Skip to main content
sharethis
  • สมชาย ปรีชาศิลปกุล ระบุ งานศิลปะที่ไม่เหลืองอร่ามและขัดต่ออุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เท่ากับงานศิลปะที่มีปัญหาในสังคมไทย
  • ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี ย้ำ มหาวิทยาลัยจะก้าวหน้าในระดับนานาชาติ พร้อมๆ กับการเป็นเด็กดีของรัฐเผด็จการไม่ได้
  • มิตร ใจอินทร์ ยัน การ Occupy สิทธิที่เราจะยึดพื้นที่ พิภพ อุดมอิทธิพงศ์ ชี้ เสรีภาพในการแสดงออกเป็นสิทธิที่เก่าแก่ที่สุดในโลก
     

เมื่อวันที่ 17 ต.ค. ที่ผ่านมา เวลา 16.00 น. ที่บริเวณลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ภายในสาขาวิชา Media Art and Design คณะวิจิตรศิลป์ คณาจารย์และนักศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการบุกยึดพื้นที่หอศิลปฯ ดังกล่าวคืนจากผู้บริหารคณะและผู้บริหารมหาวิทยาลัย จากวันก่อน (16 ต.ค. 64) ร่วมกันจัดงานเสวนาเสรีภาพทางศิลปะในหัวข้อ “Occupy The CMU Art Center”

หลังกรณีผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์สั่งเซ็นเซอร์ผลงานศิลปะที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการเมืองของนักศึกษาชั้นปี 4 ที่จะต้องจัดแสดงนิทรรศการเป็นตัวจบในหอศิลปวัฒนธรรมแห่งนี้ จนทำให้นักศึกษาต้องรวมตัวกันบุกเข้ายึดพื้นที่หอศิลป์คืนจากผู้บริหาร เพื่อตั้งติดและจัดแสดงผลงานให้ทันวันเปิดนิทรรศการภายในวันพุธที่ 20 ต.ค. นี้ โดยมีวิทยากรที่มาร่วมแลกเปลี่ยนกัน ดังนี้ สมชาย ปรีชาศิลปกุล รองศาสตราจารย์จากคณะนิติศาสตร์ ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี รองศาสตราจารย์จากคณะสังคมศาสตร์ พิภพ อุดมอิทธิพงศ์ นักแปลอิสระ มิตร ใจอินทร์ ศิลปิน และดำเนินรายการโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ อาจารย์จากสาขาวิชา Media Art and Design คณะวิจิตรศิลป์

สมชาย ปรีชาศิลปกุล : งานศิลปะที่ไม่เหลืองอร่ามและขัดต่ออุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เท่ากับงานศิลปะที่มีปัญหาในสังคมไทย

สมชาย กล่าวว่า เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและเสรีภาพของศิลปินในการแสดงงานเป็นสองส่วนที่ไม่อาจแยกออกจากกันได้ กรณีที่เกิดขึ้นในคณะวิจิตรศิลป์ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเพียงที่เดียวในสังคมไทยขณะนี้ แต่การคุมคามและความพยายามปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนและศิลปินเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน ยกตัวอย่างเช่น กรณีคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี ที่ถูกอำนาจรัฐในการถอดถอนจากตำแหน่งศิลปินแห่งชาติอย่างไม่เป็นธรรม

สมชายชี้ว่า ปรากฎการณ์ที่เรียกว่าการคุมคามการแสดงความคิดเห็นของประชาชน รวมถึงงานศิลปะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง เรามักจะเห็นผู้ที่ทำงานศิลปะหรือแสดงความคิดเห็นในลักษณะที่ไม่ต้องตรงใจของผู้มีอำนาจหรือขัดแย้งต่ออุดมการณ์ของสังคมไทยเผชิญกับปัญหามาอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นว่าการทำงานศิลปะในสังคมไทยมีเพดาที่ไม่สูงมาก เช่น การวาดภาพพระพุทธรูปที่คล้ายอุลตร้าแมนสามารถกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่ถูกห้ามได้ในสังคมไทย

