Skip to main content
sharethis

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนจดหมายถึงอธิการบดี มช. ถาม ปัญหาระบบความรู้ การบริหารงาน และความใส่ใจของผู้ที่เกี่ยวข้อง หลังยื่นขอตำแหน่ง “ศาสตราจารย์” มาแล้ว 7 ปี แต่ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบเรื่อยมา ระบุ หากภายหลังปีใหม่ 2566 แล้ว ยังไม่มีความคืบหน้า จะใช้กระบวนการทางศาลในการจัดการกับเรื่องนี้

 

16 ธ.ค. 2565 สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โพสต์จดหมายถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผ่านเฟซบุ๊กเพจ “ศูนย์วิจัยฯ มหาวิทยาลัยหน้าบางแห่งหนึ่ง” ประเด็นการขอตำแหน่งศาสตราจารย์ที่ยาวนาน หลังยื่นขอตำแหน่งศาสตราจารย์ไปตั้งแต่เดือนตุลาคม 2558 จนถึงปัจจุบันผ่านมาแล้ว 7 ปี ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าเป็นขอตำแหน่งศาสตราจารย์ที่ยาวนานที่สุดในประเทศไทย

ระหว่างทางของการขอตำแหน่งแสดงให้เห็นถึงปัญหาหลายด้าน ทั้งในแง่ของปัญหาระบบความรู้ การบริหารงาน ความเหมาะสมของผู้ทรงคุณวุฒิ ความมีประสิทธิภาพและความใส่ใจของผู้ที่เกี่ยวข้อง สมชาย ระบุ หากภายหลังปีใหม่ 2566 แล้ว ยังไม่มีความคืบหน้าที่ชัดเจนเกิดขึ้น จะใช้กระบวนการทางศาลในการจัดการกับเรื่องนี้

 

เรียน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เรื่อง การขอตำแหน่งศาสตราจารย์ที่ยาวนานที่สุดในประเทศไทย

 

มาจนถึงเวลานี้เท่าที่ได้รับรู้และมีการบอกเล่ากันมา ผมก็ค่อนข้างมั่นใจว่ากระบวนการขอตำแหน่งศาสตราจารย์ของผมนั้นใช้เวลานานมากกว่าใคร ๆ โดยผมยื่นขอตำแหน่งดังกล่าวไปเมื่อเดือนตุลาคม 2558 และตราบจนกระทั่งปัจจุบัน (ธันวาคม 2565) กระบวนการดังกล่าวก็ยังไม่เสร็จสิ้นลงแต่อย่างใด เข้าใจว่าอยู่ระหว่างการตรวจสอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (ซึ่งผมก็สงสัยว่างานทั้งหมดได้ผ่านการประเมินของผู้ทรงคุณวุฒิครบถ้วนมาแล้วมิใช่หรือ)

ในระหว่างทางของการขอตำแหน่งมีประเด็นที่แสดงให้เห็นถึงปัญหาหลายด้าน ทั้งในแง่ของปัญหาระบบความรู้ การบริหารงาน ความเหมาะสมของผู้ทรงคุณวุฒิ ความมีประสิทธิภาพและความใส่ใจของผู้ที่เกี่ยวข้อง หากจะต้องอภิปรายกันอย่างจริงจังแล้ว ผมสามารถใช้เวลาพูดได้เป็นวัน ๆ อย่างแน่นอน

โดยครั้งหลังสุดที่รับทราบอย่างเป็นทางการเมื่อหลายเดือนก่อนก็คือ มีจดหมายมาถึงผมให้แสดงหลักฐานการเผยแพร่ว่าได้ดำเนินการไปอย่างถูกต้องหรือไม่ ทั้งที่หน่วยงานของมหาวิทยาลัยได้รับรองว่าครบถ้วนในคราวแรกที่ผมยื่นเอกสารทั้งหมดไป นี่เป็นหน้าที่ของผมหรือหน่วยงานกันแน่ ก็ในเมื่อผมยื่นทั้งหมดและได้รับการยืนยันว่าครบถ้วนแล้ว

