Skip to main content
sharethis

สุดอาลัยประธาน KNU ถึงแก่กรรมแล้ว


 



นายซอว์ บา ติน ประธาน KNU (ที่มาของภาพ: the Irrawaddy/KIC)


 


เว็บไซต์อิระวดีรายงานว่า นายซอว์ บา ติน (Saw Ba Thin Sein) ประธานสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือ KNU วัย 82 ปี ถึงแก่กรรมแล้วเมื่อเวลา 2.00 น. ของวันที่ 22 พ.ค. ที่จังหวัดผาอัน ทางใต้ของรัฐกะเหรี่ยง สำหรับสาเหตุการเสียชีวิตมาจากโรคประจำตัวของเขา ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคหืด และโรคหัวใจ


 


นายซอว์ บา ติน เข้าร่วมกับ KNU ทำสงครามเพื่อเอกราชของชาวกะเหรี่ยงมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2492 และเป็นเลขาธิการ KNU ในปี พ.ศ.2527 ต่อมาเขาได้รับการแต่งตั้งเป็นประธาน KNU ในปี พ.ศ.2543


 


ทั้งนี้ หากเป็นไปตามแถลงการณ์ของศูนย์บัญชาการ KNU ที่ประกาศวานนี้ คาดว่านายตัมละ บอว์ (Tamla Baw) รองประธาน KNU และอดีตผู้บัญชาการกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือ KNLA จะขึ้นดำรงตำแหน่งประธาน KNU แทนนายซอว์ บา ติน


 


เดวิด ทะคะปอว์ (David Takapaw) โฆษก KNU กล่าวว่าการถึงแก่กรรมของนายซอว์ บา ติน เป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของชาวกะเหรี่ยง ชนชาติที่ต่อสู้เพื่ออิสรภาพมายาวนานกว่า 5 ทศวรรษ อย่างไรก็ตามการถึงแก่กรรมของท่านไม่มีผลเปลี่ยนแปลงใดๆ ต่อนโยบายของ KNU


 


นางหน่อ ขิ่น มาร์ จ่อ ซอว์ (Naw Khine Mar Kyaw Zaw) สมาชิก KNU ที่ทำงานใกล้ชิดกับนายซอว์ บา ตินกล่าวว่า "ที่ซอว์ บา ติน เข้าร่วมกับการปฏิวัติกะเหรี่ยงเพราะเขาเห็นทหารพม่ากดขี่ประชาชนกะเหรี่ยง"


 


เธอยังกล่าวว่านายซอว์ บา ติน ต่อสู้คัดค้านความพยายามแบ่งแยกประชาชนกะเหรี่ยงออกจากกัน และค้านกองทัพกะเหรี่ยงที่แยกตัวจาก KNU ไปตั้งกองกำลังกะเหรี่ยงพุทธประชาธิปไตย หรือ DKBA (the Democratic Karen Buddhist Army)


 


"เขาพูดว่า ประชาชนสนับสนุนพวกเรา แต่พวกผู้นำแตกแยกทางจุดยืน พวกผู้นำไม่สามัคคีกัน และผู้นำบางคนมีแนวคิดเรื่องศาสนาที่สุดโต่งเกินไป"


 


หลังจาก DKBA แยกตัวจาก KNU นายซอว์ บา ติน เรียกร้องอยู่เสมอให้ชาวกะเหรี่ยงสามัคคีกัน เขากล่าวว่าความขัดแย้งในหมู่ประชาชนและความแตกแยกของผู้นำ จะทำให้การต่อสู้เพื่อเอกราชเป็นไปอย่างยืดเยื้อ


 


"เขาต้องการให้ประชาชนกะเหรี่ยงอยู่ร่วมกันอย่างสามัคคี เขารังเกียจความอยุติกรรม เขาเป็นนักปฏิวัติที่อุตสาหะคนหนึ่ง และเขายังมีเห็นอกเห็นใจต่อกลุ่มชาติพันธ์อื่นๆ ด้วย" นางหน่อ ขิ่น มาร์ จ่อ ซอว์ กล่าว


 