งานศิลปะที่ดีย่อมส่งผลต่อผู้เสพ ทำให้ผู้เสพเกิดมุมมองและคำถามใหม่ๆ ที่ต่างไปจากเดิม ซึ่งในช่วง 5 – 10 ปีที่ผ่านมา มีผลงานศิลปะที่ทำให้เกิดคำถามใหม่ๆ หรือมุมมองที่ต่างไปจากเดิมเกิดขึ้นจำนวนมาก แต่ผลงานศิลปะที่ถูกมองว่าเป็นปัญหาคืองานศิลปะประเภทที่ไปกระทบต่อ “อุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์” แบบคับแคบ กล่าวคืองานศิลปะที่สนใจแต่เปลือกของอุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ โดยมิได้เข้าไปตั้งคำถาม

“งานศิลปะแบบเหลืองอร่ามเป็นงานศิลปะชนิดแบบที่คุณทำได้ คุณจะมองเข้าไปแล้วเห็นความเป็นไทย งดงาม ถ้าเป็นพระก็แบบเห็นพระพุทธรูปเต็มไปด้วยความเมตตา ถ้าคุณจะทำเรื่องชาติ ชาติของเราก็จะเต็มไปด้วยผู้คนที่อยู่กันอย่างโอบอ้อมอารี และงานประมาณนี้จะออกมาในสีทองๆ งานแบบนี้จะไม่มีปัญหา แต่ถ้าเมื่อไหร่เป็นงานที่ทำให้เกิดคำถามขึ้นโดยเฉพาะต่ออุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ แบบคับแคบ งานชิ้นนี้จะเป็นงานที่ต้องถูกคุมขัง ถูกปิดกั้น และงานลักษณะนี้จะถูกกำกับเป็นอย่างมาก”

รองศาสตราจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มช. กล่าวด้วยว่า งานศิลปะที่นักศึกษาทำเป็นจำนวนมากก็เป็นงานตั้งคำถามหรือนำไปสู่คำอธิบายใหม่ๆ และสิ่งนี้เป็นเรื่องใหญ่เนื่องจากหน้าที่อีกอย่างหนึ่งของงานศิลปะคือการกล่อมเกลาผู้คน ซึ่งรัฐก็จะใช้งานศิลปะกล่อมเกลาผู้คนให้อยู่ภายใต้อำนาจของตนเองแบบเชื่องๆ เมื่อใดที่มีงานศิลปะที่ไม่ได้อยู่ใต้อำนาจรัฐแบบนั้นเกิดขึ้นจึงกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่รัฐต้องจัดการ แต่ขณะเดียวกันรัฐเองก็ประสบปัญหาว่าจะจัดการกับผลงานศิลปะตั้งคำถามหรือท้าทายกับตัวเองอย่างไร

“ผมเข้าใจว่างานศิลปะจำนวนมากในไทยจะถูกอุ้มชู้โดยอำนาจรัฐเป็นส่วนใหญ่ เช่นรางวัลศิลปินแห่งชาติ คณะกรรมการที่ให้รางวัลศิลปินแห่งชาติประกอบไปด้วยปลัดกระทรวงประมาณ 12 กระทรวง มีตั้งแต่กระทรวงศึกษา กระทรวงมหาดไทย ไม่แน่ใจว่ามีกระทรวงกลาโหมด้วยหรือไม่ คุณจะให้รางวัลศิลปินแห่งชาติ แต่โดยกระทำผ่านราชการระดับสูงเป็นสำคัญ งานศิลปะที่ประสบความสำเร็จในสังคมไทยจึงอยู่ภายใต้การโอบอุ้มของอำนาจรัฐ และเมื่ออยู่ภายใต้การโอบอุ้มของอำนาจรัฐคุณตั้งคำถามต่ออำนาจรัฐไม่ได้ งานที่ออกมาจึงเป็นแบบชาติไทยนี้ดี”

ดังนั้น งานศิลปะที่จะประสบความสำเร็จในสังคมไทยจึงอยู่ภายใต้การโอบอุ้มของอำนาจรัฐและไม่คิดที่จะตั้งคำถามต่ออำนาจรัฐ ทำให้งานศิลปะที่ประสบความสำเร็จวนอยู่กับเรื่องในทำนองที่ว่าชาติไทยนี้ดี อยู่กับมาอย่างสงบ มีผู้นำที่มีความสามารถ