ในตอนแรก ๆ นั้น ผมพยายามปลอบใจตัวเองว่าความยุ่งยากที่เกิดขึ้นเป็นเพราะผมสังกัดอยู่ในมหาวิทยาลัยต่างจังหวัดเลยทำให้กระบวนการทั้งหมดค่อนข้างล่าช้า แต่ครั้นเห็นรุ่นพี่รุ่นน้องหลายคนซึ่งอยู่ในมหาวิทยาลัยเดียวกัน (และในมหาวิทยาลัยอื่น) ซึ่งยื่นขอตำแหน่งหลังผมแต่สามารถเสร็จสิ้นกระบวนการดังกล่าวไปภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว ก็ทำให้เกิดคำถามขึ้นว่าตกลงอะไรคือสาเหตุของความยุ่งยากนี้กันแน่

มีหลายคนเข้าใจว่าผมถูกกลั่นแกล้งอันเนื่องมาจากจุดยืน ผมก็ไม่แน่ใจว่าจะตอบคำถามนี้อย่างไร เพราะส่วนตัวแล้วผมก็ยังเชื่อว่าในแวดวงทางวิชาการน่าจะมีประเด็นเช่นนี้น้อยกว่างานด้านอื่น ๆ แต่หลังจากเรื่องนี้ผ่านมาเป็นเวลาพอสมควร ผมก็ชักเกิดความไม่มั่นใจขึ้นมาเหมือนกัน อันที่จริงต่อกรณีดังกล่าว ผมเคยขอคำอธิบายทั้งจากผู้ช่วยอธิการบดี รองอธิการบดี ที่ทำหน้าที่รับผิดชอบงานในด้านนี้มาแล้ว แต่จนกระทั่งเปลี่ยนอธิการบดีเป็นคนใหม่เรื่องก็ยังไม่มีความคืบหน้าอะไรให้เห็นมากนัก

หลายคนอาจนึกว่าหลังจากขอตำแหน่งศาสตราจารย์แล้ว ผมไม่ได้ทำงานอะไรอีก มัวแต่มาทวงถามความคืบหน้า ผมอยากเรียนให้ทราบว่าภายในระยะเวลา 7 ปี จาก พ.ศ. 2558 ผมได้ทุนวิจัยจาก สกว. 3 เรื่อง, สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ 2 เรื่อง, สถาบันพระปกเกล้า 1 เรื่อง, งานวิจัย 3 ชิ้นได้รับรางวัลจากสภาวิจัยแห่งชาติ (รวมถึงที่เพิ่งประกาศผลของปีนี้, ตีพิมพ์หนังสือ 2 เล่ม, ดูแลวิทยานิพนธ์ประมาณ 10 เล่ม ซึ่งได้รับรางวัลและทุนทั้งจากภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย เป็นต้น ไม่ต้องกล่าวถึงงานสอนอันเป็นภาระหน้าที่พื้นฐาน

เท่านี้ก็น่าจะพอยืนยันได้ว่าผมไม่ได้มีสภาพเป็น dead wood ซึ่งควรได้รับการเอาใจใส่จากหน่วยงานอย่างเท่าเทียมกับบุคลากรคนอื่น ๆ มิใช่หรือ

แต่ที่กล่าวมาก็อาจไม่เป็นธรรมต่ออธิการบดีในปัจจุบัน เพราะเรื่องแทบทั้งหมดเกิดขึ้นในยุคสมัยของอธิการบดีคนเก่า อย่างไรก็ตาม ในฐานะของอธิการบดีก็คงปฏิเสธภาระความรับผิดชอบนี้ไปไม่ได้เช่นกัน แน่นอนว่ากระบวนการของผมจะเสร็จสิ้นลงเมื่อไหร่ก็ยังยากจะคาดเดา แต่ก็คิดว่าเป็นหัวข้อที่น่าสนใจอย่างมากกว่าคนที่ต้องใช้เวลาในการขอตำแหน่งศาสตราจารย์ที่ยาวนานที่สุดในประเทศไทย (และอาจรวมถึงในโลกนี้ด้วยก็ได้) อยู่ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ประเด็นสุดท้ายที่ใคร่ขอแจ้งให้อธิการบดีทราบก็คือ หากภายหลังจากขึ้นปีใหม่ 2566 แล้ว ยังไม่มีความคืบหน้าที่ชัดเจนเกิดขึ้น ผมก็จะใช้กระบวนการทางศาลในการจัดการกับเรื่องนี้ ต้องสารภาพว่าโดยส่วนตัว ผมรู้สึกเบื่อกับเรื่องนี้มามากจนเกินพอแล้ว แต่นั่นแหละจะให้ไปขอ ศ. คลินิก หรือ ศ. ปฏิบัติ ก็พ้นไปจากความรู้ความสามารถของผม

 

 

ด้วยความปรารถนาดี

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net