ยิ่งลักษณ์กล่าวที่เจนีวา: ขอปกป้องประชาธิปไตยจากผู้มีจิตใจไม่เป็นประชาธิปไตย

นายกรัฐมนตรีกล่าวในที่ประชุม UNHRC ว่าสิทธิมนุษยชนเป็นหัวใจของประชาธิปไตย ไทยผ่านการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยหลายทศวรรษแต่การเดินทางยังไม่ราบรื่น จึงต้องปกป้องประชาธิปไตยจากผู้มีจิตใจไม่เป็นประชาธิปไตย ด้าน "สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล" ฟังจนจบก่อนโพสต์บอกตรงๆ "ไม่ปลื้มนะครับ"

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในที่ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) ที่เจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อ 9 กันยายน 2556 (ที่มา: เฟซบุ๊ก Yingluck Shinawatra)

 

วันนี้ (9 ก.ย.) ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวปาฐกถาต่อที่ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 24 โดยมีการถ่ายทอดสดและบันทึกวิดีโอลงในเว็บไซต์ของสหประชาชาติ โดยรายละเอียดของปาฐกถาซึ่งเผยแพร่ในเพจ Yingluck Shinawatra ด้วย มีดังนี้

000

คำกล่าวนายกรัฐมนตรี ต่อที่ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 24

9 กันยายน 2556

ท่านประธานฯ
ท่านผู้อำนวยการฯ
ท่านข้าหลวงใหญ่ฯ
ท่านผู้มีเกียรติ
สุภาพบุรุษและสุภาพสตรี

"ดิฉันรู้สึกยินดีที่ได้มีโอกาสมาเยือนสำนักงานสหประชาชาชาติ ณ นครเจนีวา แห่งนี้

ดิฉันรู้สึกเป็นเกียรติที่เป็นนายกรัฐมนตรีไทยคนแรกที่ได้มากล่าวต่อที่ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน ดิฉันภาคภูมิใจที่ประเทศไทยมีส่วนร่วมของคณะมนตรีฯ ซึ่งก็เป็นเพียงส่วนเล็กๆเมื่อเทียบกับสำเร็จและความท้าทายต่างๆของท่านทั้งหลายในที่นี้ ที่เกี่ยวข้องในงานด้านสิทธิมนุษยชน

การมาประชุมครั้งนี้ ทำให้ดิฉันระลึกถึงความสำคัญของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal of Declaration of Human Rights)  ซึ่งมีการรับรองเมื่อ 65 ปีที่แล้ว คำว่า “ มนุษย์ทุกคนต่างเกิดมาอย่างเสรี และมีสิทธิและศักดิ์ศรีที่เท่าเทียมกัน” หมายความว่าประชาชนต่างเกิดมาด้วยสิทธิที่เท่าเทียมที่ไม่มีรัฐบาลไหนสามารถปฏิเสธได้

แต่เหตุการณ์ในซีเรีย และที่ต่างๆ แสดงให้เห็นว่าความเป็นจริงนั้นเป็นสิ่งที่แตกต่างไป  

ความท้าทายของการรักษาสิทธิของประชาชนยังคงน่าเป็นห่วง  แต่ประวัติศาสตร์เตือนเราว่าผู้ถูกกดขี่จะลุกขึ้นสู้ และพวกเราที่เชื่อในเสรีภาพจะต้องสามัคคีรวมตัวกันเป็นหนึ่งเพื่อสนับสนุน และในปัจจุบันที่เป็นยุคของการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสารตลอดจนโซเชียลมีเดียต่างๆ ผู้ถูกกดขี่มีเครื่องมือใหม่ที่จะแสดงออกถึงความปรารถนาที่จะเปลี่ยนแปลง และรัฐบาลที่ไม่ตอบสนองต่อความปรารถนาของประชาชน ย่อมต้องเผชิญผลกระทบของการปฏิบัติการในการปกป้องคุ้มครองความคิดที่อิสระเสรี หลายคนต่างตั้งความหวังไว้ที่คณะมนตรีสิทธิมนุษยชน และประเทศไทยยินดีที่เห็นคณะมนตรีฯนี้รับแก้ปัญหาความท้าทายต่างๆในหลากหลายโอกาส

การแก้ปัญหาสภาพความกดดันต่อสิทธิมนุษยชนนั้นมีความสำคัญที่คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนจะต้องแสดงข้อกังวลและการตอบสนองอย่างเป็นเอกภาพ การเปลี่ยนแปลงไม่สามารถบรรลุผลได้เพียงชั่วข้ามคืน แต่รัฐบาลต้องถูกตรวจสอบและตอบสนองอย่างรับผิดชอบ ทั้งนี้ เมื่อรัฐบาลใดประสบความล้มเหลว ชุมชนระหว่างประเทศไม่สามารถทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นได้

