน์เอาแต่รายงานว่า ม็อบพวกนี้รุนแรง ไปทำร้ายตำรวจเขา นี่มันอะไร"


 


0 0 0


 


ขบวนค่อยๆ เคลื่อนกลับสนามหลวงอย่างสะบักสะบอม ผู้บาดเจ็บถูกนำส่งโรงพยาบาล แต่ไม่มีประชาชนคนไหนเดินเข้ามาก่นด่าคอมมานโดสองหน่วยแรกอีกเลย


 


"ผมเดินผ่านเขาไปเงียบๆ ไม่มีใครในนั้นกล้าสบตาผม มันเหมือนเขาน้ำท่วมปาก ไม่สามารถพิทักษ์กฎหมายได้ ไม่สามารถพิทักษ์ความเป็นธรรมได้ ไม่สามารถพิทักษ์ความเป็นมนุษย์ได้ อย่าว่าแต่อุดมการณ์ประชาธิปไตย เพราะคุณเห็นคนสูงอายุโดนกระทืบแล้วนั่งดูเฉยได้"


 


ความรุนแรงในค่ำคืนนั้นจบลง ... แต่เรื่องราวยังคงดำเนินต่อไปท่ามกลางบรรยากาศของสังคมที่กลิ่นของความแตกแยก ชิงชัง คละคลุ้งฉุนกว่าเดิม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net