Skip to main content
sharethis

เครือข่ายสิทธิฯ เตรียมร้องคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน ยูเอ็น (UNHRC) 11 พ.ค. นี้ กรณีกรมอุทยานฯ ตั้ง ‘ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร’ คุมอุทยานทั่วประเทศ ทั้งที่มีคดีละเมิดสิทธิฯบังคับบุคคลสูญหาย พื้นที่กะเหรี่ยงแก่งกระจาน

3 พ.ค. 2559 เครือข่ายองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและองค์กรภาคประชาสังคม 25 องค์กร ร่วมแถลงการณ์คัดค้านกรณีกรมอุทยานแห่งชาติฯ แต่งตั้ง ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการจัดการต้นน้ำ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 (ปราจีนบุรี) เป็นหัวหน้าชุดพญาเสือ ศูนย์ปฏิบัติการพิเศษผู้พิทักษ์อุทยานแห่งชาติและสัตว์ป่า โดยระบุว่าจะร้องต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (UNHRC)  ในเวทีทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทย (Universal Periodical Review: UPR) ในวันที่ 11 พ.ค.นี้ ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อให้รัฐบาลและกรมอุทยานฯ ทบทวนคำสั่งและแนวนโยบายที่ยอมให้บุคคลที่มีประวัติการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะต่อกลุ่มชาติพันธุ์ชนเผ่าพื้นเมืองรับหน้าที่สำคัญเกี่ยวกับการอนุรักษ์พื้นที่ป่า  ซึ่งมีแนวโน้มว่าเป็นการใช้ความรุนแรงในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยไม่คำนึงถึงหลักการด้านสิทธิมนุษยชนดังที่เคยปฏิบัติต่อกลุ่มชาติพันธุ์กระเหรี่ยงในพื้นที่ป่าแก่งกระจานจนเป็นสาเหตุให้มีการฟ้องร้องคดีปกครองเรียกร้องค่าเสียหาย 

“การตัดสินใจให้ชัยวัฒน์ ได้รับการแต่งตั้งที่มีหน้าที่ปราบปรามการลักลอบทำลายป่าอุทยานทั่วประเทศในครั้งนี้ ส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองและทำให้มีแนวโน้มว่าภารกิจปกป้องผืนป่าที่เข้มข้นขึ้นของกรมอุทยานฯนั้นอาจมีการใช้ความรุนแรงถึงขั้น ขับไล่ เผ่าทำลาย การคุมคามนักต่อสู้ปกป้องสิทธิชุมชน หรือการบังคับให้บุคคลสูญหาย เป็นต้น  อีกทั้งการที่ชัยวัฒน์ฯอ้างว่าคดีความทั้งทางปกครองและอาญาต่างๆ ได้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ทั้งหมดแล้วนั้นไม่เป็นความจริง” แถลงการณ์ระบุ

ทั้งนี้ แถลงการณ์ระบุคดีที่ชัยวัฒน์ถูกฟ้อง ได้แก่ คดีอาญาร้ายแรงต้องหาว่ากระทำความผิดอาญาและถูกสอบสวน  ซึ่งเป็นคดีความอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง จำนวน 2 คดี ศาลจังหวัดเพชรบุรี 1 คดี รวม 3 คดี  มีการแจ้งความร้องทุกข์ กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรแก่งกระจาน  3 เรื่อง  ซึ่งอยู่ระหว่างถูกสอบสวนคดีอาญาโดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.)  2 เรื่อง  และการยื่นหนังสือฉบับเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2559 ต่ออธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช 1 ฉบับ รวมทั้งสิ้น 7 เรื่อง  (อ่านแถลงการณ์ด้านล่าง)


กรมอุทยานแจง ชัยวัฒน์ ‘บริสุทธิ์ทุกคดี’ 

ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวเดลินิวส์ รายงานว่า ที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) ธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ แถลงข่าวเปิดตัวและประกาศตั้งศูนย์ปฏิบัติการพิเศษผู้พิทักษ์อุทยานแห่งชาติ และสัตว์ป่า ชุดปฏิบัติการพญาเสือ โดยมีชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ทำหน้าที่หัวหน้าชุดพญาเสือ และ ประวัติศาสตร์ จันทร์เทพ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติปางสีดา จ.สระแก้ว เป็นรองหัวหน้าทีม นอกจากนี้ได้คัดเลือกผู้เชี่ยวชาญด้านแผนที่พิกัดจีพีเอส และผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายจากสำนักอุทยานทั่วประเทศมาร่วมทีม รวมทั้งหมด 21 คน

กรณีการแต่งตั้งชัยวัฒน์เป็นหัวหน้าทีมปฏิบัติการจะทำให้เป็นปัญหากับชนกลุ่มน้อยชาวกะเหรี่ยงหรือไม่ ธัญญา กล่าวว่า ตามข้อกฎหมายคดีของชัยวัฒน์ ได้ผ่านการต่อสู้และพิสูจน์ความบริสุทธิ์ทุกคดีเรียบร้อยแล้ว ส่วนความไม่พอใจของชาวกะเหรี่ยงนั้น ความจริงแล้วมีชาวกะเหรี่ยงที่สนับสนุนชัยวัฒน์ รวมทั้งอยากให้ชัยวัฒน์ กลับเข้าทำงานที่เดิมมากกว่าคนที่ไม่ชอบด้วยซ้ำ จึงไม่มีความกังวลในเรื่องนี้ เพราะชัยวัฒน์เป็นคนที่ตั้งใจทำงาน และน่าจะปฏิบัติภารกิจนี้ได้เป็นอย่างดี 

