Skip to main content
sharethis

ประชาไท 1 พ.ค. 50 - ประชาไทได้รับเอกสารจากคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) สองฉบับ คือ แถลงการณ์ "วันกรรมกรสากล 1 พฤษภาคม 2550" ที่แถลงร่วมกับสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และ เอกสารร้องเรียนนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 23 เมษายน 2550 "ที่ คสรท. ๖๙/๒๕๕๐ เรื่อง ข้อเรียกร้องวันกรรมกรสากล ประจำปี ๒๕๕๐" มีเนื้อหาให้ 1.รัฐบาลประกาศบังคับใช้พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ... (ฉบับผู้ใช้แรงงาน) 2.ให้รัฐบาลประกาศบังคับใช้พระราชบัญญัติส่งเสริมคุ้มครองสุขภาพ ความปลอดภัย อาชีว อนามัย และสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการ พ.ศ. .... (ฉบับผู้ใช้แรงงาน) และ 3. ให้รัฐบาลประกาศยกเลิกนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในทุกรูปแบบ และยกเลิกพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.๒๕๔๒


 


เนืองในวันกรรมกรสากล ประชาไทขอนำเสนอเอกสารข้อเรียกร้องทั้ง 2 ฉบับดังต่อไปนี้


 


1.







 


คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)


Thai Labour Solidarity Committee (TLSC.)


 


วันกรรมกรสากล ๑ พฤษภาคม ๒๕๕๐


 


สามัคคีกรรมกร                          ต้านทุนนิยมครอบโลก


สร้างเศรษฐกิจที่เป็นธรรม            นำปฏิรูปการเมือง


 


พี่น้องกรรมกรทั้งหลาย


 


            วันที่ ๑ พฤษภาคม ของทุกปี ถือเป็นวันประวัติศาสตร์อันสำคัญยิ่งของพี่น้องกรรมกรทั่วโลก จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่พี่น้องกรรมกรต้องศึกษาจุดกำเนิดความเป็นมาให้เข้าใจเพื่อให้เข้าร่วมงานด้วยจิตสำนึกและยืนหยัด


 


            ในยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรมตามวิถีการผลิตแบบทุนนิยม ชาวนาที่ล้มละลายจำนวนมากได้อพยพเข้าสู่เมืองมาเป็นกรรมกรในโรงงานอุตสาหกรรม ตลอดช่วงเวลาแห่งการขยายตัวของทุนอุตสาหกรรม กรรมกรถูกขูดรีดแรงงานอย่างหนัก ค่าจ้างถูกกดขี่ให้ต่ำ ขณะที่ต้องงานเยี่ยงทาสวันละ ๑๖-๑๘ ชั่วโมง โดยไม่มีวันหยุดและสวัสดิการใดๆ


 


            ด้วยสภาพการทำงานที่เลวร้ายเช่นนี้ กระแสการต่อสู้ของกรรมกรจึงก่อตัวขึ้นเป็นระยะๆ มีทั้งการนัดหยุดงานและการทำลายเครื่องจักร โดยระหว่างปี ๒๔๒๕-๒๔๒๙ มีการนัดหยุดงานครั้งใหญ่หลายครั้งในยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเคลื่อนไหวเพื่อให้มีการลดชั่วโมงการทำงานลง


            วันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๔๒๙ กรรมกรทั่วประเทศอเมริกาได้นัดหยุดงานและออกมาเดินขบวนพร้อมกัน เรียกร้องให้ลดชั่วโมงการทำงานเหลือ ๘ ชั่วโมง เพื่อเปิดให้คนงานได้มีเวลาพักผ่อน ๘ ชั่วโมง และศึกษาหาความรู้ ๘ ชั่วโมง หรือที่เรียกกันว่า "ระบบสามแปด" เพื่อยับยั้งการเดินขบวนนายทุนกับเจ้าหน้าที่ข้าราชการท้องถิ่นจึงได้ใช้ความรุนแรงเข้าปราบปรามคนงาน โดยจุดปะทะที่โหดเหี้ยมที่สุดอยู่ที่เมืองชิคาโก้ ซึ่งตำรวจได้ใช้ปืนกราดเข้าใส่คนงานจนเสียชีวิตนับสิบ มีผู้ถูกจับกุมหลายร้อยคนและถูกตัดสินให้แขวนคอ ๔ คน อย่างไรก็ตามขบวนการกรรมกรอเมริกาก็ยังยืนหยัดต่อสู้ไป โดยมีมติให้เตรียมเดินขบวนทั่วประเทศอีกครั้งในวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๔๓๓