นอกจากนี้ปัญหาอีกประการหนึ่งของสังคมไทยคือ การไม่มีตลาดที่ใหญ่พอมาสนับสนุนผลงานศิลปะของศิลปินที่หลากหลาย ศิลปินที่ประสบความสำเร็จในสังคมไทยจำนวนมากจึงไม่ประสบความสำเร็จในบ้านเกิดตัวเอง แต่กลับไปประสบความสำเร็จในต่างประเทศ เนื่องจากรัฐเองก็ไม่มีการสนับสนุนศิลปินที่มากพอหรือทำให้ศิลปินอยู่ได้ ทั้งวงการศิลปะ ภาพยนตร์ หรือดนตรี

“ในแง่นี้จึงทำให้อำนาจรัฐมีอิทธิพลต่อการกำหนดทิศทางการทำงานศิลปะ หรือทำให้คนทำงานศิลปะของไทยมีจุดยืนที่ไม่ใหญ่มาก ถ้าเมื่อไหร่ที่คุณมีปัญหาต่ออำนาจรัฐหรือวิพากษ์วิจารณ์อำนาจรัฐปัญหาที่จะตามมาเลยคือ การถูกใช้อำนาจตามกฎหมายหรืออำนาจอื่นๆ เป็นปัญหาที่ติดตามมา” สมชายกล่าว พร้อมระบุด้วยว่า ถ้าผู้มีอำนาจรัฐไม่พอใจหรือไม่เห็นด้วยกับผลงานศิลปะที่ต่างออกไปจากอุดมการณ์แบบจารีตเป็นเรื่องที่ย่อมอาจเกิดขึ้นได้ แต่ถ้าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยต้องยอมรับว่าเป็นสิ่งเข้าใจได้ยาก เนื่องจากหลักพื้นฐานที่สำคัญของมหาวิทยาลัยคือการเป็นพื้นที่ที่เปิดกว้างให้ผู้คนแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรีและปลอดภัย ไม่เฉพาะด้านงานศิลปะ แต่มหาวิทยาลัยต้องเปิดกว้างให้ทุกสาขาวิชามีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เพื่อนำมาซึ่งความงอกงามทางปัญญาจากถกเถียง ไม่ใช่การท่องจำ ซึ่งการแสดงความคิดเห็นนั้นอาจจะถูกหรือผิดก็ได้ และมาถกเถียงกันเพื่อนำไปสู่ความเข้าใจหรือทำให้เห็นแง่มุมมองต่างๆ ของประเด็นนั้นๆ อันเป็นรากฐานสำคัญของมหาวิทยาลัยในการสร้างความรู้ กรณีการปิดกั้นผลงานศิลปะของนักศึกษาและไม่ยอมรับในเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่เกิดขึ้นภายในพื้นที่มหาวิทยาลัยจึงเป็นเรื่องที่น่าละอาย

ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี : มหาวิทยาลัยจะก้าวหน้าในระดับนานาชาติ พร้อมๆ กับการเป็นเด็กดีของรัฐเผด็จการไม่ได้

ปิ่นแก้วกล่าวชื่นชมต่อสิ่งที่นักศึกษาสาขา Media Art and Design คณะวิจิตรศิลป์ได้กระทำ ซึ่งถือเป็นส่วนของประวัติศาสตร์การยืนยันยืนหยัดรับรองสิทธิของนักศึกษาที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัย หลังจากนั้นปิ่นแก้วได้เริ่มตั้งคำถามต่อสิ่งที่เกิดขึ้นภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาว่า “จริงๆ แล้ว มหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นของใคร รับใช้ใคร และนักศึกษาอยู่ตรงไหนในมหาวิทยาลัย”

“นักศึกษาจ่ายเงินเข้ามา ไม่ได้มาเรียนฟรี ไม่ได้มาขอทานความรู้ คุณเข้ามาซื้อสินค้าที่เรียกว่า “ความรู้” แต่สิ่งที่มหาวิทยาลัยปฏิบัติกับนักศึกษา Media Art สะท้อนคำถามใหญ่ที่ว่าตกลงนักศึกษาอยู่ตรงไหนในสถาบันอุดมศึกษาแห่งนี้ ซึ่งเป็นคำถามที่สำคัญมาก ในระหว่างที่คุณ Occupy พื้นที่หอศิลป์ซึ่งควรเป็นพื้นที่ของนักศึกษา คำถามนี้จะกวนใจมากว่าสิทธิของนักศึกษาอยู่ตรงไหน”