ธัญญา กล่าวถึงการปฏิบัติการของทีมพญาเสือว่า จะเน้นการปราบปราบการบุกรุกป่ารายใหญ่เป็นกลุ่มผู้มีอิทธิพล ทั่วประเทศ ซึ่งกรมอุทยานฯ จะให้การสนับสนุนทั้งงบประมาณ เครื่องมือปฏิบัติการ อาวุธ อุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยอย่างเต็มที่ คาดว่าพื้นที่แรกจะลงดำเนินการภายในสัปดาห์หน้าจะเป็นพื้นที่ภาคใต้และตะวันออก แต่ยังเปิดเผยไม่ได้ว่าจังหวัดได้

 

แถลงการณ์ร่วม
เครือข่ายสิทธิฯ เตรียมร้องคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (UNHRC) ในเวที UPR
กรณีตั้งผู้ละเมิดสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองเป็นหัวหน้าชุด “พญาเสือ” คุมอุทยานทั่วประเทศ
ยุติแนวโน้มการใช้ความรุนแรงในการรักษาพื้นที่ป่า


จากการที่วันนี้อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช นายธัญญา เนติธรรมกุล ได้จัดแถลงข่าวเปิดตัวชุดเฉพาะกิจพญาเสือ แก้ปัญหาบุกรุกพื้นที่ป่าและลักลอบตัดไม้ เน้นทำงานเชิงรุก และขึ้นตรงกับอธิบดีกรมอุทยานฯ โดยกำหนดให้นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร เป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติการพิเศษ “พญาเสือ” ที่ทำหน้าที่ปราบปราม จับกุมผู้กระทำผิดในพื้นที่อุทยานฯได้ทั่วประเทศ โดยรับคำสั่งและขึ้นตรงกับอธิบดีกรมอุทยานฯ และไม่ต้องขึ้นตรงกับผู้อำนวยการส่วนพื้นที่เหมือนที่ผ่านมา อีกทั้งยังอ้างว่าการดำเนินการดังกล่าวสนองนโยบายทวงคืนผืนป่าของรัฐบาลปัจจุบันเพื่อให้ได้พื้นที่ป่าเพิ่ม

เครือข่ายองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและองค์กรภาคประชาสังคมตามรายนามด้านล่างนี้ขอประท้วงและเตรียมร้องคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ ในเวทีทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทย Universal Periodical Review (UPR) ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2559 ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์เพื่อให้รัฐบาลและกรมอุทยานฯ ทบทวนคำสั่งและแนวนโยบายที่ยอมให้บุคคลกรที่มีประวัติการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะต่อกลุ่มชาติพันธุ์ชนเผ่าพื้นเมืองรับหน้าที่สำคัญเกี่ยวกับการอนุรักษ์พื้นที่ป่า ซึ่งมีแนวโน้มว่าเป็นการใช้ความรุนแรงในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยไม่คำนึงถึงหลักการด้านสิทธิมนุษยชนดังที่เคยปฏิบัติต่อกลุ่มชาติพันธุ์กระเหรี่ยงในพื้นที่ป่าแก่งกระจานจนเป็นสาเหตุให้มีการฟ้องร้องคดีปกครองเรียกร้องค่าเสียหาย

การตัดสินใจให้นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษรได้รับการแต่งตั้งที่มีหน้าที่ปราบปรามการลักลอบทำลายป่าอุทยานทั่วประเทศในครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองและทำให้มีแนวโน้มว่าภารกิจปกป้องผืนป่าที่เข้มข้นขึ้นของกรมอุทยานฯนั้นอาจมีการใช้ความรุนแรงถึงขั้น ขับไล่ เผ่าทำลาย การคุมคามนักต่อสู้ปกป้องสิทธิชุมชน หรือการบังคับให้บุคคลสูญหาย เป็นต้น อีกทั้งการที่นายชัยวัฒน์ฯอ้างว่าคดีความทั้งทางปกครองและอาญาต่างๆ ได้พิสูจน์ความบริสุทธ์ทั้งหมดแล้วนั้นไม่เป็นความจริง

เครือข่ายองค์กรตามรายนามด้านล่างนี้เห็นว่างานด้านการอนุรักษ์ป่าและการปราบปรามการลักลอบตัดไม้ทำลายป่ามีหลายมิติและมีความอ่อนไหว แม้ว่าจะอ้างถึงการปราบปรามผู้มีอิทธิพลแต่ในสถานการณ์จริงมีกลุ่มประชากรที่เป็นชนเผ่าชาติพันธุ์ชนเผ่าพื้นเมืองจำนวนมากอยู่อาศัยในพื้นที่ป่าและพื้นที่อุทยานทั่วประเทศ 