 


            ในปี ๒๔๓๓ ที่ประชุมของสภาสังคมนิยมระหว่างประเทศ ณ กรุงปารีส ได้มีมติให้วันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๔๓๓ เป็นวันเดินขบวนประจำปีของคนงานทั่วโลก เพื่อเรียกร้องให้ลดชั่วโมงการทำงานลง ซึ่งได้รับการขานรับและจัดงานเดินขบวนจากขบวนการแรงงานต่างๆ ทั่วโลก จนกระทั่งได้รับสิทธิในระบบสามแปดเช่นในปัจจุบัน จึงถือได้ว่าวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๔๓๓ เป็นวันกรรมกรสากลครั้งแรกในประวัติศาสตร์


 


            ดังนั้นการจัดงานวันที่ ๑ พฤษภาคมของทุกปี จึงถือเป็นการจัดงานรำลึกวันกรรมกรสากลที่เป็นการสะท้อนการต่อสู้ทางชนชั้นของขบวนการกรรมกรทั่วโลกในยุคทุนนิยม มิใช่วันแรงงานแห่งชาติที่มีความหมายเพียงแค่วันหยุดประจำปีของคนงานตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งมีสภาพไม่ต่างจากงานฟรีคอนเสิร์ตและมหกรรมสินค้าราคาถูก เพื่อเปิดโอกาสให้นายกรัฐมนตรีมาให้โอวาท เกือบทุกปีจะมีการแย่งชิงกันเป็นประธานในการจัดงานพร้อมกับแบ่งเค้กงบประมาณที่ได้รับจากรัฐบาล ขณะที่การยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลกลายเป็นเพียงพิธีกรรมประกอบฉากของงานที่ไร้ความหมาย


 


ในสถานการณ์ปัจจุบันการแข่งขันอย่างรุนแรงเพื่อแสวงหากำไรสูงสุดภายใต้ยุคสมัยของโลกาภิวัตน์ รัฐบาลดำเนินนโยบายตามแนวทางยุคเสรีนิยมใหม่ ที่พยายามเปิดโอกาสให้นายทุนสามารถแสวงหากำไรได้ทุกพื้นที่อย่างเสรี เช่น การทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ในสภาพเช่นนี้กรรมกรถูกกดขี่อย่างหนัก ค่าจ้างที่ต่ำทำให้คนงานต้องทำงานล่วงเวลาอย่างยาวนานเพื่อให้มีรายได้เพียงพอ ระบบการจ้างงานยืดหยุ่นผลักดันคนงานจำนวนมากออกจากการคุ้มครองตามกฎหมาย ขณะเดียวกันสิทธิและเสรีภาพในการรวมตัวกันของคนงานยังคงถูกกีดกันขัดขวาง


 


            ดังนั้นในวันกรรมกรสากล วันที่ ๑ พฤษภาคมนี้ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) เห็นว่าถึงเวลาแล้วที่พี่น้องกรรมกรทั้งหลายจะต้องรวมพลังกันด้วยสำนึกอิสระ ที่ยืนอยู่บนผลประโยชน์ของชนชั้นกรรมกร ชาวไร่ ชาวนา คนจนในเมืองและในชนบททั้งหลายร่วมกันต่อสู้ผลักดันให้รัฐดำเนินการปกป้องคุ้มครองสิทธิของผู้ใช้แรงงานทั้งในภาคอุตสหกรรม ภาคเกษตรกรรมอย่างจริงจัง โดยร่วมกันผลักดันให้รัฐดำเนินการ โดยถือเป็นข้อเรียกร้องในวันกรรมกรสากล ปี ๒๕๕๐ ข้อเรียกร้องหลัก ๓ ประการคือ


 


๑. ให้รัฐบาลประกาศบังคับใช้พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ... (ฉบับผู้ใช้แรงงาน)


๒. ให้รัฐบาลประกาศบังคับใช้พระราชบัญญัติส่งเสริมคุ้มครองสุขภาพ ความปลอดภัย อาชีว อนามัย และสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการ พ.ศ. .... (ฉบับผู้ใช้แรงงาน)


๓. ให้รัฐบาลประกาศยกเลิกนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในทุกรูปแบบ และยกเลิกพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.๒๕๔๒


 


            แน่นอนว่าเราไม่อาจคาดหวังได้ว่ารัฐบาลจะดำเนินการตามข้อเรียกร้องข้างต้น ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่กรรมกรทุกคนต้องผนึกกำลังกันเพื่อสำนึกของ "กรรมกรทั้งผองคือพี่น้องกัน" ร่วมกันต่อสู้ผลักดันให้ข้อเรียกร้องปรากฏเป็นจริง


 


คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)


สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.)


