Skip to main content
sharethis


ศาลมีคำสั่งยกคำขอไต่สวนฉุกเฉิน


 


 


 



สำงานงานศาลปกครองกลางได้รับเรื่องไว้พิจารณาว่าจะรับคำฟ้องหรือไม่ คดีหมายเลขดำที่ 1321/2550


 


 


 


ประชาไท - 5 ก.ค.50 วานนี้ (4 ก.ค.) เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร รวม 6 คน ได้ยื่นฟ้องนายนรนิติ เศรษฐบุตร ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) และนายจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี ส.ส.ร. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญ ในความผิดเรื่องเป็นเจ้าพนักงานของรัฐกระทำการโดยไม่มีอำนาจ นอกเหนืออำนาจหน้าที่โดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากลงโฆษณาข้อความอันเป็นเท็จเพื่อให้ประชาชนไปลงประชามติเห็นชอบรัฐธรรมนูญ โดยระบุว่า "รวมพลังลงประชามติ "เห็นชอบรัฐธรรมนูญใหม่ ให้เมืองไทยมีการ "เลือกตั้ง" "


 


นอกจากนี้เครือข่าย 19 กันยาฯ ยังได้ขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินเพื่อมีคำสั่งกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวให้ผู้ถูกฟ้องทั้งสองเลิกลงโฆษณาดังกล่าวในสื่อทั่วไป และให้ผู้ถูกฟ้องทั้งสองจัดให้มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ความเห็นและเหตุผลของประชาชนทั้งฝ่ายที่เห็นชอบและฝ่ายที่ไม่เห็นชอบกับร่าง รธน.ดังกล่าวโดยเปิดเผยต่อสาธารณชนทั่วไป เพื่อให้ประชาชนเข้าใจร่าง รธน.อย่างชัดเจนก่อนลงประชามติ


ต่อมาศาลพิเคราะห์แล้วและมีคำสั่งยกคำร้องขอในเหตุไต่สวนฉุกเฉิน เนื่องจากคำร้องขอของผู้ร้องทั้ง 6 ยังไม่มีเหตุฉุกเฉิน และศาลระบุจะพิจารณาคำขอกำหนดมาตรการและวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาพร้อมกับพิจารณาคำฟ้องต่อไป


อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 5 ก.ค. เวลา 14.00 น. นายโชติศักดิ์ อ่อนสูง ในฐานะผู้รับมอบอำนาจของผู้ฟ้องทั้ง6 คน จะไปยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวที่ศาลปกครองกลางต่อไป


ทั้งนี้ เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร ที่เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง 6 คน ประกอบด้วย นายอุเชนทร์ เชียงเสน,   นางสาวอุบลพรรณ กระจ่างโพธิ์, นายโชติศักดิ์ อ่อนสูง, นายอภิศักดิ์ สุขเกษม, นายภาสกร ช่อผกา, นายฤทธิชัย ชูวงษ์


 


000


คำฟ้องของเครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร






                                                                                   


                                                                        เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร


                                                                                    121/40 ซอยเฉลิมหล้า ถ.พญาไท


                                                                                    เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400


 


                                                           


4 กรกฎาคม 2550


 


เรื่อง ขอยื่นฟ้องคดี กรณีการลงโฆษณาสนับสนุนให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบรัฐธรรมนูญ


    ของคณะกรรมาธิการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่


 


เรียน อธิบดีศาลปกครองกลาง


           


    ข้าพเจ้าผู้ฟ้องคดีทั้งหก ซึ่งมีรายละเอียดตามท้ายคำฟ้อง ขอยืนฟ้อง 1. นายนรนิติ เศรษฐบุตร ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2. นายจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี สมาชิกของสภาร่างรัฐธรรมนูญและประธานคณะกรรมาธิการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่ ตู้ ปณ.555 ปณ. รัฐสภา ดุสิต กรุงเทพฯ 10300โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
           


    ข้อ 1. ผู้ฟ้องคดีทั้งหกเป็นประชาชนชาวไทยผู้มีสิทธิเลือกตั้งและสมัครรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 โดยผู้ฟ้องคดีทั้งหกได้รับการรับรองและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม รวมทั้งศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ตามรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวตลอดมา  จนกระทั่งเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ได้มีทหารทั้งในและนอกประจำการบางคน รวมทั้งข้าราชการพลเรือนทั้งในและนอกราชการบางคน และประชาชนจำนวนหนึ่งได้ใช้ชื่อกลุ่มคณะของตนว่า "คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (คปค.)"  ได้ใช้กำลังอาวุธและกำลังพลทหารอันเป็นอาวุธและกำลังพลในราชการสงครามซึ่งประเทศไทยมีไว้เพื่อใช้ในราชการสำหรับการป้องกันประเทศโดยเฉพาะเข้าทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศ และโดยการใช้กำลังของกลุ่มบุคคลดังกล่าวได้ออกประกาศให้ล้มรัฐบาลซึ่งปกครองประเทศอยู่ในขณะนั้น รวมทั้งได้ประกาศให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พ.ศ. 2540 ทั้งฉบับ และได้ออกประกาศและคำสั่งของกลุ่มตนอันเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนชาวไทยและของผู้ฟ้องคดีอีกหลายฉบับ โดยไม่ฟังเสียงใด ๆ ของประชาชน
           