นายซอว์ บา ติน เกิดในปี พ.ศ.2470 ที่เมืองฮินซาดา ในเขตอิระวดี ภาคกลางของพม่า เขาได้ศึกษาจนจบชั้นมัธยมที่โรงเรียนของพวกมิชชันนารีอเมริกัน ที่เมืองแห่งนี้เอง ต่อมาเขาทำงานตำแหน่งเสมียนในกองทัพของอาณานิคมอังกฤษในย่างกุ้งจนถึงปี พ.ศ.2489 ต่อมาหลังจากเข้าร่วมการปฏิวัติกะเหรี่ยง ปี พ.ศ. 2506 เขาได้เป็นสมาชิกคณะกรรมการกลาง KNU และได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีด้านการศึกษาของ KNU


 


ภรรยาของเขาคือหน่อ โอน มเยง มีบุตร 1 คน และธิดา 3 คน


 


ทั้งนี้จะมีการจัดพิธีรำลึกให้กับเขาที่กองบัญชาการกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยงที่ 7 ในจังหวัดผาอัน รัฐกะเหรี่ยง โดยจะมีการระบุวันเวลาภายหลัง


 


 


ทนายหวัง "ซูจี" เป็นอิสระ หลังครบกำหนดกักบริเวณวันเสาร์นี้!


 



(ที่มาของภาพ: www.pbase.com/dassk)


 


ในเที่ยงคืนของวันเสาร์ที่จะถึงนี้ ซึ่งเป็นวันครบกำหนดควบคุมตัวนางออง ซาน ซูจี ภายในบ้านเป็นเวลา 5 ปี ตามคำสั่งของรัฐบาลทหารพม่านั้น มีนักวิเคราะห์คาดว่ารัฐบาลทหารพม่าที่ต้องรับมือกับการจัดการภัยพิบัติจากพายุไซโคลน จะทำให้พวกเขาขยายเวลาการกักตัวนางซูจีออกไปเป็นเวลา 1 ปี


 


นายยาเรด เจนเซอร์ (Jared Genser) ทนายความของนางซูจีและประธานกลุ่ม "Freedom Now" ซึ่งพำนักอยู่ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี กล่าวว่าภายใต้กฎหมายของพม่า บุคคลจะถูกกักบริเวณโดยปราศจากข้อหาหรือการพิจารณาคดีได้เพียงไม่เกิน 5 ปี และขยายเวลากักบริเวณได้ครั้งละ 1 ปี


 


โดยนางซูจี ถูกกักบริเวณตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2546 และมีการต่อเวลากักบริเวณล่าสุดเมื่อวันที่ 25 พ.ค. ปีที่แล้ว


 


เจนเซอร์ อ้างถึงการประชุมประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือพม่า ที่จะจัดขึ้นในกรุงย่างกุ้งในวันที่ 25 พ.ค. ที่จะถึงนี้ว่า นี่เป็นสัญญาณที่ดี เพราะการประชุมจะเกิดขึ้นในเวลาเดียวกับที่ครบกำหนดการกักบริเวณนางออง ซาน ซูจี เธอต้องได้รับการปล่อยตัวเมื่อผ่านวันที่ 24 พ.ค. แน่นอน


 


ทั้งนี้สหประชาชาติและ 10 ชาติสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน ซึ่งมีพม่าเป็นสมาชิกด้วย จะจัดการประชุมเพื่อระดมความช่วยเหลือแก่พม่าที่กรุงย่างกุ้ง ในวันอาทิตย์ที่ 25 พ.ค. นี้ เพื่อช่วยเหลือพม่าที่ประสบภัยพิบัติไซโคลนนากิส ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตและสูญหายในขณะนี้รวมกว่า 133,000 ราย และการประชุมดังกล่าวเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเหตุการณ์ผ่านไปได้กว่า 3 อาทิตย์แล้ว


 


นายเจนเซอร์หวังว่า "ถ้ารัฐบาลพม่ายึดถือกฎหมายของพวกเขา อองซาน ซู จี จะสามารถเข้าร่วมการประชุมที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 25 พ.ค. นี้ ด้วยตัวเธอเอง"


 


"และถ้านายพลตานฉ่วย ปฏิเสธปล่อยตัวเธอ นี่จะเป็นการตบหน้าเลขาธิการสหประชาชาติ นายบัน คี มุน และนักการทูตอาเซียนผู้ต้องแบกรักภาระการเรียกร้องเงินบริจาคจากนานาชาติ 11,000 ล้านเหรียญสหรัฐของคณะทหารพม่า" เขากล่าว