 


------------------------------------------


กำหนดการจัดงานวันกรรมกรสากล ๑ พฤษภาคม ๒๕๕๐


 


๐๘.๐๐ น.           รวมพลหน้าอาคารรัฐสภา ถนนอู่ทองใน


๐๙.๐๐ น.           งานวัฒนธรรมสลับการนำเสนอประเด็นปัญหาของผู้นำแรงงาน


๐๙.๒๐ น.           กล่าววัตถุประสงค์การจัดงานวันกรรมกรสากล


โดย นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคณะทำงานจัดงานวันกรรมกรสากล ๒๕๕๐


๐๙.๓๐ น.           กล่าวเปิดงานวันกรรมกรสากล ๒๕๕๐


                        โดย       นายศิริชัย ไม้งาม เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์


                                    นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย


๑๐.๐๐ น.           เคลื่อนขบวนไปที่ทำเนียบรัฐบาล


๑๑.๐๐ น.           ขบวนเดินทางถึงทำเนียบรัฐบาล


                        งานวัฒนธรรมสลับการนำเสนอประเด็นปัญหาของผู้นำแรงงาน


๑๒.๐๐ น.           รายงานผลการยื่นข้อเรียกร้อง


๑๒.๑๕ น.          การประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันของผู้นำแรงงาน


๑๒.๓๐ น.           พิธีหยุด...กิจกรรมติดตามข้อเรียกร้องในวันกรรมกรสากล ๑ พฤษภาคม ๒๕๕๐


 


 


2.







 


คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)


Thai Labour Solidarity Committee (TLSC.)


 


ที่ คสรท. ๖๙/๒๕๕๐


 


๒๓ เมษายน ๒๕๕๐


 


เรื่อง ข้อเรียกร้องวันกรรมกรสากล ประจำปี ๒๕๕๐


 


กราบเรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี


 


สิ่งที่ส่งมาด้วย      ๑. ร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ..... (ฉบับผู้ใช้แรงงาน)


                         ๒. ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมคุ้มครองสุขภาพ ความปลอดภัย อาชีวอนามัย


และสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการ พ.ศ.... (ฉบับผู้ใช้แรงงาน)


 


วันที่ ๑ พฤษภาคม ของทุกปีถือเป็นวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ของกรรมกรทั่วโลกที่กรรมกรทั่วทั้งโลกต่างร่วมกันจัดกิจกรรมเนื่องใน "วันกรรมกรสากล" เช่นเดียวกับประเทศไทย และขณะนี้ใกล้ถึงกำหนดการจัดงานวันกรรมกรสากล ปี ๒๕๕๐ ซึ่งในปีที่ผ่านมาองค์กรแรงงานต่างๆ ได้มีการจัดงานขึ้นเป็นประจำในวันที่ ๑ พฤษภาคม ของทุกปี และมีการยื่นข้อเรียกร้องวันกรรมกรสากลเป็นประจำทุกปีอันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบต่อกันมา ซึ่งมีรูปแบบการจัดงานและรูปแบบของกิจกรรมที่หลากหลายกันออกไป โดย วันกรรมกรสากล ปี ๒๕๕๐ นี้ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ในฐานะองค์กรแรงงานหลักซึ่งมีองค์กรสมาชิกเป็นกลุ่มสหภาพแรงงาน สหพันธ์แรงงาน กลุ่มย่าน องค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงานต่างๆ และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจต่างๆ รวมทั้งสิ้นกว่า ๖๗ องค์กร จึงขอเสนอข้อเรียกร้องวันกรรมกรสากล ประจำปี ๒๕๕๐ ต่อ ฯพณฯ เป็นการล่วงหน้าเพื่อให้ ฯพณฯ ได้พิจารณาข้อเรียกร้องดังกล่าวของผู้ใช้แรงงาน โดยข้อเรียกร้องดังกล่าวประกอบด้วย


 