    ข้อ 2 ผู้ฟ้องคดีทั้งหกรวมทั้งนักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชน จำนวนหนึ่งซึ่งไม่เห็นด้วยกับกลุ่มคณะบุคคลที่ยึดอำนาจการปกครองประเทศและยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ในคำฟ้องข้อ 1 ข้างต้น ได้รวมตัวกันโดยใช่ชื่อว่า " เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร " ได้ดำเนินกิจกรรมรวมตัวกันคัดค้านการก่อรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองประเทศของประชาชน และการล้มล้างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 โดยใช้กำลังอาวุธดังกล่าวของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (คปค.)  โดยเห็นว่าการกระทำของกลุ่มคปค.ดังกล่าวเป็นความผิดต่อกฎหมายอาญาแผ่นดินเพราะเป็นการใช้กำลังอำนาจล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยผู้ฟ้องคดีและเครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร รวมทั้งประชาชนทั่วไปต่างคัดค้าน และเรียกร้องให้ยึดถือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับ พ.ศ. 2540 เป็นกฎหมายหลักในการปกครองประเทศ
           


    ข้อ 3 กลุ่มบุคคลที่ใช้กำลังล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยและล้มเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับ พ.ศ. 2540  ที่เรียกตนเองว่า คปค. ตามคำฟ้องข้อ 1 ข้างต้นนั้น ได้บังอาจจัดตั้งกลุ่มบุคคลที่เป็นสมัครพรรคพวกของตนขึ้นหลายกลุ่ม โดยจัดตั้งเป็นคณะรัฐมนตรี ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีขึ้น ใช้อำนาจบังคับบัญชาข้าราชการ รวมทั้งใช้ทรัพย์สินเงินทองอันเป็นงบประมาณแผ่นดินในการจัดดำเนินการกิจการของตน นอกจากนั้นยังได้จัดตั้งกลุ่มบุคคลอันเป็นสมัครพรรคพวกของตน เรียกกลุ่มว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อทำหน้าที่ออกกฎหมายต่าง ๆ มาใช้บังคับกับประชาชน ทั้งยังได้แต่งตั้งกลุ่มบุคคลอันเป็นสมัครพรรคพวกของตนอีกกลุ่มหนึ่งขึ้นเรียกกลุ่มของตนว่าสภาร่างรัฐธรรมนูญ โดยอ้างว่าสภาดังกล่าวจะทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยขึ้นเพื่อใช้บังคับต่อไปเป็นการถาวร โดยทั้งนี้กลุ่มบุคคลทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือสภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่กล่าวข้างต้น ล้วนแต่แต่งตั้งมาโดยกลุ่ม คปค. ทั้งสิ้น ประชาชนชาวไทยผู้มีสิทธิเลือกตั้งมิได้มีส่วนรับรู้ รับเห็น หรือให้ความเห็นชอบแต่อย่างใด ทั้งหมดเป็นเรื่องของกลุ่ม คปค. เป็นผู้แต่งตั้งเองทั้งสิ้น
           


    ภายหลังการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 นั้นกลุ่ม คปค. ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2549 ซึ่งตนเป็นผู้ร่างขึ้นเอง ใช้บังคับปกครองประชาชนชาวไทยตลอดมาจนถึงวันฟ้องคดีนี้ โดยในเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวดังกล่าว ตามมาตรา 29 ระบุว่า ให้สภาร่างรัฐธรรมนูญจัดทำร่างรัฐธรรมนูญและพิจารณาแล้วเสร็จตามมารตรา 28 ภายใน 180 วันนับแต่วันเปิดสภาร่างรัฐธรรมนูญครั้งแรก เมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ให้เผยแพร่ให้ประชาชนทราบและจัดให้มาการออกเสียงประชามติว่าจะให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ รายละเอียดปรากฏตามรัฐธรรมนูญของกลุ่ม คปค. ดังกล่าว
           