 


ในรอบ 18 ปีที่ผ่านมา เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ และผู้นำพรรค NLD อย่างนางออง ซาน ซูจีต้องถูกกักบริเวณในบ้านพัก ถ.มหาวิทยาลัย ในเมืองย่างกุ้ง เป็นเวลากว่า 12 ปี โดยรัฐบาลทหารพม่าถูกสหรัฐและสหภาพยุโรปคว่ำบาตร อันเนื่องมาจากการกักบริเวณนางซูจี และยิ่งถูกคว่ำบาตรหนักขึ้นหลังมีการปราบปรามการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลโดยพระสงฆ์เมื่อปีที่แล้ว


 


 


ผู้ประสบภัยเผยไม่ต้องการให้เลขายูเอ็นเข้าเยี่ยม เหตุทหารคุกคาม


 



พระสงฆ์พม่าและศิษยานุศิษย์จัดแจงมอบสิ่งของบริจาคซึ่งเรี่ยไรเองโดยประชาชนในพม่า ให้กับชาวบ้านสองข้างทาง บนเส้นทางระหว่างเมืองก่อมู (Kawhmu) และกูนฉ่างกง (Kungyangone) บริเวณปากแม่น้ำย่างกุ้ง ภาพนี้เผยแพร่เมื่อ 21 พ.ค. ที่ผ่านมา (ที่มาของภาพ: Moe Aung Tin/The Irrawaddy)


 



ผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์พายุไซโคลนนาร์กีสจำนวนมากในพื้นที่ปากแม่น้ำอิระวดีกล่าวว่า ไม่ต้องการให้เลขาธิการยูเอ็นเข้าเยี่ยมศูนย์อพยพพักพิงชั่วคราว เนื่องจากหวั่นวิตกว่าทางการพม่าจะเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยและขู่ทำร้ายผู้ประสบภัยที่สูญเสียสมาชิกในครอบครัวและบ้านเรือน


 


ทั้งนี้นายบันคีมูน เลขาธิการยูเอ็นมีแผนที่จะเข้าพบนายพลอาวุโสในกรุงย่างกุ้งในสัปดาห์นี้ หลังจากที่ถูกทางรัฐบาลพม่าเพิกเฉยเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์โดยในการเยือนพม่าครั้งนี้ โดยมีแผนที่จะเข้าเยี่ยมพื้นที่ประสบภัยบริเวณปากแม่น้ำอิระวดี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากพายุไซโคลนนาร์กีสมากที่สุดเมื่อวันที่ 2 - 3 พฤษภาคมที่ผ่านมา รวมถึงจะเข้าร่วมประชุมในกรุงย่างกุ้งในวันอาทิตย์ที่จะถึงนี้


 


อย่างไรก็ตามกลับพบว่า ผู้ประสบภัยไม่ต้องการให้ผู้นำระดับสูงเข้าเยี่ยมพื้นที่เนื่องจากจะมีการส่งกำลังทหารและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเข้าเคลียร์ถนน ซึ่งจะให้ผู้ประสบภัยที่ขาดแคลนอาหารและสิ่งของบรรเทาทุกข์อยู่แล้ว ต้องขาดแคลนอาหารหนักเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากทางการพม่าจะกีดกันไม่ให้ผู้บริจาคคนอื่นๆ เข้ามาบริจาคสิ่งของในพื้นที่ในช่วงที่เลขายูเอ็นเยือนพื้นที่ดังกล่าว


 


นายซากานา (Zarganar) นักแสดงตลกชื่อดังของพม่าและผู้บริจาคชาวพม่าคนอื่นๆ ที่เข้าเยี่ยมในพื้นที่ประสบภัยตรงปากแม่น้ำอิระวดีกล่าวว่า ผู้ประสบภัยในพื้นที่ดังกล่าวสิ้นหวังที่จะได้รับอาหารและสิ่งของบรรเทาทุกข์อื่นๆ แล้ว โดยผู้ประสบภัยไม่ต้องการให้นายบันคีมูน เลขาธิการยูเอ็นและคณะเข้าเยี่ยมในพื้นที่ประสบภัยเพราะจะทำให้สถานการณ์ยิ่งแย่ไปกว่าเดิม


 


