Skip to main content
sharethis

วันนี้ (8 ส.ค.51) เมื่อเวลาประมาณ 12.00 น. ชาวพม่าในประเทศไทย กลุ่มผู้เรียกร้องเพื่อสิทธิเสรีภาพของชาวพม่า และนักกิจกรรมจากเครือข่ายองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กว่า 100 คน ได้รวมตัวกันที่บริเวณหน้าสถานทูตพม่า ถนนสาทร จัดการชุมนุมอย่างสันติเพื่อรำลึกถึงการกระทำของประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่ได้เสียสละชีวิตเพื่อความยุติธรรมเมื่อ 20 สิบปีก่อนจาก "เหตุการณ์ 8888" พร้อมเรียกร้องรัฐบาลพม่าให้ปล่อยตัวผู้ประท้วง และนักโทษการเมืองที่เรียกร้องประชาธิปไตย โดยเฉพาะนางออง ซาน ซู จี สมาชิกพรรค NLD ของพม่า ที่ถูกควบคุมตัวไว้นานหลายปี

 
ผู้ ชุมนุมในวันนี้ ซึ่งส่วนใหญ่สวมเสื้อสีแดงได้ถือปืนเด็กเล่นและป้ายระบุข้อความให้รัฐบาล ทหารพม่ายุติความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพม่า หยุดการใช้อาวุธเข่นฆ่าประชาชน รวมทั้งให้จีนหยุดสนับสนุนกำลังอาวุธแก่ทหารพม่า พร้อมร้องตะโกนเป็นภาษาไทยและภาษาพม่า ทั้งนี้ได้มีการนำธงชาติพม่าซึ่งทำมาจากกระดาษมาเผา และใช้เท้าเหยียบทำลายปืนเด็กเล่นเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงการไม่สนับสนุนการใช้ อาวุธของรัฐบาลทหารพม่า
 
ในส่วนของกิจกรรม ภายหลังจากการปราศรัยเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษสลับกัน กลุ่มผู้ชุมนุมได้ทำการแจกจ่ายเครื่องบินกระดาษสีแดงที่เขียนว่า "8888 เราจะไม่ลืม เราจะไม่ยอมแพ้!" เป็นภาษาอังกฤษ แล้วขว้างเข้าไปยังสถานทูตพม่า จากนั้นเป็นการปล่อยลูกโป่งสีแดงที่มีข้อความเดียวกัน โดยห้อยภาพความเดือดร้อนต่างๆ ที่คนพม่าได้ประสบไว้กับเชือกก่อนจะปล่อยให้ลอยไป
 
ทั้งนี้ "เหตุการณ์ 8888" เป็นเหตุการณ์การเรียกร้องประชาธิปไตยครั้งสำคัญในประเทศพม่า โดยมีกลุ่มนักศึกษา ประชาชน และพระสงฆ์ ออกมาชุมนุมเพื่อกดดันรัฐบาลทหารให้ดำเนินการทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ต่อต้านเผด็จการ และต้องการให้ขับไล่ เส่ง ลวิน (Seng Lwin) ผู้นำทางการเมืองในขณะนั้นพ้นไปจากตำแหน่ง
 
หลัง จากการชุมนุมยืดเยื้อยาวนาน และมีประชาชนมาเข้าร่วมมากขึ้นทุกที กองกำลังทหารพม่าตัดสินใจยิงปืนกราดเข้าไปในฝูงชนกลางดึกของคืนวันที่ 8 ส.ค.1988 และกลายเป็นที่มาของรหัสตัวเลข 8888 ที่ทั่วโลกจดจำในฐานะเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตยในพม่าที่ต้องแลกมาด้วยเลือดเนื้อและชีวิตของประชาชนไปมากกว่า 3,000 คน
 
นายฮตู ชิต นักกิจกรรมจากมูลนิธิการศึกษาเพื่อการพัฒนา (Grassroots-HRE) กล่าวว่า ตนเองเป็นนักศึกษาที่ร่วมต่อสู่ในเหตุการณ์ 8888 และที่ผ่านมาก็ได้ทำการต่อสู้ตามแนวตะเข็บชายแดนมาตลอด ทำให้มองเห็นภาพสถานการณ์พม่าในช่วงเวลา 20 ปี ที่ผ่านมาว่าประชาชนไม่ได้มีชีวิตที่ดีขึ้นทั้งทางการเมืองและทางธุรกิจ อีกทั้งเหตุการณ์ภัยพิบัตินากีสเมื่อเดือนพฤษภาคมก็ทำให้มีผู้เสียชีวิตแสน กว่าคน มีผู้เดือนร้อนในหลักล้าน ทำให้มองเห็นปัญหาได้ว่าทำไมคนพม่าต้องมาอยู่เมืองไทย
 