    ข้อ 4 ผู้ถูกฟ้องคดีนี้ที่ 1 (นายนรนิติ เศรษฐบุตร) เป็นประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลกิจการต่าง ๆ ของสภาร่างรัฐธรรมนูญและของคณะกรรมาธิการต่าง ๆ ของสภาร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (นายจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี) เป็นสมาชิกของสภาร่างรัฐธรรมนูญและมีตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมาธิการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สภาร่างรัฐธรรมนูญ มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลกิจการของคณะกรรมาธิการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่สภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญ ให้ประชาชนพิจารณาเพื่อลงประชามติว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว
           


    ข้อ 5 ตั้งแต่ประมาณกลางเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2550 ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้ร่วมกันจัดทำข้อความลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวันหลายฉบับ และสื่ออื่น ๆ อีกจำนวนหนึ่ง โดยมีเนื้อความโฆษณาว่า " รวมพลังลงประชามติ "เห็นชอบ" รัฐธรรมนูญใหม่ ให้เมืองไทยมีการ "เลือกตั้ง" คณะกรรมาธิการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่สภาร่างรัฐธรรมนูญ โทร 1743"
           


    โดยในการโฆษณาดังกล่าว ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองร่วมกันโฆษณาในนามคณะกรรมาธิการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่สภาร่างรัฐธรรมนูญ โดยใช้เงินงบประมาณของแผ่นดิน โดยมีเนื้อหาชักชวนให้ประชาชนผู้มีสิทธิลงประชามติ รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวให้หลงเชื่อว่าจะต้องลงประชามติรับรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวที่ตนเป็นผู้ร่างตามคำสั่งของคณะคปค. โดยหลอกลวงประชาชนว่าหากลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญแล้วจึงจะมีการเลือกตั้งทั้งที่ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด
           


    ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการกระทำดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดีเป็นการกระทำไม่ชอบด้วยกฎหมายรวมทั้งขัดต่อหลักการในการลงประชามติของประชาชนในการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เป็นการกระทำโดยไม่สุจริตไม่เป็นธรรม ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
           


    5.1 ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองไม่มีอำนาจและหน้าที่ที่จะโฆษณาประชาสัมพันธ์ต่อประชาชนทั่วไป ผู้มีสิทธิลงประชามติ ให้ลงมติเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมฉบับที่ตนร่าง เพราะตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2549 ซึ่งคปค.เป็นผู้ร่างเอง ตามมาตรา 29 ก็ยังระบุว่าสภาร่างรัฐธรรมนูญมีหน้าที่เพียงนำร่างรัฐธรรมนูญที่ร่างเสร็จแล้วเผยแพร่ให้ประชาชนทราบ ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองในฐานะสภาร่างรัฐธรรมนูญจึงไม่มีอำนาจและหน้าที่ที่จะโฆษณาเชิญชวนให้ประชาชนลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองล้วนใช้เงินงบประมาณแผ่นดินในการโฆษณาดังกล่าว จึงเป็นการทำในตำแหน่งหน้าที่การงานของตนมิใช่ในฐานะส่วนตัว ดังนั้นผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจึงไม่มีอำนาจที่จะกระทำได้
           


    5.2 การโฆษณาของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง เป็นความเท็จและหลอกลวงประชาชนโดยทั่วไป เพราะในขณะที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญของตนนั้นข้อเท็จจริงปรากฏว่าการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวทั้งในส่วนที่เป็นสาระสำคัญและในส่วนรายละเอียดต่าง ๆ ยังไม่แล้วเสร็จ รัฐธรรมนูญยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภาร่างรัฐธรรมนูญตามมาตรา 28 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2549 แต่อย่างใด ดังนั้นจึงยังไม่แน่นอนว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่จะนำมาให้ประชาชนลงมติรับหรือไม่รับนั้นมีเนื้อหาสาระเป็นอย่างไร ดังนั้นการที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวทั้งที่สภาร่างรัฐธรรมนูญยังพิจารณาไม่แล้วเสร็จจึงเป็นการหลอกลวงประชาชน
           