ปิ่นแก้วอยากจะสนทนากับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยระบุว่าชนชั้นนำที่กุมทิศทางของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมามีความต้องการอยากที่จะกระทำใน 2 เรื่องด้วยกัน

หนึ่ง ชนชั้นนำที่กุมทิศทางของมหาวิทยาลัยต้องการพามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแถวหน้าของประเทศและนานชาติ ในทุกปี มช. จึงมักมีคำต่างๆ ที่ผุดขึ้นมา เพื่อเป็นฐานในการพาตัวเองไปอยู่แถวหน้า เช่น คำว่า มหาวิทยาลัยอัจฉริยะ, ล้านนาสร้างสรรค์ (ซึ่งมีรูปของคณะวิจิตรศิลป์ประกอบอยู่ในล้านนาสร้างสรรค์ด้วย) หรือการผลักดันให้คณจารย์ตีพิมพ์ผลงานลงวารสารนานาชาติ ล่าสุดผู้บริหารมหาวิทยาลัยต้องการผลักดันให้ มช. บรรลุเป้าหมายเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของ UN ได้ภายในปี 2030

สอง ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็ยังอยากที่จะเป็นเด็กดีของรัฐเผด็จการ โดยการใช้อำนาจในการควบคุมและจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกของนักศึกษาและอาจารย์ในมหาวิทยาลัยให้เหมือนกับที่รัฐเผด็จการกระทำอยู่ภายนอกมหาวิทยาลัย

“อยากที่จะเป็นเด็กดีของรัฐเผด็จการ อยากที่จะเป็นแขนขาของอำนาจนิยม เปลี่ยนมหาวิทยาลัยให้เป็นพื้นที่ของการถูกตรวจตราควบคุม หลายเรื่องเข้าใจว่านายไม่ได้สั่ง แต่ทำเอง อย่างกรณีของนักศึกษาที่โดนเซ็นเซอร์ผลงานอยู่ตอนนี้ เพื่อที่จะชี้หรือแสดงจุดยืนให้เห็นว่าเป็นเด็กดีของรัฐเผด็จการ” รองศาสตราจารย์จากคณะสังคมศาสตร์ มช. กล่าว

ทั้งสองเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ไปด้วยกันไม่ได้ มีความขัดแย้งและย้อนแย้งกันเอง เนื่องจากในมหาวิทยาลัยระดับนานาชาติเสรีภาพในการแสดงออกของนักศึกษาเป็นสิ่งสำคัญ ชนชั้นนำที่บริหาร มช. อยู่ในทุกวันนี้กำลังhypocrite หรือหลอกลวงผู้คนไปวันๆ เอาสิ่งที่ไม่จริงมาทำให้เป็นเรื่องจริง เราพบเรื่องนี้ในรายงานของมหาวิทยาลัยที่พยายามระบุว่า มช. สนับสนุนเสรีภาพทุกรูปแบบในมหาวิทยาลัย แต่กลับไปเอาภาพม็อบในมหาวิทยาลัยของนักศึกษามาลงโดยไม่ได้รับอนุญาต ถือเป็นหนึ่งในเรื่อง hypocrite ที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยทำ

นอกจากนี้ เป้าหมายของ SDGs ข้อที่ 16 คือการผดุงความเป็นธรรมและการให้ความเป็นธรรม ซึ่งเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพทางวิชาการเป็นสิ่งสำคัญที่มหาวิทยาลัยต้องมี แต่การรับรองสิทธิเหล่านี้แทบหาไม่ได้ใน มช. ส่วน SDGs ข้อที่ 4 คุณภาพของการศึกษา ขณะที่ UN กำหนดถึงเรื่องการศึกษที่เท่าเทียม ส่วน มช. พูดถึงแต่เรื่องนวัตกรรม ปิ่นแก้วตั้งข้อสังเกตว่าสิ่งเหล่านี้จะเรียกว่าการศึกษที่เท่าเทียมได้อย่างไร