นายซากานากล่าวเพิ่มเติมว่านายบันคีมูนจะไม่ได้เห็นสถานการณ์ที่แท้จริงที่กำลังเกิดขึ้น เพราะรัฐบาลพม่าจะสร้างภาพที่ดีๆให้เลขายูเอ็นเห็นเท่านั้น และผู้ประสบภัยจะไม่มีโอกาสพูดอะไรออกมาทั้งนั้น และถ้าหากผู้ประสบภัยฝ่าฝืนก็จะได้รับโทษ


 


ด้านนาย อองนายอู (Aung Naing Oo) นักวิเคราะห์ชาวพม่า แสดงความเห็นว่า ในช่วงที่เลขาฯ ยูเอ็นเยือนพม่านั้น ทางการพม่าจะเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวด ซึ่งจะทำให้ผู้ประสบภัยจำนวนมากได้รับความเดือดร้อน เพราะมีกำลังทหารเข้าเคลียร์ตามถนน ผู้ประสบภัยจะไม่สามารถออกมารับบริจาคได้ในช่วงที่เลขายูเอ็นเยือนในพื้นที่


 


ขณะที่มีรายงานว่า ที่เมืองโบกาเล (Bogalay) เมืองที่ตั้งอยู่บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิระวดีและได้รับความเสียหายจากพายุอย่างหนักแห่งหนึ่ง ผู้ประสบภัยที่เข้าไปพักพิงยังวัดและโรงเรียนในเมืองแห่งนี้ ถูกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของทางการพม่าบังคับให้กลับไปยังหมู่บ้านของตัวเองแล้ว โดยแหล่งข่าวในเมืองโบกาเลยืนยันว่า เรือที่บรรทุกผู้ประสบภัยได้จมลงใกล้ๆ กับเมืองโบกาเล แต่ยังไม่มีรายละเอียดในเรื่องนี้


 


 


แฉทหารพม่าห้ามชาวบ้านรับสิ่งของข้างทาง จัดฉากก่อนตานฉ่วยเยี่ยม


ก่อนหน้านี้ มีรายงานว่าในวันที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา ก่อนที่พลเอกอาวุโสตานฉ่วยจะเข้าเยี่ยมผู้ประสบภัยในเมืองกูนฉ่านกง (Kungyangon) หนึ่งวัน เจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ปกครองท้องถิ่นได้ขับรถตระเวนรอบเมืองพร้องทั้งใช้เครื่องขยายเสียงประกาศว่า ห้ามชาวบ้านออกจากบ้านไปขอรับบริจาคอาหารตามข้างถนน ถ้าใครฝ่าฝืนจะถูกจับและลงโทษ


 


โดยในวันที่นายพลตานฉ่วยเข้าเยี่ยมประชาชน เจ้าหน้าที่ได้เตรียมอาหารและสิ่งของบรรเทาทุกข์ไว้ด้านหน้าเต็นท์ผู้ประสบภัย เพื่อแสดงให้เห็นว่า การช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นไปได้ด้วยดี


 


ผู้ั้้บริจาคชาวพม่าที่เข้าเยี่ยมพื้นที่ประสบภัยบริเวณปากแม่น้ำอิระวดีกล่าวว่า ถึงแม้พายุไซโคลนนาร์กีสจะสร้างความเสียหายอย่างหนัก แต่ดูเหมือนว่ารัฐบาลพม่ากลับต้องการให้ภาพพจน์ของประเทศดูดี โดยสื่อรัฐบาลได้รายงานว่าทางการพม่าสามารถควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว ซึ่งตรงกันข้ามกับความเป็นจริงโดยสิ้นเชิง


 


 


ที่มาของข่าว: แปลและเรียบเรียงจาก


KNU Chairman Dies, By SAW YAN NAING, the Irrawaddy, May 22, 2008 


http://www.irrawaddy.org/article.php?art_id=12196


Cyclone Survivors Don"t Want UN Chief to Visit Delta, the Irrawaddy, May 21, 2008, http://www.irrawaddy.org/article.php?art_id=12181 (แปลโดยสำนักข่าวเชื่อม)


Myanmar military rulers cannot extend Suu Kyi's arrest: lawyer, AFP, May 22, 2008


http://news.yahoo.com/s/afp/20080522/wl_asia_afp/usmyanmarrights_080522192147

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net