Skip to main content
sharethis
ศวชต. ถอดบทเรียนสร้างสตรีจิตอาสากว่า130 ชีวิต พัฒนาจากเหยื่อไฟใต้สู่การเป็นนักฟื้นฟูชีวิต สร้างภูมิคุ้มกันทางจิต พัฒนาอาชีพผู้ได้รับผลกระทบ ป้องกันผลกระทบใหม่และการเยียวยาชุมชน
 
 
 
เมื่อวันที่  9 ตุลาคม 2558 ที่ห้องประชุม 4 ชั้น 4 ภาควิชาคณิตศาสตร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี ศูนย์ประสานงานวิชาการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือ ศวชต.ได้จัดกิจกรรม ‘สตรีจิตอาสาชายแดนใต้/ปาตานี’: ถอดความรู้ เขียนบันทึก สร้างตัวตน มีวัตถุประสงค์เพื่อสะท้อนกิจกรรมและงานที่ผ่านมาเป็นเรื่องราวเพื่อขยายความรู้ให้กับชุมชน
 
สตรีจิตอาสาที่เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้พัฒนาจากแม่หม้ายที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ ซึ่งงานของสตรีจิตอาสาแบ่งเป็น 2 ฐานใหญ่ คือ 1 ฐานข้อมูล ประกอบด้วยการค้นหาข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบ จากนั้นลงเยี่ยมเคสที่ได้รับผลกระทบเพื่อส่งต่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบในการเยียวยาตามสิทธิ์ของตนเองต่อไป
 
ส่วน 2คือฐานอาชีพ ประกอบด้วยการตั้งกลุ่มอาชีพเพื่อสร้างรายได้ให้กับแม่หม้ายที่ได้รับผลกระทบ เช่น กรณีกลุ่มทำขนมโดนัทที่สามารถสร้างรายได้กับกลุ่มแม่หม้ายที่ได้รับผลกระทบสามารถส่งเสียลูกเรียนจนจบปริญญาตรีได้
 
ดร.เมตตา กูนิง ผู้อำนวยการ ศวชต. กล่าวว่า งานสตรีจิตอาสาเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมเมื่อปี 2550 โดยสามารถสร้างสตรีจิตอาสาประมาณ 130 คน และความสำเร็จของการเป็นสตรีจิตอาสาด้วยตัวเขาเองประมาณ 30%จากสตรีจิตอาสาทั้งหมดซึ่งงานสตรีจิตอาสาเกิดขึ้นเพื่อต้องการให้คนในชุมชนดูแลชุมชนด้วยตัวเขาเอง ไม่ใช่เพียงให้คนจากข้างนอกเข้าไปช่วยเหลือ อีกทั้งคนเป็นสตรีจิตอาสาเกิดจากคนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบนับว่าเป็นคนหัวอกเดียวกัน
 
ดร.เมตตา กล่าวต่อไปว่า สำหรับแผนงานต่อไปของสตรีจิตอาสา จะปรับรูปแบบใหม่ คือ ปรับจากการฟื้นฟูให้เป็นการป้องกันและสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตมากขึ้นแต่การฟื้นฟูก็จะไม่ละทิ้ง เพียงแต่ต้องการสอนให้คนที่สามารถฟื้นฟูความเจ็บปวดจากสถานการณ์ได้ ให้เป็นวิทยาการป้องกันให้กับเขาเองได้
 
“หนึ่งตัวอย่างของกรณีที่สตรีจิตอาสาจากไม้แก่น (จ.ปัตตานี) ได้เข้าไปเยียวยา คือ เป็นผู้ที่ได้รับความเดือดจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่เป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่สามฝ่าย(ทหาร ตำรวจ ปกครอง)ไม่รับรอง โดยการชักชวนของสตรีจิตอาสาให้ลุกขึ้นมาทำกิจกรรมกับชุมชนและ สร้างอาชีพให้กับตนเองเพื่อหารายได้ ช่วยเหลือครอบครัวของตนเองได้ ซึ่งปัจจุบันเขาสามารถเป็นแกนนำในการช่วยเหลือคนอื่นในชุมชนและเข้าร่วมกิจกรรมในชุมชนได้
 
ดร.เมตตา กล่าวว่า การทำงานเยี่ยวยาของไทยพุทธและมุสลิมก็ได้ลงเยี่ยมเหมือนๆกัน ไม่มีการแบ่งแยกว่าใครนับถือศาสนาใดเพียงแต่คิดเสมอว่า คนที่ได้รับความเดือดร้อนมีความรู้สึกเจ็บปวดเหมือนๆกัน และทุกครั้งที่ลงเยี่ยมก็จะไปพร้อมกันไปเป็นทีมมีทั้งสตรีจิตอาสาที่เป็นมุสลิม และเป็นไทยพุทธ
 
ดร.เมตตา กล่าวว่า อีกทั้ง เมื่อเกิดความสถานการณ์ขึ้นจะรอให้สถานการณ์เย็นลงก่อนเพื่อตั้งสติและประสานงานกับสมาชิกในการลงเยี่ยม ซึ่งทุกครั้งที่ลงเยี่ยมจะไม่ระแวงว่าจะได้รับความเดือดร้อน เพราะการเยี่ยมของเราจะบอกตลอดว่า “เราไม่ได้มาจากหน่วยงานรัฐแต่เราเป็นหน่วยงานที่เยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจึงทำให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบไว้ใจเรา”
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net