    5.3 การโฆษณาของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองที่อ้างว่า หากประชาชนรวมพลังลงประชามติเห็นชอบรับรองร่างรัฐธรรมนูญของตนแล้วจะทำให้ประเทศไทยมีการเลือกตั้งนั้นก็เป็นความเท็จและหลอกลวงประชาชนโดยทั่วไปให้เข้าใจผิดว่าหากประชาชนลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของตนแล้ว ประเทศไทยก็จะไม่มีการเลือกตั้ง เพราะในความเป็นจริงตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2549 มาตรา 32 ก็ระบุไว้ชัดเจนว่าหากประชาชนโดยเสียงข้างมากของผู้ออกเสียงประชามติไม่เห็นชอบให้ใช้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็ให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติประชุมร่วมกับคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณานำเอารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่เคยประกาศใช้บังคับมาแล้วฉบับใดฉบับหนึ่งมาปรับปรุงให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันออกเสียงลงประชามติเพื่อประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญต่อไป ซึ่งมีความหมายอย่างชัดเจนว่าแม้ประชาชนจะลงมติไม่รับรองรัฐธรรมนูญฉบับที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเป็นผู้ร่างก็ย่อมมีการเลือกตั้งในประเทศไทยอย่างแน่นอนเพราะจะต้องมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นใช้บังคับภายในสามสิบวัน ตามที่กราบเรียนต่อศาลข้างต้นแล้ว ดังนั้นการโฆษณาของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจึงเป็นเท็จ และเป็นการหลอกลวงประชาชนโดยทั่วไป
           


    ข้อ 6 ผู้ฟ้องคดีเป็นประชาชนชาวไทยผู้มีสิทธิเลือกตั้ง มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง และมีสิทธิลงประชามติ รวมทั้งมีสิทธิเสรีภาพทุกประการภายใต้การรับรองและคุ้มครองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ผู้ฟ้องคดีเห็นว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มีบทบัญญัติที่คุ้มครองประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าในทุกด้านแล้ว ผู้ฟ้องคดีและเครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร รวมทั้งประชาชนทั่วไปจึงคัดค้านการยึดอำนาจของคณะปฏิรูปการปกครองฯ (คปค.) ตลอดมา และเรียกร้องให้นำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาใช้เป็นหลักในการปกครองประเทศต่อไป แต่คณะผู้ยึดอำนาจไม่รับฟัง ดังนั้นผู้ฟ้องคดีจึงได้ร่วมกับประชาชนทั่วไปเรียกร้องให้ลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของ คปค. และของผู้ถูกฟ้องคดีที่จะนำมาให้ประชาชนลงมติรับรองหรือไม่รับรอง และเรียกร้องให้นำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาใช้โดยทันที ดังนั้นการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองซึ่งเป็นการหลอกลวงประชาชนและให้ข้อมูลอันเป็นเท็จต่อประชาชนนั้นเพื่อชักจูงให้ประชาชนหลงเข้าใจผิดดังกราบเรียนข้างต้น จึงเป็นการทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหาย เพราะหากประชาชนหลงเชื่อคำโฆษณาหลอกลวงของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง จนลงมติรับรองร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวไปโดยหลงผิดแล้วย่อมไม่สามารถนำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาใช้เป็นหลักในการปกครองประเทศต่อไปได้ ผู้ฟ้องคดีจึงเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายในคดีนี้
           


    ข้อ 7 ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการตามคำฟ้องในคดีนี้ในนามสภาร่างรัฐธรรมนูญและคณะกรรมาธิการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ของสภาร่างรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง และผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการกระทำดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดีเป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจนอกเหนืออำนาจหน้าที่และไม่ถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งเป็นการกระทำโดยไม่สุจริต เลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อประชาชน โดยเป็นการหลอกลวงและให้ข้อมูลอันเป็นเท็จต่อประชาชนผู้มีสิทธิลงประชามติ ตามข้อเท็จจริงที่กราบเรียนมาทั้งหมดข้างต้น กรณีจึงอยู่ในอำนาจศาลปกครอง ตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
           


    ผู้ฟ้องคดีไม่อาจบังคับผู้ถูกฟ้องคดีได้ จึงต้องนำคดีนี้มาฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งบังคับผู้ถูกฟ้องคดีดังต่อไปนี้
           


    7.1 ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเลิกโฆษณาในสื่อทั่วไปที่ให้ประชาชนลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญของสภาร่างรัฐธรรมนูญของตนเพื่อให้ประเทศไทยมีการเลือกตั้งตามคำฟ้องนี้โดยทันทีเนื่องจากข้องความดังกล่าวเป็นเท็จ
           


    7.2 ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจัดให้มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ความเห็นและเหตุผลของประชาชนทั้งฝ่ายที่เห็นชอบและฝ่ายที่ไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว โดยเปิดเผยต่อสาธารณชนโดยทั่วไป เพื่อให้ประชาชนได้เข้าใจร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวอย่างชัดเจนก่อนลงประชามติ โดยจะต้องจัดให้มีการโฆษณาความเห็นของทั้งสองฝ่ายโดยตัวแทนของทั้งสองฝ่ายผ่านสื่อสาธารณะไปทั่วประเทศก่อนการลงประชามติ
           


    ข้อ 8 เนื่องจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net