กลุ่มประชาชนที่เข้าร่วมฟังเสวนา

“สิ่งที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้พยายามจะทำในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมาคือ การผลักให้มหาวิทยาลัยกลายเป็นโรงงานในการผลิตผลิตภัณฑ์ เป็นการผลิตที่ปราศจากความคิด โดยเฉพาะความคิดเชิงวิพากษ์” ปิ่นแก้ว กล่าว และยังยกตัวอย่างการรับรองสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของมหาวิทยาลัยในต่างประเทศขึ้นมาเปรียบเทียบเพื่อให้เห็นภาพ เช่น เมื่อ 2 ปีที่แล้วอธิการบดีของมหาวิทยาลัยโคลัมเบียออกมาโต้โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีของสหรัฐที่เข้ามาแทรกแซง free speech และการแสดงออกอย่างมีเสรีภาพในมหาวิทยาลัย โดยอธิการบดีของมหาวิทยาลัยโคลัมเบียยืนยันว่า ในโคลัมเบียและมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วอเมริกา ไม่ว่าความคิดเห็นที่ต่างจะเป็นขวาหรือซ้าย ความคิดเห็นเหล่านั้นถูกโต้เถียงอย่างเปิดเผยมาตลอดเวลานับทศวรรษบางกรณีผู้บริหารมหาวิทยาลัยเสียด้วยซ้ำที่เป็นคนเชิญตัวแทนฝ่ายซ้ายหรือฝ่ายขวามาพูดในมหาวิทยาลัย และมักจะมีนักศึกษาที่ไม่เห็นด้วยกับฝ่ายขวาหรือฝ่ายซ้ายไปประท้วง

อธิการบดีมหาวิทยาลัยโคลัมเบียมองว่าบรรยากาศเช่นนี้เป็นบรรยากาศของเสรีภาพ ปิ่นแก้วชี้ว่า บรรยากาศแห่งการถกเถียงได้อย่างมีเสรีเป็นสิ่งที่สำคัญ การเปิดให้มีการรับฟังเสียงที่ต่างเป็นการเสริมสร้างให้สังคมมีความอดทนหรือเปิดใจกว้างในการรับฟังเสียงที่ต่างได้ และเข้าใจว่าความต่างและการวิพากษ์เป็นพื้นฐานทั่วไปของสังคม โดยเฉพาะในสังคมมหาวิทยาลัย

“ยิ่งสังคมภายนอกหดแคบลงในการรับฟังความเห็นที่ต่าง สังคมมหาวิทยาลัยยิ่งจำเป็นต้องแสดงให้เห็นถึงพื้นที่ที่มีอยู่น้อยนิดในการรับฟังและการโต้เถียงกันของผู้คนที่เห็นต่างกัน นี่เป็นสิ่งที่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์ควรทำไม่ใช่หรือ ไม่ว่าผู้บริหารจะขวาแค่ไหน อนุรักษ์นิยมขนาดไหน นั้นเป็นรสนิยมส่วนตัว ผลิตงานศิลปะจะเหลืองอร่ามสีขนาดไหน หรือไปรับใช้ใคร นั้นก็เป็นรสนิยมส่วนตัว แต่พื้นที่ของมหาวิทยาลัยต้องรับใช้ศิลปะทุกแขนง และเปิดให้มีการโต้เถียงกัน ให้นักศึกษาได้มองเห็นความแต่ต่างหลากหลาย”

สุดท้ายปิ่นแก้วเสนอว่า ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์ควรที่จะลงมาพูดคุยวิพากษ์วิจารณ์กับผลงานศิลปะที่ไม่เห็นด้วย ไม่ใช่ทำการแบนหรือเซ็นเซอร์ผลงานศิลปะของนักศึกษา การ Occupy หอศิลป์ของนักศึกษาในครั้งนี้จึงเป็นการทำให้พื้นที่ของคณะวิจิตรศิลป์และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ไม่กลายเป็นพื้นที่ในการผลิตช่างลอกลายออกไปลอกงานตามๆ กัน