สถานการณ์เหล่านี้ไม่สามารถแก้ไขด้วยมติที่ประชุมแต่เพียงลำพัง คำพูดต่างๆทำให้เกิดความรู้สึกที่ดี แต่ด้วยการดำเนินการเท่านั้น ที่สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง ความท้าทายของเราคือ เราจะสร้างผลลัพธ์ที่จริงจังและนำมาซึ่งความแตกต่างในชีวิตของประชาชนหรือไม่ สิ่งนี้ต้องมีการเจรจาหารืออย่างจริงจังและมีพันธสัญญาต่อกันในการปฏิบัติการ

เป็นเรื่องจริงเช่นกันที่ว่า หลายประเทศขาดศักยภาพที่จะรับประกันการเคารพต่อสิทธิมนุษยชนและในการป้องกันความรุนแรงนั้น เราต้องส่งเสริมขีดความสามารถของรัฐบาลให้มากกว่าที่เป็นอยู่

นื่คือเหตุผลว่าทำไมประเทศไทยจึงได้เสนอข้อริเริ่มประจำปีเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการและสร้างศักยภาพในงานของคณะมนตรีฯ  และเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยสนับสนุน Voluntary Fund for Technical Cooperation in the Field of Human Rights ซึ่งการสนับสนุนนี้เป็นการเพิ่มจากการสนับสนุนประจำปีที่ให้กับงานของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ (Office of the High Commissioner) ซึ่งเราหวังว่าประเทศต่างๆจะได้สนับสนุนและดำเนินการร่วมกันให้มากขึ้น

การเรียกร้องให้ทุกส่วนดำเนินการให้มากขึ้นและดียิ่งขึ้น ดิฉันไม่ได้หมายถึงเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะสิทธิทางการเมืองและพลเมือง ที่รวมถึงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่เรายังต้องแก้ปัญหาสิทธิทางสังคมและวัฒนธรรม และหาทางเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจสำหรับทุกคน เราจะต้องไม่ยอมรับการกีดกันแบ่งแยกในความไม่เท่าเทียมกัน

ในการนี้ คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนควรภาคภูมิใจกับความสำเร็จของ The Universal Periodic Review หรือ UPR ซึ่งถือเป็น เพชรยอดมงกุฏ ท่ามกลางเครืองมือของคณะมนตรีฯในการพัฒนางานสิทธิมนุษยชนโดยมีเป้าหมายคือ ทุกประเทศได้รับการตัดสินภายใต้มาตรฐานเดียวกัน ไม่มีใครที่มีความสมบูรณ์ แต่เราสามารถทำงานร่วมกันเพื่อปรับปรุงตนเอง

ประเทศไทยได้ดำเนินการตามกระบวนการ UPR เป็นเวลาเกือบ 2 ปีแล้ว และในการดำเนินการนี้ เราผ่านการประเมินตนเองและเราได้ดำเนินการแก้ปัญหาในประเด็นที่มีการแนะนำไว้อย่างต่อเนื่อง โดยมีความก้าวหน้าตามข้อเสนอที่เป็นที่ยอมรับและเราจะทำให้ดียิ่งขึ้น

ท่านประธานฯ

เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ประเทศไทยมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมากในเรื่องสิทธิมนุษยชน ของทุกคน แต่เราก็ตระหนักดีว่า ผู้ที่ขาดสิทธิขาดเสียงและผู้ที่มีความเปราะบางยังปรากฏอยู่รายรอบ

สตรีและเด็กยังคงตกเป็นเหยื่อของความไม่เท่าเทียม ความด้อยโอกาสและการปฏิบัติที่ทารุณโหดร้าย การค้ามนุษย์เป็นปัญหที่าสร้างความเจ็บปวดเสียหายทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก และมีผู้พิการอีกจำนวนมากยังไม่สามารถใช้ศักยภาพของตนเองได้อย่างเต็มที่

เมื่อดิฉันเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทย ดิฉันรู้สึกว่ายังมีผู้คนอีกหลายกลุ่มที่ยังไม่ได้รับสิทธิและโอกาสที่เท่าเทียมด้วยถูกจำกัด ดังนั้นดิฉันจึงสัญญาว่าจะทุ่มเททำงานเพื่อสร้างสิ่งที่ดีกว่าให้กับพวกเขาเพื่อสร้างโอกาสที่เท่าเทียมสำหรับทุกคน

ดิฉันได้ริเริ่มกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เพื่อให้สตรีได้ใช้ศักยภาพที่เต็มเปี่ยม กองทุนได้จัดให้สตรีในชุมชนทั่วประเทศมีโอกาสที่จะพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ และสร้างโอกาสที่เท่าเทียม