๑. ให้รัฐบาลประกาศบังคับใช้พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.... (ฉบับผู้ใช้แรงงาน) เนื่องจากพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๘ ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน บทบัญญัติหลายประการไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน สมควรมีการปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะทางเศรษฐกิจสังคม และพัฒนาการด้านแรงงานสัมพันธ์ โดยกำหนดถึงหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการจัดทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง วิธีระงับข้อพิพาทแรงงาน การปิดงานและการนัดหยุดงาน การจัดตั้ง การดำเนินกิจการและการคุ้มครองลูกจ้าง นายจ้าง สหภาพแรงงาน สมาคมนายจ้าง สหพันธ์แรงงาน สหพันธ์นายจ้าง สภาองค์การลูกจ้าง และสภาองค์การนายจ้างตลอดจนปรับปรุงอัตราโทษ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ (รายละเอียดตามสิ่งที่ส่งมาด้วย ๑)


 


๒. ให้รัฐบาลประกาศบังคับใช้พระราชบัญญัติส่งเสริมคุ้มครองสุขภาพ ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการ พ.ศ.... (ฉบับผู้ใช้แรงงาน) ซึ่งปัจจุบันการประสบอันตรายและโรคซึ่งเกิดขึ้นจากการทำงานเป็นปัญหาสำคัญ มีอัตราและความรุนแรงที่เพิ่มสูงขึ้น ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เนื่องจากมาตรฐานด้านความปลอดภัย สุขภาพอนามัย และสิ่งแวดล้อมในการทำงานและคุ้มครองผู้ป่วย ผู้ได้รับบาดเจ็บ ผู้ประสบอันตราย ตลอดจนผู้ได้รับผลกระทบอื่นยังไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ สมควรให้มีสถาบันคุ้มครองสุขภาพ ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการ ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระขึ้น เพื่อให้การส่งเสริม คุ้มครอง ป้องกัน รักษา และฟื้นฟูสุขภาพความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ (รายละเอียดตามสิ่งที่ส่งมาด้วย ๒)


 


๓. ให้รัฐบาลประกาศยกเลิกนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในทุกรูปแบบ และยกเลิกพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.๒๕๔๒ เพราะเป็นที่ทราบกันโดยทั่วกันว่ารัฐวิสาหกิจนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ฯลฯ ซึ่งรัฐบาลได้ใช้เป็นกลไกและเครื่องมือสนองนโยบายของรัฐบาลมาทุกยุคสมัยตราบจนกระทั่งปัจจุบันอันเนื่องมาจากว่ารัฐวิสาหกิจนั้นเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการดำเนินวิถีชีวิต การกินดีอยู่ดี มีสุขของประชาชนและความมั่นคงปลอดภัยของประเทศชาติ ซึ่งภารกิจที่สำคัญเหล่านี้ควรเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องดำเนินการเอง เพื่อให้แน่ใจว่าจะสร้างความเสมอภาคเท่าเทียม ในการเข้าถึงและใช้บริการอย่างเป็นธรรมกับคนทุกกลุ่มในสังคมไม่ว่าจะยากดีมีจนเพียงใด เพราะหากปล่อยให้กิจการที่สำคัญเหล่านี้ไปอยู่ในมือของนายทุนเอกชนที่มุ่งแต่เพียงการแสวงหากำไร ซึ่งจะทำให้บริการสาธารณะทั้งหลายนั้นมีราคาแพงจนคนยากคนจนเข้าไม่ถึง ซึ่งจะทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมขึ้นในสังคม และกิจการที่เกี่ยวข้องกับความคงแห่งชาติ หากปล่อยให้เอกชนเช้ายึดครองกิจการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่างชาติเข้ามาดำเนินการ อาจทำให้ความลับของประเทศชาติรั่วไหล หรือ อาจนำไปสู่การแทรกแซงของต่างชาติได้


 


คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) จึงขอเสนอข้อเรียกร้องวันกรรมกรสากล พ.ศ.๒๕๕๐ ในประเด็นข้อเรียกร้องหลัก ๓ ประเด็น ต่อ ฯพณฯ เพื่อได้พิจารณาให้ความเห็นตามข้อเรียกร้องดังกล่าว โดยจะติดตามขอรับคำตอบจาก ฯพณฯ ในวันกรรมกรสากล ๑ พฤษภาคม ๒๕๕๐ ต่อไป โดยหวังว่าจะได้รับความเห็นชอบและดำเนินการจาก ฯพณฯ ในทุกกรณีที่นำเสนอ


 


จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา


 


ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง


 


(นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย)                        


ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย


 


(นายสาวิทย์ แก้วหวาน)


รองเลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์


ปฏิบัติหน้าที่แทนเลขาธิการ


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net