มิตร ใจอินทร์ : การ Occupy สิทธิที่เราจะยึดพื้นที่

มิตรเล่าถึงประสบการณ์การ Occupy พื้นที่ที่เคยกระทำมาก่อนให้ฟังว่า สมัยหนุ่มมิตรเคยร่วมกับผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน Occupy พื้นที่ถนนบริเวณท่าแพ โดยไม่ขออนุญาตเทศบาลหรือตำรวจ ตั้งแต่ 6 โมงเย็นจนถึง 6 โมงเช้า และเรียกเหตุการณ์ตอนนั้นว่าเป็น “มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน” หรือกรณีการไปทำ “ผ้าป่าเที่ยงคืน” โดยปีนเข้ารั้ววัด 7 วัดในเมืองเชียงใหม่ ตั้งแต่วัดอุปคุตจนถึงวัดพระสิงห์ เพื่อบอกว่าเรามีสิทธิธรรม (ไม่ใช่นิติธรรม) ที่จะเข้าไปตรวจสอบวัดตอนเที่ยงคืนได้ วัดเป็นของประชาชน ถนนเป็นของประชาชน ประชาชนสามารถใช้ได้ เราไม่ได้เข้าไป Occupy สถานที่เหล่านี้ทั้งปี

นอกจากนี้มิตรเคยใช้วิธีอดอาหาร 5 วัน เพื่อประท้วงกฎหมายมาตรา 112 หลังจากที่อากงถูกดำเนินคดี โดยเขากว่าวว่า 10 ปีหลังจากที่ชูประเด็นนี้ขึ้นมา เมื่อไม่นานมานี้ยังมีนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ถูกดำเนินคดี 112 ไปกีดอกตัวเองเป็นตัวเลข 112 ที่หน้าสถานีตำรวจ

มิตรมองว่าการที่นักศึกษา Occupy พื้นที่ครั้งนี้ ก็เพื่อที่จะนำมาใช้เป็นพื้นที่ทางศิลปะ นักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์รุ่นนี้เผชิญกับปัญหาไม่มีโอกาสได้ติดตั้งผลงานศิลปนิพนธ์ของตนมาเป็นระยะเวลาเกือบเดือน ขณะที่รุ่นที่แล้วถูกโกงงบการแสดงจาก 150,000 บาท เหลือแค่ 5,000 บาท   

“สมัย 6 ตุลา มีปรากฏการณ์ขวาพิฆาตซ้าย มีขวาพิฆาตซ้ายในเชียงใหม่โดนยิงตาย ผมโมโหมากที่ความกระจอกนี้มันลุกลามขึ้นมากลั่นแกล้ง กดขี่ข่มเหงเด็กนักศึกษาและศิลปะด้วย”

“ขณะวิจิตรสิ้น” ไปแล้ว หากผู้บริหารไม่สามารถต่อกรกับนักศึกษาได้ เพราะความกลัวและใช้อำนาจอย่างไร้เหตุผลได้ถึงเพียงนี้ สิ่งที่เราทำได้คือการช่วยเหลือให้นักศึกษาที่รับผลกระทบจากการใช้อำนาจนี้ให้สามารถแสดงผลงานศิลปนิพนธ์ของเขาได้ เพื่อที่เขาจะได้สำเร็จการศึกษาต่อไป

“เด็กถูกกลั่นแกล้งมาทั้งปี โดนขโมยงาน โดนแจ้ง 112 แม้กระทั่งนักวิจารณ์ศิลปะที่กรุงเทพก็ยังโดนแจ้งความ โดยคนกลุ่มเดียวกัน” มิตร กล่าว พร้อมระบุว่า   การ Occupy เป็นยุทธวิธีที่นักศึกษาส่วนมากในต่างประเทศมักใช้กันในตะวันตก นักศึกษามีสิทธิที่จะใช้พื้นที่ภายในมหาวิทยาลัยของพวกเขา และมีเสรีภาพในการแสดงออก หากพื้นที่มหาวิทยาลัยที่เขาเรียนไร้ซึ่งเสรีภาพในการแสดงออกย่อมเป็นปัญหาของศิลปะในทันที

“เพราะสถานการณ์จำเป็นเฉพาะหน้าครูบาอาจารย์และนักศึกษาถึงต้องพังประตูเข้ามาใช้สถานที่ซึ่งเป็นของเขา พื้นที่ตรงนี้เขาเช่าจากมหาวิทยาลัย เขาจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเทอมถูกต้อง แต่ใครมีอำนาจที่จะมาปิด มาห้ามพวกเขาที่จะใช้ และรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งที่พวกเขาจะแสดงขัดต่อกฎหมายความมั่นคงหรือศีลธรรมอันดี เขารู้ได้อย่างไร” มิตร กล่าว