"ยี่สิบ ปีที่ผ่านมาผมเห็น เพื่อน มิตร ประท้วงในถนนเมืองย่างกุ้ง ทั้งที่ไม่มีพิษภัย เราขอแค่ประชาธิปไตย แต่เค้าก็ทำร้ายเรา ผมไม่เคยลืมสิ่งที่เกิดขึ้น" นายฮตูกล่าว
 
นาย ฮตูกล่าวต่อมาว่า ปัจจุบันชุมชนของคนไทยเข้าใจสถานการณ์ในพม่ามากขึ้น จากการทำงานในพังงาเมื่อก่อนคนทั่วไปจะไม่สนใจปัญหาของแรงงานพม่า แต่ตอนนี้เริ่มมีคำถามว่าทำไมคนพม่าต้องมาทำงานในเมืองไทย และคำถามก็นำมาสู่การอธิบาย ซึ่งช่วยสร้างความเข้าใจให้แก่กันมากขึ้น โดยเฉพาะหลังจากที่เกิดเหตุการณ์นากีสและนั่นก็เพราะเราอยู่ในพม่าไม่ได้
 
"ต้องเปลี่ยนการเมือง ต้องปล่อยผู้นำเรา ออง ซาน ซู จี คือผู้นำเรา" นายฮตูกล่าวถึงความต้องการที่เขาอยากเรียกร้องในวันนี้
 
ด้านน.ส.ปณิธิดา ผ่องแผ้ว คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า (กรพ.) กล่าวว่าปัญหาของไทยและพม่ามีความเชื่อมโยงกัน ถ้าเราช่วยกันโปรโมทให้เกิดประชาธิปไตยในพม่าก็จะเป็นการช่วยแก้ปัญหาแรงงาน พม่าที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย และการหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย เพราะความจริงแรงงงานที่มาอยู่ที่นี่ทุกคนต่างก็อยากกลับบ้าน แต่พวกเขาต้องหนีความลำบากมาสู่สิ่งที่ดีกว่า
 
ในส่วนองค์กรและผู้ที่ร่วมเรียกร้องเพื่อสิทธิเสรีภาพของชาวพม่า ภายใต้ชื่อ Burma Partnership กว่า 63 องค์กร ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ระบุว่าหลังจากเหตุการณ์ 8888 เมื่อวันที่ 8 ส.ค. (เดือน 8) ค.ศ.1988 (พ.ศ.2531) ในประเทศพม่าได้มีขบวนการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยมาโดยตลอด เช่น ในการเคลื่อนไหวของพระและคนหนุ่มสาวใน "การปฏิวัติผ้าเหลือง" เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา แต่ก็มีการปราบปรามโดยใช้ความรุนแรง และมีการกดดันประชาชนมากยิ่งขึ้น ซึ่งทำให้เห็นว่าการคลี่คลายความขัดแย้งด้วยวิธีการทางการทูต และกระบวนการเจรจาของอาเซียนประสบความล้มเหลว อีกทั้งยังถูกใช้เป็นเครื่องมือในการประวิงเวลาแก้ปัญหา
 
อย่างไร ก็ตาม การแก้ปัญหาจะเกิดขึ้นได้จริงของเรียกร้องหรือการเจรจาระหว่างประเทศจำเป็น จะต้องมีมาตรการที่เป็นรูปธรรมและเด็ดขาด ซึ่งอาจรวมไปถึงการห้ามค้าอาวุธ และการคว่ำบาตรทางการเงิน ทั้งนี้ประชาคมโลกเองก็ต้องแสดงให้เห็นถึงความแน่วแน่ในจุดยืนที่ต้องการให้ ปัญหาในพม่าคลี่คลายลง โดยการปฏิบัติตามข้อเรียกร้อง ดังนี้
 
1.เรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักโทษการเมือง รวมทั้งนางออง ซาน ซู จี อย่างไม่มีเงื่อนไข ซึ่งในไม่กี่เดือนที่ผ่านมานักโทษทางการเมืองของพม่าเพิ่มขึ้นถึง 65 เปอร์เซ็นต์ คือ จาก 1,150 คน เป็น 1,900 คน เห็นได้ว่ารัฐบาลทหารพม่ากำลังนำพาประเทศไปสู่เหตุการณ์ 8888 อีกครั้ง
 