นอกจากนี้ เราได้ตั้ง One Stop Crisis Centres (OSCC) เพื่อให้มีการปฏิบัติการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำหรับผู้ที่เดือดร้อน ทั้งจากการคุกคามทางเพศ ความรุนแรงภายในครอบครัว และการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น

โครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศแรกๆที่ได้ดำเนินการ และมีมามากกว่า 10 ปี โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการทางสาธารณสุขที่มีคุณภาพ ทั้งนี้ มีการพัฒนายกระดับในเรื่องของสิทธิประโยชน์และการคุ้มครอง

ในทำนองเดียวกัน ดิฉันเพิ่งจัดให้มีการประชุมปฏิบัติการกับองค์กรระหว่างประเทศหลายแห่ง และมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงแนวทางที่จะทำงานร่วมกันในการดูแลแรงงานต่างด้าว รวมทั้ง การแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ รัฐบาลไทยได้ส่งเสริมให้แรงงานต่างด้าวจดทะเบียน เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองภายใต้หลักประกันสุขภาพ การลงทะเบียนยังจะช่วยป้องกันแรงงานต่างด้าวจาก การกดขี่และผิดกฏหมาย

สำหรับผู้พิการ ดิฉันได้สนับสนุนนโยบายและการปฏิบัติการให้ดำเนินการตามมาตรฐานสากลเพื่อคนพิการ (Universal Design) เพื่อลดลดอุปสรรคทางกายภาพ ผู้พิการต้องสามารถเข้าถึงบริการการเดินทางที่เท่าเทียม ตลอดจนสิทธิประโยชน์ทางสังคม และการสร้างรายได้

ดิฉันควรต้องกล่าวถึงความร่วมมือระดับภูมิภาคซึ่งมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการดำเนินการของคณะมนตรีฯ และส่งเสริมสิทธิมนุษยชนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับสตรีและเด็ก จากความท้าทายที่หลากหลายระหว่างภูมิภาคถึงภูมิภาค จึงสำคัญยิ่งสำหรับคณะมนตรีฯในการทำงานร่วมกับองค์กรระดับภูมิภาคและกลไกสิทธิมนุษยชนต่างๆ

ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การก่อตั้งคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลของอาเซียน ( ASEAN Intergovernmental Commission : AICHR ) ด้านสิทธิมนุษยชน และปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนเป็นก้าวสำคัญเช่นกัน

ท่านประธานฯ

สิทธิมนุษยชนเป็นหัวใจของประชาธิปไตย และเป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องยึดหลักประชาธิปไตย เราไม่สามารถและต้องไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่ขัดต่อหลักประชาธิปไตย และเราต้องคงไว้ซึ่งการสนับสนุนคุณค่าประชาธิปไตยด้วยการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

ในขณะเดียวกัน ประชาธิปไตยไม่ใช่เพียงการชนะการเลือกตั้งด้วยเสียงข้างมาก แต่เป็นการใช้อำนาจในวิถีทางที่เคารพต่อเสียงส่วนน้อย ซึ่งหมายถึงผู้ที่อยู่ในอำนาจต้องไม่ยึดติดกับอำนาจและไม่นำความต้องการของใครคนใดคนหนึ่งยัดเยียดให้กับผู้อื่น ดิฉันเชื่อว่า การดำเนินการของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน และความร่วมมือในการแก้ปัญหาในเรื่องสิทธิมนุษยชนสามารถทำให้รัฐบาลตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนมากขึ้น และจะทำให้อำนาจเป็นของประชาชนเสมอไป

ประเทศไทยได้ผ่านความท้าทายในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมาหลายทศวรรษ การเดินทางยังคงไม่ราบรื่น แม้แต่ขณะนี้ ดิฉันยังต้องปกป้องประชาธิปไตยจากผู้มีจิตใจที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

แท้จริงแล้ว ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ความยุติธรรม และนิติรัฐ นิติธรรม เป็นคุณค่าสากลที่เชื่อมประชาชนและประเทศต่างๆเข้าด้วยกัน ประเทศไทยตระหนักถึงความทุ่มเททั้งหลายในการกำหนดให้มนุษย์เป็นศูนย์กลางการพัฒนา เราสนับสนุนหลักคิดที่สะท้อนประเด็นเหล่านี้ ภายใต้วาระการพัฒนาภายหลังปี 2015 อย่างต่อเนื่อง

ท่านปะธานฯ

ดิฉันขอใช้โอกาสนี้กล่าวยกย่อง มาดาม Pilay (หมายถึง: Navi Pillay ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ) และองค์กรนี้

ในฐานะผู้นำสตรี ดิฉันได้แบ่งปันความปรารถนาที่แรงกล้าของเธอในต่อสู้กับความไม่เท่าเทียมทุกรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อสตรีและเด็ก และยังมีอีกมากที่เราสามารถแบ่งปันซึ่งกันและกันและเป็นพลังเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเป็นสมาชิกที่มีบทบาทและเสนอบทบาทเป็นสะพานเชื่อมในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน ประเทศไทยรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ดำรงตำแหน่งประธานคณะมนตรีในช่วงเวลาที่สำคัญของการทบทวนบทบาทนี้