พิภพ อุดมอิทธิพงศ์ : เสรีภาพในการแสดงออกเป็นสิทธิที่เก่าแก่ที่สุดในโลก

พิภพ กล่าวถึงปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นต่อนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ว่า เป็นเรื่องที่น่าสะเทือนใจ เนื่องจากมหาวิทยาลัยควรจะเป็นบ่อน้ำที่ดับกระหายทางปัญญาของนักศึกษาและควรจะเป็นพื้นที่ที่มีเสรีภาพมากที่สุด การปฏิวัติในโลกนี้หลายเหตุการณ์เกิดขึ้นในพื้นที่มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นของคนหนุ่มสาว อาทิ การต่อต้านสงครามเวียดนามในอเมริกา เหตุการณ์ 14 ตุลา หรือ 6 ตุลา ในสังคมไทยก็ล้วนแต่มีจุดเริ่มต้นขึ้นที่มหาวิทยาลัยทั้งนั้น

“คนที่บอกว่าการเมืองไม่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัย คือคนหน่อมแน้มและตกยุค การปิดกั้นไม่ให้นักศึกษาแสดงผลงานถือเป็นการละเมิดเสรีภาพด้านการแสดงออก freedom of expression ผมคิดว่า freedom of expression แทบจะเป็นสิทธิที่เก่าแก่ที่สุดในโลก”

พิภพกล่าวว่า ในยุคกรีกโบราณก่อนคริสตกาลเป็นพันปีมนุษย์มีสภา มีกฎ มีกติกา ในการกำหนดให้บุคคลสามารถแสดงความคิดเห็นได้ทุกเรื่อง ขณะที่ในปัจจุบันกฎหมายระหว่างประเทศทุกฉบับ ตั้งแต่ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนไปจนถึงกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และรัฐธรรมนูญแทบทุกประเทศ รวมถึงประเทศไทยต่างรับรองเสรีภาพในการแสดงออกไว้ การปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงที่เกิดขึ้นในคณะวิจิตรศิลป์จึงเป็นเรื่องย้อนยุคไปไกลตั้งแต่ก่อนยุคกรีก

 

“น่าเสียดายที่ทำไมในสถาบันการศึกษาระดับนี้ยังมีการปิดกั้นเสรีภาพด้านการแสดงออก อีกคนหนึ่งอาจจะบอกว่า ถ้าคุณไม่คุม เขาก็จะไปดูหมิ่นคนอื่น ผมคิดว่าประเด็นมันอยู่ที่ว่าการดูหมิ่นเป็นเสรีภาพในการแสดงออกหรือเปล่า ในอเมริกาคุณเอาธงชาติมาเผา เพื่อประท้วงได้ ไม่มีความผิด ศาลฎีกาเคยตัดสินไว้ว่าไม่ผิด เพราะว่าเป็นเสรีภาพในการแสดงออกที่ได้รับการคุ้มครองไว้ใน First Amendment”

นอกจากนี้ พิภพยังหยิบยกการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งที่ 1 ของอเมริกา เพื่อรับรองเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนขึ้นมาเป็นตัวอย่าง เพื่อทำให้เห็นว่าการเผาธงชาติเพื่อประท้วงในอเมริกาเป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ผิดกฎหมาย เนื่องจากมีรัฐธรรมนูญรับรองและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพไว้ เหตุการณ์ที่เป็นที่มาของคำวินิจฉัยของศาลฎีกาฉบับนี้คือ ราว ค.ศ. 1984 มีสมาชิกพรรคริพับลิกันคนหนึ่งซึ่งไม่พอใจพรรคไปยืนประท้วง และแสดงออกโดยการเผาธงชาติอเมริกาเป็นสัญลักษณ์ เขาถูกตำรวจจับและศาลในระดับรัฐตัดสินว่าสมาชิกพรรคริพับลิกันคนดังกล่าวมีความผิด ต่อมาเขายังแพ้คดีในชั้นอุทธรณ์ เมื่อเรื่องถึงศาลฎีกาเขากลับชนะในคดีด้วยเสียง 5 ต่อ 4 ศาลมีความเห็นว่า

“แม้การแสดงออกด้านเสรีภาพของเขาอาจจะทำให้บางคนสะเทือนใจ เพราะว่าธงชาติเป็นสัญลักษณ์สูงสุดสำหรับหลายคน แต่ศาลเห็นว่าแค่การทำให้เกิดความสะเทือนใจนั้นไม่ถึงขั้นที่จะต้องไปปิดกั้นการแสดงออกของเขา”