2.เรียกร้องให้ยุติการปราบปรามและการคุกคามต่อกลุ่มชาติพันธ์ต่างๆ เพราะที่ผ่านมาการคุกคามของรัฐบาลทหารในภาคตะวันออกของพม่าได้เพิ่มมากขึ้น เพียงแค่ในปี 2550 ตลอดทั้งปีมีผู้ลี้ภัยออกนอกประเทศกว่า 76,000 คน และรัฐบาลได้เคลื่อนกำลังพลพร้อมอาวุธ 85 กองพัน ไปที่รัฐกระเหรียง ทั้งนี้พม่าได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีสถานการณ์ผู้อพยพลี้ภัยทางการเมืองเลว ร้ายมากที่สุดในโลก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนกลุ่มน้อยในพม่า
 
3.เรียกร้องให้ริเริ่มการเจรจา 3 ฝ่าย ทั้งนี้ เมื่อปีที่ผ่านมารัฐบาลพม่าได้หยิบยกการทำประชามติรัฐธรรมนูญและการจัดให้มีการเลือกตั้งในปี 2553 ว่า เป็นกระบวนการที่แสดงออกถึงความก้าวหน้าที่สู่ระบอบประชาธิปไตยของประเทศ แต่ในความเป็นจริงกระบวนการดังกล่าวกลับจะนำมาซึ่งปัญหาเพราะการเมืองที่ไม่ บริสุทธิ์ยุติธรรม ดังนั้นการเจรจาโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจึงจะเป็นกระบวนการที่สำคัญในการแก้ ปัญหาในระยะยาวต่อไป
 
ใน ส่วนของจีนซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่อยู่ในฐานะเกี่ยวข้องกับปัญหาของพม่าโดยตรง ได้มีข้อเรียกร้องให้รัฐบาลจีนยุติการปกป้องรัฐบาลทหารพม่าในการประชุมคณะ มนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ
 
ด้านแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์ "รัฐบาลพม่าต้องพัฒนาสิทธิมนุษยชนก่อนจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตย" แสดงความคิดเห็นและข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลพม่าและองค์การสหประชาชาติ 4 ข้อ คือ 1.ใน ขณะที่รัฐบาลพยายามแสดงความมุ่งมั่นในการพัฒนาประเทศไปสู่ประชาธิปไตยด้วย การพยายามจัดให้มีรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้ง รัฐบาลต้องไม่แยกการพัฒนาประเทศออกจากการพัฒนาสิทธิมนุษยชนด้วยการปฏิบัติ ตามพันธะสัญญาในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน กติกาและอนุสัญญาระหว่างประเทศฉบับต่างๆ ซึ่งรัฐบาลได้ลงนามให้สัตยาบันแล้วอย่างเคร่งครัด
 
2.รัฐบาลต้องคืนอิสรภาพให้แก่ประชาชนอย่างเร่งด่วน รวมทั้ง ปลดปล่อยนักโทษทางการเมืองที่ถูกจับกุมคุมขังอยู่กว่า 2,000 คน โดยเฉพาะนางอองซาน ซูจี, นาย อู วิน ทิน และนักโทษทางการเมือง 20 คนที่กำลังทนทุกข์ทรมานกับอาการเจ็บป่วยในคุกโดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข เพื่อระดมพลังแห่งการพัฒนาโดยการมีส่วนร่วมของประชาชนพม่า และเพื่อแสดงความจริงใจในการนำพาประเทศไปสู่ประชาธิปไตย
 
3.รัฐบาลต้องยุติการปราบปรามและการคุกคามต่อชนกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่า รวมทั้งประกันสิทธิขั้นพื้นฐานในฐานะที่เป็นพลเมืองของประเทศ และ 4.สหประชาชาติ ต้องเร่งดำเนินการขจัดอุปสรรคที่ขัดขวางการพัฒนาสิทธิมนุษยชนในพม่าอย่าง จริงจัง และไม่ประนีประนอมกับประเทศที่ส่งเสริมการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่าอีกต่อไป
 
อนึ่งก่อนหน้านี้ในเวลาประมาณ 10.00 น. กลุ่มผู้ประท้วงดังกล่าวได้ไปรวมตัวกันที่หน้าสถานทูตจีน และได้ปักหลักชุมนุมบริเวณนั้นประมาณหนึ่งชั่วโมง จึงได้ดินทางมายังสถานทูตพม่า ทั้งนี้ในการชุมนุมได้ระบุว่ารัฐบาลจีนผู้สนับสนุนรัฐบาลทหารพม่าที่สำคัญ อีกทั้งยังเป็นผู้มีอิทธิพลต่อการปฏิรูปประชาธิปไตยในพม่า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net