เครือข่ายฯ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลและอธิบดีกรมอุทยานฯ พิจารณายกเลิกคำสั่งที่มอบให้นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษรรับหน้าที่สำคัญนี้และขอให้คัดเลือกบุคคลกรที่มีแนวทางการทำงานบนพื้นฐานของการเคารพต่อหลักการด้านสิทธิมนุษยชนและในการพิทักษ์รักษาป่า รวมทั้งมีแนวทางการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งอย่างสันติวิธีเป็นกรอบการทำงานที่ชัดเจน มีการอำนวยความเป็นธรรม ต่อประชาชนและเอื้อประโยชน์ต่อการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติของชาติที่ยั่งยืน

การที่เครือข่ายองค์กรฯจะร้องเรียนต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (UNHRC) เนื่องจากที่ผ่านมาเครือข่ายองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและองค์กรภาคประชาสังคมได้ยื่นหนังสือเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2559 แต่ไม่มีการตอบรับและกลับมีการแต่งตั้งนายชัยวัฒน์ฯ ในวันนี้  ข้อเรียกร้องของเครือข่ายฯ มีดังนี้คือขอเรียกร้องให้ทางอุทยานแห่งชาติโดยอธิบดีกรมอุทยานฯ ได้ดำเนินตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ที่ให้อำนาจผู้บังคับบัญชาในการสั่งพักราชการ หรือสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนเพื่อรอฟังผลการ สอบสวน หรือพิจารณาหรือผลแห่งคดีในกรณีที่ข้าราชการพลเรือนสามัญ นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร เนื่องจากถูกฟ้องคดีอาญาร้ายแรงต้องหาว่ากระทำความผิดอาญาและถูกสอบสวน ซึ่งเป็นคดีความอยู่ระหว่าง การพิจารณาของศาลปกครองกลาง จำนวน 2 คดี ศาลจังหวัดเพชรบุรี 1 คดี รวม 3 คดี มีการแจ้งความร้องทุกข์ กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรแก่งกระจาน 3 เรื่อง ซึ่งอยู่ระหว่างถูกสอบสวนคดีอาญาโดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) 2 เรื่อง และการยื่นหนังสือฉบับเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2559 ต่ออธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช 1 ฉบับ ในห้วงเวลาที่ครบรอบสองปีการหายตัวไปของนายบิลลี่ หรือพอละจี รักจงเจริญ ภายหลังการจับกุมของนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษรเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 ซึ่งรวมทั้งสิ้น 7 เรื่องในขณะนี้ ดังนี้การที่นายชัยวัฒน์ฯอ้างว่าคดีความต่างๆ ได้พิสูจน์ความบริสุทธ์ทั้งหมดแล้วนั้นไม่เป็นความจริง

ในหนังสือฉบับลงวันที่ 7 เมษายน 2559 ดังกล่าวที่ยื่นต่ออธิบดีกรมอุทยานฯนั้นอ้างถึงเหตุผลทั้งความจำเป็นที่จะคงไว้ซึ่งหลักการด้านการอำนวยความเป็นธรรมต่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบต่อนโยบายและการบริหารจัดการบุคคลกรของรัฐโดยเฉพาะต่อการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติของชาติให้เป็นสมบัติของชาติและของโลก และในขณะเดียวกันเป็นต้องเป็นการคุ้มครองสิทธิของประชาชนที่อยู่อาศัยเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมในพื้นที่อนุรักษ์ภายใต้หลักการสากลด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานกำลังถูกเสนอชื่อเป็นพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติภายใต้กรอบของยูเนสโกเป็นอันเป็นความภาคภูมิใจของประเทศไทยอย่างสมภาคภูมิ

องค์กรร่วมลงนาม
1. เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย
2. เครือข่ายการจัดการสิ่งแวดล้อมบนพื้นที่สูง
3. เครือข่ายการศึกษาชนเผ่าพื้นเมือง
4. เครือข่ายเยาวชนต้นกล้าชนเผ่าพื้นเมือง
5. เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง
6. เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมเขตงานตะนาวศรี
7. ศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา
8. สมาคมนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน
9. มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
10. มูลนิธิไทยเพื่อคนมีปัญหาสิทธิและสถานะบุคคล
11. มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน
12. เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม
13. มูลินิธิรักษ์ไทย(ภาคเหนือ)
14. มูลนิธิภูมิปัญญาชาติพันธุ์
15. มูลนิธิภูมิปัญญาชนเผ่าพื้นเมืองบนพื้นที่สูง
16. มูลนิธิชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อการศึกษาและสิ่งแวดล้อม
17. มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา
18. ศูนย์สังคมพัฒนา สังฆมณฑลเชียงใหม่
19. สมาคมปกาเกอะญอเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
20. หน่วยงานพัฒนาและบริการสังคม สภาคริสตจักรแห่งประเทศไทย
21. สมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย
22. ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น
23. โรงน้ำชา (TEA-togetherness for Equality and Action)
24.สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน
25. โครงการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net