ถือเป็นบรรทัดฐานในการตีความอย่างกว้างของศาลฎีกาในอเมริกาต่อกรณีดูหมิ่น ผิดกับศาลไทยที่การตีความคำว่าดูหมิ่นยังเปราะบาง ทำให้มีคดีหมิ่นประมาทเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ยกตัวอย่างเช่น หลายคนที่โดนคดี 112 ไม่รับการประกันตัว เพราะสร้างความสะเทือนใจให้กับประชาชนบางส่วน ขณะที่ศาลฎีกาในอเมริกาพิจารณาที่เจตนาของตัวผู้กระทำเป็นสำคัญ หากผู้กระทำไม่ได้มีเจตนาที่จะดูหมิ่นชาติแต่กระทำไปเพื่อการประท้วง โดยมีธงชาติเป็นองค์ประกอบหนึ่งของการประท้วง การเผาธงชาติจึงกระทำได้ไม่ถือเป็นการดูหมิ่นชาติ

“คำว่าการดูหมิ่น คุณอาจจะคิดว่าการที่นักศึกษาออกมาอะไร เขาจะไปดูหมิ่นใคร ความจริงมันก็เป็นความรับผิดชอบของนักศึกษาแต่ละคนอยู่แล้ว คุณไปยุ่งอะไรกับเขา”

พิภพตั้งคำถามว่าเหตุใดจึงต้องปิดกั้นแสดงผลงานศิลปะของนักศึกษา เพราะหากผลงานักศึกษาไปกระทบหรือเป็นการดูหมิ่นให้ผู้ใดผู้หนึ่งเกิดความเสียหายก็เป็นเรื่องที่นักศึกษาแต่ละคนต้องรับผิดชอบเป็นการส่วนตัว ผู้บริหารคณะไม่จำเป็นต้องเดือดร้อนไปก่อนนักศึกษา แต่ควรเคารพต่อเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งเป็นสิทธิที่เก่าแก่ที่สุดในโลกและเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาธิปไตย

“การพูดได้ทุกเรื่องเป็นพื้นฐานของประชาธิปไตย ความแตกต่างระหว่างประชาธิปไตยกับเผด็จการอยู่ที่ตรงนี้ เผด็จการคุณพูดได้บางเรื่องที่เขาอยากให้คุณพูด แต่ประชาธิปไตยคุณพูดได้ทุกเรื่อง” พิภพ กล่าว พร้อมระบุว่า  ในอเมริกายังเคยมีกรณี occupy wall street ที่โด่งดังเมื่อปี 2011 หลังอเมริกาเริ่มมีปัญหาการเงิน ธนาคารล่ม และเกิดผลกระทบด้านเศรษฐกิจมาตั้งแต่ช่วง 2008 จนถึงช่วงปี 2011 ผู้คนเริ่มตระหนักมากขึ้นต่อการที่รัฐอุ้มคนรวย ปล่อยทิ้งคนจน และความไม่เท่าเทียมเกิดขึ้น กลุ่มคนที่รณรงค์ต่อต้านบริโภคนิยมในนาม แอดบัสเตอร์ส (Adbusters) จึงได้เริ่ม Occupy สวนใจกลางในนิวยอร์กและตั้งแคมป์อยู่ในสวนเป็นเวลา 2 เดือนกว่า เพื่อแสดงจุดยืนต่อการประท้วงอย่างต่อเนื่องต่อปัญหาความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้นจากระบบทุนนิยม และนำไปสู่การเคลื่อนไหวอย่างอื่นๆ และกระบวนการทางสังคมที่ตามมา การ occupy wall street เป็นการชี้ให้เห็นว่าระบบทุนนิยมยิ่งพัฒนาไปเท่าไหร่ ความไม่เท่าเทียมในสังคมก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งต่อมาการประท้วงด้วยวิธีการแบบการ Occupy ก็ได้กระจายตัวออกไปในหลายที่ การ Occupy จึงถือเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวในเชิงสัญลักษณ์ เพื่อให้สามารถไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้  เรื่องที่สำคัญกว่าการ Occupy จึงต้องพุ่งเป้าไปว่า ผู้กระทำการ Occupy ต้องการอะไรในเชิงอุดมคติ

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net