เราจะยังคงทำงานอย่างสร้างสรรค์กับสำนักงานข้าหลวงใหญ่และขอแสดงความประสงค์ต่อพันธสัญญาที่มีต่อคณะมนตรีฯต่อไป ประเทศไทยได้เสนอตัวเป็นสมาชิกของคณะมนตรีฯในช่วงปี 2015-2017ความพยายามด้านสิทธิมนุษยชนของไทยในระดับประเทศและระหว่างประเทศเป็นกุญแจสู่เส้นทางประชาธิปไตยของประเทศ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ต้องใช้ความอดทนและความทุ่มเทอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างประชาธิปไตยให้เกิดขึ้น ประเด็นสำคัญคือ ประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่บ่มเพาะขึ้นในประเทศนั้นๆ แต่เราทุกคนสามารถเรียนรู้จากกันและกัน

ประเทศไทยหมายถึงแผ่นดินแห่งเสรีภาพ จึงเป็นเหตุผลว่าทำเราจึงสนับสนุน Universal of Declaration of Human Rights และเราคนไทยยึดมั่นเคียงคู่กับคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนและทุกคนที่เชื่อว่า มวลมนุษย์ทุกคนต่างเกิดมามีเสรีภาพ และมีสิทธิและศักดิ์ศรีที่เท่าเทียมกัน

ขอบคุณค่ะ"

000

โดยภายหลังการปาฐกถา สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แสดงความคิดเห็นในเฟซบุ๊กบัญชีส่วนตัวว่า

"นายกฯยิ่งลักษณ์ เป็นนายกรัฐมนตรไทยคนแรกทีไปพูดที่ Human Rights Council แต่ผมดูหมดแล้ว บอกตรงๆว่า ไม่ปลื้มนะครับ

ตลอดทั้งสปีชนี้ คุณยิ่งลักษณ์ ไม่ได้เอ่ยถึง กฎหมายหมิ่นฯ เลยแม้แต่คำเดียว ทั้งๆที่

(1) สปีชนี้ เกิดขึ้นหลังจากเพิ่งมีคดีหมิ่นฯ 3 คดีติดๆกัน คือ ตัดสินจำคุก ไม่รอลงอาญา เสื้อแดงโคราช (กรณี "พระองค์ท่าน เปรม"), ฟ้องศาล คดีคนขาย "กงจักรปีศาจ" และ จับเข้าคุก คนโพสต์ออนไลน์ เมือ่วันที่ 30 สิงหาคมนี้

ความจริง ทีผ่านมา องค์กรของ UN หลายองค์กร ได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยแก้ไขปัญหากฎหมายหมิ่นฯนี้ แต่รัฐบาลไทย รวมทั้งรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ ไม่อยมทำอะไรเลย แม้แต่ เมือ่ "คอป" มีรายงานเสนอต่อรัฐบาลให้ปรับปรุงกฎหมายนี้ รัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ ก็ไม่สนใจเลย

(2) คุณยิ่งลักษณ์ พาดพิงถึง สิ่งทีเรียกว่า UPR หรือ Universal Periodic Review ซึงเป็นกลไกใหม่ ที่ UN สร้างขึ้น ในปี 2008 เพื่อเป็นเวทีในการทบทวนเรือง Human Rights ในประเทศต่างๆ (ดูแนะนำ UPR ที่นี่ http://www.upr-info.org/ )

คุณยิ่งลักษณ์กล่าวอย่างภาคภูมิใจว่า ประเทศไทยได้เข้าร่วมกระบวนการนี้

ความเป็นจริงคือใน UPR คร้ังหลังสุดทีเกิดขึ้นในรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์เอง เมื่อปลายปี 2554 ผู้แทนหลายประเทศ (ผู้แทนยุุโรปตะวันตก เรียกว่า ทุกประเทศ ทีเข้าร่วม คือ ฝรังเศส อังกฤษ เยอรมัน เสปน สวีเดน) ได้เรียกร้องต่อประเทศไทยในเรืองกฎหมายหมิ่นฯ และเสรีภาพในการแสดงออก

ดูรายงานข่าวทีนี่ (หัวข้อรายงานข่าวคือ "UN: Spotlight on Thailand’s Lèse-Majesté Law and Computer Crimes Act")

ดูรายงานทางการของ UPR สำหรับประเทศไทย ทีนี่ http://upr-epu.com/ENG/country.php?id=251 (เอกสาร pdf อยู่ด้านขวามือของจอ โดยเฉพาะ รายงานของ working group ตาม link นี้ http://upr-epu.com/files/251/GR.pdf )"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท