Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 19 เม.ย. 50 คดีอดีตคนงาน 38 คนฟ้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัท โรงงานทอผ้ากรุงเทพ จำกัด ฐานละเมิดทำให้ลูกจ้างป่วยเป็นโรคปอดอักเสบจากฝุ่นฝ้าย หรือบิสซิโนซิส เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 38 ซึ่งศาลแรงงานกลางได้พิพากษาให้โรงงานจ่ายค่าเสียหายคนป่วยเป็นรายๆ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 46 แต่จำเลยได้ยื่นอุทธรณ์ โดยเมื่อวันที่ 3 ก.ย. 49 ศาลฎีกามีคำสั่งให้ศาลแรงงานกลางสืบข้อเท็จจริงใหม่อีกครั้ง ทั้งนี้ นับแต่ยื่นฟ้องคดีจนถึงปัจจุบันซึ่งคดียังไม่สิ้นสุด รวมแล้วเป็นเวลากว่า 11 ปี


 


เมื่อวันที่ 18 เมษายน เวลาประมาณ 13.45 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 15 ศาลแรงงานกลาง มีการสืบพยานโจทก์ในคดีดังกล่าว เนื่องจากศาลฎีกามีคำสั่งให้สอบข้อเท็จจริงใหม่ใน 3 ประเด็น คือ 1.ผ้าปิดจมูกที่จำเลยที่ 1 จัดให้ลูกจ้างได้มาตรฐานตามที่ทางราชการกำหนดหรือไม่ 2.มีการออกระเบียบและควบคุมดูแลให้ลูกจ้างสวมใส่ผ้าปิดจมูกในขณะทำงานหรือไม่ และ 3.อายุความของคดี ซึ่งในวันนี้มีการสอบใน 2 ประเด็นแรกข้างต้น


 


ในประเด็นแรก นางสมบุญ สีคำดอกแค โจทก์ที่ 1 กล่าวว่า เมื่อแรกเริ่มเข้าทำงานที่บริษัทโรงงานทอผ้ากรุงเทพ จำกัด ในปี 2519 ทางบริษัทยังไม่มีมาตรการด้านสวัสดิการการทำงานของลูกจ้างเลย เพิ่งจะมีหลังจากเข้าทำงานไปแล้ว 6 เดือน ซึ่งก็เป็นผลมาจากการนัดหยุดงานเรียกร้องของสหภาพแรงงานทอผ้ากรุงเทพฯ เมื่อปี 2518 ที่มีข้อเรียกร้องเกี่ยวกับสวัสดิการในการทำงานตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็น น้ำดื่ม ผ้าปิดจมูก ไม้กวาด ฯลฯ โดยผ้าปิดจมูกที่ได้รับแจกในครั้งแรกเมื่อปี 2519 นั้นเป็นผ้าขาวบางผืนเล็กปิดได้แต่จมูก เมื่อใช้แล้วก็รู้สึกว่าใช้ได้ไม่ดี จึงไปซื้อผ้าปิดจมูกจากเสมียนข้างโรงงานมาใช้เอง ซึ่งทำจากผ้าโทเรที่มีความหนากว่าและใช้งานได้ดีกว่า


 


นางสมบุญ กล่าวต่อไปว่า ในระหว่างการทำงาน ถึงแม้จะใช้ผ้าปิดจมูกแล้วแต่ก็ยังรู้สึกคันจมูก และมีเสมหะมาก ซึ่งในเสมหะจะมีเศษฝุ่นฝ้ายอยู่เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ใช้ไปซักพักก็ต้องเอาผ้าปิดจมูกมาซักอยู่เรื่อยๆ บางครั้งก็ใช้สลับกัน บางครั้งก็ซักแล้วบิดหมาดๆ แล้วใช้ต่อทันที ดังนั้นผ้าปิดจมูกที่ทางโรงงานแจกปีละ 6 ผืนจึงไม่พอใช้ ใช้เพียงสัปดาห์เดียวก็ไม่พอแล้ว และถึงแม้ในระยะต่อมาทางโรงงานจะแจกเพิ่มเป็นปีละ 12 ผืน ก็ยังรู้สึกว่าไม่เพียงพอ


 


นอกจากนี้ ในการเรียกร้องเรื่องคุณภาพผ้าปิดจมูกของสหภาพแรงงานฯนั้น บางครั้งก็ไม่ได้รับการแก้ไข ขณะที่ในครั้งที่ได้รับการแก้ไขนั้นก็ปรากฏว่า จากผ้าผืนเล็กมีการเปลี่ยนเป็นผ้าผืนใหญ่ขึ้นจริง แต่ด้วยวัสดุที่เป็นผ้าดิบ ทำให้ผ้าปิดจมูกมีลักษณะแข็ง และไม่แนบจมูก จึงไม่สามารถแก้ปัญหาฝุ่นฝ้ายได้


 


จนมาถึงปี 2538 ซึ่งขณะนั้นนางสมบุญเป็นประธานสหภาพฯ ทางสหภาพฯ ได้เรียกร้องเรื่องคุณภาพของผ้าปิดจมูก โดยมีการเสนอให้ทางบริษัทเปลี่ยนไปใช้ผ้าปิดจมูกแบบจมูกหมูของ3M ซึ่งได้ข้อมูลจากกระทรวงแรงงานว่ามีคุณภาพดี และได้ขอเพิ่มจำนวนผ้าปิดจมูกเพิ่มเติมเป็นปีละ 24 ผืน แต่ทางบริษัทให้เหตุผลว่าค่าใช้จ่ายจะสูงเกินไป ข้อเรียกร้องทั้งสองข้อดังกล่าวจึงไม่เป็นผล ลูกจ้างจึงต้องใช้ผ้าปิดจมูกซึ่งทำจากผ้าดิบดังเดิม


 


ส่วนประเด็นที่สองนั้น นางสมบุญ กล่าวว่า ทางบริษัทไม่มีการออกระเบียบหรือมาตรการใดๆ เกี่ยวกับการดูแลให้ลูกจ้างสวมใส่ผ้าปิดจมูกในขณะทำงานเลย และไม่เคยมีการอบรมหรือแนะนำเกี่ยวกับการใช้ผ้าปิดจมูกเลย แต่ลูกจ้างทุกคนก็ใช้ผ้าปิดจมูกในเวลาทำงานเป็นปกติอยู่แล้ว และในหมู่ลูกจ้างก็ได้มีการแนะนำชักชวนกันให้ใช้ผ้าปิดจมูกอยู่เสมอ รวมไปถึงวิธีการใช้ และวิธีการทำความสะอาดผ้าปิดจมูกด้วย


 


นางสมบุญ กล่าวเสริมอีกว่า เมื่อสหภาพแรงงานฯ รณรงค์ให้ใช้ผ้าปิดจมูก โดยใช้วิธีปิดป้ายประกาศ ทางฝ่ายบุคคลของบริษัทได้มาสั่งให้เอาป้ายประกาศนั้นออก โดยให้เหตุผลว่าเป็นการสร้างความแตกแยกในสถานประกอบการ ซึ่งทางสหภาพแรงงานก็ต้องทำตามนั้น การรณรงค์จึงเป็นไปโดยวิธีการปากต่อปากเพียงอย่างเดียว


 


ในส่วนของการตรวจสุขภาพ ก็เริ่มมาจากการเรียกร้องของสหภาพแรงงานฯให้มีการตรวจสุขภาพประจำปี บางปีทางบริษัทก็แจ้งให้ทราบเรื่องวันเวลาตรวจสุขภาพ บางปีก็ไม่ได้แจ้งจึงทำให้มีลูกจ้างจำนวนหนึ่งไม่ได้รับการตรวจ และในการตรวจเอ็กซ์เรย์นั้นก็ใช้ฟิล์มขนาดจิ๋วซึ่งก็ไม่สามารถให้รายละเอียดได้มากนัก ยิ่งไปกว่านั้น หลังจากการตรวจสุขภาพ ก็ไม่ได้แจ้งผลการตรวจใดๆ แก่ลูกจ้าง


 


ขณะที่ในส่วนของเครื่องดูดฝุ่นในสถานที่ทำงานซึ่งฝ่ายจำเลยเคยกล่าวไว้ว่าได้ติดตั้งนั้น นางสาวสมบุญ แย้งว่าไม่มี แต่ว่ามีเครื่องเป่าฝุ่น ที่มีหน้าที่ในการทำความสะอาดหลอดฝ้ายและเส้นฝ้ายในกระบวนการผลิต ซึ่งจะยิ่งทำให้ฝุ่นฝ้ายฟุ้งกระจายไปทั่วบริเวณการทำงาน


 


นอกจากนี้ นางสมบุญ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ในกระบวนการจัดการเรื่องผ้าปิดจมูกนั้นทางนายจ้างไม่เคยมีการปรึกษากับทางลูกจ้างมาก่อน หลังจากได้รับแจกลูกจ้างจึงจะเรียกร้องเพื่อแก้ไขได้ และกว่าจะแก้ไขก็ต้องรอจนถึงปีถัดไป


 


อนึ่ง ศาลนัดสืบพยานอีกครั้งในวันที่ 24 เม.ย. เวลา 13.00น. ที่ศาลแรงงานกลาง กรุงเทพฯ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net